พีมูฟน่านพา รมต.สำนักนายกลงพื้นที่ ’น้ำพางโมเดล’ เสนอยกระดับสู่โฉนดชุมชน

9 มีนาคม 2566

ภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในนามประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางการจัดที่ดินให้ชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางลงพื้นที่ ‘น้ำพางโมเดล’ ต.น้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน ศึกษาข้อเท็จจริง การดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรคในพื้นที่ที่ยื่นคำขอเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน

ภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

การลงพื้นที่ครั้งนี้สืบเนื่องจากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จ.น่าน ได้แก่ บ้านน้ำปูน หมู่ที่ 1 บ้านน้ำลาน หมู่ที่ 2 บ้านน้ำแนะ หมู่ที่ 3 บ้านน้ำพางหมู่ที่ 4 บ้านน้ำว้า หมู่ที่ 5 บ้านน้ำปุ๊ หมู่ที่ 6 บ้านใหม่ หมู่ที่ 7 บ้านน้ำพระทัย หมู่ที่ 8 บ้านน้ำตวง หมู่ที่ 9 บ้านร่มเกล้า หมู่ที่ 10 ต.น้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน ซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายพีมูฟ ได้ขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาทางนโยบายมาอย่างต่อเนื่องจนมีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 ก.พ. 2565 ว่าด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ รองรับแนวทางการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” โดยมีมติเห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอของพีมูฟที่มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) รับหลักการไปพิจารณานำเสนอคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อพิจารณาในการยกระดับการจัดที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนรูปแบบหนึ่งของการจัดที่ดินภายใต้การดำเนินการของ คทช. ต่อไป

จากเหยื่อ “ทวงคืนผืนป่า” สู่การพัฒนา “น้ำพางโมเดล”

ปวรวิช คำหอม ผู้จัดการน้ำพางโมเดล กล่าวว่า พื้นที่ ต.น้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน ประกอบด้วย 10 หมู่บ้าน มีสามชนเผ่า คือ ชนเผ่าพื้นเมือง 6 หมู่บ้าน ม้ง 2 หมู่บ้าน ชนเผ่าถิ่น 3 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 1,025 ครอบครัว 5,300 กว่าคน โดยในพื้นที่ ต.น้ำพาง นั้นมีเอกสารสิทธิประมาณ 1,700 ไร่ หรือเพียงร้อยละ 0.63 จากพื้นที่ ต.น้ำพาง ทั้งสิ้น 271,408 ไร่ หมายความว่าพื้นที่เกือบทั้งหมดต้องตกอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายป่าไม้โดยหน่วยงานรัฐ ทั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ทำเกษตรโดยการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้ตกเป็นจำเลยว่า จ.น่าน ทำให้เกิดภูเขาหัวโล้น

ปวรวิช คำหอม / ภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

จากนโยบายทวงคืนผืนป่า หลังมีการรัฐประหารในปี 2557 มีคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ พื้นที่ ต. น้ำพางก็ได้รับผลกระทบจากการทวงคืนผืนป่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ปี 2558 ประมาณ 1,875 ไร่ ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่คดีอาญา มีคดีที่ไม่พบตัวผู้กระทำผิดอยู่ที่ ต.น้ำว้า หมู่ 5 ในป่าสงวนแห่งชาติ 103 ไร่ และบ้านน้ำพาง หมู่ 4 เป็นสวนยางพารา 2 ราย ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา 

“เรามาดูในเงื่อนไขของนโยบายต่างๆ และแนวทางต่างๆ กับข้อมูลบริบทพื้นที่ ต.น้ำพาง พบว่าค่อนข้างที่จะไปด้วยกันลำบาก เนื่องจากวันนี้เราจะต้องมุ่งหน้าไปสู่เรื่องของการพัฒนาพื้นที่ให้มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ประกอบกับการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำอย่างไรในเมื่อสวนทางกัน จุดเริ่มต้นเรื่องของน้ำพางโมเดลจึงเกิดขึ้นเมื่อ 21 ก.ย. 2558 โดยการรวมตัวของผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า มานั่งคุยกันว่า เราจะทำยังไงในฐานะของคนต้นน้ำ ในฐานะของคนที่อยู่กับป่า เราจะต้องรับผิดชอบต่อสังคม รับผิดชอบต่อต้นน้ำอย่างไร” ปวรวิชเสริม

ปวรวิช คำหอม อธิบายว่า โครงการ “น้ำพางโมเดล” เกิดขึ้นภายใต้การขับเคลื่อนแนวทางโฉนดชุมชน โดยมีเป้าหมายคือที่ทำกินในพื้นที่ป่าทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อุทยานแห่งชาติแม่จริม และป่าสงวนแห่งชาติ ประมาณ 20,000 กว่าไร่ ในปี 2561 จนถึงปี 2575 จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในรูปแบบน้ำพางโมเดล ให้ได้ 14,253 ไร่ เป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.25 จะทำให้ ต.น้ำพาง ซึ่งเดิมในปี 2558 มีป่าสมบูรณ์อยู่ประมาณร้อยละ 90.90 จะมีพื้นที่ป่าสมบูรณ์เพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 96.40 โดยการที่จะไปสู่ความสำเร็จนั้นจะทำลำพังโดยชุมชนไม่ได้ จะต้องประกอบด้วยความร่วมมือ 4 ภาคส่วน ได้แก่ (1) ชาวบ้านจะต้องระเบิดจากตัวชุมชนที่เป็นเจ้าของปัญหา ที่อยู่กับปัญหาจะต้องลุกขึ้นมาจัดการทรัพยากรป่าไม้ของตนเอง ให้นำไปสู่ความยั่งยืนและเหมาะสมกับบริบทพื้นที่ วิถีชีวิต วัฒนธรรมของตนเอง และลุกขึ้นมาร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนราชการในพื้นที่ (2) องค์กรเอกชน (3) บริษัทเอกชนและสถาบันการศึกษา และ (4) หน่วยงานราชการ รวมถึงระดับกฎหมายและนโยบาย

ข้อจำกัดโครงการจัดที่ดิน คทช. สิทธิการจัดการไม่ถึงชุมชน

ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เห็นว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ใน ต.น้ำพาง อยู่ในพื้นที่สูงหรือชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1-2 ซึ่งไม่มีทางจัดที่ดินตามนโยบายของ คทช. หรือการใช้มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พ.ย. 2561 ว่าด้วย “พื้นที่เป้าหมายและ กรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) แนวทางการดำเนินงานตามกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกิน ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ” ที่หน่วยงานชอบอ้างนั้น ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นถ้ามีการทบทวนจุดขัดแย้งเหล่านี้สักเล็กน้อยจะพอสามารถดำเนินการได้ 

ประยงค์ ดอกลำใย / ภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

ประยงค์ ยังกล่าวว่า ในการจัดที่ดินแบบ คทช. นั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ใช้พื้นที่ แต่การที่คนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่คือผู้ว่าราชการจังหวัดก็เป็นปัญหามาก เพราะคนที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินจริงคือชาวบ้าน เวลาจะทำอะไรในพื้นที่ต้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอนุญาตชาวบ้านก่อน สิ่งที่เราเสนอแนะคือจะทำอย่างไรให้อำนาจตัดสินใจลงมาอยู่ที่ตัวชาวบ้านโดยแท้จริง

ประยงค์ เสริมว่า “ในส่วนของ คทช. จะทำอย่างไรให้สิทธิมาถึงชุมชนหรือท้องที่ ท้องถิ่น และในส่วนป่าสงวนแห่งชาติชั้นคุณภาพ 1-2 ที่มีถึงร้อยละ 80 ที่ชาวบ้านทำกินอยู่ ส่วนนี้ต้องไปปลดล็อคมติ ครม. ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ให้ชุมชนมีบทบาทในการบริหารจัดการมากขึ้น และมีระเบียบโฉนดชุมชนที่ให้ชาวบ้านและหน่วยงานมาช่วยเหลือร่วมกันมากขึ้น ส่วนเรื่องการฟื้นฟูพื้นที่ ชาวบ้านได้ใช้แนวทางของน้ำพางโมเดลมา 5 ปีแล้ว ซึ่งเห็นผลได้ในเชิงประจักษ์คือมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น มีต้นไม้เพิ่มขึ้น แล้วถ้าแนวทางสอดคล้องกัน ในปี 2575 จะมีพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวในตำบลนี้มากถึงประมาณร้อยละ 96”

เสนอยกระดับ “น้ำพางโมเดล” สู่ “โฉนดชุมชน ต.น้ำพาง”

ปวรวิช คำหอม ผู้จัดการน้ำพางโมเดล ย้ำว่า ตั้งแต่ปี 2554 ชุมชนใน ต.น้ำพาง ได้มีการยื่นขอจัดตั้งโฉนดชุมชนตามระเบียบสำนักนากยรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 เราก็มีการสร้างกระบวนการความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน ใช้กระบวนการทุกๆ ปี ในรูปแบบน้ำพางโมเดลและโฉนดชุมชน และจัดทำระบบผังข้อมูล แผนที่ประวัติชุมชน การใช้ประโยชน์ที่ดิน และสรรหาคณะกรรมการขับเคลื่อนโฉนดชุมชนใน ต.น้ำพาง สุดท้ายถ้าโฉนดชุมชนจะนำไปสู่ความสำเร็จก็ เรื่องของกฎหมายนโยบายที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ซึ่งนำมาสู่ข้อเสนอของพื้นที่ ต.น้ำพาง ต่อรัฐมนตรีวันนี้ เรามีความคาดหวังอยากจะนำไปสู่ความยั่งยืนและพัฒนาพื้นที่ไปร่วมกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ กับเอกชนก็ดี ให้ไปสู่เป้าหมายที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น 

ภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

เนื่องจากภาพรวมทั้ง ต.น้ำพาง อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่จริม ทับซ้อนพื้นที่กว่า 811 ไร่ และอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ที่ทับซ้อนพื้นที่อีก 10,960 ไร่ ที่ติดข้อจำกัดทางกฎหมายมากมายตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 อีกทั้งพื้นที่ทำกินใน ต.น้ำพาง ทั้งหมดยังติดขัดในการใช้หลักเกณฑ์ว่าด้วยการจัดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1-2 กว่าร้อยละ 88 และอยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 3-5 เพียงร้อยละ 12 หมายความว่าสามารถเข้าสู่การจัดที่ดินตามแนว คทช. ได้เพียง เพียง 474 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา (ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 3-5) ทำให้นโยบายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชนในการใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยเสนอแนวทางแก้ปัญหา ดังนี้

1. ให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางการจัดที่ดินให้ชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เร่งรัดดำเนินการศึกษาและออกระเบียบคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินงานโฉนดชุมชน ซึ่งเป็นการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน ให้สอดรับในมาตรา 10 (4) ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในหลากหลายพื้นที่ และสามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคจากกฎหมายและนโยบายด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ

2. ขอให้เร่งรัดประสานงานเพื่อให้พิจารณาชะลอการบังคับใช้ร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชนและสร้างข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต ทำมาหากินและอยู่อาศัยกับป่าตามวิถีจนกว่าการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ  “คณะอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขและปรับปรุงพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562” ตามคำสั่งคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาของพีมูฟจักแล้วเสร็จ

3. ให้มีนโยบายสนับสนุนยกระดับพื้นที่ต้นแบบ “น้ำพางโมเดล” เพื่อนำร่องแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และการจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือทุกภาคส่วน

4. ให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแหงชาติ (คทช.) โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสนับสนุนในการดำเนินงานโฉนดชุมชนของชุมชนในตำบลน้ำพาง ภายใต้แนวทาง ‘น้ำพางโมเดล’ สู่การจัดการที่ดินและทรัพยากร รูปแบบ ‘โฉนดชุมชนตำบลน้ำพาง’

ด้าน สวาท ธรรมรักษา กำนัน ต.น้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน ก็ได้ย้ำว่า หากเราสามารถเสนอโฉนดชุมชนให้เป็นหนทางหนึ่งในการจัดการที่ดินและทรัพยากรได้ร่วมกับทิศทางการจัดการของชุมชนคือน้ำพางโมเดลที่ดำเนินการอยู่ ก็จะเป็นทางออก โฉนดชุมชน ต.น้ำพาง จะเป็นพื้นที่ต้นแบบหนึ่งที่สามารถเป็นทางออกรูปแบบใหม่ของการจัดการที่ดินที่นำไปสู่ความยั่งยืนต่อไป

‘อนุชา’ รับเร่งดำเนินการให้ชัดเจน ตามภาคประชาชนเสนอ

อนุชา นาคาศัย / ภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในนามประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางการจัดที่ดินให้ชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ กล่าวว่า รู้สึกว่าสามารถทำอะไรได้มาก และเห็นจุดร่วมของหน่วยงานและชาวบ้านมากขึ้น โดยควรจะเร่งดำเนินการให้เกิดความชัดเจนตามที่ภาคประชาชนเสนอ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจฝั่งกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มากขึ้น โดยอาจดูเรื่องข้อจำกัดในการใช้ที่ดินซึ่งทางฝ่ายเลขาสำนักนายกรัฐมนตรีก็ต้องมาดูหลักการในการจัดการพื้นที่ตามแนวทางโฉนดชุมชน และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 ที่เคยมีมา ส่วนทางคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จะยินดีที่จะดำเนินการตามสิ่งนี้หรือไม่ อย่างไร ต้องมีความชัดเจน สิ่งอื่นๆ จะเกิดขึ้นตามได้โดยเร็วและไม่ต้องรอ 

สุริยน พัชรครุกานนท์ / ภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

ด้าน สุริยน พัชรครุกานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) กล่าวว่า วันนี้แนวทางในการจัดรูปแบบแปลงทำกินในรูปแบบแปลงรวมหรือโฉนดชุมชนที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ ในส่วนของกรมป่าไม้และกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังไม่ได้สรุปรูปแบบให้กับฝ่ายเลขา สคทช. อาจจะฝากทางกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ว่าตามที่พีมูฟได้นำเสนอ ถ้าพื้นที่ไหนที่มีการสำรวจและกำหนดขอบเขตแล้ว พื้นที่ที่จะออกแนวทางในการจัดการแบบโฉนดชุมชนได้ควรเป็นแบบไหน เสนอมาได้ทางอธิบดีของแต่ละกรม และเสนอมายัง สคทช. ด้วย 

“ทางเราก็จะสรุปข้อมูลจากการลงพื้นที่วันนี้ว่ามีข้อมูลอะไร ปัญหาอะไรบ้าง ในส่วนของปัญหาข้อจำกัดทางกฎหมายนโยบาย อาจจะรบกวนศึกษาให้ละเอียดว่าส่งผลกระทบอะไร ผมจะส่งเรื่องต่อไปยังคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย แล้วส่งเข้า คทช. และคณะรัฐมนตรี เพื่อปรับปรุงต่อไป” รอง ผอ. สคทช. ย้ำ 

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง