“ถ่านหินที่อยู่ข้างใต้เรา เขาพร้อมจะมาเอาไปทุกเมื่อ ฉะนั้นเราต้องรวมต่อสู้เพื่อรักษาทรัพยากรในชุมชนเรา”
—สวัสดิ์ติพล วงศ์เกษตรกร ชาวบ้านในพื้นที่กะเบอะดิน
ย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 1 ปีที่แล้ว 4 เมษายน 2565 ชาวบ้านกะเบอะดินและ 6 ชุมชนทางผ่านที่ได้รับผลกระทบจากการขนส่งแร่ถ่านหิน ทนายความ พร้อมทั้งเครือข่ายยุติเหมืองแร่ ยื่นฟ้องคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่และพวกอีก 2 คน ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำ ส.1/2565 ขอให้ศาลเพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ของเหมืองถ่านหินอมก๋อย บ้านกะเบอะดิน หลังมีความกังวลด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชาวบ้าน
ต่อมาในวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำสั่งรับฟ้องคดีของชาวบ้านกะเบอะดินเรื่องเพิกถอน EIA ฉบับเดิมที่เจ้าของเหมืองแร่และภาครัฐจัดทำเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และดำเนินการจัดทำ EIA ฉบับใหม่ที่สอดคล้องกับหลักวิชาการ ข้อเท็จจริง และต้องให้ผู้ได้รับประชาชนผลกระทบได้ร่วมออกแบบทุกขั้นตอนในการจัดทำรายงาน
และในวันที่ 23 กันยายน 2565 ชาวบ้านกะเบอะดินได้รับหนังสือคำสั่งศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวกรณีการทำเหมืองแร่อมก๋อย จนกว่าจะมีคำพิพากษา เป็นผลให้ระหว่างนี้จะไม่มีการดำเนินการใด ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทางบริษัทฯ
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ได้สรุปย่อคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวศาลปกครองเชียงใหม่ คดีฟ้องเพิกถอนมติเห็นชอบรายงาน EIA เหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย ไว้ 3 ข้อดังนี้
1. รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการเหมืองแร่ถ่านหิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ตามคำขอประทานบัตรที่ 1/2543 น่าจะไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น และมติของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ที่เห็นชอบรายงาน EIA น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายในการใช้ดุลพินิจ
2. ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีว่า ปัจจุบันบริษัทเจ้าของโครงการได้นำรายงาน EIA ดังกล่าวไปดำเนินการยื่นขอประทานบัตรต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกประทานบัตรสำหรับการทำเหมืองแร่ตามกฎหมายแล้ว โดยอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งหากในระหว่างการพิจารณาของศาล เจ้าหน้าที่ได้ออกประทานบัตรการทำเหมืองแร่ถ่านหินให้แก่บริษัทเจ้าของโครงการ ย่อมส่งผลทำให้สามารถเข้าดำเนินโครงการทำเหมืองแร่ถ่านหินตามที่ได้รับอนุญาตได้ กรณีจึงเห็นว่าหากมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่เห็นชอบรายงาน EIA มีผลใช้บังคับต่อไปในระหว่างพิจารณาคดี อาจทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าสิบและประชาชนในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ซึ่งความเสียหายที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น มักส่งผลกระทบรุนแรงและต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน แม้ต่อมาภายหลังศาลจะพิพากษาเพิกถอนมติเห็นชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดังกล่าวตามคำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าสิบ ก็ไม่อาจแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าสิบได้รับจากการบังคับตามผลของคำสั่งทางปกครองนั้นในระหว่างพิจารณาคดีให้หมดไปได้โดยสิ้นเชิง กรณีจึงถือเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง
3. การมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองมิได้เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะในอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีแต่อย่างใด
นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า “คดีกะเบอะดินเป็นคดีสิ่งแวดล้อมคดีแรกที่ได้ฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ในปี 2565 การฟ้องคดีและการต่อสู้ของกะเบอะดินส่งผลและสะเทือนไปสู่ชุมชนอื่น ๆ เพื่อให้ปกป้องรักษาพื้นที่ชุมชนและทำให้พี่น้องชุมชนอื่นๆลุกขึ้นมารวมตัวปกป้อง เช่น ชุมชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการเหมืองแร่ต่างๆในจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ การที่ศาลปกครองเชียงใหม่ได้ออกคำสั่งทุเลาการบังคับทางปกครอง (คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว) ก็เป็นชัยชนะแรกของเรา”
โดยเส้นทางการต่อสู้ของชาวบ้านกะเบอดินและเครือข่ายที่ได้ร่วมกันต่อสู้คัดค้านเหมืองแร่ถ่านหิน เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2562 ชาวอมก๋อยและภาคีเครือข่าย จำนวน 2,000 กว่าคนได้รวมตัวกันแสดงพลังไม่เอาโครงการเหมืองแร่ถ่านหินและไม่ให้เกิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ณ โรงเรียนบ้านแม่อ่างขาง ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งทำให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อยื่นคำขอประทานบัตรให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญและชำนาญการด้านแร่ต่อได้
“ทรัพยากรในโลกมีเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนทั้งโลก แต่ไม่มีเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนที่มีความโลภเพียงคนเดียว”
คำกล่าวข้างต้นเป็นของมหาตมะ คานธี ผู้ต่อสู้กับการกดขี่อย่างสันติ ท่านคือสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ เป็นแบบอย่างให้พวกเราในการต่อสู้กับการถูกรุกรานจากบริษัทเอกชนที่จะพยายามเข้ามาขุดเหมืองแร่ถ่านหิน ซึ่งจะกระทบกับวิถีชีวิตและทรัพยากรที่พวกเราดูแลรักษาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษอย่างต่อเนื่อง ดังคำกล่าวของผู้สูงอายุกะเหรี่ยงที่กล่าวว่า
“โอ้ ที๊ง แฌ แซ ที๊ง เจ่ ทเคแกล้ กแบแฌแซอ้ะ ดื่มน้ำให้รักษาน้ำ ใช้ป่าเราต้องรักษาป่า”
ในรอบเกือบ 4 ปี ที่ผ่านมาพวกเรากะเหรี่ยงบ้านกะเบอะดิน ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันต่อสู้คัดค้านการดำเนินการทำเหมืองแร่ถ่านหิน ซึ่งหลังจากชุมชนได้ฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ขอเพิกถอนรายงานอีไอเอไปเมื่อปีที่แล้ว ปัจจุบันศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้นำรายงานอีไอเอไปออกประทานบัตรได้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
“จุดยืนหนึ่งเดียวของพวกเราคือ ไม่เอาโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย”
เนื้อหาส่วนหนึ่งมาจากข่าวชาวกะเบอะดิน จัดงานรำลึกบวชป่าครบรอบ 3 ปี ย้ำไม่ต้องการเหมืองแร่ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 อ่านข่าวที่ https://www.lannernews.com/15022566-03/?fbclid=IwAR3qAurw94N69OjNnpppaouqmXBpSdyRR0_MptEZetWun0hXh8Ne6M4ndbk
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...