ลองว่ายน้ำโขงตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เจอเขื่อนสกัด!

​22 ตุลาคม 2565

แม่น้ำโขง ถือเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตของผู้คนกว่า 6 ประเทศ ลากยาวตั้งแต่ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ก่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ เป็นแหล่งพันธุ์ปลา พันธุ์พืช และสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ หล่อเลี้ยงผู้คนกว่า 60 ล้านคน แม้จะมีความสำคัญและถูกขนานนามว่ามหานทีแห่งชีวิต แต่ปัจจุบันที่แม่น้ำโขงและประชาชนริมฝั่งโขงต้องเผชิญคือ โครงการพัฒนาต่างๆ แม้ว่าเราจะคิดกันสนุกๆ ว่า อยาก Challenge ว่ายน้ำโขงตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำเนี่ย น่าจะเป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เพราะเรื่องกระแสน้ำแล้วแหละ แต่อีกประเด็นคือถ้าดันทุรังไปก็ติดเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงอยู่ดี เฮ้อ.. แค่คิดก็ผิดแล้ว เราเลยอยากชวนทุกคนมาดูว่าตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำโขงมีอุปสรรคอะไรที่ขวางไม่ให้เราว่ายไปไม่ถึงบ้าง

-เขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ในจีน 11 เขื่อน โดยเขื่อนทั้ง 11 แห่งนี้ เป็นเขื่อนขั้นบันได (Lancang cascade) ที่สามารถควบคุมระดับน้ำได้ เป้าของการสร้างเขื่อนคือมุ่งเน้นการผลิตพลังงานไฟฟ้า แต่ผลกระทบคือในบริเวณท้ายน้ำ ช่วงพรมแดนไทย- ลาว ผันผวนขึ้นลง ในหลายครั้งต้องเผชิญกับภัยแล้ง ที่ส่งผลกระทบกับคนริมฝั่งโขงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีโครงการในการดำเนินการสร้างเขื่อนอยู่อีกหลายเขื่อน สามารถดูแผนที่เขื่อนบนแม่น้ำโขง ได้ที่ https://thecitizen.plus/…/%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99…

-ระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ริเริ่มครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 2543-2548 ก่อนที่จะชะลอโครงการไป และกลับมาอีกครั้งในรูปโครงการศึกษาสำรวจออกแบบแนวทางปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือแม่น้ำโขงตามแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ปี 2558-2568 ระยะทาง 631 กิโลเมตร โครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ระยะทาง 631 กม. ตั้งแต่มณฑลยูนนานประเทศจีน-พม่า ผ่านไทยไปถึงนครหลวงพระบางของลาว เพื่อขยายร่องน้ำให้เรือขนาด 500 ตัน แล่นไปมาได้ โดยช่วงธันวาคมปี 2559 คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ เห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศฯ แม้ว่าจะถูกคัดค้านโดยชาวบ้านและกลุ่มอนุรักษ์ก็ตาม ก่อนที่ในปี 2560 ทางการจีนบอกว่าอาจยุติโครงการนี้ แม้ว่าตอนนี้เราอาจจะไม่รู้ว่ามันจะกลับมาอีกไหม แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตาอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะเกาะแก่งในแม่น้ำโขงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศมากมายมหาศาล และเราก็คงไม่ว่ายน้ำข้ามเกาะแก่งแน่ๆ (ฮา)

นี่อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่เราอยากจะบอกว่าประเด็นแม่น้ำโขงเป็นเรื่องร่วม ที่เราต้องจับตา มากกว่าว่ายน้ำข้ามโขง เพราะโดนสกัดแน่

อ้างอิงจาก

https://www.bbc.com/thai/resources/idt-sh/mekong_blast_thai

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง