“ผมไม่อยากให้จำกัดการพัฒนาเมืองแค่คนรุ่นใหม่ การพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ต้องเป็นการพัฒนาที่มีทุกคน”

3 กันยายน 2565

“ในฐานะนักดนตรี อ้ายจรัล เป็นคนปลุกปั้นโฟร์คซองคำเมือง ที่โด่งดังไประดับประเทศและระดับโลก เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าคนล้านนานั้นก็ไม่ได้ด้อยความสามารถและสามารถยืนหยัดในฐานะคนล้านนาได้ แกเป็นนักเล่าเรื่องเกี่ยวกับสังคม การเมือง ความเป็นมนุษย์ วิถีความเป็นอยู่ และมุมมองต่อสังคมในสมัยนั้นของคนล้านนา เช่น เพลง คิดถึงบ้าน ก็เล่าเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองหรือคนล้านนาที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวง ​
เพลง สาวเชียงใหม่และเพลงฮานี่บ่าเฮ้ย เป็นการเล่าเรื่องที่สร้างภาพลักษณ์ของคนล้านนาให้ดูเป็นคนต๊ะตอนยอนอ่อนช้อย อ่อนหวานที่จริงก็อาจจะใช้หรือไม่ใช่ก็ได้ ​ หรือมะเมี๊ยะ ก็เป็นเพลงที่เล่าเรื่องเล่าพื้นบ้านหรือประวัติศาสตร์ ให้ง่ายกระชับและเข้าใจผ่านตัวบทเพลง”​

“เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว พักผ่อน เมืองแห่งการโรแมนติไซส์ เป็นภาพลักษณ์ของคนที่มองเชียงใหม่ กลุ่มทุนและรัฐ พยายามนำเสนอออกมาแบบนั้น ส่งผลให้การออกแบบนโยบายที่สอดรับนักท่องเที่ยว หรือการสร้างตึกและคอนโด คาเฟ่ การดริปกาแฟบนดอย ซึ่งถ้ามองในมุมเศรษฐกิจผมไม่ได้ปฎิเสธ แต่ที่ผ่านมา กลุ่มทุน ภาครัฐ เนี่ยไม่เคยเลยที่จะพยายามถามว่ามุมมองของคนเชียงใหม่ จริงๆ ว่าต้องการให้เชียงใหม่ออกมาแบบไหน เค้าก็อาจจะอยากให้เป็นเมืองที่มีคาเฟ่หรือดริปกาแฟบนดอยเหมือนเดิมก็ได้ แต่เสียงของคนในพื้นที่มันไม่เคยถูกตอบรับ และเราต้องมาช่วยกันในการส่งเสียงเพื่อสร้างพลังของประชาชนชาวเชียงใหม่ก็ได้ การสร้างภาพลักษณ์แบบนี้ส่งผลให้เชียงใหม่ถูกแช่แข็ง ทำให้เด็กใหม่ที่จบออกมาต้องไปหางานทำที่ส่วนกลางหมด ทั้งที่เชียงใหม่มีมหาลัยที่อยู่อันดับต้นๆ ของไทย แต่การที่เชียงใหม่ถูกแช่แข็งทำให้การจ้างงานไม่ตอบโจทย์กับเด็กที่จบมา”​

“ผมไม่อยากให้จำกัดการพัฒนาเมืองแค่คนรุ่นใหม่ การพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ต้องเป็นการพัฒนาที่มีทุกคน ไม่ว่าจะเป็นป้อเฒ่าแม่อุ้ย ลุงป้าน้าอา ลูกหลานเหลน ต้องมีส่วนในการออกแบบหรือกำหนดนโยบายที่มันสอดรับกับคนในท้องที่ การออกแบบหรือกำหนดนโยบายต้องมีคนที่เข้าใจปัญหา ไม่ติดว่าจะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าหรืออบจ. แต่ต้องเป็นระบบที่คนเชียงใหม่หรือคนท้องถิ่นเนี่ยมีปากมีเสียงจริงๆ ปัจจุบันอย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ รัฐไทยเนี่ยเป็นรัฐรวมศูนย์ ผู้ว่าฯ ในปัจจุบันก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการแต่งตั้งของรัฐส่วนกลาง ซึ่งถึงแม้จะมีการเลือกตั้ง อบจ. ก็ไม่ได้มีอำนาจในการบริหารจัดการเพราะก็ต้องผ่านผู้ว่า ทำให้การออกแบบนโยบายก็ไม่ได้ตอบโจทย์คนในพื้นที่ เพราะผู้ว่าเนี้ย มาเกษียณละก็ไป ไม่ต้องมาคอยกังวลว่าสมัยหน้าจะมีใครเลือกฉันไหม​

อยากให้ภาพฝันของอ้ายจรัลเป็นจริง บทเพลงและการเล่าเรื่องของ อ้ายจรัล ที่มองสังคมล้านนาที่มันไม่เท่ากับคนส่วนกลาง ทั้งการพัฒนา ทั้งความเป็นอัตลักษณ์ของคนล้านนา ซึ่งเป็นสิ่งที่จรัลพยายามจะสื่อสารมาตลอด ผมในฐานะคนรุ่นใหม่ ก็อยากจะสานฝันของทั้งอ้ายจรัลและก็ผม ให้เป็นจริงโดยเร็ว ปี 2563 ประชาชนและคนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงสังคม ก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาพฝัน”​

— ปรัชญา ไชยแก้ว​
สำนักข่าว Lanner​

เสวนา “จากเชียงใหม่สู่ล้านนา: จากวันนี้สู่วันหน้า” 21 ปี รำลึกจรัล มโนเพ็ชร​

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง