เมื่อวานนี้ (18 มีนาคม 2566) ได้มีการจัดเวทีสาธารณะ โดยเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานจับตาการเลือกตั้งได้แก่ Opendream Rocket Media Lab และ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ณ ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีการประกาศข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ เพื่อพาประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้ง’66 ที่จะถึงนี้ ซึ่งมีตัวแทนจากเก้าพรรคการเมือง ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอดังกล่าว และร่วมกันแสดงความคิดเห็นถึงการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อทำให้ประเทศไทยกลับเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง
ข้อเสนอเพื่อพาประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยหลังเลือกตั้ง’66 ทั้ง 3 ข้อมีดังนี้
1) นายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส. : สร้างนายกฯ ที่ยึดโยงกับประชาชนที่เป็นรูปธรรมผ่านการเลือกตั้ง และสร้างหลักประกันว่านายกฯ ในฐานะ ส.ส.คนหนึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อการตรวจสอบของสภาที่มาจากประชาชน
2) พรรคที่ได้ส.ส.มากที่สุดควรได้รับสิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อน : โดยหากการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเสียงข้างมากประสบความล้มเหลวจึงจะเป็นโอกาสของพรรคการเมืองอันดับรองลงมาในการจัดตั้งรัฐบาลต่อ
3) ส.ว.ต้องเคารพเจตจำนงเสียงข้างมาก : แสดงออกผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ด้วยการยกมือสนับสนุนพรรคการเมืองที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรในการจัดตั้งรัฐบาล
หลังจากที่ได้ประกาศข้อเสนอดังกล่าว ก็ได้มีการเปิดเวทีให้ตัวแทนพรรคการเมืองทั้ง 9 พรรคขึ้นมาร่วมกันแสดงความคิดเห็น โดยตัวแทนทั้ง 9 พรรคประกอบไปด้วย
1) ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย
2) ชัยธวัช ตุลาธน ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล
3) แทนคุณ จิตต์อิสระ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์
4) วิรัตน์ วรศสิริน ตัวแทนจากพรรคเสรีรวมไทย
5) ศิธา ทิวารี ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย
6) อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ตัวแทนจากพรรคชาติพัฒนากล้า
7) พลอยนภัส โจววณิชย์ ตัวแทนจากพรรคเพื่อชาติ
8) สัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา
9) ขดดะรี บินเซ็น ตัวแทนจากพรรคประชาชาติ
ในส่วนของรายละเอียดความคิดเห็นจากตัวแทนพรรคการเมืองพรรคต่างๆ สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...