เลือกตั้งเทศบาล 68 : เมื่อท้องถิ่นยังไร้อำนาจทางการเงิน ส่องงบประมาณเทศบาล 17 จังหวัดภาคเหนือ บทสะท้อน 28 ปีหลังรัฐธรรมนูญ 40 ที่ยังไปไม่ถึง

เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย

ภาพ: วีรภัทร เหลาเกิ้มหุ่ง

‘งบประมาณ’ คือปัจจัยสำคัญที่หล่อเลี้ยงการพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตของผู้คนในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่มีเทศบาลรวมกันมากถึง 574 แห่ง เทศบาลนคร 6 แห่ง เทศบาลเมือง 31 แห่ง และเทศบาลตำบลอีกกว่า 537 แห่ง จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีเทศบาลมากที่สุดในภาคเหนือถึง 121 แห่ง รองลงมาคือจังหวัดเชียงราย 73 แห่ง และจังหวัดลำปาง 43 แห่ง โดยเทศบาลเหล่านี้ได้รับงบประมาณรวมกัน 48,542 ล้านบาท ในปี 2566 

ทั้งนี้งบประมาณนั้นสัมพันธ์กับหน้าที่ของเทศบาลในการจัดการดูแลประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การจัดการด้านการศึกษา สาธารณสุข การพัฒนาและจัดการสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชน ทั้งนี้งบประมาณในแต่ละเทศบาลมีความแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งในแง่ของแหล่งที่มา ปริมาณ และศักยภาพในการจัดเก็บรายได้เอง

แต่เมื่อพิจารณางบประมาณทั้งหมด จะพบว่าเทศบาลยังคงต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลกลางเป็นหลัก รายได้ที่จัดเก็บเองมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับงบประมาณรวมทั้งหมด สะท้อนถึงความล่าช้าในการผลักดันภารกิจการกระจายอำนาจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540

รัฐธรรมนูญฉบับนี้วางหลักการให้กระจายอำนาจการปกครองและการคลังไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมออก พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ. 2542 กำหนดเป้าหมายให้ท้องถิ่นมีรายได้ไม่น้อยกว่า 25% ของรายได้สุทธิรัฐบาลกลาง และเพิ่มเป็นมากกว่า 35% ในระยะยาว ทว่าตลอดกว่า 28 ปีที่ผ่านมา เป้าหมายดังกล่าวไม่เคยบรรลุผล การโอนอำนาจยังล่าช้า ขณะที่โครงสร้างรายได้ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลาง ทิ้งภารกิจการกระจายอำนาจไว้เพียงในหลักการ มากกว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิบัติ

โดยทั่วไป งบประมาณของเทศบาลจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

1.งบประมาณจากการจัดเก็บเอง คือรายได้ที่เทศบาลสามารถจัดเก็บได้เอง เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย รวมถึงรายได้จากสาธารณูปโภค การพาณิชย์ และทรัพย์สินอื่นๆ

2.งบประมาณจากการจัดสรรของรัฐบาล คือรายได้ที่รัฐบาลกลางเป็นผู้จัดเก็บ จากนั้นแบ่งจัดสรรคืนให้แก่เทศบาล เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ค่าภาคหลวงแร่ และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนต่างๆ

3.งบประมาณจากเงินอุดหนุนของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจัดสรรให้อย่างเฉพาะเจาะจง ทั้งในลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไปและเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ เพื่อสนับสนุนโครงการและภารกิจเฉพาะด้านที่กำหนดไว้

งบประมาณเทศบาล 17 จังหวัดภาคเหนือ

เทศบาลใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 48,542.49 ล้านบาท โดยสามารถจำแนกประเภทงบประมาณได้ ดังนี้ 

1.งบประมาณจากรายที่เทศบาลจัดเก็บเอง 4,077.47 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.40% ของงบประมาณทั้งหมด 

2.งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล 19,882.29 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 40.96% ของงบประมาณทั้งหมด 

3.งบประมาณที่ได้รับจากการอุดหนุนโดยรัฐบาล 24,582.84 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 50.64% ของงบประมาณทั้งหมด 

จะเห็นได้ว่างบประมาณกว่าครึ่งของเทศบาลใน 17 จังหวัดภาคเหนือ มาจากงบประมาณอุดหนุนของรัฐบาลกลาง และอีกกว่า 40% เป็นงบประมาณที่รัฐบาลเป็นผู้จัดเก็บจากนั้นจึงค่อยจัดสรรคืนให้เทศบาล ในขณะที่รายได้ที่เทศบาลเหล่านี้สามารถจัดเก็บได้กลับมีสัดส่วนเพียง 8.40% เท่านั้น และหากเปรียบเทียบงบประมาณทั้งหมดที่เทศบาลใน 17 จังหวัดภาคเหนือได้รับกับประมาณเทศบาลทั้งประเทศ เทศบาลภาคเหนือจะได้รับงบประมาณในสัดส่วน 19% (งบประมาณเทศบาลรวมทั้งประเทศ คือ 251,366.26 ล้านบาท)   

เทศบาลในภาคเหนือที่ได้รับงบประมาณสูงสุด 

จากการจัดอันดับเทศบาลใน 17 จังหวัดภาคเหนือที่ได้รับงบประมาณสูงสุดพบว่า เทศบาลนครจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเทศบาลที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด โดยเมื่อปี 2566 เทศบาลนครเชียงใหม่ได้รับงบประมาณสุทธิ 1,755.97 ล้านบาท รองลงมาคือ เทศบาลนครนครสวรรค์ จำนวน 1,014.13 บาท โดยมีเพียงเทศบาลทั้งสองแห่งเท่านั้นที่ได้รับงบประมาณเกิน 1 พันล้านบาท  

ขณะที่เทศบาลที่ได้รับงบประมาณมากกว่า 500 ล้านบาทแต่ไม่ถึง 1 พันล้านบาท มีทั้งสิ้น 5 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครพิษณุโลก เทศบาลนครลำปาง เทศบาลนครแม่สอด และเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ ตามลำดับ 

ต่อมา เทศบาลที่ได้รับงบประมาณมากกว่า 100 ล้านบาทแต่ไม่ถึง 500 ล้านบาท มีทั้งสิ้น 79 แห่ง ส่วนเทศบาลอีกกว่า 483 แห่งที่เหลือได้รับงบประมาณต่ำกว่า 100 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีเทศบาลมากถึง 179 แห่งที่ได้รับงบประมาณน้อยกว่า 50 ล้านบาท และจากการคำนวณทางสถิติพบว่า งบประมาณเฉลี่ยของเทศบาลใน 17 จังหวัดภาคเหนือ จะได้รับงบประมาณเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 43.19 ถึง 106.82 ล้านบาท

จากการสำรวจพบว่ามีเทศบาลใน 17 จังหวัดภาคเหนือจำนวน 392 แห่ง ที่ได้รับงบประมาณอยู่ระหว่างค่าเฉลี่ยดังกล่าว หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 68.77% ในขณะที่เทศบาลที่ได้รับงบประมาณมากกว่าค่าเฉลี่ยกลับมีสัดส่วนเพียง 31.23% เท่านั้น โดยเทศบาลที่ได้รับงบประมาณต่ำที่สุดเมื่อปี 2566 คือ เทศบาลตำบลศรีโพธิ์เงิน (อ.ป่าแดด จ.เชียงราย) ได้รับงบประมาณจัดสรรเพียง 24.66 ล้านบาท 

เทศบาลกับการจัดเก็บรายได้   

งบประมาณประเภทนี้เป็นงบประมาณที่เทศบาลสามารถจัดเก็บได้เองโดยตรง จากการสำรวจรายได้ที่เทศบาลใน 17 จังหวัดภาคเหนือจัดเก็บเองได้ พบว่า เทศบาลที่สามารถจัดเก็บงบประมาณได้มากที่สุด คือ เทศบาลนครเชียงใหม่ (อ.เมือง จ.เชียงใหม่) สามารถจัดเก็บรายได้โดยตรงได้ทั้งสิ้น 500.14 ล้านบาท ขณะที่เทศบาลที่ได้รับงบประมาณต่ำสุดคือ เทศบาลตำบลป่าไหน่ (อ.พร้าว จ.เชียงใหม่) สามารถจัดเก็บงบประมาณได้เพียง 0.22 ล้านบาท หรือประมาณ 220,000 บาท 

เทศบาลนครเชียงใหม่เป็นเทศบาลเพียงแห่งเดียวที่สามารถจัดเก็บรายได้มากกว่า 500 ล้านบาท ขณะที่เทศบาลอื่น ๆ กลับจัดเก็บได้รายได้ต่ำกว่ามาก เทศบาลนครเชียงราย (อ.เมือง จ.เชียงราย) ซึ่งสามารถจัดเก็บรายได้เป็นอันดับ 2 กลับมีความสามารถในการจัดเก็บเพียง 178.92 ล้านบาท ส่วนต่างระหว่างรายได้ที่เทศบาลทั้งสองแห่งจัดเก็บได้มากถึง 321.22 ล้านบาท 

ขณะเดียวกันเทศบาลกว่า 313 แห่งในภาคเหนือกลับสามารถจัดเก็บรายได้เพียง 1.33 ถึง 7.17 ล้านบาท และมีเทศบาลที่สามารถจัดเก็บรายได้น้อยกว่า 1.33 ล้านบาทมากถึง 157 แห่ง ส่วนเทศบาลที่สามารถจัดเก็บรายได้มากกว่า 7.17 ล้านบาท มีเพียง 99 แห่ง  

นอกจากนั้น มีเทศบาลเพียง 79 แห่ง หรือ 13.86% ของเทศบาลทั้งหมดในภาคเหนือที่สามารถจัดเก็บรายได้เกิน 10 ล้านบาท และมีเทศบาล 11 แห่งเท่า หรือเพียง 1.93% ของจำนวนเทศบาลทั้งหมดที่สามารถจัดเก็บรายได้เกิน 50 ล้านบาท 

งบประมาณรอจัดสรร  

สำหรับภาคเหนือ งบประมาณที่เทศบาลได้รับจัดสรรจากรัฐบาลเมื่อปี 2566 อยู่ที่ 19,882.29 ล้านบาท คิดเป็น 36.77% ของงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ อปท. ทั้งหมดใน 17 จังหวัดภาคเหนือ (งบทั้งหมด 54,072.62 ล้านบาท) และคิดเป็น 18.38% ของงบประมาณทั้งหมดที่รัฐบาลจัดสรรให้เทศบาลทั่วประเทศ (งบทั้งหมด 108,188.68 ล้านบาท)  

หาก 20 อันดับเทศบาลในภาคเหนือที่ได้รับงบประมาณจัดสรรจากรัฐบาลสูงสุด ได้แก่ 

เทศบาลนครเชียงใหม่ยังครองอันดับหนึ่งที่ได้รับงบประมาณสูงสุด แต่เทศบาลอันดับที่ 2 คือ เทศบาลนครนครสวรรค์ (อ.เมือง จ.นครสวรรค์) ขณะที่เทศบาลนครเชียงรายซึ่งสามารถจัดเก็บรายได้เป็นอับดับ 2 กลับได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเป็นอันดับที่ 4 ในภาคเหนือ 

เหตุที่อันดับการจัดสรรงบประมาณเปลี่ยนไป เนื่องจากงบประมาณในส่วนนี้แม้โดยหลักการแล้วจะกำหนดให้เป็นการจัดสรรงบประมาณคืนตามแหล่งที่มาของรายได้ที่หน่วยราชการส่วนกลางหรือรัฐบาลกลางสามารถจัดเก็บได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วกลับไม่สามารถระบุแหล่งที่มาของรายได้ชัดเจน จึงนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณตามจำนวนประชากรในพื้นที่ จะเห็นได้ว่าเทศบาล 6 ลำดับแรกที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นเทศบาลประเภทเทศบาลนคร ซึ่งมีประชากรมากกว่า 50,000 คน ตามที่ระบุใน พรบ.เทศบาล พ.ศ. 2496 

เทศบาลนครในภาคเหนือมีจำนวนประชากรอยู่ระหว่าง 59,036 ถึง 117,892 คน ในขณะที่เทศบาลเมืองของอำเภอเมืองทุกจังหวัด อันเป็นเขตปกครองที่กำหนดให้มีประชากรมากกว่า 10,000 คนขึ้นไป ก็ครองอันดับเทศบาลที่ได้รับงบประมาณจัดสรรจากรัฐบาลระหว่างอันดับ 9 ไม่เกินอันดับที่ 41  

ส่วนเทศบาลนอกอำเภอเมืองบางส่วนหรือเทศบาลอื่นในเขตอำเภอเมืองที่สามารถครองอันดับเทศบาลที่ได้รับจัดสรรงบประมาณในอันดับต้น ๆ เป็นผลจากการจัดสรรงบประมาณแบบเฉพาะ อาทิ เทศบาลตำบลแม่เมาะ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณพิเศษจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นต้น 

งบที่(ต้อง)อุดหนุน 

งบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลถือได้ว่าเป็นงบก้อนใหญ่ที่สุดสำหรับงบประมาณของภาคเหนือ ด้วยสัดส่วนงบประมาณมากถึง 50.64% จำนวนเงินรวมแล้วทั้งสิ้น 24,582.84 ล้านบาท และหากจัดอันดับเทศบาลที่ได้รับงบอุดหนุนสูงสุด 20 อันดับ จะสามารถจัดอันดับได้ ดังนี้ 

จากข้อมูลรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปี 2566 พบว่า เงินอุดหนุนที่มอบให้เทศบาลมีสัดส่วนประมาณ 45.74% หรือกว่า 114,972.19 บาท จากจำนวนงบประมาณเทศบาลทั้งหมด 251,366.26 บาท สอดคล้องกับสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณของเทศบาลในภาคเหนือ 

ในส่วนของงบประมาณอุดหนุน เป็นเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้ อปท. เพิ่มเติมจากงบประมาณจัดสรรปกติ ซึ่งงบประมาณอุดหนุนจำแนกเป็นงบ 2 ประเภท 1) เงินอุดหนุนแบบทั่วไป และ 2) เงินอุดหนุนแบบเฉพาะกิจ 

เงินอุดหนุนทั่วไปเสมือเป็นเงินอัดฉีดให้ อทป. (หมายรวมถึงเทศบาล) มีความคล่องตัวในทางการเงิน เพื่อนำไปดำเนินโครงการหรือพันธกิจของ อปท. ส่วนเงินอุดหนุนแบบเฉพาะกิจเป็นงบประมาณที่รัฐบาลถ่ายโอนให้พร้อมเงื่อนไข โดยเป็นเงินส่วนที่มอบให้ อปท. ต่าง ๆ ไปดำเนินภารกิจหรือโครงการบางอย่างแทนรัฐบาล อาทิ เงินอุดหนุนก่อสร้าง/ซ่อมแซมทางหลวงท้องถิ่น หรือเงินสนับสนุนการท่องเที่ยว เป็นต้น  

งบประมาณกับการกระจายอำนาจ 

หากนับว่าการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 เป็นหมุดแรกของการเริ่มต้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จากข้อมูลงบประมาณเทศบาลทั้งหมดใน 17 จังหวัดภาคเหนือได้ยืนยันแล้วว่าภารกิจการกระจายอำนาจที่ ณ ขณะนี้ล่วงไปแล้วกว่า 28 ปี ยังมิอาจบรรลุผล งบประมาณกว่าครึ่งของเทศบาลในภาคเหนือยังมาจากการอุดหนุนจากรัฐ ในขณะที่งบประมาณที่เทศบาลเหล่านี้สามารถจัดเก็บเองได้กลับมีสัดส่วนเพียง 8.40% เท่านั้น 

และยังต้องพึ่งพางบประมาณจัดสรรจากรัฐบาลในสัดส่วนมากถึง 40.96% โดยงบประมาณจัดสรรนี้เป็นงบประมาณนี้ที่รัฐบาลกลางจัดเก็บเองจากนั้นจึงค่อยจัดสรรคืนให้แก่เทศบาล กล่าวคืองบประมาณประเภทนี้เป็นการจัดเก็บภาษีทางอ้อมขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้รัฐบาลเป็นผู้จัดเก็บแทนก่อนจากนั้นจึงค่อยถ่ายโอนงบประมาณคืนให้ และจะค่อย ๆ ถ่ายโอนอำนาจในการจัดเก็บภาษีเหล่านี้ให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นตามแผนการกระจายอำนาจที่กำหนดไว้ (ปัจจุบันแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉบับที่ 1 ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2549) 

แนวคิดเบื้องหลังการจัดสรรงบประมาณรูปแบบนี้ สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี 2540 ที่กำหนดให้รัฐมีหน้าที่กระจายอำนาจรวมถึงงบประมาณคืนสู่ท้องถิ่น จากนั้นจึงได้มีการประกาศใช้ พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 เพื่อวางแนวทางและเป้าหมายในการกระจายอำนาจ 

กฎหมายฉบับดังกล่าวได้กำหนดเป้าหมายการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับภารกิจที่รัฐบาลกลางหรือราชการส่วนกลางถ่ายโอนให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละองค์การ (อปท.) โดย แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับแรก) ประกาศใช้เมื่อปี 2545 ได้กำหนดให้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550 เป็นต้นไป อปท. ต้องจัดเก็บรายได้ไม่น้อยกว่า 25% ของรายได้สุทธิรัฐบาลกลาง และกำหนดเป้าหมายให้งบฯ อปท. ขยับขึ้นไปมากกว่า 35%  

อย่างไรก็ดี เพียง 2 ปี ในปี 2551 รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจโดยคณะทหารภายใต้การนำของ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ และมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้อนุมัติกฎหมาย ได้ประกาศใช้ แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉบับที่ 2 กลับกำหนดให้การจัดเก็บภาษีและรายได้อื่นของ อปท. ต้องมีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจจวบจนสถานทางการคลังของ อปท. และของรัฐบาล ส่งผลให้การกระจายงบประมาณสู่ อปท. ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการการกระจายอำนาจ กล่าวอย่างง่ายคือเป็นการ ‘เพิ่ม’ ขั้นตอนและเงื่อนไขในการกระจายอำนาจและงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น ซึ่งแผนฉบับเดียวกันนี้เองเป็นแผนที่ยังประกาศใช้มาจนถึงปัจจุบัน 

จากการรายงานของสำนักงบประมาณของรัฐสภา เมื่อปี 2564 เรื่อง รายงานวิเคราะห์รายได้ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า แม้รายได้ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะบรรลุเป้าหมายไม่น้อยกว่า 25% ของรายได้รัฐบาล แต่สัดส่วนงบประมาณกลับไม่เคยบรรลุเป้าหมายที่สัดส่วน 35% ของรายได้รัฐบาลเลย นอกจากนั้นยังมีบางปีงบประมาณที่สัดส่วนงบประมาณ อปท. ต่องบประมาณรัฐบาลกลางต่ำกว่าร้อยล่ะ 25 อาทิ ปี 2559 และปี 2563 เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถจัดงบประมาณได้ตามเป้าที่กำหนดไว้ และในปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ประเมินสัดส่วน อปท. กับรายได้รัฐบาลไว้ที่ 28.99 ซึ่งน้อยกว่าเป้าหมาย 35% ที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2549   

เป้าหมายการกระจายอำนาจที่เริ่มวางหมุดไว้ตั้งแต่ปี 2540 จวบจนทุกวันนี้ผ่านมาแล้วกว่า 28 ปี แลดูเหมือนว่าจะยังไปไม่ถึงไหน หมุดหมายสัดส่วนรายได้รวมให้มากกว่า 35% ของ อปท. เมื่อเทียบกับรายได้ของรัฐบาลยังไม่เคยบรรลุผล ขณะที่สัดส่วน 25% อันเป็น ‘ขั้นต่ำ’ กลับดำเนินไปอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไม่ต่ำกว่าแต่ก็ไม่คือหน้าเช่นกัน  

อ้างอิง  

  • ประกาศคณะกรรมการกระจายอำนาจ ประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจ ให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น. (2545, 13 มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 119 ฉบับพิเศษ 23 ง. หน้า 22-224 
  • ประกาศคณะกรรมการกระจายอำนาจ ประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจ ให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง การบังคับใช้แผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 และแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2). (2551, 26 กุมภาพันธ์). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 125 ฉบับพิเศษ 40 ง. หน้า 1-276 
  • กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น. 2566. ข้อมูลรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566. https://www.dla.go.th/work/money/data/03/Summary_66.pdf  
  • สำนักงบประมาณของรัฐสภา. 2564. รายงานวิเคราะห์รายได้ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น. สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 
  • พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562. (2562, 16 เมษายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 136 ตอนที่ 5 ก. หน้า 164-176 
  • คณะกรรมการการกระจายอำนาจ. (ม.ป.ป.). ตารางประมาณการรายได้ อปท. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2567. https://drive.google.com/file/d/1IRXosuPbOTB5Fxd6qPUIYPwhs7pnaSmo/view

ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย

เกิดและโตในภาคเหนือตอนล่าง เรียนตรีจิตวิทยา กำลังเรียนโทสังคมศาสตร์ สนใจอ่านสังคมจากการมองประเด็นเล็ก ๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง