12 กันยายน 2565
สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จ.ลำปาง ยื่น ‘พิธา’ ช่วย ‘แสงเดือน ตินยอด’ เหยื่อทวงคืนผืนป่า ศาลฎีกานัดชี้ชะตา 28 ก.ย. นี้ พิธารับปากส่ง ส.ส. และ กมธ. ที่ดินฯ ร่วมสังเกตการณ์
12 ก.ย. 2565 แสงเดือน ตินยอด เหยื่อทวงคืนผืนป่า วัย 55 ปี จากชุมชนบ้านแม่กวัก อ.งาว จ.ลำปาง ร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ อภิชาต ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ องค์การบริหารส่วนตำบลสบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อให้ความช่วยเหลือแสงเดือนโดยเร่งด่วน ก่อนจะมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 28 ก.ย. นี้
หนังสือดังกล่าวระบุว่า สืบเนื่องจากภายหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนมีคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ หรือ ‘นโยบายทวงคืนผืนป่า’ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2557 นำมาสู่กรณีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขตป่าทั่วประเทศ พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐในสังกัดกรมป่าไม้ และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายรูปแบบเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าตามตัวเลข 40 เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือ มีการจับกุม ดำเนินคดี การตัดฟันพืชผลอาสิน การข่มขู่ คุกคาม รวมถึงการบังคับให้ออกจากพื้นที่ทำกินเดิม โดยหนึ่งในนั้นคือกรณีที่เกิดขึ้นกับแสงเดือน ตินยอด หรือชื่อปัจจุบัน วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง วัย 55 ปี หญิงชาวบ้านแม่กวัก อำเภองาว จังหวัดลำปาง เหยื่อจากนโยบายทวงคืนผืนป่า สะท้อนภาพผลกระทบจากนโยบายที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคง และรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ดำเนินการแย่งยึดที่ดินประชาชน
สกน. ลำปางให้ข้อมูลว่า กรณีของแสงเดือน ตืนยอด เกิดขึ้นภายหลังที่ดินทำกินถูกประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง หลังจากนั้น กรมป่าไม้อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์และอยู่อาศัยได้โดยให้สิทธิ สทก. 1 ก่อนมีการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ขณะที่ก็ยังมีการต่อใบอนุญาตทำกินให้ รวมถึงได้รับการส่งเสริมให้ปลูกยางพารา จนหลังมีคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 หรือ ‘นโยบายทวงคืนผืนป่า’ เธอจึงถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทและป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง บังคับให้ตัดฟันยางพาราของตนเอง 2 ครั้ง ในปี 2556 และ 2558 ก่อนจะถูกดำเนินคดีในปี 2561 ในพื้นที่ทำกิน 10 ไร่
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าแสงเดือนทำกินในพื้นที่มาก่อนการประกาศเป็นป่าสงวนฯ และกำลังดำเนินตามนโยบาย ‘โฉนดชุมชน’ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 และยังได้รับการผ่อนผันตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 แต่หน่วยงานรัฐได้ยื่นเรื่องต่อศาลอุทธรณ์และต่อมาได้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น สั่งจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยเจตนา และเรียกค่าเสียหาย 4 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2561 รวมทั้งให้แสงเดือน ออกจากพื้นที่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ด้านอัยการจังหวัดลำปางยืนยันเดินหน้าเอาผิดแสงเดือนในกระบวนการศาลอย่างถึงที่สุด และจะมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 28 ก.ย. นี้
“กรณีดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนนโยบายใหญ่ที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะนโยบายที่ว่าด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่า พื้นที่สีเขียว ตั้งแต่แผนแม่บทป่าไม้ฯ ที่กำหนดว่าประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ รวมถึงนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีความพยายามในการส่งเสริมปลูกป่าเพื่อค้าคาร์บอนเครดิต นโยบาย ‘ Net Zero’ หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ที่จะสัมพันธ์โดยตรงต่อการแย่งยึดที่ดินชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่เขตป่า และจะส่งผลต่อการยึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้านด้วยมาตรการทางกฎหมายป่าไม้ โดยมีทั้งพื้นที่ที่ถูกดำเนินคดีและกำลังเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีซึ่งจะเป็นเป้าหมายหลักในการนำมาดำเนินโครงการปลูกป่า โดยพบว่าตลอดเวลา 8 ปีของนโยบายทวงคืนผืนป่า มีคดีความที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกป่าไม่ต่ำกว่า 34,692 คดี“
แสงเดือน ตินยอด กล่าวว่า ตนได้รับผลกระทบจากหนี้สินที่เพิ่มชึ้น ไม่มีที่ดินทำกิน และเผชิญสภาวะซึมเศร้า ต้องพบแพทย์ และรู้สึกไม่มั่นคงในการใช้ชีวิต
“เป็นกังวลมากว่าศาลจะตัดสินอย่างไร ทุกวันนี้เครียดมาก จากที่ปลูกยางต้องไปรับจ้างกรีดยางของคนอื่น เราไม่ได้ทำอะไรผิด ทำไมคนใหญ่คนโตถึงต้องเหยียบเราจนจมดิน จนไม่รู้ว่าหลังจากนี้จะฟื้นขึ้นมาได้ไหม” แสงเดือนกล่าว
ลำปาง มีข้อเรียกร้องให้เร่งรัด ติดตาม การดำเนินงานของคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจับกุมและดำเนินคดีแสงเดือน ตินยอด มาชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าว ว่าใช้อำนาจหน้าที่ใดในการดำเนินการ เหตุใดต้องเจาะจงดำเนินการกับแสงเดือน ตินยอด ในกระบวนการเหล่านั้นปรากฏการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงยืนยันได้ว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่มีความผิดพลาดและลุแก่อำนาจ และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีเยียวยาใดๆ
โดยหน่วยงานที่ต้องร่วมชี้แจง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, หน่วยงานรับผิดชอบในปฏิบัติการระดับพื้นที่, ศูนย์ปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) ในขณะนั้น, เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท และเจ้าหน้าที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง รวมถึงภาคประชาชน แสงเดือน ตินยอด และผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) โดยต้องมีความคืบหน้าภายใน 30 วัน และรายงานผลการตรวจสอบสู่สาธารณะ
ด้านพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ทวงคืนผืนป่าเป็นปัญหาทางนโยบาย ที่รัฐราชการใช้แต่นิติศาสตร์ แต่ไม่ใช้รัฐศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา จึงเกิดคดีความขึ้นหลายหมื่นคดี ทางออกหลังจากนี้คือการผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหาย หรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ
ส่วนกรณีแสงเดือน ตินยอด พิธารับปากว่าจะส่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล และกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าสังเกตการณ์ ณ ศาลจังหวัดลำปาง และจะช่วยสื่อสารทางสาธารณะ
เรื่องและภาพ: พชร คำชำนาญ
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...