ท่วงทำนองของความทรงจำ ประเทศไทยต้องไม่มีการทรมานและการอุ้มหายอีกต่อไป

24 มีนาคม 2566

“วันนี้จะเป็นวันหนึ่งให้พวกเราตื่นตัว และเฝ้าระวัง ให้ประเทศไทยไม่มีการทรมาน-อุ้มหายอีกต่อไป”

สมชาย หอมลออ – ที่ปรึกษาอาวุโสมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ภาพ : มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับ สมาคมเพื่อการป้องกันการทรมาน (Association for the Prevention of Torture)  และศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจัดงานเสวนาอภิปรายถึงความสำคัญของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ในหัวข้อ “ประเทศไทยที่ไร้การทรมาน: พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานอุ้มหายและการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ” โดยวิทยากรทั้งหมด 6 ท่าน พรพิมล มุกขุนทด ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ,สมศักดิ์ ชื่นจิตร ครอบครัวผู้เสียหายจากการทรมาน ,ไมตรี จำเริญสุขสกุล นักกิจกรรมชาวลาหู่ ,สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ,ปวีณา จันทร์เอียด สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ภาพ : มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ภายในงานได้ยกกรณีศึกษาของผู้เสียหาย อาทิ ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร และ ชัยภูมิ ป่าแส มาร่วมทบทวน วิเคราะห์ปัญหา และเจาะลึกไปถึงระบบกฎหมายและประวัติศาสตร์ ที่มีส่วนในการเอื้อและยุติความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และการบังคับใช้ พ.ร.บ.ทรมานอุ้มหายในทางปฏิบัติ รวมไปถึงบทบาทของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในการป้องกันและเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ภาพ : มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

สมศักดิ์ ชื่นจิตร ครอบครัวผู้เสียหายจากการทรมานกล่าวว่า

“เสียอะไรก็เสีย อย่าเสียกำลังใจ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันทุกคน ค่าความยุติธรรม มีทั้งภาระและค่าใช้จ่าย ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนจากความกลัวให้เป็นความกล้า เพื่อความยุติธรรมของเรา”

ภาพ : มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่า

“อคติที่เรามีต่อกลุ่มคน ชาติพันธุ์ คนจน อื่นๆ นี่เป็นเงื่อนไข ปัจจัยนึงที่ทำให้ความเอนเอียงของจนท.รัฐทำงานง่ายมากขึ้น ” “ระบบกฎหมายที่เอื้อต่อความรุนแรงของรัฐ ตัวกฏหมาย พ.ร.บ. จะช่วยไปกำกับการทำงานของ เจ้าหน้าที่รัฐได้มากขึ้น กำกับการทำงาน ต้องถูกบันทึก ตรวจสอบได้”

โดยในช่วงเย็นเวลา 18.00-20.00 น. มูลนิธิผสานวัฒนธรรมร่วมกับลานยิ้มการละคร จัดกิจกรรม Human library : Memories Melody (ห้องสมุดมีชีวิต: ท่วงทำนองของความทรงจำ) ณ ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา

ภายในกิจกรรมประกอบด้วยหนังสือมีชีวิตทั้งหมด 10 เล่มจากทั้งหมด 8 หมวด นักวิชาการ, ผู้เสียหาย, ทนายความ, หน่วยงานภาครัฐ, นักกิจกรรม, สื่อ, ผู้ต้องหาทางการเมือง, มุมมองต่างประเทศ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องราวชีวิต ความคิด มุมมอง ภายใต้หัวข้อ  “เรื่องเล่าของความเจ็บปวดและการต่อสู้เพื่อสังคมที่ปราศจากความรุนแรงโดยรัฐ”

ผู้จัดงานได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์และไอเดียในการกิจกรรมในครั้งนี้ว่า เราอยากให้คนที่ทำงาน คนที่ได้รับความเสียหาย จากการความรุนแรงจากรัฐได้มีพื้นที่ที่จะสื่อสารเรื่องราวของตนเองออกไปกับสาธารณะ และคิดว่าจะมีวิธีการไหนบ้างที่จะบอกเล่าเรื่องราวความรุนแรงจากรัฐไม่ว่าเป็น การอุ้มหาย ซ้อมทรมาน การละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ มันค่อนข้างที่จะโหดร้ายและมีผลกระทบต่อจิตใจของใครหลาย ๆ คน ก็เลยหากิจกรรมที่เหมือนเป็นสื่อกลางในการบอกเล่าเรื่องราวที่มันหนักอึ้งนี้ออกไปได้แบบเฟลนลี่ขึ้นให้คนทั่วไปสามารถที่จะเข้ามารับฟังเลยเกิดเป็นกิจกรรมนี้ขึ้นมา โดยกิจกรรมแนวนี้เราสามารถพบเห็นอยู่แล้วในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งกิจกรรมนี้มันเกิดมาจากแนวคิดที่ว่า Don’t judge a book by its cover หลายคนที่เป็นหนังสือเราอาจจะคุ้นหน้ากันอยู่แล้วแต่อาจจะไม่เคยพูดคุย กิจกรรมนี้ก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้สามารถพูดคุยได้ง่ายมากขึ้น

อภิรักษ์ (นามสมมุติ) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นนักศึกษากฏหมาย กล่าวว่า หลังจากเข้าไปแลกเปลี่ยนกับหนังสือมนุษย์ก็ได้เห็นมุมมองอีกด้านหนึ่งของผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายสิทธิในคดีที่มีความยุ่งยากและเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ มันไม่ได้ง่ายเหมือนกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายระหว่างเอกชนกับเอกชน มันมีอำนาจเหนือความคุ้มกันบางอย่างที่รัฐนั้นมีมากกว่า ดังนั้นในการต่อรองในส่วนของผู้เสียหายมันมีต้นทุนในการดำเนินกระบวนยุติธรรมที่มากกว่าตามไปด้วย สร้างความลำบากใจทั้งผู้เสียหายและประชาชนข้างนอกเวลาที่มันมีเหตุเกิดขึ้นแล้ว ผลตอบรับมาไม่ได้แสดงให้ถึงความเป็นธรรมเท่าที่ควร พอได้ฟังก็รู้สึกว่ากฎหมายของไทยมันไม่เท่ากันสำหรับทุกคน

และน้อมจิต (นามสมมุติ) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นนักกิจกรรม กล่าวว่า หลังจากเข้าร่วมก็เห็นหลากหลายมิติ ทั้งผู้ถูกกระทำ รวมไปถึงคนที่มีหน้าที่พิทักษ์สิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการหรือ NGOs เราได้เห็นปัญหาลึกขึ้น รายละเอียดของการต่อสู้หรือการไม่ได้รับความยุติธรรมที่ชัดเจนขึ้น เราเห็นเคส ชัยภูมิ ป่าแส ที่นอกจากที่เขาต่อสู้ทางด้านกฎหมาย เขาต้องต่อสู้กับสังคมโดยเฉพาะชุมชนหมู่บ้านที่มีความเข้าใจแตกต่างกันไป และมุมมองของผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างพ่อแม่พี่น้องหลังจากนั้น ไม่ได้อยู่แค่ในการต่อสู้ทางกระบวนการยุติธรรมทางศาล แต่เขาต้องประสบปัญหากับชุมชน กับผู้อำนาจ รวมไปถึงการถูกคุกคาม 

สรุปสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 แบ่งออกได้ 13 ประเด็นหลัก ๆ ก็คือ 

1. ให้การกระทำทรมาน การกระทำ และลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ เป็นความผิดในทางอาญา มีโทษทั้งจำ และปรับ หากผู้ถูกกระทำเสียชีวิตรับโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต ผู้บังคับบัญชาที่ทราบไม่ป้องกันหรือระงับการกระทำผิดต้องรับผิดกึ่งหนึ่ง

2. ​ไม่ให้อ้างสถานการณ์พิเศษใดๆ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นใดมาเป็นเหตุแห่งการอนุญาตให้มีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ได้

3. ​การห้ามผลักดันหรือส่งกลับบุคคล หากมีเหตุให้เชื่อว่าจะถูกกระทำทรมาน กระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหายเมื่อถูกส่งกลับประเทศ

4. ​การบัญญัติให้ผู้เสียหายครอบคลุมถึง สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะ และผู้อยู่ในอุปการะของผู้ถูกกระทำให้สูญหาย

5. ตั้งคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งมาจากหน่วยงานต่างๆ โดยตำแหน่ง 11 คน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง 6 คน เพื่อติดตามตรวจข้อเท็จจริงการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. นี้

6. เมื่อมีการจับกุม และควบคุมตัวบุคคล จะต้องมีการบันทึกภาพ และเสียงต่อเนื่องขณะจับกุม และระหว่างการควบคุมตัว และต้องแจ้งให้พนักงานอัยการ และพนักงานฝ่ายปกครองในท้องที่นั้นๆ ทราบโดยทันที

7. ​เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการควบคุมตัวบุคคล จะต้องลงบันทึกการจับกุมซึ่งเป็นข้อมูลอัตลักษณ์ตัวตนบุคคล วัน เวลา สถานที่จับ และปล่อยตัว รวมทั้งข้อมูลเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งจับกุม

8. ผู้มีส่วนได้เสีย สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน และผู้อยู่ในอุปการะ ผู้แทนหรือทนายความ คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตาม พ.ร.บ. นี้ มีสิทธิเข้าถึงข้อมูล และขอให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัวได้

9. สามีภริยา คู่ชีวิต บุพการี ผู้สืบสันดาน และผู้อยู่ในอุปการะ สามารถร้องศาลกรณีรับทราบข้อมูลการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งยุติการกระทำดังกล่าว หรือถ้าไม่มีเหตุจำเป็นให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว รวมทั้งให้ได้พบญาติ ผู้ไว้วางใจ และทนายความเป็นการส่วนตัว และต้องได้รับการรักษาการฟื้นฟูทั้งทางร่างกายและจิตใจ

10. การกระทำให้บุคคลสูญหายก่อน พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับให้ดำเนินการสอบสวนจนกว่าจะพบผู้ถูกกระทำให้สูญหาย และทราบรายละเอียดของผู้กระทำผิด และรู้ตัวผู้กระทำผิด

11. นอกจากตำรวจแล้ว ให้ ดีเอสไอ อัยการ และฝ่ายปกครองมีอำนาจในการสืบสวน สอบสวนดำเนินคดี และมีหน้าที่แจ้งสิทธิให้แก่ผู้เสียหายในการเรียกค่าสินไหมทดแทนเบื้องต้นจากการถูกกระทำตาม พ.ร.บ. นี้

12. ​แม้ผู้กระทำความผิดเป็นทหารกระทำผิดตาม พ.ร.บ. นี้จะต้องขึ้นศาลยุติธรรม โดยให้ศาลทุจริตประพฤติมิชอบเป็นศาลพิจารณาคดีความผิดตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้

13. ผู้พบเห็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่ชักช้า และคุ้มครองผู้พบเห็น ผู้แจ้ง ผู้ร้องเรียนโดยสุจริต ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัย

ขอบคุณข้อมูลจาก Thaipost

สามารถอ่าน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ฉบับเต็มฉบับเต็มได้ที่นี่ 

โดยปัจจุบันนั้น (24 มีนาคม 2566) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้แล้ว เพียงถูกเลื่อนไปเพียง 4 มาตรา (การติดกล้องบันทึกต่อเนื่องและการแจ้งการจับ) เลื่อนไปถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2566 นอกจากนั้นอีก 39 มาตรามีผลบังคับใช้แล้วกับทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ยกเว้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติในระดับปฏิบัติงานยังไม่พร้อม โดยเฉพาะการจัดซื้ออุปกรณ์และการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรสำหรับปฏิบัติตามมาตราการป้องกันตาม พ.ร.บ.นี้

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง