เปิดพื้นที่ปลูกข้าวโพดในไทย พบว่าใหญ่กว่ากรุงเทพฯ 4.74 เท่า ประเทศเพื่อนบ้านใหญ่กว่า 9.1 เท่า ชี้บรรษัทผูกขาดเป็นเจ้าของทั้งระบบ

เรื่องและภาพ: วีรภัทร เหลาเกิ้มหุ่ง

Summary

  • เกษตรพันธสัญญามีจุดเริ่มต้นจาก แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฯ ฉบับที่ 1 ภายใต้รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาประเทศให้ทันสมัยมากขึ้น รัฐบาลในช่วงเวลานั้นจึงได้ริ่เริ่มนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยมีอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่รัฐเล็งเห็นว่าจะต้องได้รับการสนับสนุน ซึ่งขณะนั้นมี บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CPF) ที่ดำเนินธุรกิจอาหารสัตว์มาอย่างยาวนาน
  • นอกจากการผลิตอาหารสัตว์อย่างเดียวแล้ว ในช่วงปี พ.ศ. 2513 CPF ได้ขยายรากฐานของบริษัทตัวเองจากการผลิตอาหารสัตว์เพียงอย่างเดียว กลายมาเป็น ‘ธุรกิจการแปรรูปเนื้อสัตว์ส่งออก’ อีกด้วย โดยเริ่มลงทุนจากการเลี้ยงไก่เนื้อ และเป็นภาคเอกชนรายแรกที่นำระบบเกษตรพันธสัญญามาใช้ในธุรกิจตั้งแต่ปี
    พ.ศ. 2518 ก่อนที่จะพัฒนาธุรกิจของตนเองให้กลายเป็นเกษตรแบบครบวงจร
  • จากความพยายามราว 10 กว่าปี ในช่วงปี พ.ศ. 2530 CPF ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่รายหลักให้แก่ญี่ปุ่นได้สำเร็จ แซงหน้าสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น
  • จากความสำเร็จทางธุรกิจของ CPF รัฐบาลจึงส่งเสริมให้เกษตกรหันมาปลูก ‘ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์’ เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมดังกล่าวที่กำลังขยายตัว โดยบรรจุข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 6 ภายใต้รัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
  • รัฐจึงส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผ่านการออกนโยบายจูงใจหลายด้าน รวมถึงเอกชนก็วิจัยเมล็ดพันธุ์และดึงเกษตรกรเข้าระบบพันธสัญญาเช่นกัน ทำให้การปลูกข้าวโพดขยายตัวหลังปี 2530 โดยเฉพาะหลังปี 2540 ในภาคเหนือ อัตราผลผลิตต่อไร่ของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็เป็นที่นิยมมากขึ้นภายหลังจากปี 2540 โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ความเร่งรัดให้ได้ผลผลิตสูงทำให้เกษตรกรต้องลดต้นทุน เกษตกรจึงจำเป็นต้องเผาซากพืชหลังฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นปัญหาฝุ่น
  • แต่ผลผลิตที่ได้ก็ยังไม่เพียงพอต่อการนำมาใช้ในอุตสาหกรรม แนวคิดที่จะขยายพื้นที่ข้าวโพดออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านจึงเกิดขึ้นภายในปี พ.ศ. 2546 ภายหลังจากการเริ่มยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ACMECS
  • ภายหลังจากยุทธศาสตร์ดังกล่าว 2 ปี รัฐบาลมีมติให้ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าภายใต้กรอบความร่วมมือ ACMECS ซึ่งมีข้าวโพดเป็นหนึ่งในนั้น และอนุมัติโครงการนำร่องเกษตรพันธสัญญาในพื้นที่ชายแดน เปิดทางให้ บริษัท เครือเจริญโภคภันฑ์ (CPF) เข้าไปลงทุน ‘ข้าวโพดพันธสัญญา’ ในประเทศรอบข้าง ปัญหาฝุ่นจึงเริ่มเห็นชัดมากขึ้น
  • ในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งหมดเฉลี่ย 6.79 ล้านไร่ และเป็นของภาคเหนือไปแล้วกว่า 68.39% หรือ 4,648,022 ไร่ มีขนาดใหญ่กว่ากรุงเทพฯ ถึง 4.74 เท่า
  • ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา – ลาว) พบการเปลี่ยนแปลง ‘พื้นที่ป่าไม้’ เป็น ‘พื้นที่ไร่ข้าวโพด’ ทั้งหมดจำนวน 8,926,126 ไร่ ใหญ่กว่ากรุงเทพฯ ถึง 9.1 เท่า
  • สอดคล้องกับจำนวนการผลิตและส่งออกไก่ที่เพิ่มขึ้น จากปี 2562 – 2566 พบอุตสาหกรรมเนื้อไก่มีการเติบโตขึ้น จากปี 62 ผลิตได้ 2.91 ล้านตัน ส่งออก 0.90 ล้านตัน เป็น ผลิตได้ 3.37 ล้านตัน ส่งออก 1.08 ล้านตันในปี 67
  • และภายหลังปี 2561 พบว่าจำนวนจุดความร้อนในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (เมียนมา – ลาว – ไทย) มีจำนวนเยอะขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กลายมาเป็นวาระทางสังคมในปี 2562 ในขณะที่พื้นที่เผาไหม้ปี 2567 มีพื้นที่เผาไหม้รวม 3,762,733 ไร่ โดยเมียนมามีจำนวนมากสุด รองลงมาคือ สปป. ลาว และไทย
  • ข้อมูลดังกล่าวระหว่าง การขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวโพด, จำนวนจุดความร้อน, พื้นที่เผาไหม้ และการขยายตัวของการอุตสาหกรรมเนื้อไก่ ทั้งหมดมีความเชื่อมโยงถึงกันหมด

แม้ในจานอาหารที่เรากินอยู่ในทุกวัน อาจไม่ได้มี ‘ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์’ เป็นวัตถุดิบหลักในเมนูอาหาร แต่หากเปลี่ยนจาก ‘ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์’ เป็น ‘เนื้อไก่’ เนื้อสัตว์ชนิดนี้คงเป็นวัตถุดิบหลักที่เห็นอยู่ในแทบจะทุกเมนู และเป็นวัตถุดิบหลักที่ใครหลายคนเลือกบริโภคในชีวิตประจำวัน

และเบื้องลึกเบื้องหลังของเมนูเนื้อไก่ กลับเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายของพืชชนิดนี้ ที่เป็นฟันเฟืองขนาดใหญ่ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในไทยและในระดับโลก และท้ายสุดก็ได้ย้อนกลับมาทำร้ายระบบทางเดินหายใจของประชาชนคนไทยหลายคน ผ่านฝุ่นพิษที่มีชื่อเรียกว่า PM2.5

บทความนี้จะเปิดข้อมูลที่สำคัญ พร้อมพาผู้อ่านไปสำรวจว่าแท้จริงแล้วปัญหามลพิษทางอากาศที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ มีเส้นทางอย่างไร ตั้งแต่การปลูกข้าวโพดในระบบเกษตรพันธสัญญา ผ่านไปยังอุตสาหกรรมเนื้อไก่ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนำมาสู่ปัญหาฝุ่นในท้ายสุด และเบื้องหลังของปัญหาเหล่านี้ มีนโยบายใดจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

หนึ่งในกลไกหลักที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเนื้อไก่อย่างเข้มข้น คือการปลูกข้าวโพดในระบบ ‘เกษตรพันธสัญญา’ ระบบดังกล่าวเป็นรูปแบบธุรกิจแบบหนึ่ง โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างเกษตรกรและภาคธุรกิจเอกชน ภายใต้ระบบนี้ ภาคธุรกิจเอกชนจะทำข้อตกลงล่วงหน้ากับเกษตรกร เช่น การรับซื้อผลผลิต การประกันราคา ในบางครั้งอาจมีเงื่อนไขเพิ่มเติมที่กำหนดให้เกษตรกรต้องปฏิบัติตาม เช่น การใช้เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย หรือปัจจัยการผลิตจากบริษัทเท่านั้น อีกทั้งต้องจำหน่ายผลผลิตให้กับบริษัทผู้ว่าจ้างแต่เพียงรายเดียว

ระบบดังกล่าวทำให้เกษตรกรมีสถานะคล้าย ‘พาร์ทเนอร์’ ที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต โดยที่บริษัทเอกชนไม่จำเป็นต้องลงทุนด้านที่ดิน แรงงาน หรือรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โรคระบาด และต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เช่น ความเสื่อมโทรมของหน้าดิน หรือฝุ่นที่เกิดจากการเผาเศษซากพืชหลังการเก็บเกี่ยว

จากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สู่ปัญหาฝุ่นพิษ: เปิดไทมไลน์นโยบายข้าวโพดรัฐ – เอกชนตั้งแต่อดีตจนสู่ปัญหาฝุ่นพิษในปัจจุบัน

‘เกษตรพันธสัญญา’ เริ่มต้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ในสมัยรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) ซึ่งแผนฉบับดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญคือ การพัฒนาประเทศให้มี ‘ทันสมัย’ มากขึ้น รัฐบาลในช่วงเวลานั้นจึงได้ริ่เริ่มนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า

ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลเล็งเห็นว่าต้องได้รับการสนับสนุน เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารสัตว์จากต่างประเทศในจำนวนมาก และหนึ่งในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอาหารสัตว์มาอย่างยาวนานในขณะนั้นคือ บริษัท เครือเจริญโภคพันธ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ CPF 

CPF ได้เติบโตมาจากธุรกิจผลิตอาหารสัตว์ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการเปิดร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผัก ก่อนจะพัฒนามากลายเป็นโรงงานอาหารสัตว์ แต่ด้วยความคลุกคลีอยู่ในแวดวงปศุสัตว์ นอกจากการผลิตอาหารสัตว์อย่างเดียวแล้ว ในช่วงปี พ.ศ. 2513 CPF ได้ริเริ่มขยายรากฐานของบริษัทตัวเองจากการผลิตอาหารสัตว์เพียงอย่างเดียว กลายมาเป็น ‘ธุรกิจการแปรรูปเนื้อสัตว์ส่งออก’ อีกด้วย โดยเริ่มลงทุนจากการเลี้ยงไก่เนื้อ และเป็นภาคเอกชนรายแรกที่นำระบบเกษตรพันธสัญญามาใช้ในธุรกิจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ก่อนที่จะพัฒนาธุรกิจของตนเองให้กลายเป็นเกษตรแบบครบวงจร กล่าวคือ มีทั้งการทำเกษตรพันธสัญญาทั้งการปลูกข้าวโพดเลี้่ยงสัตว์และการเลี้ยงไก่เนื้อ, การผลิต-วิจัยเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนการผลิตและแปรรูปเนื้อไก่สำหรับบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยมีคู่ค้าหลักคือประเทศญี่ปุ่น

จากความพยายามราว 10 กว่าปี ในช่วงปี พ.ศ. 2530 CPF ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่รายหลักให้แก่ญี่ปุ่นได้สำเร็จ แซงหน้าสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น โดยจากในปี พ.ศ. 2517 ไทยส่งออกเนื้อไก่ไปยังญี่ปุ่น 334 ตัน สหรัฐฯ 10,264 ตัน แต่ในปี ในปี พ.ศ. 2530 ตัวเลขกลับกัน ไทยส่งออกเนื้อไก่ไปยังญี่ปุ่น 85,200 ตัน ในขณะที่สหรัฐฯ ส่งออกเนื้อไก่ไปญี่ปุ่น 83,400 ตัน

ด้วยความสำเร็จของธุรกิจแปรรูปเนื้อไก่ส่งออกของ CPF รัฐบาลจึงได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางการเกษตร ส่งเสริมให้เกษตกรหันมาปลูก ‘ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์’ เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมดังกล่าวที่กำลังขยายตัว โดยบรรจุข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศลงไปใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530–2534) ภายใต้รัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

แนวทางของภาครัฐในช่วงเวลาดังกล่าว จึงส่งเสริมเกษตรกรด้วยการออกนโยบายจูงใจหลายด้าน เช่น การประกันรายได้ การปล่อยกู้สินเชื่อ ตลอดจนการผลักดันให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา รวมถึงวิจัยพัฒนาและสนับสนุนการใช้เมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบพันธุ์ผสม เพื่อเร่งอัตราผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

ในขณะที่ภาคเอกชนก็ได้มีการวิจัยเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ผสม ที่ให้ผลผลิตต่อไร่มีจำนวนเยอะขึ้น พร้อมกับเดินหน้าพูดคุยกับเกษตรกรท้องถิ่นให้เข้ามาอยู่ในระบบเกษตรพันธสัญญาด้วยเช่นกัน ส่งผลให้การปลูกข้าวโพดจึงเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นภายหลังจากปี พ.ศ. 2530 และอัตราผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงหลัง พ.ศ. 2540 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ

หากพิจารณาจากแผนพัฒนาฯ ระหว่างฉบับที่ 7-8 จะพบว่า ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญซึ่งเป็นผลมาจากการผลักดันนโยบายจากรัฐ

แผนพัฒนาผลผลิต (กก./ไร่)พื้นที่ปลูก (ล้านไร่)
เป้าหมายผลเป้าหมายผล
ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529)420286 – 398(เฉลี่ย: 342)ไม่เกิน 1010.49 – 12.38
ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534)408254 – 411(เฉลี่ย: 333)ไม่เกิน 1210.91 – 11.47
ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539)400398 – 523(เฉลี่ย: 461)ไม่เกิน 10.848.37 – 8.83
ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540-2544)523439 – 598(เฉลี่ย: 519)ไม่เกิน 107.68 – 9.01
(ที่มา: รายงานการวิเคราะห์บทบาทของตลาดเมล็ดพันธุ์กับการพัฒนาการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทยในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ฉบับที่ 5-8, กรมวิชาการเกษตร)

ความเร่งรัดระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนเยอะขึ้นในแต่ละปี ส่งผลให้เกษตรกรต้องลดต้นทุนการผลิตให้เหลือน้อยที่สุด เมื่อเศษซากหลังจากการเพาะปลูกมากขึ้น การเผาจึงเป็นเพียงหนทางเดียวของกลุ่มเกษตรกรที่มีต้นทุนน้อยสุด และกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีอัตราการผลิตภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตที่ได้ก็ยังไม่เพียงพอต่อการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ แนวคิดที่จะขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดสัตว์เลี้ยงไปยังประเทศรอบข้างจึงเริ่มขึ้น และปัญหาฝุ่นก็ค่อยๆ เห็นได้ชัดมากขึ้น

การรุกล้ำของ ‘ข้าวโพดพันธสัญญา’ ในประเทศรอบข้าง และ ‘ปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดน’ มีจุดเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2546 ภายใต้รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร หลังจากการริเริ่มยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ 1 ด้วยความร่วมมือระหว่าง ไทย เมียนมา ลาว และกัมพูชา ยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้มีการกำหนดให้ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรเป็นจำนวน 10 ชนิด โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นหนึ่งในสินค้าดังกล่าว

ภายหลังการประชุมยุทธศาสตร์ ACMECS ได้ 2 ปี ในปี พ.ศ. 2548 รัฐบาลได้อนุมัติโครงการนำร่องด้านเกษตรพันธสัญญาในพื้นที่ชายแดน แม่สอด–เมียวดี (ไทย–เมียนมา), เลย–ไชยะบุรี (ไทย–สปป.ลาว) และจันทบุรี–พระตะบอง/ไพลิน (ไทย–กัมพูชา) พร้อมยังมีมติเห็นชอบให้ ‘ยกเว้นภาษีนำเข้า’ สินค้าเกษตรที่อยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือของ ACMECS เปิดโอกาสให้บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CPF) สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดในระบบเกษตรพันธสัญญาไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการในระบบอุตสาหกรรม

การปลูกข้าวโพดในประเทศรอบข้างจึงเริ่มขยายตัว ภายหลังจากประกาศใช้นโยบายจากภาครัฐ และการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระหว่างปี 2563–2566 ระบุว่า ประเทศไทยมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงถึงปีละ 8.4 ล้านตัน ขณะที่กำลังผลิตในประเทศมีเพียง 5 ล้านตันต่อปี ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าเพื่อชดเชยส่วนที่ขาดไป โดยมีสัดส่วนถึง 25% จากจำนวนข้าวโพดทั้งหมดที่ใช้ในอุตสาหกรรม โดยมีการนำเข้าจากเมียนมาเป็นหลัก คิดเป็น 93% รองลงมาคือ สปป.ลาว 3% และกัมพูชา 3% ทั้งนี้หากแยกออกเป็นจำนวนปริมาณ พบว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2563-2566 ไทยนำเข้าข้าวโพดสะสมรวม 6.6 ล้านตัน 

พื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ – ไก่ส่งออกขยายตัว ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือนี่จะเป็นสาเหตุของฝุ่นพิษ?

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่าในปี พ.ศ. 2557-2566 ทั้งประเทศมีจำนวนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ย 6,794,060 ไร่ และหากนับเฉพาะในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ พบว่าภาคเหนือเป็นพื้นที่หลักในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมีสัดส่วนมากถึง 68.39% จากทั้งประเทศ หรือคิดเป็นจำนวนเฉลี่ย 4,648,022 ไร่ มีขนาดใหญ่กว่ากรุงเทพฯ ถึง 4.74 เท่า โดยหากแยกออกเป็นตามรายจังหวัด สามารถแยกได้ดังนี้

อันดับที่จังหวัดพื้นที่ปลูกโดยเฉลี่ย (ไร่)
1เพชรบูรณ์844,340
2น่าน678,224
3ตาก577,812
4เชียงราย361,273
5นครสวรรค์302,191
6แพร่282,899
7พิษณุโลก267,609
8เชียงใหม่215,205
9ลำปาง212,996
10พะเยา210,312
11อุตรดิตถ์185,800
12อุทัยธานี125,857
13แม่ฮ่องสอน97,709
14กำแพงเพชร92,113
15ลำพูน82,587
16สุโขทัย71,754
17พิจิตร39,342
(ที่มา: ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ : เนื้อที่เพาะปลูก ปริมาณเมล็ดพันธุ์ และอัตราการใชเมล็ดพันธุต่อไร่ ระดับประเทศ ภาค และจังหวัด ปีเพาะปลูก 2557-2566, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร)

ในขณะที่ประเทศรอบข้าง ข้อมูลจาก Greenpeace ระบุว่า พบการเปลี่ยนแปลง ‘พื้นที่ป่าไม้’ เป็น ‘พื้นที่ไร่ข้าวโพด’ ในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจากปี 2558 – 2567 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 8,926,126 ไร่ ใหญ่กว่ากรุงเทพฯ ถึง 9.1 เท่า แบ่งออกเป็น รัฐฉานของเมียนมา 3,246,434 ไร่ และตอนเหนือของสปป.ลาว 5,679,692 ไร่

ความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สูงต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะการเลี้ยงไก่เนื้อที่ต้องพึ่งพาข้าวโพดเป็นวัตถุดิบหลัก ปัจจัยเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญที่ส่งเสริมให้ธุรกิจการเลี้ยงไก่เติบโตอย่างรวดเร็ว และเชื่อมโยงโดยตรงกับการขยายตัวของภาคการส่งออกที่มีจำนวนสูงขึ้นในปัจจุบัน

ในปี 2566 ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ประเทศไทยผลิตไก่เนื้อได้รวม 3.37 ล้านตัน โดยแบ่งออกเป็น การบริโภคภายในประเทศ 2.28 ล้านตัน หรือประมาณ 68% ส่วนที่เหลืออีก 1.08 ล้านตัน หรือ 32% ถูกส่งออกไปต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของกำลังผลิตทั้งหมด ความต้องการในตลาดโลกยังผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่อันดับ 1 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยมีบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CPF) เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกหลักของอุตสาหกรรมนี้

และหากย้อนดูข้อมูลระหว่างปี 2562 – 2566 พบว่าทั้งการผลิตและการส่งออกไก่เนื้อมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยหากแยกตามรายปีจะพบว่า จำนวนไก่เนื้อส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกปี ยกเว้นปี 2563 ที่อยู่ในช่วงการระบาดของโควิด 19 ทำให้ความต้องการบริโภคในตลาดโลกลดลง

ปีจำนวนที่ผลิตได้ (ล้านตัน)บริโภคในประเทศ (ล้านตัน)จำนวนส่งออก (ล้านตัน)
25622.912.010.90
25632.992.100.89
25643.102.190.91
25653.272.261.01
25663.372.281.08

แม้รายได้จากการส่งออกเนื้อสัตว์จะหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศ และกำไรของภาคธุรกิจจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนเม็ดเงินเหล่านี้กลับต้องแลกมาด้วยวิกฤติปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีประชาชนในประเทศเป็นผู้แบกรับ ทั้งที่ไม่ได้มีส่วนร่วม หรือได้รับประโยชน์ใดๆ จากการขยายตัวของบริษัทจำหน่ายเนื้อสัตว์เหล่านี้เลยแม้แต่น้อย

คำถามเกี่ยวกับการขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวโพดว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาฝุ่นจึงเริ่มถูกหยิบยกขึ้นมา ภายหลังจากที่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจตั้งแต่ปี 2562 ความพยายามในการหาคำตอบจึงเริ่มเบนเป้าจากการกล่าวโทษเกษตรกร ไปสู่การค้นหารากเหง้าของปัญหา และตรวจสอบว่าแท้จริงแล้ว มีปัจจัยใดบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตครั้งนี้

และไม่นาน คำตอบก็เริ่มชัดขึ้นว่า จำนวนพื้นที่ไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ขยายตัว จำนวนจุดความร้อน-พื้นที่เผาไหม้ที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของอุตสาหกรรมเนื้อไก่ และปัญหาฝุ่น ทั้งหมดนี้มีความเกี่ยวข้องถึงกันหมด

รายงานจาก Greenpeace ระหว่างปี 2558 ถึง 2567 พบว่าพื้นที่ไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) สะสมสูงถึง 370,296 จุด โดยจำนวนจุดความร้อนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา

สปป.ลาว เป็นประเทศที่มีอัตราการเพิ่มสูงที่สุด เพิ่มขึ้นถึง 11.8 เท่า จาก 2,192 จุดในปี 2558 เป็น 25,930 จุดในปี 2567

– รองลงมาคือ เมียนมา เพิ่มขึ้น 4.5 เท่า จาก 8,974 จุดในปี 2558 เป็น 40,492 จุดในปี 2567

– และประเทศไทย เพิ่มขึ้น 1.9 เท่า จาก 5,465 จุดในปี 2558 เป็น 10,470 จุดในปี 2567

และหากดูจากข้อมูลร่องรอยพื้นที่เผาไหม้ (Burn Scar) ในปี 2567 พบว่าในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีพื้นที่เผาไหม้รวม 3,762,733 ไร่ โดยเมียนมามีจำนวนสูงสุด 1,863,163 ไร่ รองลงมาคือ สปป.ลาว 1,608,802 ไร่ และไทย 290,762 ไร่

แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศที่มีจำนวนจุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้น้อยที่สุดหากเทียบกับอีก 2 ประเทศ แต่ข้อมูลดังกล่าวก็บ่งชี้ได้ว่าฝุ่นที่มีจำนวนมหาศาลในภาคเหนือ เป็นผลมาจากการเผาข้าวโพดของประเทศเพื่อนบ้าน 

และสาเหตุที่ทำให้จุดความร้อนในไทยน้อยลงเนื่องจากมาตรการจากรัฐที่เข้มงวดกับการเผาเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาฝุ่นก็ยังไม่ได้หมดไป เพียงแค่ย้ายแหล่งกำเนิดจากไทยไปยังประเทศรอบข้างเท่านั้น

ธุรกิจไม่ใช่แค่กำไร แต่ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

ในยุคที่การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่สามารถแยกออกจากความเป็นธรรมต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม แนวคิด ‘ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน’ ได้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ที่ทุกภาคส่วนต้องคำนึงถึง National Action Plan on Business and Human Rights หรือ แผน NAP จึงถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อคุ้มครองไม่ให้ภาคธุรกิจดำเนินการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิทธิมนุษยชนรวมถึงประชาชน และสิ่งแวดล้อม

แผนดังกล่าวมาการที่รัฐบาลรับเอาหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UNGP – UN Guiding Principle on Business and Human Rights) มาปรับใช้เมื่อปี พ.ศ. 2559 โดยเป้าหมายสำคัญคือการ 1. คุ้มครอง (Protect) ไม่ให้เกิดการละเมิด สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และสิ่งแวดล้อม 2. เคารพ (Respect) กำหนดให้บริษัท หรือ อุตสาหกรรมต่างๆ ต้องดำเนินการไปอย่างเคารพสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม 3. เยียวยา (Remedy) กำหนดให้รัฐและภาคธุรกิจจัดให้มีช่องทาง หรือ กลไกการร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพรวมทั้งเยียวยาความเสียหาย

ที่มาจากการดำเนินธุรกิจอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม

แม้จะมีการประกาศใช้แผน NAP ช่วงที่ 1 ไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 แต่การประกอบธุรกิจบางประเภทก็ยังไม่ได้ปรับตัวให้เข้ากับแผนดังกล่าว และยังคงมีการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นสถานการณ์ข้าวโพดพันธสัญญาที่ไม่ได้มีสัญญาว่าจะลดลงแม้แต่น้อย

ภาคประชาชนจึงเรียกร้องให้รัฐดำเนินแนวทางตามแผน NAP อย่างจริงจัง ผลักดันให้แผนดังกล่าวกลายเป็นกฎหมาย พร้อมยังแนะให้รัฐกำชับบริษัทต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ดำเนินแนวทางการทำธุรกิจโดยเคารพถึงสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเปิดช่องทางให้ประชาชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

รวมถึงภาคธุรกิจก็ต้องปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว พัฒนาระบบกลไกการตรวจสอบที่มาของผลิตภัณฑ์ที่มีการมีส่วนร่วมกับประชาชน แม้จะเริ่มมีการนำระบบตรวจสอบย้อนกลับเข้ามาใช้ในภาคธุรกิจแล้ว แต่คำถามตัวใหญ่ต่อไปคือประสิทธิภาพของระบบดังกล่าวที่จัดทำโดยเอกชนว่าจะมีความโปร่งใสแค่ไหน และประชาชนสามารถตรวจสอบได้มากเท่าไหร่ 

ในท้ายที่สุด หากจะต้องการแก้ไขปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืน การบังคับใช้แนวคิดธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนให้เกิดผลในทางปฏิบัติย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนจำเป็นต้องร่วมกันผลักดันให้ NAP กลายเป็นมากกว่าแผน และแปรเปลี่ยนเป็นกฎหมายคุ้มครองสิทธิอย่างเป็นรูปธรรมในทุกขั้นตอน เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตไปพร้อมกับการเคารพสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสุขภาพของประชาชนทุกคน

อ่าน [ชุดข้อมูล] เปิดพื้นที่ปลูกข้าวโพดในไทย พบว่าใหญ่กว่ากรุงเทพฯ 4.74 เท่า ประเทศเพื่อนบ้านใหญ่กว่า 9.1 เท่า ชี้บรรษัทผูกขาดเป็นเจ้าของทั้งระบบ https://www.lannernews.com/24042568-02/

ที่มา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง