22/05/2022
รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 นับได้ว่าเป็นการรัฐประหารที่มีการต่อต้านเข้มข้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยครั้งหนึ่ง แม้พลังการต่อต้านจะไม่มากพอทำให้การรัฐประหารครั้งนั้นไม่สำเร็จ
หลัง คสช. ยึดอำนาจ มีกลุ่มประชาชนที่ออกมาคัดค้านทั้งในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองใหญ่ กองทัพได้ใช้วิธีเข้าควบคุมตัวแกนนำ โดยเฉพาะแกนนำคนเสื้อแดงในพื้นที่ต่างๆ ไปกักกันไว้ในค่ายทหารในจังหวัดต่างๆ ขณะที่ก็ออกประกาศเรียกตัวบุคคลไปรายงานตัว และควบคุมตัวไว้ระยะหนึ่งเช่นกัน ทำให้การต่อต้านเป็นไปได้ยาก
ในพื้นที่ภาคเหนือเอง ก็มีรายงานการต่อต้านการรัฐประหารเกิดขึ้น อาทิ ในเมืองเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน หรือลำปาง ทั้งในรูปแบบการชุมนุม การไปชูป้ายในจุดสำคัญ หรือการจัดกิจกรรมกินแม็คโดนัลด์ต้านรัฐประหาร เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ยังมีการต่อต้านอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งดูเหมือนยังไม่เคยถูกรายงานไม่ว่าในสื่อใดๆ และยังไม่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของการต่อต้านรัฐประหารครั้งนั้น ทีมงาน Lanner ร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เคยบันทึกข้อมูลจากกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งออกมารวมตัวต่อต้านทหารที่พยายามเข้ายึดสถานีวิทยุชุมชนในพื้นที่ ไว้ตั้งแต่ในช่วงที่ คสช. ยังดำรงอยู่
ในโอกาสครบรอบ 8 ปี หลังการรัฐประหาร เราขอรายงานบันทึกเหตุการณ์การต่อต้านในอำเภอริมชายแดนนี้ไว้ ในฐานะหน้าหนึ่งที่ยังไม่ได้ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์การต่อต้านรัฐประหาร
พื้นที่ฝางนั้น เป็นอำเภอใหญ่ติดชายแดนของจังหวัดเชียงใหม่ ที่นั่นเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มคนเสื้อแดงค่อนข้างเข้มแข็งมาตั้งแต่ช่วงปี 2552-53 โดยมีการรวมตัวของกลุ่มคนหลากหลาย ตั้งแต่ครู พ่อค้าแม่ขาย ชาวนาชาวไร่ แม่บ้าน ข้าราชการท้องถิ่น ผู้ประกอบการ ไปจนถึงอดีตสหายเก่า เข้ามาร่วมการเคลื่อนไหวในพื้นที่
นอกจากนั้น กลุ่มเสื้อแดงในพื้นที่นั้น ยังมีการขยายแนวร่วมไปอำเภอข้างเคียง จนเกิดเป็น “ชมรมคนรักฝาง แม่อาย ไชยปราการ” ซึ่งเป็นการรวมของกลุ่มเสื้อแดงในสามอำเภอชายแดนของเชียงใหม่ ทั้งมีการจัดตั้ง “หมู่บ้านประชาธิปไตย” ขึ้นในพื้นที่ด้วย
ในช่วงที่การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเข้มข้นปี 2552-57 กลุ่มในพื้นที่นี้ยังได้มีการจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชน โดยใช้วิธีการระดมทุนจากชาวบ้านในพื้นที่เอง ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งจัดผ้าป่า โต๊ะจีน และเวทีปราศรัยต่างๆ นำไปสู่การมีสถานีวิทยุชุมชน ที่มีการจัดรายการเรื่องการเมือง บอกเล่าข่าวสารชุมชน การแนะนำอาชีพในพื้นที่ หรือรายการบันเทิงต่างๆ
ในช่วงนั้น สถานีวิทยุของชมรมคนรักฝาง แม่อาย ไชยปราการ กลายเป็นจุดศูนย์รวมทั้งกิจกรรม-ข่าวสารทางการเมือง และข่าวสารในท้องถิ่น ทำให้เคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐสั่งปิดช่วงระยะหนึ่งหลังการสลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2553 และเมื่อมีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 พื้นที่สถานีวิทยุแห่งนี้จึงเป็น “เป้าหมาย” หนึ่งของทหารที่ต้องเข้าควบคุม
ชาวบ้านในชมรมคนรักฝาง แม่อาย ไชยปราการ เล่าว่า ตั้งแต่ที่กองทัพประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2557 แกนนำและดีเจของสถานีวิทยุชุมชนที่นั่นได้ตัดสินใจจะงดออกอากาศสถานีวิทยุชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยของสถานี เพราะมีบทเรียนจากการถูกเจ้าหน้าที่สั่งปิดสถานีเมื่อปี 2553
วันเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ก็ได้เดินทางไปที่สถานีวิทยุเช่นเดียวกัน พร้อมยินดีกับความร่วมมือในการงดออกอากาศนั้น โดยไม่ได้มีใครบังคับ
กระทั่งสองวันถัดมา ไม่กี่นาทีหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 แกนนำเสื้อแดงในพื้นที่หลายคนได้ถูกทหารเข้าติดตามตัวถึงบ้าน มีการควบคุมตัวไปยังค่ายทหารในคืนนั้นทันที บางรายถูกนำตัวไปค่ายทหารที่อำเภอเชียงดาว บางรายถูกนำตัวไปที่ค่ายในอำเภอแม่ริม ทั้งแกนนำบางคนที่หลบออกจากบ้าน ยังถูกทหารควบคุมตัวญาติที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว ไปเป็น “ตัวประกัน” ก่อน เพื่อให้เจ้าตัวมารายงานตัวกับทหาร
ขณะเดียวกันในช่วงเย็นวันนั้นราว 17.30 น. เจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบอย่างน้อย 5-6 คันรถฮัมวี่ รวมๆ แล้วไม่น่าต่ำกว่า 60-70 นาย พร้อมอาวุธครบมือ ยังบุกไปถึงสถานีวิทยุชุมชน
ชาวบ้านเล่ากันว่าไม่ถึงชั่วโมงหลังรัฐประหาร ขณะที่กลุ่มชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ สถานีวิทยุกำลังจะนำโซ่เหล็กไปคล้องประตูรั้วสถานีวิทยุไว้เพื่อป้องกันการบุกสถานี และเริ่มยกข้าวของอุปกรณ์เครื่องส่งส่วนหนึ่งออกจากสถานี กองทหารหลายคันรถนั้นก็มาถึงแล้ว และเข้าล้อมสถานีจากทุกทิศทางไว้อย่างรวดเร็ว
เริ่มแรกเจ้าหน้าที่จะบุกพังประตูเข้าไปเพื่อจะยึดอุปกรณ์และเครื่องส่งสัญญาณสถานีวิทยุ แต่กลุ่มชาวบ้านได้เอากุญแจมาเปิดสถานีให้ก่อน โดยเจ้าหน้าที่หลายคนไม่เพียงแต่สะพานปืนมาเฉยๆ แต่ยังทำท่าลักษณะใช้อาวุธพร้อมยิง รวมทั้งยังใช้คอมแบทเตะข้าวของบนพื้นที่ไปให้พ้นทาง จนผู้อยู่ในเหตุการณ์บางคนเล่าว่า “เอาปืนมาจี้ ราวกับเราเป็นอาชญากร”
ในภาวะเช่นนั้น แทนที่จะหลบๆ กันไป ชาวบ้านกลับตะโกนกันปากต่อปากว่า “ทหารมาๆๆๆ” บางคนก็โทรเรียกใครต่อใครว่า “ทหารมาแล้ว จะมายึดสถานีเราแล้ว” ทำให้ผู้คนในหมู่บ้านหรือพื้นที่ที่ใกล้เคียง ซึ่งบ้านเรือนอยู่ไม่ไกลกันนัก เดินทางมารวมตัวกันมากขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมแล้วชาวบ้านประมาณว่ามีคนในพื้นที่มารวมตัวกันมากกว่า 100 คน
ชาวบ้านยังเล่ากันอีกว่าผู้หญิงหลายคน ทั้งสาวและแก่ ยังลุกขึ้นด่าทหารด้วยภาษาเมือง อย่างไม่เกรงกลัวปืนผาหน้าไม้
“คิงจะยิงไผ จะมายึดของฮาก๊ะ ฆ่าฮาตายเสี้ยงหมด คิงก็บ่ได้ไป นี่มันของชาวบ้าน”
“คิงมันวอก ไหนบอกจะไม่รัฐประหาร ยังทำอยู่”
นั่นคือบางประโยคที่เล่าว่ากันว่ามีชาวบ้านตะโกนด่าทหาร
เล่ากันอีกว่าหญิงชาวบ้านมือเปล่าบางคน ยังยกผ้าซิ่นที่นุ่งอยู่ขึ้น แล้วหันบั้นท้ายให้ทหารดู พร้อมตะโกนด่าว่า “คิงเอาปืนมา จะยิงใคร ฮามีอะหยัง คิงใครหันก๊ะ มีจะอี้” ขณะที่อีกบางคนก็ถอดเสื้อของตัวเองออก เหลือแต่ยกทรงด้านใน พร้อมท้าทายทหารกล้าให้ยิงมานี่เลย ถ้าจะยิง ก็ยิงมาเลย
แม้เจ้าหน้าที่จะแจ้งว่าไม่ได้มาใช้ความรุนแรงต่อชาวบ้านแต่อย่างใด แต่ใครบางคนก็โต้ตอบกลับไปว่าเอาปืนมาแบบนี้ จะไม่รุนแรงได้อย่างไร
ระหว่างความชุลมุนวุ่นวายนั้นเอง กลุ่มผู้ชายและชาวบ้านอีกส่วนหนึ่ง ก็เข้าไปช่วยกันขนชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ในสถานีวิทยุ คนละชิ้นสองชิ้นหลบออกไป
ท่ามกลางชาวบ้านที่ยืนด่าทอเจ้าหน้าที่ เล่ากันว่าทหารชั้นผู้น้อยยืนนิ่งไม่พูดอะไร ส่วนพวกผู้ใหญ่ที่นำปฏิบัติการมาก็เข้ามาเจรจากับแกนนำในกลุ่มชาวบ้าน โดยแกนนำที่อยู่ตรงนั้นยืนยันว่าจะไม่ออกอากาศวิทยุในสถานการณ์นี้ แต่ขอไม่ให้เจ้าหน้าที่ยึดเอาอุปกรณ์ต่างๆ ไป เพราะทั้งหมดเป็นข้าวของที่ชาวบ้านร่วมกันลงขันมา
แกนนำต่อรองไปขนาดว่าให้เจ้าหน้าที่มาระเบิด หรือเผาสถานีวิทยุเลยก็ได้ จะได้ไม่มีใครได้อะไรไป และสถานีก็ไม่ได้ออกอากาศตามที่ทหารต้องการ ระหว่างการเจรจา ชาวบ้านยังให้ข้าราชการท้องถิ่นมาช่วยรับรองและเป็นพยานว่าจะไม่ออกอากาศวิทยุ แล้วจะเอาอุปกรณ์ต่างๆ ออกไปจากสถานีให้หมด ไม่เอาเข้ามาอีก
หลังการเจรจา เจ้าหน้าที่ยินยอมไม่เอาข้าวของอุปกรณ์ที่ต้องการไป โดยขอเข้าไปถ่ายรูปว่าไม่มีอะไรเหลือแล้วในสถานีวิทยุ จากนั้นก็ยังไม่ได้เดินทางกลับ ชาวบ้านเล่าว่าทหารบางส่วนยังเฝ้าอยู่รอบๆ สถานี ทั้งเข้าไปซุ่มอยู่ตามป่า หรือเข้าไปในโรงเรียนที่อยู่ใกล้ๆ ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนก็ยังเฝ้าอยู่ที่สถานีเช่นกัน
จนมืดแล้ว ข้าราชการในท้องที่ต้องเข้าไปเจรจาพูดคุย ว่ามันเริ่มค่ำมากแล้ว อยากให้เจ้าหน้าที่กลับไปก่อน กลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรง หรือจะมีมือที่สามมาก่อกวน จากนั้นเจ้าหน้าที่บริเวณนั้นจึงเดินทางกลับไป ขณะที่ชาวบ้านก็เข้าล็อคกุญแจสถานีวิทยุไว้
หลังจากวันนั้น ชาวบ้านเล่าว่ามีทหารแวะเวียนมาดูสถานีวิทยุแทบทุกวัน มาดูว่ามีการออกอากาศหรือไม่ และดูว่ามีการติดป้ายอะไรหรือไม่ โดยป้าย “หมู่บ้านประชาธิปไตย” ก็ถูกให้นำออกทั้งหมด
ต่อมามีการนำป้าย “เพื่อความสงบเรียบร้อย ของดออกอากาศชั่วคราว” มาติดที่รั้วหน้าสถานี แต่ชาวบ้านไม่ทราบว่าเป็นใคร ก็ไปเขียนข้อความ “No Coup” จารึกไว้บนป้าย
แม้สถานีวิทยุชุมชนจะไม่สามารถออกอากาศได้เป็นเวลานับปี และแกนนำหลายคนหลังถูกปล่อยตัวจากค่ายทหาร ก็ยังโดนทหารเยี่ยมบ้านติดตามความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดในช่วงแรกๆ แต่อุปกรณ์ของสถานีวิทยุหลายอย่างที่มาจากการลงขันกันของชาวบ้าน ก็ไม่ได้ถูกยึดไป และจากนั้น 2-3 ปี ก็กลับมาออกอากาศสถานีได้อีกครั้ง ภายใต้การควบคุมของ กสทช.
จนถึงปัจจุบันกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ฝาง ก็ยังไม่ได้หายไปไหน ยังมีการจัดกิจกรรมทางการเมืองอยู่เป็นระยะตามโอกาสและกระแสการเคลื่อนไหว อาทิ กิจกรรมวิ่งไล่ลุงในช่วงปี 2563 หรือกิจกรรมคาร์ม็อบไล่ประยุทธ์ในช่วงปี 2564 ก็มีขึ้นที่พื้นที่อำเภอฝางเช่นกัน
แม้เรื่องราวในวันรัฐประหารเมื่อปี 8 ปีก่อนของชาวบ้านในอำเภอฝาง จะไม่ถูกบันทึกไว้ในทางสาธารณะอย่างกว้างขวางมากนัก แต่วีรกรรมนี้ไม่ว่าอย่างไร น่าจะยังถูกจดจำและบอกเล่าอยู่ในพื้นที่ชายแดนแห่งนั้นจนถึงปัจจุบัน
เรื่องและภาพ: นพพล อาชามาส
#8ปีรัฐประหาร57
#Lanner