29 มีนาคม 2566
ศาลปกครองเชียงใหม่ยกฟ้องคดีชาวเชียงใหม่ฟ้องนายกฯไร้การแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 มีคำวินิจฉัยว่า “ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นสาธารณะภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง การไม่สั่งหน่วยงานรัฐดำเนินการ จึงไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่”
โดยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 สถานีฝุ่น รายงานคำพิพากษาเรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ของศาลปกครองเชียงใหม่ ระหว่าง นายภูมิ วชร เจริญผลิตผล ผู้ฟ้องคดี และนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดี มีเนื้อหาว่า
“คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ ๕๔/๑๒๐ หมู่ที่ ๔
ตำบลสันกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน เสียหายจากปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน (Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron) ในบรรยากาศทั่วไปในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงเวลาต่อเนื่องระหว่างเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ ปี ๒๕๖๖ มีปริมาณเกินมาตรฐานจนเป็น
อันตรายต่อสุขภาพ โดยมีแหล่งกำเนิดมาจากการเผาในที่โล่ง ซึ่งประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศ โดยทั่วไป ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2565 กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศทั่วไปมีค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมงไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก็เมตร ผู้ฟ้องคดีเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นสาธารณภัยตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ซึ่งมีอันตรายต่อสุขภาพของผู้ฟ้องคดีและประชาชนศาลปกครองเชียงใหม่”
“การแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากต่อมา ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน มีค่าสูงขึ้นต่อเนื่องตามเกณฑ์ที่ได้วินิจฉัยไปข้างต้น และเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่อาจจัดการกับสาธารณภัยดังกล่าวได้ ผู้อำนวยการกลางหรือ
ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ก็ชอบจะพิจารณาเสนอผู้ถูกฟ้องคดี พิจารณายกระดับเป็นสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่งต่อไป ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่อาจรับฟังได้”
“ดังนั้น เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าสถานการณ์มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกินมาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงต่อเนื่องระหว่างเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ 2566 ตามฟ้อง ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ออกคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐ ที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้สภาพบรรยากาศในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยมีฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ไม่เกินมาตรฐานตามประกาศ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2565 และมีการช่วยเหลือด้านสาธารณสุข ให้ผู้ฟ้องคดีและประชาชนจำนวนมากที่ได้ รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่เกินมาตรฐานขณะนี้ วมถึงบริการอื่นจากหน่วยงานรัฐเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยจากฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่เกินมาตรฐานดังกล่าว จึงไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 กำหนดไว้”
“พิพากษายกฟ้อง”
โดยหลังจากคำพิพากษาหลังศาลปกครองเชียงใหม่ยกฟ้องนายกฯ ภูมิ วชร เจริญผลิตผล ได้แสดงความคิดเห็นต่อคำพิพากษาของศาลผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า
“ตามคำพิพากษาดังกล่าวผมไม่เห็นด้วย เพราะหลักฐานขณะผมยื่นฟ้องคดีนี้เป็นข้อมูลช่วงเริ่มต้นฤดูกาลมีฝุ่นควัน แน่นอนว่า จากวันที่ผมยื่นฟ้องมาถึงขณะนี้ PM 2.5 มีปริมาณมากขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งสภาพการณ์ PM 2.5 ขณะนี้อยู่ในระดับเกินร้ายแรงแล้ว เชื่อว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรัฐบาลโดยนายก ฯ จะไม่ทำอะไรมากกว่าที่ผ่านมา ดังกล่าวหากนำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองอีกครั้งก็ไม่มีประโยชน์ เพราะกว่าศาลจะมีคำพิพากษาก็หมดฤดูกาลมีฝุ่นควันแล้ว”
“คำพิพากษาคดีนี้ผมไม่อุทธรณ์ เพราะกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาได้สภาพการณ์ของ PM 2.5 ก็เปลี่ยนแปลงแล้ว”
“จากการฟ้องคดีเกี่ยวกับ PM 2.5 ที่ผ่านมา 3 คดี ผมเห็นว่าจำเป็นต้องที่ประเทศไทยต้องมีศาลสิ่งแวดล้อมและเป็นศาลชั้นเดียว เพื่อให้การพิจารณาคดีมีผลทันต่อเหตุการณ์ เพราะปัญหาที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตประชาชนจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขในทันที”
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...