3 ธันวาคม 2565
ฟังเสียง 6 ทีมจากโครงการ Voice of Youth เยาวชนที่อยู่ต่างขั้วเข็มทิศ ทั้งเหนือตอนบน เชียงใหม่ พะเยา เชียงราย แพร่, และตัวแทนจากขอนแก่น ส่งตรงจากตะวันออกเฉียงเหนือ พุ่งใต้ลัดฟ้าไปจนถึง ยะลา ว่าพวกเขาได้สร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อชุมชนและสังคมอย่างมีส่วนร่วมยังไงบ้าง
โอเอ โอเอ อินทะวงศ์ จากกลุ่ม CK Voice จังหวัดเชียงราย ออกมาโวยเพื่อเสียงที่เปลี่ยน โดยมีเป้าหมายในการทำให้เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงออกและมีโอกาสได้รับการรับฟังจากผู้ใหญ่ เพราะว่าเยาวชนเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนา
Q: ทำไมเยาวชนต้องออกมาส่งเสียงในเรื่องของการมีส่วนร่วมพัฒนาและเปลี่ยนแปลงชุมชนและสังคม?
A: หนูคิดว่าเยาวชนอยากมีส่วนร่วมและอยากให้สังคมยอมรับความคิดเห็นของเราและสามารถที่จะออกความคิดเห็นว่าเราต้องการอะไร อยากให้เขาเข้าใจเรา อยากให้เขาสนับสนุนเราอะไรแบบนี้คะ
Q: เล่าให้ฟังหน่อยว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำอะไรไปแล้วบ้าง?
A: หนูพึ่งเข้ามาปีแรก พึ่งเข้ามาตอนเปิดเทอม ตอนที่มาก็ได้เริ่มมาอบรมกับพี่เขาว่าบอร์ดเกมส์คืออะไร มีความสำคัญยังไง ทำไมเราถึงต้องเล่นบอร์ดเกมแทนที่จะเล่นเกมในโทรศัพท์ แล้วก็มีการพัฒนาเกม เริ่มศึกษาเกมเองโดยที่พี่เขาไม่สอน หลังจากนั้นแล้วเราก็ไปถามพี่เลี้ยงเล่นว่ามันถูกไหม ไม่ถูกยังไงพี่เขาก็จะบอกเรา แล้วในโรงเรียนก็มีรุ่นพี่กับคุณครูพัฒนาเกมไว้อยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยเอามาใช้ ซึ่งก็มาอยู่ที่รุ่นหนูที่ต้องเอาไปใช้สอนน้อง ๆ เกี่ยวกับเกม Renergy เป็นเกมพลังงานสะอาด เป็นพลังงานทดแทนพลังงานที่หมดไป เราก็เอาไปสอนน้อง ม.2 เพราะว่าเป็นหลักสูตรของเขาที่ต้องเรียน และต้องขอส่งหนังสือไปให้ผู้อำนวยการของแต่ละโรงเรียน ตอนนี้ที่ได้ไปทำก็ได้ทำที่โรงเรียนของตัวเองก่อน พอสำเร็จแล้วก็ไปโรงเรียนอีกโรงเรียนหนึ่ง อันนี้คือโรงเรียนสุดท้ายก่อนจะมาที่งาน Voice of Youth, Voice of Change นี้ค่ะ
Q: แล้วที่ผ่านมาทางโครงการโวย สนับสนุนอะไรให้พวกเราบ้าง?
A: สนับสนุนพวกเบี้ยเลี้ยง สนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมอย่างเช่นพวกของรางวัลแจกน้องหรือว่าเบี้ยเลี้ยงต่าง ๆ ที่ให้กับเด็กที่มาเข้าร่วมกิจกรรม แล้วก็มีรถรับส่งถือว่าอำนวยความสะดวกทุกอย่างค่ะ
Q: บทเรียนสำคัญตลอด 3 ปีที่ว้าวมาก ๆ ของเราคืออะไร?
A: คงจะเป็นการไปนำเสนออะไรประมาณนี้ค่ะ โดยปกติแล้วอาจจะมีแค่การนำเสนอหน้าห้อง แต่อันนี้คือเราได้ไปสอนเขา ได้ไปให้ความรู้กับเขา ทั้ง ๆ ที่เราไม่เคยทำมาก่อน อีกอย่างก็พึ่งเข้ามัธยมปลายแต่เราต้องไปสอนน้องเขาแล้ว ก็รู้สึกตื่นเต้นนิดหน่อยคะ ฮ่า ๆ
Q: เสียงที่เปลี่ยนคือเสียงของใคร และเปลี่ยนอะไร?
A: หนูคิดว่าเป็นเสียงของสังคม คือจากที่เขาโต้แย้งหรือขัดแย้งกับเราในตอนแรก พอเราทำให้เขาเห็นว่าเราต้องการแบบนี้ แล้วทำได้จริงๆ เขาก็จะสนับสนุนเรา ให้ความร่วมมือในการให้เรามีส่วนร่วมกับเขามากขึ้น ผลก็คือเขายอมรับเรามากขึ้นค่ะ
ซ่า อลิซ่า สาเมาะ ทีมหนุนเสริมการทำงานจากกลุ่มลูกเหรียงดำเนินงานร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนตำบลท่าสาป จังหวัดยะลาได้โวยออกมา เพื่อจุดมุ่งหมายในการปลูกฝังเมล็ดพันธ์ของแกนนำเยาวชนที่สร้างสรรค์ และพื้นที่แสดงออกของเยาวชนพร้อมสร้างความภูมิใจในอัตลักษณ์ความเป็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
Q: ในมุมทีมหนุนเสริมการทำงานทำไมเยาวชนต้องออกมาส่งเสียงในเรื่องของการมีส่วนร่วมพัฒนาและเปลี่ยนแปลงชุมชนและสังคม?
A: ในบริบท 3 จังหวัดนี้ เยาวชนเหมือนเป็นแกนหลักที่จะออกมาเป็นกระบอกเสียง และเป็นอีกหนึ่งคนที่สามารถส่งเสียงให้กับเยาวชนและผู้ใหญ่ในพื้นที่ได้เห็น เพราะว่าเยาวชนใน 3 จังหวัดจะไม่ค่อยมีบทบาทที่จะออกมาข้างนอกและแสดงออก ในเรื่องของภาษาด้วยส่วนหนึ่ง เด็กพูดภาษากลางไม่ชัดเจน เพราะเขามีภาษาท้องถิ่นเรียกว่าภาษามลายู เขาจะใช้ชีวิตในการพูดภาษามลายูมากกว่าภาษากลาง เวลาเขาออกมาพูดมันจะมีคล้าย ๆ สำเนียงทองแดง เขาก็ไม่มีความกล้าในการนำเสนอหรือการทำกิจกรรม เราเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างให้เขาได้รู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องตลกนะ มันเป็นเสน่ห์ของเด็กภาคใต้มากกว่า เมื่อออกมานำเสนอเมื่อมีภาษาแปลก ๆ ไปมันเป็นเสน่ห์มากกว่า ไม่ต้องเขินอาย ก็ทำให้เด็กหลาย ๆ คนกล้าแสดงความสามารถและออกมาพูดเพิ่มได้มากขึ้น ตัดเรื่องปัญหาภาษาออกไป เด็กหลายคนก็สามารถออกมาแสดงความสามารถของตัวเองได้
Q: เล่าให้ฟังหน่อยว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมาทีมหนุนเสริมการทำงาน ทำอะไรไปแล้วบ้าง?
A: 3 ปีที่ผ่านมาคือ เราสร้างแกนนำในพื้นที่ให้เกิดขึ้น อย่างที่ได้บอกไปว่าเด็ก 3 จังหวัดไม่ค่อยจะมีโอกาสที่จะได้ออกมาแสดงออกในด้านนอกในพื้นที่ต่างจังหวัดอะคะ เราก็เลยรู้สึกว่าการสร้างแกนนำเนี่ย มันเกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดยะลาที่เป็นพื้นที่การทำงานของโครงการ มันเกิดเยาวชนที่เป็นแกนนำทั่วจังหวัดยะลา อย่างที่สองก็เกิดพื้นที่สร้างสรรค์เกิดขึ้น นอกจากในหมู่บ้าน จังหวัดเราก็เปิดโอกาสในพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กออกมาทำกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็น TK Park ยะลา หรือเช่นชุมชนที่คนรู้จักที่คนสัญจรไปมา ให้รู้ว่าเด็กบ้านเราก็มีดีก็มีของที่จะออกไปโชว์เหมือนกัน
Q: แล้วที่ผ่านมาทางโครงการโวย สนับสนุนอะไรให้พวกเราบ้าง?
A: เรื่องของเครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะวิทยากร การเป็นที่ปรึกษาที่ดี เมื่อก่อนเราเคยมีกระบวนการอีกรูปแบบหนึ่ง แต่เมื่อโวยเข้ามา ทำให้เรารู้ว่าทักษะการเป็นกระบวนกรณ์ที่ดี การเป็นพี่เลี้ยงที่ดีเป็นยังไง เหมือนกับเป็นการเสริมศักยภาพคนทำงานไปด้วย เราเอากระบวนการที่ทางโครงการสอนให้เรา กลับไปสอนแกนนำในพื้นที่ต่อ เพื่อให้เขามีศักยภาพและสามารถที่จะเติบโตไปเป็นพี่เลี้ยงในอนาคตได้
Q: บทเรียนสำคัญตลอด 3 ปีที่ว้าวมาก ๆ ของเราในมุมมองทีมหนุนเสริมการทำงานคืออะไร?
A: น่าจะเป็นการสร้างแกนนำนี้แหละที่ว้าว จากเด็กเมื่อก่อนเขาไม่มีความกล้าแสดงออกไม่กล้าพูดเลย แต่เมื่อเราดึงหรือชักชวนเขามา ก็ทำให้เขากล้าลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ จากเมื่อก่อนอาจจะอยู่แค่หลังห้อง แต่เมื่อทำงานกับเราเนี่ย เด็กคนหนึ่งที่อยู่หลังห้องกลายเป็นคนที่อยู่หน้าห้อง พูดให้กับเพื่อน ๆ ฟังและเป็นตัวหลักประจำในการทำโครงการและก็รวมไปถึงการเขียนโครงการเสนอแหล่งทุนอื่นๆได้
Q: จากการทำงานของทีมหนุนเสริมการทำงาน ในมุมมองเรื่องเสียงที่เปลี่ยน คิดว่าเสียงนี้คือเสียงของใคร และเปลี่ยนอะไร?
A: เป็นเสียงของเด็กเยาวชนที่เรียกร้องให้คนในพื้นที่ได้เปิดพื้นที่สร้างสรรค์และปลอดภัยให้เด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดออกมานำเสนอ ออกมาแสดงศักยภาพของตัวเองได้มากขึ้น
โก๊ะ กชพรรณ จันอิน จากทีมละอ่อนHome อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ได้ออกมาโวยเพื่อเสียงที่เปลี่ยน เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้จำลองการใช้ชีวิตจริงของเยาวชน เพื่อการพัฒนาเยาวชนก่อนการเข้าไปสู่สังคมชีวิตจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Q: ทำไมเยาวชนต้องออกมาส่งเสียงในเรื่องของการมีส่วนร่วมพัฒนาและเปลี่ยนแปลงชุมชนและสังคม?
A: สำหรับหนู คิดว่าการที่เป็นเยาวชนคนหนึ่ง ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการพูดทุกๆอย่างเหมือนกัน คือผู้ใหญ่บางคนมักจะพูดว่าเด็กคืออนาคตของชาติ ดังนั้นการที่เด็กออกมาพูดออกมาทำงานทำอะไรหลายๆอย่าง ผู้ใหญ่ก็ต้องเคารพเด็กในการที่เด็กออกมาพูดในการเรียกร้องสิทธิของตัวเอง
Q: เล่าให้ฟังหน่อยว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำอะไรไปแล้วบ้าง?
A: ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ที่ทำในตัวโครงการของทีมละอ่อนโฮม ในตัวโครงการของเรา ความรู้สึกประมาณว่าเด็กทุกคนที่เข้าโครงการส่วนมากมีเป้าหมายในการค้นหาตัวเอง แล้วก็ปีแรกจำลองสถานการณ์ในสังคมที่ต้องเจอทุก ๆ อย่าง พอปีที่ 2 ก็มีครูอาสาขึ้นมา เด็กบางคนบอกว่าเขาอยากทำอาชีพนี้ อยากลองเขียนอันนี้ อยากลองทำแบบนี้ ก็เลยลองหาครูอาสาที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้มาสอนดู พอปีที่ 3 ก็เราขยายและต่อยอดเปิดพื้นที่รับครูอาสาทั่วประเทศ คล้ายๆกับปีที่ 1 กับปีที่ 2 เลยก็คือการเอามารวมกันค่ะ
Q: แล้วที่ผ่านมาทางโครงการโวย สนับสนุนอะไรให้พวกเราบ้าง?
A: อย่างแรกก็เรื่องงบประมาณ ถ้าเราไม่มีงบประมาณเราก็ไม่มีกิจกรรมเกิดขึ้น แล้วไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณ อย่างเวลาเจอปัญหา พี่เขาก็พร้อมสนับสนุนเราตลอดเวลาค่ะ
Q: บทเรียนสำคัญตลอด 3 ปีที่ว้าวมาก ๆ ของเราคืออะไร?
A: บทเรียนที่ว้าวมากคือเราไม่สามารถใช้ตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางคนนับร้อยนับล้านคนได้ เราต้องปรับตัวเข้าหากับคนอื่นให้ได้ ไม่ใช่เพียงว่าเราเอาตนเองเป็นจุดศูนย์กลางแล้วให้ทุกคนปรับเข้าหาเรา
Q: เสียงที่เปลี่ยนคือเสียงของใคร และเปลี่ยนอะไร?
A: ถ้าถามว่าเสียงที่เปลี่ยนคืออะไร สำหรับเรารู้สึกว่าเปลี่ยนตัวเอง เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้เพราะเราอายุแค่นี้ ถ้าเปลี่ยนมากที่สุดก็คงเป็นตัวเองค่ะ ซึ่งถ้ามองไปไกลกว่านั้นหนูคิดว่าเสียงที่เปลี่ยนไม่ใช่แค่ของเสียงเราคนเดียว ไม่ว่าอายุจะห่างกันมากน้อยแค่ไหนก็สามารถรับรู้และสามารถเปลี่ยนเสียงของตัวเองได้
ตอง จักรกฤษณ์ สิงห์โครต จากทีม KK-VoY จังหวัดขอนแก่น โวยว่าการจัดการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม พื้นที่และสาธารณูปโภคแก่ผู้คน และเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษานั้น ต้องสนับสนุนชุมชนที่ขาดการดูแลรักษาอย่างเอาใจใส่และจริงจังต่อการให้ความสนับสนุนชุมชนแห่งความเหลื่อมล้ำนี้ให้ได้”
Q: ทำไมเยาวชนต้องออกมาส่งเสียงในเรื่องของการมีส่วนร่วมพัฒนาและเปลี่ยนแปลงชุมชนและสังคม?
A: เพราะเราเห็นว่าผู้ใหญ่เขาทำตามหลักราชการไทยว่ามันช้าและเวลานาน แล้วผู้ใหญ่เขางานเยอะ ทั้งที่เด็กอย่างเราว่างจากการเรียน เราก็ไม่มีไรทำ เราทำตรงนี้มันดีกว่าเราไปใช้ยาเสพติด ใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนมาช่วยกัน เรามีเวลาเราก็อยากจะช่วยเขา
Q: เล่าให้ฟังหน่อยว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำอะไรไปแล้วบ้าง?
A: ที่พวกเราทำส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องการศึกษาเรื่องคนไร้บ้าน จะเป็นการช่วยเหลือ ถ้าขอนแก่นจะเรียกว่าชุมชนมิตรภาพข้างเซนทรัล ช่วงที่หน้าฝน หากมีฝนตกมานิดหน่อยก็น้ำท่วมแล้วครับ กลุ่มผมก็จะช่วยหายารักษา หาสวัสดิการให้เขา หาข้าวสารอาหารแห้งเวลาน้ำท่วม นอกจากนี้ก็มีที่เขาเรียกว่าชุมชนทางรถไฟ เขาจะรื้อเพื่อทำรถไฟความเร็วสูงครับ นอกจากการที่เราช่วยเรื่องสาธารณูปโภค ก็มีการช่วยเหลือเรื่องเด็กนอกระบบ เขาไม่ได้เรียน เราก็ช่วยในเรื่องของการพาเขาเข้าในระบบศึกษา กรณีล่าสุดคือการขอบัตรประชาชนครับ เราไม่ได้จับประเด็นใดประเด็นหนึ่ง เราทำกว้างๆ ส่วนใหญ่ทำกับกลุ่มคนชายขอบครับ
Q: แล้วที่ผ่านมาทางโครงการโวย สนับสนุนอะไรให้พวกเราบ้าง?
A: สนับสนุนเป็นงบประมาณครับ แน่นอนเด็กอย่างเราไม่มีรายได้ เรามีแค่แรงและเราไม่ได้ใช้เครื่องมือในการลงพื้นที่ เราใช้แค่การบริจาค เขาจะให้ทุนเรามา แล้วเราก็มีเครือข่ายประธานนักเรียนของแต่ละจังหวัด และก็ขอรับบริจาคเสื้อผ้ามือสอง ของใช้ที่เขาไม่ใช้แล้วมาบริจาคตามโรงเรียน
Q: บทเรียนสำคัญตลอด 3 ปีที่ว้าวมาก ๆ ของเราคืออะไร?
A: คือการที่เราได้ช่วยเด็กคนหนึ่งที่เขาไม่มีบัตรประชาชน เราช่วยจนเขามีบัตรประชาชน ตอนนี้เขาเรียนพยาบาลไปแล้วครับ
Q: เสียงที่เปลี่ยนคือเสียงของใคร และเปลี่ยนอะไร?
A: เสียงของชาวบ้านในชุมชนครับ จากเมื่อก่อนเขาดูไม่ค่อยโอเคกับหน่วยงานของรัฐกับเทศบาลเท่าไหร่ แต่เราช่วยเหลือเขา เราก็พยายามบอกเขาว่าเทศบาลช่วยคุณนะ เขาเลยเริ่มเปิดใจให้กับหน่วยงานของรัฐเข้ามาช่วยเหลือเขา เพราะเขากลัวว่ารัฐจะมาหลอกเขามายึดพื้นที่เขา เขาจะไม่มีที่อยู่อะไรแบบนี้ครับ
บี สุกฤษฎิ์ จันทร์วิบูลย์ จากทีมพลังโจ๋ พลังสร้างสรรค์แบ่งปันความสุข จังหวัดแพร่ ได้ออกมาโวยเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงแกนนำเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา พัฒนาศักยภาพและการตระหนักรู้ถึงความสามารถ ผ่านการคิดและลงมือออกแบบกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชนของตนเองได้
Q: ทำไมเยาวชนต้องออกมาส่งเสียงในเรื่องของการมีส่วนร่วมพัฒนาและเปลี่ยนแปลงชุมชนและสังคม?
A: เป็นหน้าที่ของเด็กและเยาวชนที่เขาจะมีสิทธิมีเสียงในการออกมาแสดงความคิดเห็นหรือว่ามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชุนและสังคมของเขาเองครับ
Q: เล่าให้ฟังหน่อยว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำอะไรไปแล้วบ้าง?
A: ปีที่ 1-2 เราพัฒนาศักยภาพแกนนำเด็กเยาวชนกลุ่มพลังโจ๋ เพื่อไปสร้างกิจกรรมกับเด็กเยาวชนในพื้นที่จังหวัดแพร่ เน้นในการแก้ปัญหาการที่เด็กออกจากระบบการศึกษากลางคัน คือสาเหตุของการออกจากการศึกษากลางคันมีหลายสาเหตุมาก ไม่ว่าจะเป็นไม่มีเป้าหมายในชีวิต การท้องก่อนวัยอันควร หรือว่าสารเสพติด พวกเราได้เข้าไปทำกิจกรรมทั้งในโรงเรียนทั้งในชุมชนที่มีเด็กและเยาวชนอยู่ เพื่อให้เขาเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดปรับเปลี่ยนทัศนคติว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไรของการที่ทำให้เด็กออกจากระบบการศึกษากลางคัน ส่วนปีที่ 3 เราได้สร้างแกนนำเด็กเยาวชนในโรงเรียนเมืองแพร่ เพื่อให้เขาเรียนรู้พัฒนาศักยภาพตนเองในการคิดออกแบบกิจกรรม หรือกระบวนการการเรียนรู้ ซึ่งเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตชุมชนของเขาเอง
Q: แล้วที่ผ่านมาทางโครงการโวย สนับสนุนอะไรให้พวกเราบ้าง?
A: เปิดโอกาสให้ทางกลุ่มได้ออกแบบกิจกรรม หรือว่ากระบวนการเรียนรู้ที่ไม่มีกรอบตายตัว คือเขาให้ออกแบบตามความถนัดของเรา เราออกแบบแต่ละพื้นที่ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ก็เป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การลงมือทำจริง ที่เราได้เน้นจุดนี้คือ Active Learning ให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม ให้เขาเกิดประสบการณ์ ให้เขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของเขาเองว่าที่ทำมาได้เรียนรู้อะไรบ้าง ต้องพัฒนาจุดไหนบ้าง อันนี้คืออย่างแรกที่โครงการโวยได้สนับสนุนและเปิดโอกาสให้เราได้ทำ สองจะเป็นเรื่องทักษะทั้งตัวพี่เลี้ยงเองหรือว่าตัวแกนนำ จะมีการ workshop ให้กับทางกลุ่ม เช่น ทักษะการออกแบบกิจกรรม การนำเสนอ หรือว่าในช่วง Covid-19 จะเป็นเสริมสร้างกำลังใจให้นักกิจกรรม แล้วก็มีอีกหลายอย่างเลยครับ เรื่องข้อมูล มีการเสริมข้อมูลไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิเด็กหรือว่าความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการทำงานของเด็กและชุมชน
Q: บทเรียนสำคัญตลอด 3 ปีที่ว้าวมาก ๆ ของเราคืออะไร?
A: บทเรียนใน 3 ปี จะเป็นบทเรียนที่ได้ทำงานร่วมกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่และสร้างแกนนำร่วมกับชุมชน การที่จะทำให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการทำกิจกรรมของตัวเยาวชน มันต้องเกิดจากตัวเด็กและเยาวชนเขาแสดงออกให้ชุมชนเห็นว่ากิจกรรมที่เขาทำมันส่งผลอย่างไรกับชุมชนของเขาบ้าง มันมีความสำคัญยังไงที่ชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมของเด็กและเยาวชน
Q: เสียงที่เปลี่ยนคือเสียงของใคร และเปลี่ยนอะไร?
A: เสียงที่เปลี่ยนมี 3 อย่างนะครับ อย่างแรกคือตัวผมกับพี่เลี้ยง คือสิ่งที่เราอยากส่งเสียงออกไปมันเป็นเสียงที่เกี่ยวข้องกับงานเด็กกับงานชุมชนว่ามันสามารถเอามาทำงานด้วยกันได้ และสามารถต่อยอดการทำงานไปถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างของการทำงานภาคท้องถิ่นได้เลยครับ ส่วนตัวเด็กผมคิดว่าเขากล้าที่จะแสดงความคิดเห็น กล้าที่จะรู้จักความสำคัญหรือว่าสิทธิของตัวเองที่มีต่อชุมชนของตัวเอง กล้าที่จะทำอะไรเพื่อชุมชนของตัวเอง ส่วนของชุมชน ชุมชนเขาจะเห็นว่าเด็กเขามีสิทธิ เห็นความสำคัญของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ของเขาเอง เห็นความสำคัญของการจัดกิจกรรมครับ
ชาติ สุรชาติ สมณา จากกลุ่มเด็กมีเรื่องเล่า จังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกมาโวยเพื่อเสียงที่เปลี่ยนโดยสร้างความภาคภูมิใจในตนเองของเด็กๆ ให้รู้ถึงคุณค่าของการลงมือทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและชุมชนตนเองในอนาคตที่ยั่งยืนและสดใส
Q: ทำไมเยาวชนต้องออกมาส่งเสียงในเรื่องของการมีส่วนร่วมพัฒนาและเปลี่ยนแปลงชุมชนและสังคม?
A: ในส่วนของกลุ่มพวกเรา เราคิดว่าเยาวชนก็คือจะโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต แล้วก็จะเป็นคนที่มีบทบาทในสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็เป็นคนที่ต้องมีบทบาทกับสังคมตลอด ว่าในอนาคตสังคมที่เขาได้ลงมือทำจะเป็นโลกอนาคตที่เขาจะได้เจอเมื่อเขาเติบโตและมีอายุมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการที่เยาวชนจะต้องออกมาส่งเสียงหรือว่าทำอะไรบางอย่างที่เขาจะสร้างให้อนาคตของตัวเองดีขึ้น
Q: เล่าให้ฟังหน่อยว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำอะไรไปแล้วบ้าง?
A: ของกลุ่มเด็กมีเรื่องเล่า เราเป็นกลุ่มที่เพิ่งรวมตัวกันใหม่ๆ เพิ่งรวมตัวกันเป็นกลุ่มก็ตอนที่มีโครงการโวยเลย ใน 3 ปีนี้ ปีแรกเราจะแบ่งในเรื่องของการวางระบบการทำงานของทีม พัฒนาศักยภาพของทีมเราเองเป็นหลัก ปีที่ 2 เริ่มเป็นในเรื่องของการเข้าไปทำงานกับน้องเข้าไปทำงานในพื้นที่ ปีที่ 3 เป็นในเรื่องของการวางระบบเรื่องพื้นที่ ให้เยาวชนในพื้นที่สามารถทำงานเชื่อมต่อกับกลุ่มเด็กมีเรื่องเล่าได้
Q: แล้วที่ผ่านมาทางโครงการโวย สนับสนุนอะไรให้พวกเราบ้าง?
A: สิ่งที่ทางโวยสนับสนุนหลักๆก็จะเป็นงบประมาณ แล้วก็ในเรื่องของกิจกรรมในการพัฒนาศักยภาพ โอกาสได้แลกเปลี่ยนกับกลุ่มต่าง ๆ 10 พื้นที่ทำให้เราสร้างมุมมองใหม่ ๆ เปิดมุมมองใหม่ ๆ ที่เราจะเอากลับมาทำงานเราต่อได้
Q: บทเรียนสำคัญตลอด 3 ปีที่ว้าวมาก ๆ ของเราคืออะไร?
A: สิ่งที่เห็นแล้วรู้สึกว้าวมากก็คือการทำงานกับเยาวชนครับ สิ่งที่เราควรจะทำควบคู่กันไปตลอดการทำงานเลยก็คือ การสร้างความภาคภูมิใจในตนเองไม่ว่าจะทั้งเด็กทั้งแกนนำ จากที่เราทำงานมา ในช่วงแรกๆเด็กแทบจะไม่สนใจอะไรเลย ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่ว่าเขาไม่สนใจ แต่เพราะว่าเขาไม่รู้ว่าต้องสนใจไปทำไมเพราะเขาไม่ได้เห็นคุณค่าของการทำสิ่งที่แตกต่างออกไปจากเดิมว่ามันจะมีคุณค่าอะไรบ้าง พอหลังจากทำงานมา 3 ปีก็เป็นการยืนยันได้ชัดว่าการทำให้คนทำงานเห็นคุณค่าของตนเอง ว่าการมีอยู่ของตนเองยังสามารถสร้างคุณค่าอะไรให้กับสังคมและชุมชนของเราได้บ้าง สร้างคุณค่าอะไรให้กับตนเองบ้าง คิดว่าตรงนี้สำคัญมาก
Q: เสียงที่เปลี่ยนคือเสียงของใคร และเปลี่ยนอะไร?
A: เสียงของเยาวชนครับ เปลี่ยนจากเมื่อก่อนไม่ได้ส่งเสียง ตอนนี้เยาวชนก็ส่งเสียงมากขึ้น ก็เพราะว่าก่อนจะมีโครงการก็ไม่ได้ทำงานจริงจัง พอมีโครงการมันก็เหมือนมีพื้นที่ให้เราลองทำงาน แล้วพอเสียงของเด็กดังขึ้นมันก็ไปสร้างผลกระทบเรื่องของการทำให้คนอื่นๆเห็นว่าเราทำงานอยู่ตรงนี้นะ เห็นว่ายังมีตัวตนของเยาวชนอยู่ มันก็ค่อย ๆ เปลี่ยน ๆ ไปทีละนิดครับ
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...