งานเสวนา “เครื่องแบบนักศึกษา จำเป็นหรือไม่จำเป็น”

12/08/2022

วันที่ 11 สิงหาคม 2565 คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานเสวนา “เครื่องแบบนักศึกษา จำเป็นหรือไม่จำเป็น” ณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 13.00 น. ถึง 15.00 น. โดยมี รศ.ดร.ภิญญพันธ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยลำปาง และ อาจารย์ปอ บุญพรประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


รศ.ดร.ภิญญพันธ์ พจนะลาวัณย์ กล่าวเสวนาในประเด็น “เครื่องแบบนักศึกษา พลวัตของอำนาจนิยมบนเรือนร่าง สู่แฟชั่นและความเย้ายวนทางเพศ” โดยบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ของเครื่องแบบนักศึกษาใน ที่ตนแบ่งออกเป็นแต่ละช่วงเวลา ว่ามีความหมายว่าอย่างไรในบริบททางสังคม ได้แก่
1. เครื่องแบบนักศึกษายุคกึ่งราชการ ในช่วงปี 2475 จนถึงช่วงประมาณปี 2500 ซึ่งเป็นช่วงที่นักศึกษาส่วนมากจะถูกส่งไปทำงานราชการ อีกทั้งยังมีการเกณฑ์นักศึกษาไปเข้าเฝ้าแขกบ้านแขกเมืองบ่อยครั้ง จนเหมือนว่าเป็นแรงงานข้าราชการ ตนจึงเชื่อว่ารูปแบบของเครื่องแบบนักศึกษาในตอนนั้น จะต้องมีความยึดโยงกับการเป็นข้าราชการและความสุภาพ


2. เครื่องแบบนักศึกษาภายใต้การสอดส่องและการต่อต้าน ตั้งแต่ช่วงปี 2510 ถึงช่วงปี 2519 โดยเป็นช่วงที่มีการออกข้อบังคับเกี่ยวกับเครื่องแบบนักศึกษาลงในพระราชกิจจานุเบกษา แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้า โดยที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีจอมพลถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาลัย แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจควบคุมเรือนร่าง และความพยายามสร้างความเป็นทางการให้เกิดขึ้น โดยนอกจากนี้ยังการเคลื่อนไหวจากขบวนการนักศึกษา ผ่านการแต่งกายรูปแบบที่ขัดต่อขำกำหนดเครื่องแต่งกาย


3. เครื่องแบบนักศึกษาในสังคมที่ถูกทำให้เงียบ ที่เกิดขึ้นหลังปี 2519 ที่รัฐมีอำนาจมากขึ้นในสถาบันการศึกษา ปรับเปลี่ยนหลักสูตร และลดทอนประเด็นทางการเมืองที่เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย ทำให้บทบาทของเครื่องแบบนักศึกษา ที่เป็นมีความยึดโยงกับการเมืองค่อยๆจางหายไป จนทำให้กลายเป็นตัวแทนของความศักดิ์สิทธิ์ ผ่านพิธีรับปริญญา ที่เริ่มต้นโดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งถือเป็นเจ้าฟ้าองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญาตรีในประเทศไทย กลายเป็นการเน้นย้ำบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในบริบทของการศึกษา และยังส่งผลให้มหาวิทยาลัย กลายเป็นพื้นที่ที่แสวงหาความสุขในชีวิต แทนที่จะเป็นการแสวงหาอุดมการณ์ทางการเมือง เครื่องแบบนักศึกษาจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นนักศึกษาที่ดี อยู่ในร่องในรอย


4. เครื่องแบบนักศึกษาในมิติแฟชั่น และความเย้ายวนทางเพศ เป็นช่วงที่เครื่องแบบนักศึกษา เปลี่ยนแปลงไปจากการเป็นคนในสังกัดข้าราชการ แต่ถูกทำให้มีความหมายในบริบทของความเป็นแฟชั่นมากขึ้น จนส่งผลให้รัฐบาลมีแนวคิดที่จะควบคุมการแต่งกายในเครื่องแบบนักศึกษาผ่านการร่างกฎหมาย แสดงให้เห็นถึงความต้องการของเผด็จการในช่วงเวลานั้น ที่จะเข้ามามีอำนาจควบคุมเรือนร่างและเครื่องแต่งกาย นอกจากนี้ยังส่งผลให้เครื่องแบบนักศึกษา กลายเป็นสัญลักษณ์ทางเพศหลังจากช่วงปี 2540 อีกด้วย


5. เครื่องแบบนักศึกษาอันหลากหลาย และการไม่สวมเครื่องแบบ โดย รศ.ดร.ภิญญพันธ์ ยกตัวอย่างข้อบังคับของมหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ระบุว่านักศึกษาสามารถใส่เครื่องแต่งกายนักศึกษาได้ตามเพศสภาพ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายุคนี้เป็นยุคที่เครื่องแบบนักศึกษาสามารถรองรับความหลากหลายได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ความสามารถที่จะรองรับความหลากหลายได้ก็ยังยึดโยงกับการเปลี่ยนเครื่องแบบนักศึกษา ที่ผู้ใส่ไม่มีเสรีภาพในการเลือก ว่าจะใส่หรือไม่ อยู่ดี นอกจากนี้ในบางมหาวิทยาลัย เครื่องแบบนักศึกษาก็กลายเป็นเครื่องมือในการผลิตซ้ำความผูกพันธ์ระหว่างนักศึกษาและมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยม ผ่านการใช้เครื่องแต่งกายนักศึกษาผูกเข้ากับพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่างๆของมหาวิทยาลัย


จากนั้น อาจารย์ปอ บุญพรประเสริฐ ขึ้นเสวนาต่อ ในประเด็นการตีความเครื่องแต่งกายนักศึกษาใหม่ผ่านมุมมองปรัชญา โดย อาจารย์ปอ ได้ตีความคำว่า “เครื่องแต่งกาย” หรือ “Uniform” ออกมาเป็นคำ 2 คำที่รวมกัน คือ Uni (หนึ่งเดียว) และ Form (รูปแบบ) โดยตีความคำว่า “Uni” หรือ “หนึ่งเดียว” ว่าเป็นตัวแทนของ ความดี ความงาม และความจริง ซึ่งเป็นเป้าหมายของการมีอยู่ของสรรพสิ่งในจักรวาล ซึ่งจะส่งผลให้มีความกลมกลืน กลมเกลียว และแน่นอน และ “Form” หรือ “รูปแบบ” ที่เป็นตัวแทนสิ่งที่มนุษย์สามารถรับรู้ได้ ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ Uniform จึงกลายเป็น รูปแบบเพียงหนึ่งเดียว ที่ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้ความเข้าใจผ่านประสาทสัมผัสของมนุษย์ เพื่อเป็นตัวแทน ความดี ความงาม และความจริงเพียงหนึ่งเดียว ท่ามกลางรูปแบบที่มีความแตกต่างกันอยู่อย่างหลากหลาย เป็นรูปแบบเพียงหนึ่งเดียว ที่จะการันตีความแน่นอน ความกลมเกลียว และความกลมกลืนให้เกิดขึ้น และคงอยู่ตลอดไปผ่านการรับรู้รูปแบบดังกล่าว


นอกจากนี้ อาจารย์ปอ ยังแสดงความคิดเห็นต่อคำถามว่า เครื่องแบบนักศึกษาจำเป็นหรือไม่ ผ่านการหาคำตอบว่า มนุษย์จะสามารถมีความสุขได้ในโลกที่รูปแบบต่างๆถูกรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสเท่านั้นหรือไม่ โดยการใช้แนวคิดการตีความโลกที่อยู่ภายใต้การรับรู้ของมนุษย์ ว่าเป็น All things ที่ประกอบไปด้วยทุกสิ่งที่ถูกรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส หรือ The all ที่ประกอบไปด้วยทุกสิ่ง รวมถึงสิ่งที่ไม่ถูกรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส หรือก็คือความว่างปล่าวด้วยกันแน่ ซึ่งโลกที่ถูกตีความว่าเป็น The all ก็จะหมายถึงโลกที่ให้โอกาสทุกสรรพสิ่ง ซึ่งมนุษย์จะสามารถมีความสุขในโลกใบนี้ได้ หมายความว่าเราก็อาจจะมีความสุขกับการใช้เครื่องแบบนักศึกษาต่อไปได้เช่นกัน ต่างจากการตีความโลกว่าเป็น All things ที่ยังขาดบางสิ่งบางอย่างที่ไม่สามารถถูกรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส จนทำให้มนุษย์ต้องหาทางค้นหาโลกแบบใหม่ ที่อาจจะทำให้พวกเขามีความสุขในแบบที่โลกใบเก่าทำไม่ได้ เสมือนกับการมองว่าเครื่องแบบนักศึกษาไม่มีความจำเป็น เพราะไม่ทำให้เกิดความสุขจากการใช้งาน จำเป็นต้องหาทางออกใหม่เช่นการแต่งตัวไพรเวทเข้าเรียนแทน


ภาพ : วัชรพล นาคเกษม
#Lanner

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง