เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 สำนักวิชาการเมืองและการปกครอง ร่วมกับสโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดเสวนา “ฉากทัศน์รัฐธรรมนูญไทย หลังการเลือกตั้ง” เนื่องจากทุกวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีถือเป็นวันรัฐธรรมนูญ และเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้นศาลรัฐธรรมนูญเคาะร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เตรียมทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ ซึ่งจะมีผลให้เกิดการเลือกตั้งภายในปี 2566 โดยเสวนาในครั้งนี้มุ่งหวังการเปิดพื้นที่ทางความรู้และมุมมอง ผ่านมุมมองและมิติที่หลากหลาย ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
รัฐธรรมนูญไทย กฎหมายสูงสุดที่ไม่เคยสูงสุด
ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเปิดด้วยการพูดถึงรัฐธรรมนูญว่าแม้จะบอกว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่ไม่เป็นความจริงมากนัก เนื่องจากช่วงที่ผ่านมารัฐธรรมนูญไทย “เปลี่ยนแปลงบ่อย” ไม่แพ้ชาติใดในโลก
ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญเปลืองอยู่ในลำดับที่ 5 ของโลก นับเฉพาะที่มีเกิน 20 ฉบับขึ้นไป มีดังนี้
- ประเทศโดมินิกัน มีทั้งหมด 39 ฉบับ นับแต่ปี 1844 ฉบับล่าสุด 2015 อายุเฉลี่ยของรัฐธรรมนูญคือ 4.5 ปี/ฉบับ
- ประเทศเวเนซูเอลา มีทั้งหมด 26 ฉบับ นับแต่ปี 1811 ฉบับล่าสุด 1999 อายุเฉลี่ย8.1 ปี/ฉบับ
- ประเทศเฮติ มีทั้งหมด 23 ฉบับ นับแต่ปี 1801 ฉบับล่าสุด 2012 อายุเฉลี่ย9.6 ปี/ฉบับ
- ประเทศเอกวาดอร์ มีทั้งหมด 20 ฉบับ นับแต่ปี 1830 ฉบับล่าสุด 2008 อายุเฉลี่ย 9.6 ปี/ฉบับ
- ประเทศไทย มีทั้งหมด 20 ฉบับ นับแต่ปี 1932 ล่าสุดฉบับปี 2017 อายุเฉลี่ย4.5 ปี/ฉบับ
หลังไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดในปี 2017 ก็พบเพียง 5 ประเทศเท่านั้นที่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กว่าไทยคือ บุรุนดี (2018) ชาด (2018) คอโมโรส (2018) คิวบา (2019) และซูดาน (2019)
ดร.ณัฐกร ยังกล่าวอีกว่าประเทศที่การเมืองดี มีเสถียรภาพสูง รัฐธรรมนูญก็จะมีความมั่นคงตามมาด้วย
ในหลายประเทศมีรัฐธรรมนูญฉบับเดียวเท่านั้น อาทิ สหรัฐอเมริกา (1789) เนเธอร์แลนด์ (1814) อินโดนีเซีย (1945) อินเดีย (1950) สิงคโปร์ (1965) หรือบางประเทศเคยมีรัฐธรรมนูญเพียงสองฉบับ เช่น ญี่ปุ่น (1889,1947)
ประเทศอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น จีนมีรัฐธรรมนูย 4 ฉบับ (ล่าสุดในปี 1982) ไต้หวันมี 5 ฉบับ (ล่าสุดในปี 1947) เวียดนาม 5 ฉบับ (ล่าสุดในปี 2013) โปรตุเกส 6 ฉบับ (ล่าสุดในปี 1976) บราซิล 7 ฉบับ (ล่าสุดในปี 1988) ฝรั่งเศส 15 ฉบับ (ล่าสุดในปี 1958)
ดร.ณัฐกร ย้อนกลับมาที่ประเทศไทยว่าภายในรอบ 90 ปีมานี้ ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญรวมทั้งสิ้น 20 ฉบับ โดยฉบับแรก ฉบับที่ 1 พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ฉบับปัจจุบัน ฉบับที่ 20 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 อายุขัยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ฉบับละ 4 ปีเศษ โดยรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้นานที่สุดคือ 13 ปี 4 เดือน 29 วัน นั่นคือฉบับที่ 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 และฉบับที่สิ้นที่สุดคือมีระยะเวลาแค่ 5 เดือน 13 วัน นั่นคือฉบับที่ 1 พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475
โดยจำนวนมาตราที่มากที่สุดอยู่ที่ 336 มาตรา ในฉบับที่ 16 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และน้อยที่สุด 20 มาตรา ในฉบับที่ 7 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ทั้งนี้เป็นรัฐธรรมนูญแบบชั่วคราวและถาวรอย่างละ 10 ฉบับเท่ากัน
ทั้งนี้ยังมีการยกเนื้อหาบางส่วนจากปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2550 “อภิรัฐธรรมนูญไทย” โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล ที่มีเนื้อหาสาระสำคัญว่า สังคมไทยแท้จริงแล้วอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเพียง 3 ฉบับเท่านั้น คือ
1.รัฐธรรมนูญฉบับรัฐสภานิยม
2.รัฐธรรมนูญฉบับอำนาจนิยม
3.รัฐธรรมนูญฉบับกึ่งรัฐสภากึ่งอำมาตยาธิปไตย
รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย นั้นมีความเป็นประชาธิปไตยสูง เกิดเหตุการณ์รุนแรง (นองเลือด) เปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยก่อนมีการจัดทำรัฐธรรมนูญ โดยจะใช้ระบบสองสภา วุฒิสภาจากการแต่งตั้งมีอำนาจค่อนข้างน้อย ซึ่งนายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. และห้ามข้าราชการดำรงตำแหน่งทางการเมือง รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยจะรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง
รัฐธรรมนูญเผด็จการ นั้นมีที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งตามด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญโดยตรง และใช้ระบบสภาเดียว สมาชิกมาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร มีการกำหนดขั้นตอนกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญภายใต้การควบคุม ของคณะรัฐประหาร โดยให้อำนาจพิเศษแก่นายกฯ/หัวหน้าคณะรัฐประหาร พร้อมรับรองผลพวงของการรัฐประหารให้มีความชอบด้วยกฎหมายและ
รัฐ ธรรมนูญกระทั่งนิรโทษกรรมตัวเอง
รัฐธรรมนูญกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ ถือว่าเป็นผลสืบเนื่องต่อมาจากการรัฐประหาร วึ่งยอมรับให้มีการเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยแบบชี้นำโดยทหาร เพิ่มพระราชอำนาจให้แก่สถาบนั กษัตริย์ยิ่งขึ้น และเปิดโอกาสให้ข้าราชการประจำเข้ามามีบทบาททางการเมือง ทั้งในวุฒิสภาและฝ่ายบริหาร โดยวุฒิสภาค่อนข้างมีอำนาจมาก ฝ่ายการเมืองเต็มไปด้วยข้อจากัดในการทำงานเช่นระบบเลือกตั้ง
ก่อให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค
รัฐธรรมนูญวัฒนธรรม อำนาจที่ไม่ยอมให้ปล่อยให้ประชาชนโผล่ขึ้นมา
ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แบ่งรัฐธรรมนูญออกเป็น 2 มิติ คือ
1.ลายลักษณ์อักษร
2.ไม่ลายลักษณ์อักษร หรือเป็นสิ่งที่ไม่ได้กำกับเรา
โดยรัฐธรรมนูญที่ใช้ไปสักพักมันก็จะถูกล้มไป เพราะมันขัดกับรัฐธรรมนูญวัฒนธรรม ซึ่งเป็นตัวสำคัญเชิงอำนาจชุดหนึ่ง ถูกทำไว้เพื่ออำนาจทางวัฒนธรรม
หลังปีพ.ศ. 2500 ชนชั้นนำทางวัฒนธรรม สามารถสถาปนาอำนาจทางวัฒนธรรมที่คุมกลไกอื่น ๆ ได้ ระบบราชการก็ถูกควบคุม และนำโดยทหาร รวมถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มธุรกิจ หรือเรียกว่า 3 เสา 1.ระบบราชการ 2.ทหาร 3.กลุ่มธุรกิจ ที่กล่าวมานั้น ศ.ดร.อรรถจักร์ มองว่านี่คือตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดอำนาจที่จัดสรร ความสมดุลของ 3 เสานี้คือตัวหลักที่สถาปนาอำนาจของสังคมไทย ที่ยันความเหลื่อมล้ำมามากมาย
โดยในยุคของทักษิณ ชินวัตร ได้ดึงเอาเสียงของประชาชนเข้าไปอยู่ในระบบราชการหรืออำนาจ แต่ทักษิณเองก็ไม่สามารถอยู่ได้เพราะดึงดุล 3 ข้อนี้ จนเกิดการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์เชิงอำนาจทั้ว 3 นี้ฝังอยู่ในสังคมไทยและไม่ยอมให้ปล่อยให้ประชาชนโผล่ขึ้นมา
ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่าถูกใช้อย่างหนักจนกระทั่งมันเปิดช่อง ทำให้คนมองเห็นมากขึ้น
รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นกฏหมายสูงสุดที่ของชนชั้นนำในการควบคุมสังคม จนมาตกผลึกเป็นปี 2560 นี้
ศ.ดร.อรรถจักร์ ยังพูดถึงประเด็นสำคัญในช่วงที่ผ่านมาว่าการเปลี่ยนรุ่น การเปลี่ยน Generation นั้นมีความสำคัญมาก คน Generation นี้มีความเป็นปัจเจกชนค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงเริ่มรู้สึกว่าความเป็นปัจเจกชนต่างหากที่สำคัญกว่าอำนาจที่มากำกับ ซึ่งจะทำให้สังคมเปลี่ยน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ทุกคนกำลังจะเรียกร้องโอกาส ความเท่าเทียม เพื่อที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ยิ่งช่วงของการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2563 ก็ยิ่งชี้ให้เห็นความสั่นคลอนของสถาบันทางอำนาจ ยิ่งคนรุ่นใหม่ชูคำว่า ”ให้มันจบที่รุ่นเรา” ก็เป็นอีกความหวังหนึ่งที่น่าสนใจ
การเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กำลังจะมาถึง ดุลอำนาจแบบที่มันฝังรากลึกมามันอาจสั่นคลอน และถูกตั้งคำถามมากขึ้น การที่ค้ำยันดุลอำนาจอันนี้ที่ผ่านมาเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นหรืออาจจะเปลี่ยนไปในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับสังคมที่จะทำให้มันเปลี่ยนไปยังไง
เมื่อประชาชนและพรรคการเมืองต่างเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้ชวนให้ผู้ที่มาฟังเสวนาในครั้งนี้ตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการแก้รัฐธรรมนูญ โดยทางเราจะขอสรุปออกมาเป็นคำตอบตามนี้
1.ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องผ่านด่านอะไรบ้าง?
คำตอบคือ ต้องมีประชาชนเข้าชื่อกัน อย่างน้อย 50,000 คน ทั้งนี้ต้องมี ส.ว. เห็นด้วยอย่างน้อย 84 คน หรือ หนึ่งในสาม
2.เมื่อประชาชนอยากเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง
คำตอบคือ ไม่ต้องใช้ถ่ายสำเนาบัตรอะไรเลย ลงชื่ออนไลน์ก็ได้ ทั้งนี้ยิ่งชีพยังบอกอีกว่าที่ผ่านมาเคยมีร่างที่ประชาชนเสนอ ได้คะแนนจาก ส.ว. ถึง 23 เสียงมาแล้ว นั่นคือเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี
3.เมื่อ ส.ส. จะเป็นผ่ายเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
คำตอบคือต้องใช้ ส.ส. เข้าชื่อกัน 100 คน หรือ 1 ใน 5 ของ ส.ส. ทั้งหมด โดยพรรคพลังประชารัฐเคยเสนอให้ตั้ง ส.ส.ร. เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย
4.มองหาความหวังในอนาคตกันเถอะ ข้อใดบ้างที่ถูกต้องตามกฎหมายที่เขียนอยู่ในวันนี้
คำตอบคือ ถ้าได้ ส.ส. จากพรรคการเมืองที่หาเสียงว่าจะ “แก้รัฐธรรมนูญ” เกินครึ่งก็มีโอกาสสูงที่จะแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ และกว่าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ อาจต้องทำประชามติกัน 2-3 ครั้ง
ทั้งนี้ยิ่งชีพยังขยายความเพิ่มว่าถ้าได้ส.ส. จากพรรคการเมืองที่หาเสียงว่า แก้รัฐธรรมนูญ เกินครึ่งก็มีโอกาสสูงที่จะแก้รัฐธรรมนูญ 60 ได้ รัฐสภาทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ แต่ก็ต้องลงประชามติก่อน การเลือกตั้งครั้งหน้าถ้าได้เสียง ส.ส. เกินครึ่งที่จะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ก็จะเกิดรัฐธรรมนูญใหม่ที่ไม่ยากเกินไป
ประเมินสถานการณ์การเมืองไทยก่อนและหลังการเลือกตั้ง
ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ประเมินว่าเร็ว ๆ นี้ ยังไงต้องมีการยุบสภาและเลือกตั้งแน่ ๆ โดยในอีก 2 ปี ที่จะถึงนั้น 250 ส.ว.ก็คงจะขวางเต็มที่ พร้อมทั้งกล่าวว่าการเลือกตั้งนี้ เราใช้การเลือกตั้ง ใช้นักการเมืองทั้งหลายเพื่อเป็นเบี้ยที่เดินให้กับประชาชน เพื่อที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนรูปแบบของสังคม และรูปแบบรัฐ
“เป็นไปได้ไหมที่เราสามารถดึงความหมายของรัฐธรรมนูญเข้ามาสัมพันธ์ความรู้สึกของพวกเราและสร้างความหมายให้มันสัมพันธ์กับชีวิตเราอย่างไร มันจะดึงรัฐธรรมนูญเข้ามาสัมพันธ์กับความรู้สึกถึงลำดับชั้นที่มันกดขี่ผู้คนอยู่ให้ได้ และผมยังเชื่อว่าเปลี่ยนมันจะเป็นอิฐก้อนแรก ๆ ที่จะวางไปสู่ข้างหน้า และในเขตเมืองมันจะต้องเปลี่ยน และมันเป็นกระแสที่เปลี่ยนคนในแง่ความคิด”
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ มองว่ามันยังไม่ชัดเจนและคาดการณ์ได้ยากมาก
“กระแสตื่นตัวของประชาชนก่อนการเลือกตั้ง อยากให้ประชาชนสนใจในรัฐธรรมนูญ สิ่งที่อยากเห็นคือ เราจะได้อะไรหลังจากการเลือกตั้ง ซึ่งมันควรจะเป็นคำมั่นสัญญาและการปักธงของพรรคการเมืองหลาย ๆ พรรคร่วมกันก่อนเลือกตั้งว่าจะทำอะไรใหม่หลังเลือกตั้ง ซึ่งขั้นต่ำก็คือ การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะทุกพรรคการเมืองเคยโหวตการแก้รัฐธรรมนูญ หลังจากการเลือกตั้งก็อยากเห็นการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยเร็ว”
พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนร่วมกันจับตาการเลือกตั้งในครั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผลคะแนน ผ่านถ่ายภาพรายงานคะแนนในแต่ละหน่วย เพื่อให้เป็นหลักฐานในการนับคะแนน
ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ ชี้ว่าทุกพรรคการเมืองที่กระโดดเข้าสู่วงโคจรการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนในการเลือกตั้งที่ชูธงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่มีแม้แต่นโยบาย
“แต่ละพรรคไม่ชัดเรื่องรัฐธรรมนูญ ยกเว้นก้าวไกลที่ชัดเจน แต่จะให้ประชาชนลงประชามติก่อน แต่ประชาธิปัตย์มีจุดยืนใกล้เคียงพรรคก้าวไกลคือจะแต่งตั้ง ส.ส.ร. พรรคภูมิใจไทย ไม่มีความชัดเจนในการแก้รัฐธรรมนูญแต่กลับชื่นชมรัฐธรรมนูญ 2560”
พร้อมแนะพรรคที่มีอุดมการณ์เดียวกันจับมือกัน เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกอย่างชัดเจน และต้องรอติดตามต่อไปพอถึงเวลานั้นแล้วพรรคการเมืองจะให้คุณค่าการแก้รัฐธรรมนูญอยู่ตรงไหน
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...