จากการรับสมัครผู้สมัคร ส.ส. ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 3-7 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา Rocket Media Lab ชวนสำรวจผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ทั้ง 326 คน และบัญชีรายชื่อ 97 คน ของพรรคไทยสร้างไทย ว่าเป็นใคร มาจากไหนบ้าง เป็นผู้สมัครหน้าใหม่เท่าไร ย้ายพรรคเท่าไร มาจากพรรคไหนมากที่สุด
เลือกตั้ง 66 พรรคไทยสร้างไทย มีผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรคกว่า 40%
ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 Rocket Media Lab จัดทำฐานข้อมูลทางการเมืองของผู้สมัคร ส.ส. โดยแยกกลุ่มผู้สมัครเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. ผู้สมัครจากพรรคเดิม หมายถึง อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น
2. ผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น หมายถึง อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น โดยนับปีล่าสุดที่ผู้สมัครคนนั้นลงสมัคร ส.ส.
3. ผู้สมัครหน้าใหม่ หมายถึง ผู้ที่ไม่เคยลงสมัคร ส.ส. มาก่อน ทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ
เมื่อแยกผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 326 คน จากพรรคไทยสร้างไทย ในปี 2566 ตามการจัดประเภทดังกล่าว พบว่า มีผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 132 คน คิดเป็น 40.49% และมีผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวน 194 คน คิดเป็น 59.51% โดยไม่มีผู้สมัครจากพรรคเดิมเนื่องจากพรรคไทยสร้างไทยเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่เพิ่งจะลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้ง ปี 2566 นี้เป็นครั้งแรก
และเมื่อแยกตามภูมิภาค จะเห็นได้ว่ามีผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรคมากกว่าผู้สมัครหน้าใหม่เพียงภาคเดียว ซึ่งก็คือภาคตะวันตก ในขณะที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ ล้วนมีผู้สมัครหน้าใหม่มากกว่าผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรค และเมื่อดูสัดส่วนผู้สมัคร ส.ส. ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ของพรรคไทยสร้างไทยเป็นรายภูมิภาคก็จะพบว่า พรรคไทยสร้างไทยส่งผู้สมัคร ส.ส. มากที่สุดในภาคใต้ คิดเป็น 90% ซึ่งเป็นหน้าใหม่ 37 คน มาจากการย้ายพรรค 17 คน และน้อยที่สุดที่ภาคตะวันตก คิดเป็น 52.63% มีผู้สมัครย้ายพรรค 7 คน มีผู้สมัครหน้าใหม่ 3 คน
ผู้สมัคร ส.ส. ที่มาจากการย้ายพรรค
เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 326 คน จากพรรคไทยสร้างไทย เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า มีผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่ย้ายมาจากพรรคอื่น 132 คน ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้
1. ส.ส. เดิม จากปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 3 คน คิดเป็น 2.27%
2. อดีตผู้สมัคร ส.ส. เดิมจากปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 113 คน คิดเป็น 85.61%
3. อดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 16 คน คิดเป็น 12.12%
จากข้อมูลจะพบว่าผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 132 คนของพรรคไทยสร้างไทย ในการเลือกตั้ง 2566 ย้ายมาจาก
1. พรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล จำนวน 22 คน คิดเป็น 16.67%
2. พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 14 คน คิดเป็น 10.61%
3. พรรคเพื่อไทย จำนวน 12 คน คิดเป็น 9.09%
4. พรรคเสรีรวมไทย จำนวน 10 คน คิดเป็น 7.56%
5. พรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน 7 คน คิดเป็น 5.30%
6. พรรคไทยรักษาชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อชาติ พรรคภูมิใจไทย พรรคละ 6 คน คิดเป็น 4.55%
7. พรรคชาติพัฒนา จำนวน 5 คน คิดเป็น 3.79%
8. พรรคประชาชาติ จำนวน 4 คน คิดเป็น 3.03%
9. พรรครวมพลังประชาชาติไทย จำนวน 3 คน คิดเป็น 2.27%
10. พรรคความหวังใหม่ พรรคชาติไทย พรรคไทรักธรรม พรรคประชาราช พรรคพลเมืองไทย พรรคเพื่อธรรม พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และพรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคละ 2 คน คิดเป็น 1.52%
11. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคคลองไทย พรรคถิ่นไทย พรรคทางเลือกใหม่ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคผึ้งหลวง พรรคแผ่นดินธรรม พลังท้องถิ่นไท พรรคเพื่อคนไทย พรรคเพื่อนเกษตรไทย พรรคเพื่อนไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย พรรคละ 1 คน คิดเป็น 0.76%
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยสร้างไทย ที่ย้ายมาจากพรรคอื่นนั้น มาจากพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล มากที่สุด จำนวน 22 คน คิดเป็น 16.67% รองลงมาก็คือ พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 14 คน คิดเป็น 10.61% และพรรคเพื่อไทย จำนวน 12 คน คิดเป็น 9.09% อย่างไรก็ตาม หากรวมพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาติที่ถูกกล่าวว่าเป็นพรรคสาขาของพรรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2562 ไว้ด้วยกันจะพบว่า มีผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยสร้างไทย ที่ย้ายมาจากพรรคเพื่อไทยและไทยรักษาชาติรวมกันถึง 18 คน ซึ่งจะขึ้นมาอยู่อันดับสอง ขณะที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยสร้างไทย สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ เองก็มาจากพรรคเพื่อไทยเดิม แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีความน่าสนใจอยู่ว่าผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยสร้างไทย ที่ย้ายมาจากพรรคอื่นนั้นมาจากพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล มากที่สุดอยู่ดี
และเมื่อพิจารณาในรายละเอียดเฉพาะผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคไทยสร้างไทยที่เป็นอดีต ส.ส. ปี 2562 ที่มาจากการย้ายมาจากพรรคอื่นที่มีจำนวนเพียง 3 คน ก็จะพบว่า มาจากพรรคเพื่อไทยทั้งหมด นั่นก็คือ การุณ โหสกุล, ชวลิต วิชยสุทธิ์ และ ณัฐวุฒิ กองจันทร์ดี ซึ่งก็เท่ากับว่าผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคไทยสร้างไทยที่เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 ที่มาจากการย้ายมาจากพรรคอื่นนั้นมาจากพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกลมากที่สุด 22 คน รองลงมาก็คือพรรคพลังประชารัฐ 14 คน
นอกจากนั้นยังมีผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคไทยสร้างไทยที่เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 16 คน ซึ่งพบว่ามาจากพรรคเพื่อไทยมากที่สุด จำนวน 3 คน รองลงมาก็คือพรรคชาติไทย พรรคประชาราช และพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา จำนวนพรรคละ 2 คน
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคไทยสร้างไทยนั้น นอกจากจะมาจากพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกลมากที่สุดแล้ว ยังเป็นการรวมตัวของอดีตผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคการเมืองต่างๆ กว่า 30 พรรคเลยทีเดียว
ผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่
เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน จากพรรครวมไทยสร้างชาติเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่ามีผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่ถือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ของพรรครวมไทยสร้างชาติ 194 คน* สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
1. นักการเมืองระดับท้องถิ่น 71 คน คิดเป็น 36.6%
2. ประกอบอาชีพส่วนตัว 47 คน คิดเป็น 24.23%
3. ข้าราชการ/หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 31 คน คิดเป็น 15.98%
4. นักธุรกิจ 20 คน คิดเป็น 10.31%
5. ผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ 14 คน คิดเป็น 7.22%
6. เครือญาตินักการเมืองระดับชาติ 9 คน คิดเป็น 4.64%
7. นักเคลื่อนไหวทางการเมือง/สังคม 8 คน คิดเป็น 4.12%
8. นักวิชาการ/นักวิจัย 7 คน คิดเป็น 3.61%
9. เครือญาตินักการเมืองระดับท้องถิ่น 2 คน คิดเป็น 1.03%
10. บุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคม 2 คน คิดเป็น 1.03%
**พรรคไทยสร้างไทยไม่มีผู้สมัครหน้าใหม่ที่เป็นนักการเมืองระดับชาติ
*ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. 1 คน อาจมีได้มากกว่า 1 สถานะ
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยสร้างไทยที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ 194 คนมาจากกลุ่มนักการเมืองระดับท้องถิ่นมากที่สุด 71 คน คิดเป็น 36.6% โดยเป็นอดีตคนที่ทำงานใน อบจ. อบต. ในตำแหน่งต่างๆ รวมไปถึงอดีตผู้สมัคร นายก อบจ. อบต. และ ส.อบจ. ส.อบต. อีกด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาในรายพื้นที่ก็จะพบว่า ผู้สมัครหน้าใหม่ในประเภทนี้มีจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่งในภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ
รองลงมาก็คือประกอบอาชีพส่วนตัว 47 คน คิดเป็น 24.23% ตามมาด้วยข้าราชการประจำ/หน่วยงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 31 คน คิดเป็น 15.98% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการตำรวจและข้าราชการด้านการศึกษามากที่สุด ตามมาด้วยนักธุรกิจ จำนวน 20 คน คิดเป็น 10.31% และผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ 14 คน คิดเป็น 7.22% ซึ่งในหมวดหมู่นี้ส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้ประสานงานพรรค และที่ปรึกษานักการเมืองตำแหน่งต่างๆ
ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 97 คน
เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 97 คนจากพรรคไทยสร้างไทย เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า เป็นหน้าใหม่มากที่สุด 66 คน และที่มาจากการย้ายพรรค 31 คน
โดยเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่มีจำนวนมากที่สุด มาจากผู้ที่ประกอบอาชีพส่วนตัว 20 คน รองลงมาคือนักการเมืองระดับท้องถิ่น 14 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เคยมีตำแหน่งหรือลงสมัคร อบจ. อบต. และข้าราชการประจำ/หน่วยงานของรัฐ 11 คน ที่ส่วนมากเป็นข้าราชการในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ และข้าราชการด้านการศึกษา
ตามมาด้วยผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ 10 คน ซึ่งส่วนมากเป็นอดีตผู้ช่วย ส.ส. และตามมาด้วยนักธุรกิจ 7 คน
ในส่วนของผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อที่มาจากการย้ายพรรค 31 คนนั้น พบว่ามาจากพรรคเพื่อไทยมากที่สุด 12 คน พรรคไทยรักษาชาติและพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล พรรคละ 3 คน พรรคพลังประชารัฐและพรรคเสรีรวมไทย พรรคละ 2 คน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคไทยรักไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรคพลังปวงชนไทย พรรคพลังแผ่นดินทอง พรรคเพื่อชาติ พรรคภูมิใจไทย และพรรคมหาชน พรรคละ 1 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากปี 2562 และก่อนปี 2562 โดยไม่มีอดีต ส.ส. จากปี 2562 จากพรรคอื่นย้ายมาลงสมัครแบบบัญชีรายชื่อพรรคไทยสร้างไทยเลย
ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-election-66-3
หมายเหตุ
ข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. เป็นข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ
ข้อมูลผู้สมัครและประวัติ สืบค้นจากการประกาศของพรรค การนำเสนอของสื่อและโซเชียลมีเดียของผู้สมัครแต่ละเขต
การนับ ส.ส. ปี 2562 นับจากการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคม 2562
ปีที่ลงสมัคร ส.ส. ไม่นับปี 2557 ที่การเลือกตั้งเป็นโมฆะดูฐานข้อมูลว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ปี 2566 แบบแบ่งเขต รายจังหวัด (อย่างไม่เป็นทางการ) พร้อมประวัติทางการเมืองว่า เป็นผู้สมัครจากพรรคเดิม ย้ายมาจากพรรคไหน หรือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่ไม่เคยลง ส.ส. มาก่อน ภายใต้ชื่อโครงการ DEMO Thailand ได้ที่ https://demothailand.rocketmedialab.co
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...