มะเร็งปากมดลูกกับราคาที่ผู้หญิงไทยต้องจ่าย

12 ธันวาคม 2565



อย่างที่ทราบกัน 6 ธันวาคม 2565 พรรคเพื่อไทย ประกาศ 10 นโยบายของพรรค หนึ่งในนั้นคือนโยบายเศรษฐกิจภายใต้แคมเปญ ‘คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน’ ที่บอกว่า ‘ในปี 2570 คนไทยต้องได้ค่าแรงขั้นต่ำให้สมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทย คือ ไม่ต่ำกว่า 600 บาทต่อวันเงินเดือนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี อยู่ที่ 25,000 บาทขึ้นไป สร้างความฮือฮา และข้อถกเถียงกันทั่วทั้งโซเชียลมีเดีย บ้างก็เห็นด้วย บ้างก็บอกว่าเป็นไปไม่ได้

แต่เราอยากชวนทุกคนมามอง 1 นโยบายที่อยู่ใน 10 นโยบาย ที่ไม่ได้ฮือฮาเท่ากับนโยบายเด่น ๆ ที่พูดถึงข้างตน คือ นโยบายด้านสาธารณะสุข นั่นคือ สาธารณสุขเชิงรุกที่กล่าวว่า ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฟรีในเด็กหญิงอายุ 9-11 ปี และฉีดวัคซีนให้ผู้หญิงที่ยังไม่ติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) พออ่านข้อความนี้แล้วก็คงไม่ได้ตกใจหรือหวือหวา แต่ถ้าหากสามารถทำได้จริงชีวิตผู้หญิงไทยหลายล้านคนก็ไม่อาจจะถูกแขวนอยู่บนเส้นด้ายทางสุขภาพอีก หากลองค้นข้อมูลในเว็บไซต์โรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงของประเทศ จะพบว่าราคาเฉลี่ยของวัคซีนอยู่ที่เข็มละประมาณ 8,000 บาท ซึ่งต้องฉีดให้ครบ 2-3 เข็มต่อคน นี่ถือว่าเป็นราคาจำนวนไม่น้อยที่ผู้หญิงไทยจะต้องจ่ายเพื่อลดความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก ซึ่งในโซเชียลมีเดียมีความเห็นในโทนเดียวกันว่า วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกมีราคาที่สูง และควรจะเป็นสวัสดิการพื้นฐานอยู่แล้ว



*เชื้อ HPV เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อเนื้อเยื่อบุผิว และก่อที่ก่อโรคบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ด้วยการสัมผัสเชื้อโดยตรง หรือการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ ผู้ที่มีเชื้อ HPV อยู่ในร่างกาย มักไม่มีอาการแสดงใด ๆ จึงอาจแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งพบเชื้อชนิดนี้มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ สายพันธุ์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมากที่สุดคือ สายพันธุ์ 16 และ 18 ขอบคุณข้อมูลจากโรงพยาบาลเปาโล



โดยสาขาวิชามะเร็งวิทยานรีเวช ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รายงานว่า จากสถิติปี 2563 พบมะเร็งปากมดลูกในสตรีไทยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม โดยพบผู้ป่วยรายใหม่จากมะเร็งปากมดลูกปีละกว่า 9,000 คน และเสียชีวิตปีละ 4,700 ราย สรุปได้ว่า 1 วันที่พวกเราใช้ชีวิตกันอยู่มีผู้ที่สังเวยชีวิตให้กับมะเร็งปากมดลูกถึง 13 คนต่อวัน ตัวเลขพวกนี้มิใช่แค่เลขรายงานผลจำนวนคนที่เสียชีวิตเท่านั้น แต่มันคือ ค่าใช้จ่าย ความสูญเสีย ความโศกเศร้า และบาดแผลที่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตต้องรับผิดชอบ นี่ยังไม่รวมผู้ที่ไม่ได้รับการบันทึกและสังเวยให้กับมะเร็งชนิดนี้อีกมากมาย



ฟ้าฝน (นามสมมุติ) อายุ 25 ปี เธอเป็นพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ บอกกับเราว่า เพื่อนของเธอหลายคนก็ไปฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เธอเลยคิดว่าตัวเองควรฉีดไหม เพราะมะเร็งปากมดลูกมันอันตราย แล้วก็เป็นกับแค่เพศหญิง

“ขึ้นชื่อว่ามะเร็งยังไงก็อันตราย อย่างที่รู้กันว่าเป็นมะเร็งยังไงก็ไม่หายขาด ถ้าหากเป็นไปแล้วค่าใช้จ่ายในการรักษาก็สูง”

แต่เท่าที่ฟ้าฝนบอกกับเรานั้น เธอทราบว่าวัคซีนมีราคาที่สูงมาก ราคาอยู่ที่หลักหมื่นได้ ที่สำคัญคือต้องฉีดหลายครั้ง

“ไม่ได้จ่ายแค่ค่าตัววัคซีนอย่างเดียวมันต้องจ่ายค่าหัตถการ ค่าบริการด้วย หรือถ้าไปโรงพยาบาลรัฐก็อาจจะต้องรอคิวนาน ในเวลาที่เราต้องลางานเพื่อไปฉีดวัคซีนตัวนี้มันคือราคาที่ต้องจ่ายเหมือนกัน”

ถามถึงความจำเป็นนั้น ฟ้าฝนอธิบายว่าเธอที่อายุ 20 กลาง ๆ คิดว่ามันก็จำเป็น แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึง 

“อยากให้มันฟรีแบบรัฐสวัสดิการไปเลย อีกอย่างคือภาครัฐหรือว่ากระทรวงสาธารณสุขควรจะรณรงค์ให้ผู้หญิงมาฉีดวัคซีนตัวนี้ เพราะมันมีความเสี่ยงอะไรบ้างถ้าไม่ฉีด และต้องให้ชุดข้อมูลความรู้ต่อประชาชน หรือการที่ผู้ชายก็ควรสนับสนุนให้ผู้หญิงออกมาฉีดด้วย ซึ่งอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกมันก็สูง และผู้หญิงส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีความรู้ในเรื่องนี้ถ้าหากไม่ใช่คนรุ่นใหม่ ที่สามารถเสพข่าวจากสื่อออนไลน์ได้”



ด้านปลายฟ้า (นามสมมุติ) อายุ 33 ปี ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นฟรีแลนซ์ ได้พูดถึงความจำเป็นในการเข้าถึงวัคซีนว่า

“ถ้าเป็นเมื่อก่อนตอนอายุไม่ถึง 30  ก็คงคิดถ้าไม่จำเป็น แต่พออายุ 30 อัพแล้วคิดว่าจำเป็นเพราะมันเกี่ยวกับเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ด้วย เราก็ผ่านการมีแฟนผ่านการมีเพศสัมพันธ์มา มันก็จะมีความเสี่ยงของเรื่องมะเร็งปากมดลูกมากยิ่งขึ้น ซึ่งมะเร็งปากมดลูกมันคือมะเร็งอันดับ 2 ที่ผู้หญิงเป็นรองมาจากมะเร็งเต้านม”

ทั้งนี้ปลายฟ้าเคยศึกษาว่า การฉีดวัคซีนตัวนี้มันไม่ฟรี ต้องฉีดประมาณ 2-3 เข็มและต้องซื้อเป็นแพ็คเกจตามโรงพยาบาลราคาเป็นหมื่น ซึ่งถือว่าแพงมาก สวนทางกับรายได้ของตน และยังย้ำว่ารัฐควรจะให้ฉีดฟรี มันไม่ควรจะต้องเสียเงิน 2-3 หมื่นบาทโดยไม่จำเป็น

“อยากให้เป็นสวัสดิการที่ผู้หญิงไทยควรจะได้รับทุกคน ตอนนี้มันก็มีแต่ว่าได้แค่เด็กหญิงอายุ 9-11 ปี ที่ฟรี แต่หลังจากนั้นหละ อย่างเราอายุ 30 มันก็ไม่ฟรีแล้ว ซึ่งวัยมหาลัยหรือวัยที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์แล้ว มันมีความเสี่ยงมากขึ้นก็ควรจะได้รับฟรี ควรจะเป็นรัฐสวัสดิการที่รัฐจัดสรรให้ฟรีเหมือนวัคซีนอื่น ๆ “

เมื่อรัฐไม่ได้ให้ความรู้และความเข้าใจกับประชาชน

สิ่งที่เป็นอุปสรรคของปัญหานี้ส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐไม่ได้มีความพยายามในการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ทั้ง ๆ ที่เป็นหน้าที่ของรัฐ ขณะเดียวยอดผู้เสียจากมะเร็งปากมดลูกก็มีจำนวนมากในแต่ละปี

“เรารู้ว่ามันมีวัคซีนตัวนี้อยู่แต่ไม่รู้ว่าวัคซีนตัวนี้ทำอะไรกับร่างกาย อย่างที่รู้มาว่าสาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูกมันเกิดจากเชื้อไวรัส แต่เราไม่รู้ว่ามันขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละคนหรือเปล่า คืออย่างเรามีลูกใช่ไหม รัฐก็ต้องตรวจหามะเร็งปากมดลูกทุกปีอยู่แล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่ามันจำเป็นมากน้อยแค่ไหน

เรารู้จักมะเร็งปากมดลูกจากการที่ต้องไปตรวจทุกปี เขาก็จะอธิบายว่ายิ่งเราสูบบุหรี่กินเหล้ามันจะยิ่งทวีเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเราไม่แน่ใจในเรื่องที่ว่าอายุมาก ความเสี่ยงก็จะมากตาม”



ดาวใจ (นามสมมุติ) อายุ 48 ปี ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 2 ที่มองไม่เห็นความจำเป็น เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ได้สร้างความตระหนักรู้ในการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก

“เราไม่รู้ว่าวัคซีนมันทำอะไรกับร่างกายเรา เช่น มันไปฆ่าไวรัสเชื้อมะเร็งหรอ หรือมันเอาไวรัสเข้ามาสู่ร่างกาย คือยังไง ทำยังไงกับเรา รายละเอียดพวกนี้เราไม่ทราบเลย”

โดยข้อเสนอของดาวใจกับประเด็นนี้ เธอมีข้อกังวลว่าถ้าคนที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยหรือเข้าไม่ถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลจะทำยังไง การตรวจของสาธารณะสุขมันครอบคลุมผู้หญิงทุกคนที่อยู่ในไทยจริง ๆ ไหม ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องดูกันต่อไป

บทสรุป

เราจะเห็นปัญหาใหญ่ ๆ  2 เรื่องด้วยกันคือ 1.วัคซีนตัวนี้ควรจะเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ทุก ๆ คนควรจะเข้าถึง 2.ควรมีการให้ความรู้ ความเข้าใจในวัคซีนตัวนี้ที่มากขึ้นต่อประชาชน ก่อนจะออกนโยบาย

โดยข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขปัจจุบันมีนโยบาย ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกให้ฟรีเฉพาะกลุ่มเด็กผู้หญิงอายุ 9-11 ปี อยู่แล้ว แต่ประชาชนทั่วไปไม่ได้รับรู้ต่อเรื่องนี้เลย ซึ่งในรายละเอียดนโยบายสาธารณสุขของพรรคเพื่อไทยกับกระทรวงสาธารณะสุขมีความเหลื่อมกันเพียงเล็กน้อย ซึ่งของพรรคเพื่อไทยอาจจะเป็นต่อที่ว่า “ฉีดวัคซีนให้ผู้หญิงที่ยังไม่ติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV)” หากมองจากทั้งสองนโยบายอาจจะมองว่าเป็นสวัสดิการที่ดีแล้ว แต่ในประเทศไทยนั้นไม่ได้มีแค่ผู้หญิงที่เป็น เด็กผู้หญิงไทยอายุ 9-11 ปี หรือ ผู้หญิงไทยที่ยังไม่ติดเชื้อไวรัสเอชพี เพียงอย่างเดียวยังมีกลุ่มคนที่รัฐพยายามไม่มองและมองอยู่อีกมาก เช่น แรงงานข้ามชาติ ชาติพันธุ์ คนไร้บ้าน ผู้ลี้ภัย หรือกลุ่มคนที่ไม่ได้มีบัตรประชาชนไทยอยู่ จากปัญหามากมายอย่าง การแจ้งเกิด การตกสำรวจ และการมองเป็นอื่น กลุ่มคนเหล่านี้คือกำลังหลักในภาคแรงงาน บริการ ฯลฯ ซึ่งไม่ได้รับการมองเห็น เหลียวแล และไม่ได้รับสวัสดิการนโยบายสาธารณะสุขนี้อยู่เป็นจำนวนมาก

นี่อาจจะเป็นเรื่องที่เป็นมากกว่าแค่นโยบายหาเสียง แต่เป็นเรื่องที่ย้อนกลับไปตอกย้ำว่าที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขทำอะไรเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพกับผู้หญิงไทยไปบ้าง?


อ้างอิง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง