22 กันยายน 2565
“SAAP 24:7” พื้นที่ 24 ชั่วโมงในมหาลัย น่าจะเอาไปทำอะไรได้เยอะแยะเลยนะ
Lanner ชวน อิ้ง, ปอนด์, พรีเมียร์, เจ๋ง และ ลำพู สมาชิกจากทีม SAAP 24:7 พูดถึงการตั้งกลุ่ม แคมเปญที่ทีมกำลังผลักดัน ก่อนจะชวนไปทำอะไรแสบๆ ในงาน Human ร้าย Human Wrong 5 The Team, Making Change 24 กันยายน 2565 ตั้งแต่เวลา 13.00 – 19.00 น. ณ ลานเสี่ยว ซอยหลังวัดอุโมงค์
เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม
ภาพ: วรรณพร หุตะโกวิท
เล่าให้ฟังหน่อยว่า SAAP 24:7 เนี่ย เกิดมาได้ยังไง ?
อิ้ง: จริงๆ ก่อนเป็น SAAP มันเป็นอย่างอื่นมาก่อน คือเราไม่ได้เอาหัวข้อนี้ในตอนแรก แต่หัวข้อเดิมมันไม่มีทีท่าว่าจะออกมาเป็นรูปเป็นร่าง เลยตัดสินใจเปลี่ยนหัวข้อ แล้วไอ้หัวข้อนี้ คือเรื่องของการรณรงค์พื้นที่ 24 ชั่วโมงในมหาวิทยาลัย มันก็มาจากปัญหาที่เราเจอ คือ การไม่มีพื้นที่นั่งทำงาน ไม่มีที่พูดคุยหลังเลิกเรียน สถานที่ในมหาลัย ปิด 4 โมง 4 โมงครึ่ง มันก็พ่วงกับค่าใช้จ่ายถ้าเราไปข้างนอก อย่างคาเฟ่ก็จะมีค่าน้ำ หรือแม้แต่สัปดาห์อ่านหนังสือ เราก็ต้องมีค่าใช้จ่ายตรงนี้พ่วงเข้ามาด้วย แล้วนอกจากค่าใช้จ่ายก็เป็นเรื่องความสะดวก ความปลอดภัย เนื่องจากเราเป็นนักศึกษาเนอะ ส่วนใหญ่ก็จะอาศัยอยู่หอในบ้างหอนอกบ้าง เพราะงั้นการเดินทางมาที่มหาลัยมันก็สะดวกกว่าการเดินทางไปที่อื่นอยู่แล้ว
ทีนี้ มันก็เริ่มมาจากปัญหาที่เราพบเจอ พอตกตะกอนไปสักพัก เราก็พบบางสิ่งบางอย่าง ว่าจริงๆ พื้นที่มันมีความสำคัญในการรวมกลุ่ม แล้วมันก็ไม่ได้มีหน้าที่เชิงกายภาพเฉยๆ แต่มันทำให้เราเห็นวิถีชีวิตผู้คนด้านในมหาลัยด้วย มันเป็นภาพสะท้อนของความเท่าเทียมเนอะ ก็คือถ้าคนในมหาลัย หรือผู้คนโดยรอบ สามารถใช้ได้อย่างเท่าเทียมกัน มันก็แสดงว่าสังคมนั้นๆ มันมีความเท่าเทียม แต่ปัจจุบันตอนนี้ นักศึกษาแทบไม่มีความชอบธรรมในการเข้าไปใช้เลย
ถามปอนด์หน่อยฐานะที่ปอนด์เองก็ไม่ใช่เด็กมช. (พื้นที่ในการผลักดันแคมเปญนี้คือที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ทำไมถึงต้องดันประเด็นนี้ที่มช. อ่ะ
ปอนด์: คือมช. มันเป็นพื้นที่ใหญ่ พอเราผลักดันอะไรได้ ยิ่งถ้ามันมีพื้นที่ 24 ชั่วโมง มีพื้นที่ทำนู่นทำนี่ มันก็จะเป็น Model ให้มหาลัยอื่นๆ สามารถผลักดันกันต่อได้นะ ให้มันได้กระจายไป เป็นการเรียกร้องเพื่อเป็น Role Model ให้มหาลัยอื่นๆ ด้วย
อิ้ง: หัวข้อที่เราทำมันก็ไม่ได้จำกัดตั้งแต่แรกแล้วว่าเป็นแค่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะเรารณรงค์ในพื้นที่มหาลัยของนักศึกษา ก็คือภาพรวมใหญ่ๆ นั่นแหละ ว่าเราอยากให้มหาลัยให้ความสำคัญกับพื้นที่ของนักศึกษา ในการพูดคุย ในการทำงาน ในการใช้ชีวิตอะไรใดๆ ก็แล้วแต่
แล้วที่ผ่านมาทำอะไรกันไปแล้วบ้าง
อิ้ง: ถ้าเกิดเอากิจกรรมที่เห็นชัดๆ อันแรกจะเป็นการสำรวจพื้นที่ที่น่าจะใช้งานได้ เอามาคุยกัน อ่านหนังสือกันได้ แล้วก็ไปสำรวจพวกอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ก่อนจะไปตีแผ่ว่าที่มหาลัยมันมีที่ที่เหมาะแก่การเข้าไปใช้งานเยอะมาก แต่มันติดอย่างเดียว มันไม่เปิด ซึ่งอันนี้ได้ Engagement ค่อนข้างเยอะ เพราะว่านักศึกษาเห็นว่ามี Relate กับตัวเขา คือมันก็เป็นพื้นที่ใต้ตึกคณะเขานั่นแหละ แต่พอไปใช้งานทีไร 4 ทุ่มปุ๊บ ยามมาไล่ทุกที แล้วก็มีเสวนาแลกเปลี่ยนระหว่างมหาลัย ทั้งจุฬา มช. ราชมงคลล้านนา มันก็มีปัญหาที่คล้ายกันบ้าง ต่างกันบ้าง รวมๆ ก็เห็นตรงกัน ว่ามหาลัยอ่ะ ควรให้พื้นที่ที่ไม่จำกัดเวลาการใช้งานแก่นักศึกษา
แล้วก็ล่าสุดจะเป็นโพลล์แสดงความคิดเห็น เราไปตั้งว่า ‘ส่วนใหญ่แล้ว วิถีชีวิตของนักศึกษาเป็นยังไง’ ก็จะมีเรื่องเวลาในการใช้อ่านหนังสือ เรื่องของสถานที่ที่เข้าไปใช้งาน ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมา เราก็คาดเดาไว้ก่อนนะ ว่ามันจะขัดแย้งกับสิ่งที่มหาลัย Provide ให้ ทั้งเวลา ทั้งสถานที่ เพราะว่าตอนนี้ผ่านไปไม่ถึงครึ่งก็เห็นแล้วว่าส่วนใหญ่ วิถีชีวิตเขาคือจะต้องใช้พื้นที่พวกนี้เวลากลางคืน
คุยกับสมาชิกใหม่หน่อยดีกว่า เจ๋งกับลำพู เข้ามาได้ยังไง
เจ๋ง: งอแงครับ งอแงอยากเข้า อยากเท่ อยากได้เสื้อฟรี แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้เสื้อทีม (ฮา) ก็อยากช่วยทำงานนั่นแหละ แต่ก็กลายเป็นว่าไม่ได้ว่างไปช่วยขนาดนั้น จนต้องกลับมาช่วยอีกรอบช่วงนี้ เพราะว่าส่วนใหญ่ใน SAAP มันเป็นนักศึกษาแพทย์ อย่างอิ้งนี่เรียนอะไรนะ เศรษฐศาสตร์ใช่ไหม อะไรแบบนี้ ทุกวันนี้ก็เลยทำแนวสื่อ แอคศิลป์อะไรเงี่ย
ลำพู: ก็คิดว่ามันเป็นประเด็นที่น่าสนใจอะ พอมานั่งนึกดูที่ผ่านมาเราเองก็เป็นวัยรุ่ยที่ใช้ชีวิตแบบหลุดลุ่ยงี้มาตลอดทั้งเรียน ทำงาน ปั่นการบ้าน พักผ่อน Hangout กับเพื่อน ทั้งหมดนี้ที่ว่ามาเราทำมันในเวลา 24 ชม. เองด้วยซ้ำ แล้วส่วนใหญ่ก็จำเป็นต้องออกมาทำนอกหอพัก แต่จะไปไหนก็มีข้อจำกัดอะ หอสมุดก็คนเยอะ Food Center ก็ที่เต็ม คณะก็ที่นั่งไม่พอ จะไปคาเฟ่นอกมอก็ไกลไหนจะแพงอีก บางทีต้องทำงานดึกๆ มันก็เป็นเรื่องความปลอดภัยเข้ามาด้วย พอเป็นงี้มันก็พอจะเข้าใจละ ว่าพื้นที่ที่มีมันไม่ได้สัมพันธ์กะ Activity ของวัยรุ่ยเท่าไหร่ มหาลัยไม่ได้สนับสนุนนักศึกษาได้เท่าที่ควรจะเป็น มหาลัยไม่ได้เป็นเพียงสถานศึกษาที่ให้ความรู้ด้านวิชาการ แต่มหาลัยควรเป็นพื้นที่ที่สนับสนุนคุณภาพชีวิตของนักศึกษาในทุกๆ ด้าน เพราะงี้ก็เลยต้องมาเป็นชาว SAAP ไง
ชวนคุยเรื่องการทำงานเป็นทีมของพวกเรากันหน่อยเป็นไง
พรีเมียร์: จริงๆ เรารู้สึกว่าทีม SAAP หลายคนอย่าง อิ้งกับไอซ์(สมาชิกในทีม) เราเคยทำงานกันมาก่อนแล้ว หลายๆ อย่างเราก็ค่อนข้างคุ้นชินกัน ความเข้าใจในภาระของแต่ละคน แต่เราก็ได้มาเจอเพื่อนใหม่ๆ อย่างปอนด์ แล้วก็ยังงอกขึ้นมาอีกหลายคน แต่เราก็รู้สึกว่าเรามาทำงานด้วยกัน ก็จะดึงดูดคนที่ยอมรับในวัฒนธรรมมาอยู่รวมๆ กัน แต่ว่าจริงๆ สิ่งหนึ่งที่เราเริ่มได้เข้ามาเรียนรู้แคมเปญก็คือ ที่ผ่านมาตอนเราทำสโมมหาลัยหรือที่เคลื่อนไหวในมหาลัย มันไม่ได้มีหลักการอะไรมารองรับหรือเครื่องมือกระบวนการอะไรให้เราใช้ทบทวนตัวเอง พอเราได้ใช้เครื่องมือต่างๆ นาๆ ในการทำแคมเปญ มันได้เรียบเรียงความคิดตัวเองออกมา จัดหมวดหมู่หลายๆ อย่าง เป็นระบบ วางแผนกันมากขึ้น อย่างเมื่อก่อน การเคลื่อนไหวมันก็จะ Based บนความเห็นของเราอย่างเดียว แต่พอเราเริ่มพูดว่ามันเป็นแคมเปญ หน้าที่เราจะไม่ใช่การเคลื่อนไหว แคมเปญมันก็คือการหาพันธมิตร ทางทีมงาน Human ร้าย ก็สอนให้เราประเมินว่า เราจะจัดหมวดหมู่คนที่เราเอามาเป็นพันธมิตรยังไง Stakeholders ต่างๆ มากมาย เราก็รู้สึกว่ามันทำให้เรายั้งคิด ไม่ได้คิดแทนคนอื่นไปหมด
การที่ได้เข้าร่วม Human ร้าย มันสามารถสร้างความเป็น Active Citizen ได้จริงๆ อย่างตัวผม หรือสมาชิกแต่ละคน มันทำให้เราดึงคนที่อยากจะทำแคมเปญหลายอย่างมาอยู่ด้วยกัน แล้วมันก็มีเครือข่ายที่พร้อมจะช่วยเหลือเราตลอดเวลา มี Connection ที่จำเป็นเกี่ยวกับการทำแคมเปญ ทั้งงานศิลป์ งานวิทย์ งานสถิติ งานข้อมูล ทุกอย่าง
อิ้ง: ไม่รู้ทีมอื่นเป็นยังไงนะคะ ทีมเราตั้งต้นมาจากสมาชิกน้อยๆ 3-4 คน แต่ตอนนี้มันมันเพิ่มขึ้นเป็น 6-7 คน แล้วก็ยังทำงานกันอยู่ กระบวนการที่ Human ร้าย Workshop มันจะเป็นเครื่องมือต่างๆ ในการทำแคมเปญ การวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน การทำงานร่วมกัน ก่อนหน้านี้ก็มีเครียดอยู่ช่วยหนึ่งนะ เรื่องสมาชิกงี้ มันทำงานด้วยกันยาก ก็พยายามปรับ เรียนรู้กันไป มันไม่ได้เติบโตแบบว่าโตเลยนะ คือมันลากกันไปทำ ยิ่งได้รับการสนับสนุนจากทีมงาน Human ร้าย ด้วย มันอบอุ่นมากนะ เรารู้สึกว่ามันเป็นการเรียนรู้ที่เหมือนมีคนคอยช่วยเหลือ แล้วเราไม่ค่อยท้อ เพราะรู้สึกว่าทีมนี้ Support เราแน่นอน ไม่ได้ทิ้งให้เราทำกันเอง
ปอนด์: ผมว่ามันแฮปปี้ดีนะ ทุกคนมีอะไรก็ช่วยเหลือกัน ไม่ทิ้งกัน ตอนจัดงาน ขอให้มาช่วยกันหน่อยนะ ก็มากัน ดีๆ ชอบ
บรรณาธิการสำนักข่าว Lanner สนใจหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องชาวบ้าน : )