ประวัติศาสตร์ – สามัญชน – พิพิธภัณฑ์

19 มกราคม 2566

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์ – สามัญชน – พิพิธภัณฑ์” ณ ห้อง HB7801 คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยวิทยากร อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน 

ดำเนินรายการโดย ดิน บัวแดง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


กำเนิด ‘พิพิธภัณฑ์สามัญชน’

อานนท์ ชวาลาวัณย์ เล่าว่าช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยนั้นตนไม่ได้มีความสนใจในงานพิพิธภัณฑ์เลย เพียงแค่มีความสนใจในการเรียนประวัติศาสตร์การเมืองเท่านั้น แต่หลังจากได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทย ทำให้ตนได้พบว่าเนื้อหาของประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์ว่ามีเนื้อหาอยู่ที่สมัยรัชกาลที่ 1 – 7 เท่านั้น จึงมีความสงสัยว่าทำไมถึงจบแค่รัชกาลที่ 7 จนกระทั่งได้พบกับวิชาเรียนหนึ่งคือ ‘ประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ 2475 จนถึงปัจจุบัน’ จึงทำให้มีการตั้งคำถามกับตัวเองว่า

“ทำไมวิชาที่เราถูกบังคับให้เรียนนั้นดูเป็นเรื่องที่ค่อนข้างไกลตัว แต่ในขณะที่วิชาที่เราเป็นผลผลิตของมัน เรากำลังอยู่กับมันหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นแค่เพียงวิชาเลือก” 

ความสนใจในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์นั้นเริ่มจากกิจกรรม “We walk เดินมิตรภาพ” เป็นการเดินเท้าของเครือข่ายประชาชน People Go จากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดขอนแก่นเมื่อปี 2561 ช่วงเวลานั้นการเดินเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ในเรื่องมีการสั่งห้ามไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมือง ที่ต่อเนื่องมาจากการทำรัฐประหารเมื่อปี 57 ว่าการชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเป็นการทำผิดกฎหมาย ดังนั้นผู้ชุมนุมจึงเสนอให้มีการเดินแถวละ 4 คนแทน พอได้เดินไปถึงจังหวัดขอนแก่น สิ่งที่ผู้ชุมนุมทำเพื่อประกาศชัยชนะคือ การนำผ้าขาวไปปูตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่จังหวัดขอนแก่นและให้ผู้ที่ร่วมเดินนำเท้าไปจุ่มกับสี จากนั้นก็ร่วมกันเดินบนผ้าผืนนั้น ทำให้รู้สึกว่าผ้าผืนนั้นมันดูมีพลังและเป็นการปักหมุดหมายถึงชัยชนะ 

อานนท์เสนอว่าผ้าผืนนั้นเป็นภาพแทนของปรากฏการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลาหนึ่งที่มีคนธรรมดาไปเดินอยู่ตรงนั้น แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่ถูกพบในตำราเรียนหรืองานวิจัยในประวัติศาสตร์กระแสหลัก เป็นเพียงหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเท่านั้น สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่จุดประกายให้สิ่งของเหล่านี้ไม่ควรเป็นเพียงเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเด็นเฉพาะหน้า

“เพื่อไม่ให้เรื่องราวการต่อสู้ของคนเล็กคนน้อยเหล่านั้นต้องถูกลบเลือนไปตามกาลเวลา มันควรจะต้องมีองค์กรและการเก็บรักษาสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นระบบ นี่ก็เป็นจุดกำหนดที่ผมเริ่มตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน ผมเริ่มสร้างเพจพิพิธภัณฑ์สามัญชนเมื่อประมาณปี 61 ระหว่างนั้นก็ได้เจอผู้ที่ร่วมเคลื่อนไหวในขบวนการต่าง ๆ เราก็เริ่มไปคุยและสอบถามว่ามีของที่ใช้ในตอนนั้นมั้ย เช่น เสื้อ ป้าย ผ้าโพกหัว ของที่นำมาจัดแสดงก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น สิ่งของเหล่านี้แม้ว่าจะมีเงินเท่าไหร่แต่ก็เป็นการยากที่จะไปตามหา นี่ก็เป็นภาพรวมคร่าวๆว่าพิพิธภัณฑ์สามัยชนเกิดขึ้นมาได้อย่างไร”


พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์

อานนท์ได้ชวนตั้งคำถามจากข้อสังเกตของตัวเองในฐานะผู้ก่อตังพิพิธภัณฑ์สามัญชนว่า เริ่มต้นโจทย์ว่าเวลาที่คุณไปเดินในพิพิธภัณฑ์เชิงประวัติศาสตร์

1.คุณเห็นสิ่งของใดเป็นอย่างแรก อะไรที่ทำให้คนทำพิพิธภัณฑ์มองว่าของสิ่งนั้นคือสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์และต้องนำไปดูแลรักษาและจัดแสดง

2. ใครบ้างที่คุณจะพบเจอและได้อ่านเรื่องราวเวลาที่คุณไปเดินที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ มีบ้างมั้ยที่ผู้ที่มีชื่อเสียงและเคยมีบทบาทในจังหวัดของเรา ทำไมเราถึงไม่สามารถติดตามเรื่องราวของเขาได้ที่นี่

3.คุณคิดว่าสิ่งของที่คุณได้เห็นเวลาที่คุณไปเดินที่พิพิธภัณฑ์นั้น คุณมีความเกี่ยวข้องหรือเคยมีปฏิสัมพันธ์ใดกับมันมากน้อยแค่ไหน เพราะการที่ของบางอย่างมันไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ มันน่าจะมีความสำคัญ แต่ความสำคัญนั้นเป็นความสำคัญกับใคร เป็นสิ่งของที่บ่งบอกถึงเรื่องราวในยุคของเราหรือไม่ หรือสิ่งนั้นไม่ได้มีความเกี่ยวโยงกับตัวเราเลย นี่เป็นคำถามที่อยากชวนให้ตั้งทุกครั้งในเวลาที่ไปเดินชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์

4.ในหลาย ๆ จังหวัดที่มีการบันทึกเรื่องราวในท้องถิ่นของตน ทั้งในมิติทางวัฒนธรรม มิติการเกิดแก่เจ็บตาย ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เหล่านั้น แต่ผมได้ตั้งคำถามตัวเองว่า ชีวิตของคนธรรมดาสามัญอย่างพวกเรานั้นมีเพียงมิติทางวัฒนธรรมเท่านั้นหรือไม่ จะมีมิติทางการเมืองบ้างหรือไม่ในทุกจังหวัดที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ

“หากคุณลองตั้งคำถามถึงการไปเดินดูพิพิธภัณฑ์ คุณอาจจะเห็นอะไรมากขึ้นว่า ในบรรดาข้าวของทั้งหลายนั้น เขาเลือกอะไรมาวางที่พิพิธภัณธ์และเพื่อจุดประสงค์ใด นี่อาจจะเป็นคำถามในฐานะการเรียนประวัติศาสตร์และการเดินชมพิพิธภัณฑ์”

อานนท์ตั้งข้อสังเกตถึงการไปเดินชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในจังหวัดต่าง ๆ ว่า ของส่วนใหญ่ที่ถูกนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินั้น เราจะเห็นแต่ของที่แสดงถึงมิติทางวัฒนธรรม เป็นการแสดงเกี่ยวกับความเป็นอยู่หรืออาจจะเป็นวัฒนธรรมชั้นสูงขึ้นมาหน่อยในบางพื้นที่ 

“แต่สิ่งที่ผมแทบจะไม่เห็นเลยก็คือ มิติทางการเมืองที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งแทบไม่เห็นเลยว่าคนธรรมดาอย่างพวกเราเคยมีชีวิตมีตัวตนในทางการเมือง ในหน้าประวัติศาสตร์อย่างไรบ้าง” 

“เราเห็นมิติทางวัฒนธรรม มิติทางศาสนา และมิติความเชื่อในหลาย ๆ มิติ แต่ในมิติทางการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ผมคิดว่ามันขาดหายไป แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลย จากที่ผมได้ไปเดินดูในเมืองไทยนั้นมีอยู่ 2 ที่ ที่ได้เห็นเรื่องราวเหตุการณ์ทางการเมืองและนำมาเล่า ที่แรกคือ พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า พิพิธภัณฑ์นี้เป็นสถานที่ที่ค่อนข้างน่าสนใจ ซึ่งนอกจากจะมีเรื่องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองไทยแล้ว ยังมีการขยายตึกไปสร้างห้องที่มีการเล่าเรื่องการปกครองในรูปแบบต่าง ๆ หากคุณเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร อยากจะชวนลองไปเดินชมในพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าว่า อาจจะมีความเกี่ยวข้องในสมัยคณะราษฎรและเขามีการเล่าเรื่องคณะราษฎรในมิติของพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าอย่างไร นี่ก็เป็นสิ่งที่อยากจะเชิญชวนไปดู

พิพิธภัณฑ์แห่งที่ 2 คือ พิพิธภัณฑ์ภูพาน จังหวัดสกลนคร น่าสนใจมาก เพราะมีส่วนของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์อยู่ด้วยกัน สกลนครเป็นจังหวัดเล็ก ๆ ที่อยู่เกือบติดกับแม่น้ำโขง ในสมัยหนึ่งเคยมีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองเกิดขึ้นที่นั่น โดยเป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจหลายเหตุการณ์และหลายเหตุการณ์นั้นเป็นเหตุการณ์ที่น่าจะส่งผลกระทบต่อการเมืองภาพใหญ่ที่ไม่เคยเห็นที่กรุงเทพ ยกตัวอย่างเช่น ภาพเหตุการณ์ประหารชีวิตคนด้วยมาตรา 17 ในยุคจอมพลถนอม ภาพของคุณเตียง ศิริขันธ์ เป็นผู้ที่มีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของเสรีไทย เรื่องของการเป็นรัฐมนตรีอีสานฝ่ายก้าวหน้า และสุดท้ายก็ถูกสังหารอย่างมีเงื่อนงำ ก็เป็นเรื่องราวที่กระทบและปรากฏเกี่ยวกับการเมืองภาพใหญ๋ แต่ในพิพิธภัณฑ์ที่กรุงเทพฯ แทบไม่เห็นเรื่องราวของคุณเตียงเลย จึงต้องไปดูที่สกลนคร อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องราวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งในมุมมองของนักประวัติศาสตร์ในทางสากลมองว่ามันเป็นถึงขั้นสงครามกลางเมืองหรือไม่ จุดนี้ผมยังไม่แน่ใจ แต่ว่าเรื่องราวของพคท. นั้นไม่ใช่เรื่องราวที่กระทบกับจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเรื่องราวระดับประเทศ ไม่เช่นนั้นพลเอกเปรมจะต้องมาออกคำสั่ง 16/2523 เรื่องการเปลี่ยนแนวนโยบายในการดำเนินการกับพรรคคอมมิวนิสต์ประเทศไทยทำไมหากมันไม่กระทบกับทั้งประเทศ แต่ในเรื่องราวของพคท. นั้นก็ไม่พบในพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า แม้ว่าจะเป็นสถานที่เดียวในกรุงเทพฯ ที่พอจะพบเรื่องราวของประวัติศาสตร์การเมืองอยู่บ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเรื่องราวของจังหวัดสกลนครที่มีเรื่องราวของการต่อสู้ทางการเมืองมาอย่างยาวนาน เป็นฐานที่มั่นที่กลุ่มเสรีไทยใช้มาอย่างยาวนาน เป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยต่าง ๆ ก็กลายเป็นว่าพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ ในสกลนครๆด้บันทึกเรื่องราวทางการเมืองไว้ได้อย่างน่าสนใจ ในขณะที่หลาย ๆ จังหวัดที่เข้าไปดูก็ไม่พบ”


ประวัติศาสตร์บาดแผล

“ผมพบว่าเรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลนั้น เราแทบจะไม่พบเลยว่าพิพิธภัณฑ์ที่ดูแลโดยรัฐจะบันทึกเรื่องราวเหล่านั้นไว้ จากเท่าที่ผมไปเดินก็ไม่เคยพบในหลาย ๆ แห่งกว่าจะสร้างกันได้ก็ต้องใช้เวลายาวนานและใช้แรงผลักดันของผู้ญาติที่มีส่วนเกี่ยวข้องกว่าจะดันให้มันเกิดขึ้นมาได้”

อานนท์ชวนสนทนาถึง สถานที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์บาดแผล สถานที่แห่งแรกที่อานนท์ยกขึ้นมาคือ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา อยู่ที่สี่แยกคอกวัว กรุงเทพฯ เป็นอนุสรณ์ที่พูดถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่มีการขับไล่ผู้นำทางการทหารในสมัยนั้นคือ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ซึ่งกว่าจะสร้างได้ก็ใช้เวลามากพอสมควร แม้ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา หลายคนอาจจะพูดได้ว่าเป็นชัยชนะของประชาชน แต่แม้กระทั่งประวัติศาสตร์บาดแผลที่มีการนองเลือด ที่ว่ากันว่าประชาชนเป็นฝ่ายชนะก็ยังใช้เวลานานกว่าจะสร้างได้ จึงอยากจะชวนทุกคนตั้งคำถามว่า เหตุใดที่เรื่องราวความสูญเสียที่ประชาชนเป็นฝ่ายชนะกลับใช้ระยะเวลาอันยาวนานในการสร้างพื้นที่เพื่อการรำลึกในพื้นที่สาธารณะ ยิ่งถ้าพูดถึง 6 ตุลา 2519 ที่มีเพียงอนุสรณ์เล็ก ๆ อยู่ที่ลานประติมากรรมธรรมศาสตร์ ก็เป็นประเด็นที่อานนท์ตั้งคำถามต่อว่า

“สมัยที่ผมเรียนมหาวิทยาลัยนั้น เหตุการณ์ 14 ตุลา เวลาที่มีงานรำลึกจะเป็นงานที่มีความใหญ่โตมาก แต่ในขณะที่เหตุการณ์ 6 ตุลานั้น จะมีเพียงญาติผู้เสียชีวิตไปรำลึกกันเหงา ๆ ที่ลานประติมากรรม โดยอาจจะมีงานเสวนาบ้างและก็จบ แต่หากย้อนกลับไปในช่วงปี 62, 63 และ 64 หากลองไปดูบรรยากาศงาน เรากลับพบว่า งาน 6 ตุลา มันกลายเป็นงานที่มีความดุดัน มีการจัดเวทีที่ดูมีชีวิตมากขึ้น ในขณะที่เหตุการณ์ 14 ตุลา อาจจะดูเงียบเหงาลง ผู้ที่ไปร่วมงานอาจจะเป็นผู้ที่มีช่วงอายุหนึ่ง ในขณะที่งาน 6 ตุลา นั้นแม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เราก็ยังเห็นคนที่ยังอายุน้อย ๆ ที่น่าจะไม่ได้มีความทรงจำหรือส่วนร่วมใด ๆ กับงานรำลึกและไปจัดกิจกรรมกันมากขึ้น ตรงนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ ก็เป็นคำถามที่อยากจะถามว่า ในความคิดของพวกคุณทำไมเหตุการณ์ช่วง 6 ตุลา หลัง ๆ มานี้ถึงมีชีวิตมากขึ้น ในขณะที่งาน 14 ตุลา ที่ครั้งหนึ่งเคยดูมีชีวิต มันกลับค่อนข้างที่จะดูกร่อยลงไป”       

ลานประติมากรรมพฤษภา 2535 ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ว่ากันว่าเป็นชัยชนะประชาชน แต่หากได้ไปลานประติมากรรมแห่งนี้ในช่วงที่มีการจัดงานช่วงพฤษภาก็จะพบว่า บางทีโครงจะถูกรื้อออกและจะมีรถเข้ามาจอดเต็มไปหมด ซึ่งก็เกิดความสงสัยว่า พื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์นี้ไม่ได้รับการบริหารจัดการและการดูแลที่ดีนัก ซึ่งผมก็อยากที่จะชวนตั้งคำถามถึงอนุสาวรีย์หลาย ๆ แห่งที่ถูกสร้างโดยภาคราชการอีกด้วย

โดยอานนท์กล่าวถึงอนุสาวรีย์ปราบกบฏ เป็นอนุสรณ์ที่คณะราษฎรสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่รบชนะคณะกู้บ้านเมืองของพระองค์เจ้าบวรเดชในปี 2476

“ผมได้ไปที่อนุสรณ์แห่งนั้นเมื่อหลายปีมาแล้ว แต่ในตอนนี้ก็ไม่สามารถมีใครให้คำตอบได้ว่าอนุสรณ์แห่งนั้นหายไปไหน ครั้งหนึ่งที่ผมเคยไปผมเห็นถึงหญ้าที่ไม่ได้รับการดูแลและรถตำรวจที่มาจอดเต็มไปหมด ในขณะที่หากเทียบกับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งน่าจะสร้างในสมัยที่ไม่ไกลกันมากนัก อนุสาวรีย์นี้ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ผมจึงเลยอยากที่จะชวนตั้งคำถามว่า อุดมการณ์และชุดความคิดที่อยู่เบื้องหลังการก่อสร้างเหล่านี้ มันมีผลมากน้อยแค่ไหนกับการดูแลที่มันต่างกัน ซึ่งนั่นเป็นอนุสรณ์ที่ถูกสร้างโดยภาคราชการเองที่ไม่ใช่ประชาชนเป็นผู้สร้าง เพราะฉะนั้นไม่ก็ไม่แปลกเลย หากจะมามองอนุสรณ์ที่ภาคประชาชนเป็นคนสร้างที่การบริหารจัดการอาจจะไม่เทียบเท่ากับคุณค่าของความหมายที่จะสื่อออกมา”

อานนท์ได้นำเสนอเหตุการณ์โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเอร์ อินดัสเทรียล ไทยแลนด์ ไฟไหม้ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 ที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์นี้ได้นำมาสู่ความสำคัญจนถูกยกให้เป็นความสำคัญระดับชาติ โดยวันที่เกิดเหตุการณ์นี้ถูกยกให้เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันที่คนทั่วไปอาจจะไม่ทราบ สิ่งของที่มาจากเหตุการณ์นี้ได้ถูกจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

ประวัติศาสตร์บาดแผลเหล่านี้มันก็เกิดคำถามว่า ในประเทศเราที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หลายเหตุการณ์ เหตุการณ์ใดที่ถูกบันทึกไว้ในพิพิธภัณฑ์? ถูกบันทึกเพราะอะไร? เหตุการณ์ใดไม่ได้ถูกบันทึก? เพราะอะไรจึงไม่ถูกบันทึก? นี่เป็นเรื่องที่อยากจะเชิญชวนทุกคนรวมตั้งคำถามเวลาที่ไปเดินชมพิพิธภัณฑ์ อาจจะได้เห็นประเด็นอะไรต่างก็ได้ ซึ่งการยกเหตุการณ์นี้ขึ้นมาเพราะเหตุการณ์นี้เป็นเหคุการณ์ใหญ่ แต่มันกลับถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ เท่านั้น

อานนท์เล่าว่าล่าสุดตนได้ไปที่อนุสรณ์สถานของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่จังหวัดสกลนคร ที่ว่ากันว่าไปสร้างในจุดที่ว่ากันว่าจิตรถูกยิงเสียชีวิต นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์บาดแผลถึงการต่อสู้ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ไทยกับรัฐบาล ซึ่งก็มีผู้เสียชีวิตกันทั้งสองฝ่าย แต่เหตุการณ์เหล่านี้จะเป็นการเริ่มต้นโดยภาคเอกชนเป็นส่วนใหญ่ที่มีความรู้สึกว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญและต้องถูกสร้างไว้  จุดนี้จึงเป็นคำถามว่า เวลาที่เห็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ถูกนำมาสร้างเพื่อให้คนมาร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์นั้น ลองทำการสำรวจดูว่าเหตุการณ์เหล่านั้นเล่าถึงใคร สื่อถึงอะไร และเหตุการณ์ใดที่ถูกสร้างโดยรัฐ ไม่ได้ถูกสร้างโดยภาคเอกชนเอง


ประวัติศาสตร์บาดแผลในต่างประเทศ

อานนท์เชิญชวนดูเรื่องราวในต่างประเทศ โดยจากที่เล่ามาทั้งหมดได้พยายามจะบอกว่า พิพิธภัณฑ์หรือสิ่งปลูกสร้างที่สร้างขึ้นเพื่อการรำลึกของรัฐ แทบจะมีการละเลยความสำคัญของประวัติศาสตร์บาดแผล แต่ก็ได้พบว่าประวัติศาสตร์บาดแผลในต่างประเทศเป็นสิ่งที่เขาพยายามที่นำมาให้คนได้เรียนรู้ แต่ในบ้านเรานั้นดูจะไปเป็นเช่นนั้น ดูเป็นสิ่งที่พยายามที่จะละเลยและไม่พูดถึงมัน

ผ้าส่าหรี รองเท้า และย่าม ที่อินทิรา คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้สวมใส่ในวันที่ถูกลอบสังหาร หากลองสังเกตก็จะเห็นว่ามีคราบเลือดติดอยู่ ต่อมาคือ เรื่องราวของบิชอปรูปหนึ่งชื่อ ออสการ์ โรเมโร พระชาวเอลซัลวาดอร์ ประเทศโซนอเมริกากลาง โดยอเมริกากลางในช่วงสงครามเย็นมองว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ เพราะเป็นพื้นที่ที่สหภาพโซเวียตสามารถเข้ามาแทรกซึมถึงภูมิภาคอเมริกา ทำให้รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย จึงมีความพยายามมอบเงินทุนสนับสนุนผู้นำเผด็จการทหาร โดยมีความเชื่อว่าหากระบบเผด็จการทหารในภูมิภาคนั้นมีความเข้มแข็ง ลัทธิคอมมิวนิสต์ก็จะไม่สามารถที่จะแทรกซึมเข้ามาได้ บิชอปรูปนี้ก็อาจจะมีแนวคิดที่ก้าวหน้ามาทางฝ่ายซ้าย แต่สุดท้ายก็ได้ถูกลอบสังหารไป เสื้อที่นำมาจัดแสดงก็เป้นเสื้อที่บิชอปรูปนี้สวมใส่ในวันที่ถูกลอบสังหาร ก็จะเห็นได้ว่าในต่างประเทศจะมีการบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์บาดแผล ซึ่งเหตุการณืที่นำมายกตัวอย่างก็เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในระดับหนึ่ง 

ต่อมาคือพิพิธภัณฑ์ที่สหรัฐอเมริกานั่นก็คือ American Museum of Natural History ที่ปัจจุบันได้ถูกปิดตัวลงไปแล้ว โดยเป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวของสื่อมวลชน คนทำงานด้านสื่อ ในภาพจะเป็นภาพเสื้อและซากกล้อง ซึ่งจะมีอยู่ 2 – 3 กลุ่มที่เวลาที่เกิดเหตุเภทภัยต่าง ๆ ที่คนอื่น ๆ นั้นวิ่งหนีจากเหตุการณ์ 9/11 นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์นี้เป็นการรำลึกถึงสื่อที่เสียชีวิตจากการเข้าไปทำข่าว เหตุการณ์เครื่องบินชนตึกเวิร์ลเทรดเซนเตอร์ก็จะมีซากกล้องเหล่านี้และประวัติของผู้เสียชีวิตมาเล่าด้วยเช่นกัน

“จุดที่มีความน่าสนใจคือ จากการที่ได้ไปเดินชมพิพิธภัณฑ์นี้ ผมได้ไปพบกับสิ่งแปลกปลอมชนิดหนึ่งคือ กล่องทิชชู่ที่ตั้งอยู่ตรงโซนจัดแสดง ซึ่งคนอเมริกันหลายส่วนก็ยังรู้สึกว่าเหตุการณ์นี้ยังเป็นแผลที่ยังสดและมีอารมณ์ร่วมจากข้างใน บางคนอาจจะเคยมีความเกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ เพราะเหตุการณ์เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์นั้นมีผู้ที่เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ที่เสียชีวิตนั้นอาจจะมีญาติหรือเพื่อนอีกหลายคน ฉะนั้นสำหรับคนอเมริกันหลายคนพอมีหยุดที่ตรงจุดนี้ก็มีการร้องไห้ออกมาอย่างจริงจัง ผมเลยเห็นถึงความใส่ใจของพิพิธภัณฑ์ที่รู้ว่าเมื่อคนมาถึงมุมนี้จะร้องไห้ ก็มีทิชชู่จัดเตรียมไว้ให้ เห็นได้ว่านี่เป็นเรื่องของการดีไซน์อารมณ์ความรู้สึกและประสบการณ์ของผู้ชมว่า คุณคาดหวังให้ผู้ชมรู้สึกอะไรเมื่อมาถึงจุดแสดงนี้ ทั้งหมดที่ผมได้สื่อสารมานั้น เห็นได้ว่าทั้งโลกนั้นมีเหตุการณ์รายแรงเกิดขึ้น ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศก็ไม่ได้พยายามจะปิดมันและได้พยายามที่เปิดมันออกมา พยายามจะเชิญชวนให้ทุกคนหันมามองเหตุการณ์ที่มันเคยเกิดขึ้นว่าเป็นอะไรและเราสามารถเรียนรู้อะไรจากมันได้บ้าง แต่ในมุมมองของผมตรงส่วนนี้ ผมรู้สึกว่าในกรณีของไทยมันไม่ใช่แบบนั้นซะทีเดียว มันมีบางอย่างที่รู้สึกว่าคนไทยพยายามที่จะปิดเรื่องราวเหล่านี้ โดยการไม่พูดถึงมันและพยายามจะฝังมันลงไป เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการรื้อฟื้นและสร้างความเจ็บปวดอะไรต่างๆ แต่พอลองไปมองถึงมุมมองในต่างประเทศ ผมรู้สึกว่าเขาพยายามที่จะเรียนรู้จากมัน พยายามที่จะไม่ให้ผู้เสียชีวิตตายไปอย่างสูญเปล่า มีการนำเรื่องราวความผิดพลาดในอดีตที่เคยเกิดขึ้นมาพูดถึงกัน ซึ่งตรงนี้อยากที่จะฝากถึงผู้เรียนประวัติศาสตร์และผู้ที่มาร่วมว่า ในอนาคตหากได้ไปเกี่ยวข้องกับงานพิพิธภัณฑ์ นี่อาจจะเป็นประเด็นที่ต้องศึกษาและพูดคุยกันมากขึ้น ประวัติศาสตร์บาดแผลควรจะถูกนำมาชำระและมาเล่าเป็นระบบใหม่ เพื่อที่ในอนาคตจะได้ไม่ทำอะไรที่ผิดพลาดซ้ำกับในอดีต” 


พิพิธภัณฑ์สามัญชน มองประวัติศาสตร์จากล่างสู่บน

อานนท์ได้เสนอว่าทุกการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการของชนชั้นนำเพียงอย่างเดียว แต่หากไม่มีมติมหาชนหรือความเห็นร่วมของคนธรรมดาอย่างพวกเรา มันก็คงไม่มีทางเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแบบไม่สุด 

จุดนี้เห็นได้จากการรัฐประหารจากคสช. แต่ก่อนที่คสช. จะเกิดขึ้นมานั้นมีการชุมนุมของกลุ่มกปปส. ที่ออกมาเรียกร้องถึงการเมือง ณ เวลานั้นในปี 2556 ระบบการเมืองไทยมันย่ำแย่และการครองอำนาจทางการเมืองของตระกูลชินวัตร ที่แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ก็ตาม สุดท้ายตระกูลนี้ก็จะกลับมาอยู่ดี จึงเกิดการเรียกร้องให้มีการหยุดการเลือกตั้ง ควรที่รื้อระบบโครงสร้างและทำให้ระบบโครงสร้างทางการเมืองมันดีขึ้นเสียก่อน แล้วจึงค่อยเลือกตั้ง จึงเห็นได้ว่าหากปราศจากการชุมนุมของกลุ่มกปปส. มันก็เหมือนกับว่าคุณยังเตรียมดินไม่พร้อมที่จะทำการรัฐประหาร หากเหตุการณ์ทางการเมืองในตอนนั้นยังสงบนิ่งและทหารได้เข้าทำรัฐประหาร มันก็จะตามมาด้วยการต่อต้านที่รุนแรง แต่เมื่อมีการเตรียมพร้อมมาในระดับหนึ่ง มันก็สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ 

“นี่เป็นสิ่งที่อยากจะชวนทุกคนดูว่า ในเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ครั้งใดก็แล้วแต่ ไม่มีเหตุการณ์ใดที่คนธรรมดาอย่างพวกเราไม่มีส่วนร่วม แต่พอเรื่องราวเหล่านี้ถูกนำไปเขียนในตำราเรียนหรือถูกเล่าในประวัติศาสตร์กระแสหลัก เรื่องราวของคนธรรมดาที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็มักจะถูกละเลยไป”

อานนท์ได้นำเสนอภาพของธงสีรุ้ง ที่อาจจะพบได้บ่อยครั้งในยุคนี้ ตั้งแต่ช่วง 2563 เป็นต้นมา ในเรื่องของการผลักดันประเด็นความเท่าเทียมของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ที่มีความต้องการได้รับสิทธิ์ในการแต่งงานหรือใด ๆ ก็ตาม เพื่อให้มีความเท่าเทียมกับคนทั่วไป ซึ่งในทุกวันนี้ก็ยังมีการผลักดันกฎหมายต่าง ๆ ออกมา หากในวันใดวันหนึ่งประเทศไทยมีการผ่านกฎหมายให้บุคคลเพศใดก็ตามสามารถจดทะเบียนสมรสได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย หากวันนั้นมาถึงผมก็หวังว่าเราจะไม่ลืมว่าก่อนที่จะไปถึงวันนั้นได้ มันมีการรวมตัวของผู้ที่ต้องการเรียกร้องอะไรบางอย่าง หากในวันหนึ่งมันจะมีการเปลี่ยนแปลงที่จะช้าหรือเร็วก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ผมในฐานะพิพิธภัณฑ์สามัญชนอยากจะย้ำก็คือ

“อย่าได้ลืมพวกเขาเหล่านั้น คนที่เริ่มเคลื่อนไหว คนที่มีส่วนในการส่งเสียงเรียกร้องให้มันเกิดความเปลี่ยนแปลง ในยุคสมัยของเขามันอาจจะไม่สำเร็จ แต่วันหนึ่งหากมันสำเร็จ อย่าได้ลืมว่ามีสิ่งเหล่านี้ อย่าได้ลืมว่าพวกเขาเหล่านี้ยังมีตัวตนอยู่”                

ผมจึงได้แต่หวังว่า เมื่อเข้ามาทำพิพิธภัณฑ์สามัญชนแล้วนั้น ผมหวังว่ามันจะเป็นการต่อยอด เราไม่ได้ต้องการการโต้เถียงกับรัฐว่าใครผิดหรือถูก แต่ผมคิดว่ามันเป็นการต่อยอดซึ่งกันและกัน หากภาครัฐมองประวัติศาสตร์ในมุมของโครงสร้างใหญ่ แต่ในมุมของคนธรรมดาอย่างเรานั้นสิ่งที่ไม่ควรจะละเลยคือ เราต้องแสดงให้เห็นว่าในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งใหญ่ในแต่ละครั้ง มันไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้หากไม่มีคนแบบพวกเรา      

อานนท์ได้นำเสนอภาพที่นิสิตนักศึกษาได้ออกมาชุมนุมเมื่อปี 63 โดยเป็นภาพที่มีข้อความที่ล้อเลียนถึงการทำงานของรัฐบาล ซึ่งหากมองในมุมของประวัติศาสตร์กระแสหลักก็จะเห็นว่าเป็นเพียงกระดาษแผ่นหนึ่งที่นำมาชูในการชุมนุมที่ไม่ได้มีความหมายอะไร แต่หากมองในข้อความบนกระดาษนั้น บริบทการเกิดขึ้นมาของมันก็คือ มีนักการเมืองออกมาพูดในช่วงที่นิสิตนักศึกษาออกมาชุมนุมเมื่อปี 63 ว่า “ก่อนที่พวกคุณจะออกมาชุมนุมเนี่ย กลับไปช่วยพ่อแม่ล้างจานก่อน” จึงมีการตอบกลับจากบนข้อความในกระดาษแผ่นนี้ว่า “ถ้าการเมืองดี แม่กูมีเครื่องล้างจานไปนานแล้ว” มันดูเหมือนเป็นการจิกกัด แต่อานนท์อยากชวนให้ไปไกลกว่านั้น

“การที่คนรุ่นนี้ได้สื่อสารออกมาแบบนี้ แสดงให้เห็นถึงการคิดที่ไปไกลกว่านั้น เขามองว่าหากโครงสร้างทางการเมืองยังไม่ดี ต่อให้เขาเรียนเก่งแค่ไหน จบไปก็รับเงินเดือน 15,000 จ่ายค่ารถไฟฟ้าวันละเป็นร้อย แล้วสิ้นเดือนกูเอาไรกิน แสดงให้ว่าเขามองไปไกลถึงขั้นนั้น เขามองไปไกลว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่ แต่การเมืองคือเรื่องของเขา ระบบการศึกษาจะดีหรือไม่ดี ระบบสวัสดิการ การใช้ชีวิตจะมีคุณภาพหรือไม่ ทุกอย่างในท้ายที่สุดมันล้วนกลับไปสู่คำที่ถูกสอนว่าให้รังเกียจการเมือง การเมืองคือการกำหนดนโยบาย การเมืองคือการจัดสรรประโยชน์ จัดสรรทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดว่าใครควรจะได้ไป กลายเป็นคนรุ่นนี้ที่เข้ามาท้าทายและเปลี่ยนแปลงความคิด ทำให้เขารู้สึกว่าไม่ควรที่จะห้ามไม่ให้มีส่วนทางการเมือง เพราะอยากที่จะมีชีวิตที่ดีกว่า ผมคิดว่าป้ายแผนนี้เป็นแลนมาร์คสำคัญที่บ่งบอกว่าคนในสำคัญได้เปลี่ยนความคิดแล้ว ซึ่งสำหรับผมมันไม่ใช่แค่ความคิดของผู้ที่ชูป้าย แต่ผมเชื่อว่าผู้ที่อยู่ในรุ่นเดียวกับเขาก็คิดเช่นนั้น มันจึงเกิดปรากฎการณ์ที่เกิดในปี 63 ที่มีนักเรียนและนักศึกษาหลาย ๆ คนออกมาชุมนุม เพราะต้องการเห็นอนาคตของตัวเองที่ดีกว่าเดิม ต้องการเห็นบ้านเมืองที่ดีกว่าเดิม สำหรับผมป้ายที่ดูไม่มีมูลค่ามันมีมูลค่ามากกว่าที่คิด”               


หลักฐานประวัติศาสตร์ (ตกสำรวจ)

อานนท์ได้นำภาพของหลักฐานที่ไม่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการอยู่ 2 ภาพคือ ภาพเหตุการณ์ที่สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักเคลื่อนไหวที่มีบทบาทตั้งแต่ปี 57 ได้ถูกทำร้ายระหว่างรอรถโดยสาร โดยหลักฐานที่ได้ไปขอมาก็คือ เสื้อที่เปื้อนเลือดของจ่านิว ภาพต่อมาคือ ภาพของคุณรุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยเป็นภาพเหตุการณ์ที่คุณรุ้งกำลังใช้มีดคัตเตอร์กรีดที่แขนตัวเองเป็นตัวเลข 112 ซึ่งเป็นภาพที่ถ่ายจากเหตุการณ์การชุมนุมเปิดตัวแคมเปญเข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งหลังจากที่คุณรุ้งกรีดตรงนี้ เลือดก็ได้หยดลงมาที่แผ่นแถลงการณ์ที่นำขึ้นไปอ่านในวันนั้น เป็นแถลงการณ์ที่มีเลือดเปื้อนอยู่ อานนท์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งของเหล่านี้เป็นสิ่งของที่สื่อถึงความรุนแรงทางการเมือง ที่ไม่มีความแตกต่างอะไรเลยกับ เสื้อของบิชอป ผ้าสาหรี่ของนายกรัฐมนตรีอินเดียที่ได้นำเสนอไป สิ่งของเหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ตกสำรวจคือ ไม่ได้มาจากผู้ที่มีอำนาจ แม้จะมาจากเหตุการณ์ที่รุนแรงหรือสะเทือนใจก็ตาม แต่ผมคิดว่าสิ่งของเหล่านี้มีค่าที่ควรจะเก็บรักษาไว้ ซึ่งหากวันหนึ่งในอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นกับมาตรา 112 ในทางที่ดีขึ้น เหตุการณ์เหล่านี้ก็เป็นเหตุการณ์ที่เราไม่อาจจะลืมได้ว่ามันเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง