พรรคสามัญชนจัดคาราวานรับฟังคนทำงานศิลปะในเชียงใหม่ รับปากหากได้ที่นั่งในสภาพร้อมชน

4 พฤษภาคม 2566 เวลา 18.00 – 20.00 น. พรรคสามัญชนได้จัดคาราวานสามัญชน ART FOR ALL ศิลปะเพื่อทุกคน โดยมีวัตถุประสงค์ในการเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งข้อเสนอด้านศิลปะวัฒนธรรม ณ ข่วงประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่

โดยในช่วงแรกจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถพูดในเรื่องที่อยากสื่อสารได้อย่างอิสระ โดยมีทั้งประเด็นที่เกี่ยวกับนโยบายที่ดินที่ไล่คนออกจากป่า ปัญหาที่คนชาติพันธุ์ต้องเผชิญใน 4 ปีที่ผ่านมา รวมไปถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ม.112 เรื่องของการทำงานศิลปะที่รัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่สนับสนุน รวมไปถึงปัญหาทางเศรษฐกิจที่รัฐผลักภาระให้ประชาชนต้องเผชิญวิกฤตเป็นต้น

ต่อด้วยวงเสวนาทิศทางศิลปะในสังคมไทย โดยศิลปิน คนทำงานสร้างสรรค์ที่อยู่ในเชียงใหม่ เพื่อให้ความเห็นต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศิลปะในประเทศไทย และข้อเสนอในการปลดแอกศิลปะที่สร้างสรรค์

รับชมไลฟ์ได้ที่ https://www.facebook.com/lanner2022/videos/1288850822011620

ณัฐนพิน อินสิธร ศิลปินภาพและชิบาริ ให้ความเห็นว่าการสร้างสรรค์งานศิลปะไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ต้องเจียดเวลาไปทำมาหากินอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้รัฐเองก็ไม่มีการสนับสนุนคนทำงาน ข้อเสนอที่ณัฐนพินต้องการเสนอก็คือ รัฐต้องสนับสนุนคนทำงานและสนองปัจจัย 4 เพื่อให้ศิลปินสามารถดูแลตัวเองเพื่อพัฒนาต่อไปได้ รวมไปถึงการจัดหาทุน ที่อยู่อาศัย และการให้ความรู้ในเรื่องของภาษี

ภราดล พรอำนวย นักดนตรีและเจ้าของธุรกิจบาร์แจ๊ส พูดถึงสถานการณ์ในแวดวงศิลปะดนตรีในเชียงใหม่ที่ต้องเผชิญคือ แนวทางดนตรีที่ไม่ใช่ดนตรีกระแสหลักไม่มีพื้นที่เล่น เช่น กรณีนักดนตรีดนตรีแจ๊สที่ค่อย ๆ น้อยลงอย่างน่าตกใจ ทั้งนี้ภาครัฐยังไม่สนับสนุน แต่มักมีข้ออ้างที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในแบบที่ไม่มองเห็นความหลากหลาย รวมไปถึงพื้นที่ศิลปะ พื้นที่สาธารณะก็ไม่เปิดพื้นที่ให้ศิลปินได้สื่อสารและสร้างงานเท่าที่ควรจะเป็น

นลธวัช มะชัย ศิลปินจากลานยิ้มการละคร กล่าวถึงรัฐในฐานะที่ต้องสนับสนุนงานศิลปะ แต่ก็มักจะชอบมองข้ามความสร้างสรรค์ หวังเด็ดยอดผ่านมาเอาดีเข้าตัวเอง และแคร์นักท่องเที่ยวในฐานะของกลุ่มที่สร้างรายได้ผลกำไล ในส่วนของภาพรวมในระดับประเทศ นลธวัชให้ความเห็นถึงการแข่งขันกันเองของศิลปินที่รัฐไม่เคยเหลียวแล

ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ผู้สอนศิลปะ ได้แสดงความคิดเห็นว่าในประเทศที่มีประชาธิปไตยนั้นสามารถทำไรก็ได้อย่างมีเสรีภาพ แต่ในประเทศที่ไม่มีเสรีภาพ นั้นจะไร้ซึ่งวุฒิภาวะ อย่างกรณีการเกิดขึ้นของ สว.250 คน ในสภาที่คอยขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตย ทั้งนี้ในมุมมองของอาจารย์ผู้สอนนักศึกษาวิชาศิลปะนั้น การที่นักศึกษาศิลปะถูกคาดโทษจากมหาวิทยาลัยนั้นถือเป็นการทำลายคุณค่าของเสรีภาพในการแสดงงาน ไม่มีการตรวจสอบความเป็นมนุษย์ ไร้นิเวศทางความคิดรอวันล้มสลาย

ทั้งนี้ทัศนัยยังมีข้อเสนอในการหาทางออกกับเรื่องนี้คือ การบริหารเชิงโครงสร้าง ที่สัมพันธ์กับการกระจายอำนาจ เช่น สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ต้องไม่รวมศูนย์และรวบอำนาจวัฒนธรรม แต่ต้องอนุญาตให้กับวัฒนธรรมแบบอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ยังต้องย้ำถึงความสำคัญว่าโลกนี้สร้างมาจากสามัญชนไม่ใช่แค่ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยทัศนัยได้เสนอว่าต้องมีการเชิดชูเกียรติให้กับเหล่าประชาชนที่ต่อสู้กับความเป็นมนุษยชนและประชาธิปไตย ในหอเกียรติยศสามัญชน

“ผมอยากเห็นอนุสาวรีย์ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ที่ขับแท็กซี่ชนรถถังต่อต้านรัฐประหารที่หน้าศาลปกครอง”

นพ.การันตร์ วงศ์ปราการสันติ หมอและคนทำหนังนอกกระแส พูดถึงการกระจายอำนาจว่าถ้ามีการกระจายอำนาจ ศิลปะก็จะเกิดความหลากหลายขึ้น ไม่มีการรวมศูนย์ ศิลปะต้องเข้าสู่ชุมชนต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนคนทำงานสร้างสรรค์ให้สร้างสหภาพเพื่อรวมตัวกัน

โดยพรรคสามัญชนได้ให้คำมั่นสัญญาว่าทุกความคิดเห็นที่เกิดขึ้นในคาราวานสามัญชน ART FOR ALL จะต้องถูกผลักดันต่อไป ถ้าพรรคสามัญชนมีตัวแทนเข้าไปในสภาได้

สุริยา แสงแก้วฝั้น เลขาธิการพรรคสามัญชน ยังพูดถึงการเลือกตั้งในครั้งนี้ว่าเราทุกคนสามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้ผ่านการเลือกตั้ง

“14 พฤษภาคมนี้ เข้าคูหา กาพรรคสามัญชน เข้าคูหากาพรรคประชาธิปไตย ใครไม่ชนสามัญชน”

ทั้งนี้ยังสามารถเข้าไปดูนโยบายของพรรคสามัญชนได้ที่ https://me-qr.com/f/CommonersParty66

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง