26/07/2022
กบฏเงี้ยวเมืองแพร่มายาภาพประวัติศาสตร์ชาติและความทรงจำของคนในท้องถิ่น
‘กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ พ.ศ.2445’ เป็นเรื่องหนึ่งที่มีการ “สร้างใหม่” มากที่สุดเรื่องหนึ่ง เพราะการสร้างคำอธิบายใหม่จะช่วยให้มีการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ (position) ของคนในเมืองแพร่ และ ‘ประวัติศาสตร์เมืองแพร่’ ใน ‘ประวัติศาสตร์ชาติไทย’ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากแก่การอธิบายในอดีตแต่ด้วยเงื่อนไขของบริบท และการคลี่คลาย ขยายตัวของประวัติศาสตร์ที่ก่อตัวขึ้นอย่างกว้างขวางในช่วง 3 ทศวรรษก่อนหน้านี้ (ทศวรรษ 2520) ‘การสร้างคำอธิบายต่ออดีตใหม่’ ที่เกิดขึ้นในเมืองแพร่ภายใต้ประวัติศาสตร์บาดแผลที่ต้องการ ‘ลบทิ้ง’ ‘สร้างใหม่’ และเรื่องที่ยากแก่การอธิบาย คือ ความร่วมมือของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ที่ได้เข้าร่วมการกบฏ ถือว่าเป็น “ตรา” ที่ยากจะลบทิ้ง จะปฏิเสธว่าไม่ได้เข้าร่วม หรือ ฯลฯ ก็ยากที่จะอธิบาย วิธีการที่ดีที่สุดในการ ‘สร้างใหม่’ คือ เชื่อมการกระทำกับ “ชาติ”
นอกจากนี้เรื่องเล่ายังแสดงถึงโลกทัศน์ อัตวิสัย และบริบทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเล่า โดยฐานะที่เป็นเชื้อสายเจ้านายเดิม และได้รับรู้จากมารดาผู้มีส่วนในการมีส่วนร่วมในเหตุการณ์นั้น ทำให้เรื่องกบฏเงี้ยว และส่งผลต่อการรับรู้เรื่องกบฏเงี้ยว เมืองแพร่ต่อไปในอนาคต และมีการนำไปเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ละเลยการวิพากษ์หลักฐาน ขาดการมองแบบวิพากษ์วิธีเชิงประวัติศาสตร์ ท่ามกลางกระแสประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยม
การสร้างการรับรู้ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ช่วงเกิด “กบฏเงี้ยวเมืองแพร่” ที่ถือว่าเป็น “ตราประทับ” ทางประวัติศาสตร์ จึงมีการสร้างชุดคำอธิบายใหม่ๆต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้อย่างหลากหลาย ภายใต้กรอบคิดประวัติศาสตร์ “ท้องถิ่นนิยม” “ชาตินิยม” “ท้องถิ่นชาตินิยม” เพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่ความเป็น “กบฏ” “ข้าผู้ภักดี” “ผู้ตกกระไดพลอยโจน” หรือ “ผู้ถูกกระทำ” ทำให้ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ในช่วงเวลานี้ มีการสร้าง และการรับรู้ที่หลากหลาย ภายใต้บริบทของการสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำ
“กบฎเงี้ยว” พ.ศ. 2445 ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของการรับรู้ประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่ ในฐานะเมืองที่ก่อกบฏต่อต้านอำนาจรัฐที่พยายามรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ทำให้งานของท้องถิ่นทุกชิ้นมักอธิบายและเล่าเหตุการณ์ในครั้งนั้น งานในช่วงทศวรรษที่ 2520-2530 การอธิบายการเกิดกบฏเงี้ยวล้วนอธิบายไปในแนวทางเดียวกัน เป็นการอธิบายในมุมมองของราชการ(ชาตินิยม)ว่าเกิดการสมคบกันระหว่างเจ้าหลวงกับเงี้ยว ดังความว่า
“…เจ้าแพร่พูดว่า เมืองแพร่ต่อไปจะไม่เป็นของไทยนานเท่าใด จะต้องเป็นเมืองของพวกเงี้ยว…เจ้าแพร่คิดจะให้พกาหม่องและสลาโปไชย เข้ามาตีปล้นเมืองแพร่ พวกเงี้ยวจะได้จับพวกคนไทยฆ่า…” หรือ
“…เงี้ยวสามารถยึดเมืองแพร่ได้แล้วก็เชิญเจ้าพิริยเทพวงศ์ฯ … มาทำหนังสือและถือน้ำสัตย์สาบานเป็นพวกเดียวกัน จะต่อต้านกองทัพรัฐบาลด้วยกัน แล้วเชิญเจ้าพิริยะเทพวงศ์ขึ้นเป็นเจ้าหลวงผู้ปกครองเมืองแพร่ …”
ข้อเท็จจริงกรณีนี้จะเป็นอย่างไรก็ตามก็ยากที่จะปฏิเสธได้ว่า เจ้าหลวงเมืองแพร่ไม่มีส่วนต่อการก่อกบฏเงี้ยวครั้งนี้ แต่น่าสังเกตว่างานทุกชิ้นอ้างอิงเอกสารของทางราชการเป็นหลัก โดยไม่ตรงกับข้อมูล หรือเรื่องเล่าของท้องถิ่น
นอกจากอธิบายการมีส่วนของเจ้าหลวงเมืองแพร่ตามเอกสารหรือจากมุมมองของสยามแล้ว งานท้องถิ่นทั้งหมดยังเสนอภาพความโกลาหลของการเกิดกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ เฉพาะเมืองแพร่เท่านั้น โดยไม่อธิบายการลุกขึ้นสู้ของเงี้ยวในเมืองอื่นๆ ซึ่งจากข้อเท็จจริงแล้วการกบฏครั้งนี้เกิดขึ้นกว้างขวางมากนอกอาณาบริเวณของเมืองแพร่ ทั้งใน เมืองลำปาง เมืองพะเยา และเมืองเชียงราย รวมถึงบริบทภายในเมืองแพร่ก่อนหน้าการเกิดกบฏเงี้ยวที่เกิดฝนแล้ง อดยาก และการถูกเรียกเก็บส่วยที่ถือว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดการกบฏ รวมถึงการสั่งสมทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมก็ถูกละเลยจากการศึกษาจากงานในท้องถิ่น
งานท้องถิ่นจึงเป็นแต่ “การผลิตซ้ำ” ประวัติศาสตร์ที่รัฐสร้างขึ้น เพื่อจำกัดการรับรู้กบฏครั้งนี้ให้เห็นว่ามิใช่กบฏที่ใหญ่โตหรือมีคนเข้าร่วมมากมายหลายเมือง เกิดเฉพาะแต่เมืองแพร่ เนื่องจากความกระหายอำนาจของเจ้าเมืองแพร่และเงี้ยวเท่านั้น ดังความว่า “…ราษฎรเมืองแพร่ตื่นตกใจกันมาก บางส่วนอพยพไปอยู่นอกเมือง…” หรือ “…พกาหม่องและสลาโปไชย ได้นำกองโจรเงี้ยวจำนวน 40-50 คน บุกเข้าเมืองแพร่ทางด้านประตูชัย จู่โจมสถานีตำรวจภูธรเป็นแห่งแรก …และไม่มีการต่อต้านจากเจ้าหลวง…มีแต่พระยาไชยบูรณ์(ข้าหลวงจากกรุงเทพฯ:ผู้เขียน)เท่านั้นที่ต่อต้านและถูกประหารโดยเงี้ยว…พระยาไชยบูรณ์จึงเป็นวีรบุรุษเมืองแพร่”
ส่วนงานของจังหวัดแพร่ที่ตั้งคณะกรรมการจัดทำในชื่อเรื่องประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดแพร่ เสนอสาเหตุการเกิดกบฏครั้งนี้ 2 ประการ คือ
“ประการแรก เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในเมืองแพร่ นับตั้งแต่ช่วงจัดการปกครองแบบเทศาภิบาล… รัฐบาลยุบเลิกฐานะเมืองประเทศราชและรวมอำนาจสู่ส่วนกลาง… เจ้าเมืองมีแต่เกียรติยศ ไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง…ด้านเศรษฐกิจก็ถูกตัดทอนผลประโยชน์ลงสร้างความไม่พอใจแก่เจ้าเมืองและเจ้านาย บุตรหลานทั้งหลาย
ประการที่สอง เนื่องจากเมืองและราษฎรพื้นเมืองให้การสนับสนุนกองโจรเงี้ยว …”
สาเหตุการเกิดกบฏเงี้ยวทั้ง 2 ประการของจังหวัดแพร่ เหมือนกับข้อเสนอของ เลิศล้วน วัฒนนิธิกุล ในประวัติศาสตร์เมืองแพร่ 800 ปี หน้า 25-27 ทุกประการ จากการเสนอสาเหตุหรือปัจจัยของการเกิดกบฏเงี้ยวข้างต้น จะเห็นว่ามี 2 ปัจจัยใหญ่ ด้านการเมืองที่เจ้าหลวงถูกลิดรอนอำนาจ และสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจประการหนึ่ง และความไม่พอใจของเงี้ยวและคนเมืองต่อข้าราชการคนไทยอีกประการหนึ่ง ทั้ง 2 สาเหตุไม่ต่างจากการเสนอของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีมหาดไทยสมัยนั้น
การสร้างคำอธิบายข้างต้นทำให้เห็นถึงอิทธิพลของราชการที่สามารถกำหนดการรับรู้ของคนท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่นไม่สามารถให้ความหมายที่แตกต่าง รวมถึงความไม่สนใจของคนท้องถิ่นในการอธิบายเหตุการณ์นี้ด้วยมุมมองของท้องถิ่นเอง แสดงให้เห็นถึงการกล่อมเกลาของรัฐผ่านช่องทางต่างๆ ที่ได้ผลต่อการรับรู้เหตุการณ์และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภายใต้อุดมการณ์ “ชาตินิยม” ที่เป็นการอธิบายประวัติศาสตร์กระแสหลักในช่วงทศวรรษที่ 2520-2530 ยังทรงพลังและสามารถกำหนดทิศทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้
นอกจากนี้โดยภูมิหลังของผู้ผลิตงานเหล่านี้จะพบว่าเป็นผู้ที่ผ่านการศึกษาจากรัฐหรือไม่ก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือข้าราชการ เช่น เสรี ชมภูมิ่ง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด วรพร บำบัด สิริกร ไชยมา และชูขวัญ ถุงเงิน เป็นข้าราชการครู เป็นต้น ทำให้มุมมองของผู้ผลิตงานในช่วงนี้มองผ่านสายตาของ “รัฐ” เป็นหลัก กอปรกับช่วงนี้กระแสประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยมที่แท้จริงยังคงเป็นกระแสประวัติศาสตร์ที่มีผู้รับรู้น้อยมากในเมืองแพร่ จะมาแพร่หลายภายหลังทศวรรษที่ 2540 ที่มีการผลิตสร้างโครงเรื่องของเหตุการณ์ในครั้งนี้อย่างแพร่หลาย
งานในท้องถิ่นนอกจากเสนอเหตุการณ์และสาเหตุของการเกิดกบฏเงี้ยวแล้ว เรื่องหนึ่งที่คนในท้องถิ่นเสนอ “การหนี” หรือ “การปลด” เจ้าหลวงเมืองแพร่ ขณะนั้นคือ เจ้าพิริยะเทพวงศ์ออกจากตำแหน่ง โดยมีการเสนอออกเป็น 2 แนวคิดใหญ่ คือ 1. ถูกปลดและหลบหนีออกจากเมืองไป 2. เสนอว่าออกไปโดยความยินยอมพร้อมใจของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี แม่ทัพใหญ่ และมีกองเกียรติยศส่งออกนอกเมือง
งานในกลุ่มแรกจะอยู่ในรูปของการจัดทำโดยจังหวัด เช่น ประวัติโจรเงี้ยวปล้นจังหวัดแพร่ หรือ ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค ก็จะให้ภาพการหนีของเจ้าหลวงในกรณีแรก เช่น
“ต่อมาทางราชการได้พิจารณาเห็นว่า เจ้าพิริยะเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ ได้ละทิ้งหน้าที่ราชการ ประกอบทั้งเป็นเวลาที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในระหว่างเกิดการจราจลด้วย จึงได้ให้พวกญาติติดต่อให้เจ้าพิริยะเทพวงศ์กลับมาเสีย เป็นเวลาหลายวันก็ไม่กลับมา จึงได้ประกาศถอดเจ้าพิริยะเทพวงษ์ จากตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครแพร่ลงเป็นไพร่ คือ ให้เป็น “น้อยเทพวงษ์” ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน ร.ศ. 121…”
จะเห็นว่างานในจังหวัดแพร่ที่ผลิตโดยราชการจะมีมุมมองเรื่องกบฏเงี้ยวอีกอย่างหนึ่ง ทำผิดระเบียบต่อราชการเจ้าหลวงจึงถูกปลด แต่ถ้าเป็นงานของท้องถิ่นจะมีกลิ่นอายของเรื่องเล่าเจือปน เช่นงานของ เลิศล้วน วัฒนนิธิกุล เรื่อง ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ 800 ปี หรืองานของ เสรี ชมภูมิ่ง เรื่องเจ้าพิริยะเทพวงษ์ ผู้นิราศเมืองแพร่ท่ามกลางกองเกียรติยศ ในเมือง แป้ปื้น แห่งเมืองโก๋ศัย ความว่า
“…เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีใช้วิธีปล่อยข่าวให้เจ้าเมืองแพร่รู้ว่าจะมีการจับตัวเจ้าเมืองแพร่และเจ้าราชบุตร ข่าวลือนี้ได้ผลเพราะตอนดึกคืนนั้น เจ้าเมืองแพร่พร้อมด้วยคนสนิทอีก 2 คน ก็ลอบหนีออกจากเมืองแพร่ทันที… การหลบหนีของเจ้าเมืองแพร่ในคืนนั้น ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี โดยมีคำสั่งลับมิให้กองทหารที่ตั้งอยู่รอบเมืองแพร่ขัดขวาง จึงทำให้เจ้าเมืองแพร่หลบหนีออกไปได้โดยสะดวก…” หรือ
“…ท่านแม่ทัพคือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจะเชือดไก่ให้ลิงดู คือ จับพวกสมรู้ร่วมคิดกับพวกเงี้ยวไปยิงเป้า เพื่อจะให้เจ้าหลวงกลัว จะได้หาทางหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรไป แต่จนแล้วจนรอดเจ้าหลวงก็ไม่กลัวไม่ยอมหนีถึงต้องใช้วิธีเชิญออกจากเมืองโดยกองเกียรติยศ”
“เหตุการณ์ก่อการจลาจลในเมืองแพร่ข้อเท็จจริงจะมีประการใด ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด โดยเฉพาะเกี่ยวกับเจ้าพิริยะเทพวงศ์อุดรฯ…ไม่มีกล่าวถึงในตอนนี้เลยผู้อ่านอาจเข้าใจได้หลายกรณี และอาจเป็นผลเสียหายก็ได้ จึงขอกล่าวตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังพอจะจำเหตุการณ์ได้…ได้ความว่า เมื่อเจ้าพิริยะเทพวงศ์อุดรฯทราบว่า ทางกรุงเทพฯ ยกกองทัพมาปราบ เจ้าผู้ครองนครก็ยังคงพำนักอยู่ในคุ้ม…ส่วนพลโทเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี แม่ทัพใหญ่ ก็มิอาจพิจารณาปรับโทษลงไปได้ว่าเป็นความผิดเจ้าผู้ครองนคร เพราะเจ้าผู้ครองนครไม่ทราบแผนการของพวกเงี้ยวมาก่อน…เจ้าพิริยะเทพวงศ์อุดรฯมิได้เป็นผู้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยเลย
…ภายหลังจากการปราบจลาจลสงบลงแล้ว ท่านยังคงพำนักอยู่ในคุ้มหลวงของท่านตามปกติเป็นเวลานานถึง 3 เดือนเศษ…เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีก็มิอาจจับตัวเจ้าผู้ครองนครโดยปราศจากเหตุผลอันควรได้…ทางกองทัพที่ยกมาปราบ จะให้เจ้าผู้ครองนครรับผิดชอบ ทั้งยังส่งคนไปติดต่อแนะนำให้เจ้าผู้ครองนครหนีออกจากเมืองแพร่ไปเสีย…เมื่อเจ้าผู้ครองนครแพร่ได้รับความกระทบกระเทือนเช่นนี้จึงได้ตัดสินใจหนีออกจากเมืองแพร่ไป
การที่เจ้าพิริยะเทพวงศ์อุดรฯหนีไปคราวนี้ กล่าวกันว่าเพราะความเกรงกลัวพระราชอาญา แต่ยังมีหลายท่านกล่าวว่า ท่านมิได้หนีเพราะความเกรงกลัวพระราชอาญาเลย เพราะท่านถือว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ มิได้คิดคดทรยศต่อแผ่นดิน…เหตุที่ท่านตัดสินใจหนีไปนั้นก็เพื่อตัดปัญหาความกดดันในขณะนั้น และเพื่อจะให้เหตุการณ์ในเมืองแพร่สงบราบรื่นโดยเร็ว เพื่อมิให้ไพร่ฟ้าประชาชนชาวแพร่ต้องพลอยรับความเดือดร้อน”
แม้งานในช่วงเวลานี้จะผลิตภายใต้กรอบคิดแบบ “ประวัติศาสตร์ชาตินิยม” แต่ความเป็นท้องถิ่น หรือความสำนึกในบ้านเกิดเมืองนอนผสมอยู่ รวมถึงการคลี่คลายของกระแสประวัติศาสตร์ชาติที่เปิดช่องให้มีการศึกษาท้องถิ่นมากขึ้นภายหลังทศวรรษที่ 2520 จึงทำให้มีพื้นที่แก่ “เรื่องเล่า” และ “ความทรงจำ” ของคนในท้องถิ่นเข้าไปปะปนในการอธิบายเกี่ยวกับการเกิดกบฏเงี้ยว เราจะเห็นความไม่ลงรอยระหว่างประวัติศาสตร์ชาติที่ผลิตสร้างโดย “ข้าราชการ”และ “ชาวบ้าน” “ที่มีเรื่องเล่าและความทรงจำอีกชุดหนึ่ง” อาจจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่เราจะเห็นความเชื่อของชาวบ้านที่มีเรื่องเล่านัยหนึ่งเพื่อสร้างหรือรักษาภาพลักษณ์ของเจ้าหลวงว่าได้รับเกียรติจวบจนวาระสุดท้ายก่อนออกจากเมืองแพร่ คือ ออกไปโดยทหารเกียรติยศ หรือได้รับการสนับสนุนจากเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีแม่ทัพใหญ่ขณะนั้น หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการตอบโต้วาทกรรมฝ่ายรัฐที่มองว่าเป็น “กบฏ” แต่ชาวบ้านถือว่าเจ้าหลวงเมืองแพร่เป็น “ผู้บริสุทธิ์”
การปรากฏขึ้นของ “เรื่องเล่า”และ “ความทรงจำ” ของคนท้องถิ่น ในโครงเรื่องกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ นำไปสู่การให้ความหมาย และการจัดวาง “ตำแหน่งแห่งที่” ของโครงเรื่องกบฏเงี้ยวเมืองแพร่แบบต่างๆ ในทศวรรษ 2540 เรื่องเหล่าเหล่านี้เป็นหน่ออ่อนของความคิดท้องถิ่นนิยมที่มีอิทธิพลต่อการผลิตสร้างประวัติศาสตร์เมืองแพร่ ช่วงเกิดกบฏเงี้ยวอย่างกว้างขวางและมีชีวิตชีวาในทศวรรษหลังต่อมา
เขียนและเรียบเรียง : ชัยพงษ์ สำเนียง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
บทความนี้เป็นการปรับมาจากหนังสือ ชัยพงษ์ สำเนียง. กบฏเงี้ยว การเมืองของความทรงจำ ประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวของ “คนล้านนา”. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน), 2564. และบทความพิริยวงศ์อวตาร: ‘วีรบุรุษ’ ‘กบฏ’ การประดิษฐ์สร้างตัวตนใหม่ทางประวัติศาสตร์. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 34 ฉบับที่ 9 (ก.ค. 2556) หน้า 114-129 ข้อผิดพลาดของงานชิ้นนี้ย่อมเป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว
#กบฏเงี้ยว
#Lanner