วันที่ 31 สิงหาคม 2565
31 สิงหาคม 2565 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ออกแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์และสนับสนุนข้อเรียกร้องของเครือข่ายชาติพันธุ์ม้ง กรณีรื้อ “ม่อนแจ่ม” โดยเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สะท้อนความ “ลุแก่อำนาจ-กระทำมิชอบ” แปะป้าย “อาชญากร” ให้ชุมชน สองมาตรฐานกับชนชั้นนำ
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ปรากฏภาพกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ม่อนแจ่ม ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ กว่า 500 คน รวมตัวปิดทางเข้าออกพื้นที่ม่อนแจ่ม หลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้กว่า 300 นาย นำกำลังเตรียมเข้ารื้อถอนบ้านเรือนและโฮมสเตย์ของชาวม้งในพื้นที่ ตามคำสั่งของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นการสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่มายืนยันว่าตนเองเป็นชุมชนดั้งเดิมที่ตั้งรกรากในพื้นที่ม่อนแจ่มมานานกว่าร้อยปี โดยการดำเนินการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษพยัคฆ์ไพร พร้อมอาวุธครบมือ ปะปนอยู่
ต่อมาในวันที่ 30 สิงหาคม 2565 มีรายงานว่าชาวบ้านยังคงมีการรวมตัวกันเพื่อคัดค้านการสนธิกำลังเข้ารื้อถอนรีสอร์ต 5 แห่งบนดอยม่อนแจ่ม โดยชาวบ้านมีความกังวลว่าเจ้าหน้าที่จะเข้ารื้อถอนตามกำหนดการเดิม แต่เจ้าหน้าที่มีคำสั่งยกเลิกภารกิจในการเข้ารื้อถอนแล้ว ซึ่งภายหลัง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน กล่าวว่า “ยืนยันว่าทำตามกรอบของกฎหมาย ตามวัตถุประสงค์ ซึ่งในเบื้องต้น โครงการหลวงขอให้ดำเนินการ” นั้น
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้นเข้าข่าย “ลุแก่อำนาจ” และการดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้เพื่อรื้อถอนบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างของประชาชน โดยการอ้างอำนาจตามมาตรา 25 (3) แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 อาจไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่รัฐมนตรีฯ กล่าวอ้าง กล่าวคือ
1. กรณีม่อนแจ่ม ยังไม่มีปรากฏข้อมูลว่ามีคำสั่งทางปกครองและไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลให้รื้อถอน โดยกรณีนี้เจ้าหน้าที่อ้างอำนาจการรื้อถอนตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 (3) เมื่อได้กำหนดป่าใดเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และรัฐมนตรีได้แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาตินั้นแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ยึด ทำลาย รื้อถอน แก้ไขหรือทำประการอื่น เมื่อผู้กระทำผิดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งสั่งเป็นหนังสือให้รื้อถอนฯ ภายในเวลาที่กำหนดให้
ประชาชนในพื้นที่ยืนยันว่าที่ดินแปลงที่จะถูกรื้อถอนอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองเชียงใหม่ ยังไม่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีอาญาว่าได้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา การอ้างอำนาจตามมาตรา 25 (3) ของพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เพื่อรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างจึงกระทำไม่ได้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 และ มาตรา 33 ฉะนั้นหากเจ้าหน้าที่ป่าไม้บุกรุก รื้อถอน ทำลายสิ่งปลูกสร้างและพืชผลอาสิน อาจมีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา
2. ในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 12 กรณีผู้มีสิทธิหรือทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติก่อนวันที่กฎกระทรวงใช้บังคับและไม่ได้แจ้งคำร้องภายในเก้าสิบวัน ถ้าไม่ได้ยื่นภายในกำหนดให้ถือว่าสละสิทธิหรือประโยชน์ อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติดังกล่าวให้ถือว่าสละสิทธิหรือประโยชน์ ไม่ถือว่าเป็นบัญญัติเคร่งครัดเด็ดขาด เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน หากข้อเท็จจริงมีประชาชนมีสิทธิหรือทำประโยชน์อยู่ก่อนอย่างต่อเนื่อง สิทธินั้นก็ยังสมบูรณ์
กรณี “ม่อนแจ่ม” ประชาชนโต้แย้งว่ามีสิทธิหรือทำประโยชน์อยู่ก่อนการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ยืนยันว่าชุมชนมีการตั้งรกรากมาอย่างยาวนานมากกว่า 100 ปี ดอยม่อนแจ่มเป็นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของชนชาติพันธุ์ม้ง ซึ่งบรรพบุรุษได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากเมื่อประมาณ 2447 และมีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของหมู่บ้านเป็นภาพถ่ายทางอากาศของกรมเเผนที่ทหารยุคแรกๆ ที่มีการเก็บภาพถ่ายทางอากาศ ในปี 2495 และมีการทำประโยชน์ในพื้นที่เรื่อยมา อีกทั้งประชาชนยังอ้างสิทธิที่ได้รับการรับรองตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 ซึ่งกล่าวถึงผลการเจรจาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรภาคเหนือ โดยให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา 4 ด้าน ได้แก่ ปัญหาป่าไม้ ที่ดิน การให้สัญชาติไทยแก่ชาวไทยภูเขา และปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า
พีมูฟ ในนามเครือข่ายประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายและกฎหมายของรัฐในด้านที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์ จึงขอประกาศเจตนารมณ์และขอสนับสนุนข้อเรียกร้องของเครือข่ายชาติพันธุ์ม้งที่กำลังต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม ดังนี้
1. กรณีม่อนแจ่ม เป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชนที่อ้างว่ามีสิทธิหรือทำประโยชน์อยู่ก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ เจ้าหน้าที่เป็นคู่พิพาทไม่มีอำนาจตัดสินถูกผิดเสียเอง ประชาชนยังสุจริตและยังไม่ถือว่ากระทำผิดทางอาญา ไม่ถือว่าเป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วน กอปรกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ย่อมเล็งเห็นได้ว่ามีความร้ายแรงเกินสมควรแก่เหตุ จึงเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย
2. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องหยุดการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มคนบางกลุ่ม อ้าง “โครงการหลวง” ในการไล่รื้อชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งสะท้อนให้เห็นทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความสองมาตรฐานที่เกิดขึ้นทั่วประเทศภายใต้กระทรวงฯ ที่ดูแลโดย วราวุธ ศิลปอาชา ที่ยังเดินหน้าผลักให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าต้องตกเป็นจำเลยของปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยไม่เคยมีมาตรการใดกับกลุ่มทุนผูกขาดและกลุ่มชนชั้นนำ
3. เราขอสนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งในพื้นที่ม่อนแจ่ม ได้แก่ (1) ให้ยุติการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือการจับกุมดำเนินคดีชาวบ้านม่อนแจ่มโดยทันที และดำเนินการพิสูจน์สิทธิในที่ดินชาวบ้าน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 เรื่องแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน (2) ให้จัดทำแผนแม่บท (Master Plan) การบริหารจัดการพื้นที่ม่อนแจ่ม ตามข้อเสนอของหน่วยงานรัฐเอง ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และ (3) ให้หยุดใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 เป็นข้ออ้างในการดำเนินคดีชาวบ้าน ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติกับชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ประกอบการให้บริการที่พักนักท่องเที่ยว
เราขอยืนยันว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมและรัฐบาลจะต้องยอมรับความจริงว่าที่ดินเหล่านี้มีประชาชนอาศัยและทำมาหากินอยู่ และต้องยอมรับว่ากฎหมาย นโยบาย รวมถึงแนวคิดของผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นเผด็จการและล้าหลัง ไม่เท่าทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงใดๆ ของโลก โดยเฉพาะกระแสประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ยังคงเดินหน้าแปะป้ายผู้คนให้เป็น “อาชญากร” และใช้วิธีการล้อมกดดัน ปราบปราม ด้วยเจ้าหน้าที่ติดอาวุธ ใช้ยุทธวิธีทางการทหาร ซึ่งจะไม่มีวันนำไปสู่เป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าหรือประโยชน์สาธารณะใดๆ มีแต่แย่งยึดทรัพยากรเอื้อพวกพ้องตน ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้คน และฆ่าประชาชนทั้งเป็น
ทั้งนี้ เรายืนยันว่า กรณีนี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นชัดเจนอีกครั้งว่าถึงแม้ประเทศไทยจะได้ไปลงนามในปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง หรือมีแนวนโยบายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 70 แต่ในทางปฏิบัติหน่วยงานรัฐยังไม่ยึดถือเป็นสำคัญ ยังคงบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานตนเองอย่างเข้มข้นโดยไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์และชีวิตของผู้คน ไม่เคารพศักดิ์ศรีของกลุ่มชาติพันธุ์ละชนเผ่าพื้นเมืองที่มีตัวตนจริงๆ อยู่ในสังคมไทย
เราจึงยืนยันว่า รัฐบาลต้องผลักดันมาตรการทางกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยนายกรัฐมนตรีต้องเร่งลงนามรับรอง ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่ภาคประชาชนได้ยกร่างและเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 16,559 รายชื่อ เพื่อให้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับกฎหมายเกี่ยวกับการรับรองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองฉบับอื่นๆ ต่อไป
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...