เงี้ยวเมืองแพร่ ‘กบฏหรือวีรบุรุษ’ ประวัติศาสตร์ของความย้อนแย้ง(1)​

25 กรกฎาคม 2565

กระแสประวัติศาสตร์กับการประดิษฐ์สร้างตัวตนใหม่​


ประวัติศาสตร์มีพลวัต คลี่คลาย สืบเนื่อง และแพร่ขยายอย่างมิสิ้นสุด อาทิกระแสประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยม ที่มีกลิ่นอายความเป็นท้องถิ่น “ผสม” (hybridize) กับประวัติศาสตร์ชาติ โดยการตอกย้ำกับเรื่อง “ความจงรักภักดี” ต่อพระมหากษัตริย์ ความเป็นไทย จนนำสู่การสร้างการอธิบายใหม่ของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่สัมพันธ์กับ ‘ชาติ’ อย่างแนบชิด และขยายตัวตั้งแต่ทศวรรษที่ 2540 เป็นจุดหนึ่งของการก่อตัวของสำนึกท้องถิ่นนิยมชาตินิยม อาจกล่าวอย่างย่นย่อ ถึงห้วงจังหวะและกระของการผลิตสร้างประวัติศาสตร์ในสังคมไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมาเกิดภายใต้ความคิดประวัติศาสตร์ 3 กระแสหลักด้วยกันประกอบด้วยประวัติศาสตร์ชาตินิยม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยม ประวัติศาสตร์ทั้งสามกระแสก่อให้เกิดการสร้างโครงเรื่องประวัติศาสตร์ที่ หลากหลาย และต่อสู้ช่วงชิงการให้ความหมายประวัติศาสตร์เพื่อตอบปัญหาของปัจจุบัน​

ประวัติศาสตร์ชาตินิยม เป็นกระแสประวัติศาสตร์ที่ถือเอาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นแก่นแกนในการอธิบายประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์สกุลนี้มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการปฏิรูปการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ โดยชนชั้นนำให้ความสนใจต่อประวัติศาสตร์ภายใต้บริบทของการคุกคามจากจักรวรรดินิยมตะวันตก ทำให้เกิดการรวบรวมประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นต่างๆ รวมถึงประวัติศาสตร์ประเทศเพื่อนบ้านอย่างละเอียด การกลับมาค้นหาตัวตน หรือการให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของคนในยุคนี้เกิดจากวิกฤติอัตลักษณ์ว่า “ฉันคือใคร และฉันจะอยู่ในโลกยุคใหม่นี้ได้อย่างไร?” ​ รวมถึงการใช้ประวัติศาสตร์เพื่อยืนยันสิทธิเหนือดินแดนที่ผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสยามที่ประกอบด้วย ล้านนา และภาคอีสาน ​ ความสนใจในประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 5 แม้ว่าต่อมาภายหลังในช่วงรัชกาลที่ 6 จะเกิดความซบเซาของการศึกษาประวัติศาสตร์ เนื่องด้วยวิกฤติอัตลักษณ์ของชนชั้นนำได้บรรเทาเบาบางลง แต่ในรัชสมัยนี้มีความมุ่งหมายในการใช้ประวัติศาสตร์เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อสร้าง “ชาติ” “ชาติ” ที่มีกษัตริย์เป็นแก่นแกน หรือผู้นำ เป็นผู้ผลักวิถีประวัติศาสตร์ เพื่อตอบสนองต่อความไม่มั่นคงในสถานะของรัชกาลที่ 6 ที่เกิดความแตกแยกในกลุ่มเจ้านาย และเกิดการเปรียบเทียบรัชสมัยของพระองค์ และพระบิดา (รัชกาลที่ 5) ยุคนี้จึงได้เกิดแนวคิดชาตินิยม “ไทย” เป็นใหญ่ภายใต้วาทะที่สำคัญที่เป็นหัวใจของชาติว่า “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” และเบียดขับคนกลุ่มอื่นที่ไม่ยอมเป็น “ไทย” ให้เป็นอื่น เช่น คนจีน ​ เป็นต้น ​ ​

จังหวะต่อมาที่มีการใช้ประวัติศาสตร์เพื่อสร้าง “ชาติ” ที่สำคัญ คือ ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม (ช่วงทศวรรษที่ 2480) ​ มีการใช้ประวัติศาสตร์สร้าง “ชาติ” โดยในยุคนี้ถือว่าเป็นยุค “ชาตินิยม” เพื่อนำไทยสู่อารยะ มีการออก “รัฐนิยม” เพื่อให้ราษฎรปฏิบัติ ทั้งการใส่หมวก ห้ามกินหมาก รวมถึงมีการสร้างความเป็นไทยผ่านประวัติศาสตร์ วรรณกรรม นิยาย ละคร เพื่อสร้างมหาอาณาจักรไทย โดยมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นปัญญาชนที่สำคัญ แก่นแกนสำคัญของชาตินิยม คือ “ผู้นำ” เป็นผู้นำที่เป็น “สามัญชน” มิใช่ผู้นำที่เป็นกษัตริย์ดั่งเช่นรัชกาลที่ 6 ​ ​

เนื่องด้วยจอมพล ป. เป็นผู้ก่อการที่สำคัญในการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทำให้ประวัติศาสตร์ในสมัยนี้ลดบทบาทและพื้นที่ของพระมหากษัตริย์ลง และเพิ่มพื้นที่ให้แก่ผู้นำที่เป็นสามัญชน เช่น จอมพล ป. ​ พิบูลสงคราม ดังคำขวัญว่า “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” แต่อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์ชาตินิยมทำนองนี้ก็ไม่มีพื้นที่ให้แก่คนตัวเล็กตัวน้อยและท้องถิ่นอื่นนอกศูนย์กลางในประวัติศาสตร์​

หลังทศวรรษที่ 2500 -ปัจจุบัน เป็นจังหวะก้าวที่สำคัญของกระแสประวัติศาสตร์ชาตินิยม หรือราชาชาตินิยม เป็นยุคแห่งการพัฒนาและต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในยุคนี้ได้นำแนวคิด “ราชาชาตินิยม” มาเป็นอุดมการณ์ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ และสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายใต้บริบทของการยอมรับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารที่ขาดความชอบธรรมจากสังคม และนานาชาติ วิธีการหนึ่งที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ใช้ คือการอ้างความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ ที่ถูกลดบทบาทในช่วงจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2490-2500) ​ ​

อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” เป็นอุดมการณ์ที่เริ่มก่อตัวขึ้นภายหลังจากรัชกาลที่ 9 ทรงกลับมาประทับในประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ 2490 แต่บทบาทของพระองค์ก็ไม่ได้รับความสำคัญจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มากนัก เพราะในสมัยจอมพล ป. เป็นยุคที่เน้นผู้นำที่เป็นสามัญชน แม้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 จะทรงพระกรณียกิจก็เป็นแต่เพียงงานทางด้านพิธีการ แต่พระองค์ทรงได้ความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการเสด็จพระราชดำเนินตามผู้ภูมิภาคต่างๆ ​ มีผู้คนมาเฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมาก และหลังจากเสด็จพระราชดำเนินในภาคอีสานรัฐบาลก็ไม่สนับสนุนในพระกรณียกิจนี้อีกต่อไป เพราะเกรงว่าสถานะของรัฐบาลจะสั่นคลอน รวมถึงเกรงว่าพระองค์จะทรงมีบทบาทนำเหนือจอมพล ป. พิบูลสงคราม ​

อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” เป็นอุดมการณ์ที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ เป็น “หัวใจของชาติ” เป็นผู้นำทางด้านศีลธรรม คุณธรรม พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้มีลำดับชั้นสูงสุดในสังคมไทย เป็นผู้คอยถวายคำแนะนำให้แก่ผู้นำ ฉะนั้นประชาชนไม่ต้องคอยตรวจสอบถ่วงดุลผู้นำ เพราะผู้นำมีคุณธรรมและศีลธรรมอยู่แล้ว รวมถึงได้รับคำแนะนำจากกษัตริย์ด้วย ​ ​

อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” สนองตอบต่อการปกครองระบอบเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ได้สร้างเสริมพระบารมีให้แก่สถาบันกษัตริย์เป็นอย่างมาก เช่น การส่งเสริมให้เสด็จประพาสยังต่างประเทศ เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ซึ่งการเสด็จประพาสต่างประเทศสร้างความประทับใจให้แก่ประเทศไทย ประชาชนไทย และรัฐบาลไทย นอกจากนี้จอมพลสฤษดิ์ ยังได้เปลี่ยนแปลงวันชาติจากวันที่ 24 มิถุนายน ที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม หรืออีกนัยยะหนึ่งคือตัวแทนคณะราษฎรได้กำหนดไว้ใน พ.ศ. 2481 มาเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมแทน ใน พ.ศ. 2503 รวมถึงรื้อฟื้นสถานภาพและประเพณีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ เช่น การเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค งานเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นต้น รวมถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่กระทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีและสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย เช่น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือทรงระงับวิกฤติในสังคมไทยหลายครั้ง เช่น 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535 ทำให้พระบารมีของพระองค์ทรง “สถิต” ในใจราษฎร ทำให้อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” ฝังลึกในสังคมไทย มีผลต่อการเขียนประวัติศาสตร์ให้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น การเขียน/สร้าง(อนุสาวรีย์)ประวัติศาสตร์ ‘ใหม่’ต่างเกิดภายใต้อุดมการณ์ราชาชาตินิยม ​

แม้ว่าในช่วงเวลาเดียวกันนี้จะเกิดแนวทางการเขียนประวัติศาสตร์แนวอื่น เช่น ท้องถิ่นนิยม(หลัง พ.ศ. 2526) ประวัติศาสตร์แนวสังคมนิยม แต่ก็ไม่ทรงพลังเท่าประวัติศาสตร์แบบ “ราชาชาตินิยม” ที่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ครอบงำการรับรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย และคงอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน ​ ​ ​

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยม เป็นประวัติศาสตร์กระแสใหม่ที่เกิดในทศวรรษที่ 2520 ที่ให้ความสำคัญกับสังคม ความเป็นมาของผู้คนในท้องถิ่นเดียวกัน ทั้งด้านประเพณี ความเชื่อ และความทรงจำ โดยถือเอาท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางการอธิบายประวัติศาสตร์ เกิดภายใต้ความเปลี่ยนแปรสำนึกทางประวัติศาสตร์ หลังการปฏิวัติของนักศึกษาประชาชนใน พ.ศ. 2516 ที่หันมาให้ความสนใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทำให้มีการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากขึ้น รวมถึงการจัดสัมมนาประวัติศาสตร์ของวิทยาลัยครูในท้องถิ่นในช่วงทศวรรษที่ 2520 ทำให้เกิดความตื่นตัวของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากขึ้น ​

การศึกษาเรื่องราวในท้องถิ่นอื่น นอกเหนือจากประวัติศาสตร์รัฐราชาธิราชในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ​ ในช่วงแรกเป็นความสนใจ และขับเคลื่อนจากสถาบันการศึกษามิได้เกิดจากความตื่นตัวของท้องถิ่นอย่างแท้จริง และการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในสกุลนี้ก็มีความหลากหลายอาทิเช่น (ก) ศึกษาท้องถิ่นในฐานะส่วนหนึ่งของศูนย์กลาง (ข) หาตัวตนของท้องถิ่น การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมีจำนวนมากด้วยเช่นกัน จะเห็นว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทำให้ผู้คนในท้องถิ่นตระหนักในประวัติศาสตร์ความเป็นมาของตนเองมากขึ้น จนทำให้เกิดการศึกษาประวัติศาสตร์ในสกุล “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น(นิยม)” ความตื่นตัวของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในช่วงทศวรรษที่ 2520 ​ เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในภูมิภาคต่างๆ ​ ​

นอกจาก “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกบฏ ฯลฯ ได้รับการรื้อฟื้น “สร้างใหม่” ในมิติต่างๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระนั้นใน ‘อดีต’ และสร้างตำแห่งแห่งที่ให้คน ‘ปัจจุบัน’ เช่น ประวัติศาสตร์ศาสตร์ “กบฏเงี้ยวเมืองแพร่” ​

แต่อย่างไรก็ตามความเฟื่องฟูของสกุล “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” มาได้รับความสนใจอย่างจริงจังภายหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่มีหลายมาตราเอื้อต่อการสร้างสำนึกท้องถิ่นนิยม เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้เข้ามาจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นมากขึ้น ดังปรากฏในงานวิจัยประวัติศาสตร์ชุมชนของกลุ่มอาจารย์อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ที่ได้เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยทางประวัติศาสตร์ ​

ภายใต้บริบทที่เอื้อต่อการสร้าง รื้อฟื้น ประวัติศาสตร์และความทรงจำท้องถิ่นเช่นนี้นำมาสู่การสร้างประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นต่างๆ อย่างกว้างขวาง ในภูมิภาคต่างๆ กอปรกับใน พ.ศ. 2539 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี จึงมีการจัดงานเฉลิมฉลองต่างๆ ​ เช่น งานฉลองเชียงใหม่ 700 ปี การสร้างอนุสาวรีย์พญาพลเมืองแพร่ เป็นต้น การสร้างอนุสาวรีย์ และหนังสืออนุสรณ์จึงเฟื่องฟูภายใต้บริบทของความเป็นปีมหามงคล และการเฉลิมฉลองนี้​

ประวัติศาสตร์ ‘ท้องถิ่นชาตินิยม’ เป็นการผสมระหว่างประวัติศาสตร์ชาตินิยม และท้องถิ่นนิยม เกิดในราวทศวรรษที่ 2530 ภายใต้อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” อันทรงพลัง ‘สูงสุด’ ทำให้พลังท้องถิ่นนิยมอย่างเดียวไม่มีพลังในการจัดตำแหน่งแห่งที่แก่ท้องถิ่นได้ ​ จึงได้เกิดประวัติศาสตร์แบบ “ท้องถิ่นชาตินิยม” เป็นการอธิบายประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้เชื่อมโยงสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ชาติ​

เนื่องด้วยประวัติศาสตร์ชาตินิยมกระแสหลักทรงอิทธิพลจนทำให้การอธิบายประวัติศาสตร์จากมุมมองของท้องถิ่นไม่มีตำแหน่งแห่งที่ในประวัติศาสตร์ จึงต้องอธิบายประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติเพื่อให้มีตำแหน่งแห่งที่ในประวัติศาสตร์ ซึ่งประวัติศาสตร์กระแสนี้มีอิทธิพลสูง และมีสัมพันธภาพกับการจัดวาง ‘ตำแหน่งแห่งที่’ ของคนกลุ่มต่างๆ อย่างซับซ้อน ​

การสร้างประวัติศาสตร์ในโครงเรื่องต่างๆ ภายใต้กระแสประวัติศาสตร์ข้างต้น เกิดภายใต้คนหลากหลายกลุ่มเพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่ในหน้าประวัติศาสตร์ ​ และจะเห็นว่าประวัติศาสตร์ที่ ‘สร้าง’ ในสมัยหลัง (1) ขาหนึ่งวางอยู่บนการหาตัวตนของท้องถิ่น (2) แต่ขาอีกข้างกลับวางอยู่บนอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ซึ่งแสดงให้เห็นการผสม/ลงเอยกันอย่างลงตัว และบ้างครั้งก็ลักลั่นระหว่างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยมและอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ​ ​

การเกิดการเขียนประวัติศาสตร์ภายใต้อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” “ท้องถิ่นนิยม” และ “ท้องถิ่นชาตินิยม” เป็นการเขียนประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในภูมิภาคของประเทศไทย แตกต่างกันเพียงกระแสประวัติศาสตร์แบบใดจะมีอิทธิพลมากกว่ากัน มิได้เกิดขึ้นเฉพาะแห่งหนึ่งแห่งใด แต่สัมพันธ์แนบแน่นกับ “บริบท” และความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างลึกซึ่ง ​

ภายใต้กรอบคิดแบบ “ประวัติศาสตร์ชาตินิยม” ที่แพร่หลายกว้างขวางอย่างยิ่งในช่วง 2 -3 ทศวรรษนี้แต่ในขณะเดียวกันความเป็นท้องถิ่น หรือความสำนึกในบ้านเกิดเมืองนอนผสมอยู่ กอปรกับการคลี่คลายของกระแสประวัติศาสตร์ชาติที่เปิดช่องให้มีการศึกษาท้องถิ่นมากขึ้นภายหลังทศวรรษที่ 2520 จึงทำให้มีพื้นที่แก่ “เรื่องเล่า” และ “ความทรงจำ” ของคนในท้องถิ่นเข้าไปปะปนในการอธิบายเกี่ยวกับ “ท้องถิ่น” จะเห็นความไม่ลงรอยระหว่างประวัติศาสตร์ชาติที่ผลิตสร้างโดย “ข้าราชการ” และ “ชาวบ้าน” “ที่มีเรื่องเล่าและความทรงจำอีกชุดหนึ่ง” อาจจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่เราจะเห็นความเชื่อของชาวบ้านที่มีเรื่องเล่านัยหนึ่งเพื่อสร้างหรือรักษาภาพลักษณ์ใหม่ ​

การมองในลักษณะนี้มีกรอบคิดอยู่ในกระแสประวัติศาสตร์ชาตินิยม ผ่านการเสียสละและยินยอมเพื่อบ้านเมือง เพื่อพระมหากษัตริย์ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำของบุคคล บ้านเมือง ​ เรื่องเล่าในโครงเรื่อง “ท้องถิ่นชาตินิยม” นี้มาจากการผสมผสานโครงเรื่องต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยอาศัยเรื่องเล่าที่หลากหลาย เรื่องเล่าในลักษณะนี้เกิดภายใต้บริบทของ “ความเป็นท้องถิ่นนิยม” ​

แต่เนื่องด้วย “เรื่องเล่าจากท้องถิ่น” อย่างเดียวไม่สามารถสถาปนาการรับรู้ได้กว้างขวาง เนื่องด้วยพลานุภาพของ “ประวัติศาสตร์กระแสหลัก” ยังคงมีอิทธิพลอย่างมากในสังคมไทย จึงทำให้ต้องมีการผลิตโครงเรื่องที่ประสานระหว่าง “ชาติ”และ “ท้องถิ่น” จึงจะสถาปนาโครงเรื่องนั้นๆ ได้ และสามารถจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของโครงเรื่องที่สร้างใหม่ได้ ต้องมี “ชาติ” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โครงเรื่องในมุมการรับรู้ของ “ท้องถิ่น” อย่างเดียวไม่มีพลานุภาพในการสร้างการรับรู้และจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของประวัติศาสตร์ได้ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในปัจจุบันจึงต้องอิงแอบกับ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” อย่างใกล้ชิด​

‘โครงเรื่องประวัติศาสตร์ชาตินิยม’ การเสนอเช่นนี้ทำให้เห็นถึงอิทธิพลของราชการที่สามารถกำหนดการรับรู้ของคนท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่นไม่สามารถให้ความหมายที่แตกต่าง รวมถึงความไม่สนใจของคนท้องถิ่นในการอธิบายเหตุการณ์นี้ด้วยมุมมองของท้องถิ่นเอง แสดงให้เห็นถึงการกล่อมเกลาของรัฐผ่านช่องทางต่างๆ ที่ได้ผลต่อการรับรู้เหตุการณ์และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภายใต้อุดมการณ์ ​ “ชาตินิยม” หรือมุมมองแบบรัฐ แสดงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์กระแสหลักในช่วงทศวรรษที่ ​ 2520-2530 ​ ทรงพลังและสามารถกำหนดทิศทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้ นอกจากนี้โดยภูมิหลังของผู้ผลิตงานเหล่านี้จะพบว่าเป็นผู้ที่ผ่านการศึกษาจากรัฐหรือไม่ก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือข้าราชการ ทำให้มุมมองของผู้ผลิตงานในช่วงนี้มองผ่านสายตาของ “รัฐ” เป็นหลัก กอปรกับช่วงนี้กระแสประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยมที่แท้จริงยังคงเป็นกระแสประวัติศาสตร์ที่มีผู้รับรู้ค่อนข้างจำกัดในเมืองแพร่ จะมาแพร่หลายภายหลังทศวรรษที่ 2540 ได้มีการผลิตสร้างโครงเรื่องของเหตุการณ์ในครั้งนี้อย่างกว้างขวาง​

เขียนและเรียบเรียง : ชัยพงษ์ ​ สำเนียง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร​

บทความนี้เป็นการปรับมาจากหนังสือ ชัยพงษ์ สำเนียง. กบฏเงี้ยว การเมืองของความทรงจำ ประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวของ “คนล้านนา”. กรุงเทพฯ : ​ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน), 2564. และบทความพิริยวงศ์อวตาร: ‘วีรบุรุษ’ ‘กบฏ’ การประดิษฐ์สร้างตัวตนใหม่ทางประวัติศาสตร์. ​ ศิลปวัฒนธรรม ​ ปีที่ 34 ฉบับที่ 9 (ก.ค. 2556) หน้า 114-129 ข้อผิดพลาดของงานชิ้นนี้ย่อมเป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว​

#กบฏเงี้ยว​
#Lanner

ข่าวที่เกี่ยวข้อง