คณะกรรมการชาวบ้านต่อต้านผู้รุกรานคืนความเป็นธรรมแสดงจุดยืนขอความเป็นธรรมโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ชะลอการจ่ายเงินทดแทนการอพยพ​

20/05/2022

วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 เวลาประมาณ 10.00 น. ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ประชาชนจำนวนกว่า 400 – 500 คน ร่วมแสดงจุดยืนและแถลงการณ์ข้อเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากการที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ชะลอการจ่ายเงินทดแทนการอพยพ โดยภาคประชาชนในนามของคณะกรรมการชาวบ้านต่อต้านผู้รุกรานคืนความเป็นธรรม (คชต.ธ.) ที่ประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง, กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, ตัวแทนประชาชน เป็นคณะกรรมการ ฯ เริ่มการปราศรัย ถึงปัญหาของการอพยพย้ายถิ่น เนื่องด้วยการที่หน่วยงานที่รับผิดชอบ ขอขยายระยะเวลาการเยียวยาและฟื้นฟูตามความประสงค์ ในช่วงปลายปี 2564 แต่มีการเลื่อนระยะเวลามาโดยตลอด จากการคาดการหากประชาชนไม่ออกมาเรียกร้องอาจมีการขยายระยะเวลาการใช้งบประมาณจนถึงปี 2570​

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง กล่าวบนเวทีปราศรัยว่า “ขอให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตในพื้นที่ได้อย่างมีความสุข ผลกระทบเกิดขึ้นอย่างหลากหลาย ส่งความเจ็บปวดมาสู่ประชาชนในพื้นที่ วันนี้ต้องมีการบรรลุข้อตกลงระหว่างประชาชนและคณะกรรมการ ฯ อย่างน้อยวันนี้ต้องมี MOU”​

ตัวแทน คชต.ธ. กล่าวบนเวทีปราศรัยว่า “ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าแม่เมาะมีประเด็นปัญหาใดในการฟื้นฟูเยียวยาการอพยพของประชาชน ขอตั้งคำถามว่าตั้งแต่อดีตที่พื้นที่อยู่อย่างสงบสุข แต่ 30 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ตำบลบ้านดง ต้องเผชิญกับมลภาวะอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น โรงไฟฟ้า ฯ มีการกล่าวอ้างว่าชาวบ้านขออพยพเอง แต่หากคิดไปถึงวิถีชีวิตของประชาชน คงไม่มีใครที่อยากจะออกไปเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด โรงไฟฟ้า ฯ เข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ แต่ประชาชนต้องทำมาหากิน ทุกอย่างเลยสูญเสียไปทั้งหมด และควรมึการรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โรงไฟฟ้า ฯ ต้องจ่ายส่วนต่างพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบ ดังเช่นการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 58 (3) [ในการดําเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหน่ึง รัฐต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยท่ีสุด และต้องดําเนินการให้มีการเยียวยา ความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า] แต่ปัจจุบันมีความล้าช้าไปเกือบ 10 ปีแล้ว การกระทำกับวิธีการปฎิบัติมีความแตกต่างกัน ประชาชนภายนอกคิดว่า พื้นที่มีความพร้อม มีงบประมาณ มีกองทุน อยากให้มีการสำรวจพื้นที่ว่าเป็นจริงหรือไม่ ? สาธารณูปโภคของประชาชนภายในพื้นที่มีปัญหาหรือไม่ ? แค่การอพยพที่มีความพร้อมยังทำไม่ได้”​

ตัวแทนอดีตผู้ใหญ่บ้าน ตำบลบ้านดง กล่าวบนเวทีปราศรัยว่า “ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจการของเหมืองจริง โดยทางโรงไฟฟ้า ฯ มีการให้ประชาชนรอบระยะโรงไฟฟ้า 5 กิโลเมตร อพยพด้วยความสมัครใจ จนถึงตอนนี้เป็นเวลา 9 ปีแล้วที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม การทำงานของคณะกรรมการดำเนินการอพยพ ระดับจังหวัด ฯ มีตัวแทน 40 กว่าคน แต่มีตัวแทนประชาชนเพียง 8-9 คน การหามติจึงมีการคัดค้านจากตัวแทนข้าราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ในบางกรณีมีผลกระทบเป็นการฝืนความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ ประชาชนมีความตั้งใจที่จะหนีจากผลกระทบโดยเร็วที่สุด แต่ก็หาได้ตรงตามความปรารถนาของประชาชนในพื้นที่ไม่ ทั้งนี้ไม่เป็นไปการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 58 (3) ตัวของประชาชนมีความลำบากใจที่จะต้องเผชิญกับความไม่จริงใจของหน่วยงานภาครัฐ มีประชาชนไม่ถึง 10 % ที่ได้รับการชดเชยและปัจจุบันยังรับค่าชดเชยไม่ครบ การขอขยายระยะเวลาทุกครั้ง ประชาชนย่อมได้รับผลกระทบที่มากขึ้น” โดยมีตัวแทนจากพลังงานจังหวัดลำปางและโรงไฟฟ้าฝ่ายผลิตแม่เมาะ, รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง, นายอำเภอแม่เมาะ, รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง, ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่เมาะ, ตัวแทนผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 32 ได้เดินทางมาร่วม ฟังแถลงการณ์ข้อเรียกร้องของคณะกรรมการชาวบ้านต่อต้านผู้รุกรานคืนความเป็นธรรม​

โดยในเวลา 11.44 น. รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวบนเวทีปราศรัยว่า “ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง บอกกล่าวกับประชาชนว่าทางจังหวัดดำเนินการล่าช้ามาก ตนพึ่งได้รับหน้าที่ในการมาอำนวยการอพยพของประชาชนชาวแม่เมาะ ปัจจุบันมีการเร่งรัดให้มีการจ่ายค่าทดแทนการอพยพโดยเร็วที่สุด เข้าใจในความเดือดร้อนของประชาชน ประชาชนทุกคนที่ได้รับผลกระทบต้องมีการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ขอให้ประชาชนมีความไว้วางใจ รวมทั้งรับข้อเสนอทั้งหมดตามที่แถลงการณ์ แต่ด้วยข้อกฎหมายที่มีอยู่ของรัฐ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลการดำเนินงานล่าช้า ​ หากมีการประชุม จะต้องมีตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปร่วมประชุมได้”​

ภายหลังจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางกล่าวจบ คณะกรรมการชาวบ้านต่อต้านผู้รุกรานคืนความเป็นธรรม เรียกร้องการทำ MOU ยืนยันว่าการทำกิจกรรมครั้งนี้ไม่ได้เปิดรับข้อแก้ตัวจากหน่วยงานภาครัฐ ต้องมีการทำ MOU เป็นข้อตกลงภายในวันนี้ หากไม่มีการทำ MOU จะดำเนินการเคลื่อนพล​

ด้านรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางและคณะกรรมการอพยพจังหวัดลำปาง ยอมรับที่จะดำเนินการทำ MOU และลงนามสัญญาข้อเรียกร้อง ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ในประเด็นข้อเรียกร้องที่ว่าประชาชนได้รับผลกระทบ จะต้องได้รับเงินชดเชยค่าอพยพ ก่อนวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ​

โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลส่วนตำบลบ้านดง กล่าว “ขอขอบคุณที่ประชาชนมาร่วมกันแสดงจุดยืนในการเรียกร้องขอความเป็นธรรม วันอังคาร ที่ 24 พฤษภาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป โดยจะต้องมีการทำ MOU ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง เราจะยึดมั่นในอุดมการณ์ หวังว่าผู้ที่มารับเอกสารร้องเรียนความเดือดร้อนของประชาชน จะมีความซื่อสัตย์ ความจริงใจในการแก้ปัญหาของประชาชน”​

เรื่องและภาพ: พินิจ ทองคำ​

#Lanner

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง