27/07/2022
กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ : การปะทะของความทรงจำระหว่างประวัติศาสตร์ชาติและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
การรับรู้เรื่องกบฏเงี้ยวในโครงเรื่องวีรบุรุษผู้ปกป้องเมืองจากเงี้ยว เป็นวีรบุรุษผู้มีสำนึกรักชาติบ้านเมืองเมือง ในแบบประวัติศาสตร์ชาติแบบมหาบุรุษ ได้รับรู้ผ่านแบบเรียนจากส่วนกลางในระดับประถมศึกษา ในรายวิชาสร้างเสริมประสบการชีวิต ที่สอนเรื่องประวัติศาสตร์ เหตุการณ์กบฏเงี้ยวถูกบรรจุในรายวิชาเหล่านี้ และในระดับมัธยม เช่น วิชา ส 303, ส304 และวิชาท้องถิ่นของเราที่ถือว่าพระยาไชยบูรณ์เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของจังหวัดแพร่ ในหลักสูตรท้องถิ่นจะมีการสอนเรื่องเหตุการณ์กบฏเงี้ยว และโครงเรื่อง พระยาไชยบูรณ์ วีรบุรุษผู้รักษาเมืองแพร่ไว้ไม่ให้ตกเป็นของเงี้ยว ไม่เช่นนั้นเมืองแพร่ก็จะตกไปเป็นของเงี้ยว ฉะนั้น พระยาไชยาบูรณ์ เป็นวีรบุรุษตามการรับรู้กระแสหลัก เนื้อหาในส่วนนี้จะพบอยู่ทั่วไปในแบบเรียน เป็นมุมมองในแบบประวัติศาสตร์กระแสหลัก ที่ประเทศไทยต้องเป็นหนึ่งเดียวใครจะมาแบ่งแยกมิได้ ผู้ใดเสียสละชีวิตเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ผู้นั้นควรได้รับการสดุดี ดังปรากฏในงานเช่น ท้องถิ่นของเรา 1,2 ของพัชราภรณ์ พันธุรัตน์ หรือเมืองแพร่บ้านเรา ของชูขวัญ ถุงเงิน และคณะ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการรับรู้ในโครงเรื่องที่คนในเมืองแพร่สร้างในฐานะ “เจ้าหลวงผู้อาภัพ” “เจ้าหลวงผู้เสียสละ” “เจ้าหลวงวีรบุรุษ” ได้รับการรับรู้ในคนกลุ่มนี้อย่างกว้างขวาง เพราะมีการตีพิมพ์หนังสือในท้องถิ่นที่สร้างการรับรู้ใหม่นี้อย่างกว้างขวาง เช่น สาวความเรื่องเมืองแพร่, ศึกษาเมืองแพร่, อนุสรณ์เจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายผู้ครองเมืองแพร่, เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์บิดาแห่งพิริยาลัย, และ ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าไข่มุก วงค์บุรีประชาศรัยสรเดช ณ ฌาปนสถานประตูมาร เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้มีการสร้างอนุสาวรีย์เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ไว้หน้าจวนผู้ว่าราชการ และในโรงเรียนพิริยาลัย รวมถึงการสถาปนาให้เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์เป็นบิดาแห่งพิริยาลัย โดยโรงเรียนพิริยาลัยมีชื่อเดิมว่าโรงเรียนเทพวงษ์ตั้งขึ้นในราว พ.ศ. 2443-2444 แล้วมีการเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนพิริยาลัยใน พ.ศ. 2457 โดยได้รับพระราชทานชื่อโรงเรียนจากรัชกาลที่ 6 พิริยาลัยมีที่มาจากชื่อเจ้าหลวงเมืองแพร่ผู้ก่อตั้งโรงเรียน และเป็นเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่ที่ก่อการกบฏ แต่ในสมัยรัชกาลที่ 6 ความกังวลในเรื่องกบฏแบ่งแยกดินแดนไม่เป็นปัญหาในรัชสมัยของพระองค์ แต่ปัญหาใหญ่ในรัชสมัยของพระองค์ กบฏในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช่นหลังจากขึ้นครองราชย์(ปี พ.ศ. 2453)ได้ไม่นานเกิดกบฏ ร.ศ. 130 (พ.ศ.2454) รวมถึงความขัดแย้งในระหว่างพระองค์และกลุ่มเจ้านายต่างหากที่เป็นปัญหาใหญ่ การเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเทพวงษ์เป็นโรงเรียนพิริยาลัยจึงไม่เป็นปัญหาในช่วงรัชกาลของพระองค์ ชื่อ “พิริยาลัย” จึงเป็นการตอกย้ำและสร้างความหมายใหม่ต่อเหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่เพื่อลดทอนความบาดหมางระหว่างคนเมืองแพร่กับส่วนกลาง โครงเรื่องทำนองนี้กำลังถูกสร้างให้อยู่ในการรับรู้ของคนในช่วงอายุ 15-40 ปี เพราะเป็นวัยที่กำลังเรียนอยู่ในระบบและมีการบรรจุในแบบเรียนในหลักสูตรท้องถิ่นที่รับเอาโครงเรื่องข้างต้นมาบรรจุไว้ในแบบเรียน การรับรู้แบบนี้จึงมีโอกาสที่จะเป็นชุดการรับรู้หลักในอนาคต
กบฏเงี้ยวผ่านทางระบบการศึกษาหรือแบบเรียนเป็นส่วนใหญ่ทำให้มุมมองอยู่ในระบบการศึกษาหรือแบบเรียนเข้ามาครอบงำโลกทัศน์ของคนกลุ่มนี้เป็นด้านหลัก ทำให้มุมมองของคนกลุ่มนี้ในเรื่องกบฏ เงี้ยวอย่างที่มองในแบบเรียน คือ เงี้ยวเป็นกบฏ เจ้าหลวงเป็นกบฏ และพระยาไชยบูรณ์วีรบุรุษเมืองแพร่ ดังกล่าวว่า
“…พระยาไชยบูรณ์ คือวีรบุรุษ ผู้รักษาเมืองแพร่ไว้…ถ้าไม่มีพระยาไชยบูรณ์ก็ไม่มีเมืองแพร่” หรือ “…เงี้ยวมาปล้นเมืองแพร่แล้วฆ่าพระยาไชยบูรณ์ตาย…เพราะพระยาไชยบูรณ์ไม่ยอมยกเมืองให้พวกเงี้ยว…”
แต่คนอีกกลุ่มในท้องถิ่นก็ให้ความหมายหมายต่อเหตุการณ์กบฏที่แตกต่างออกไป โดยคนในช่วงอายุระหว่าง 41-60 ปี คนในกลุ่มนี้มีกระบวนการรับรู้เรื่องกบฏเงี้ยวผ่าน 2 ทาง คือ ทางการศึกษา หรือแบบเรียน และการบอกเล่าของคนในอดีต ทำให้คนในกลุ่มนี้มีความหลากหลายทางความคิด อาทิ รับรู้ว่าเจ้าหลวงไม่ได้กบฏโดยมองว่ารัฐไทยเข้ามากดขี่ขูดรีดแล้วทำให้เกิดการลุกขึ้นต่อต้าน รับรู้ว่าพระยายาไชยบูรณ์ คือ วีรบุรุษ เงี้ยวและเจ้าหลวงก่อการกบฏ และรับรู้ว่าเจ้าหลวงไม่ได้กบฏและพระยาไชยบูรณ์ เป็นวีรบุรุษผู้รักษาเมืองแพร่ไว้ โดยให้เหตุผลเพราะผลว่าเจ้าหลวงถูกปลดเพราะหนีราชการหรือไม่ทำราชการ มิใช่ถูกปลดเพราะข้อหากบฏ ดังตัวอย่างคำอธิบายของคนกลุ่มนี้
“…เข้าใจว่าพระยาไชยบูรณ์เข้าไปขอหื้อ(ให้)เพิ่น(ท่าน)ช่วย ถ่าย(มรท่าที)จะขู่เพิ่น(ท่าน)พ่อง(บ้าง)…คนเกย(เคย)มีอำนาจมาก่อนละ…ก่า(ก็)เลยบ่ปอ(ไม่พอ)ใจ” และ “…เจ้าหลวงเพิ่น(ท่าน)บ่จี่(ไม่ได้)ได้กบฏ…เขาใส่ร้ายเพิ่น(ท่าน)…”
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการรับรู้เรื่องเงี้ยว 2 ทางคือ จากหนังสือหรืองานที่ผลิตโดยกรอบคิดประวัติศาสตร์กระแสหลัก และเรื่องเล่าของชาวบ้าน เกิดโครงเรื่องที่หลากหลายและไม่ใช่มุมมองที่ถูกส่งมาจากภาครัฐหรือ แบบเรียนอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการผสมระหว่างเรื่องเล่ากับการรับรู้จากประวัติศาสตร์กระแสหลัก คนในกลุ่มนี้โดยส่วนใหญ่ จึงเห็นว่าเจ้าหลวงไม่ใช่กบฏ เรื่องเล่าจากในท้องถิ่นมีอิทธิพลอย่างมากต่อการรับรู้ของคนกลุ่มนี้ โดยเรื่องเล่าจะมีการเล่าต่อกันมาเป็นทอดๆ เช่น “เจ้าหลวงมิได้หลบหนีจากเมืองแต่เป็นการออกจากเมืองโดยกองเกียรติยศ” หรือ “คนเมือแพร่เป็นคนช่วยคนไทย(คนไทยภาคกลาง)จากการไล่ฆ่าของเงี้ยว” เป็นต้น การรับรู้ร่วมสมัยหรือการรับรู้ 2 ทาง เป็นรอยต่อของช่วงสมัย คนในกลุ่มนี้จึงยังไม่ถูกทำให้รับรู้ในแบบแบบเรียนอย่างสัมบูรณ์จากประวัติศาสตร์ชาติ เรื่องกบฏเงี้ยวผ่านทางเรื่องเล่าของคนรุ่นก่อน แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้ก็ยังมีบางส่วนที่รับรู้ผ่านตำรา และคนในกลุ่มนี้จะมีความทรงจำเรื่องกบฏเงี้ยวที่หลากหลาย ข้อมูลบางข้อมูลก็มิได้สะท้อนข้อเท็จจริงแต่เป็นความเชื่อของคนยุคนั้น ดังความที่ว่า
“…แม้วจะมาปล้นเมืองสมัยนั้นคนปา(พา)กันหนี…” หรือ “…เพิ่นว่าพม่ายกทัพมาตีเมืองแพร่ แล้วเมืองแพร่แตกสู้บ่ได้…พระยาเจ้าเมืองก็เลยเข้ากับพม่าเพิ่นเลยไล่หนี…”
จะเห็นว่ามีบางส่วนของคนกลุ่มนี้ที่รับรู้ข้อมูลที่แตกต่างออกไป เช่นจาก “เงี้ยว” เป็นพม่าบ้าง “แม้ว”(ม้ง)บ้าง แสดงว่าช่องทางการรับรู้แบบปากต่อปาก มีส่วนทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนได้ รวมถึงเหตุการณ์ที่ล่วงเลยมานานอาจทำให้เรื่องเล่าเกิดการคลาดเคลื่อน หรือจำเหตุการณ์บางตอนไม่ได้ จึงจำได้อย่างขาดตอนไม่ปะติดปะต่อ รวมถึงเหตุการณ์กบฏเงี้ยวเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ของคนเมืองแพร่ทำให้ไม่ค่อยมีการเล่าให้กันฟัง ป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องการจะลืม แต่อย่างไรก็ตามคนในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีความคิดในแนวเดียวกัน เวลาเล่าจะมีการระมัดระวังในเรื่องการเล่าที่กระทบตัวเจ้าหลวง บอกว่าเจ้าหลวงไม่ได้ก่อการกบฏ
เรื่องเล่าข้างต้นมีลักษณะที่เอากระแสชาตินิยมที่เน้นความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง และพระมหากษัตริย์ยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อชาติแม้แต่ชีวิต มาผสมกับสำนึกท้องถิ่นนิยมที่ต้องการปกป้องเเละเชิดชูความเป็นท้องถิ่นนำมาสู่เรื่องเล่าที่ทำให้ภาพของ “กบฏ” กลายเป็นผู้ “จงรักภักดี” และ “เสียสละเพื่อชาติ” และ “จากความโหดเหี้ยมที่ทางราชการเล่าถึงการฆ่าคนไทยภาคกลางทุกคน” มาเป็นผู้ปกป้องให้ความคุ้มครองกรณีของการเอาลูกและภรรยาของข้าราชการไทยมาไว้ที่บ้าน
อย่างไรก็ตามแนวคิดและเรื่องเล่านี้กำลังเป็นเรื่องทีกำลังแพร่หลายในเมืองแพร่ภายใต้กระแสท้องถิ่นชาตินิยมที่อธิบายการเกิดกบฏเงี้ยวในเมืองแพร่ เกิดจาก
1. เป็นการผสมกันระหว่างเรื่องเล่าและและการอ่านจากเอกสาร และสร้างแกนของเรื่องขึ้นมาอธิบาย การเล่าว่ามีการเอาผู้หญิงและเด็กซ่อนไว้บนหลังคาซึ่งมีการเล่าในเมืองแพร่อย่างแพร่หลายแต่ไม่รู้ว่าที่ไหน ไม่ใช่การรวบรวมมาซ่อนไว้ที่เดียวอย่างที่อ้างแต่ประการใด สรุปคือการสร้างเรื่องภายใต้กระแสท้องถิ่นชาตินิยม ต้องการสร้างและอธิบายความหมายใหม่แต่ก็ต้องการแอบอิงกับ “ชาติ” มิใช่ท้องถิ่นนิยมที่เน้นมวลชนแต่เป็นท้องถิ่นนิยมอิงประวัติศาสตร์ชาตินิยม
2. เป็นที่เข้าใจได้ที่ว่าประวัติศาสตร์เมืองแพร่ที่ถูกกดทับ และรับแอกของความเป็นกบฏมานานปีภายใต้กระแสประวัติศาสตร์ชาติ ที่ไม่เปิดโอกาสให้อธิบายในแนวทางอื่น เนื่องด้วยการอ้างความมั่นคงของรัฐ จนกระทั่งในระยะหลังภายใต้กระแสที่มีการเปิดโอกาสให้อธิบายเรื่องราวต่างๆ ได้มากขึ้น การลุกขึ้นมาอธิบายเพื่อปลดแอกคำอธิบายสิ่งที่ถูกกดทับมานานเพื่อสร้างความชอบธรรมโดยผสมเรื่องเล่า และเรื่องอ่านเข้าด้วยกันจึงได้รับการขานรับอย่างกว้างขวาง จนมีการนำไปใช้อ้างอิงต่อในงานหลายๆ ชิ้น
ท่ามกลางกระแสประวัติศาสตร์ชาตินิยมคนในกลุ่มต่าง ๆ ก็ยังวนเวียนอยู่ในกระแสของชาติที่ยังมีความคิดเรื่องชาติเป็นตัวนำ ในสถานการณ์ที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มองจากจุดยืนและผลประโยชน์ของคนในท้องถิ่นเองไม่สามารถสถาปนาตำแหน่งแห่งที่ จึงทำให้เกิดโครงเรื่องแบบ “ท้องถิ่นชาตินิยม” ปรากฏในการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างแพร่หลาย
แต่ในอีกแง่หนึ่งการอธิบายประวัติศาสตร์แบบท้องถิ่นนิยมก็กำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในเมืองแพร่ ประวัติศาสตร์กระแสนี้จะมองปัจจัยบริบทจากท้องถิ่น จนถึงขั้นชื่นชมและหลงใหลในท้องถิ่น ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์ปัจจุบัน ดังปรากฏในทุกกลุ่มของจังหวัดแพร่ ที่ถูกกล่อมเกลาจากรัฐผ่านระบบการศึกษาสมัยใหม่ นำมาสู่การอธิบายเรื่องการเกิดกบฏเงี้ยวจากกลุ่มตัวอย่างว่า
“…เป็นการวางแผนของ ร.5 …ย้อนว่าเมาเจ้าบัวไหล (ชายาเจ้าหลวงพิริยฯ) เลยต้องเอาเจ้าหลวงลง…”
อธิบายสาเหตุว่าเกิดจากการที่ ร.5 ชอบเจ้าบัวไหลที่เป็นชายาของเจ้าหลวงเมืองแพร่ จึงโกรธและวางแผนให้เจ้าหลวงกลายเป็นกบฏ หรือ
“…เข้าใจว่าพระยาไชยบูรณ์ข่มขู่เจ้าหลวงเลยบ่ชอบ…” หรือ
มองว่าข้าราชการทางใต้ คือส่วนกลางมาข่มเหง เช่น เผาโรงฝิ่นแล้วป้ายความผิดให้เจ้าหลวง ซึ่งคนท้องถิ่นมองว่าอาจเกิดจากคนอื่นมิใช่เจ้าหลวงแต่มาบอกว่าเจ้าหลวงทำจึงทำให้เจ้าหลวงโกรธ หรือมองว่าเกิดจากการที่ทางราชการเข้ามาเกณฑ์ช้าง ม้า ตามไปช่วยรบ รวมถึงการเรียกเก็บเสบียงอาหารจากชาวบ้าน จึงสร้างความไม่พอใจให้เจ้าหลวงและชาวบ้านจนทำการต่อต้านและก่อกบฏ ดังความที่ชาวบ้านเล่ากันว่า
“…ทางการมาเกณฑ์เอาช้าง ม้า คนไปช่วยรบ …ช้างเมืองแพร่คนแพร่ว่าช้างหนีถึง 40 ตัว เลยลวดจับคนเมืองแพร่เป็นประกัน …เลยเป็นเรื่องเคียดของคนแพร่ตั้งแต่นั้นมา…ซ้ำว่าเมืองแพร่ก่อนหน้านั้นแล้วกั้นข้าวมา 2 ปี ยะได้ 3 ส่วนบ่ดี 2 ส่วน กินได้ 1ส่วนเลยบ่ม่วน…”
รวมถึงการกล่าวอ้างว่าเจ้าเมืองแพร่มิใช่กบฏแต่เกิดจากการต่อต้านการกดขี่จากส่วนกลางก็เลยก่อการต่อต้านเพื่อปลดแอกจากรัฐ “สยาม” หรืออธิบายว่าการก่อกบฏของเงี้ยวก็เนื่องจากการพังทลายความเป็นเงี้ยว ดังความที่ว่า
“…เจ้าหลวงเมืองแพร่เพิ่นบ่ได้กบฏ แต่เพิ่นต่อต้านอำนาจการกดดันเบียดขับของอำนาจภาคกลาง” และ “…เงี้ยวก่อกบฏเพราะมันถูกทำลายความเป็นเงี้ยว…”
กระแสท้องถิ่นนิยมนี้กำลังก่อตัวอย่างมากในจังหวัดแพร่กลายเป็นกระแสที่ทำให้เกิดการสร้างอนุสาวรีย์เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ขึ้นหลายแห่ง เช่น หน้าคุ้มเจ้าหลวงเดิมหรือจวนผู้ว่าในปัจจุบัน โรงเรียนพิริยาลัย เป็นต้น รวมถึงการออกมาอธิบายใหม่เรื่องการกบฏของเจ้าหลวงและคนกลุ่มต่างๆ และนำออกเผยแพร่ในรูปของตำราและหนังสือที่ระลึกในงานฉลองสมโภชหรืองานศพ ของบุคคลต่าง ๆ
ความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ที่ไม่ลงรอยของคนกลุ่มต่าง ๆ ภายใต้กรอบคิดที่หลากหลายทั้งคนใน คนนอก คนท้องถิ่น นำมาสู่คำอธิบายที่หลากหลายเพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของคนกลุ่มต่างๆ ในเมืองแพร่ ประวัติศาสตร์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่จึงมีสถานะที่เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ลงตัว แต่อย่างไรก็ดีก็เป็นการตอบโจทย์ของคนปัจจุบันภายใต้ประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ยุติ ประวัติศาสตร์ในห้วงเวลานี้จึงมีชีวิตและน่าสนใจ โดยการอธิบายอาจอยู่ภายใต้เงื่อนไขของประวัติศาสตร์ชาตินิยม คือ การเสียสละและยินยอมเพื่อบ้านเมือง เพื่อพระมหากษัตริย์ ตัวบุคคลที่กล่าวถือว่าเป็นเชื้อสายของเจ้าหลวงจึงมีผลประโยชน์ในการเล่าครั้งนี้ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำของเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เรื่องเล่าในโครงเรื่อง “ท้องถิ่นชาตินิยม” นี้มาจากการผสมผสานโครงเรื่องต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยอาศัยเรื่องเล่าจากหนังสือประกอบ เรื่องเล่าในลักษณะนี้เกิดภายใต้บริบทของ “ความเป็นท้องถิ่นนิยม” แต่เนื่องด้วย “เรื่องเล่าจากท้องถิ่น” อย่างเดียวไม่สามารถสถาปนาการรับรู้ได้กว้างขวาง เนื่องจาก พลานุภาพของ “ประวัติศาสตร์กระแสหลัก” ยังคงมีอิทธิพลอย่างมากในสังคมไทย จึงทำให้ต้องมีการผลิตโครงเรื่องที่ประสานระหว่าง “ชาติ”และ “ท้องถิ่น” จึงจะสถาปนาโครงเรื่องนั้นๆ ได้ และสามารถจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของโครงเรื่อง ที่สร้างใหม่ได้ ต้องมี “ชาติ” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โครงเรื่องในมุมการรับรู้ของ “ท้องถิ่น” อย่างเดียวไม่มีพลานุภาพในการสร้างการรับรู้ และจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของประวัติศาสตร์ช่วงกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ได้ หรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในปัจจุบันจึงต้องอิงแอบกับ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย”
เขียนและเรียบเรียง : ชัยพงษ์ สำเนียง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
บทความนี้เป็นการปรับมาจากหนังสือ ชัยพงษ์ สำเนียง. กบฏเงี้ยว การเมืองของความทรงจำ ประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวของ “คนล้านนา”. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน), 2564. และบทความพิริยวงศ์อวตาร: ‘วีรบุรุษ’ ‘กบฏ’ การประดิษฐ์สร้างตัวตนใหม่ทางประวัติศาสตร์. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 34 ฉบับที่ 9 (ก.ค. 2556) หน้า 114-129 ข้อผิดพลาดของงานชิ้นนี้ย่อมเป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว
#กบฏเงี้ยว
#Lanner