เรื่อง: นันทัชพร ศรีจันทร์
ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย
“ท่าน” คำใช้เรียกบุคคลผู้ซึ่งประกอบอาชีพผู้พิพากษา คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ผู้เลือกเข้าเรียนนิติศาสตร์จำนวนไม่น้อยต่างมีความใฝ่ฝันไปถึงจุดนั้น อัยการ ตุลาการ ก็เฉกเช่นกัน
“ท่าน” ที่อยู่บนบัลลังก์ท่าทางขึงขังวาจาเปล่งปลั่ง
“ท่าน” ที่คำสั่งตัดสินผลิกผันชีวิตคน
“ท่าน” ที่สวัสดิการสูงส่ง ที่อยู่ หรูพรีเมี่ยม
“ท่าน” ผู้มีคำสั่งชาวบ้านตาดำ ๆ ให้ออกจากป่าที่บรรพบุรุษอยู่มา ชั่วอายุคน
“ท่าน” ผู้ที่มีบ้านพักอยู่ในเขตป่าที่เว้าแหว่ง
“ท่าน” ที่สั่งถอนประกันผู้เยาว์เพราะเขาชุมนุมทางการเมือง
“ท่าน” ทั้งหลายผู้นั้น เมื่อใดท่านจะเป็นศาลที่ควรเคารพได้จริงเสียที – วาระสมมติ หมายเลข 02 ว่าด้วย The king and I ประโยคดังกล่าว ถูกอ้างถึงบ่อยเกินกว่าจะปฏิเสธ
ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศทั้งหลาย เริ่มตั้งคำถามต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย หรือวิกฤตศรัทธาของกฎหมายกำลังถูกบ่อนเซาะทำลายด้วยผู้ใช้กฎหมายเสียเอง
“ปัญหานั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมายหรือตัวของผู้ใช้ แต่แท้จริงแล้วนั้นปัญหาอยู่ที่ระบบ เพราะตัวของกฎหมายนั้นจะดีหรือไม่ดีก็ตาม สุดท้ายกฎหมายก็ยังมีการดำเนินไปตามระบบอยู่เสมอ” -ดร.ธงชัย วินิจจะกูล งานปาฐกถา “ทบทวน ถกเถียง ท้าทาย: นิติศาสตร์ในห้วงยามของความเปลี่ยนแปลง” ประชุมวิชาการนิติสังคมศาสตร์ระดับชาติ ครั้งที่ 3 วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566
ในขณะที่คณะนิติศาสตร์ในหลายมหาวิยาลัยทั่วประเทศยังคงพร่ำสอนตัวบท ประเภทและลำดับศักดิ์ของกฎหมาย นอกห้องเรียนกฎหมายก็ยังคงปรากฏให้เห็นกฎหมายในฐานะเครื่องมือของรัฐที่คอยควบคุมประชาชนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
284 เป็นตัวเลขของเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยรัฐ นับแต่การชุมนุม“เยาวชน ปลดแอก”เมื่อสองปีก่อน
1,895 เป็นตัวเลขของประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
3,785 เป็นตัวเลขของจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดีโดยไม่ตัดออก
เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนมกราคม 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 5 คน คดีเพิ่มขึ้น 11 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน)
สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาชื่อดัง ได้ต่อไปนี้
1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 233 คน ในจำนวน 253 คดี
2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 128 คน ในจำนวน 40 คดี
3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,467 คน ในจำนวน 663 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง
4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 132 คน ในจำนวน 77 คดี
5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 161 คน ในจำนวน 182 คดี
6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 27 คน ใน 8 คดี
จากจำนวนคดี 1,180 คดีดังกล่าว มีจำนวน 312 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 868 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่าง ๆ
ไม่เพียงแต่กฎหมายจะคอยกำกับประชาชน นักศึกษากฎหมายก็เผชิญกับการควบคุมนอกเหนือกฎหมายเช่นเดียวกัน โดยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 เวลา 15.45 น. ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัดได้เข้าสอบถามเจ้าหน้าที่คณะนิติศาสตร์ถึงการจัดกิจกรรมเล่นบอร์ดเกม Patani Colonial Territory เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์สยามและปาตานี ของกลุ่ม ‘นิติซ้าย’ ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมทั้งได้พยายามสอบถามถึงรายชื่อนักศึกษาผู้จัดกิจกรรมต่อเจ้าหน้าที่คณะ และสอบถามว่าในกลุ่มนิติซ้ายมีนักศึกษามาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ ทั้งได้เข้าไปบันทึกภาพผู้จัดกิจกรรมผ่านกล้องวงจรปิด
หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นกลุ่มนิติซ้าย ได้ประกาศยกเลิกการจัดกิจกรรม เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุและจุดประสงค์การเข้ามาสอบถามข้อมูลของเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอย่างแน่ชัด อีกทั้งเหตุการณ์ดังกล่าวยังได้สร้างความกังวลต่อเจ้าหน้าที่ภายในคณะนิติศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้ใช้สถานที่
นี่ถือเป็นความท้าทายซึ่งหน้าที่ทำให้เกิดคำถามหลายคำถาม ทั้งการตั้งข้อสงสัยว่าทำไมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้หรือปาตานีถึงถูกสกัดไม่ให้รู้ หรือคำถามที่ว่าทำไมเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบถึงกล้าเข้ามากำกับจนนำไปสู่การยกเลิกการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ได้ ความหนักอึ้งที่ไร้คำตอบที่ชัดเจนก็ยิ่งย้ำถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าตอนนี้ วินาทีนี้ กฎหมายคืออะไรกันแน่?
นิติซ้ายเป็นกลุ่มนักศึกษากฎหมายที่ตั้งคำถามระหว่างความเป็นธรรมกับความเป็นคน
วันที่ 6 มกราคม 2566 เวลา 15.00 น. ณ ห้องกาแฟเล็กคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เก้าอี้ถูกจัดเรียงเป็นแถวหน้ากระดาน 7 ตัว ฝาผนังด้านหลังถูกบิลท์อินเป็นชั้นประมวลกฎหมาย และกฎหมายพิเศษ สันสีแดงวางอยู่เต็มชั้น ตัวหนังสือสีทองสลักขอบประมวลฯ สะท้อนไฟสีเหลือง บรรยากาศดูเนิร์ด ขรึมขึ้นมาทันตาเห็น
สมาชิกของกลุ่ม’นิติซ้าย’ ได้แก่ แพร ลำพู แบงค์ แฟ้ม อาร์ท ปลื้ม และเดียร์ เหล่านักศึกษากฎหมาย ที่อยู่ต้องชั้นปีกันบ้าง บางคนก็สำเร็จการศึกษาไปแล้ว แต่ก็ยังวนเวียนอยู่ ด้วยความขี้เล่นปนความสนุกสนาน การสัมภาษณ์ในครั้งนี้จึงสลัดความเป็นทางการออกไป เพราะนี่ไม่ใช่บัลลังก์ศาล หรือห้องพิจารณาคดี
“เอาละนะ 3 2 1 อ่ะ ไม่ต้องเกร็ง จะสัมภาษณ์พร้อมกันทุกคนเลยนะ สบาย ๆ เหมือนวงคุยปกติเลย”
เริ่มจาก “ทำไมต้องนิติซ้าย” สีหน้ากระวนกระวายใจของนักศึกษากฎหมายทั้ง 7 ส่งผ่านมายังเส้นเสียง และแววตา แม้จะเงียบอยู่นาน แต่แล้วความเงียบถูกทำลายด้วยคำตอบ และเสียงหัวเราะจาก ลำพู เจ้าของเสียงใสที่ตอบว่า
“จริง ๆ มันมาจากบ้านแม่คองซ้าย ที่อำเภอเชียงดาวแหล่ะ พวกเราจะไปจัดค่ายกันที่แม่คองซ้าย”
“จริง” เดียร์เสริม
“เรื่องชื่ออีกแล้วเหรอ” แฟ้มเพิ่มเติม
“เออ อีกแล้วเหรอ” แบงค์กล่าว
“ผมไม่ค่อยชอบชื่อนี้เท่าไหร่” อาร์ท (ยิ้ม)
“ไม่เคยลงรอยกันเลยนะ” เดียร์คิด
“ซ้ายของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันอีก” ลำพูสนับสนุน
“พวกเรา คือกลุ่มนักศึกษากฎหมายที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับป้ายหน้าคณะที่เขียนว่า นิติศาสตร์เพื่อสังคม ว่ามันเพื่อสังคมยังไง เพราะหลักสูตรการเรียนผ่านประมวลกฎหมายมันแข็งตัวมาก ซึ่งสังคมมันมีหลายเฉดโคตร ทั้งเศรษฐศาสตร์ การเมือง ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ บริหาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้อธิบายความเป็นสังคมได้ไม่ใช่แค่กฎหมาย รวมถึงการตั้งคำถามกับกฎหมายด้วย” เดียร์กล่าว
“อือ เห็นสโลแกนหน้าคณะว่า นิติศาสตร์เพื่อสังคม ก็เลยตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรียนกฎหมายเพื่ออะไร เพื่อให้อยู่ในระบบตามกรอบที่เป็น หรือเพื่อสังคมแบบไหน เพราะบริบทสังคมก็ต่างกัน เราก็เลยไม่อยากมองตายตัวว่าสังคมที่มันดีเนี่ย คือมันดีแบบไหน ของแต่ละคนมันต่างกัน เลยไม่อยากโฟกัสกับคำว่าสังคมมากเท่าไหร่ เลยโฟกัสกับสิ่งที่เราทำเพื่อมันว่าเพื่ออะไรกันแน่ อย่างการเลือกไปฝึกงานภาคประชาสังคม คืออยากสัมผัสความเป็นคน ข้อเท็จจริงที่เขาประสบปัญหา
ความเป็นคนของเราคือความธรรมดาที่เขามีสิทธิ เสรีภาพในการใช้ชีวิตประจำวันนี่แหล่ะ แต่มันไม่ได้ราบรื่น อย่างเช่น คนที่อยู่ในป่า จะถูกมองว่าเป็นคนบุกรุก แต่วิถีชีวิตของเขาผูกพันกับผืนป่า
เรามองว่ากฎหมายเป็นเพียงกติกาของสังคม เราจะใช้กฎหมายช่วยเหลือคนยังไงในฐานะนักศึกษากฎหมายคนหนึ่ง เหมือนมองในมุมอนาคตเหมือนกันนะการช่วยเหลือสังคมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งมันอาจจะเป็นการดีนะที่คณะไม่นิยามคำว่ากฎหมายเพื่อสังคม” แบงค์
“ถ้าดูป้ายหน้าคณะดี ๆ คือฟอนต์มันไม่เหมือนกันซักตัวเลยนะ ถ้ามองอาจารย์แต่ละคนลึกเข้าไปก็จะเห็นรูปแบบการสอนของแต่ละคน ทั้งรูปแบบการเขียน แต่สิ่งที่ถูกบังคับใช้ รวมถึงกระบวนการใช้กฎหมายในสังคมมันบิดเบี้ยวไปหมดเลย ตอนที่เดินเข้ามาเห็นป้ายหน้าคณะตอนปีหนึ่ง ก็คิดแค่ว่าการที่เรามาเรียนนิติศาสตร์ไปอย่างน้อย เราได้รู้ว่าระเบียบแบบแผนในบ้านเมืองมันเป็นยังไง เราจบออกไปเราจะได้บอกคนอื่น ๆ ว่ามันเป็นยังไง แต่ตอนนี้เริ่มคิดตั้งคำถามมากกว่าเดิม ว่ามันเพื่อสังคมจริงมั้ย หรือมันมีเพื่อควบคุมคนในสังคม” ปลื้ม
บรรยากาศในห้องกาแฟเริ่มคึกคักขึ้น เสียงพูดคุยเริ่มดังขึ้นเป็นระยะ แม้จะปนไปด้วยเนื้อหาที่ค่อนข้างจริงจังก็ตาม
กฎหมาย = สังคม ?
จากปาฐกถา “ทบทวน ถกเถียง ท้าทาย: นิติศาสตร์ในห้วงยามของความเปลี่ยนแปลง” ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ได้อธิบายความหมายของกฎหมายกับรัฐไทยไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า
“ รัฐไทยนั้นไม่ใช่การปกครองของกฎหมายนิติรัฐหรือนิติธรรม (Rule of Law) แต่เป็นการปกครองด้วยนิติอปกติหรือนิติอธรรม (Rule by Legal Exceptions) เป็นการปกครองแบบนิติรัฐที่ไม่ใช่ภาวะปกติหรือการปกครองที่ปกครองด้วยข้อยกเว้นทางกฎหมาย ซึ่งการปกครองนี้นั้นจะนำมาด้วย ‘สภาวะยกเว้นทางกฎหมาย (State of Exception)’ สภาวะนี้จะนำมาซึ่งการงดใช้กฎหมายตามปกติและการให้อำนาจแก่รัฐที่มากเป็นพิเศษ ทำให้รัฐสภาจะมีอำนาจมากที่สุดในสภาวะเช่นนี้ ซึ่งการถกเถียงในสภาวะนี้ ยังเป็นเรื่องใหญ่ในวงการนิติศาสตร์
สภาวะยกเว้นนี้จะเห็นได้ชัดเจนจากการยืดขยายของกองทัพในสภาวะปกติ โดยสามารถแยกออกได้เป็น 2 ประเด็น ได้แก่
1. มีการระบุข้อยกเว้นในกฎหมายปกติทุกระดับ ซึ่งสังเกตได้จากการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเหมือนสภาวะยกเว้น และกฎหมายธรรมดาหลายฉบับมีการงดเว้นให้ใช้
2. การขยายภารกิจเพื่อความมั่นคง ให้ครอบคลุมเกินหน้าที่ในสภาวะปกติ โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามเย็น เช่น การป่าไม้ การเกษตร ตลอดจนการท่องเที่ยว
จากประเด็นเหล่านี้ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า สภาวะเหล่านี้ได้ดำเนินอยู่ในสังคมจนทำให้เราคิดว่าเราอยู่ในภาวะปกติบนสภาวะที่มีข้อยกเว้นโดยรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับสังคมจึงล้วนเกี่ยวข้องกันทุกทาง และคำตอบของสมาชิกกลุ่มนิติซ้ายก็มองว่าทั้งสองล้วนเชื่อมโยงและตัดอันไหนออกไปไม่ได้
“เรามองว่าทั้งสองอย่างคือบ่อเกิดของกันและกัน เกี่ยวอยู่แล้วเพราะเมื่อสังคมเปลี่ยนกฎหมายก็ต้องเปลี่ยน มันแยกออกจากกันแทบไม่ได้ด้วยซ้ำ เศรษฐกิจก็เกี่ยวข้อง มองว่ามันเป็นกระจกสะท้อนกันไปมา เวลาการออกกฎหมายมามันทำให้เกิดสิทธิต่าง ๆ ที่ทำให้ประชาชนมีขอบเขตในการใช้สิทธิเท่าที่ไม่กระทบคนอื่น ในขณะเดียวกันสังคมก็สร้างกฎหมาย” แบงค์
“ไม่สัมพันธ์ก็ไม่ได้มั้ย(ฮา) หมายถึงว่า อย่างตอนจัดเล่นบอร์ดเกมปาตานี เรามองว่าการเล่นบอร์ดเกมมันเป็นสิ่งที่เล่นได้โดยไม่ต้องมีราคาที่ต้องจ่าย ใคร ๆ ก็มาเล่นบอร์ดเกมกับเราได้ เราไม่ต้องใช้เงินไปจัดอีเว้นท์ แต่หลังจากการเกิดเหตุการณ์การบุกเข้ามาของเจ้าหน้าที่ทหารไม่ทราบสังกัด ราคาที่ต้องจ่ายให้รัฐ ก็คือสิทธิ” ลำพูบอก
นิติซ้ายทำอะไร
“เราเป็นกลุ่มนักศึกษานิติศาสตร์ที่มีเป้าหมายร่วมบางอย่าง ภาพที่เราเห็นคือนักศึกษากฎหมายก็นั่งอ่านประมวล ด่ากฎหมายบ้าง แต่ไม่ได้ลุกขึ้นมาทำอะไรเสียที เลยอยากขยายพรมแดนการศึกษา บุคลากรทางคณะเรามีประสิทธิภาพมาก เราอยากขยับเส้นของวงวิชาการให้เป็นการทำกิจกรรมร่วมกันทั้งนักวิชาการ นักศึกษา อยากทำให้การเข้าถึงความรู้มันง่ายขึ้น ไม่เป็นการผูกขาดความรู้ ผ่านการเรียนรู้สังคม (Law in action) มิใช่เรียนรู้แค่ตัวหนังสือ (Law in book) รวมถึงสร้างคุณค่าของกฎหมายเพื่อเปิดมุมมองการศึกษากฎหมายนอกจากนิติศาสตร์กระแสหลัก”
“นอกจากนี้เราอยากกระตุ้นให้นักศึกษา รวมถึงคนในสังคมตั้งคำถามกับคุณค่าของกฎหมาย ว่ากฎหมายไม่ได้เป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียว กฎหมายว่าถูกก็คือถูก ว่าผิดก็คือผิด ทั้ง ๆ ที่ช่องว่างของกฎหมายมีทั้ง ศีลธรรมอันดี และดุลยพินิจของผู้พิพากษา อยากกระตุกจินตนาการใหม่ ๆ ว่ากฎหมายมันเป็นเพียงเงื่อนไขนำไปสู่สังคมใหม่ เป็นกฎหมายเพื่อสังคม กฎหมายต้องวิพากษ์ได้ รวมถึงอยากให้การทำงานของนิติศาสตร์กระแสหลักได้เห็นสังคมมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่เป้าหมายว่าด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และ อยากทำให้การศึกษาหมายมันมีรูปแบบการเรียนมากกว่าการจำประมวลแล้วไปสอบ” แพรกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง
“อยากให้นักศึกษากฎหมายเข้าถึงสังคมที่เป็นอยู่ตอนนี้มันเป็นยังไง มันถูกกดขี่ ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้เพราะอะไร เพราะโครงสร้างหรือเพราะอะไร รวมถึงอยากให้ตั้งคำถามกับการเรียนกฎหมายว่าเรียนไปเพื่อจบ หรือเรียนไปเพื่ออะไร เรียนไปเพื่อเข้าระบบอย่างเดียวเหรอ” อาร์ทเสริม
“นอกจากตั้งคำถามก็อยากให้เรียนรู้บริบทของมันก็ดีนะ เรื่องหนึ่งเราอาจจะไม่เห็นด้วยกับบริบทก็ได้ จะเห็นชุดคิดหลาย ๆ แบบ ในปัจจุบันเราอาจจะมองแค่ปัจจุบัน แต่เราไม่ได้มองถึงประวัติศาสตร์ซึ่งมันอาจจะเป็นรากฐานของปัจจุบัน” แบงค์เพิ่มเติม
แม้วันที่ 26 ธันวาคม 2565 จะไม่สามารถจัดกิจกรรมเล่นบอร์ดเกม Patani Colonial Territory ได้ แต่ด้วยความมุ่งมั่นว่าการเล่นบอร์ดเกมเป็นสิทธิไม่ผิดกฎหมาย เลยทำให้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 กลุ่มนิติซ้ายได้จัดกิจกรรม “ความยุติธรรม ความทรงจำ อาณานิคม ปาตานี” ซึ่งเป็นการเล่นบอร์ดเกมและวงศึกษาโดยได้มีการชวนอาจารย์ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน ด้านมานุษยวิทยา และด้านประวัติศาสตร์วาทกรรมผู้ก่อการร้าย รวมถึงคณะทำงานกลุ่ม Chachiluk Boardgame ซึ่งเป็นผู้ผลิตบอร์ดเกม จากครั้งก่อนที่คาดว่าจะจัดเป็นกิจกรรมเล็ก ๆ ก็กลายเป็นกิจกรรมในสเกลที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว
ณ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ห้อง LB1401 บรรยากาศภายในงานสัมผัสได้ถึงความสบาย กลุ่มนิติซ้ายตั้งใจออกแบบกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อให้ความรู้เข้าถึงง่าย ลดภาวะตึงเครียด ในคราบของอาจารย์และนักศึกษา มีการจัดห้องเป็นรูปแบบวงกลม ทุกคนนั่งเสมอหน้ากัน โต๊ะอาจารย์ปราศจากผ้าคลุมเก้าอี้ลดอำนาจในเชิงรูปธรรม เนื่องจากความรู้ควรเป็นของทุกคน มีผู้เข้าร่วมหลากศาสตร์ทั้งนิติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ รัฐศาสตร์ รวมถึงผู้ทำงานภาคประชาสังคม ยามได้ทดลองเล่นบอร์ดเกมความสนุกสนานได้เริ่มต้น เสียงหัวเราะ ปนสีหน้าเคร่งเครียดจากการนึกปีค.ศ. กดเครื่องคิดเลขบวกลบให้ตรงกับปี พ.ศ. การถกกันถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยในแต่ละยุคสมัย จนกระทั่งการ์ดเกมถูกวางเรียงกัน 52 ใบ พร้อมเสียงเฮลั่น และเสียงปรบมือในตอนท้าย
อย่างไรก็ดีเวลาประมาณ 15.30 เจ้าหน้าที่คณะนิติศาสตร์ได้รับแจ้งจากฝ่ายบริหารว่ามีเจ้าหน้าที่ไม่ทรางสังกัดได้เจ้ามาสอยถามถึงการจัดกิจกรรมข้างต้นเช่นเดิม แต่ก็ไม่สามารถยุติกิจกรรมในครั้งนี้ได้
เปิดตาแป๋วข้างนึงมาดูสังคมบ้าง
“เขยิบออกจาก Comfort Zone ของตัวเองหน่อย ถึงผมจะทำไม่ได้ก็เถอะ” อาร์ทพูดอ้อมแอ้ม
“แต่ก็พยายามอยู่ตลอดหนิ” เดียร์เสริม
“เปิดตาแป๋วข้างนึงมาดูสังคมบ้าง” ลำพูพูดด้วยเสียงสดใสตามสไตล์
“เออ ๆ ลองนึกภาพโลโก้เราเป็นเลดี้จัสติสที่ถือดาบ ถือตราชู เปิดผ้าปิดตา แล้วตาที่เห็นดันเป็นตาแป๋วแบบการ์ตูนญี่ปุ่น” เดียร์พูดด้วยสายตาเป็นประกายตามประสาเด็กเกรียน
“ ปั่นจัด” (ขำ)
ก่อนที่การสนทนาในครั้งนี้จะจบไปด้วยความสดใสและเปี่ยมไปด้วยพลังงานดี ๆ ในสถานการณ์บ้านเมืองที่แหลมคมส่งผลให้ใครหลายคนลุกขึ้นมาตั้งคำถาม รวมถึงพวกเขาเหล่านี้
มวลพลังงานที่ส่งผ่านมาหลังจากสิ้นเสียงสัมภาษณ์ ทำให้ใจฟูขึ้นเล็กน้อย หวังว่ามันจะคอยหล่อเลี้ยงกายหยาบผู้สัมภาษณ์คนนี้ไปอีกสักนิด พิชิตความฝันให้ใกล้ขึ้นอีกสักหน่อย นักวิชาการไม่ควรพึงติดอยู่บนยอดหอคอยงาช้าง
ผู้ศึกษากฎหมายพึงเงยหน้าจากหนังสือแล้วมองเศษเสี้ยวของสังคมที่หล่นหาย ความเป็นคนไม่ควรถูกกลืนกลายด้วยการบังคับใช้กฎที่หายไประหว่างกระบวนการยุติธรรม