สี่แยกไฟแดงมีนักเรียนขายนมเปรี้ยว

เรื่อง: ปิยราชรัตน์ พรรณขาม

รายงานชิ้นนี้อยู่ภายใต้โครงการ Journalism that Builds Bridges เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 19 ก.พ. 2566 ทางเว็บไซต์ Louder

ภาพนักเรียนเดินขายนมเปรี้ยวตามสี่แยกไฟแดงกลายเป็นสิ่งปกติในปัจจุบัน ท่ามกลางความเสี่ยงทั้งจากอุบัติเหตุบนท้องถนน จากโรคระบาดและมลพิษจากฝุ่นควัน แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจทำให้พวกเธอต้องทำงานขายเพื่อแลกกับเงิน ทั้งเพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัวและเพื่อตัวเอง แต่ละวัน พวกเธอไม่สามารถคาดเดารายได้และจะต้องพบเจอกับประสบการณ์ทั้งดีและไม่ดีที่นักเรียกขายนมเปรี้ยวได้ประสบมา

ที่สี่แยกหลักของถนนเลี่ยงเมืองอุบลราชธานี อย่างแยกเจริญศรี (ทางไปเดชอุดม) แยกหนองตาโผ่น (ทางไปสำโรง -กันทรลักษ์) และแยกคำน้ำแซบ (ทางไปศรีสะเกษ) หากรถไปติดไฟแดง เราจะเห็นเด็กในชุดนักเรียน 3 – 5 คน เดินถือถุงนมเปรี้ยว-โยเกิร์ตลัดเลาะไปตามแนวรถติดไฟแดง พร้อมกับการไหว้ที่อ่อนน้อมค้อมหัวให้ต่ำที่สุด

พลอย เนตรและเอ็ม (ทุกคนใช้นามสมมติ) นักเรียนขายนมเปรี้ยวที่แยกเจริญศรีและแยกหนองตาโผ่น อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เพื่อรับรู้วิถีชีวิตและความฝันใฝของพวกเขาเยาวชนของชาติขายนมเปรี้ยวช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่

พลอย นักเรียนชั้น ม.4 ขายนมเปรี้ยว-โยเกิร์ตประจำที่แยกเจริญศรีในช่วงเลิกเรียนและวันหยุดเสาร์อาทิตย์เหตุผลหลัก คือ ช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อและแม่ ถึงแม้ที่บ้านจะไม่ได้มีปัญหาเศรษฐกิจ แต่เลือกที่จะมาทำเพื่อหาเงินใช้จ่ายส่วนตัว พลอยบอกว่า หากไม่ได้มาเดินขายนมเปรี้ยวเธอจะช่วยแม่ขายของที่บ้าน

พลอยเรียกสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ว่า งานพิเศษ เพราะถึงแม้จะได้เงิน แต่ก็เป็นจำนวนไม่มากพอที่จะเรียกว่า งาน และพลอยมองว่าสิ่งที่เธอขายอยู่ไม่ใช่นมเปรี้ยวแต่คือ ความน่าสงสาร เธอมองว่าคนส่วนใหญ่ซื้อก็คงเพราะสงสาร น้อยคนที่จะซื้อเพราะอยากกินนมเปรี้ยวจริง ๆ และด้วยการแต่งชุดนักเรียนมาขายด้วยทำให้สามารถเพิ่มความน่าสงสารในผู้ที่พบเห็นมากยิ่งขึ้น

สิ่งที่พลอยอยากทำจริง ๆ ไม่ใช่การมาเดินขายนมเปรี้ยว เธออยากขายเสื้อผ้าออนไลน์อยู่ที่บ้าน แต่เธอไม่มีต้นทุน จึงเลือกที่จะออกมาขายนมเปรี้ยวให้พอมีเงินไปโรงเรียนไปวัน ๆ โดยที่ไม่ต้องขอแม่ก็พอ

หากเป็นวันธรรมดา พลอยจะใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงหลังเลิกเรียน (16:00 – 19: 00 น.) เดินขาย ซึ่งถือว่าก็ค่อนข้างอันตรายสำหรับเด็กผู้หญิง ทำให้พ่อและแม่ของเธอกังวลและบอกกับเธอว่าสักวันเธอต้องหยุดทำงานพิเศษนี้

พลอยเคยขายนมเปรี้ยวได้มากถึงวันละ 30 ชุด โดยเฉพาะช่วงสิ้นเดือนหรือต้นเดือน ช่วงกลางเดือนบางวันจะมียอดขายจะเพียงวันละ 5 ชุด และก็มีบางวันที่ขายไม่ได้เลย

แม้ว่าวันนั้นจะมีรายได้เพียงร้อยกว่าบาท พลอยถือเป็นเงินที่มากพอสำหรับคนที่ต้องการหาเงินได้ด้วยตัวเอง แต่ความเหน็ดเหนื่อยจากการขายนมเปรี้ยวยังไม่เหนื่อยเท่ากับการที่เธอต้องเจอกับคนที่คิดไม่ดี

“ก็เคยมีคนที่ซื้อนมเปรี้ยวกับเราแล้วเค้าก็ถามว่า หนูมีค่าเทอมมั้ย คือเค้าอยากเลี้ยงเราอะค่ะ สิ่งที่ทำได้มีเพียงแค่ไหว้ขอบคุณที่เขาอุดหนุนแล้วรีบเดินจากไปโดยไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะด้วยความเป็นเพียงเด็กผู้หญิงหากยิ่งไปต่อล้อต่อเถียงยิ่งจะทำให้เกิดปัญหา ถึงจะเหนื่อยหน่อยแต่ก็ต้องอดทน” พลอยกล่าวทิ้งท้าย

เนตร เรียน ปวศ.1 เป็นเพื่อนกับพลอย เธอเป็นอีกคนที่ขายนมเปรี้ยวที่แยกเจริญศรี เพราะต้องการช่วยแบ่งเบาภาระทางครอบครัว เพราะนับตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด – 19 เป็นต้นมา งานรับเหมาของพ่อแทบไม่มี ทำให้แม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายของบ้านเพียงคนเดียว

“อยากช่วยแม่ สงสารแม่ที่ทำงานคนเดียว เรามาทำตรงนี้แม่จะได้ไม่เหนื่อยคนเดียว ในช่วงแรกแม่ก็ห้าม ก็ให้เหตุผลว่า หากทำตรงนี้แล้วจะไม่ขอเงินแม่ใช้ ในที่สุดแม่ก็ยอมให้ทำ”

เนตรขายนมเปรี้ยวที่แยกเจริญศรีมาแล้วกว่า 3 ปี ตั้งแต่เรียนชั้น ม.2 โดยก่อนหน้านี้เธอได้ทำงานอื่น ๆ มาก่อนแล้ว ทั้งไปทำงานกับแม่ งานพาร์ทไทม์ งานเสิร์ฟและล้างจาน แต่ด้วยอายุที่ยังไม่ถึงกำหนดทำให้เธอโดนกดค่าแรงจนสุดท้ายเธอก็ออกจากงานทั้งหมด แล้วมาขายนมเปรี้ยวที่แยกเจริญศรี

“เกิดจากการชักชวนของเพื่อนที่เป็นลูกเจ้าของที่เขาเป็นตัวแทนจำหน่าย จึงลองมาขายตั้งแต่ตอนนั้น”

เนตรเรียกสิ่งที่ตัวเองทำว่า ‘งานเสริม’ สำหรับเธอแล้วเธอยังไม่ได้เรียกว่าอาชีพ เพราะเธอมาทำเพียงเพราะต้องการเงินมาจุนจือตัวเองเท่านั้น และเธอยังมองว่าสิ่งที่ตนขายนั้นคือ นมเปรี้ยว ไม่ใช่ชุดนักเรียนหรือความน่าสงสารแต่อย่างใด เพราะในบางวันเองเธอไม่ได้ใส่ชุดนักเรียนมาเธอก็ยังขายได้

“การขายได้หรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชุดที่ใส่มันอยู่ที่คนจะมอง บางคนว่าเราเป็นคนขยัน หรือบางคนก็ซื้อเพราะอยากดื่มนมเปรี้ยวเท่านั้น แต่ก็ยังมีคนอุดหนุนเพราะความสงสารและได้มาสอบถามว่าทำไมเธอถึงมาขาย ค่าใช้จ่ายที่บ้านไม่เพียงพอหรือ เราก็เลือกที่จะตอบคนที่ถามไปตรง ๆ ว่าที่มาขายก็เพราะต้องการหาเงินช่วยที่บ้านและหากค่าใช้จ่ายที่บ้านเพียงพอก็ไม่อยากขอเงินจากพ่อแม่”

เนตรมองว่าส่วนแบ่งร้อยละ 20 นั้นค่อนข้างน้อยและไม่เพียงพอ เพราะไม่มีหลักประกันว่าในวันนั้นจะขายได้ถึง 5 ชุด หรือไม่ เท่าที่เธอเคยขายได้มากสุดคือ 40 ชุด และน้อยสุดคือ 1 ชุด และยังมีวันที่ขายไม่ได้เลยสักชุดก็มี “วันที่ขายไม่ได้ก็รู้สึกท้อใจจนไม่อยากจะมาขาย แต่ท้ายที่สุดก็ยังมาขายเหมือนเดิม”

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อการขายคือ เศรษฐกิจ เพราะก่อนหน้านี้เธอขายได้ดีในทุกวัน หลังจากที่มีโควิด-19 ระบาดก็ทำให้เธอขายไม่ได้หรือหากขายได้ก็น้อย

“ที่อยากทำจริง ๆ คือ งานที่เป็นอาชีพและมีรายได้มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นงานโรงงานหรืออะไรก็ได้ อยากทำพลาง ๆ ไปก่อนและเมื่อเรียนจบก็จะไปทำงานตรงสายวิชาชีพที่เรียนมา การมาเดินขายนมเปรี้ยวเป็นระยะเวลานานพอสมควรแต่ก็ไม่ได้ไปถึงฝันที่วาดไว้เสียที หรือหากเราต้องการอะไรก็ต้องใช้เวลาเก็บนานพอสมควรกว่าจะได้สิ่งนั้นมา”เนตรบอกว่า เมื่อขึ้นปวส.2 เธอจะหยุดขายนมเปรี้ยว

ส่วนการไหว้ที่อ่อนน้อมเนตรมองว่า ไม่ใช่เรียกคะแนนความน่าสงสาร แต่เป็นการเคารพลูกค้าไปในตัว ถ้าหากลูกค้าไม่อุดหนุนก็ก้มหัวเพื่อก้มรับ การใส่ชุดนักเรียนหรือชุดพละก็เหมือนทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นว่าเป็นนักเรียนจริง ๆ ทำให้คนสงสารขึ้นไปอีกและดูเป็นชุดสุภาพอีกด้วย

เนตรยังเล่าถึงประสบการณ์ที่ไม่ดีกับเธอเช่นกัน “บางคนถามว่าเท่าไร? ทีแรกหนูก็ไม่รู้ หนูเลยบอกว่าชุด 100 ค่ะ แต่เขาก็บอกว่า หมายถึงเราน่ะ เท่าไร? หรือบางทีก็ถามว่า มีไลน์ไหม? ถ้าจะไม่ให้เขาก็จะอยู่อย่างนั้น หนูก็บอกว่าไม่ให้แล้วเดินหนีไป แล้วก็มีครั้งหนึ่งที่ลูกค้าผู้ชายแลบลิ้นออกมาแล้วก็รัวลิ้นใส่ รู้สึกแย่มาก ตอนนั้นคือหนูกลัวไปเลย” เธอเจอลูกค้านิสัยแย่ ๆ แบบนี้แทบจะทุกวัน

เก็บเงินซื้อของที่อยากได้

พี นักเรียนชั้น ม.6 เล่าว่า ที่มาเดินขายนมเปรี้ยวที่สี่แยกไฟแดง (แยกคำน้ำแซบและแยกหนองตาโผ่น) เพราะต้องการหาเงินมาใช้ส่วนตัว อยากมีเงินซื้อของที่ตัวเองอยากได้ ซื้อเสื้อผ้า หรือของสะสมต่างๆ เขาอาศัยอยู่กับน้าซึ่งเป็นข้าราชการ ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาน้าเป็นคนดูแลให้ แต่พีอยากแบ่งเบาภาระของน้าในส่วนของที่ตัวเองอยากได้ ถ้าเป็นเงินที่ตัวเองหาได้เองจะสบายใจมากกว่า

พีเล่าว่าก่อนที่จะมาทำงานนี้พีเคยไปเก็บของเก่ากับป้า ทำตั้งแต่เช้าจนค่ำ แต่ได้ค่าแรงแค่วันละ 100 บาท ซึ่งไม่คุ้มกับแรงที่เสียไปพีเลยต้องหาอย่างอื่นทำแทน นั่นคือการมาขายนมเปรี้ยวที่สี่แยกไฟแดง

“แค่เดินไปบอกกับคนที่ขายอยู่ก่อนว่าอยากจะมาทำ วันต่อมาก็สามารถมาขายได้เลย ทางบริษัทจะแพ็คนมใส่ถุงและนำใส่กระเป๋ามาให้ เตรียมแค่กายและใจให้พร้อมก็พอครับ เพราะมันเป็นงานที่ต้องสู้กับแดด ไม่ต้องส่งเอกสารอะไร แค่ไปบอกกับพี่เขาว่าเราจะมาขาย วันพรุ่งนี้พี่เขาก็จะจัดนมใส่กระเป๋ามาให้”

ร้อยละ 20 คือ ส่วนแบ่งที่พีจะได้รับจากการขาย หากขายได้ 1 ชุด ชุดละ 100 บาท พีจะได้ค่าแรง 20 บาท ทั้งนี้ใน 1 วันจะได้เงินค่าแรงเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับยอดการขายว่าในวันนั้นจะขายได้กี่ชุด

พีเรียกสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ว่า งาน เพราะว่าทำแล้วได้เงินค่าตอบแทน วันที่ได้มากหลักจากหักเปอร์เซ็นต์แล้วก็เป็นเงินพันกว่าบาท หรือวันที่ได้น้อยจริง ๆ ก็ขายได้แค่ชุดเดียว เท่ากับว่าวันนั้นพีได้เงินเพียง 20 บาทเท่านั้น

“ผมมาขายนมเปรี้ยวเพื่อค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบ ผมยังค้นไม่พบว่าตัวเองชอบอะไรและอยากเรียนอะไรต่อ หากจบ ม.6 แล้วยังไม่พบสิ่งที่ตัวเองชอบ ผมก็จะออกไปทำงานหาเงินจนกว่าจะพบ แล้วค่อยเรียนต่อ”

ส่วนเรื่องเครื่องแต่งกายที่เรามักจะพบเห็นเด็กใส่ชุดนักเรียนหรือชุดพละของโรงเรียนมาขายในวันเสาร์-อาทิตย์ นั้น พีบอกว่า ทางบริษัทไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นชุดเหล่านี้ แต่การใส่ชุดนักเรียนทำให้ขายได้ง่ายกว่า เพราะคนจะมองว่าเป็นเด็กขยัน ตัวพีเองเคยใส่ชุดไปรเวทมาขายและพบว่ายอดขายไม่ดีและขายยาก นอกจากชุดนักเรียนแล้ว จุดขายอีกอย่างคือ การไหว้ ขอบคุณรถทุกคันที่ทั้งอุดหนุนและไม่อุดหนุน

ส่วนการแบ่งพื้นที่บนถนนนั้น แต่ละคนจะต้องอยู่ประจำเลนของตน หากเลนที่อยู่ขายไม่ได้ก็สามารถเปลี่ยนไปขายในเลนที่ไม่มีคนประจำอยู่ และก็มีปัญหาการแย่งลูกค้ากันอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับพี

เอ็ม นักเรียนชั้น ม.5 เพิ่งมาขายนมเปรี้ยวที่แยกหนองตาโผ่นได้ไม่นาน เพราะต้องการจะเก็บเงินซื้อของที่ตัวเองอยากได้และไม่อยากขอเงินจากที่บ้าน จึงเลือกที่จะออกมาทำงานเอง เพียงแค่บอกคนที่ทำอยู่แล้วว่าอยากมาทำ จากนั้นก็สามารถมาขายได้เลย

“ส่วนแบ่งร้อยละ 20 ถือว่าเพียงพอ เพราะถ้าวันนั้นขายได้หลายชุดก็ได้เงินหลายบาท ที่ผมเคยขายแล้วได้ส่วนแบ่งมากสุดเป็นเงิน 500 บาทและที่ได้น้อยที่สุด คือ 120 บาท ซึ่งเป็นการมาขายวันแรกที่ผมยังไม่ชำนาญ”

เรื่องการใส่ชุดนักเรียนเอ็มให้เหตุผลว่า ที่ต้องใส่เพราะส่วนมากมาขายหลังจากที่เลิกโรงเรียนแล้วและวันเสาร์ อาทิตย์ก็เช่นกัน บางทีมีกิจกรรมก็จะไปที่โรงเรียนก่อน พอเลิกก็มาขายนมเปรี้ยวต่อ “ชุดนักเรียนก็มีผลต่อการขายก็จริงแต่ก็มีคนที่ใส่ชุดไปรเวทมาขายก็ยังขายได้ อยู่ที่ทักษะของแต่ละคนมากกว่า”

เอ็มกล่าวว่า เขาน่าจะขายนมเปรี้ยวไปอีกสักพัก รอให้อายุถึงเกณฑ์ทำงานพาร์ทไทม์ได้ก็จะหางานอื่นทำ ส่วนงานขายนมเปรี้ยวถือว่าเป็นงานที่มีอิสระ อยากมาขายตอนไหนก็ได้หรือเลิกตอนไหนก็ได้ ไม่มีใครมาต่อว่าหรือบังคับ


หมายเหตุ
ผลงานชิ้นนี้อยู่ในโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สนับสนุนโดย สถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตฟินแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ UNDP และ UNESCO

ข่าวที่เกี่ยวข้อง