5 เมษายน 2460 ชาตกาล 106 ปี ‘องุ่น มาลิก’ ครูผู้อุทิศตนเพื่อสังคม ผู้ส่งผ่านอุดมการณ์บริสุทธิ์ไม่รู้ลืม

“ครูองุ่นมีความดีที่ครูยึดถือสำคัญอยู่ 4 อย่างคือ ความเมตตา ความเสียสละเพื่อสังคมส่วนรวม เป็นคนที่ปากกับใจตรงกัน และประหยัดกินน้อยใช้น้อย พร้อมกันทั้งนี้ครูยังอุทิศพื้นที่ของสวนครูองุ่น ที่ทองหล่อ กรุงเทพฯ และสวนอัญญา เชียงใหม่ เพื่อรองรับการทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม และก่อตั้งมูลนิธิไชยวนาเพื่อสร้างสรรค์สังคมต่อไป ตามแบบที่ครูหวังไว้”

สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย กล่าวถึงความดีงามของครูองุ่น เนื่องในวาระ “ครบรอบ 106 ปี วันคล้ายวันเกิด ครูองุ่น มาลิก ในวันที่ 5 เมษายน” และ “วาระทำบุญให้มิตรสหายผู้ล่วงลับ” ณ สวนอัญญาเฮือนครูองุ่น มาลิก หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่

ถ้าเอ่ยถึงคุณงามความดีของบุคคลที่พร้อมอุทิศตนเพื่อทำประโยชน์เพื่อสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทนส่วนตนนั้น ชื่อของ ‘องุ่น มาลิก’ หรือ “ครูองุ่น” ที่หลายคนรู้จัก น่าจะเป็นบุคคลที่น่าหยิบยกขึ้นมาเอ่ยถึง ซึ่งในวันนี้ 5 เมษายน 2566 ก็ถือเป็นวาระชาตกาล 106 ปี ของครูองุ่นพอดิบพอดี เราจึงจะของหยิบยกชีวิต คุณค่า และเรื่องราวของครูองุ่นมาคอยย้ำเตือนความทรงจำไปพร้อมกัน

ครูองุ่น มาลิก เกิดที่ตำบลสวนจิตรลดา อำเภอดุสิต พระนคร เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2460 มีชื่อเล่นว่า ‘แม่หนู’ ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยคณะราษฎรในปี 2475 ครูองุ่นในช่วงวัย 15 ปี ได้เกิดความรู้สึกถึงความตื่นรู้งอกเงยทางความคิดและความศรัทธาในอุดมการณ์ของปรีดี พนมยงค์ เป็นอย่างมาก ครูองุ่นจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มทำงานที่โรงพิมพ์ปรุงนุกูลกิจ ก่อนที่ในปี 2505 ครูองุ่นได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนตัดสินใจเดินทางไปเรียนต่อ และปี 2507 เธอจบการศึกษาปริญญาโท ด้านจิตวิทยา ที่เออร์บานา มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ประเทศสหรัฐอเมริกา และในปี 2507 – 2509 ครูองุ่นตัดสินใจเข้าเป็นอาจารย์ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยศิลปากร และตัดสินใจอีกครั้ง ในการมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2510

“โปรดมองปรากฏการณ์ชะตาชีวิตของคนไทยใช้สมองและหัวใจของคุณพินิจว่าความทุกข์ยากนั้นเกิดจากกรรมในอดีต หรือเกิดจากน้ำมือมนุษย์ในปัจจุบัน”

ครูองุ่นมักปรากฏตัวในงานกิจกรรมนักศึกษาอยู่เสมอ ทั้งกิจกรรมทางการเมือง กิจกรรมละครและกิจกรรมทางสังคมอื่น ๆ แม้จะไม่ได้มีอิทธิพลทางความคิดในการเป็นที่ปรึกษาหารือ แต่ก็มักจะไปให้กำลังใจอยู่ตลอด ด้วยบุคลิกที่จิตใจดี สุภาพไม่ถือตัว ทั้งตัวครูองุ่นเองก็ยังชอบใส่เสื้อผ้าที่เย็บเองกับมือ สะพายย่าม นุ่งผ้าถุง เสื้อแขนกระบอก ดูเหมือนชาวบ้านทั่วไปมากกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัย เรียกได้ว่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รวมถึงสถาบันการศึกษาอื่น ๆ และเครือข่ายชาวบ้านที่ทำกิจกรรมร่วมกับนักศึกษาต่างเคารพนับถือครูองุ่น และครูองุ่นเองก็มักจะพูดคุยกับทุกคนอย่างกัลยาณมิตร ไม่มีกำแพง ไม่มีชนชั้น

ปี 2513 ครูองุ่น ได้ซื้อที่ดินซึ่งเป็นที่นาร้างจากคนในชุมชนป่าห้าด้านทิศตะวันตกติดกับลำน้ำห้วยแก้ว สร้างบ้านริมน้ำข้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งชื่อว่า “สวนอัญญา” มาจาก “อัญญาโกณฑัญญะ” หนึ่งในปัญจวัคคีย์ที่พระพุทธเจ้าบวชให้ โดยบ้านสวนอัญญาก็เป็นพื้นที่ที่ให้นักศึกษาและประชาชนสามารถใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางสังคม ตลอดจนเป็นพื้นที่ให้นักศึกษาสามารถมาใช้พักพิงได้อีกด้วย

“ขอให้เรามีความกล้าหาญที่จะแก้ไขสิ่งผิด ขอให้เรามีความอดทนต่อสิ่งที่เรายังแก้ไขกันไม่ได้ ขอให้เรามีปัญญาอันอิสระที่จะแยกระหว่างสองสิ่งนั้น”

ปี 2516 ครูองุ่น ร่วมแสดงละครเวทีเรื่อง ‘หกฉากจากชนบท’ กำกับการแสดงโดย คำรณ คุณะดิลก ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ละครเรื่องหกฉากจากชนบท ของชุมนุมศิลปะการละครมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดการแสดงขึ้น สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก จึงได้นำมาเปิดแสดงบนเวทีหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 11 – 13 สิงหาคม 2516 ละครเน้นให้เห็นสภาพปัญหาต่าง ๆ ในชนบทในยุคสมัยนั้น ก่อนที่ในช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองจะทำให้กิจกรรมทางการเมืองถูกตัดตอน นักศึกษาหลายคนต้องหลบหนีเข้าป่า ครูองุ่นเองก็ถูกจับควบคุมตัวเข้าศูนย์การุณยเทพ จังหวัดเชียงใหม่ (ปัจจุบันคือสำนักงานสันติบาล เชียงใหม่) ควบคุมตัวไปกักกันเพื่ออบรมความประพฤติ และนับตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา ครูองุ่นเริ่มที่จะพัฒนาละครหุ่นมือ ถักทอด้วยตนเอง ออกแสดงตามที่ต่าง ๆ หุ่นมือนับหมื่นได้กระจายออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศยากจน ผ่านทางองค์กรการกุศลทั่วโลก ครูองุ่นเล็งเห็นว่าละครหุ่นมือ จะช่วยให้เด็ก ๆ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

ปี 2521 ครูองุ่นเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ เธอกลับมาอยู่บ้านซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท 55 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ และอุทิศตนให้กับการทำหุ่นมือเพื่อส่งต่อให้เด็ก ๆ อย่างต่อเนื่อง

ในปี 2525 ได้มีการจัดตั้งมูลนิธิไชยวนาขึ้น โดยมุ่งหมายให้เกิดการพัฒนาเรื่องการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และความรู้ด้านอนามัยสาธารณสุขต่อประชาชน และด้วยความศรัทธาในอุดมการณ์ของ ปรีดี พนมยงค์ เป็นเหตุผลให้ วันที่ 12 กันยายน 2526 ครูองุ่น ยกที่ดิน 371 ตารางวา ให้มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ใช้เป็นที่ปลูกสร้างสถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 10 ธันวาคม 2531 เพื่อสืบสานความคิดอุดมการณ์เพื่อสังคมสืบต่อไป

“…อยากให้สังคมมีความยุติธรรม เปิดโอกาสให้เด็กๆ เรียนรู้ในสิ่งดีงาม เพื่อเขาจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณธรรม มีคุณภาพ สามารถทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม อย่างรัฐบุรุษท่านปรีดี พนมยงค์ ที่เป็นแบบอย่างแห่งความเสียสละเพื่อประเทศชาติ”

ครูองุ่น มาลิก จากไปเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2533 แต่คุณงามความดีต่อสังคมของครูองุ่นยังคงดำรงอยู่ โดยสวนอัญญาที่จังหวัดเชียงใหม่ก็ยังคงเป็นพื้นที่ในการสนับกิจกรรมทางสังคมต่อไปโดยใช้ชื่อว่า สวนอัญญา เฮือนครูองุ่น มาลิก : หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ และสวนครูองุ่น ทองหล่อ ซอย 3 กรุงเทพฯ ก็ยังคงเป็นพื้นที่ในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคมในแบบที่ครูประสงค์อยากให้เป็นสืบต่อไป

“เธอจงระวังความคิดของเธอ เพราะความคิดกำหนดความประพฤติความประพฤติกำหนดความเคยชิน ความเคยชินกำหนดอุปนิสัย อุปนิสัยกำหนดชะตาชีวิตของเธอ”

อ้างอิงจากบทความ: ครูองุ่น มาลิก : รำลึก 30 ปีที่จากไป เขียนและเรียบเรียง โดย นลธวัช มะชัย

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง