26 กันยายน 2565
โดย
วรพจน์ พันธุ์พงศ์
ธิติ มีแต้ม
อินทรชัย พาณิชกุล
เมฆ’ ครึ่งฟ้า
“ใช้โลกให้เป็นบ้าน” อินทรชัย พาณิชกุล กล่าวว่าเป็นคำพูดติดปากของ เรืองรอง รุ่งรัศมี ที่มักจะบอกแก่คนหนุ่มสาวที่มีร่างกายสมบูรณ์ให้ออกเดินทาง ทั้งการออกเดินทางไปสู่หนทางแห่งปัญญา ออกให้พ้นออกจากกำแพงภาษา พร้อมด้วยความเชื่อที่ว่ามนุษย์คือพลเมืองของโลก
วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ยังเสริมอีกว่า “เรืองรอง รุ่งรัศมี เป็นเด็กชายที่เติบโตมา ณ จังหวัดสงขลาพร้อมกับภาษาจีนที่มีพ่อของเขาเองเป็นคนสอน โดยชีวิตในขบวนหนังสือของเขาได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเขาเข้าสู่ชมรมรามวรรณศิลป์ จนกระทั่ง เรืองรอง รุ่งรัศมี ตัดสินใจไปเรียนภาษาจีนที่ไต้หวัน เขาได้เจอเส้นมาตรฐาน เส้นที่นักเขียนไทยหลายคนก้าวไปถึง เส้นที่ศรีบูรพาก็ไปถึง”
เส้นดังกล่าวนั้นมิใช่เส้นที่สัมผัสกันได้ในเชิงกายภาพ แต่เป็นเส้นแห่งความสามารถของคนจริง บทบาทของ เรืองรอง รุ่งรัศมี ต่อสังคมไทยหลังจากกลับมาจากการศึกษา ณ ประเทศไต้หวันคือ เป็นนักเขียนนักแปลผู้คร่ำหวอดในด้านวรรณกรรมจีน
เรืองรอง รุ่งรัศมี มีความฝันอยากทำพจนานุกรมฉบับไทย-จีน เป็นจำนวน 1000 หน้า ตอนนั้นเขาไปเช่าบ้านอยู่ที่บางแสนด้วยตัวคนเดียว พอเสร็จจากงานทำพจนานุกรม ตอนเย็นก็ไปทำงานศิลปะกับนักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพา เขาเป็นคนอายุเยอะที่ไม่อายที่จะไปขอความรู้จากคนอายุน้อย เขาเป็นคนทำให้ผมพบเส้นทางใหม่ในการทำหนังสือ”
“เขาเป็นคนจริง” ธิติ มีแต้ม เสริมขึ้น “เขาเป็นคนที่เอาตัวเองไปอยู่ในสภาวะแวดล้อมแห่งปัญญาที่ท้าทายกับตัวเองจริงๆ อีกทั้งถ้าเขาจะหาเงินล้านจากความรู้ของเขาคงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเขารู้จริง ตัวอย่างเช่นหนังสือเรื่องรวยรินกลิ่นชา”
รวยรินกลิ่นชาเป็นหนังสือที่รวมความรู้เกี่ยวกับชา นับแต่ตำนานชา ลักษณะใบชา การเก็บรักษา น้ำที่ใช้ในการชงชา วิธีชงชา รูปแบบการดื่มชา คุณและโทษของน้ำชา ตลอดจนเรื่องราวของชาที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีความเป็นอยู่ของผู้คน ถือเป็นผลงาน
วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เล่าว่า “เรืองรอง รุ่งรัศ บอกว่าการที่เขากล้าที่จะมีความฝันในการทำพจนานุกรมฉบับ ไทย-จีน ด้วยตัวคนเดียวเพราะเขาเห็นข้อจำกัดของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่อยู่ในเรือนจำ จิตร ภูมิศักดิ์ ทำเรื่องใหญ่ภายใต้ข้อจำกัด แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่มิใช่ผลงาน หากแต่เป็นหัวใจ”
เมฆ’ ครึ่งฟ้า เล่าว่า “วันหนึ่งผมได้แปลโพสต์เฟซบุ๊คจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย แล้วมีคนทักมาว่าแปลผิด แต่ผมไม่เชื่อว่ามันผิด เลยไม่ได้ตอบกลับไปจนกระทั่งวันหนึ่งได้มาทราบว่า คนนั้นคือ เรืองรอง รุ่งรัศมี”
“เพียงหวังให้ทุกคนมากมีเงินทอง
หวังเพียงให้ผู้คนร่วมคู่เคียงกัน
…ในราตรีงดงามนี้
ข้าอยู่เดียวดาย…
ผู้ใดจะร่วมเมามายกับข้า”
(จากบางตอนของหนังสือเดียวดายใต้เงาจันทร์ โกวเล้ง รำพัน
อ่านโดย เมฆ’ ครึ่งฟ้า)
_________
“มนต์รักทรานซิสเตอร์” หากพูดถึงชื่อเรื่องนี้หลายคนคงจำภาพยนตร์แห่งยุคสมัยเรื่องนี้ได้ดี พอๆ กับจำชื่อของคนประพันธ์วรรณกรรมเล่มนี้อย่าง วัฒน์ วรรลยางกูร เช่นเดียวกันกับชายในความทรงจำของ อินทรชัย พาณิชกุล เขาเล่าว่า เขารู้จัก วัฒน์ วรรลยางกูร ผ่านงานเขียนอย่างเช่น คือรักและหวัง, ต้องเนรเทศ, ตำบลช่อมะกอก วัฒน์ วรรลยางกูร เป็นคนที่บรรยายภาพ ฉาก บรรยากาศ ได้อย่างลูกทุ่ง สัมผัสได้ถึงกลิ่นอายความเป็นชนบทของกรุงเทพฯ
วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เล่าว่า วัฒน์ วรรลยางกูร เป็นคนที่ฝักใฝ่ในการเขียนมาตั้งแต่มัธยม “เขาเป็นนักข่าว นักกวี เรื่องสั้น สารคดี ความเรียง จนกระทั่งหนังสือของเขาเป็นหนังสือต้องห้าม”
ตำบลช่อมะกอก เป็นนิยายที่เขียนขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยกล่าวถึงวิถีชีวิตของชาวนาในตำบลช่อมะกอก โดยมีนายชัย เป็นผู้นำชาวบ้านลุกขึ้นต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม การกดขี่จากผู้มีอำนาจ ระบบราชการ ตำรวจ ทั้งยังมีการกล่าวถึงนักศึกษาหนุ่มสาวจากในเมืองที่ออกสู่ชนบทเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านประชาธิปไตย
“ตำบลช่อมะกอกกลายเป็นหนังสือต้องห้าม จนทำให้เขาต้องเข้าร่วมกับกองกำลังกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เขาไม่ได้อยากเข้าป่า แต่เพราะมันอยู่ในเมืองไม่ได้ อยู่ในเมืองก็ถูกฆ่า” ธิติ มีแต้ม เสริม
นับแต่เกิดรัฐประหารในปี พ.ศ.2557 วัฒน์ วรรลยางกูร ถูกเรียกรายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติถึงสองครั้ง แต่เมื่อไม่มีการไปรายงานตัวตามหมายเรียกจึงมีการออกหมายจับในที่สุด พร้อมทั้งมีการอนุมัติหมายจับในข้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 วัฒน์ วรรลยางกูร จึงได้ลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์การเสียชีวิตของผู้ลี้ภัยสองคนในลาว ได้แก่ นาย ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ สหายภูชนะ และนักกิจกรรมที่ใช้ชื่อว่า “กาสะลอง” รวมถึงการหายตัวไปของ นาย สุรชัย แซ่ด่าน จึงทำให้ วัฒน์ วรรลยางกูร ของยื่นสถานะผู้ลี้ภัยผ่านสถานทูตฝรั่งเศสในประเทศลาว เมื่อได้รับการอนุมัติในปี พ.ศ. 2562 เขาจึงใช้ชีวิตอยู่ที่ฝรั่งเศสนับแต่นั้นมา
“ผมเห็นเขาในมุมมองของคนเป็นพ่อ รวมถึงความใจกว้างในการวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้เห็นว่าเรื่องอาวุโสมิใช่อายุแต่เป็นความรู้” เมฆ’ ครึ่งฟ้า กล่าว
“เขาเป็นคุณพ่อที่มีลูกสามคน
2 ปีแรกที่ลี้ภัย ลูกชายแต่งงาน พ่อไม่สามารถมางานแต่งงานลูกได้ทำได้แต่ส่งวิดีโอมา เพราะพ่อมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย
2 ปีถัดมา ลูกชายคนโตแต่งงาน พ่อไม่สามารถมาร่วมงานแต่งงานของลูกได้ ทำได้แต่ส่งวิดีโอมา เพราะพ่อมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย” วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เสริม
ความรักของพ่อไม่สามารถส่งไปถึงลูกได้ เพราะสถานะที่รัฐมอบให้
ความห่วงใยไม่ถูกส่งผ่านไป เพราะรัฐไทยผลักเขาออกไปอย่างไม่มีวันกลับคืน
—————
“ไม้หนึ่ง ก.กุนที เราเรียนรุ่นเดียวกัน เขาเป็นคนหนึ่งที่ได้ตีพิมพ์บทกวีในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสุปดาห์ทุกสัปดาห์ในหน้าที่ 66 “ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ กล่าว
หากพูดถึงชื่อไม้หนึ่ง ก.กุนที ยามเช้าเขาเป็นพ่อค้าร้านข้าวหน้าเป็ด
ยามว่างเขาหยิบกระดาษมาเขียนบทกวี จนกระทั่งกลายเป็นคีตกวีของคนเสื้อแดง ‘กวีราษฎร’
เมฆ’ ครึ่งฟ้า เล่าว่าเขายังไม่เข้าใจนักว่าบทกวีที่ฟังในม็อบมันควรจะปลุกใจ หรือจะเป็นอะไรที่ฟังไม่เข้าใจ แต่ในตอนนี้ เมฆ’ ครึ่งฟ้า พบว่า การที่กวีขึ้นไปบนเวทีทางการเมืองเป็นสิ่งที่มีมานาน
“ในช่วงปี พ.ศ.2552 คนเสื้อแดงถูกทำให้เป็นทุกอย่างที่ไม่ใช่คน หลังเกิดการสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปยังประเทศกัมพูชา เขาได้กลับมาปรากฏตัวอีกครั้งในเวทีวันนักเขียน พร้อมกับบทกวีเอ่ยถึง จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นภาษาเขมร และจบด้วยภาษาไทยว่า
ผมคิดถึงตะเข้ตัวนั้น
ตัวที่ดีดเสียดสั่นแผ่นดินสยาม
แง้มโลกทรรศน์รับอรุณทุกทุ่งงาม
ตั้งคำถามพุ่งตรงถึงศักดินา…
(บทกวีโดย ไม้หนึ่ง ก.กุนที
อ่านโดย เมฆ’ ครึ่งฟ้า)
แต่มีเสียงจากเพื่อนนักเขียนด้วยกันว่านี่ไม่ใช่เวลาที่จะพูดถึงเรื่อง
การเมือง” ธิติ มีแต้มกล่าวเสริม
.
นับแต่คดี ’อากง’ อำพล ตั้งนพกุล เสียชีวิตในคุก ได้มีการเคลื่อนศพอากงมาสวดอภิธรรมหน้าศาลอาญารัชดา ไม้หนึ่ง ก.กุนที ได้เป็นแนวร่วมในการขับเคลื่อนแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ขับเคลื่อนโดยคณะรณงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) จนวาระสุดท้ายของชีวิต ไม้หนึ่ง ก.กุนที ถูกลอบยิงเสียชีวิตบริเวณลานจอดรถของร้านครกไม้ไทยลาว ย่านลาดปลาเค้า เรียกได้ว่าเป็นการกระทำที่อุกอาจ จนถึงทุกวันนี้คดีก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
—————
วาด รวี หรือ เป้ ปาเกียว ตามฉายาที่มิตรสหายสายน้ำหมึกตั้งให้ เนื่องจากลักษณะนิสัยของ วาด รวี เป็นคนจริงจัง เด็ดเดี่ยว และจริงใจ ทั้งในการทำงาน และการใช้ชีวิต เหมือนการรัวหมัดของแมนนี่ ปาเกียว เวลาขึ้นชก วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เล่าว่า ร่องรอยชีวิตของ วาด รวี เป็นอีกคนหนึ่งที่น่าศึกษา เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักเห็นบทบาทของเขาในแวดวงทางวิชาการ แต่ตัวตน เลือดเนื้อ กระดูกของเขาคือศิลปะ วรรณกรรม บทกวี เกาะอยู่ทุกส่วน เป็นแสงสว่างทางปัญญาของสังคมไทย
“ไอดอลในการถ่ายภาพของเขาคือ เช เกวารา นักปฏิวัติคนนั้นแหล่ะ” ธิติ มีแต้ม เสริม
วาด รวี เป็นเจ้าของหนังสือหลายเล่มกระทั่งงานแปลอย่างบันทึกสงครามปฏิวัติคิวบา ชายชรากับทะเล ของ เออเนสต์ เฮมมิงเวย์ อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งคณะรณรงค์แก้ไข มาตรา 112 (ครก.112) เพื่อแก้ไขและยุติการใช้ข้อกล่าวหาการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในการปิดกั้นการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง
ตัวตน ความเชื่อ อุดมการณ์ร่วมของทั้งสี่กอบกับขึ้นในยุคสมัยแห่งการผันเปลี่ยนทางการเมืองที่ส่งต่อกันมาด้วยความเชื่อ
เพื่อให้เชื่อง มิได้ส่งต่อด้วยคำถาม
การตั้งคำถามต่อสังคมที่ผิดปกติ มิได้แปลว่าหัวรุนแรง
การตั้งคำถาม มิได้แสดงออกถึงความดื้อรั้น
แต่การตั้งคำถามทำให้คนเป็นคน
(จาก สมุดบันทึกคำถาม ของวรพจน์ พันธุ์พงศ์)
เรื่อง : นันทัชพร ศรีจันทร์
ภาพ : ทีมงานค่ายฝึกเขียน Nan Dialogue
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...