23 กุมภาพันธ์ 2566
เรื่อง : ปรัชญา ไชยแก้ว
ถ้าให้นึกถึงภูเขาคิดถึงอะไรกัน? อาจจะเป็น ต้นไม้ ลำธาร หรือหมอกหนาพาให้ชุ่มฉ่ำ แล้วถ้าเป็นทะเลล่ะ? หาดทราย คลื่นน้ำที่เข้ามากระทบ ท้องฟ้าแจ่มใส แต่ไม่ว่าภูเขาหรือทะเลจะเป็นยังไงในความคิด
ไม่ว่าจะนึกถึงอะไร แต่ในทุกสถานที่ต่างมีผู้คนที่เชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ ส่งต่อเป็นวิถีชีวิตที่ผูกพันกันไม่สิ้นสุด
“ค่ายเปิดโลกเยาวชนจากดอยสู่เล” ก็เช่นกัน นี่เป็นการออกไปเรียนรู้วิถีชีวิต ของเหล่าเยาวชนชาติพันธุ์จากทั้ง 4 ชนเผ่า ทั้ง ปกาเกอะญอ ม้ง อาข่า และไทใหญ่ จากภูเขาแต่ละดอยลัดเลาะสู่ชายฝั่งทะเล โดยความร่วมมือของสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) เครือข่ายเยาวชนชาติพันธุ์เหนือตะวัน และสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) ที่ก่อร่างสร้างสรรค์เปิดขอบฟ้าการเรียนรู้ เชื่อมไปสู่พื้นที่ใหม่ ๆ ที่ต่างออกไปจากเดิม
จากจุดเริ่มต้นความฝันของ เหนก-สุขศรี ชิติพัทธ์ ที่อยากสานฝันของคนรุ่นใหม่ปกาเกอะญอที่เคยทำกิจกรรมร่วมกับเหนก คือการได้ออกไปเรียนรู้พื้นที่ที่ไม่เหมือนกับถิ่นที่อยู่ของตัวเอง
“เริ่มจากที่เราเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม รุ่น 1 ของมูลนิธิอาสามัครเพื่อสังคม ก็มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อน ๆ หลายพื้นที่ ทำให้เรารู้สึกว่ามันมีโอกาสที่เราก็สามารถออกไปเรียนรู้ได้ เราจึงเริ่มมีความฝันเล็ก ๆ เราก็เลยเริ่มทำกิจกรรมกับเยาวชนในพื้นที่ที่เราทำงานอยู่ 5 จังหวัด ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และตาก เป็นการสร้างเยาวชนในพื้นที่ เป็นการเรียนรู้ตัวเองและสังคม และเราก็ท้าทายเยาวชนว่า จะสื่อสาร เรื่องสิทธิ ภูมิปัญญาให้คนภายนอกได้รับรู้ยังไง พอหลังจากที่แต่ละพื้นที่กลับไปทำกิจกรรมในชุมชนของตนอย่างต่อเนื่อง ก็มีการสรุปงานกันว่าแท้จริงแล้วทุกคนอยากทำอะไร อยากเรียนรู้อะไร
น้อง ๆ หลายคนบอกว่าอยากจะมาเรียนรู้เกี่ยวกับทะเล เนื่องจากเราอยู่บนดอยไม่ค่อยมีโอกาสเห็นทะเล จะได้เห็นแค่ในทีวี บางคนอาจจะได้มาในสมัยประถมที่คุณครูพามา ถ้ามีโอกาสได้มาเที่ยวก็ดี มันคือความฝันที่คิดไว้นานแล้วว่าอยากให้เยาวชนชาติพันธุ์ได้ไปทะเล อยากให้มันเกิดแบบนี้สักครั้งหนึ่ง ตอนนั้นไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นได้จริงไหม ไม่คิดด้วยซ้ำว่ามันจะเกิดขึ้น”
ด้วยความฝันและที่มาที่ไปของการเดินทางในครั้งนี้ก็ทำให้ทราบถึงข้อจำกัดบางอย่างก็คือ มีปัจจัยหลากหลายปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดของเยาวชนกลุ่มนี้อยู่ ไม่ว่าจะเป็น ภาระหน้าที่ อคติทางชาติพันธุ์ การเข้าถึงสิทธิที่ไม่เท่าเทียม และความเหลื่อมล้ำ สิ่งเหล่านี้ส่งผลไม่มากก็น้อยทำให้การออกไปเรียนรู้นอกพื้นที่ของเยาวชนชาติพันธุ์เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก
“ส่วนตัวคือที่บ้านของผมงานค่อนข้างเยอะ เลยไม่ค่อยมีโอกาสได้ออกไปไหน ไม่ค่อยได้ไปเจอสิ่งใหม่ ๆ เท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็จะอยู่แต่ที่บ้านทำงานไม่ค่อยได้ไปไหน ช่วยงานพ่อแม่เป็นหลัก ที่บ้านเราทำสวนส้มก็จะไปช่วยพ่นยาบ้าง ตัดหญ้าบ้าง ใส่ปุ๋ยบ้าง ถึงส้มมันจะออกแค่ช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน แต่ก็ต้องดูแลส้มตลอดทั้งปี” ใจ-พีรวัฒน์ พนาอมรชัย เยาวชนชาติพันธุ์ม้ง วัย 21 ปี เล่าถึงข้อจำกัดของตนที่ต้องเผชิญ
“บางทีมันอยู่ที่ตัวผมเองด้วยที่ไม่กล้าออกไปไหนด้วยตัวคนเดียว ไม่กล้าทำอะไรด้วยตัวคนเดียว มันกลัว กลัวไปหมด กลัวว่าจะทำอันนู้นไม่ได้ ทำอันนี้ไม่ได้ มันกลัวที่จะทำไม่ได้ ไม่กล้าทำ เป็นคนขี้อายแล้วก็ไม่ค่อยกล้าแสดงออกด้วย” ใจกล่าวเสริม
อาจารย์ชิ-ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนชาติพันธุ์เหนือตะวัน อีกหนึ่งผู้ริเริ่มความฝันของการเดินทางในครั้งนี้เล่าว่า โอกาสที่เยาวชนจะเรียนรู้กับตนเอง การค้นหาและค้นพบตัวเอง สิ่งที่เชื่อสิ่งที่ฝัน สิ่งเหล่านี้มีอยู่อย่างจำกัดภายใต้การถูกกดทับ เนื่องจากการเรียนรู้ในห้องเรียนไม่ตอบโจทย์ในการเรียนรู้ของเยาวชน อีกทั้งการเรียนรู้เพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของเยาวชนชาติพันธุ์นั้นมีอยู่อย่างจำกัด
อาจารย์ชิเสริมอีกว่า “เป็นเรื่องของนิเวศน์การเรียนรู้ที่เอื้อต่อเยาวชนชาติพันธุ์ เนื่องจากเราอยู่ในพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ โดยเฉพาะเขตป่ามันทำให้มันไม่เอื้อต่อการเข้าถึงทรัพยากร เครื่องมือ พื้นที่ในการเรียนรู้ เราอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ เราอยู่กับดิน น้ำ ป่า แต่ว่าเข้าไม่ถึงดิน น้ำ ป่า มันถูกกฎหมายบางอย่างห้ามใช้ มันก็เลยทำให้สิทธิในการเรียนรู้ในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในชุมชนเรา ที่อยู่ในบริบทเรามันกลายเป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้”
ต่างที่ต่างดอย แต่ตะวันเดียว
เยาวชนชาติพันธุ์กว่า 30 ชีวิต แบกสัมภาระและวัตถุดิบของดีจากภูเขาพื้นที่ของตนเอง มะเขือเทศ, ฟักทองลูกโต, ข้าวดอย, งา, ถั่วเน่า, เผือกและพืชผักนานาชนิดอีกมากมาย มาเจอกันที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อเตรียมตัวสำหรับการเดินทางไปเรียนรู้ หลายคนอาจจะรู้จักกันมาก่อนบ้างแล้ว แต่การเดินทางที่ต้องพึ่งพิงอาศัยการเรียนรู้ร่วมกัน จึงต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถพูดคุยกันได้บนพื้นฐานของการเคารพกันและกัน เพื่อให้การเดินทางครั้งนี้น่าจดจำไม่รู้ลืมมากยิ่งขึ้น
การใช้เกมกิจกรรม การพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิด เห็นที่มาและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องของการเดินทางในครั้งนี้ ระดมความคาดหวังและออกแบบกติกาการอยู่ร่วมกันตลอดทั้งการเดินทาง ก็ค่อย ๆ สร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้โอบรับทุกคนเข้าหากัน แม้กระทั่งเพื่อนที่รู้จักกันก็ได้รู้จักกันลึกยิ่งขึ้น เห็นถึงความแตกต่างหลากหลายและเข้าอกเข้าใจวัฒนธรรมของชาติพันธุ์อื่นมากยิ่งขึ้น พร้อมจับกลุ่มสมาชิกทุกคนที่มาจากหลากหลายพื้นที่และชาติพันธุ์ออกเป็น 5 กลุ่ม ผ่านการนำเรื่องราวและภาษาของแต่ละชาติพันธุ์มาผสมผสานกันจนออกมาเป็นชื่อกลุ่มที่แฝงไปด้วยความหลากหลายแต่งดงาม
เกอจ๊งหลอย ที่แปลว่า ดอยหรือภูเขา ใน 3 ภาษา เกอ(กระเหรี่ยง) จ๊ง(ม้ง) หลอย(ไทใหญ่)
เด็กดอยหิวเลย์ ที่มาง่าย ๆ คือทุกคนในทีมทั้งอยากกินขนมมันฝรั่งเจ้าดังและคำว่าเลแบบทะเล
นย้อ โอ มึ แปลว่า นั่งสบาย ที่นำคำว่าสวัสดีของแต่ละภาษามาปะติดปะต่อกัน นย้อ(ม้ง) โอ(กะเหรี่ยงโพล่ว) มึ(ปกาเกอะญอ)
เพื่อนต่างถิ่น มีที่มาจากการที่สมาชิกในกลุ่มมาจากหลากหลายพื้นที่ต่างถิ่น
ญ๊อ เปอ สูง แปลว่า อยู่ที่ราบสูง ที่นำภาษา ม้ง ปกาเกอะญอ ไทยใหญ่ มารวมกัน
นี่เป็นการอุ่นเครื่องเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางที่กำลังจะมาถึงในวันถัดไป ในวันที่ขบวนรถไฟจะเคลื่อนจากดอยสู่เมืองใหญ่
Train Rally Game
ช่วงเช้ามืด ณ สถานีรถไฟจังหวัดเชียงใหม่ สถานีปลายรางของภาคเหนือแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางของทุกคน อากาศหนาว ๆ น่านอนต่อ แต่สำหรับผู้เข้าร่วมค่ายจากดอยสู่เลแล้ว ความตื่นเต้นปลุกให้ทุกคนตื่นขึ้น เพราะนี่คือหมุดหมายเริ่มต้นของการเดินทาง
หลังจากที่เช็คสมาชิกผู้ร่วมทางด้วยกันครบทั้งหมดแล้ว กิจกรรม Train Rally Game ชวนตื่นตาที่จะทำให้ทุกคนได้เรียนรู้ความรู้ที่ซุกซ่อนอยู่ระหว่างทางรถไฟ จังหวัดต่อจังหวัด ในโจทย์และเครื่องมือที่ต่างกันไป
การบันทึกภาพ การค้นข้อมูล การวาดภาพ โจทย์สั้น ๆ ฮา ๆ อย่างโจทย์ ค้นข้อมูลประวัติศาสตร์และการนับความยาวของอุโมงค์ขุนตาลด้วยวินาที การถ่ายภาพตนเองกับลิงที่จังหวัดลพบุรี สร้างเสียงหัวเราะ ความตื่นตัว และพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเส้นทาง
ตัวอย่างโจทย์ที่ให้วาดภาพแม่น้ำแต่ละสายจากภาคเหนือ ที่มาบรรจบกันเป็นแม่น้ำใหญ่ในจังหวัดนครสวรรค์พร้อมบอกชื่อแม่น้ำแต่ละสาย และบางสายน้ำ ต้นน้ำอาจจะมาจากบ้านของเพื่อนสักคนในค่ายนี้ หรือจะเป็นโจทย์พิเศษที่ต้องหาจังหวัดที่รถไฟผ่านที่มีชาติพันธุ์มากที่สุดรองจากจังหวัดเชียงใหม่และมีจำนวนเท่าไหร่ ก็เป็นโจทย์ที่ต้องอาศัยข้อมูลและไหวพริบในการหาคำตอบ
นอกจาก Train Rally Game ที่ทำให้ได้สัมผัสกับความรู้ของแต่ละจังหวัดแล้ว สิ่งที่ทุกคนได้เห็นก็คือชีวิตของผู้คนบนรถไฟ ชีวิตของผู้คนในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในมุมมองที่แตกต่างหลากหลายออกไป
เสียงของพ่อค้าแม่ค้า ที่หอบหิ้วอาหาร น้ำดื่มและขนมก๊อบแก๊บ เดินขึ้นขบวนอย่างกระฉับกระเฉง พอถึงจุดนึงก็ต้องลงรถไฟเพื่อรออีกรถไฟอีกขบวนในการกลับย้อนมาสถานีตั้งต้นที่ประจำอยู่ ผู้คนมากหน้าหลายตาหมุนเวียนสับเปลี่ยนขึ้นลง นักเรียนนักศึกษา พนักงานโรงงาน ผู้คนต่างใช้รถไฟในการใช้ชีวิต นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ใช้รถไฟเป็นครั้งคราวเดินทาง
การเดินทางด้วยรถไฟจบลงที่สถานีรถไฟกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ด้วยการต้อนรับของทีมงานจากสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) พร้อมกับโจทย์สุดท้ายก็คือถ่ายรูปกับทีมงาน SYSI บริเวณป้ายสถานีบางซื่อเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกก่อนจะเปลี่ยนชื่อป้ายในเร็ววันนี้…
การเดินทางด้วยรถไฟจบลง นอกจากความรู้ในประวัติศาสตร์ของแต่ละจังหวัดและได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนบนรถไฟแล้ว ทุกคนยังกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การเดินทางด้วยรถไฟนั้นทำให้ได้รู้จักเพื่อนต่างชาติพันธุ์ ต่างพื้นที่มากกว่าเดิม ต่อมรับรสการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ที่สำคัญกิจกรรมนี้ไม่มีใครแพ้หรือชนะ แต่เป็นการท้าทายตนเองที่กล้าออกมาผจญโลกกว้าง และพร้อมลุยต่อสำหรับการเดินทางสู่ชายฝั่งทะเล
โปรดติดตามตอนต่อไป
กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ