ประวัติศาสตร์ประชาชน​ 31 กรกฎาคม 2518 พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง ผู้นำชาวนาภาคเหนือ ถูกยิงเสียชีวิต​

31/07/2022

ช่วงเช้าของวันที่ 31 กรกฎาคม 2518 นายอินถา ศรีบุญเรือง รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย และประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ ถูกยิงเสียชีวิตที่บ้านพักซึ่งเป็นร้านขายของชำภายในชุมชนใกล้วัดร้องดอนชัย ต.ป่าบง อ.สารภี จ.เชียงใหม่​

อินถา ศรีบุญเรือง หรือที่รู้จักกันในชื่อ “พ่อหลวงอินถา” เป็นผู้นำชาวนาคนสำคัญคนหนึ่ง นอกจากบทบาทการเป็นพ่อหลวงตามมาด้วยการเป็นสมาชิกของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย พ่อหลวงอินถายังเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ชาวนาไทย เป็นสมาชิกคณะกรรมการตำบลและเป็นผู้นำของสหกรณ์เกษตรกรอำเภอสารภี​

ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขบวนการนักศึกษาเริ่มลงมาเรียนรู้ปัญหาของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั้งยังเข้ามาทำงานทางความคิดเผยแพร่เรื่องประชาธิปไตย พ่อหลวงอินถาก็เคลื่อนไหวในช่วงเวลานั้นอย่างต่อเนื่อง โดยขบวนการประชาชนก็สามารถรวมกันเป็น “สามประสาน” นักศึกษา-ชาวนา-กรรมกร มีการเผยแพร่ข้อมูลเรื่อง พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 รวมทั้งต่อสู้ผลักดันให้เจ้าที่ดินที่ให้ชาวนาไร้ที่ดินเช่าทำนา ยอมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 ที่มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ ครอบคลุมถึงภาคเหนือ ต่างจาก พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2493 ที่ไม่ครอบคลุมภาคเหนือ นอกจากนี้กฎหมายฉบับใหม่ยังรัดกุมขึ้น มีการกำหนดคณะกรรมการระดับจังหวัดและอำเภอเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท มีการกำหนดเพดานค่าเช่านา ซึ่งมีผลทำให้ค่าเช่านาลดลง เจ้าที่ดินในภาคเหนือไม่สามารถเก็บค่าเช่านาเป็นผลผลิตครึ่งหนึ่ง หรือผลผลิตสองในสามได้อีกต่อไป​

โดยบทบาทของพ่อหลวงอินถานั้นคือการทำงานสนับสนุนชาวนาในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นที่ปรึกษาที่อุทิศตนเพื่อความเป็นธรรม ทำให้ชาวนาสามารถลุกขึ้นมาทวงคืนความเป็นธรรมและปลดแอกจากการถูกกดขี่ได้อย่างมีพลัง​

แต่ช่วงเวลาของการต่อสู้กลับถูกตัดตอนให้ค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน ในปี 2518 เกิดการสังหารผู้นำนักศึกษา กรรมกร และชาวนา อย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยก่อนหน้าที่พ่อหลวงอินถาจะถูกลอบสังหาร รวมถึงหลังจากนั้น มีสมาชิกและผู้นำชาวนาในภาคเหนือที่ถูกสังหารไปหลายคนดังนี้​

20 พฤษภาคม 2518 นายเกลี้ยง ใหม่เอี่ยม รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่อำเภอห้างฉัตร ถูกยิงเสียชีวิต​
22 มิถุนายน 2518 นายพุฒ ปงลังกา ผู้นำชาวนาเชียงรายถูกสังหาร​
3 กรกฎาคม 2518 นายจา จักรวาล รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่บ้านดง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ถูกยิงเสียชีวิต​
18 กรกฎาคม 2518 นายบุญทา โยธา ถูกยิงเสียชีวิตที่ลำพูน​
31 กรกฎาคม 2518 นายอินถา ศรีบุญเรือง ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือถูกยิงเสียชีวิต​
4 สิงหาคม 2518 นายสวัสดิ์ ตาถาวรรณ ผู้นำชาวนาดอยสะเก็ด ถูกยิงเสียชีวิตขณะกลับจากงานศพนายอินถา ศรีบุญเรือง​
11 สิงหาคม 2518 นายพุฒ ทรายดำ ชาวนาตำบลแม่บอน อำเภอฝาง ถูกจ่อยิงเสียชีวิตในห้องคนไข้ ที่สถานีอนามัยอำเภอฝาง​
22 ตุลาคม 2518 นายบุญรัตน์ ใจเย็น ผู้นำชาวนาอำเภอสารภี ถูกคนร้ายลอบยิงเสียชีวิต ขณะเดินอยู่บนถนน​

นี่คือช่วงเวลาแห่งความรุนแรงที่ถูกทำให้กลายเป็นปริศนา ถูกตัดตอนให้หายไปอย่างเงียบงัน และการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จะค่อยๆ ปิดตายประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้น​

พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง เคยให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์จัตุรัส เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2518 ก่อนเสียชีวิต เพียง 10 วัน ว่า​

“คุณเชื่อเถอะว่า ตราบใดที่รัฐบาลชุดทุนนิยมยังอยู่ เราไม่มีทางจะได้อยู่ดีกินดี ถ้าอำนาจรัฐไม่ได้อยู่ในมือเรา ก็ยังจะต้องเป็นอยู่อย่างนี้ การที่ผู้นำชาวนาถูกลอบยิง เพราะการเคลื่อนไหวเรียกร้องไปขัดผลประโยชน์กับเจ้าของที่ดิน เรื่องค่าเช่านา เรื่องที่นา เกี่ยวกับการเงิน แต่ผมก็ต้องสู้ ผมไม่ได้หวาดกลัวเลย เรื่องความตายถ้าเราไม่สู้ก็ตาย เราจะไม่ยอมถอยอีกแล้ว”​

อ้างอิงจาก​
-44 ปีลอบสังหาร “อินถา ศรีบุญเรือง” ผู้นำชาวนาภาคเหนือ-ต่อสู้เพื่อสิทธิชาวนาไทย โดย พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ​
-ความทรงจำถึง อินถา ศรีบุญเรือง ประวัติศาสตร์ชาวนาที่ถูกบังคับให้สูญหาย โดย วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์​
-ความรุนแรงและการลอบสังหาร โดยเว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา​
-ปฏิทินประวัติศาสตร์สามัญชน https://www.facebook.com/photo/?fbid=5745030448841559&set=a.563371587007497​

ภาพ: ประชาไท​

#ประวัติศาสตร์ประชาชน​
#lanner

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง