ภาคประชาชนจัดกิจกรรมครบ 1 เดือนแผ่นดินไหว เมียนมา-ไทย เพื่อกันภัยธรรมชาติลุกลามเป็นปัญหาการเมืองที่รุนแรง

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เผชิญกับหนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ แผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด ซึ่งมีจุดศูนย์กลางบริเวณรอยเลื่อนสะกายในภูมิภาคสะกาย ประเทศเมียนมา ได้เขย่าผืนแผ่นดินอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายมหาศาลทั้งในและนอกพรมแดน

ในฝั่งเมียนมา ความสูญเสียที่เกิดขึ้นมีขนาดมหาศาล ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงถึง 3,726 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 5,100 ราย และยังคงมีผู้สูญหายอีก 129 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 19 เมษายน 2025) เมืองต่าง ๆ ในภาคกลาง ภาคตะวันออก และรัฐฉานได้รับความเสียหายหนัก โรงพยาบาลหลายแห่งพังทลาย ถนนและสะพานหลายสายถูกตัดขาด ส่งผลให้การเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยทำได้อย่างยากลำบาก ขณะที่ผู้คนอีกนับหมื่นกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย

วิกฤตยังไม่จบลงเพียงเท่านั้น ตลอดสิบวันหลังแผ่นดินไหว เกิดอาฟเตอร์ช็อกมากกว่า 400 ครั้ง และในวันที่ 5 เมษายน 2025 พายุฤดูร้อนที่พัดถล่มเข้าซ้ำเติมพื้นที่ประสบภัย ทำให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูสถานการณ์เป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้น

ในประเทศไทย เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดความตื่นตัวต่อความปลอดภัยของโครงสร้างอาคารอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ซึ่งต้องเผชิญกับแรงสั่นสะเทือนที่เพียงพอจะทำให้เกิดรอยร้าวและความเสียหายบางส่วน หนึ่งในโศกนาฏกรรมที่กลายเป็นภาพจำคือ การถล่มของอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ ที่นำมาซึ่งทั้งความสูญเสีย ความโกรธเกรี้ยว และคำถามถึงธรรมาภิบาลในการก่อสร้างโครงการภาครัฐ

the mekong butterfly รายงานว่า 28 เมษายน 2568 เวลา 9.00 น. ที่ห้อง SB 4107 ชั้น 1 อาคารเรียนรวม 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ สื่อมวลชนจากไทยและเมียนมา รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจากเชียงใหม่และเชียงราย ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาสาธารณะ “1 เดือนหลังแผ่นดินไหวและผลกระทบต่อเมียนมาและไทย: แนวทางจากประชาชนสู่ประชาชน” เพื่อสะท้อนเสียงของผู้ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมียนมา เสนอแนวทางเชิงนโยบาย และสร้างพื้นที่ความร่วมมือระหว่างประชาชนเพื่อขับเคลื่อนความเป็นธรรมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

ชยันต์ วรรธนภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวเปิดงานว่า แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่าหนึ่งเดือนหลังเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด แต่ข้อมูลความเสียหายที่แท้จริงในเมียนมายังมีความไม่ชัดเจน ตัวเลขผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และความเสียหายโครงสร้างพื้นฐานยังคลุมเครือ สะท้อนความยากลำบากในการเข้าถึงข้อมูลและการประเมินสถานการณ์ในประเทศที่ปกครองโดยระบอบทหาร

ชยันต์ วรรธนภูติ

นอกจากนี้ การช่วยเหลือจากฝ่ายประชาชนไทยที่ระดมทุนส่งต่อไปยังเมียนมา แม้จะสะท้อนพลังน้ำใจที่ข้ามพรมแดน แต่ก็ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนว่า ความช่วยเหลือเหล่านี้สามารถเข้าถึงประชาชนผู้ประสบภัยอย่างแท้จริงได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะในบริบทที่ฝ่ายเผด็จการทหารเมียนมาอาจใช้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นเครื่องมือในการควบคุมและต่อรองอำนาจเหนือประชาชนของตนเอง

ชยันต์ยังได้ชี้ให้เห็นถึงนัยทางการเมืองของการเดินทางเยือนไทยและมาเลเซียของ “มิน อ่อง หล่าย” ผู้นำกองทัพเมียนมาเมื่อเดือนที่ผ่านมา ว่าอาจมีเป้าหมายแอบแฝงในการเบี่ยงเบนความสนใจของนานาชาติจากความเสียหายของแผ่นดินไหวครั้งนี้ เพื่อปกปิดเจตนาทางการเมืองที่แท้จริง ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่าภัยพิบัติครั้งนี้แตกต่างจากเหตุการณ์ไซโคลนนาร์กีสในอดีตที่ฝ่ายเผด็จการใช้เป็นข้ออ้างในการกดขี่ประชาชนอย่างชัดเจน

เวทีสัมมนาในครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงการทบทวนความสูญเสียทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นการตั้งคำถามต่อโครงสร้างอำนาจ ความเหลื่อมล้ำ และแนวทางที่ประชาชนในภูมิภาคสามารถร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อไม่ให้ภัยพิบัติธรรมชาติกลายเป็นภัยพิบัติทางการเมืองซ้ำเติมชีวิตผู้คนที่เปราะบางอยู่แล้วให้ยิ่งหนักหน่วงขึ้น

สืบสกุล กิจนุกร สำนักนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อธิบายว่า “แม้แรงงานข้ามชาติจะถูกมองว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง แต่ในอีกด้านหนึ่ง พวกเขามีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงผู้คนสองวัฒนธรรมและสองประเทศเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการประสานความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพ”

สืบสกุล กิจนุกร

ความร่วมมือนี้มีรากฐานมาตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 เมื่อศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในเชียงรายถูกจัดตั้งขึ้น โดยอาสาสมัครทั้งไทยและเมียนมาร่วมกันดูแลแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเต็มที่ ผ่านการตั้งครัวกลาง แจกจ่ายอาหาร ชุดตรวจ ATK และอุปกรณ์ป้องกันโรค นอกจากนี้ยังมีการอบรมความรู้ด้านสาธารณสุขและสิทธิแรงงาน รวมถึงจัดการเรียนการสอนภาษาไทยและอังกฤษให้กับเด็ก ๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถตั้งหลักในสังคมไทยได้

เมื่อเกิดน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา เครือข่ายเดียวกันยังได้จัดทีมอาสาสมัครเข้าไปช่วยทำความสะอาดบ้านเรือน ทั้งของแรงงานข้ามชาติและคนไทย รวมถึงตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว พร้อมทั้งจัดกิจกรรมวัฒนธรรมเชื่อมความสัมพันธ์ในชุมชน

หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด เครือข่ายได้อาศัยความสัมพันธ์ที่สั่งสมมา เชื่อมโยงกับประชาชนทั้งในไทยและเมียนมา เพื่อสำรวจข้อมูลความต้องการที่แท้จริง ผ่านนักศึกษาเมียนมาที่ศึกษาอยู่ในไทย และการสื่อสารกับเครือข่ายในพื้นที่ภัยพิบัติโดยตรง ข้อมูลเหล่านี้นำไปสู่การระดมทุนในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขยายไปยังมหาวิทยาลัยอื่น ๆ กลุ่มศิลปิน นักดนตรี และภาคธุรกิจที่เข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม การส่งมอบความช่วยเหลือเข้าไปยังเมียนมายังคงเผชิญอุปสรรคสำคัญ ทั้งในเรื่องสภาพโครงสร้างพื้นฐาน การสู้รบ และขั้นตอนการผ่านด่านศุลกากรที่ยุ่งยาก ทั้งไทยและเมียนมา เช่น การต้องแสดงจดหมายรับรองจากพื้นที่ปลายทาง และจ่ายค่าใช้จ่ายให้ด่านศุลกากรเพื่อสำแดงสิ่งของ ก่อนข้ามพรมแดนที่แม่สาย–ท่าขี้เหล็ก

ล่าสุด เครือข่ายสามารถส่งความช่วยเหลือเข้าไปยังพื้นที่อย่างทะเลสาบอินเลและเมืองมัณฑะเลย์ได้สำเร็จ แต่โจทย์ใหม่ที่กำลังต้องเผชิญคือ การฟื้นฟูระยะยาว ไม่ใช่แค่ที่พักชั่วคราว แต่รวมถึงการวางแผนการฟื้นฟูชีวิตชุมชนอย่างยั่งยืน

ข้อเสนอเพื่ออนาคต สืบสกุลเสนอว่า ควรมีการตั้งคณะทำงานถาวรที่รวบรวมความเชี่ยวชาญหลากหลายด้าน ทั้งมนุษยธรรม ธรณีวิทยา ภูมิศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อประเมินและรับมือกับภัยพิบัติในระยะยาว “แผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป โดยเฉพาะในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราต้องมีระบบการทำงานที่ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ต้องสร้างความยั่งยืนในระยะยาวด้วย” เขากล่าว

บทเรียนจากเชียงรายจึงไม่ใช่แค่เรื่องการช่วยเหลือในภาวะวิกฤต แต่เป็นภาพสะท้อนของการสร้าง “สะพานใจ” ที่เชื่อมโยงผู้คนสองฟากฝั่งเข้าด้วยกัน เพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แม้ในยามยากลำบากที่สุดก็ตาม

อดิศร เกิดมงคล ตัวแทนจาก Migrant Working Group (MWG) เปิดเผยว่า จากการสำรวจพบว่า มีแรงงานที่ทำงานก่อสร้างในตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่มากกว่า 400 คน แบ่งเป็นแรงงานไทย 65 คน เมียนมา 33 คน กัมพูชา 3 คน และลาว 1 คน ในจำนวนนี้มีผู้ประสบเหตุ 103 คน เสียชีวิตถึง 63 คน บาดเจ็บ 9 คน และสูญหายอีก 38 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 24 เมษายน)

อดิศร เกิดมงคล

“การจัดการของรัฐไทยในเหตุการณ์นี้เต็มไปด้วยความสับสน ไร้การประสานงาน และขาดประสิทธิภาพ” อดิศรกล่าว พร้อมชี้ให้เห็นว่าพื้นที่เกิดเหตุกลายเป็นเหมือน “งานวัด” มากกว่าศูนย์บูรณาการช่วยเหลือจริงจัง หน่วยงานต่าง ๆ เปิดซุ้มแยกกันทำงาน ล่ามและภาคประชาสังคมต้องเข้ามาช่วยเหลือเรื่องการสื่อสาร ทั้งการติดป้ายภาษาแรงงานข้ามชาติและการประสานข้อมูลกับญาติผู้สูญหาย

การเยียวยาที่ไม่เท่าเทียม ปรากฏชัดว่า กระบวนการเยียวยาเน้นหนักไปที่กลุ่มผู้เสียชีวิต แต่กลับไม่มีความชัดเจนสำหรับผู้บาดเจ็บและผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องสถานะของญาติผู้สูญหายที่ไม่ใช่สายตรง เช่น ภรรยาที่ไม่มีทะเบียนสมรส หรือญาติที่อยู่ในพื้นที่สู้รบในเมียนมา ยิ่งทำให้กระบวนการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์และการขอรับสิทธิเป็นไปอย่างยากลำบาก

โครงสร้างการจ้างงานที่ซับซ้อน ยังเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ เมื่อพบว่ามีการซ้อนชั้นของผู้รับเหมาและซับคอนแทรกต์มากกว่า 40 บริษัท ส่งผลให้การติดตามสิทธิของแรงงานและการเยียวยาค่าจ้างยิ่งซับซ้อน แรงงานหลายคนไม่ได้รับเงินเดือนที่ค้างจ่าย และเสี่ยงตกงานโดยไม่มีหลักประกัน

ระบบข้อมูลอัตลักษณ์ที่ล้มเหลว ยิ่งทำให้การช่วยเหลือยากขึ้นไปอีก แรงงานข้ามชาติหลายรายไม่ได้มีข้อมูลในระบบ หรือข้อมูลหมดอายุเพราะขาดการต่ออายุเอกสาร ทำให้กระบวนการตรวจสอบสิทธิและการพิสูจน์ตัวตนติดขัด

แรงงานข้ามชาติ 45% ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ส่งผลให้เข้าไม่ถึงการชดเชยตามกฎหมาย ขณะที่กระบวนการโอนเงินและเปิดบัญชีให้ทายาทที่อยู่ในประเทศต้นทาง เช่น เมียนมา ก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อต้องอาศัยการรับรองเอกสารจากสถานทูตที่ยุ่งยากและใช้เวลานาน

ความไม่มั่นคงทางอาชีพหลังวิกฤต เป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่ซ้ำเติมชีวิตแรงงาน ทั้งแรงงานไทยและข้ามชาติที่ต้องรอการตัดสินใจจากบริษัทต้นสังกัด บางรายถูกย้ายพื้นที่ทำงาน บางรายยังต้องติดตามการสูญหายของคนในครอบครัว ขณะที่รายจ่ายยังคงพอกพูนต่อเนื่อง

“รัฐไทยไม่เข้าใจเรื่องการย้ายถิ่นและแรงงานข้ามชาติในการจัดการภัยพิบัติเลยแม้แต่น้อย หน่วยงานแต่ละแห่งยังคงยึดกฎหมายของตัวเองโดยไม่มีตัวกลางที่ประสานงานอย่างจริงจัง ทำให้เกิดความล่าช้า สับสน และซ้ำเติมความทุกข์ของผู้ประสบภัย” อดิศรกล่าว

เหตุการณ์นี้จึงเป็นบทเรียนซ้ำซากถึงความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการวิกฤตของไทย และเป็นสัญญาณเตือนว่า หากรัฐไม่เร่งปฏิรูประบบการดูแลแรงงานและสร้างกลไกกลางที่มีประสิทธิภาพ ความสูญเสียในอนาคตจะยิ่งยากจะเยียวยา

ในวันเดียวกันนั้นเอง เวลา 16.00-21.00 น. ภาคประชาสังคมจัดกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวเมียนมาในชื่อ “1 เดือนหลังแผ่นดินไหว: Solidarity for Hope”  ณ โครงการลานดิน​ ต.สุเทพ​ อ.เมือง​ จ.เชียงใหม่​

กิจกรรมภายในงาน ​ การเเสดงดนตรี การแสดงศิลปะ งานแสดงภาพถ่ายและการบอกเล่าเรื่องราวสถานการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมารวมไปถึงอุดหนุนชิมอาหารท้องถิ่นเมียนมาเเละเครื่องดื่ม โดยรายได้ส่วนหนึ่งจะส่งตรงไปช่วยผู้ประสบภัยผ่านภาคประชาชน

สำหรับผู้ที่ต้องการบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเมียนมา สามารถบริจาคผ่านร้านสนิมทุน Sanimthoon Community Café 

บัญชีธนาคารสำหรับบริจาค อารีวัณย์ สมบุญวัฒนกุล ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) 426-148008-9

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง