เรื่อง: สิทธิศักดิ์ มุญมั่น/ Louder
ชาวนาในภาพจำของคุณเป็นอย่างไร? เกษตรกรผู้มีความสุขจากการปลูกข้าว ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายอยู่ตามชนบท เพราะไม่ต้องดิ้นรนเข้ามาหางานทำในตัวเมืองใหญ่อันแสนวุ่นวาย หรือเป็นภาพของคุณลุงที่กำลังเดินจูงควายไปไถนาในยามเช้าหรือไม่
ในหมู่บ้านที่ห่างไกลจากความเจริญ จากเมืองใหญ่ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้คนส่วนใหญ่ล้วนมีอาชีพทำนา ข้าวนับเป็นผลผลิตทางการเกษตรหลักที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้ในปริมาณมากต่อปี จากข้อมูลของคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติชี้ให้เห็นว่า ในปี 2565 ประเทศไทยมีปริมาณการส่งออกข้าวสูงถึง 4.75 ล้านตัน
แต่คำถามคือ ในเมื่อตัวเลขสูงถึงขนาดนี้ แล้วทำไมชาวนาส่วนใหญ่ยังคงยากจน?
เป็นชาวนา มันไม่ง่าย
การเป็นชาวนาที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาตินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะด้วยขั้นตอนการเพาะปลูกที่ต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ ด้าน ทั้งเงินลงทุน ธรรมชาติที่ไม่มีความแน่นอน และเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ออกมามีคุณภาพ คนเหล่านี้จึงต้องอุทิศแรงกายเป็นอย่างมาก
คำปอง ศรีพรหม ชาวนาบ้านมะเมียงใต้ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์เล่าว่า “การทำนามีความยากที่สุด เพราะกว่าจะได้มามันลำบาก กว่าจะไถ จะดำหรือจะอะไร ขั้นตอนมันยุ่งยากลำบาก มันเหนื่อย” โดยตัวของเธอนั้นเลือกทำนาหว่านแทนการทำนาดำ เพราะประหยัดเวลามากกว่ากัน
“ค่าไถ 2 รอบ ค่าปุ๋ย ค่าจ้างรถเกี่ยวข้าว รวมๆ แล้วก็ประมาณ 2 หมื่นกว่าต่อปี” คำปองเล่าต่ออีกว่า ที่เหนื่อยก็เพราะต้องหาเงินมาลงทุนกับค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ สำหรับที่นาจำนวน 7 ไร่ของเธอเอง
ด้านสำเนียง สุขจิตร ชาวนาบ้านมะเมียงใต้อีกคนเล่าว่า “มันลำบากนะการทำนา ต้องทำหลายอย่าง กว่าจะไถดะและไถหว่าน กว่าจะเสร็จมันยาก ไหนจะค่าเก็บเกี่ยวอีก ต้องจ้างรถเกี่ยว หมดเยอะ แต่ละปีใช้เงินประมาณ 3 – 4 หมื่นบาท”
เพราะต้องการลดค่าใช้จ่าย เธอจึงเลือกทำนาหว่านแทนการทำนาดำที่ต้องใช้เวลาและแรงงานมากกว่า
“ลำบากมาก บางทีฝนก็ไม่ตก ค่าปุ๋ยก็แพง ค่าไถนาก็แพงตามน้ำมัน ต้องใช้จ่ายเยอะ ต้องหาทุนมาลง และต้องทำเองทั้งหมด” จำปี สายวัน ชาวนาอีกคนบ่นด้วยน้ำเสียงสิ้นหวังถึงความลำบากที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการทำนา
“ค่าปุ๋ยปีนี้ 10 ไร่ 10 กระสอบ ทั้งหมดตีไปเลยประมาณ 15,000 บาท ไหนจะค่าไถดะ ไร่ละ 200 บาท ไถปั่นอีกไร่ละ 250” จำปีเล่าต่อถึงจำนวนเงินที่เธอต้องเตรียมไว้สำหรับการจ้างรถไถนา เพราะการหว่านจำเป็นต้องไถหน้าดินมากกว่า 1 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 คือ เพื่อเตรียมหน้าดิน หลังจากนั้นจึงหว่านเมล็ดพันธุ์ ก่อนที่จะไถดินแบบการปั่นเพื่อกลบเมล็ดอีกครั้ง
กู้เงินมาลงทุนทำนา
“เงินกู้บ้าง เงินเก็บบ้าง เงินที่เราทำงานมาแล้วมันเหลือก็จะเอาไปซื้อปุ๋ย ถ้าไม่พอก็ไปกู้เอาจากคนรู้จัก หนี้นอกระบบ” เพราะค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่คำปองมีไม่เพียงพอ เธอจึงต้องอาศัยกู้จากคนรู้จัก เพื่อมาสมทบกับสิ่งที่มี
เช่นเดียวกับจำปีที่ต้องเลือกใช้วิธีนี้ เพราะเงินที่มีไม่เพียงพอ “เงินเกือบทั้งหมดก็กู้ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์) ได้ข้าวมาค่อยขายเพื่อใช้หนี้”
ด้านสำเนียงเธอเล่าว่า “เงินลงทุนก็มาจากเงินที่ทำงานกับสามีบ้าง เงินขายข้าวจากการทำนาครั้งก่อนบ้าง” เพราะลูกบรรดาลูกๆ ต่างมีครอบครัว ไม่สามารถช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ เธอและสามีจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบหาเงินมาลงทุนด้วยตนเอง
รายได้ชาวนามาจากไหน
เพราะการทำนานั้นมีเพียงปีละครั้ง ฉะนั้น ช่วงที่เว้นว่างไปจึงต้องหารายได้เสริม เพื่อนำมายังชีพของตนและครอบครัว ชาวนาส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่มีงานประจำ จึงต้องอาศัยการทำงานรับจ้างทั่วไปหรือการก่อสร้างตามหมู่บ้านละแวกใกล้เคียง
“รายได้มาจากรับจ้างทั่วไป แม่ครัวตามงานบุญบ้าง ก่อสร้างบ้าง แล้วแต่เขาจะจ้าง คำปองตอบคำถามถึงที่มาของรายได้ช่วงว่างเว้นการทำนา ก่อนจะบ่นต่อด้วยโทนเสียงเรียบๆ อีกว่า “รายได้มันไม่พอใช้หรอก เพราะไม่มีงานประจำทำแบบคนอื่น”
“ก็อาศัยทำงานเล็กๆ น้อยๆ ได้เดือนละ 1,000 – 2,000 บาท” สำเนียงพูดพลางหัวเราะ เพราะไม่ได้ไปรับจ้างกับสามีที่กรุงเทพฯ เธอจึงต้องหางานที่สามารถทำที่บ้านได้ เพื่อนำรายได้มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ด้านจำปีเธอเล่าว่า “ว่างๆ ก็รับจ้างทั่วไป เช่น ก่อสร้าง ตัดอ้อย ได้ค่าจ้างวันละ 350 บาท ทำอยู่คนเดียว แต่ก็ไม่ได้ออกไปรับจ้างทุกวันนะ ต้องแบ่งเวลามาเลี้ยงหลานด้วย ถ้าปีไหนฝนแล้งก็ต้องทำใจ มันทำอะไรไม่ได้ ไม่มีรายได้ ต้องหางานอื่นทำเพิ่ม”
ผลผลิตที่ได้ ไม่เคยคุ้มทุน
ในทุกการลงทุน ย่อมต้องมีความคาดหวังเรื่องผลกำไร แต่กับชาวนาเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะผลผลิตที่ได้มา หากนำไปขายก็ได้เงินเพียงเล็กน้อย เนื่องจากราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำลงในแต่ละปี อาชีพนี้จึงไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้เท่าที่ควร
“พูดถึงถ้าคุ้มไหม ไม่คุ้มหรอก มันเหลือไม่เยอะต้นทุนมันสูง ค่าปุ๋ยก็แพง ค่าไถก็แพง ค่าเก็บเกี่ยวก็ไร่ละ 700 บาท ไหนจะค่าจ้างรถขนส่งข้าวอีก” คำปองพยายามเล่าให้เห็นการลงทุนกับผลลัพธ์ที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง เพราะเงินที่ได้จากการขายข้าวนั้นแทบไม่เหลือ
ด้านสำเนียงเธอเล่าว่า “ไม่คุ้ม และก็แทบจะไม่พอใช้ ขายมาก็จ่ายแต่ค่าเก็บเกี่ยว แค่นั้นก็หมดแล้ว จะเก็บไว้ใช้หนี้ยังแทบจะไม่ได้เลย”
ต่างจากจำปีที่ยังพอมีเรื่องให้น่ายินดี เธอเล่าว่า “ปีนี้ยังดีที่เราขายข้าวได้ 13 บาท ต่างจากปีที่แล้วที่อยู่เพียง 10 บาท ถึงแม้จะไม่คุ้มและไม่พอใช้เท่าไหร่” ซึ่งจากข้อมูลที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รวบรวมไว้ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงเดือนมิถุนายนปี 2565 พบว่าข้าวเปลือกหอมมะลิมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 13.22 บาท และตัวเลขที่มากที่สุดคือ 15.87 บาท (ในเดือนมิถุนายน ปี 2556) นับได้ว่าเป็น 10 ปีที่ชาวนาแทบจะไม่ได้อะไรเลย
“ถ้าขายข้าวได้ราคาดีเหมือนปีนั้นก็โอเคอยู่ พออยู่ได้” จำปีเล่าต่อด้วยใบหน้าที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง
เสียงชาวนาฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“อยากให้รัฐช่วยลดราคาต้นทุนราคาปุ๋ย และผลักดันให้ข้าวมีราคาที่สูงขึ้น เวลาที่เราขายจะได้คุ้มทุนมากกว่าเดิม ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ยื่นมือเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระตรงนี้ ถ้าเขาช่วยได้นะ” คำปองพูดพลางหัวเราะ
เพราะอยากมีเงินใช้หนี้ และเหลือเก็บสำหรับคนในครอบครัวบ้าง สำเนียงจึงอยากฝากให้ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องว่า “อยากให้ช่วยเรื่องราคาข้าว ให้มันมีราคาที่ดีขึ้นมาหน่อย และอีกเรื่องคือลดราคาต้นทุนลง ค่าปุ๋ย ค่าน้ำมัน ลดลงมาหน่อย อยากมีเงินเหลือเก็บบ้าง”
“ช่วยลดค่าน้ำมันหน่อย ค่าปุ๋ยทำไมมันแพงจัง แต่ข้าวดันถูก อยากให้มาช่วยลดค่าปุ๋ยหน่อย” จำปีกล่าว
อยากเลิกเป็นชาวนาไหม?
ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างทางเศรษฐกิจที่บีบบังคับให้ชาวนาบางคนจำใจต้องทิ้งอาชีพของตน และหนีเข้าเมืองใหญ่เพื่อหางานทำ เพื่อหวังให้มีอนาคตที่ดีกว่า แต่ก็ดูเหมือนว่าเหตุผลนี้จะใช้ไม่ได้กับทั้งสามคน คำปองตอบกลับในทันใดว่า “ไม่อยากเลิก เพราะมันทำมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่โบราณ เป็นมรดกตกทอดของบรรพบุรุษ มันหยุดไม่ได้ เพราะถ้าจะไปซื้อข้าวเขากิน มันก็แพง ยังจะเป็นไปเรื่อยๆ แบบนี้แหละ รักอาชีพทำนา”
“ถ้าเลิกก็ไม่มีอะไรกิน” สำเนียงตอบ “อีกอย่างเราไม่มีอาชีพ ไม่รู้จะไปทำอาชีพอะไรแล้วที่จะสามารถเลี้ยงตัวเองกับครอบครัวได้ จะยังทำนาไปเรื่อยๆ นี่แหละ ลำบากหน่อย แต่ก็ต้องทน”
“ไม่อยากเลิกเป็นชาวนาหรอก อาชีพเราก็มีแค่นี้” จำปีตอบโดยไม่ลังเล “ถ้าเลิกทำนาแล้วจะได้อะไรใช้หนี้ ธ.ก.ส. จะได้มีกินด้วย ถ้าไม่ได้ทำนาก็ต้องซื้อข้าวสารเขา มันก็ไม่ไหว มันแพง มีนาเป็นของตัวเองแล้ว จะหยุดได้ยังไง”
หมายเหตุ : สารคดีชิ้นนี้อยู่ภายใต้โครงการ Journalism that Builds Bridges