ศักดินาหลบไปถึงเวลาสามัญชน คุยกับตัวแทนพรรคสามัญชนเขตงานภาคเหนือ ที่ไม่ได้อยู่เหนือหัวใคร


ตั้งแต่ห้วงเวลาของการรัฐประหารโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เราคงจะได้ยินชื่อของ ”พรรคสามัญชน” ในฐานะของขบวนการของนักกิจกรรม NGOs และเครือข่ายชาวบ้านที่เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยและความเท่าเทียม ที่เชื่อว่าชาวบ้านสามัญชนคนธรรมดาทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งและมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ในทุกระดับ ตั้งแต่ท้องถนนยันรัฐสภาได้ สามารถพูดปัญหาของตัวเองได้อย่างกล้าหาญ

ก่อนที่ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 ในช่วงเวลาที่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 กำลังจะเปิดฉากขึ้น พรรคสามัญชนก็ได้จดทะเบียนจัดตั้งพรรคอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่บีบลมหายใจของพรรคเล็ก ๆ ให้จัดตั้งพรรคได้โดยยาก แต่พรรคสามัญชนก็ยังคงยืนหยัดเดินหน้าต่อ

แม้จะผ่านช่วงเวลาของการเรื่องตั้งปี 62 มาแล้ว และพรรคสามัญชนเองก็ไม่มีที่นั่งสักที่นั่งในสภา แต่ใช่ว่าเปลวไฟของคนธรรมดาสามัญชนจะแห้งแล้งดับไป การเคลื่อนไหวบนท้องถนนยังคงเป็นภารกิจต่อเนื่องที่เหล่าสมาชิกพรรคสามัญชนปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องทั่วแดนดิน ในประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่รัฐไม่คิดจะจัดการแก้ไข

2566 วันฟ้าเปลี่ยนที่ประชาชนทุกคนจะได้จับปากกาเลือกอนาคตประเทศผ่านการเลือกตั้ง พรรคสามัญชนก็ไม่รีรอที่จะนำพาตัวตนความเชื่อของตัวเองเพื่อเดินทางเข้าสภาอีกครั้ง พร้อมกับนโยบายที่แหลมคมทลายเพดานในแบบที่หลายพรรคอาจไม่กล้าแม้แต่จะพูด

เราพบกับ เยล-สุริยา แสงแก้วฝั้น เลขาธิการพรรคสามัญชน พร้อมด้วย บาม-วุฒิชัย พากดวงใจ  : รองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ พิม-ลักษณารีย์ ดวงตาดำ โฆษกพรรค, ปอ-ปณิธ ปวรางกูร กรรมการภาคเหนือ และคะติมะ หลีจ๊ะ คณะทำงานพรรคสามัญชนเขตงานภาคเหนือ ในคาราวานสามัญชน ART FOR ALL ศิลปะเพื่อทุกคน เวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอด้านศิลปะวัฒนธรรม สื่อรูปแบบใหม่ สื่อนอกกระแส และคนทำงานสร้างสรรค์ ความคาดหวังจากศิลปินถึงรัฐบาลใหม่ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 ณ ข่วงประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เวทีเล็ก ๆ ที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถพูดในเรื่องที่อยากสื่อสารได้อย่างอิสระ โดยมีทั้งประเด็นที่เกี่ยวกับนโยบายที่ดินที่ไล่คนออกจากป่า ปัญหาที่คนชาติพันธุ์ต้องเผชิญใน 4 ปีที่ผ่านมา รวมไปถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ม.112 เรื่องของการทำงานศิลปะที่รัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่สนับสนุน รวมไปถึงปัญหาทางเศรษฐกิจที่รัฐผลักภาระให้ประชาชนต้องเผชิญวิกฤตเป็นต้น และต่อด้วยวงเสวนาทิศทางศิลปะในสังคมไทย โดยศิลปิน คนทำงานสร้างสรรค์ที่อยู่ในเชียงใหม่ เพื่อให้ความเห็นต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศิลปะในประเทศไทย และข้อเสนอในการปลดแอกศิลปะที่สร้างสรรค์

“นี่เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่เราทำได้ ในการค้นหาข้อเสนอจากน้ำเสียงของทุกคน”

สามัญชนคนธรรมดา

“ถ้าตอบแบบประชาชนผู้ที่มีสิทธิมีเสียงในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ก็ตอบเลยว่าพรรคสามัญชนเป็นพรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายที่ตรงไปตรงมาและสำคัญไปกว่านั้น คือแต่ละนโยบายของพรรคสามัญชนกลั่นมาจากความเดือนร้อนของชาวบ้านที่เป็นประสบการณ์ในการต่อสู้ของพี่น้องประชาชน มันถูกผลักเป็นนโยบายที่พูดผ่านพรรคการเมือง จึงทำให้ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งกับพรรคการเมืองเป็นเนื้อเดียวกัน”


“พรรคสามัญชนเป็นอีกพรรคหนึ่งที่ยืนตรงกันข้ามกับพรรคการเมืองที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเผด็จการทหารหรือพรรคฝากฝั่งอนุรักษ์นิยมอย่างชัดเจนและสื่อสารข้อเรียกร้องของพี่น้องประชาชนอย่างตรงไปตรงมา เพราะมันคือความต้องการของประชาชนและเสียงของประชาชนผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจริง ๆ”

จุดที่เหยียบไม่นอบน้อมทุนศักดินา

“จุดยืนของพรรคสามัญชนชัดเจนคือการปฏิเสธทุก ๆ สถาบันที่ไม่ได้มาจากฉันทามติของประชาชน ไม่เอารัฐประหาร และการสืบทอดอำนาจจากเผด็จการ เพราะพรรคสามัญชนเราเชื่อในเรื่องอำนาจในการตัดสินใจในทางการเมืองต้องมาจากเสียงของประชาชน เพราะประชาชนคือผู้ที่จะกำหนดอนาคตของตนเอง พรรคสามัญชนเราเชื่อว่าการสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพี่น้องประชาชนต้องเริ่มจากประชาธิปไตยทางตรงที่ส่งเสริมขบวนการภาคประชาชนและยึดโยงกับประชาชน เป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพความเสมอภาคที่จะนำไปสู่สังคมที่เป็นธรรมได้ เพราะฉะนั้น 14 พฤษภาคม 66 นี้ เป็นเจตจำนงของพรรคสามัญชนอีกครั้งที่จะเสนอตัวแทนของพรรคสามัญเพื่อเข้าไปนั่งในรัฐสภาและจะประกาศจุดยืนดังกล่าวของพรรค”


พรรคสามัญชนจะไม่ร่วมสังฆกรรมกับทุกพรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐประหาร พรรคสามัญชนจะไม่มีวันทรยศจุดยืนของพรรคสามัญชนและจะไม่หักหลังต่ออุดมการณ์ของพรรคสามัญชนที่ได้ประกาศตัวอย่างชัดเช่นว่าจะทำงานกับภาคประชาสังคมทุก ๆ เครือข่าย ที่สนับสนุนประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมความเป็นธรรมทางสังคม และจะทำงานกับคนรุ่นใหม่เพื่อที่จะผลักดันแก้ไขและยกเลิกกฏหมายที่ลิดรอนและจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

พรรคสามัญชนจะไม่จับมือกับนายทุนในทุก ๆ กรณีไม่ว่าในทางการเมืองหรือในทางอื่นใดก็ตามอย่างเด็ดขาด

Commoners  For All ถึงเวลาสามัญชนเข้าสภา

สำหรับภาพรวมของนโยบายพรรคสามัญชน แบ่งออกได้เป็น 7 หมวดใหญ่ ที่มาจากการรวบรวมจัดทำนโยบายในรูปแบบของ”คาราวานสามัญชน”

1.การศึกษาที่เป็นธรรม Education For All

2.ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม Environment For All

3.เศรษฐกิจที่เป็นธรรม Economy For All

4.สิทธิแรงงานและคนทำงาน Workers World,Unite

5.ความเป็นธรรมและความหลากหลายทางเพศ Equality For All

6.รัฐสวัสดิการที่เป็นธรรม Welfare State For All

7.สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง Free Speech For All

สามารถอ่านนโยบายทั้งหมดได้ที่ https://me-qr.com/f/CommonersParty66


“เสน่ห์ของพรรคสามัญชน คือเป็นพรรคที่พยายามจะก้าวข้ามข้อจำกัดของพรรคการเมือง ที่ติดอยู่ในกรอบ กติกา ระเบียบ นโยบายบางอย่างที่ล่อแหลมในทางสังคมและเป็นประโยชน์อันสำคัญต่อพี่น้องประชาชนตกไป บางพรรคการเมืองก็อาจจะติดกับข้อจำกัดอะไรหลาย ๆอย่าง เลยทำให้ไม่สามารถที่จะพูดหรือเสนอนโยบายหรือจุดยืนของพรรคตนเองได้ และไอ้นโยบายที่พูดไม่ได้เหล่านั้นแหละมันคือปัญหาของพี่น้องประชาชนจริง ๆ แต่พรรคสามัญชนพร้อมที่จะเปิดเผยและพร้อมที่จะกล้านำเสนอต่อสาธารณะชนอย่างตรงไปตรงมา อันนี้ผมคิดว่าคือความกล้าหาญของพรรคสามัญชน พรรคสามัญชนเห็นความสำคัญของเสียงและข้อเรียกร้องของพี่น้องประชาชนมากกว่าข้อจำกัดหรือกฎระเบียบทาง กกต. กำหนด”

“สำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ ถ้าคุณเชื่อมั่นว่าสามัญชนจะเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ได้ ขอฝากทุกคนช่วยกันส่งสามัญชนเข้าสภา กาเบอร์ 51 ไปด้วยกัน”

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง