30/07/2022
“เราก็เล่นดนตรีในเชียงใหม่มานานเนอะ เห็นว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีนักดนตรีอยู่เยอะ มีทุกแนวเลย ในอีกแง่นึงก็คือ นอกจากเล่นดนตรีได้แล้ว ยังสามารถเขียนเพลง ทำผลงานเพลงได้เยอะมาก เยอะจนเรารู้สึกว่ามันหนาแน่นมาก นี่เป็นต้นทุนที่มีมูลค่ากับเมืองเชียงใหม่ แต่เราก็จะเห็นว่าศิลปินดังๆ ที่เกิดในเชียงใหม่ต้องรอไปดังที่กรุงเทพฯ แล้วค่อยย้อนกลับมาเล่นดนตรีที่เชียงใหม่ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนก็เล่นอยู่เชียงใหม่อยู่แล้ว แต่รายได้มันไม่พอ”
“โควิดทำให้นักดนตรี เพื่อนๆ หลายคน ตกงานไปเยอะมาก แล้วมันก็มีคำถามว่าทำไมเราไม่สามารถเล่นดนตรีกลางวันได้บ้างวะ? เพราะเราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนชอบเสียงดนตรีหมดแหละ แต่บางคนเค้าไม่ได้ชอบเที่ยวกลางคืน เค้าไม่ได้ชอบไปเฟสติวัล หรือไปคอนเสิร์ต เชื่อว่าตั้งแต่เด็กยันแก่ ทุกคนชอบเสียงดนตรีกันหมด เพราะงั้นมันจะเป็นไปได้ไหม ที่จะมีเสียงดนตรีเกิดขึ้นในเมืองนี้ ในเมืองที่มันเป็นช่วงกลางวัน บ่ายๆ เย็นๆ แบบนี้ แล้วนักดนตรีก็มีรายได้จากการเล่นดนตรีด้วย คนฟังก็มีความสุข อิ่มเอมใจ แล้วในขณะเดียวกัน ถ้าตัวศิลปินเองสามารถมีพื้นที่ในการเผยแพร่ผลงาน นำมาซึ่งรายได้ของเค้าด้วยอย่างยั่งยืน ต่อไปศิลปินในเชียงใหม่อาจจะไม่ต้องไปกรุงเทพฯ หรือเปล่าวะ ทุกคนสามารถนำเสนอผลงานของเค้าที่นี่ได้เลย ค่อยๆ ทำให้เมืองเชียงใหม่มันมีความเข้มแข็งในเรื่องดนตรี”
“ต่อไปนักท่องเที่ยวต้องมาเชียงใหม่เพื่อที่จะดูดนตรี มาเชียงใหม่มีดนตรีให้ดู มีศิลปินที่เล่นเพลงของตัวเอง ในหลากหลายแนวทางให้ดูเต็มไปหมดเลย ทั้งกลางวันกลางคืน ในสวนสาธารณะก็มี ถ้ามันเป็นแบบนั้นได้ก็น่าจะดี แต่ว่าเรามันเป็นแค่ภาคประชาชนไง ไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมือง ไม่ได้มีงบประมาณด้วย เราเป็นแค่คนธรรมดาเลย งานเชียงใหม่เปิดหมวก Chiangmai Busking มันก็เลยเริ่มจากการใช้วิธีชักชวนเพื่อนๆ น้องๆ นักดนตรีด้วยกัน ไม่ได้อยากทำแบบอีเว้นท์ เอางบมาแล้วก็ตูมๆๆ จบ ซึ่งมันก็เหมือนจุดพลุแล้วก็หายไป แต่รู้สึกว่าเออว่ะ เราทำสเกลเล็กๆ ไปเรื่อยๆ น่าจะยั่งยืน ออแกนิคมากกว่า มีครอบครัว เอาวงดนตรีที่เป็นผู้ใหญ่นั่งเล่นดนตรีมามั่ง เอาวงนักเรียนมัธยมมามั่ง นักเรียนก็พาผู้ปกครอง พาเพื่อนมาดู เออมันก็น่าจะเป็นอีกบรรยากาศนึงของเชียงใหม่”
“เรามองว่าสถานที่ที่จะจัดดนตรีเปิดหมวกแล้วยั่งยืนเนี่ย ยกตัวอย่างงานเชียงใหม่เปิดหมวก Chiangmai Busking เลย ถ้าจะให้ดีมันจะต้องเป็นชุมชน ต้องมีผู้คน สมมุติว่าคนดูอยากกินอะไร อยากดื่มอะไร มันก็จะต้องมีร้านค้าให้บริการ หรือแม้แต่รถเข็น รถขายลูกชิ้น มันควรจะต้องมี เศรษฐกิจมันก็จะได้คึกคัก โดยที่เอาดนตรีไปหย่อนไว้ ให้ตรงบริเวณนั้นมันมีชีวิตชีวาขึ้นมา เราก็เลยต้องคิดดูว่า ก็คงขยับไปเรื่อยๆ คืออย่างที่บอกว่าเราทำด้วยแรงของประชาชน มันก็เลยไม่ได้มีเวลา ไม่มีงบ ไม่มีอะไรทั้งนั้น ก็เลยดูๆ ไปก่อน ถ้าว่างเมื่อไหร่ก็ทำ แต่ก็คิดว่าแค่ได้เห็นคนดูมีความสุขก็ชื่นใจละ แล้วเราก็จะถามนักดนตรีว่าเล่นแล้วได้ตังค์ป่าววะ บางคนเล่นเป็นงานอดิเรก ขับรถมาเองเพื่อมาเล่นดนตรีเลย พอเล่นให้คนฟังเค้าก็ยิ้มละ แล้วเค้าก็ได้ตังค์ ก็โอเค จริงๆ มันก็มีอะไรน่าสนใจ ที่มันควรจะเกิดขึ้นได้อีกเยอะเลย ต่อไปถ้าได้งบสนับสนุนจากเอกชนก็ได้ ถ้าใครอยากมาสนับสนุนกิจกรรม เราจะได้เอามาทำให้มันเจ๋งกว่านี้ อยู่ดีๆสมมุติ เล่นๆ กันอยู่แบบนี้ อยู่ดีๆ มีเขียนไขและวานิช ขึ้นมาเล่นด้วย เราอาจจะเชิญเพื่อนๆ น้องๆ ในเชียงใหม่ ที่อยู่เชียงใหม่ช่วงนั้นพอดี มาแจมมาอะไร คือทุกคนอยากมาเล่นหมดแหละ มันก็เลยอาจจะเกิดชุมชนที่มันน่ารัก แบบเชียงใหม่อ่ะ”
ชา-วิชา เทศดรุณ หรือ ChaHarmo ศิลปินและผู้จัดกิจกรรมจากกลุ่ม Chiangmai Original
กิจกรรมเชียงใหม่เปิดหมวก Chiangmai Busking จัดขึ้นในวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ณ สวนสาธารณะเจริญประเทศ ตั้งแต่เวลา 14.30 น. เป็นต้นไป ติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เพจ Chiangmai Original
ภาพ: ศรีลา ชนะชัย
#chiangmaibusking
#เชียงใหม่เปิดหมวก
#Lanner
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...