9 ตุลาคม 2565
ภายในงานมีกิจกรรม ละครเวที “เราต้องการสวัสดิการ” โดยคนงานถึงทุกคน
และปาฐกถาพิเศษจาก รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหัวข้อ “คุณค่าของคน คุณค่าของงาน” เนื่องในวันงานที่มีคุณค่า
“ระบบทุนนิยมทำให้เราต้องทำงานชิ้นเล็ก ๆ เขาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตที่ใหญ่มาก ทำให้คนกลายเป็นปัจจัยการผลิต เราไม่ได้อินกับงานที่เราทำ ภาวะความแปลกระหว่างเรากับงาน เราไม่รู้ว่ามันสร้างความภูมิใจกับงานยังไง ภาวะแบบนี้ คำอธิบายแบบเดิมคือ เราจะถูกเอารัดเอาเปรียบ และจะทำให้เกิดความรู้สึกร่วม ๆ กัน ระบบการจ้างงานที่เป็นอยู่ตอนนี้มันไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรา ไม่ได้เห็นหัวเรา
แบบเดิมแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในโรงงาน ทำให้เกิดสภาวะความรู้สึกร่วมกัน เกิดการรวมตัวกัน สหภาพแรงงานทำให้เกิดการยกระดับของค่าจ้าง สหภาพเรียกร้องให้เกิดมาตรฐานการจ้างงานให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง สวัสดิการ สหภาพจึงมีความสำคัญมาก รวมถึงกลไกในการต่อรอง เยียวยา
แต่ปัจจุบันแรงงานอยู่โรงงานยังมีอยู่ ดูได้จากแรงงานในแคมป์ก่อสร้าง ภาคการเกษตร เราจะเห็นอยู่ แต่แรงงานเพื่อนบ้านอาจจะจัดว่าเป็นกลุ่มที่มีสถานการณ์ที่รุนแรง เป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับสังคมไทย เชียงใหม่ มีแรงงานเกือบแสนคนก่อนโควิด-19 แต่ช่วงปลายศตวรรษ 20 ต้นจนถึง ศตวรรษ 21 แรงงานอยู่นอกโรงงาน เกิดความปรับเปลี่ยนในความสัมพันธ์ในการจ้างงาน เช่น ยืดหยุ่น หรือตามยุทธศาสตร์ ไม่ใช่เฉพาะในภาคเอกชน แต่ในหน่วยงานรัฐก็มีการจ้างงานแบบนี้เกิดขึ้นเยอะมาก
วันนี้เรามาพูดถึงงานที่มีคุณค่า แต่โลกปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับ Precarious work หรืองานที่ไม่มั่นคง ทำให้เกิดการทบทวน ตรวจสอบ การนิยามความหมายของงานและความสัมพันธ์ของมนุษย์
เมื่อท้องถนนกลายเป็นโรงงาน โรงงานมันครอบชีวิตของเรา มันไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีนายจ้าง แต่นายจ้างมันมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ยกตัวอย่างอาชีพไรเดอร์ การเรียกลูกจ้างว่า partner ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเท่า ๆ กัน แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่
เวลาถามเรื่องคุณค่าของงานหรือคุณค่าของคน เราต้องพิจารณาปัจจัยดังนี้
1. ควรพูดถึงคุณค่าของงานต้องถูกมองจากคนทำงานด้วย ต้องกลับมาคิดว่าคนทำงานมองเรื่องนี้อย่างไร
2. การสร้างเครือข่ายคนทำงาน การรวมกลุ่มและแนวร่วมแบบใหม่ เราต้องออกแบบหน้าตาของ “สหภาพแรงงาน” ใหม่ที่สอดคล้องกันในแต่ละกลุ่ม
3. “แรงงานคือแรงงาน” มายาคติในปัจจุบันมีความหลากหลายมาก เราไม่ควรแบ่งแยก แยกย่อยของแรงงาน ทำให้เราไกลจากกันและลดอำนาจการต่อรองลง
4. “แรงงานคือมนุษย์” แรงงานไม่ใช่แค่คนทำงาน แต่การจ้างงานต้องสัมพันธ์กับชีวิตระยะยาว ระบบสวัสดิการหลังวัยทำงาน การยอมรับให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้น ๆ ระบบ ”บำนาญประชาชน” ต้องได้รับการผลักดันในเรื่องนี้”
ต่อมา กิจกรรมโต้วาทีในหัวข้อ “คุณค่าของคนสำคัญกว่าคุณค่าของงาน” เพื่อถกเถียงในเรื่องคุณค่าของคนหรือคุณค่าของงาน โดยสรุปคือ ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าของคนหรือคุณค่าของงาน เราควรจะไปด้วยกัน จึงอยากชวนตั้งคำถามว่าคุณค่ามันอยู่ที่ตรงไหน ใครเป็นคนกำหนดคุณค่า และที่สำคัญที่สุดคือเราไปหลงกลกับกับดักการให้คุณค่าด้วย
นอกจากนี้ ยังมีเวทีเสวนาในหัวข้อ “คุณค่าของคน ≠ คุณค่าของงาน” ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ อักษรสิริ ต้อยปาน จากสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส, ผศ.ทรงพันธ์ ตันตระกูล รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะมนุษยศาสตร์ มช. และที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร, ชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์ จากเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ และศิริศักดิ์ ไชยเทศ จากนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ดำเนินรายการพูดคุย โดย ออมสิน บุญเลิศ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ท้ายสุด ทางเครือข่ายแรงงานภาคเหนือได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เนื่องในวัน “งานที่มีคุณค่า” ความดังนี้
องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้ให้ความหมายของ “งานที่มีคุณค่า” คือ งานซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการเกี่ยวกับวิถีชีวิตและการทำงานของมนุษย์ ประกอบด้วยหลักการสำคัญดังนี้ 1.เสรีภาพในการสมาคม สิทธิการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานของคนทุกคนและการเจรจาต่อรองเพื่อกำหนดสภาพการจ้างงาน การไม่ใช้แรงงานบังคับ การไม่ใช้แรงงานเด็ก และการไม่เลือกปฏิบัติในการจ้างงาน 2.การจ้างงานประจำ 3.การประกันสังคม 4.ระบบการปรึกษาหารือตามหลักมาตรฐานแรงงานสากล 5.การมีความเท่าเทียมทางเพศ
เครือข่ายแรงงานภาคเหนือพบว่า สถานการณ์การจ้างงานปัจจุบันในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยนั้น แรงงานในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติยังถูกละเมิดสิทธิแรงงานหลายประการ ได้แก่
คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ยังคงเผชิญปัญหา ทั้งเรื่องรายได้ที่ค่าจ้างที่ได้รับส่วนใหญ่อยู่ในฐานค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งแทบไม่พอในการดูแลตัวเองและครอบครัว นายจ้างตัดลดสวัสดิการต่าง ๆ และอุปสรรคในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน รวมถึงไม่มีส่วนร่วมในคณะกรรมการไตรภาคีชุดต่างๆ
คนงานทำงานบ้านและคนทำงานในภาคการเกษตรยังไม่ได้รับการคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน ไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคม รวมถึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นต้น
แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับสิทธิเฉกเช่นแรงงานทั่วไปตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด เช่น ไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่ได้รับค่าจ้างในวันหยุดและวันลาตามที่กฎหมายกำหนด ต้องทำงานล่วงเวลาโดยไม่สมัครใจ และเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องอาชีพ และเอกสารที่ใช้ในการขึ้นทะเบียน นายจ้างบางรายไม่ได้นำลูกจ้างไปขึ้นทะเบียนประกันสังคม และคนงานส่วนที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมก็ยังมีปัญหาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ เช่น การใช้สิทธิในกองทุนว่างงาน ทุพลภาพ และกรณีการรับเงินบำเหน็จชราภาพ
มีการเลือกปฏิบัติในการจ่ายค่าจ้างระหว่างแรงงานหญิงและแรงงานชาย
มีความรุนแรงทางเพศในที่ทำงาน
แรงงานในภาคบริการยังคงถูกเลือกปฏิบัติและตีตราจากสังคม ด้วยเหตุผลของความแตกต่างทางเพศ ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพเฉกเช่นแรงงานทั่วไป
แรงงานที่ขับรถส่งอาหารในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ยังขาดการเข้าถึงสิทธิ และสวัสดิการด้านต่าง ๆ ต้องแบกรับความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางรายได้ ความมั่นคงในอาชีพ และความเสี่ยงต่อสุขภาพร่างกายจากการทำงานโดยต้องรับผิดชอบตนเอง
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมให้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญของคนทำงาน เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ จึงมีความเห็น ดังนี้
1. รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการต่อต้านความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน
2. รัฐบาลต้องนำหลักการการคำนวณค่าจ้างที่เป็นธรรมตามมาตรฐานแรงงานสากล มาใช้สำหรับการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นในปัจจุบัน และใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเดียวกันทั่วทั้งประเทศ
3. รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาการจ้างงานยืดหยุ่น เสี่ยง และไม่มั่นคง (precarious work) รวมถึงการจ้างงานบนแพลตฟอร์มที่บริษัทพยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในฐานะนายจ้าง โดยรัฐต้องไม่ตีความแรงงานแพลตฟอร์มเป็นคนงานอิสระหรือแรงงานนอกระบบตามที่บริษัทพยายามกล่าวอ้าง เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการหมวดหมู่สถานะจ้างงานผิดประเภท (misclassification)
4. รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายการบริหารจัดการด้านแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบและเป็นแผนนโยบายระยะยาว 5 ปี หรือ 10 ปี โดยต้องกำหนดนโยบายที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ มีความโปร่งใสและเป็นธรรม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
5. รัฐบาลต้องปรับปรุงระบบประกันสังคมโดยออกกฎกระทรวงกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ
6. รัฐบาลต้องยกเลิกพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี และให้แก้ไข พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ให้ความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานภาคบริการ
เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ
9 ตุลาคม 2565
รับชมวิดีโอ Live ย้อนหลังได้ที่เพจ Lanner, เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ, MAP และ HRDF
ภาพ: เรณู บู่บุตรดี
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...