28 มีนาคม 2566 เว็บไซต์ iQAir รายงานคุณภาพอากาศ และจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษมากที่สุด โดยอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ขึ้นอันดับ 1 ของประเทศ โดยวัดค่าได้ 435 US AQI โดยสารมลพิษหลักคือ PM 2.5 ซึ่งมีความอันตรายสูง
อันดับ 2 อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน (415 US AQI)
อันดับ 3 อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย (397 US AQI)
อันดับ 4 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย (388 US AQI)
อันดับ 5 อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน (378 US AQI)
อันดับ 6 อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน (367 US AQI)
อันดับ 7 อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ (345 US AQI)
อันดับ 8 อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ (260 US AQI)
อันดับ 9 อำเภอเมือง จังหวัดน่าน (256 US AQI)
อันดับ 10 อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ (252 US AQI)
ซึ่งเมื่อวานนี้ วันที่ 27 มีนาคม 2566 กลุ่มเครือข่ายประชาชนในอำเภอแม่สาย และในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือต่อนายอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ให้เร่งแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันข้ามแดน โดยมีข้อเสนอข้อเรียกร้องใน 2 ระยะ ดังนี้
1. ระยะเร่งด่วน สำหรับภาวะวิกฤต
1.1 ให้ภาครัฐประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินทันที เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน โดยให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นควัน PM2.5 เช่น หน้ากากอนามัย ยา เวชภัณฑ์ และเครื่องฟอกอากาศ ฯลฯ สำหรับประชาชนอย่างเร่งด่วน
1.2 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เร่งหารือการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันข้ามแดน ซึ่งเป็นผลกระทบต่อประชาชนจากการทำการเกษตร กับรัฐฉาน ประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว
1.3 ให้ จ.เชียงราย แจ้งประสานประเทศเพื่อนบ้านให้ลดหรืองดการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่ทางการเกษตรในช่วงสถานการณ์คุณภาพอากาศย่ำแย่ โดยยึดตามข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) ซึ่งสมาชิกอาเซียนทุกประเทศได้มีการลงนามร่วมกันตั้งแต่ปี 2002
1.4 ให้มีการเฝ้าระวังและการป้องปราม การลักลอบเผาป่าในเขตชายแดนของประเทศอย่างรัดกุม และสนับสนุนอุปกรณ์เครืองมืออย่างเพียงพอให้แก่กลุ่มเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครดับไฟป่า
2. ระยะยาว เพื่อการแก้ไขอย่างยั่งยืน
2.1 ให้รัฐบาลกำหนดเกณฑ์ค่ามาตรฐานของสภาพอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เพื่อประกาศเป็นเขตภัยพิบัติฉุกเฉินให้ชัดเจน
2.2 ให้ จ.เชียงาย และอำภอแม่สาย จัดทำแผนรับมือสถานการณ์ผลกระทบจากปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่น PM2.5 ที่เป็นรูปธรรมและแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติของภาคส่วนต่างๆ ในอนาคต
2.3 ให้รัฐบาล และกระทรวงพาณิชย์ศึกษาผลกระทบการนำเข้าเสรี (AFTA) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่งผลให้เกิดการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาการเผาป่าและปัญหาหมอกควันจากการเผาพื้นที่ทางการเกษตร และให้พิจารณายกเลิกอัตราการเก็บภาษีการนำข้าวโพดนำเข้าร้อยละศูนย์
2.4 ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชิญผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้นำเข้าข้าวโพดลี้ยงสัตว์ เจรจาหารือหาทางแก้ปัญหาการเผาข้าวโพด และผลกระทบต่างๆ จากการทำการเกษตร ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน
2.5 ให้รัฐบาลยกระดับการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนให้เป็นปัญหาในระดับภูมิภาคอาเซียน+1 เพื่อให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกับชาติสมาชิกอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...