เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 สำนักงานประมงจังหวัดเชียงรายออกแถลงชี้แจงกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวการปนเปื้อนของโลหะหนักในแม่น้ำกก และภาพปลาที่มีลักษณะผิดปกติในสื่อออนไลน์ ว่าอาจสร้างความตื่นตระหนกต่อประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยในการบริโภคปลาน้ำจืด
จากความกังวลดังกล่าว ทางสำนักงานประมงจังหวัดจึงได้เก็บตัวอย่างปลาจากชาวประมงในแม่น้ำกก บริเวณใต้ฝายเชียงราย ส่งตรวจวิเคราะห์โลหะหนัก ได้แก่ สารหนู (As), ปรอท (Hg), แคดเมียม (Cd) และตะกั่ว (Pb) ที่บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568
ผลการตรวจพบว่า สารหนู < 0.13 มก./กก. สารปรอท 0.090 มก./กก. และไม่พบ แคดเมียมและตะกั่ว โดยค่าดังกล่าว “ไม่เกิน” ค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ 414) จึงถือว่า “ปลาปลอดภัยสำหรับการบริโภค”
สำนักงานประมงยังชี้แจงกรณีภาพปลาที่ปรากฏในสื่อออนไลน์ว่า เป็นภาพเก่าจากแม่น้ำโขงฝั่ง สปป.ลาว เมื่อปี 2567 โดยเป็นปลาแข้ที่คาดว่าเป็นโรคลิมโฟซิสติส (Lymphocystis Disease) ที่เกิดจากไวรัสในกลุ่ม Iridoviridae สกุล Lymphocystivirus โดยเกิดเฉพาะกรณีปลาบาดเจ็บแล้วติดเชื้อในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม และไม่เกี่ยวข้องกับสารโลหะหนัก
ขณะเดียวกัน ประมงจังหวัดเชียงรายยังแสดงความกังวลต่อสภาพอนาคตของพันธุ์ปลาในแม่น้ำกก แม้ผลการตรวจจะยืนยันว่าไม่มีสารโลหะหนักเกินมาตรฐานในตัวปลา แต่สภาพความขุ่นของแม่น้ำที่ยืดเยื้อตลอดปีจากกิจกรรมต้นน้ำ ส่งผลให้แพลงก์ตอนไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ส่งผลให้ห่วงโซ่อาหารของปลาในแม่น้ำเสียสมดุล ลูกปลาวัยอ่อนขาดแหล่งอาหาร และปริมาณปลาทั้งระบบลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ชาวประมงจับปลาได้น้อยลง สะท้อนให้เห็นถึงการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศแม่น้ำกกจากความตื้นเขินและตะกอนดินสะสมตลอดปี

แม้ภาครัฐจะยืนยันว่า “ปลาในแม่น้ำกกยังปลอดภัย” แต่ในเวที “ฟังเสียงชาวบ้านน้ำกก ในวันที่แม่น้ำไม่เหมือนเดิม” เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา สุขใจ ยานะ ชาวประมง วัย 72 ปี จากหมู่บ้านเชียงแสนน้อย อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ในช่วง 1–2 ปีที่ผ่านมา ชาวประมงพบปลาหลายชนิดมีลักษณะผิดปกติ เช่น ปลาแข้ ปลาคัง ปลากด มีตุ่มขึ้นบริเวณหัวและหนวด สร้างความวิตกว่าจะเกี่ยวข้องกับสารเคมีหรือโลหะหนักในน้ำ
ชาวประมงในท้องถิ่นที่สะท้อนความขัดแย้งอย่างชัดเจนกับคำชี้แจงของภาครัฐ ภายในเวทีดังกล่าว เครือข่ายภาคประชาชนได้ยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดนอย่างเป็นระบบ
1.แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน โดยมีตัวแทนรัฐ ภาคประชาชน และนักวิชาการ พร้อมจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำกก จังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายภายใน 30 วัน
2.เปิดเผยและซักซ้อมมาตรการรับมืออุทกภัยลุ่มน้ำกกและน้ำสาย อย่างมีส่วนร่วมและมีประสิทธิภาพ
3.สร้างความร่วมมือกับเมียนมาและกลุ่มกองกำลังว้า เพื่อเพิ่มจุดเก็บตัวอย่างน้ำในทั้งฝั่งไทยและเมียนมา ตรวจสอบแหล่งกำเนิดสารปนเปื้อน
4.จัดตั้งระบบสื่อสารสาธารณะที่โปร่งใส ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง
5.ขยายขอบเขตการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการใช้ที่ดินที่ส่งผลต่อแม่น้ำทั้งสาย
6.เปิดการเจรจา 4 ฝ่าย ได้แก่ ไทย เมียนมา กองกำลังชาติพันธุ์ และจีน เพื่อหาทางออกอย่างมีความรับผิดชอบ พร้อมใช้กลไกระดับอาเซียน
7.แต่งตั้งคณะกรรมการในทุกระดับให้มีสัดส่วนของประชาชน และผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างชัดเจน
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...