คนหาบขาย หายสาบสูญ เสียงจากแม่ค้าหาบเร่ เมื่อการขายของบนรถไฟอาจไม่กลับมาอีกแล้ว

เรื่องและภาพ: วิภาวี จุลสำรวล/ The Isaan Record

รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนานักสื่อสารทางสังคม ภายใต้โครงการ Journalism that Builds Bridges เผยแพร่ครั้งแรกทางเว็บไซต์ theisaanrecord.co เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2566

แสงอาทิตย์ยามเช้าสาดส่องเข้ามาภายในอาคารสถานีรถไฟจังหวัดขอนแก่น ผู้คนมากมายรายล้อมยืนรอซื้อตั๋วเพื่อไปยังจุดหมายที่แตกต่างของตัวเอง

หนึ่งในนั้น คือ สมร พมรลี หรือ ตึ่ง หญิงวัย 61 ปี ที่ต่อแถวซื้อตั๋ว พร้อมกับตะกร้าและหาบสองฝั่งแขน ในตะกร้าทั้งสองใบมีขนม ซึ่งเป็นเงินที่เธอลงทุนไปกับสินค้าที่คาดว่าวันนี้จะขายพวกมันหมด 

สมพรขายของบนรถไฟมานานกว่า 20 ปี อาศัยอยู่อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น แต่ใช้ชีวิตบนรถไฟเหมือนบ้านหลังที่สอง เพราะเป็นแหล่งทำมาหากินที่เลี้ยงดูครอบครัวเธอมาแสนนาน

เริ่มต้นชีวิตบนรถไฟด้วยการขายฝักบัว

ตึ่งเข้าสู่อาชีพนี้ด้วยการนำฝักบัวจากบ้านมาขายบนรถไฟ แต่ก่อนขายเฉพาะช่วงกลางวัน แต่ตอนนี้ต้องเปลี่ยนมาขายทั้งกลางวันและกลางคืน  

“วันนี้มาขายขนมที่ขอนแก่น เพราะบนรถไฟเค้าไม่ให้ขายแล้ว”

หลังพิษของโรคระบาดโควิด 19 ทำให้มีมาตรการในการควบคุมโรคระบาด ห้ามผู้โดยสารรับประทานอาหารและน้ำดื่มบนรถไฟ อีกทั้งห้ามขายอาหารและเครื่องดื่มบนรถไฟอีกด้วย

นายสถานีรถไฟแห่งหนึ่ง เล่าว่า ก่อนที่จะมีอาชีพนี้ การรถไฟฯ ก็ไม่ได้อนุญาตตั้งแต่แรก แต่เป็นการขึ้นไปขายกันเอง เนื่องจากการรถไฟฯ มีตู้เสบียง มีตู้ขายของอยู่แล้ว โดยจะอนุญาตแค่ผู้ประกอบการที่เขาประมูลกับรถไฟแค่นั้น

“แต่เมื่อ 7 มกราคม 2564 กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุขออกแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการระบาดของ COVID-19 การรถไฟฯ จึงงดการเดินรถบางเที่ยวและงดการขายสินค้าบนรถไฟไปโดยปริยาย” 

เมื่ออาชีพเดียวที่สร้างรายได้ถูกสั่งห้ามในชั่วข้ามคืน “ขายไม่ได้ ไม่ให้ขาย” นั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้สมรต้องปรับตัว ด้วยการเพิ่มการขายของตอนกลางคืนด้วย ซึ่งทำแบบนี้มาแล้วประมาณ 4 ปี 

จากเสาหลักสู่การค้นหาเส้นทางใหม่

ความหวังสุดท้ายในการเลี้ยงดูอีก 7 ชีวิตกับอาชีพคนขายของบนรถไฟกลับกลายเป็นอดีต เพราะเธอถือเป็นเสาหลักของบ้าน ภาระทั้งหมดจึงถูกรับไว้แต่เพียงผู้เดียว 

“ไม่ขายของ ก็ไม่รู้จะทำอะไร” อดีตแม่ค้าขายของบนรถไฟกล่าวด้วยความสิ้นหวัง 

“ทำมาตั้งนานแล้ว รายได้ดีเลยนะ คนใจดีเยอะ มีคนอยากช่วยซื้อเยอะเลย”

เมื่อไม่อนุญาตให้ขายของบนรถไฟแล้ว แสงสุดท้ายจึงเริ่มดับลง การหาบคอนตะกร้าไม้ไผ่ที่หนักอึ้งในวัยชราทำให้ผู้คนอุดหนุนเธอด้วยความสงสาร หลายคร้ังน้ำใจเหล่านั้นถูกเปลี่ยนเป็นเงินให้เปล่า 

“เขาให้ตังค์เปล่าๆ แม่ก็ไม่เอา ในเมื่อเขาไม่ซื้อของ เราก็ไม่เอาของเขา” เสียงที่แหบพร่าของหญิงวัย 61 ปี เล่าถึงผู้คนรายวันที่เธอได้พบเจอ

เมื่อรายได้ลดลง

อาชีพขายของบนรถไฟเป็นอาชีพที่ผู้คนเดินทางโดยรถไฟจะพบเห็น แม่ค้าพ่อค้าหาบเร่อาหารเครื่องดื่มขึ้นมาเดินขายตั้งแต่ท้ายขบวนยันต้นขบวน มีทั้งอาหารกล่องสำเร็จรูป น้ำดื่มน้ำหวานน้ำอัดลม กาแฟร้อน กาแฟสด ผลไม้ ไปจนถึงเครื่องดื่มชูกำลัง 

พิษจากโรคระบาดไม่เพียงส่งผลต่อแม่ค้าที่ขายของเท่านั้น ผู้โดยสารบางคนที่ต้องการทานอาหารบนรถไฟ เนื่องจากเร่งรีบไม่มีเวลาเตรียมตัวก่อนออกจากบ้าน โดยหวังจะซื้ออาหารระหว่างเดินทางก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

“มันก็สะดวก ถ้าสมมติว่า วันนั้นเป็นวันที่เรารีบมากและต้องเดินทางเช้า ส่วนตัวเป็นคนที่ต้องกินข้าวก่อนออกเดินทางตลอด เพราะหากท้องว่างจะเมารถ” พิมพ์นารา นาคำ หรือปราย นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่โดยสารรถไฟเป็นประจำกล่าวถึงการหายไปของอาชีพหาบเร่

หาบเร่ อาชีพที่เสี่ยงถูกคนด่าและรำคาญ

อาชีพขายของบนรถไฟเป็นอาชีพที่ต้องใช้เสียงในตะโกนเรียกลูกค้าเพื่อขายของที่แข่งกับเสียงดังของรถไฟที่ดังเป็นทุนเดิม ผู้โดยสารหรือบางคนที่ต้องการพักผ่อนก็ยังต้องมาฟังเสียงพ่อค้าแม่ค้าที่ตะโกนเรียกให้ซื้อของตลอดเส้นทาง

“รำคาญบ้าง เนื่องจากเราเดินทางสั้นๆ ไม่ได้ต้องการซื้อของอยู่แล้ว แต่สำหรับคนที่เดินทางไกลก็อาจจะสะดวกต่อเขา” กอล์ฟ อนุชา (ไม่ขอเปิดเผยนามสกุล) เล่าความรู้สึกที่มีต่ออาชีพขายของบนรถไฟ แต่สำหรับ ปราย พิมพ์นารา เธอกลับมองอีกแบบ

“ไม่ค่อยรำคาญนะ เพราะเขาขึ้นมาขายตามเวลาแล้วก็ลง แต่ก็จะมีรำคาญบ้างเวลาที่เรารีบแล้วต้องหลบให้เขาวิ่งขึ้นมาขายของ”

ภาระกิจ ภาระใจ

แม้ว่า เธอจะปรับตัวกับโรคระบาดได้ทัน แต่เส้นทางการใช้ชีวิตของ “สมร” ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เมื่อรู้ว่า หลานคนโตที่เป็นดั่งแก้วตาดวงใจหลงผิดไปใช้ยาเสพติด จนทำให้เธอเสียใจและผิดหวังอย่างยากจะอธิบาย

“แม่มาขายของ แม่นั่งร้องไห้เลยนะ นั่งร้องไห้ 2 วัน 3 วัน เพราะรับไม่ได้” เธอเล่าด้วยความเจ็บปวดที่แสดงออกมาทางแววตา

แม้ตอนนี้หลานคนโตจะได้เข้ารับการบำบัดที่สถานบำบัดแห่งหนึ่งที่จังหวัดขอนแก่นแล้ว แต่ก็ยังไม่ทำให้เธอหายกังวล  

“จะให้ดีเหมือนเดิมมันเป็นไปไม่ได้อะ เพราะว่าแก้วมันร้าวแล้ว จะให้ดีอย่างเดิมมันเป็นไปไม่ได้หรอกลูก”

ซ้ำร้ายภาระใจของตึ่งอีกเรื่อง คือ ต้องดูแลสามีที่พิการขาหนึ่งข้าง เดินไม่ได้ ต้องใช้รถเข็นอย่างเดียว 

“รถเข็นเขาก็เอามาให้ แต่ตาก็ไม่นั่ง จะขี่แต่สามล้อ” ตึ่งเล่าถึงสามีที่รัก แม้ต้องรับผิดชอบชีวิตผู้คนในครอบครัวหลายคน แต่เธอไม่เคยปฏิเสธหน้าที่เสาหลักของครอบครัว

การต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวที่เจ็บปวดและติดยาเสพติดทำให้มีหนี้สินพัลวันเป็นหางว่าว แต่เธอก็ยังยิ้มเมื่อพูดถึงครอบครัว 

“หนี้สินภายในบ้านยายก็เป็นคนรับผิดชอบหมดนะ ไม่ว่าจะนอกระบบ ในระบบ ก็ใช้ให้หมด หลานอีก 4 คน หรือ 7 คน ยายเลี้ยงได้”

แม่ค้าหาบเร่ ที่มีเสน่ห์เรื่องร้องเพลง

อาชีพขายของเอาแน่เอานอนไม่ได้ บางวันขายได้ดี บางวันก็ไม่ หากผลลัพธ์ออกมาไม่ค่อยน่าพอใจ พ่อค้าแม่ค้าบางคนก็คงจะมีแผนสำรองมาช่วยให้ตนขายของหมด 

ตึ่ง คือ หนึ่งในแม่ค้าที่อาวุธลับหลากหลาย ไม่ว่าจะขายได้หรือขายไม่ได้เขาก็ไม่เคยคิดที่จะเอาเปรียบลูกค้า ทั้งยังตอบแทนลูกค้าให้คุ้มกับเงินด้วยความรักและความซื่อสัตย์จริงใจ

“แม่ชอบร้องเพลง ใจแม่ปรารถนาทุกวันนี้นะ ถ้าแม่ขายของไม่ได้ ทำงานกลางคืนไม่ได้ แม่ก็อยากจะไปร้องเพลง” เธอเล่าและว่า “จริงๆ แล้วเป็นคนชอบร้องเพลง เพราะว่าเวลาไปตามสถานที่ต่างๆ เวลาไปขายขนม มักจะมีคนให้เงินมาเยอะเกิน 400 – 500 บาท แม่ก็จะร้องเพลงให้ฟัง เพื่อเป็นความสุขเล็กๆ ที่อยากมอบให้กับลูกค้า”

“แม่ได้เงินครึ่งตะกร้า บางวันได้ 3,000 บาท จากการร้องเพลงนะ” เธอเล่าด้วยความภาคภูมิใจ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลงานไหม จ.ขอนแก่น เธอมีโอกาสไปขายขนมที่นั่น และได้ขึ้นโชว์เสียงร้องเพลง

 “บ้างก็ให้ติ๊บ บ้างก็ซื้อของให้”

เสียงร้องแหบเสน่ห์ของเธอทำให้คนที่ได้ฟังต้องชอบใจและให้รางวัลมากมาย แต่การจะได้มาก็ไม่ใช่เป็นการขอเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นการตอบแทนด้วยบทเพลงอันไพเราะและเสียงร้องอันแสนหวาน

“วันไหนเหนื่อย แม่ก็พักวันไหนที่อดนอนได้ จะเดินขายทั้งคืน ค่อยมานอนตอนเช้า บางทีก็ไม่ได้นอน ปวดหลังปวดตัว บางทีก็ลุกขึ้นยาก แก่ขนาดนี้แล้ว จะไปทำอะไรได้” 

คนหาบขาย หายสาบสูญ

แม้จะเคยขายของบนรถไฟมานานและมีความผูกพันกับหวูดแผดเสียง แต่ก็ไม่คิดว่าอาชีพนี้จะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง 

“กลับมาหรอ หึ ไม่ได้ ไม่มีคนขายหรอกอาชีพนี้จะไม่มีวันกลับมาได้อีก เพราะเป็นเรื่องยากที่คนจะขึ้นไปขายของบนรถไฟแบบเต็มขบวนเหมือนเมื่อก่อนได้อีก”

ไม่เพียงแต่แม่ค้าเท่านั้นที่เห็นแบบนั้น ผู้โดยสารก็มีความเห็นไม่ต่างกัน 

“ไม่ดีกว่า เพราะบางวันบนรถไฟคนแออัด แล้วเวลาขึ้นรถไฟต้องทำเวลาหาที่นั่ง ถ้ามีคนขึ้นมาขายของอาจจะแออัดกว่าเดิมทำให้เสียเวลาตอนเดินหาที่นั่ง” ปราย พิมพ์นารา แสดงความเห็นต่อคำถามว่าถ้าอาชีพนี้กลับมาอีก 

“สำหรับผมเฉยๆ มีก็ได้ไม่มีก็ได้ บางทีก็อาจจะอยากให้มี เพราะมันเป็นวิธีหาเงินของเขา รายได้เขาอาจจะมีแค่ทางนี้” กอล์ฟ อนุชา เล่าถึงความรู้สึก

“แม่ก็จะขายของแม่อยู่อย่างนี้แหละ ให้ไปเดินขอเงินยายรับไม่ได้ ยายไม่โอเค ขออยู่แบบนี้ดีกว่า” แม้จะไม่มีความหวังว่าโอกาสที่จะได้กลับมาขายของบนรถไฟได้อีก แต่เธอก็ยังยืนยันที่จะขายของต่อไปในวิธีที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา


หมายเหตุ
ผลงานชิ้นนี้อยู่ในโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สนับสนุนโดย สถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตฟินแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ UNDP และ UNESCO

ข่าวที่เกี่ยวข้อง