นิทรรศการศิลปะ NEVER GIVE UP ที่เล่าเรื่องราวของคนพม่าด้วยน้ำเสียงของพวกเขาเอง

ภาพ: วรรณพร หุตะโกวิท

นิทรรศการศิลปะ NEVER GIVE UP เกิดขึ้นมาด้วยแรงบันดาลใจในการผลิตงานที่แตกต่างกันออกไป แต่ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นมาจากบริบททางการเมืองใหม่หลังการรัฐประหารในประเทศเมียนมา จากการเกิดการรัฐประหารในประเทศเมียนมาเมื่อ 2 ปีก่อน ในประเทศไทยก็ได้เริ่มมีการรายงานข่าวเรื่องการลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยของคนในประเทศเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารจากเมืองหลวงอย่างเมืองย่างกุ้ง กลุ่มชนชั้นกลางในเมืองที่ไม่ต้องการทำงานภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหาร จนไปถึงชาวบ้านที่อยู่ตามแนวชายแดนที่ต้องหนีเข้าไทยเพราะคณะรัฐประหารเมียนมาได้มีการใช้เครื่องบินรบในการทิ้งระเบิดเพื่อกำจัดกลุ่มผู้ต่อต้าน

หลากหลายเรื่องราวที่คนไทยอย่างเราได้ยิน ที่ถูกเล่าผ่านอย่างกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่สื่อหลากหลายเจ้าทั้งในรูปแบบออนไลน์และปริ้น แต่เกือบทุกเรื่องนั้นล้วนแล้วแต่เป็นการนำเอาเรื่องของพวกเขามาเล่าต่อๆ กันไปและอาจจะมองได้ว่าเป็นการเล่าจากมุมมองของคนนอกซึ่งแน่นอนว่าคงจะมีการตัดทอนเนื้อหาบางส่วนออกไปด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ในการเล่าหรือแม้กระทั่งระยะเวลาและทรัพยากรสำหรับการเก็บข้อมูล ดังนั้นในงานนี้จึงเป็นการให้พื้นที่สำหรับเรื่องเล่าที่เลยกรอบข้อจำกัดของสื่อมวลชน อีกทั้งยังเป็นการเล่าจากมุมมอง ประสบการณ์ และความรู้สึก ของศิลปินจากประเทศเมียนมาที่มาบอกเล่าความนึกคิดของพวกเขาต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร

ภาพ: วรรณพร หุตะโกวิท
ทวีพัฒน์ แพรเงิน หรือหยอด ภัณฑารักษ์ (curator) ของนิทรรศการศิลปะ NEVER GIVE UP

ทวีพัฒน์ แพรเงิน หรือหยอด ภัณฑารักษ์ (curator) ของนิทรรศการนี้ได้ให้สัมภาษณ์กับ Lanner ถึงความรู้สึกและมุมมองต่อการออกแบบนิทรรศการในครั้งนี้ว่า “มันหลายอารมณ์ เวลาเห็นศิลปะการเมืองที่อยู่ตรงหน้า เราก็จะคิดว่าศิลปินผ่านโลก ผ่านชุดประสบการณ์ที่มันเจ็บปวดหรือว่าสร้างอารมณ์ความรู้สึกให้กับเขา ซึ่งศิลปะการเมืองมันจะมีความเข้มข้น มีความแรงในอารมณ์ค่อนข้างมากที่จะปลดปล่อยตัวเองและให้คนอื่นได้มองเห็น ขณะเดียวกันก็เรียกร้องความเข้าใจจากคนอื่น ๆ ซึ่งบางที อาจจะใช้วิกฤติของตัวเองมาแปลงเป็นงานศิลปะเพื่อจะส่งสาร เรื่องราวของเขาออกไป”

“ในสถานการณ์พม่า ถือว่ารุนแรงมาก ๆ ซึ่งมีการติดอาวุธ มีการต่อสู้ที่คอขาดบาดตาย ซึ่งไปไกลกว่าบริบทในประเทศไทยค่อนข้างมาก ตอนที่เราเริ่มงาน เริ่มออกแบบมันก็รู้สึกเศร้า แต่ยังไงก็ต้องทำออกมาให้ดีที่สุด ซึ่งศิลปินแต่ละผลงาน เราจะไม่รู้จักชื่อเลย อ่านและเห็นแนวคิดผ่านผลงานเพียงเท่านั้น พยายามจะจัดวางเรื่องราว เนื้อหา และอารมณ์ของงานให้ถูกสื่อสารและจัดแสดงได้อย่างเต็มที่ที่สุด อย่างที่ศิลปินน่าจะตั้งใจให้มันเป็นแบบนั้น”

“การทำงานออกแบบค่อนข้างยาก เพราะในบริบทพม่ามีความซับซ้อน ในรายละเอียด เลือดเนื้อของผู้คน การสื่อสารผ่านศิลปะก็จะทำให้คนที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน เขาจะได้เข้าใจได้มากขึ้น จากความเข้าใจที่มีอยู่เดิมผ่านงานศิลปะ”

“เราจะเห็นการออกแบบนิทรรศการครั้งนี้จะใช้ไม้พาเลทเป็นหลัก เนื่องจากมันเกี่ยวข้องกับการขนส่ง การย้ายของเพื่อข้ามแดน และตัวไม้มันเองค่อนข้างแข็งแรงและสามารถเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้อย่างหลากหลาย ซึ่งความสร้างสรรค์ ความยืดหยุ่น ความแข็งแกร่งของมันเปรียบเหมือนสปิริตขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนที่อยู่ข้างฝั่งประชาธิปไตยที่ยังจะต่อสู้และไม่ยอมจำนนต่ออำนาจเผด็จการ หนึ่งในซีรี่ย์ของงานนิทรรศการเป็นการเล่าเรื่องค่าย IDP ที่เขาเคยไปมาเมื่อสิบปีก่อน และกลับมาค่าย IDP อีกครั้งก็ยังเป็นบ้านไม้เดิม ๆ อยู่ ซึ่งมันสะท้อนความพยายามมีชีวิตอยู่ พยายามจะต่อสู้ ดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตที่ดี ยังมีลมหายใจ มันเป็นสปิริตที่สู้ยิบตาซึ่งมันคล้องกับชื่อนิทรรศการคือ Never Give Up”

ภาพ: วรรณพร หุตะโกวิท

“เราอยากให้งานมันรู้สึกได้ว่ามันมีชีวิต มีการเคลื่อนไหว เป็นคนที่หันหลัง และมีข้อความกวี ความหวัง ความคิดของเขา เราอยากให้คนที่หันหลังในภาพที่สกรีนลงผ้ามันเคลื่อนไหว มันมีชีวิต”

“มันเป็นการต่อสู้จากฝั่งประชาชน จากรัฐเผด็จการที่ทำต่อประชาชน ซึ่งหากดูในภาพกว้าง ๆ อาจจะไม่ต่างกัน คนไทยควรจะต้องติดตาม เป็นอุทาหรณ์ มันสะท้อนได้ว่าสุดท้ายรัฐเผด็จการก็สามารถฆ่าคนได้ด้วยเหตุผลความมั่นคงหรือเหตุผลอะไรก็ตามที่เขาอยากจะอ้าง และวันหนึ่งเราอาจจะต้องเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศตัวเองเหมือนกับคนพม่าก็ได้”

นิทรรศการยังคงจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ลานกิจกรรม food center มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดแสดงตลอดในช่วงกลางวัน 

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง