นิทรรศการ Zero Burning ชวนทำความเข้าใจการ ‘เผา’ ผ่านภาพถ่าย

ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2566 เวลาประมาณ 16.00 น. โครงการเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ร่วมกับ Realframe จัดกิจกรรมเปิดนิทรรศการ Zero Burning สร้างการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนกับวิถี “เผา” ของชาวปกาเกอะญอและชุมชนนอกเขตเมือง 

ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย

ภายในงาน มีกิจรรมเดินชมนิทรรศการภาพถ่าย Zero Burning ที่จะชวนสำรวจและทำความเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนที่ใช้ “การเผา” เป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตมากกว่าจะถูกทำให้เป็นปีศาจในฤดูกาล และ การแสดงบูโต โดยธนุพล ยินดี ก่อนเข้าสู่ช่วงเสวนาเปิดนิทรรศการ และกิจกรรมฉายภาพยนตร์เรื่อง Writing with fire มากกว่านั้นยังมีตลาด ร้านค้า อาหาร เครื่องแต่งกายจากชุมชนในเชียงดาวมาให้จับจ่ายอีกด้วย

ธีระพงษ์ สีทาโส เล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำนิทรรศการว่า เกิดจากการทำผลักดันพื้นที่มะขามป้อมอาร์ต สเปซ ให้สามารถเป็นพื้นที่เรียนรู้ในเชียงดาว และมองว่าในช่วงฤดูฝุ่นควันที่จะถึงนี้ เป็นปัญหาสำคัญที่เราต้องเผชิญในทุก ๆ ปี จึงอยากสื่อสารผ่านชุดภาพถ่าย “Zero Burning” เพื่อทำความเข้าใจวิถีการเผาของชุมชนให้มากขึ้น

ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย

ผลงานภาพถ่ายของยศธร ไตรยศ กลุ่ม Realframe ผลงานหนึ่งในนิทรรศการ Zero Burning เกิดจากความสนใจเรื่องไฟ และเรื่องชาติพันธุ์ และประกอบกับปัญหา PM 2.5 ที่ถูกชี้ต้นเหตุไปที่การเผาไหม้ จนเชื่อมโยงไปจนถึงว่าใครที่เป็นคนเผา สังคมจำนวนมากเข้าใจว่าเป็นคนปกาเกอะญอที่จุดไฟนี้ขึ้นมา จึงเริ่มอยากจะพาคนดูคนอ่านไปลองพิสูจน์ดูว่าในความเป็นจริง มันเป็นแบบนั้นจริง ๆ หรือไม่ โดยอยากจะเล่าให้เห็นความสำคัญของไฟ ยศธรทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เบื้องต้นที่จะทำได้คือเราควรเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของคนที่อยู่อาศัยในชุมชนที่มีวัฒนธรรมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา บางเรื่องอาจไม่สวยงามในสายตาเรา แต่มันคือวิถีของเขา

ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย

พฤ โอโดเชา ปราชญ์ปกาเกอะญอ และผู้เชี่ยวชาญการทำไร่หมุนเวียน ถามย้อนกลับว่า ถ้าถามว่าเผาทำไม เท่ากับการถามว่ากินข้าวทำไม ดื่มน้ำทำไม หรือดื่มกาแฟทำไม อยากให้ลองตั้งคำถามว่ามันมีอะไรไม่ใช้ไฟบ้าง ไฟมันมีมานานแล้ว มันเกิดมาจากสภาวะไอระเหยเอง ฟ้าปิด แต่เราเผาในช่วงอากาศโล่ง ฟ้าเปิด มากกว่านั้นยังมีเงื่อนไขทางกฎหมายที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตให้เกิดความเปลี่ยนแปลง 

ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย

ด้าน ศรัณยา กิตติคุณไพศาล หรือ แหม่ม เกษตรกรอินทรีย์เจ้าของสวนบัวชมพู และเป็นสมาชิกภาคีเรารักษ์ดอยหลวงเชียงดาว มีโอกาสทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์เชียงดาว จนมีโอกาสได้ไปทำงานร่วมกับพี่น้องชนเผ่าปกาเกอะญอ ม้ง ดาราอั้ง รวมถึงมูเซอแดง ผืนป่าต้นน้ำในชุมชนของเขามีความอุดมสมบูรณ์มาก ในขณะที่วิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาการเผา หากไม่เผาต้องใช้สารเคมี ต้นน้ำจะเป็นพิษ 

“เราทำเกษตรอินทรีย์บนพื้นราบ เงื่อนไขของมาตรฐานอินทรีย์ของเราคือห้ามเผา เราจึงต้องใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทน ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าอินทรีย์มีราคาสูงกว่าสินค้าปกติ แต่ถ้าเราใช้ไฟ อาจจะช่วยลดต้นทุนได้ รวมถึงการเผาจะช่วยฆ่าเชื้อราบนหน้าดิน เราจึงอยากเป็นตัวแทนของคนเมืองให้รับรู้ ว่าเราอยู่กันมาเป็นวิถี เรื่องการเผามันมีมานานแล้ว มันมีจังหวะ มีช่วงเวลา เวทีอาจจะเป็นพื้นที่สื่อสารระหว่างคนเชียงดาวกับคนเมืองได้” ศรัณยากล่าว

ประกายดาว คันธะวงศ์ ได้ทิ้งท้าย ตนเองเป็นคนเชียงดาวโดยกำเนิด และอยากจะผลักดันให้เชียงดาวเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมต่อไปด้วย นิทรรศการภาพถ่าย Zero Burning ยังคงจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2566 นี้ ณ มะขามป้อม อาร์ตสเปซ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง