22 สิงหาคม 2565
สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) แถลงเจตนารมณ์และข้อเรียกร้องต่อการแก้ไขปัญหาที่ดิน-ป่าไม้ และกลุ่มชาติพันธุ์ ในโอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคป่าไม้ ครั้งที่ 5 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ยืนยันจะนำข้อเรียกร้องนี้ยื่นถึงวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 23 สิงหา และประกาศเคลื่อนไหวใหญ่ 24 สิงหานี้ ณ โรงแรม เลอ เมอริเดียน และศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่
22 สิงหาคม 2565 ที่งานสัมมนาเครือข่ายประชาชนเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านป่าไม้และที่ดิน ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคาร 3 ชั้น 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเวทีในครั้งนี้เป็นการ kick-off เพื่อส่งเสียงถึงเอเปคป่าไม้ ที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคป่าไม้ ครั้งที่ 5 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 สิงหาคม ณ โรงแรม เลอ เมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่
โดยทางสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) แถลงเจตนารมณ์และข้อเรียกร้องต่อการแก้ไขปัญหาที่ดิน-ป่าไม้ และกลุ่มชาติพันธุ์ ในโอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคป่าไม้ ครั้งที่ 5 รายละเอียดดังนี้
แถลงการณ์สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)
เรื่อง เจตนารมณ์ทลายโครงสร้างการจัดการที่ดิน-ป่าไม้ คืนอำนาจสู่ประชาชน
นับเป็นเวลากว่า 8 ปี หลังเหตุการณ์ทางการเมืองภายใต้การยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อเนื่องมาจนถึงการบริหารประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปัจจุบัน จนนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระดับนโยบายและกฎหมายด้านที่ดิน-ป่าไม้และการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของในประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนำมาซึ่งผลกระทบต่อสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะกับชุมชนที่อยู่อาศัยอยู่ในเขตป่าที่ดูแลรักษาและพึ่งพาฐานทรัพยากรธรรมชาติอย่างสอดคล้องและสมดุล โดยเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหากับภาครัฐมาอย่างยาวนานและยังคงต้องเผชิญกับปัญหาซ้ำซากที่ทวีความรุนแรงขึ้นในห้วงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายทวงคืนผืนป่า คำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนบทในการทรัพยากรธรรมชาติ การออกกฎหมายป่าไม้ฉบับใหม่ อาทิ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562, พ.ร.บ.ป่าชุมชน 2562, พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ นโยบายจัดการไฟป่า-หมอกควันในภาคเหนือ ทำให้ชุมชนในเขตป่าหลายพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงถูกแจ้งความดำเนินคดีด้านทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่เป็นธรรมจำนวนมาก รวมถึงแผนการดำเนินโครงการของรัฐขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น พื้นที่ป่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม การละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นกลายเป็นความขัดแย้งที่ส่งผลต่อโครงสร้างการพัฒนาประเทศในระยะยาวอย่างเลี่ยงไม่ได้
เมื่อการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายของรัฐยุคปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ฐานทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นที่ประจักษ์ แต่ท่าทีและการขานรับจากภาครัฐนั้นไม่มีความชัดเจน ไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและสังคมในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานเพื่อขจัดปัญหาที่สั่งสมมา รวมถึงแนวทางป้องกันมิให้เกิดปัญหาอีกในอนาคต จึงเป็นเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบและนำเสนอประเด็นเหล่านี้ต่อสาธารณะอย่างถึงที่สุด
พวกเรา สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และองค์กรเครือข่าย ขอประกาศเจตนารมณ์และข้อเรียกร้องต่อการแก้ไขปัญหาที่ดิน-ป่าไม้ และกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนี้
1.เราขอยืนยันหลักการ “สิทธิชุมชน” ในการจัดการที่ดินและทรัพยากร ตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน
2.ให้เร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวกับปัญหาไม้และที่ดินอันเกิดจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐ และในระหว่างรอการออกกฎหมายดังกล่าว ขอให้ยุติการดำเนินคดีชาวบ้านและเยียวยาประชาชนให้ได้รับความธรรมและให้กลับไปทำกินในที่ดินเดิมของตนเองได้
3.ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ออกมาในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และให้ภาคประชาชนได้ร่างกฎหมายจัดการทรัพยากรโดยชุมชนเอง
4.ให้เดินหน้าธนาคารที่ดินและกลไกภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชน เพื่อตอบโจทย์การกระจายการถือครองที่ดินสู่มือเกษตรกรอย่างเป็นธรรม
5.จงหยุดแนวนโยบายการ “ฟอกเขียว” อ้างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วมาแย่งยึดที่ดิน ปลุกป่าทับที่ทำกินของชุมชน และจงหยุดโครงการที่อ้างว่าเป็นการพัฒนาทั้งหมดที่แย่งยึดทรัพยากรชุมชนท้องถิ่น และกำลังทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยทันที
6.หยุดนโยบายมาตรการห้ามเผาอย่างไร้สติปัญญา เหมารวมการใช้ไฟตามความจำเป็นของนิเวศวัฒนธรรมไร่หมุนเวียนตามปรกติฤดู โดยที่ไม่เคยมีมาตรการใดๆ กับภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ หรือแหล่งกำเนิดมลพิษใหญ่ และไม่เคยมีมาตรการดูแลชุมชนชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบมาตรการประจำฤดูของรัฐ
ในโอกาสที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคป่าไม้ ครั้งที่ 5 ณ จังหวัดเชียงใหม่ นี่คือเสียงของเรียกร้องของพวกเราในนามประชาชนที่ตกเป็น “แพะรับบาป” วันนี้สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และ เครือข่าย ยืนยันจะนำข้อเรียกร้องนี้ยื่นถึงวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในวันพรุ่งนี้ 23 สิงหาคม 2565
และเราขอประกาศเคลื่อนไหวใหญ่ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ ณ โรงแรม เลอ เมอริเดียน และศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสียงเรียกร้องของพวกเราถึงผู้นำระดับรัฐมนตรีจากนานาประเทศที่เข้าร่วมประชุมเอเปคป่าไม้ และส่งสารถึงสาธารณะว่าเราจะไม่ยอมถูกกดขี่อีกต่อไป
ประชาชนไม่ใช่แพะรับบาปในกระแสสิ่งแวดล้อม
สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...