‘เลาฟั้ง’ แนะรัฐต้องเร่งออกเอกสารรับรองสิทธิที่ดินเกษตรกรไทย สร้างความน่าเชื่อถือสินค้าเกษตรให้กับนานาชาติ

การเจรจาการค้าระหว่างรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกเลื่อนออกไปอย่างกะทันหัน โดยนายกรัฐมนตรีไทยให้เหตุผลว่า ฝ่ายสหรัฐฯ ขอให้ทบทวนประเด็นบางประการก่อน และจะมีการนัดหมายใหม่ในภายหลัง

แม้ไม่มีการเปิดเผยเหตุผลอย่างเป็นทางการ แต่นักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศต่างเห็นพ้องว่า การเลื่อนการเจรจาอาจเกี่ยวข้องกับความกังวลของสหรัฐฯ ต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนในไทย ทั้งกรณีการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีน การจับกุมนักวิชาการอเมริกัน การดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทางการเมือง และล่าสุด การจับมือนายพลมิน อ่อง หล่าย ผู้นำเผด็จการเมียนมาที่ถูกหมายจับสากลในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ตลาดสหรัฐฯ และยุโรปมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างยิ่ง ไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มูลค่าเฉลี่ยปีละ 48,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.63 ล้านล้านบาท และส่งออกไปยุโรปปีละประมาณ 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 950,000 ล้านบาท เฉพาะสินค้าเกษตรส่งออกไปยังสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงถึง 300,000 ล้านบาท และ 270,000 ล้านบาทในยุโรป

ในสภาวะที่ถูกตั้งเงื่อนไขเข้มงวดเช่นนี้ นักวิชาการแนะนำว่ารัฐบาลไทยควรเร่งกระจายตลาดการค้าสินค้าเกษตรไปยังภูมิภาคอื่นเพิ่มเติม และในขณะเดียวกัน ต้องเร่งปรับปรุงมาตรฐานภายในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดสากล

หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ตลาดโลกให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น คือ เรื่องสิทธิในที่ดินและการปกป้องป่าไม้ โดยเฉพาะกฎหมายใหม่ของสหภาพยุโรปอย่าง EUDR (EU Deforestation-free Regulation) ที่ห้ามนำเข้าสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบุกรุกทำลายป่า ขณะที่ทั่วโลกกว่า 100 ประเทศลงนามในข้อตกลงภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP)

สำหรับภาคเกษตรไทย แม้สร้างมูลค่าการส่งออกทั่วโลกปีละไม่น้อยกว่า 850,000 ล้านบาท แต่ยังมีสินค้าจำนวนมากที่ปลูกในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน เช่น

  • ยางพารา บนพื้นที่ 5 ล้านไร่ สร้างรายได้ปีละ 84,000 ล้านบาท (คิดเป็น 20% ของการผลิตทั้งหมด)
  • มันสำปะหลัง บนพื้นที่ 1.3 ล้านไร่ สร้างรายได้ปีละ 13,000 ล้านบาท (10% ของการผลิตทั้งหมด)
  • กาแฟ บนพื้นที่ 210,000 ไร่ สร้างรายได้ปีละ 6,200 ล้านบาท (เกือบ 98% ของการผลิตทั้งหมด)

รวมเฉพาะสามพืชเศรษฐกิจนี้ มีมูลค่าการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี ยังไม่นับรวมมูลค่าที่เพิ่มขึ้นตามห่วงโซ่อุปทาน

ดังนั้น รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเร่งรัดดำเนินการออกเอกสารรับรองสิทธิในที่ดินให้แก่เกษตรกรไทย สำหรับพื้นที่ที่อยู่ในเงื่อนไขที่จะออกโฉนดที่ดิน ก็ให้เร่งรัดดำเนินการ สำหรับรายที่ไม่เข้าเกณฑ์แต่มีนโยบายคุ้มครองอยู่แล้ว ก็ให้เร่งออกหนังสือรับรองจากรัฐบาล เพื่อเป็นการยืนยันว่าที่ดินเหล่านี้ไม่ใช่พื้นที่ที่บุกรุกป่า 

การทำเช่นนี้ จะเป็นการหลีกเลี่ยงข้อครหาและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็สร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือทั้งรัฐบาลของนานาชาติและนักธุรกิจว่าจะไม่มีปัญหาใดๆ ในการทำการค้าสินค้าเกษตรกับประเทศไทย

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง