16/05/2022
“เวลาเราเสพสื่อ แม้กระทั่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรา สำนักข่าวต่าง ๆ จะมีมุมมองที่มาจากคนอื่น เป็นการพูดถึงคนข้างในโดยคนข้างนอก ความเข้าใจมันจึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะเหมือนกัน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่อยู่ในชุมชนเขาจะพูดเรื่องนี้หรือเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร หากเราไม่พูดจากมุมมองที่เขายืนอยู่
มันเป็นปัญหาตั้งแต่รากของการศึกษาประวัติศาสตร์ด้วย คือประวัติศาสตร์เราทุกอย่างมันถูกทำให้เป็นภาพใหญ่ สังคมเป็นภาพใหญ่ แล้วชุมชนไปไหน ภูมิภาคไปไหน ชุมชนจึงถูกดึงเข้ามาเป็นตรงกลาง หลายคนก็บอกว่าทั้งเรื่องการจัดสรรงบประมาณ ทั้งเรื่องความรู้ มันอยู่ตรงกลางหมดเลย เราจะเข้าใจส่วนอื่น ๆ ได้อย่างไรถ้าเราไม่สามารถอธิบายส่วนต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้
ฉะนั้นสื่อกระแสรองมีความสำคัญ โดยเฉพาะการอธิบายผู้ที่ถูกกดขี่อยู่ข้างล่าง เราเป็นสื่อย่อย เราจึงจะเห็นส่วนเล็ก ๆ แบบนี้ที่มันเคลื่อนที่แล้วนำเสนอสิ่งที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด คนจะได้เข้าใจสิ่งที่มันเคลื่อนอยู่ มีพลวัต ไม่ได้ตายตัว รวมถึงสื่อต้องต่อกับคนให้ติด ไม่จำเป็นต้องเป็นงานวิชาการแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เราอาจทำเป็นบทความสั้น ๆ ก็ได้ เสนอให้คนเข้าใจเรื่องนี้ง่าย ๆ จากสิ่งที่เราเห็น”
— สัพพัญญู วงศ์ชัย
นักวิชาการอิสระ
ความเห็นจากการพูดคุยระหว่างกองบรรณาธิการ Lanner กับนักคิด นักวิชาการและศิลปินภาคเหนือ เมื่อเดือนเมษายน 2565
ภาพ: วรรณา แต้มทอง
#lanner
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...