Home Blog

‘เลาฟั้ง’ ฉะ พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ ถูกขวาง คาดมีคนเสียผลประโยชน์

0

15 มกราคม 2568 เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คชื่อว่า Laofang Bundidterdsakul ถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. โดยระบุว่า

ทำไม พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ ที่กำลังเข้าสภาฯ ถึงถูกขัดขวาง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีสัญญาณใดๆ ว่า ส.ส.หรือพรรคการเมืองใดจะคัดค้าน และตลอดการพิจารณาเรียงมาตราในสภาฯ ก็ไม่มีปัญหาใดๆ จนกระทั่งมาถึงมาตราท้ายๆ คือหมวดที่ว่าด้วย “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” ก็มี ส.ส. อาวุโสกลุ่มหนึ่งในพรรครัฐบาลได้ลุกขึ้นอภิปรายคัดค้าน โดยอ้างว่าเขียนวกวนอ่านไม่เข้าใจบ้าง เขียนไม่ถูกต้องบ้าง กลัวว่าจะกระทบต่อพื้นที่ป่าบ้าง และขัดต่อรัฐธรรมนูญบ้าง ลามไปถึงตำหนิกรรมาธิการและเจ้าหน้าที่ในห้องประชุมสภาฯ ด้วย ซึ่งผมและกรรมาธิการท่านอื่นๆ ก็ได้พยายามชี้แจงแล้ว ประธานกรรมาธิการฯ และวิปฝ่ายรัฐบาล ก็พยายามไปเจรจาแล้ว แต่ไม่เป็นผล ในที่สุดจึงต้องเลื่อนการประชุมออกไปก่อน แต่เมื่อถึงการประชุมนัดต่อมาฝ่ายรัฐบาลก็ขอให้เลื่อนการพิจารณาออกไปอีกครั้ง โดยขอเวลา 3 สัปดาห์ พร้อมกันนี้ก็มี ส.ส.อาวุโสบางคนในพรรคเพื่อไทยก็ยังอภิปรายย้ำอีกว่ามีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ

​ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียง คือ “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” เป็นการร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐ ชุมชนและภาควิชาการ ประกาศกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถดำรงชีวิตได้อย่างภาคภูมิ โดยรับรองให้มีสิทธิในการใช้ที่ดิน ทรัพยากร และสามารถพัฒนาอาชีพและสิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนกับพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของปัญหาทั้งหมด ซึ่งโดยเนื้อหาแล้วก็คล้ายๆ กับนโยบาย คทช. ของรัฐบาล เพียงแต่เอื้อประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านมากกว่า

​คำถามคือ ทำไมการออกกฎหมายเพื่อกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ฯ ถึงถูกคัดค้านอย่างแข็งขัน

​ผมคิดว่าเรื่องนี้ย่อมไม่ใช่การคัดค้านด้วยเหตุผลด้านกฎหมายหรือความคิดเห็นส่วนตัวอย่างแน่นอน เพราะได้รับทราบจากวิปฝ่ายรัฐบาลว่า ส.ส. อาวุโสที่เป็นนักกฎหมายหลายคนในพรรครัฐบาล ได้ชี้แจงอย่างชัดเจนแล้วว่าไม่มีประเด็นขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงน่าเชื่อว่าพวกเขาเหล่านั้นถูกผู้มีอำนาจ ข้าราชการประจำในกระทรวงทรัพย์ฯ และกลุ่มนายทุนเหมืองแร่ลอบบี้ให้คัดค้าน เพราะการกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองนี้จะกระทบต่ออำนาจและผลประโยชน์ของพวกเขาเหล่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาต่างก็ทราบดีว่าเป็นพวก “เสือนอนกิน” ผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์ในทรัพยากรของรัฐมาโดยตลอด โดยอ้างเพื่อรักษาป่าไม้ของชาติและประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ

​นอกจากเกิดปรากฏการณ์ ส.ส.ขัดขวางกฎหมายนี้แล้ว ยังทราบมาอีกว่า สว. บางส่วนก็ถูกล็อบบี้ไว้หมดแล้ว จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าเมื่อผ่านสภา ส.ส. ไปแล้ว อาจจะถูกคัดค้านจากสภา สว. อีก

​กลุ่มแรก คือ ผู้มีอำนาจและข้าราชการในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีสองด้าน คือ

​ด้านที่หนึ่ง พวกเขาจะสูญเสียอำนาจบางส่วน (ความจริงเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก คือ ไม่เกิน 1% ของพื้นที่) ซึ่งผมเชื่อว่าความจริงแล้วพวกเขาไม่ได้สนใจพื้นที่ที่ถูกตัดอำนาจไป หากแต่ไปกระทบต่อชุดอุดมการณ์ความคิดแบบอนุรักษ์นิยม และทำให้พวกเขารู้สึกสูญเสียอำนาจที่ตนผูกขาดมาตลอด จึงยอมรับไม่ได้

​ด้านที่สอง พวกเขาจะสูญเสียผลประโยชน์ที่ผูกขาดมาโดยตลอด เช่น การบริหารงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับการจัดสรร และสินบนจากการอนุมัติอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าเพื่อกิจการต่างๆ เช่น การทำโครงสร้างพื้นฐาน การขอสัมปทานพื้นที่ป่าของเอกชนเป็นต้น

​กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มนายทุนเหมืองแร่จะเสียผลประโยชน์มหาศาล เนื่องจากพบว่าพื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่จำนวนหนึ่งอยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยวกับที่ดินทำกินหรือป่าชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ฯ เหมืองบางแห่งอยู่ระหว่างดำเนินการ บางแห่งอยู่ระหว่างขออนุญาตดำเนินการ เช่น เหมืองถ่านหินที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เหมืองฟูออร์ไรต์และเหมืองหินที่จังหวัดแม่ฮ่องอน นอกจากนี้ยังมีเหมืองแร่อื่นๆ กระจายตามพื้นที่จังหวัดต่างๆ ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ฯ อยู่และหลายพื้นที่มีการคัดค้านอย่างแข็งขัน ดังนั้น หากประกาศเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว จะทำให้ที่ดินสำหรับอยู่อาศัยและทำประโยชน์ของชุมชนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย กิจการเหมืองแร่จะถูกห้ามอย่างเข้มงวด ย่อมจะทำให้นายทุนเหล่านั้นต้องเสียผลประโยชน์โดยตรง

​เมื่อผู้มีอำนาจ ข้าราชการและนายทุนต่างสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ พวกเขาจึงยอมไม่ได้และพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อระงับยับยั้งไม่ให้กฎหมายนี้ในหมวดที่ว่าด้วย “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” ผ่านเป็นกฎหมายได้

​แม้ที่ประชุมจะกำหนดว่าให้ไปทำความเข้าใจกับ ส.ส.บางคนที่ยังเห็นต่าง และให้นำกลับมาพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 5 กุมภาพันธุ์ แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกตีรวนและถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ และใช้เทคนิทางการเมืองบีบให้ต้องถูกถอนออกไป ผลคือจะทำให้ประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต้องเสียโอกาสและเสียเวลาต่อไป

“703,318,000 บาท” เปิดงบเลือกตั้ง อบจ. 17 จังหวัดภาคเหนือ เชียงใหม่สูงสุด 100 ล้าน ด้านแม่ฮ่องสอนไม่ตั้งงบเลือกตั้งในข้อบัญญัติงบ อบจ. 68

การเลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ. ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ถึงว่าเป็นหนึ่งหมุดหมายสำคัญในปี 2568 ที่เป็นตัวกำหนดคุณภาพชีวิตใกล้ตัว อย่าง น้ำประปา ถนน ขนส่งสาธารณะ และอีกมากมาย การเลือกตั้งตัวแทนถือว่าเป็นหนึ่งในกลไกที่ได้มาของสิ่งเหล่านี้ โดยปัจจุบันการเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้นทั้งหมด 47 จังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศ เนื่องจากอีก 29 จังหวัดมีการจัดการเลือกตั้ง นายก อบจ. ไปก่อนหน้านี้แล้ว

Rocket Media Lab ได้รวบรวมค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง อบจ. ในปีงบประมาณ 2568 ประกอบด้วย ค่าจัดการเลือกตั้ง และค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ จากรายงานประมาณการรายจ่ายจากข้อบัญญัติงบประมาณประจำปี 2568 ของ อบจ. ทั่วประเทศ (โดยไม่รวม อบจ. แม่ฮ่องสอนที่ไม่มีการตั้งงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณ อบจ. ปี 2568) พบว่า ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง อบจ. ในปีงบประมาณ 2568 ประกอบด้วย ค่าจัดการเลือกตั้ง และค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ รวมเป็นเงิน 3,563,810,232 บาท

โดย 17 จังหวัดภาคเหนือมีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง อบจ. ในปี 2568 ประกอบด้วย ค่าจัดการเลือกตั้ง และค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ รวมเป็นเงินทั้งหมด 703,318,000 บาท และมีผู้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 9,897,859 คน โดย จังหวัดที่มีงบค่าจัดการเลือกตั้ง และค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่มากที่สุดในการเลือกตั้งอบจ. ปี 2568 คือ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเงิน 100,000,000 บาท และจังหวัดที่มีงบค่าจัดการเลือกตั้ง และค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่น้อยที่สุดในการเลือกตั้ง อบจ. ปี 2568 คือจังหวัด ลำพูน เป็นเงิน 21,200,000 บาท หากไม่รวมกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนเนื่องจากไม่มีการตั้งงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณ อบจ. ปี 2568

ประเด็นที่น่าสนใจคือการลาออกก่อนหมดวาระด้วยข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย ยุทธศาสตร์ทางการเมืองหรือเหตุผลอื่นๆ แต่ในพื้นที่ภาคเหนือนั้นมีนายก อบจ. ที่ลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระทั้งหมด 9 จังหวัดจาก 17 จังหวัด ดังนี้ นครสวรรค์ พะเยา พิษณุโลก อุทัยธานี สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ 

ซึ่งปัญหาหลักในการเลือกตั้งก่อนวาระ นั้นก็คือ ประชาชนต้องเสียเวลาที่ต้องไปเลือกตั้งจาก 1 ครั้งที่สามารถหย่อนบัตรทั้ง นายก อบจ. และ ส.อบจ จะกลายเป็นการเลือกตั้งถึง 2 ครั้งที่ต้องไปเลือกนายก อบจ. ที่ลาออกก่อนหมดวาระ 1 ครั้ง และ ส.อบจ. อีก 1 ครั้ง หากจัดให้มีการเลือกตั้ง 2 ครั้งจะต้องคูณงบประมาณไปถึง 2 เท่า 

หากงบประมาณที่ตั้งไว้ในงบประมาณประจำปีไม่เพียงพอในการจัดการเลือกตั้ง อบจ. ก็ต้องใช้งบจากเงินสะสมของ อบจ. ในแต่ละจังหวัด หากยิ่งมีการลาออกก่อนวาระมากเพียงใด ก็ต้องใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งมากขึ้น ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้ควรจะเป็นงบประมาณที่ถูกนำไปใช้ในการช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ซึ่งหากมาดูตัวเลข โดยทั้ง 9 จังหวัดที่กล่าวมาข้างต้น หากนำมารวมงบประมาณที่ใช้ในการเลือกตั้ง 2 รอบ จะใช้งบประมาณถึง 350,418,000 บาท 

ทั้งนี้ในภาคเหนือมีนายก อบจ. ที่ลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระทั้งหมด 9 จังหวัด ดังนี้ นครสวรรค์ พะเยา พิษณุโลก อุทัยธานี สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ มีรายชื่อดังนี้

สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 1 พ.ค. 67 ซึ่งปัจจุบันสมศักดิ์ก็ยังคงดำรงตำแหน่ง นายก อบจ. ได้อีกหนึ่งสมัยหลังจากการเลือกตั้งนายก อบจ.นครสวรรค์ อีกครั้งในวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา 

อัครา พรหมเผ่า อดีตนายก อบจ.พะเยา น้องชายของ ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 13 มิ.ย. 67 โดยปัจจุบันอัคราไม่ได้ดำรงตำแหน่ง นายกอบจ.พะเยา โดยให้เหตุผลว่าตนต้องการไปเล่นการเมืองระดับชาติ แต่มีการส่งไม้ต่อให้ ธวัช สุทธวงค์ นายก อบจ.พะเยา คนปัจจุบัน

มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายก อบจ.พิษณุโลก ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 20 มิ.ย. 67 ซึ่งปัจจุบันมนต์ชัยก็ยังคงดำรงตำแหน่ง นายก อบจ. เป็นสมัยที่ 3 หลังจากการเลือกตั้งนายก อบจ.พิษณุโลก อีกครั้งในวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา 

เผด็จ นุ้ยปรี นายก อบจ.อุทัยธานี ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 2 ส.ค. 67 ซึ่งปัจจุบันเผด็จก็ยังคงดำรงตำแหน่ง นายก อบจ. เป็นสมัยที่ 5 หลังจากการเลือกตั้งนายก อบจ.อุทัยธานี อีกครั้งในวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยการเลือกตั้งในครั้งนี้ เผด็จ เป็นผู้ลงสมัครเพียงคนเดียว

มนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย สามีของน้องสาวของ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 19 ก.ย. 67 และปัจจุบันยังคงดำรงตำแหน่ง นายก อบจ. เป็นสมัยที่ 2 หลังจากมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา

สุนทร รัตนากร อดีตนายก อบจ.กำแพงเพชร ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันจังหวัดกำแพงเพชรอยู่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ก่อนจะมีการเลือกตั้งนายก อบจ.กำแพงเพชร ในวันที่ 1 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ สุนทรก็เป็นหนึ่งในผู้ลงสมัครเลือกตั้งเช่นเดียวกัน

ณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ อดีตนายก อบจ.ตาก ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยตั้งแต่วันที่ 4-8 พ.ย. นี้เป็นวันรับสมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.ตาก ซึ่งณัฐวุฒิได้มีการส่งไม้ต่อให้ อัจฉรา ทวีเกื้อกูลกิจ ลูกสะใภ้ของณัฐวุฒิและอดีตรองนายก อบจ.ตาก ในการลงสมัคร หลังจากตนดำรงตำแหน่งนายก อบจ.มากว่า 3 สมัย

อัครเดช ทองใจสด อดีตนายก อบจ.เพชรบูรณ์ ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 25 ต.ค. โดยมีผลในวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยในวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมาเป็นวันเปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง โดย อัครเดช ได้ดำรงตำแหน่งนายก อบจ.เพชรบูรณ์ มากว่า 6 สมัย

ชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา อดีตนายก อบจ.อุตรดิตถ์ ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยตั้งแต่วันที่ 4-8 พ.ย. 67 จะเป็นวันเปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง และจะมีการเลือกตั้งนายก อบจ.อุตรดิตถ์ในวันที่ 22 ธ.ค.67

บทบาทของหัวเมืองล้านนาใน “ศึกเจ้าอะนุวง” พ.ศ.2369-2371

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์

หลายปีมาแล้ว เมื่อจารุวรรณ ธรรมวัตร ได้ปริวรรตและสรุปเนื้อความเอกสารโบราณของลาวจำนวนหนึ่ง[1]  แล้วได้ระบุในคำนำว่า “เป็นไม่ได้ที่จะศึกษาอีสาน โดยไม่ใส่ใจศึกษาลาว เวียดนาม ล้านนา พม่า”  ในแง่เดียวกัน การศึกษาประวัติศาสตร์ลาว ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้เช่นกันที่จะไม่ใส่ใจประวัติศาสตร์ล้านนา พม่า และเวียดนาม   

กรณีบทบาทล้านนาในศึกเจ้าอะนุวง[2] พ.ศ.2369-2371 มะยุรี และเผยพัน เหง้าสีวัทน์[3]  ได้ชี้ให้เห็นว่าเจ้าอะนุวงเข้าใจสภาพการณ์ดีว่า หากทัพเวียงจันมุ่งสู่อีสานและภาคกลาง เป็นไปได้มากว่ากรุงเทพฯ จะมีคำสั่งให้หัวเมืองล้านนายกทัพลงมาช่วยเป็นศึกกระหนาบ แต่เจ้าอะนุวงก็เข้าใจอีกว่าหัวเมืองล้านนาก็อยู่ในสถานภาพเดียวกับล้านซ้างเวลานั้น คือต่างก็ตกเป็นประเทศราช หัวอกเดียวกัน เจ้าอะนุวงจึงร้องขอไปยังหัวเมืองล้านนาให้เคลื่อนทัพลงมาหยุดอยู่เพียงแดนเมืองระแหง (ตาก) ซึ่งดูเหมือนว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

กองทัพล้านนาอันประกอบด้วย เชียงใหม่ น่าน แพร่ ลำปาง ซึ่งสยามเรียกรวมกันว่า “ทัพพุงดำ” เมื่อได้รับคำสั่งจากกรุงเทพฯ ให้ยกไปช่วยปราบเจ้าอะนุวง กว่าจะเดินทัพไปถึงก็เป็นช่วงที่ทัพหลวงจากกรุงเทพฯ บุกถึงเวียงจันและเจ้าอะนุวงหลบหนีออกจากเมืองไปแล้ว คือไปถึงสมรภูมิในช่วงที่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าฝ่ายใดแพ้ฝ่ายใดชนะ   

สุเนด โพทิสาน และคะนะ[4] ได้พิจารณาบทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างล้านนากับเวียงจันยุคเจ้าอะนุวง โดยย้อนกลับไปเหตุการณ์ในพ.ศ.2348 (ค.ศ.1805) หลังกลับจากศึกเชียงแสนได้ไม่ถึง 1 ปี  สยามก็มีศึกใหม่ให้เวียงจัน โดยได้มีคำสั่งให้เวียงจันไปตีเมืองเชียงตุง เชียงรุ้ง เมืองสิง และหัวเมืองรายทางข้างเคียง โดยในศึกนี้ให้เวียงจันยกไปสมทบกับทัพลำปาง เชียงใหม่ แพร่ และหลวงพระบาง เลยทำให้เจ้าอะนุวงในฐานะแม่ทัพเวียงจันมีความสนิทสนมและรู้จักมักคุ้นกันดีกับเหล่าแม่ทัพนายกองตลอดจนเจ้าฟ้าของหัวเมืองล้านนา เนื่องจากเคยร่วมในศึกเดียวกัน เป็น “มิตรร่วมรบ” กันมาก่อนนั่นเอง

ขณะที่สุวิทย์ ธีรศาศวัต เคยเปิดประเด็นตั้งคำถามว่า “ทำไมเจ้าอนุวงศ์จึงต้องปราชัย?”[5] แล้วได้ข้อสรุปว่าเพราะพันธมิตรของเจ้าอะนุวงไม่มาตามนัด พันธมิตรที่ว่านี้แม้ว่าสุวิทย์จะมุ่งเป้าไปที่อังกฤษ ซึ่งเคยสร้างความหวาดกลัวแก่ชนชั้นนำสยาม และเมื่อคราวเจ้าอะนุวงมาร่วมงานถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 2 ไพร่พลของเจ้าอะนุวงก็ได้รับการร้องขอให้ไปตัดต้นตาลที่เมืองสุพรรณบุรีลำเลียงไปปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อสร้างแนวป้องกันภัย (ที่คาดว่าจะมา) รุกรานคืออังกฤษ

คำถามและการเปิดประเด็นข้างต้นของสุวิทย์ นำมาสู่แง่มุมใหม่ เจ้าอะนุวงไม่ได้พ่ายศึกเพียงเพราะประเด็นเรื่องของอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังไพร่พลที่มีน้อยกว่า อย่างที่เคยเข้าใจกัน หากแต่พ่ายศึกเพราะพันธมิตรไม่มาตามนัด มุมมองแบบสุวิทย์ยังขยายไปที่ตัวละครอื่นที่นอกเหนือจากอังกฤษอีก เช่น เวียดนาม และล้านนา เวียดนามก็ไม่มาตามนัด[6] ล้านนามาตามนัดแต่มาล่าช้า และเมื่อมาถึงล้านนากลับเปลี่ยนจากมิตรเป็นศัตรูไปเข้าร่วมกับสยาม ปราบเจ้าอะนุวง (ซะงั้น?)  

ภาพ อนุเสาวรีย์เจ้าอะนุวง (ภาพจาก เว้าพื้นประวัติศาสตร์)

อย่างไรก็ตาม คงเป็นการด่วนสรุปเกินไป หากกล่าวว่าล้านนาอยู่ฝั่งเดียวกับเจ้าอะนุวง แม้จะเพื่อนบ้านข้างเคียงที่รับรู้อยู่ก่อนใครอื่น (แม้แต่หลวงพระบางก็รู้ทีหลัง) ว่าเจ้าอะนุวงมีแผนการจะบุกสยาม การรั้งทัพรออยู่ที่ระแหง อาจเป็นเพียงการรอดูสถานการณ์ต่อไป เพราะเป็นช่วงที่สยามได้เปิดฉากตอบโต้เวียงจัน โดยยกทัพขึ้นไปทางนครราชสีมาและเพชรบูรณ์แล้ว จากระแหงจะสามารถเดินทัพไปทางตะวันออกเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำป่าสักตอนบนและต่อไปจนถึงหนองคายและเวียงจันได้ ซึ่งก็ปรากฏว่าทัพล้านนาได้ใช้เส้นทางนี้ไปบรรจบกับทัพกรุงเทพฯ จริงอยู่ด้วย  

ตอนแรกที่ดูเหมือนจะมีใจให้กับฝ่ายเจ้าอะนุวง ตอนหลังกลับเปลี่ยนไปอยู่ข้างสยาม เป็นเรื่องน่าสนใจว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมล้านนาไม่ช่วยเวียงจันอย่างที่ควร ทั้งๆ ที่ต่างก็ตกอยู่ในสถานะเดียวกับที่เวียงจันต้องการจะปลดแอกจากสยาม พูดง่ายๆ คือล้านนากับล้านซ้างต่างก็มีศัตรูเดียวกันในเวลานั้น แต่ทำไมถึงไม่ช่วยเหลือกันในการจัดการกับศัตรูที่ว่านี้ 

เรื่องนี้ไม่ง่ายที่จะอธิบายว่าเพียงเพราะชนชั้นนำล้านนาเวลานั้นต้องการเข้าข้างฝ่ายชนะ จึงไปช่วยสยามแทนที่จะช่วยเวียงจัน ทำไมล้านนาปล่อยโอกาสที่จะได้ตั้งตัวเป็นอิสระให้หลุดลอยไปง่ายดายปานนั้น การจะตอบคำถามนี้ได้ จำเป็นต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างล้านนากับล้านซ้างเวียงจัน ตกลงแล้วเวียงจันกับล้านนาเป็นอะไรกัน มิตรหรือศัตรู หรือแค่ “อยู่เป็น”???    

ความสัมพันธ์ล้านนากับเวียงจันสมัยเจ้าอะนุวง  

จาก “พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)”[7] ลาวพุงดำที่สระบุรีเป็นกลุ่มที่เข้าร่วมกับเจ้าอะนุวงอย่างแข็งขันที่สุดกลุ่มหนึ่ง คนล้านนาที่สระบุรีซึ่งในอดีตถูกกวาดต้อนลงไปสยามนั้น จะได้ติดต่อประสานกับเจ้าเมืองล้านนามากน้อยแค่ไหน ไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เป็นไปไม่ได้ที่แม่ทัพนายกองล้านนาและเจ้าเมืองล้านนาจะไม่ทราบว่าคนล้านนาที่สระบุรีเข้าร่วมกับเจ้าอะนุวง

น่าน แพร่ เชียงใหม่ ลำปาง เพิ่งเข้าร่วมฝ่ายปราบปรามจริงๆ ก็เมื่อทัพสยามยึดเวียงจันได้แล้ว แต่ทั้งนี้หัวเมืองล้านนาก็ได้มีการเกณฑ์ไพร่พลเตรียมทัพและยกออกจากเมืองมาในเวลาไล่เลี่ยกับที่เจ้าอะนุวงแบ่งทัพลงมากวาดต้อนอยู่ในอีสานแล้ว ซึ่งในเวลานั้นสยามยังไม่ล่วงรู้ ข่าวศึกยังไปไม่ถึงเมืองหลวง กรุงเทพฯ เพิ่งทราบว่ามีศึกก็เมื่อทัพเวียงจันคุมโดยเจ้าลาดซะวง (เจ้าเหง้า) ยกลงไปถึงปากเพรียว (สระบุรี) และกวาดต้อนครัวสระบุรีขึ้นไปแล้ว  

นั่นคือหัวเมืองอย่างน่าน แพร่ เชียงใหม่ ลำปาง รับรู้อยู่ก่อนกรุงเทพฯ มาได้ระยะหนึ่งแล้วว่า เจ้าอะนุวงจะบุกสยาม แต่ไม่ได้แจ้งข่าวไปยังสยาม เมืองที่พยายามส่งข่าวศึกให้แก่กรุงเทพฯ คือหลวงพระบาง แต่ก็ล่าช้า เพราะคนนำสารต้องเดินทางผ่านหัวเมืองอีสานซึ่งฝ่ายเจ้าอะนุวงได้เข้ายึดและกวาดต้อนผู้คนอยู่[8] ขุนนางใกล้ชิดเจ้าอะนุวงที่ไม่เป็นใจด้วยกับการศึกครั้งนี้อย่างเจ้าอุปฮาดติสสะ กว่าจะติดต่อกับฝ่ายสยามได้ ก็เมื่อสยามส่งกองทัพตอบโต้ขึ้นไปถึงเมืองยโสธรแล้ว

แต่ทั้งหมดก็อาจไม่ใช่ช่องว่างที่เกิดจากอุปสรรคการสื่อสารและการคมนาคมในสมัยนั้นอย่างเดียว เพราะสถานการณ์ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าฝ่ายไหนจะชนะ และอันที่จริงแนวโน้มของสงครามในช่วงแรกก็ดูเหมือนฝ่ายเจ้าอะนุวงจะได้เปรียบอยู่ไม่น้อย ถึงแม้การกวาดต้อนครัวในอีสานจะประสบปัญหาและถูกต่อต้านที่บริเวณทุ่งสำริด แต่ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะเป็นไปในทางสมคะเนของเจ้าอะนุวง เพราะวางแผนและเตรียมการมาอย่างดี ในขณะที่ฝ่ายสยามไม่คาดคิดกันมาก่อนเลยว่า เวียงจันจะกล้าเปิดศึกกับตนเช่นนั้น   

เมื่อเห็นเวียงจันกล้าทำเช่นนั้นแล้ว ชนชั้นนำสยามก็หวั่นเกรงว่าหัวเมืองอื่นจะเอาเยี่ยงอย่างลุกขึ้นสู้กับพวกตนบ้าง  จากหลักฐานของฝ่ายสยาม แสดงให้เห็นทั้งความไม่มั่นใจในตอนแรก และท่าทีต่อหัวเมืองประเทศราชอื่นๆ โดยเฉพาะล้านนากับหลวงพระบางด้วยแล้ว เต็มไปด้วยความระแวดระวัง แม้จะเป็นช่วงที่สยามยึดเวียงจันได้แล้ว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)[9] ซึ่งเสด็จไปเป็นแม่ทัพหลวงตั้งค่ายอยู่ที่หนองคาย หลังจากแม่ทัพนายกองหัวเมืองล้านนามาถึงและเข้าเฝ้าแล้ว ก็ยังมีจดหมายไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 รายงานสถานการณ์ให้ทรงทราบว่า:

“ฝ่ายทัพพุงดำ 5 หัวเมือง และหัวเมืองหลวงพระบางนั้น ถ้าทัพหลวงไม่ได้เมืองเวียงจันท์ ก็หามีผู้ใดมาถึงเมืองเวียงจันท์ไม่ มีแต่จะคอยเก็บครอบครัวช้างม้าอยู่ริมเขตแดนคอยทีไหวพริบเป็น 2 เงื่อน แต่บัดนี้ใช้สอยได้เป็นปกติต้องขู่บ้าง ปลอบบ้าง แต่ยังดูน้ำใจทั้ง 6 หัวเมือง เมืองหลวงพระบางอ่อนนัก เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน 2 เมืองนี้ ก็สุดแต่เมืองละคร (ลำปาง-ผู้อ้าง) เมืองแพร่นั้นตามธรรมเนียม แต่เมืองน่านนั้นการเดิมไหวอยู่ พระยาลครคนนี้มีอัธยาศัยมาก สมควรที่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมชุบเลี้ยง เห็นเป็นราชการได้ยืนยาว”[10]

สิ่งที่สร้างความไม่พอใจให้แก่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์กับชนชั้นสยามเวลานั้นอย่างมาก นอกจากเดินทัพไปช่วยการศึกล่าช้าแล้ว “ครอบครัวเมืองเวียงจันท์ก็หลบหนีไปทางเมืองละคร เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองหลวงพระบางเป็นอันมาก”[11] จึงเหมือนว่าหัวเมืองล้านนาที่ไม่ยอมช่วยในสงครามกลับจะ “ชุบมือเปิบ” ได้สินสงครามโดยไม่ต้องลงมือลงแรงอะไร

ทั้งนี้หากมองในแง่ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและสถานการณ์การเมืองระหว่างแว่นแคว้นต่างๆ รอบข้างเวียงจันขณะนั้น หากไพร่บ้านพลเมืองของเวียงจันจะอพยพหลบหนีสงครามแล้ว ลงใต้ไปจำปาสักไม่ได้ ไม่พ้นสงคราม ตรงข้ามจำปาสักที่เจ้าลาดซะบุด (เจ้าโย้) ครองอยู่นั้นได้เข้าร่วมการศึกครั้งนี้ตั้งแต่แรก เวียดนามอยู่ไกลและต่างวัฒนธรรมกัน ที่วัฒนธรรมใกล้เคียงกันและปลอดพ้นสงครามเวลานั้นก็มีหลวงพระบางกับล้านนา แต่หลวงพระบางกับเวียงจันก็เป็นศัตรูคู่อริกันมาจนแยกตัวเป็นอิสระต่อกันมาได้พักใหญ่แล้ว จึงเหลือทางเลือกอยู่เพียงล้านนา โดยเฉพาะเมืองน่าน ซึ่งมีข้อมูลการอพยพลี้ภัยของชาวเวียงจันเป็นอันมาก

ก.ศ.ร.กุหลาบ (กุหลาบ ตฤษณานนท์) ได้เคยนำเอาจดหมายใบบอกข้างต้นนี้ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์มาลงไว้ทั้งฉบับ ไม่ได้ตัดตอนมาแบบพระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) โดยให้เหตุผลไว้ในวงเล็บท้ายบท ระบุว่า “จดหมายใบบอกกรมพระราชวังบวรฯ ฉบับนี้ ไม่ได้ตัดรอน กล่าวไว้เต็มตามต้นฉบับเดิม เพราะจะให้ท่านทั้งหลายฟังสำนวนท่านโบราณเป็นขนบธรรมเนียมราชการต่อไปภายหน้า”[12]

มีความตอนหนึ่ง (ซึ่งในพระราชพงศาวดารได้ตัดออก) ก็คือสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ มีพระราชดำริจะลงโทษเหล่าแม่ทัพนายกองล้านนากับหลวงพระบางอย่างเด็ดขาด “หัวเมืองลาวพุงดำและหลวงพระบาง ที่ยกทัพมาล่าไม่ทันราชการทั้งหกเมืองนั้น ปรับโทษหัวเมืองทั้งหกว่า มาตีเวียงจันท์ไม่ทันทัพหลวงมีความผิดมาก ตกอยู่ในระหว่างเป็นกองทัพ มีโทษตามบทกฎหมายพระอัยการศึก”[13]  

ภาพ อนุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ณ วัดไพชยนต์พลเสพย์ จังหวัดสมุทรปราการ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม)

เมื่อเห็นภัยกำลังมาถึงตัว ฝ่ายล้านนากับหลวงพระบาง จึงได้รีบเข้าเฝ้าสมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมมหาศักดิพลเสพย์ ขอพระราชทานอภัยโทษและขอทำคุณทดแทน “ฝ่ายพระยานครลำปาง พระยาน่าน พระยาแพร่ พระยาอุปราชเชียงใหม่ พระยาอุปราชลำพูน เจ้าอุปราชหลวงพระบาง และแสนท้าวพระยาลาวนายทัพนายกองทั้งหกเมือง เข้าชื่อกันทำเรื่องราวสารภาพรับผิดถวายแม่ทัพหลวง ขอพระราชทานทำการฉลองพระเดชพระคุณแก้ตัวต่อไป รับอาสาจะติดตามจับตัวเจ้าอนุ และเจ้าจำปาศักดิ์ เจ้าราชวงศ์ เจ้าสุทธิสาร เจ้าโถง เจ้าหน่อคำ และบุตรภรรยาญาติของเจ้าอนุ มาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้ได้ ถึงมาดว่าจะมิได้ตัวกบฏเหล่าร้ายเหล่านี้ก็ดี ก็คงจะคิดจัดการบ้านเมืองไม่ให้กบฏเหล่าร้ายเหล่านี้กลับมา ตั้งที่บ้านเมืองให้เป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินต่อไปได้”[14]

แม้จะได้รับการพระราชทานอภัยโทษ แต่ที่ขอตามจับตัวเจ้าอะนุวงและขอควบคุมดูแลการกวาดต้อนครัวนั้น ไม่ได้รับอนุญาต เพราะอย่างที่ระบุไว้แล้วว่า สิ่งที่สร้างความไม่พอใจต่อล้านนาเวลานั้น นอกจากส่งทัพมาช่วยล่าช้าไม่ทันการแล้ว ยัง “ชุบมือเปิบ” กวาดเก็บเอาสินสงครามที่ควรจะเป็นของสยามแต่เพียงผู้เดียวไปเป็นของตน

แน่นอนว่าตามมุมมองของสยาม ย่อมไม่มีประเด็นว่าชาวเวียงจันบางส่วนได้อพยพหลบลี้พวกตนไปอยู่ล้านนาเอง การแพร่หลายของวัฒนธรรมล้านซ้างในบางเมืองของล้านนาที่มีเขตแดนติดต่อกับล้านซ้าง ถึงกับทำให้เมืองอย่างน่านเกิดความสับสนในชั้นหลังมานี้ว่า ตกลงแล้ววัฒนธรรมน่านเป็นวัฒนธรรมล้านนาหรือล้านซ้างกันแน่? 

นั่นเป็นปัญหาของคนยุคปัจจุบัน ซึ่งต้องการแสวงหาอัตลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น (และของชาติ) แต่ในอดีตสิ่งนี้ไม่ได้มีความจำเป็นมากเท่าไรนัก ตรงข้ามการแลกเปลี่ยนผสมผสานกันข้ามวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่พบเห็นได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั่วไป น่านกับล้านซ้าง (ทั้งหลวงพระบางและเวียงจัน) อยู่ใกล้ชิดติดกัน ผู้คนย่อมเดินทางไปมาค้าขายและแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ร่วมกันมาเป็นปกติ  และอันที่จริงการเกิดอัตลักษณะเฉพาะที่ว่านั้นก็มีที่มาจากการแลกเปลี่ยนผสมผสานที่ว่านี้ด้วยซ้ำ   

เจ้าอะนุวง (เมื่อครั้งยังจงรักภักดีต่อสยาม) กับ ศึกเชียงแสน

น่าสังเกตว่า หัวเมืองอย่างเชียงแสน เชียงราย พะเยา ไม่ได้เข้าร่วมในศึกนี้ เชียงแสนบอบช้ำจากที่เคยถูกกองทัพเจ้าอะนุวงเมื่อครั้งยังจงรักภักดีต่อสยามบุกตีสร้างความเสียหายมาก จึงเข้าใจได้ที่ไม่มีทัพจากแอ่งเชียงราย-ลุ่มน้ำกก เข้าร่วมศึกในครั้งนี้ เอกสาร “พื้นเมืองเชียงแสน” ได้เล่าถึงความเป็นอริต่อกันระหว่างเชียงแสนกับล้านซ้าง เชียงแสนเคยเผชิญการรุกรานจากหลวงพระบางหลายครั้ง ในทัพพม่าที่ไปตีเวียงจันสมัยพระเจ้าไซยะเซดถาทิลาด ก็มีทัพเชียงแสนร่วมไปกับทัพพม่าด้วย แต่ก็แพ้เวียงจันอย่างยับเยิน  

จนกระทั่งถึงพ.ศ. 2345 (2 ปีก่อนเจ้าอะนุวงขึ้นครองราชย์) “เจ้าอิน เมืองจันทปุรีแล (หมายถึงเจ้าอินทะวง กษัตริย์เวียงจันขณะนั้น-ผู้อ้าง) เจ้าอุปราชอนุตนน้อง (คือเจ้าอะนุวง พระราชอนุชาของเจ้าอินทะวง สมัยยังเป็นเจ้าอุปฮาด-ผู้อ้าง) แลอโยธิยา (ในที่นี้หมายถึงกรุงเทพฯ-ผู้อ้าง) เจ้ากาวิละเชียงใหม่ ลคอร เมืองแพร่ เมืองน่าน ทั้งมวลกำลังมีแสน 2 หมื่น ขึ้นมารบเชียงแสน”[15]  

ถึงจะเป็นศึกตีเชียงแสนที่อยู่ภายใต้การปกครองของพม่า แต่หลักฐานของเชียงแสนเอง ระบุว่าเป็นการรุกรานจากสยามและลาว โดยมีพม่าและเชียงของช่วยป้องกันเมือง  กองทัพเหล่านี้ผลัดกันตีเชียงแสน เมืองอื่นไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ ลคร (ลำปาง) แพร่ น่าน ต่างก็เข้าตีแบบ “พอเป็นพิธี” แล้วก็ถอยทัพกลับบ้านเมืองตนไป แต่ทัพสุดท้ายที่เข้าตีคือทัพเวียงจันนำโดยเจ้าอะนุวง กลับไม่ใช่อย่างนั้น “พื้นเมืองเชียงแสน” เล่าบรรยายฉากการสู้รบระหว่างเชียงแสน (ที่อยู่ใต้อำนาจพม่า) กับกองทัพลาวนำโดยเจ้าอะนุวง ไว้อย่างดุเดือด เป็นศึกที่หนักหนาสาหัสสำหรับชาวเชียงแสนมาก ดังจะเห็นได้จากตัวบทหลักฐานต่อไปนี้:    

“เดือน 3 แรม 13 ฅ่ำ วันจันทร์ ลาวขึ้นมารอดเวียงแล้ว ก็รบทางน้ำทางบกทุกฝ่าย เสียงอมอกสินาดเหมือนดั่งฟ้าร้อง (ทั้ง) 2 ฝั่งน้ำของ (แม่น้ำโขง-ผู้อ้าง) แหน้นหนา เขาก็มาแปลงขัวพ่วงหว่ายมาหาเวียงแล เมื่อนั้นเจ้าฟ้าเมืองยองฅนทัพพายเรือข้ามแหกตัดหัวขัว เขาฝ่ายพุ้นก็ปุดตกน้ำของ ลาวก็ไหลน้ำแม่ของ ชาวเวียงเชียงแสนออกพายเรือออกข้า (ฆ่า) กับน้ำ ลาวตายมากนักแล ทางฝ่ายวันตกลาวออกรบแต่สบกกไปตราบเถิงเวียง แล้วมีในวัน 1 ลาวลู่เข้าปะตูท่าม่าน (เข้า) ไปได้ซาววาแล้ว เมื่อนั้นเจ้าพระญาเชียงรายก็ยกพลกับลูกน้อง 300 ฅน ก็ขี่ม้าออกไล่แทงลาว ลาวก็แตกหนีออกเวียงไป ก็ไล่ทวยแผวสบน้ำแม่ตำแล แทงลาวตายตกน้ำแม่ของเปนอันมากแล

เดือน 5 แรม 12 ฅ่ำ วัน 7 ลาวเอาเรือ (บรรทุก) อมอกหลวงเลียบริมน้ำของฝ่ายนี้ขึ้นมารอดสบซัน หั้นแล เจ้าพระญาเชียงของกับลูกน้อง 10 ฅน ไปหลอนยิงลาว ลาวแตกพ่ายหนีละเรืออมอกเสียแล้ว ท่านก็เอาลูกน้อง 10 ฅนนั้น เอาเรืออมอกนั้นเลียบขึ้นของ (โขง) มา ฅนบ่แพ้เรือมาช้าบ่โว้ยเสีย ลาวฅืนมายิงพระญาเชียงของตายเสีย ลาวฅืนได้อมอกไปแถมแล ถัดนั้นมาลาวก็เข้าล้อมเวียงด้านใต้ด้านวันตกข้างเหนือไฅว่ 3 ชั้นชุด้าน ฝ่ายทางวันออกก็ออกดอนแท่น ที่นั้นเต็มไปด้วยลาวแล

เดือน 6 ออก 9 ฅ่ำ วัน 5 เจ้าพระญาเทิงถูกสินาดลาวยิงตายแล ลาวก็ขุดดันพื้นกำแพงเข้าชุด้านชุพาย ทังพายในเวียงก็ต้มน้ำร้อนหล่อลง ลาวตายด้วยน้ำร้อนลวกมากนัก เขาทนบ่ได้ก็หยุดเสียแล เดือน 6 แรม 3 ฅ่ำ วัน 7 เจ้าใหม่เมืองไรยถูกสินาด (ของลาว) ก็ตายไปแล เมื่อนั้นลาวก็ขุดเปนร่องเหมือง แต่ไกลเข้ามาก็มาปลูกหอเลอขึ้นงำเวียงอยู่ชุแห่งแล

เดือน 7 แรม 2 ฅ่ำ วัน 7 เจ้าฟ้าเชียงรายยกริพลไปยั้งกินเข้างายอยู่เสีย ลูกสินาด (ลาว) ลวดยิงถูกหน้าผากเข้า ลวดจุติตายไปแล เมื่อนั้นเจ้าฟ้าโมยหงวร นาขวาแล โป่ซุก ก็เสียกีบเล็บฅนหานเสี้ยงแล ก็พร้อมกันปลงเมือง หื้อเจ้าฟ้าเมืองยองเล่าแล เมื่อนั้นก็พร้อมกันเก็บเอาทองได้ล้าน 1 มาหล่อได้อมอกบอก 1 แล้วก็ยิงหอเลอลาวแล แต่นั้นมาลาวเข้าแปลงหอเลอใกล้บ่ได้ เขาก็แวดอยู่ที่ไกลรบแล ลาวก็เอาอมอกขึ้นอยู่เขาจอมกิตติพุ้น ยิงมาตกกลางเวียงเล่าแล เมื่อนั้นในเวียงค็ขุดคะทูกอยู่แล

สักราชได้ 1165 ตัว ปีก่าใค้ (พ.ศ.2346/1803) เดือน 8 เพ็ง เม็งวัน 7 แล ไทยกัดเหม้า ครูบามหาสังฆราชาวัดสังกามีนามกรว่า กุลวงศ์ อนิจจะกัมม์ไป ยามรุ่งแจ้งแล้ว ก็สร้างใส่ปราสาทห้างรูปหัสดีลิงค์แล้วก็ทำเรือใส่สการเสียที่ท่าหลวงหั้น ในวันเดือน 9 ออก 3 ค่ำ วัน 3 ไทยรวายสัน ยามตาวันซ้ายแล เดือน 9 ออก 7 วันจันทร์ ยามนั้นหัวเสิก็ลาวผู้ชื่อว่า พระญาตับเหล็กนั้นกับลูกน้อง 20 ฅน ก็เปี่ยงกำแพงเวียงเข้ามา ยามนั้นท้าวใจเหล็กสีมือดี ยิงถูกหัวแก่มันไปสนามแล้ว ถามเชื้อใด ก็บ่ปาก ก็เอาไปข้า (ฆ่า) ที่ปะตูท่ากัมม์หั้น ฟันเชื้อใด ก็บ่เข้า ลวดเหลี้ยมไม้จดเข้ารูก้นผดออกซอกฅอแล้วมันก็ฅลายเพ็ก (เพชร) ยังปากมันออกมาแล้วก็ตายไป หั้นแล ก็ตัดเอาหัวมันแล้ว ก็เอาไปไหลน้ำของเสียแล้ว ก็เอาหัวมันเสียบไม้เหลี้ยมปักไว้หนทางหลวง หั้นแล เดือน 9 ออก 13 ฅ่ำ วัน 2 ไทยรวายสะง้า ยามรุ่งแจ้ง ลาวทังหลายก็ค้าน ถอยเรือล่องหนีไปวันนั้นแล”[16]

ทำไมเจ้าอะนุวงถึงทุ่มเทกับการตีเชียงแสนมากขนาดนั้น ไม่ตีแค่ “พอเป็นพิธี” เหมือนอย่างหัวเมืองอื่นๆ อาจเพราะต้องการครองเชียงแสน เพราะหากตีได้สำเร็จ เจ้าอินทะวงก็จะสามารถกราบทูลให้กษัตริย์สยาม (รัชกาลที่ 1) แต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองเชียงแสน ภายหลังยุทธศาสตร์นี้ได้ใช้กับจำปาสัก โดยตั้งเจ้าราชบุตร (เจ้าโย้) เป็นเจ้านครจำปาสัก ซึ่งเข้าทางเจ้าอะนุวงมากกว่าเชียงแสนอีก เพราะถือเป็นการรวมอาณาจักรลาวที่เคยแตกแยกเข้าด้วยกัน  นอกจากนี้สมัยนั้นอาณาจักรจำปาสักนอกจากมีอำนาจคุมหัวเมืองลาวใต้ต่อแดนกัมพูชาแล้ว ยังคุมบางส่วนของหัวเมืองแถบอีสานใต้ตอนล่างของลุ่มแม่น้ำมูน (ใครเขาพาเขียน “มูล” ไม่ใช่… ภาษาไทยมันแปลว่า “อุนจิ” คำนี้จริงๆ คือ “มูนมัง” ที่ลาวอีสานแปลว่า “มรดก” ต่างหากล่ะ!!!)   

“พื้นเมืองเชียงแสน” ให้ภาพเจ้าอะนุวงในฐานะผู้รุกรานล้านนา และไม่ได้มีแต่หลักฐานของเชียงแสนเท่านั้นที่กล่าวถึงบทบาทของเจ้าอะนุวงเช่นนี้ เอกสารประเภทตำนานของเชียงใหม่และเชียงราย ต่างก็ให้ภาพเจ้าอะนุวงไปในทางเดียวกัน เพราะช่วงเวลาห่างกันไม่มาก เป็นธรรมดาที่ศึกเชียงแสนครั้งนี้จะอยู่ในสายตาของชนชั้นนำล้านนาอยู่ด้วย ถึงแม้เชียงแสนช่วงนั้นจะอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า แต่การศึกครั้งนี้ก็เห็นแล้วว่าเจ้าอะนุวงต้องการขยายอำนาจเข้ามาล้านนา หรือไม่ก็ต้องการครัวชาวล้านนากลับไปเวียงจัน

นัยยะของเอกสารล้านนาที่เล่าเรื่องนี้ดูจะสอดคล้องตรงกันในแง่ว่า กองทัพที่สร้างความเสียหายให้แก่เชียงแสนมากที่สุดในศึกนี้ก็คือทัพเจ้าอะนุวง  ช่วงที่ยังจงรักภักดีต่อสยาม เจ้าอะนุวงเคย “เล่นใหญ่” มาก่อน ดังนั้นจึงเข้าใจได้ที่เมื่อเจ้าอะนุวงเปลี่ยนมาตีสยาม ชนชั้นนำล้านนาอาจจะไม่ไว้วางใจ เพราะเคยเห็นฝีมือมาแล้วในศึกเชียงแสนรวมทั้งศึกอื่นๆ (เช่น ศึกเชียงตุง) เจ้าอะนุวงก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี ยังแสดงท่าทีและทำการศึกแข็งขันในฐานะประเทศราชสยาม

ถ้าหากเป็นแผนลวง หัวเมืองที่เข้าร่วมกับเวียงจันครั้งนี้ก็ตกที่นั่งลำบาก ต้องถูกกองทัพสยามจัดการเสียเอง แต่ถึงอย่างนั้นแม่ทัพนายกองล้านนาก็ได้ลองเสี่ยง ทำตามที่เจ้าอะนุวงร้องขอคือการเดินทัพล่าช้า ซึ่งอาจเป็นเรื่องสมประสงค์กันทั้งสองฝ่าย  ใครจะอยากพาตัวเองเข้าสู่สมรภูมิรบที่ไม่ใช่สมรภูมิของตนเอง

หากว่าเป็นแผนลวงก็รอด หากว่าต้องไปรบกับเวียงจันและไปช้า อย่างมากก็ถูกสยามลงโทษและเมื่อไปถึงจู่ๆ ก็เข้าชื่อขอพระราชทานอภัยโทษจากแม่ทัพหลวง (คือสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์) กันอย่างทันท่วงที นั่นก็แสดงว่ามีการ “เตรี๊ยม” กันไว้แล้ว ทางที่รอดปลอดภัยดีที่สุดก็คือเดินทัพล่าช้ากว่ากำหนดแล้วค่อยไปแก้ตัวเอานั่นแหล่ะ  ถ้ามองจากจุดของฝ่ายล้านนา ยังไงสูญเสียน้อยที่สุด ทางเลือกอื่นเสี่ยงเกินไป     

หากว่าเลือกเข้าข้างฝ่ายเจ้าอะนุวงโจมตีสยาม ก็ยังไม่แน่ว่าจะชนะ หรือต่อให้ชนะก็เป็นปัญหาอีกว่าจะเอายังไงต่อ ล้านนาจะสามารถตั้งตัวเป็นอิสระได้จริงๆ หรือแค่เปลี่ยนเจ้านายใหม่ จากเจ้ากรุงเทพฯ เป็นเจ้าเวียงจัน สภาพการณ์เช่นนั้นเห็นได้ชัดว่าจะบุ่มบ่ามใจร้อนหุนหันพลันแล่นไม่ได้ เพราะพลาดนิดเดียว ไม่ได้หมายถึงแค่ชีวิตของเหล่าแม่ทัพนายกอง หากแต่ชะตากรรมของบ้านเมืองของตนในช่วงเวลาหลังจากนั้น ไม่ง่ายที่จะตัดสินไปแบบเด็ดขาดแต่อย่างใดเลย

น่านกับเวียงจัน: ความสัมพันธ์ในระดับไพร่ราษฎร  

ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำด้วยกันก็เรื่องหนึ่ง อีกเรื่องคือความสัมพันธ์ในระดับไพร่ราษฎร ล้านนากับล้านซ้างยังไงก็ต้องเคยปฏิสัมพันธ์กันเป็นธรรมดา โดยเฉพาะน่านกับหลวงพระบางที่มีพรมแดนติดต่อกัน กับเวียงจันก็มีเส้นทางติดต่อไปมาหาสู่ เมื่อเกิดสงครามเจ้าอะนุวง น่านเป็นเมืองที่ชาวเวียงจันเลือกที่จะอพยพลี้ภัยไปตั้งรกรากอยู่อาศัยด้วยมาก

ในทางกลับกัน เมื่อล้านนาเกิดมีศึกสงคราม เวียงจันก็เป็นจุดหมายปลายทางของผู้ที่ต้องการอพยพลี้ภัยเช่นกัน ดังปรากฏว่าเมื่อพ.ศ.2318 เจ้ามงคลวรยศ เมืองน่าน เคยลี้ภัยพม่าไปประทับอยู่ที่เวียงจัน เมื่อเวียงจันถูกกองทัพสยามโจมตีและกวาดต้อนเมื่อพ.ศ.2322 เจ้ามงคลวรยศกับสมัครพรรคพวกก็ถูกกวาดต้อนลงมาภาคกลางของสยามด้วย[17] 

จารึกฐานพระพุทธรูปวัดศรีบุญเรือง อ.ภูเพียง จ.น่าน ระบุถึงปีจุลศักราช 1155 (พ.ศ.2336) ช่วงที่เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญเริ่มต้นฟื้นฟูเมืองน่าน ได้มีคำสั่งให้นำช่างทอง (ทองเหลือง) จากล้านช้างมาหล่อพระพุทธรูป[18] ซึ่งเป็นธรรมดาเพราะงานช่างทองช่างโลหะ ชาวล้านซ้างมีจุดเด่น เพราะเป็นกลุ่มชนแรกๆ ในภูมิภาคที่มีการทำเหมืองขุดแร่ทองนำออกสู่ตลาดการค้านานาชาติได้ช้านานแล้ว งานช่างทองและโลหกรรมจึงพัฒนามากในล้านซ้าง[19]   

อิทธิพลวัฒนธรรมล้านซ้างกลมกลืนกับน่านในล้านนา เพราะใกล้เคียงกัน หลังพ.ศ.2369 ซึ่งเป็นปีที่เจ้าอะนุวงเริ่มเปิดศึกกับสยามนั้น ก็เป็นช่วงที่มีชาวเวียงจันอพยพไปยังเมืองน่านมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แน่นอนว่าส่วนใหญ่หลังจบสงครามชาวเวียงจันถูกกวาดต้อนไปยังสยามมากกว่าไปที่อื่น  จาก “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” ได้ระบุถึงตัวเลขผู้คนที่ถูกกวาดต้อนครัวจากเวียงจันไปสยามว่ามี “มากกว่า 3 แสนเสส” เป็นตัวเลขที่จัดว่ามหาศาลมากสำหรับสมัยนั้น[20]

ณ เวลาเมื่อทำศึกกับสยามอยู่นั้นความสัมพันธ์กับน่าน แม้จะแน่นแฟ้นในระดับไพร่ราษฎร แต่ในระดับชนชั้นนำด้วยกันแล้ว ยังคงมีความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันอยู่สูง เรื่องที่จะรวมกำลังกันต่อต้านสยาม ยิ่งเป็นเรื่องห่างไกล แม้จะมีศัตรูคนเดียวกันก็ตาม    

วิธีการจัดการปกครองที่สยามใช้กับหัวเมืองประเทศราช ก็มีส่วนทำให้เกิดความแตกแยกไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน ดังที่ “ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน”[21] ได้เล่าว่ารัชกาลที่ 3 เป็นผู้รับรองอำนาจเป็นทางการแก่เจ้ามหายศ ให้เป็นเจ้านครน่าน และส่งเสริมให้เจ้ามหายศมีอำนาจวาสนามากขึ้นจากการให้ไปเป็นผู้ช่วยรั้งราชการเมืองหลวงพระบาง ทั้งนี้เพราะตั้งแต่ก่อนเกิดศึกเจ้าอะนุวงแล้วที่สยามไม่ไว้วางใจ กลัวว่าล้านนากับล้านซ้างจะรวมตัวกันได้แล้วพุ่งเป้ามาหากรุงเทพฯ จึงคอยยุยงส่งเสริมให้เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันเรื่อยมา

นครราชสีมาก็ได้รับการส่งเสริมให้มีอำนาจควบคุมอีสานมากเสียจนไปกระทบผลประโยชน์ของเวียงจันและจำปาสักอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยน “กองส่วยอีสาน” ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่นครราชสีมา ให้เป็น “กองสักเลข” และให้มีอำนาจเดินทัพไปล่าจับคนมาสักเลขเป็นทาสเข้ากรมกองจากบริเวณอีกฝั่งฟากแม่น้ำโขง โดยไม่คำนึงว่าจะล้ำแดนล่วงเข้าไปในถิ่นของเวียงจัน จำปาสัก หรือหลวงพระบาง

ภาพ อนุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ณ วัดไพชยนต์พลเสพย์ จังหวัดสมุทรปราการ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม)

ภาพ ชาวอีสาน พิธีเผาศพตามประเพณีแบบพื้นเมืองสองฝั่งโขง ภาพลายเส้นฝีมือชาวยุโรป เขียนสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงต้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม)

กองสักเลขที่เที่ยวออกไปล่าจับคนในเขตล้านซ้างมาเป็นทาส และเป็นกองที่ถูกส่งไปโดยเจ้าเมืองนครราชสีมาซึ่งได้รับการสนับสนุนรับรองอำนาจนี้โดยชนชั้นนำกรุงเทพฯ นี้เอง จากเอกสาร “พื้นเวียง”[22] ได้เล่าว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เวียงจันกับจำปาสักรู้สึกหมดความอดทนอดกลั้น และเมื่อทัพเวียงจันลงมายึดนครราชสีมาไว้ได้แล้ว กวาดต้อนผู้คนไปเสร็จ จึงได้ทำการ “ล้างแค้น” โดยเจ้าอะนุวงให้เผาเมืองนครราชสีมาเสีย อีกทั้งยังเป็นการทำลายฐานที่มั่นและแหล่งเสบียงอาหารสำคัญสำหรับกองทัพสยามที่จะยกขึ้นมาตีเวียงจันอีกด้วย

ตามความในจดหมายกราบบังคมทูลฯ ถวายรายงานแด่พระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ ได้ระบุถึงข้อผิดพลาดของฝ่ายเจ้าอะนุวงที่ทำให้ฝ่ายสยามได้เปรียบ ก็คือทำลายหัวเมืองที่อยู่ที่เส้นทางเดินทัพแค่เมืองนครราชสีมา เมืองอื่นไม่ได้ทำ ทำให้เมื่อกองทัพสยามไปถึงก็หาเสบียงอาหารและตั้งค่ายมั่นได้

แต่หากมองในแง่สภาพหัวเมืองอีสานเวลานั้น ที่จริงหัวเมืองที่อยู่ข้างฝ่ายสยามจริงมีเพียงนครราชสีมา ชัยภูมิ และกาฬสินธุ์ นอกนั้นส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายเวียงจันหมด เจ้าอะนุวงต้องการเพียงกวาดต้อนครัวขึ้นไปเวียงจัน การทำลายหัวเมืองที่มิตรเป็นพรรคพวกของตนอยู่แล้ว นอกจากจะไม่มีความจำเป็นแล้ว ยังจะสร้างความเสียหายให้แก่ฝ่ายตน เมืองที่อยู่ข้างตนแล้วยังไปทำลาย ก็อาจทำให้มิตรกลายเป็นศัตรูไปอยู่ข้างฝ่ายสยามได้ง่าย

ตรงข้ามการทำลายเมืองที่เป็นอริกันมาแต่เดิม ก็เป็นตัวอย่างว่าถ้ายังอยู่กับสยามจะมีชะตากรรมเป็นอย่างไร อันที่จริงชนชั้นนำท้องถิ่นในอีสานเวลานั้นต่างก็มีความไม่พอใจต่อเจ้าเมืองนครราชสีมาอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  เพราะเป็นหัวเมืองใหญ่ที่อาศัยการยึดโยงกับอำนาจสยามไปกดขี่ข่มเหงบ้านเล็กเมืองน้อยอื่นๆ แถมเมื่อเปลี่ยน “กองส่วย” เป็น “กองสักเลข” เที่ยวล่าจับไพร่บ้านพลเมืองไปเป็นทาสเชลย ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับชนชั้นนำท้องถิ่นทั้งในหัวเมืองอีสานและล้านซ้าง       

นัยยะของคำว่า “ฟื้นพระมหากระสัตรเจ้า” ในหลักฐานล้านนา

ในเอกสารหลักฐานของล้านนา มักจะมีคำหนึ่งปรากฏอย่างสม่ำเสมอในการอธิบายให้ความหมายต่อการกระทำของเจ้าอะนุวง คือคำว่า “ฟื้นมหากระสัตรเจ้า” เช่นใน “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” ระบุถึงเจ้าอะนุวงและสาเหตุที่ทำสงครามกับสยามว่า “ในขณะนั้น เจ้าอนุเวียงจันคึดกบถฟื้นพระมหากระสัตรเจ้า[23]

นัยความหมายของคำว่า “พระมหากระสัตรเจ้า” ที่เจ้าอะนุวงจะ “ฟื้น” ขึ้นใหม่นี้คืออะไร? เข้าใจได้จากการอธิบายในเชิงคู่ตรงข้าม เมื่อผู้บันทึกหลักฐานก็ระบุถึงสถานะของกษัตริย์กรุงเทพฯ ด้วยคำเดียวกันนี้ เช่นว่า เมื่อทัพเชียงใหม่มารวมกับทัพลำพูนแล้ว “ก็ยกริพลโยธาไปด้วยระยะมัคคาตรายเถิงเวียงจันบรรจบกองทัพหลวงพระมหากระสัตรเจ้าแล้วเข้ายุทธกัมม์เอาเวียงจัน”[24]

“ทัพหลวงพระมหากระสัตรเจ้า” ที่ “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” กล่าวถึงในที่นั้นคือสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ กษัตริย์วังหน้าของสยามสมัยนั้น คำนี้ต้องใช้สำหรับกษัตริย์วังหลวง (พระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ 3) ด้วยเป็นแน่

นอกจากนี้ ตาม “พื้นเมืองเชียงแสน” ก็ยังเคยระบุถึงพระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่า ด้วยคำเดียวกันนี้ว่า “ตั้งแต่มหากระสัตรมกโชนั่งแท่นแก้วอังวะแล”[25]  (คำว่า “มกโช” นี้หมายถึง “มุกโชโบ” ตำบลบ้านของอองไจยะ (พระเจ้าอลองพญา) ก่อนจะสถาปนากรุงอังวะ) หรืออย่างอีกแห่งหนึ่ง เอกสารเดียวกันนี้ก็กล่าวว่า “บัณณาการ ช้างร้อย ม้าร้อย งัวร้อย ควายร้อย ซุอันได้มาแล้วเอาลงไปถวายมหากระสัตรเจ้าอังวะ หั้นแล”[26]  

สถานะของกษัตริย์กรุงเทพฯ กับกษัตริย์อังวะเหมือนกันอยู่อย่างคือความเป็นราชาเหนือราชาองค์อื่น หรือก็คือ “พญาจักรพรรดิราช” คำว่า “มหากระสัตรเจ้า” ก็คือคำเรียกกษัตริย์ผู้เปรียบเสมือนเป็นพญาจักรพรรดิราชนั่นเอง 

การปรากฏคำนี้อธิบายการกระทำของเจ้าอะนุวง จึงสะท้อนความรับรู้และเข้าใจสาเหตุเบื้องหลังของสงครามเจ้าอะนุวงว่าเป็นสงครามเพื่อฟื้นฟูสถานภาพจักรพรรดิราชของกษัตริย์ล้านซ้าง สมัยนั้นคำว่า “เอกราช” จะหมายถึง “เอกราชา” คือราชาผู้เป็นที่หนึ่งในท่ามกลางราชาองค์อื่นๆ ยังไม่ได้มีความหมายเท่ากับเอกราชของชาติบ้านเมือง 

อย่างไรก็ตาม ก็เป็นธรรมดาที่นักประวัติศาสตร์ลาวในชั้นหลังจะนิยมอธิบายให้ความหมายต่อศึกเจ้าอะนุวงว่าเป็นการลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้อง “เอกราช” ในลักษณะเดียวกับที่ขบวนการชาตินิยมในอุษาคเนย์กำลังต่อสู้เรียกร้องกันอยู่ในยุคหลัง ทั้งนี้เพราะเจ้าอะนุวงได้รับการยกย่องเป็น “วีรบุรุษแห่งชาติ” ของลาว[27] 

แต่ในหลักฐานประวัติศาสตร์ล้านนา ผู้บันทึกต่างมองว่า เจ้าอะนุวงทำสงครามเพื่อฟื้นฟูสถานะของตนเองให้กลับมาเป็นใหญ่เหมือนเช่นกษัตริย์ล้านซ้างในอดีต เป็นเรื่องผลประโยชน์ของราชวงศ์เจ้าอะนุวงเอง ดังนั้นหากเจ้าอะนุวงชนะศึกนี้จึงอาจจะยังไม่นำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่ล้านนา เพราะแค่จะเปลี่ยน “พระมหากระสัตรเจ้า” องค์ใหม่เท่านั้น  

เมื่อคิดเห็นไปในทางนั้น จึงส่งผลให้เกิดความลังเลและยังไม่อาจไว้วางใจได้ ผลประโยชน์ยังไม่ลงตัวและอันที่จริงก็ไม่ปรากฏว่ามีการติดต่อเจรจาเพื่อตกลงร่วมกันมาก่อนเลยว่า หากชนะศึกนี้แล้วล้านนาจะได้อะไรเป็นการตอบแทนบ้าง  ต่างจากฝ่ายสยามที่เรื่องนี้จะมาก่อนเป็นอันดับแรก  แต่อย่างไรก็ตาม หากมองจากจุดของฝ่ายเจ้าอะนุวง ขณะนั้นเวียงจันอาจจะต้องการความช่วยเหลือจากล้านนามากกว่าแค่เดินทัพล่าช้า เพราะต่างมีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่ เรื่องพวกนั้นอาจตกลงกันทีหลังก็ได้

บทสรุปและส่งท้าย

จะเห็นได้ว่า ศึกเจ้าอะนุวง พ.ศ.2369-2371 นี้เป็นศึกใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เพราะมีตัวละครที่ไม่ใช่แค่สยามกับเวียงจัน หากแต่มีตัวละครอื่นๆ อีก พัวพัน “อิรุงตุงนัง” กันไปหมด จนไม่รู้ใครมิตร-ใครศัตรู (ไม่มีมิตรแท้-ศัตรูเทียม)

ไม่เหมือนสงครามที่ไทยรบกับพม่า ตีพม่าพ่ายไปก็จบ แต่ศึกเจ้าอะนุวงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเมื่อเจ้าประเทศราชหนึ่งลุกขึ้นมาประกาศตนเป็นอิสระและแถมยกทัพลงมากวาดต้อน ก็สะเทือนในระดับภูมิภาค ในเมื่อล้านซ้างเวียงจันไม่ใช่ประเทศราชเพียงเมืองเดียวในเวลานั้น นอกจากเวียงจัน อีสาน และลาวใต้จำปาสักแล้ว สยามจึงต้อง “เหลือบตามองบน” ไปที่ล้านนาและหลวงพระบางด้วยว่าจะอยู่ข้างไหน ในเมื่อล้านนากับหลวงพระบางดุจะมีผลประโยชน์ร่วมกับเวียงจันอยู่   

จากที่เอกสารล้านนาให้นัยความหมายการกระทำของเจ้าอะนุวงด้วยคำว่า “ฟื้นพระมหากระสัตรเจ้า” ทำให้ทราบว่าแท้ที่จริงล้านนาไม่ใช่ไม่อยากเข้าร่วมฝ่ายเจ้าอะนุวง แต่เพราะเข้าใจไปว่ายังไม่อาจร่วมผลประโยชน์กันได้เต็มที่ แต่ไม่ถึงกับต้องเป็นศัตรูกันตั้งแต่ต้น เพราะก็หัวอกเดียวกัน อยู่ใต้อำนาจกดขี่เดียวกัน และลึกๆ ก็ต้องการปลดแอกเหมือนกัน  

แต่ไม่อาจไว้วางใจเจ้าอะนุวงได้เต็มที่ เพราะเคยมีประสบการณ์มาแล้วว่าเมื่อครั้งยังจงรักภักดีต่อสยามนั้น เจ้าอะนุวงได้ “เล่นใหญ่” อย่างไรในศึกที่สยามสั่งให้ตีเชียงแสน นอกจากนี้ คำนี้ (ฟื้นพระมหากระสัตรเจ้า) ยังใช้อธิบายการกระทำของฝ่ายล้านนาได้ด้วยว่า เพราะเหตุใด ทำไมจึงต้องรอเลือกข้างเอาก็เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ชนะในสงครามครั้งนี้  ไม่ถึงกับเป็นพฤติกรรมแบบ “อยู่เป็น” แค่รอจังหวะ

หากทัพเวียงจันที่ค่ายส้มป่อยยื้อเวลาต่อต้านกองทัพสยามไว้ได้นานกว่านั้น หรือหากกองทัพเวียงจันไม่หยุดอยู่แค่สระบุรี ยกลงไปประชิดกรุงเทพฯ ฝ่ายล้านนาจะมีตัวเลือกอยู่เพียง 2 ทาง คือ ยกลงตีทัพเวียงจัน สร้างความดีความชอบต่อสยาม แล้วกลับบ้านเมืองตนไปเป็นอย่างเดิม กับอีกทางเลือกคือช่วยทัพเวียงจันรุมกรุงเทพฯ เสีย แล้วกลับบ้านเมืองไปตั้งตัวเป็นอิสระ

ต้องขอบอกว่าแนวโน้มของการเลือกในแบบที่ผู้บันทึกเอกสารล้านนากล่าวเป็นนัยๆ ไว้นั้น คือทางเลือกที่สอง แต่ก็นั่นแหล่ะ ใครจะไปรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะในโลกที่คนพร้อมจะเอนไหวไปตามแรงจูงใจในผลประโยชน์ (ที่คาดว่าจะได้รับ) นั้นไม่มีอะไรแน่นอนตายตัวหรอก

อย่างไรก็ตาม การพยายามยืนยันสิทธิที่จะเป็นอิสระของคนลาวล้านซ้าง จะถูกพูดถึงอีกครั้งในปลายศตวรรษเดียวกัน เมื่อชาติตะวันตกแผ่อิทธิพลเนื่องในลัทธิล่าอาณานิคมเข้ามาเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19  แล้วเจ้าอะนุวงกับชาวเวียงจันก็สมหวังทางอ้อมเมื่อปลดแอกจากฝรั่งเศสได้ ก็ตั้งตัวเป็นประเทศอิสระ ขณะที่ล้านนายังคงถูกยึดครองโดยสยามมาจนทุกวันนี้…             

เชิงอรรถ


[1] จารุวรรณ ธรรมวัตร (บก.ปริวรรตและเรียบเรียง). พงศาวดารแห่งประเทศลาวคือ หลวงพระบาง, เวียงจันท์, เมืองพวน และจำปาสัก. มหาสารคาม: สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม, ไม่ระบุปีที่พิมพ์.

[2] กรณีที่เป็นชื่อบุคคลและสถานที่ของลาว ผู้เขียนขออนุญาตเขียนตามอักขรวิธีของลาว รวมทั้งการระบุตัวสะกดและพยัญชนะต่างๆ ที่โควตมาจากหลักฐานล้านนา ก็ขออนุญาตคงไว้ตามเอกสารเดิมด้วย ทั้งนี้เพื่อรักษาตัวบทหลักฐานไว้คงเดิม แต่หากคำไหนเป็นคำเฉพาะ เข้าใจยากในภาษาไทย ก็จะวงเล็บภาษาไทยไว้ให้

[3] มะยุรี และ เผยพัน เหง้าสีวัทน์. เจ้าอะนุ 1767-1829: ปะซาซนลาวและอาซีอาคะเน (เลื่องเก่า, บันหาใหม่). (เวียงจัน: โรงพิมแห่งลัด, 1988), หน้า 35.

[4] สุเนด โพทิสาน และคะนะ. ปะหวัดสาดลาว (ดึกดำบัน-ปะจุบัน). (เวียงจัน: กะซวงถะแหลงข่าวและวัดทะนะทำ, 2000), หน้า 380-381.

[5] สุวิทย์ ธีรศาศวัต. “ทำไมเจ้าอนุวงศ์จึงต้องปราชัย?” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 27 ฉบับที่ 11 (กันยายน 2549), หน้า 76-90.

[6] กรณีบทบาทเวียดนามในศึกเจ้าอะนุวง ผู้เขียนอธิบายไว้แล้วใน กำพล จำปาพันธ์. “ศึกเจ้าอะนุวงในเอกสารหลักฐานเวียดนาม” ทางอีศาน. ปีที่ 13 ฉบับที่ 152 (ธันวาคม 2567), หน้า 41-47.  

[7] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2538.

[8] “ศุภอักษรเมืองหลวงพระบาง” ใน ประชุมจดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันท์. (พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนกร, 2473), หน้า 137-138.

[9] คนมักจะเข้าใจผิดไปว่า แม่ทัพหลวงคือพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) หรือต่อมาเมื่อเสร็จศึกเจ้าอะนุวงได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “เจ้าพระยาบดินทรเดชา” แต่ที่จริงจากหลักฐานชั้นต้น แม่ทัพหลวงในศึกนี้คือสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ต่างหาก ดังนั้นที่มีเอกสารจดหมายเหตุในหมวดชื่อ “ระยะทางเสด็จพระราชดำเนินกองทัพหลวง ตั้งแต่กรุงเทพฯ ถึงเมืองเวียงจันท์ ปีจออัฐศก 1188” นั้น คำว่า “กองทัพหลวง” หรืออย่างคำว่า “เสด็จพระราชดำเนิน” ไม่ได้หมายถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 ทรงเป็นแม่ทัพหลวงเสด็จยกทัพไปเวียงจันด้วยพระองค์เอง หากแต่เป็นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์เป็นแม่ทัพหลวง เพราะสถานะของเจ้านายวังหน้าสมัยนั้นเป็นกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง กองทัพที่ทรงบัญชาการรบนั้นจึงใช้ชื่อ “กองทัพหลวง” ได้ไม่ผิดแผกอันใด ดูเอกสารนี้ได้ใน จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 2. (กรุงเทพฯ: กองจดหมายเหตุ หอสมุดแห่งชาติ, 2530), หน้า 77-84.  

[10] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3, หน้า 25.

[11] เรื่องเดียวกัน, หน้า 26.

[12] ก.ศ.ร.กุหลาบ (กุหลาบ ตฤษณานนท์). อานามสยามยุทธ. (นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2564), หน้า 109. 

[13] เรื่องเดียวกัน, หน้า 105.

[14] เรื่องเดียวกัน, หน้า 105-106.

[15] ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์: พื้นเมืองเชียงแสน. ปริวรรตโดย สรัสวดี อ๋องสกุล, (กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2546), หน้า 252.

[16] เรื่องเดียวกัน, หน้า 252-254.

[17] บริพัตร อินปาต๊ะ. “ล้านช้างในน่าน: ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับชาวล้านช้างในน่านยุคพุทธศตวรรษที่ 24-25” วารสารวิชาการมนุษย์และสังคม. ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2565), หน้า 292.

[18] เรื่องเดียวกัน, หน้า 293.

[19] ดูรายละเอียดใน กำพล จำปาพันธ์ และโมโมทาโร่. Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2566), หน้า 65-66.

[20] ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี. (เชียงใหม่: ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538), หน้า 167.

[21] “ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน” ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 7. (กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2545), หน้า 309.

[22] จารุบุตร เรืองสุวรรณ (บก.). พื้นเวียง (กลอน 7) พงศาวดารเวียงจันทน์ สมัยพระเจ้าอนุรุทธาธิราช (พระเจ้าอนุวงศ์). กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์, 2525; ดูการศึกษาความสำคัญของเอกสารนี้ใน ธวัช ปุณโณทก. พื้นเวียง: การศึกษาประวัติศาสตร์และวรรณกรรมอีสาน. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526.

[23] ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. ปริวรรตโดย อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และเดวิด เค. วัยอาจ, (เชียงใหม่: ตรัสวิน, 2543), หน้า 211.

[24] เรื่องเดียวกัน, หน้า 212.

[25] ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์: พื้นเมืองเชียงแสน. ปริวรรตโดย สรัสวดี อ๋องสกุล, หน้า 232.

[26] เรื่องเดียวกัน, หน้า 238.

[27] ตัวอย่างการอธิบายให้ความหมายต่อบทบาทของเจ้าอะนุวงเช่นนี้ก็อย่างเช่น อู่คำ พมวงสา. ความเปนมาของลาว หรือเล่าเลื่องซาดลาว. เวียงจัน: ยุวะสะมาคมแห่งปะเทดลาว,  1958; พูทอง แสงอาคม. ซาดลาว คนลาว อะดีดและปะจุบัน. เวียงจัน: โรงพิมนะคอนหลวง, 2006; ดวงไซ หลวงพะสี. วีละบุลุดแห่งแผ่นดินลาวล้านซ้าง. เวียงจัน: โรงพิมแห่งลัด, 2000.   

“ประชาธิปไตยเริ่มต้นที่บ้าน” เปิดมุมมองเลือกตั้งท้องถิ่นผ่านเลนส์พิจิตร

การเลือกตั้งนายก อบจ. ปี 2568 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันนี้ ถือเป็นอีกสถานการณ์สำคัญที่น่าจับตามอง เนื่องจากการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้สามารถสะท้อนมุมมองของสังคมได้ในหลายด้านและยังทำให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของการเมืองท้องถิ่นในอนาคตได้

‘Lanner’ สัมภาษณ์ ดร.วีระ หวังสัจจะโชค อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ถึงความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดพิจิตร โดยเขาได้อธิบายว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความสำคัญต่อประชาธิปไตย เพราะเป็นรากฐานของการใช้อำนาจของประชาชน ซึ่งสามารถเลือกผู้บริหารและตัวแทนนิติบัญญัติของท้องถิ่นได้โดยตรง ทำให้การตัดสินใจสะท้อนความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างชัดเจน แตกต่างจากการเลือกตั้งระดับชาติที่มีลักษณะคล้าย “กล่องสุ่ม” เพราะประชาชนเลือกเพียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ว่าจะได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี 

ดร.วีระ หวังสัจจะโชค อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 

วีระอธิบายอีกว่า การวางรากฐานประเทศและพฤติกรรมของประชาชนในการเลือกตั้งสามารถสะท้อนจากการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ชัดเจนกว่าระดับชาติ เนื่องจากการเลือกตั้งระดับชาติในบางครั้งอาจได้รับอิทธิพลจากกระแสหรือโฆษณาโจมตีฝ่ายตรงข้ามในช่วงสุดท้าย ทำให้เกิด “สวิงโหวต” ได้ แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นการเลือกผู้นำที่ประชาชนในพื้นที่สามารถตัดสินใจได้โดยตรง ซึ่งประชาชนจะมุ่งเน้นไปยังผู้ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่นั้นๆ เช่น การนำงบประมาณมาพัฒนา สร้างสิ่งอำนวยความสะดวก หรือแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้กับประชาชนได้

ทั้งนี้ วีระยังมองว่า สื่อกระแสหลัก เช่น ช่อง 3, 5, 7, และ 9 มักให้ความสนใจกับการเลือกตั้งระดับชาติมากกว่า แต่ถึงอย่างนั้นการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้ ก็ถือว่ามีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีพรรคการเมืองระดับชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น พรรคเพื่อไทยที่ใช้กระแสของทักษิณ และพรรคก้าวไกลที่เน้นอุดมการณ์การเปลี่ยนแปลง สิ่งนี้ทำให้การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นมีความสำคัญยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะมีผู้สมัครอิสระแล้ว ยังมีกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองระดับชาติด้วย ซึ่งส่งผลให้การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้เข้มข้นและมีความสำคัญอย่างมาก

หากต้องการเข้าใจพิจิตร ควรเริ่มจากการเข้าใจภูมิภาคเหนือตอนล่าง

การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในจังหวัดพิจิตรครั้งนี้ มีแนวโน้มที่น่าสนใจในเชิงการแข่งขัน แต่ยังคงอยู่ในกรอบของการเมืองแบบเดิม  วีระกล่าวว่า หากต้องการเข้าใจพิจิตร ควรเริ่มจากการเข้าใจภูมิภาคเหนือตอนล่างที่เป็นเพื่อนบ้าน ได้แก่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และกำแพงเพชร พื้นที่เหล่านี้มีลักษณะความผูกพันกับ “บ้านใหญ่” แต่ไม่ได้เป็นการผูกขาดที่ชัดเจน ซึ่งส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ที่บ้านใหญ่หรือกลุ่มการเมืองในพื้นที่เดียวกันสามารถแบ่งออกมาแข่งขันกันเองได้

ตัวอย่างสถานการณ์การเลือกตั้งนายก อบจ. ในพิจิตร ที่สมัยก่อนหน้านี้มีผู้ชนะการเลือกตั้งคือ พ.ต.อ. กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ อดีตนายก อบจ. พิจิตร ตัวแทนจากบ้านใหญ่ตระกูลภัทรประสิทธิ์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากพี่ชายอย่าง นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิจิตร 4 สมัย และยังเคยมีบทบาทร่วมกับพรรคภูมิใจไทย แต่แล้วทั้งคู่ก็มีปัญหาภายในจน พ.ต.อ. กฤษฎา ได้แยกตัวออกไปร่วมกับพรรคอื่นในการเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งนี้แทน และนายประดิษฐ์เองก็ได้หันมาสนับสนุนลูกชายของน้องสาวอย่าง นายกฤษฏ์ เพ็ญสุภา อดีตผู้ช่วยเลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์ ในการลงสมัครเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งนี้ การแข่งขันนี้แสดงให้เห็นถึงการพยายามครอบครองพื้นที่การเมืองระดับจังหวัดอย่างชัดเจน 

พ.ต.อ. กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร (ภาพจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร
ประสิทธิ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีต รมช.คมนาคม-รมช.คลัง (ภาพจาก ThaiCycling Association)
นายกฤษฏ์ เพ็ญสุภา อดีตผู้ช่วยเลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์ (ภาพจาก  กฤษฏ์ เพ็ญสุภา – Krit Pensupha)

ทางเลือกที่สาม โอกาสสู่การเมืองท้องถิ่นยุคใหม่

ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง การเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงอยู่ภายใต้การเมืองแบบดั้งเดิมที่พึ่งพาการทำงานระดับพื้นที่และการคุมคะแนนเสียงในท้องถิ่น และด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างผู้เล่นหลักทั้งสองฝ่ายนี้ เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มี “ทางเลือกที่สาม” ให้ประชาชนได้พิจารณาเพิ่มเติม เพราะอาจช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนได้เลือกสิ่งที่แตกต่างจากตัวเลือกเดิมๆ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง พอตอนนี้เหลือแค่สองทางเลือก ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นเดียวกับ จังหวัดกำแพงเพชร ที่มีอัตราการไปใช้สิทธิ์เพียงประมาณ 38-40%  วีระยกตัวอย่างว่า หากเขาเป็นคนพิจิตรที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แล้วเห็นแคนดิเดตแค่ 2 คนแบบนี้ก็คงไม่กลับแล้วเพราะว่าไม่ว่าได้ใครมาก็คงอีหรอบเดิม

“ความแตกต่างของการเมืองท้องถิ่นในโซนภาคเหนือตอนล่างจะต่างจากเหนือบนตรงที่ เหนือบนเช่น เชียงรายหรือเชียงใหม่ที่มีตระกูลหลักผูกขาด แต่ที่เหนือล่าง กลุ่มบ้านใหญ่มีโอกาสแข่งขันกันเอง และบ้านรองที่พร้อมจะแข่งขันกันด้วย หากพื้นที่ไหนมีบ้านใหญ่บ้านเดียว ก็อาจแตกออกเป็นสองสายเหมือนกรณีพิจิตร ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันในระดับพื้นที่ว่าจะได้ใครเป็นตัวแทน แต่ว่าความเข้มข้นในเชิงอุดมการณ์ก็ยังมีไม่มาก หรือเคยมีแล้วถดถอยลงไป ซึ่งสะท้อนผ่านการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งท้องถิ่นใน 29 จังหวัดที่จัดการเลือกตั้งไปแล้ว พบว่าแทบไม่มีจังหวัดไหนที่มีผู้มาใช้สิทธิ์เกิน 50% เลย” 

ทั้งนี้วีระยังได้กล่าวถึงประเด็นการเลือกตั้งในระดับต่างๆ โดยเปรียบเทียบพฤติกรรมของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ระบุว่า การเลือกตั้งระดับชาติแม้จะมีผู้มาใช้สิทธิถึง 75% แต่ยังมีผู้ไม่ออกมาใช้สิทธิถึง 25% ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นเพียงการไม่กลับมาเลือกตั้ง แต่ยังรวมถึงคนที่ไม่สนใจออกมาใช้สิทธิด้วย ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากการไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าเท่านั้น แต่สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างในลักษณะการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ที่มักจะมุ่งเน้นการเลือกตัวบุคคลมากกว่าอุดมการณ์เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในพื้นที่

การเลือกตั้งระดับชาติ มีเขตเลือกตั้งที่ขนาดเล็กกว่า จากการแบ่งจังหวัดออกเป็นหลายเขต แต่ในการเลือกตั้งท้องถิ่น อย่างการเลือกตั้งนายก อบจ. เขตเลือกตั้งมีขนาดใหญ่มากกว่า ซึ่งทำให้ต้องอาศัยการสร้างพันธมิตรระหว่างกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ จนเกิดเป็นพันธมิตรชั่วคราวขึ้น การแข่งขันในระดับนี้จึงมีความได้เปรียบสำหรับผู้ที่คร่ำหวอดในวงการการเมืองท้องถิ่นมากกว่าผู้สมัครที่เน้นอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นหลัก

“ในการเลือกตั้งท้องถิ่น มีความน่าสนใจตรงที่เวลาเราเลือกผู้นำในท้องถิ่น คนที่ได้มาอาจจะพัฒนาท้องถิ่นหรือสร้างประโยชน์ในพื้นที่ แต่ในเมืองรองที่ไม่มีโรงงาน ไม่มีอุตสาหกรรม หรือโอกาสงานเอกชน คนในพื้นที่เหล่านี้มักจะย้ายไปทำงานในเมืองใหญ่ เช่น ชลบุรี ระยอง หรือกรุงเทพฯ และปริมณฑล พวกเขามองว่า ต่อให้ทะเบียนบ้านอยู่ในต่างจังหวัด การกลับมาเลือกตั้งก็ไม่มีผลกระทบอะไรต่อตัวเขา เพราะสุดท้ายก็ต้องกลับไปใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ และนักการเมืองที่เขาเลือกก็ยังคงทำงานในพื้นที่ที่เขาไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้ว นี่จึงเป็นสาเหตุให้หลายคนเลือกที่จะไม่กลับมาเลือกตั้งท้องถิ่น แต่กลับมาเฉพาะระดับชาติแทน เพราะระดับชาติยังมีผลต่อพวกเขามากกว่า” 

การตัดสินใจเลือกตั้งของคนในแต่ละพื้นที่มักมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องออกไปทำงานหรือเรียนในพื้นที่อื่น เมื่อเทียบกับคนที่ยังคงอาศัยอยู่ในท้องถิ่น เช่น ผู้สูงอายุ และคนทำงานในภาคเกษตรกรรม กลุ่มคนเหล่านี้มักมีพฤติกรรมการเลือกตั้งที่แตกต่างจากกลุ่มชนชั้นกลางที่ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนหรืองานรับจ้างทั่วไป ทำให้นักการเมืองคนไหนก็ตามที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้สูงอายุ และคนทำงานในภาคเกษตรกรรมได้จะมีความได้เปรียบในการเลือกตั้งท้องถิ่นสูง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่ใน 29 จังหวัด หาเสียงโดยใช้นโยบายที่เจาะกลุ่มผู้สูงอายุ เช่น การให้บริการโรงพยาบาลท้องถิ่นหรือสถานพยาบาลที่รองรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อย่างการฟอกไตในจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น นโยบายเหล่านี้ดึงดูดผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ย้ายถิ่นฐานไปไหน ต่างจากลูกหลานที่ย้ายออกไปทำงานในเมืองใหญ่ นักการเมืองจึงมุ่งเน้นนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของผู้ที่ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเลือกตั้ง

ถึงแม้ว่าหลังการเลือกตั้ง มักมีคำถามจากบางกลุ่มว่าเหตุใดผู้คนจึงไม่เลือกตัวเลือกที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหรือการพัฒนาใหญ่ๆ คำตอบก็คือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางส่วนไม่มองเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในขณะนั้น ทำให้นโยบายที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของกลุ่มคนในพื้นที่ยังคงเป็นสิ่งที่มีน้ำหนักมากกว่าในการตัดสินใจเลือกตั้ง

“กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นสามารถจับทางได้ดีในการเจาะกลุ่มผู้สูงอายุและคนทำงานในภาคเกษตรกรรม ซึ่งกลุ่มนี้เป็นฐานหลักของการเลือกตั้งท้องถิ่น คิดเป็นสัดส่วนผู้ใช้สิทธิประมาณ 40% ในแต่ละครั้ง การเลือกตั้งของกลุ่มคนเหล่านี้แตกต่างจากชนชั้นกลางในเมืองที่มักตัดสินใจเลือกตั้งในฐานะปัจเจกบุคคล แต่ในชนบทคนในเครือข่ายจะเลือกตั้งโดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ และการช่วยเหลือในเครือข่ายเป็นหลัก นักการเมืองท้องถิ่นที่มักมุ่งดูแล และสร้างเครือข่ายเหล่านี้ให้แน่นแฟ้น โดยใช้วิธีการที่เรียกว่า จักรกลการเมือง ในการดึงคะแนนเสียง วิธีการนี้ทำให้สามารถคาดการณ์จำนวนคะแนนเสียงจากแต่ละหมู่บ้านและตำบลได้อย่างแม่นยำ รวมถึงวางแผนเจาะกลุ่มคะแนนเสียงจากพื้นที่เป้าหมายได้อย่างเป็นระบบ แม้ว่าลักษณะการเมืองเช่นนี้จะสะท้อนถึงความเป็นการเมืองแบบดั้งเดิมแต่มันไม่ใช่เก่าแบบเดิม” 

อย่างไรก็ตาม การกล่าวโทษว่าการเลือกตั้งในท้องถิ่น ใช้เงินเป็นปัจจัยหลักในการชนะนั้น วีระชี้ว่าถือเป็นการมองปัญหาที่ผิวเผิน เพราะปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ วิธีมองประโยชน์ที่จะได้รับหลังการเลือกตั้งของประชาชน เพราะหากประชาชนมองว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น น้ำประปาสะอาด เป็นสิ่งสำคัญ และมีค่ามากกว่าจำนวนเงินที่ได้รับ ก็จะเลือกตามความคาดหวังนั้น แต่หากสิ่งเหล่านี้มีมูลค่าในสายตาพวกเขาน้อยกว่าเงิน 500, 800 หรือ 1,000 บาท ก็ยากที่จะโทษประชาชนได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ผู้สมัครได้เสนอมานั้น ไม่สามารถตอบโจทย์หรือดึงดูดพวกเขาได้มากพอ

“การมองว่าคนในชนบทหรือผู้สูงอายุเลือกตั้งด้วยเงินนั้นไม่ถูกต้องเสียทีเดียว หรือหากเป็นจริง อย่างน้อยก็ยังมีเหตุผลที่ชัดเจนกว่าการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ที่บางครั้งถูกชี้นำด้วยอารมณ์ และการปลุกกระแส ตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีกรณีที่การเผาป้ายหาเสียงในช่วงอาทิตย์สุดท้ายส่งผลให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเปลี่ยนใจจากพรรคหนึ่งไปอีกพรรคหนึ่ง โดยไม่มีเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายหรือประโยชน์ที่แท้จริง ซึ่งสิ่งนี้อาจแย่กว่าการเลือกตั้งที่มีการใช้เงินด้วยซ้ำ เพราะไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ที่จะได้รับหลังการเลือกตั้งเลย”

ปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงาน: อันตรายที่ถูกมองข้าม

รายงานจาก สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JUST ECONOMY AND LABOOR INSTITUTE) เรื่องราวคดีความของ ดร.เค็ง กับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงอันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในสถานที่ทำงานซึ่งเป็นผลมาจากการเจ็บป่วยทางจิต ทำให้เห็นถึงอีกแง่มุมของปัญหาสุขภาพจิตในสังคมไทย

เมื่อเดือนธันวาคมปี 2023 รายการข่าวชื่อดังหลายรายการในประเทศไทยได้ออกอากาศการสัมภาษณ์ “ดร.เค็ง” เกี่ยวกับคดีความของเธอกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเมื่อเผยแพร่ออกไปก็ได้รับความสนใจอย่างมากในโลกออนไลน์ ในการสัมภาษณ์ครั้งนั้น ดร.เค็ง ได้กล่าวถึงแหล่งช่วยเหลือสนับสนุนของเธอในช่วงระยะเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหานานัปการ หนึ่งในนั้นก็คือสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

คดีความของ ดร.เค็ง นั้นถือเป็นเรื่องราวโดยตรงเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งในประเทศไทยอาจกล่าวได้ว่าเพิ่งจะเป็นที่ยอมรับ และสามารถพูดคุยกันอย่างแพร่หลายเปิดเผยในระยะเวลาไม่นาน ทั้งยังเป็นกรณีตัวอย่างของการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในสถานที่ทำงานซึ่งเป็นผลมาจากการเจ็บป่วยทางจิต ดร.เค็ง เล่าว่าปัญหาของเธอนั้นเริ่มต้นมาจากการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมโดยนายจ้าง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสุขภาพจิตและวิถีชีวิตของเธอมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี

ในปี 2008 ดร.เค็ง-ประภากร วินัยสถาพร ได้รับทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในระหว่างที่เธอศึกษาอยู่นั้น ได้เริ่มมีอาการของปัญหาสุขภาพจิตจนต้องเข้าพบกับนักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย อาการของเธอแย่ลงเรื่อยๆ จนกระทั่งต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชเป็นเวลากว่า 28 วัน ในปี 2012

เมื่อกลับมาที่มหาวิทยาลัย เธอได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากทั้งคณะและเจ้าหน้าที่ ได้เข้าพบกับจิตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญคือเธอไม่ถูกเลือกปฏิบัตหรือทำให้รู้สึกแปลกแยกจากอาการป่วยของเธอแต่อย่างใด การดูแลเป็นอย่างดีจากมหาวิทยาลัยทำให้ ดร.เค็ง สามารถศึกษาต่อได้จนสำเร็จ แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับประเทศไทยเพื่อทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงตามเงื่อนไขของทุนการศึกษา ทุกสิ่งทุกอย่างกลับพลิกผัน เธอไม่ได้รับการดูแลปัญหาสุขภาพจิตแต่อย่างใดจากที่ทำงาน

ดร.เค็ง ทำงานโดยต้องต่อสู้กับอาการป่วยทางจิตที่ส่งผลต่อการกระทำและสภาวะการตัดสินใจ ทั้งยังถูกทำให้รู้สึกแปลกแยกจากเพื่อนร่วมงาน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ทำงานที่ไม่ได้ให้ความสนใจหรือช่วยเหลืออย่างเหมาะสมกับอาการป่วยนั้น เธอส่งอีเมล์ถึงอธิการบดีแจ้งว่าเธอไม่ไหวและอยากจะลาออก โดยขอให้ทางมหาวิทยาลัยช่วยตรวจสอบกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน แต่สิ่งที่ต้องพบเจอคือ มหาวิทยาลัยใช้อีเมล์ฉบับนั้นเป็นเหตุผลในการให้เธอออกจากงาน

หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงยื่นฟ้อง ดร.เค็ง เป็นเงินมูลค่ากว่า 16 ล้านบาท ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่าการลาออกของ ดร.เค็ง เป็นการผิดสัญญาทุนการศึกษา

ดร.เค็ง ที่ยังอยู่ในอาการป่วย ทั้งยังต้องออกจากงานต้องต่อสู้กับคดีความเพียงลำพังเป็นเวลาหลายปีโดยที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ ทั้งปัญหาสุขภาพจิตก็เป็นอุปสรรคต่อการหางานทำในขณะนั้น ต่อมา ภายหลัง จึงได้มีอาจารย์กฎหมายเข้ามาให้คำแนะนำในการเขียนรายงานโต้แย้งต่อศาลและเอกสารอื่นๆ ระหว่างนั้นก็เป็นช่วงที่ ดร.เค็ง ได้พบกับตัวแทนจากมูลนิธิกระจกเงาที่เข้ามาช่วยเหลือและให้กำลังใจ การสนับสนุนนี้มีความสำคัญอย่างมากในการทำให้เธอกลับมามีความหวังและเริ่มต้นหางานใหม่อีกครั้ง

ดร.เค็ง เริ่มต้นงานใหม่หลังจากผ่านการสอบสัมภาษณ์งานกับองค์กรหนึ่ง สถานที่ทำงานใหม่นี้มีความเข้าอกเข้าใจและสนับสนุนกระบวนการรักษาตัวของเธอเป็นอย่างดี ซึ่งในขณะนั้นเรื่องราวของ ดร.เค็ง ได้กลายเป็นประเด็นพูดคุยสาธารณะทางโซเชียลมีเดียไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทำให้เธอเองเกิดความกังวลเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกัน การได้รับการสนับสนุนจากหลายๆ คนก็ช่วยทำให้เธอกลับมามีความมั่นใจได้อีกครั้ง

ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2024 ศาลปกครองเชียงใหม่ได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ยกฟ้องโดยชี้ว่า ดร.เค็ง ไม่ได้ทำผิดสัญญาทุน

อีเมล์ที่เขียนถึงอธิการบดีนั้นไม่ใช่ใบลาออก เป็นมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงการคลังและเงื่อนไขในสัญญาทุน โดยไม่ได้ส่งเรื่องเข้าไปปรึกษากระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และกระทรวงการคลังตามระเบียบ เพื่อหารือว่าอาการป่วยทางจิตของ ดร.เค็ง เข้าเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสมการรับราชการ และสมควรได้รับการยกเว้นหนี้ทุนให้ โดยศาลปกครองสูงสุดได้ให้ข้อสรุปว่า ดร.เค็ง ไม่ได้ผิดสัญญาทุน และไม่ต้องต้องชดใช้หนี้ทุนและค่าปรับแต่อย่างใด

คดีความนี้ นอกจากจะพรากระยะเวลา 10 กว่าปี และสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพจิตของ ดร.เค็ง แล้ว ยังชี้ให้เห็นถึงระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพในการให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสมต่อปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงาน การที่ฝ่ายบริหารเลือกปฏิบัติและเพิกเฉยต่อการให้ความช่วยเหลือและดูแลสุขภาพจิตของลูกจ้าง เป็นการละเมิดต่อสิทธิและความคุ้มครองความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของแรงงาน

กรณีของ ดร.เค็ง ยังแสดงให้เห็นถึงความท้าทายทางเพศในที่ทำงาน ซึ่งประเด็นสุขภาพจิตมักจะนำไปสู่จากเลือกปฏิบัติจากการเหมารวมสภาวะทางเพศสภาพ

ลูกจ้างมักเผชิญกับการละเมิดโดยนายจ้างอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ค่าจ้าง หรือแม้แต่ภาระงาน แต่ปัญหาเหล่านี้จะมีการจัดการแก้ไขอย่างจริงจังได้ก็ต่อเมื่อเกิดเป็นหลักฐานการเจ็บป่วยทางร่างกายที่เห็นได้ชัดเจนแล้ว เมื่อเป็นปัญหาสุขภาพจิตแล้วนั้น ก็มักจะถูกมองข้ามหรือมองว่าเป็นหัวข้อต้องห้าม ทั้งๆ ที่ผลกระทบนั้นมีความรุนแรงอย่างมาก คนทำงานจำนวนมากต้องเผชิญกับภาวะเครียด วิตกกังวล และซึมเศร้า ในบางประเทศ การดูแลสุขภาพจิตในที่ทำงานได้รับความสำคัญอย่างมากและถูกบังคับโดยกฎหมาย เช่น ในสหราชอาณาจักร นายจ้างมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องดูแลสุขภาพจิตของลูกจ้าง การเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างที่มีปัญหาสุขภาพจิตก็เป็นเรื่องต้องห้ามโดยเด็กขาด แต่ในทางกลับกัน ประเทศไทยยังต้องเดินทางอีกยาวไกลในการพัฒนาให้ปัญหาสุขภาพจิตได้รับความสำคัญในที่ทำงานทั้งจากนายจ้างและลูกจ้าง

ในประเทศไทย กฎหมายแรงงานส่วนใหญ่จะเน้นที่การคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงาน โดยเฉพาะในแง่ของการป้องกันอุบัติเหตุและความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากการทำงาน แต่ในแง่ของการคุ้มครองสุขภาพจิตโดยเฉพาะนั้น กฎหมายแรงงานยังไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนหรือเป็นรูปธรรมเท่าไหร่นัก

สิ่งสำคัญคือ รัฐบาลจะต้องผลักดันให้มีการดูแลสุขภาพจิตของลูกจ้างอย่างจริงจังผ่านกรอบทางกฎหมาย กำหนดแนวทางการสนับสนุนสุขภาพจิต ส่งเสริมให้สถานที่ทำงานมีสิทธิประโยชน์ในการดูแลปัญหาสุขภาพจิตของลูกจ้าง และตรวจสอบไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติเมื่อลูกจ้างมีปัญหาสุขภาพจิต

อ่านรายงานฉบับเต็มที่ https://justeconomylabor.org/mental-health-matters-the-overlook-aspect-of-occupational-hazard/?fbclid=IwZXh0bgNhZW0CMTAAAR2urIfxh5cYWJDq4OE0A9E-2V2bpZeagqJ-givqeDTNOWCbXQzdT2QLnOM_aem_5pnfaDvR3GY5FvRL7Pkcnw 

กรีนพีซเปิดจดหมายจาก SCG ถึงข้อประกาศยุติเหมืองถ่านหิน พร้อมปลดระวางถ่านหิน สอดรับนโยบาย Net Zero

วันที่ 11 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา กรีนพีซ ประเทศไทย ประกาศข่าวดีหลังบริษัทปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด หรือ SCG ลำปาง ได้ออกจดหมายชี้แจงการยกเลิกโครงการเหมืองถ่านหินที่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง พร้อมทั้งยื่นถอนคำขอประทานบัตรต่อหน่วยงานราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

กรีนพีซ ประเทศไทย เปิดเผยอีกว่า SCG ยังมีประกาศไม่รับซื้อถ่านหินโครงการอมก๋อย จ.เชียงใหม่ เนื่องจาก บริษัทฯ ได้เร่งดำเนินงานตามแนวทาง ESG (Environment, Social, Governance) โดยทยอยลดการใช้ถ่านหิน และเพิ่มการใช้เชื้อเพลิงทดแทน แทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อสอดรับนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 อีกด้วย 

ทั้งนี้การชี้แจงของ SCG เป็นผลมาจากการทำงานรณรงค์เพื่อผลักดันให้บริษัทปลดระวางถ่านหินอย่างชัดเจน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ของชุมชน เครือข่ายยุติเหมืองแร่ องค์กรภาคประชาสังคม และกรีนพีซ ประเทศไทย

พรชิตา ฟ้าประทานไพร เยาวชนนักปกป้องสิทธิทางด้านสิ่งแวดล้อม จากชุมชนกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ. เชียงใหม่ ที่เป็นพื้นที่โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย  กล่าวว่า การยืนยันของ SCG ที่ว่าจะไม่รับซื้อถ่านหินจากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย ถือเป็นชัยชนะอีกขั้นของการต่อสู้กว่า 5 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การที่อมก๋อยยังคงเป็นเขตแหล่งแร่ถ่านหินเพื่อการทำเหมือง ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 อยู่ ทำให้พี่น้องชุมชนกะเบอะดินก็ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ว่าในอนาคตจะไม่มีโครงการเหมืองถ่านหินเกิดขึ้นที่อมก๋อย เพราะใบอนุญาตสัมปทานเหมืองแร่ในพื้นที่ยังคงอยู่ในแผนการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจเปิดสัมปทานให้กับบริษัทฯ ที่ยื่นขอได้อีก

หมุดหมายต่อไปของพี่น้องชุมชนกะเบอะดินคือการที่พื้นที่กะเบอะดินจะต้องถูกถอดออกจากเขตแหล่งแร่ถ่านหิน เพื่อการทำเหมืองตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 ด้วย เพื่อเป็นการยุติโครงการเหมืองถ่านหินที่อมก๋อยอย่างแท้จริง

ก๊อนเก๊าเล่าล้านนา: มิชชันนารีอเมริกันกับภารกิจเผยแพร่ศาสนาในล้านนา (1) : จากใจกลางสยามประเทศสู่ข่วงเขตถิ่นบ้านล้านนา

เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง

ปฐมบทก่อนการเข้าสู่ล้านนาของมิชชันนารีชาวอเมริกัน

‘วัฒนธรรมตะวันตก’ เป็นสิ่งที่ถูกรับเข้ามาในประเทศไทย เพื่อประกอบการสร้างความเป็นไทยหรือ ‘สยามสมัยใหม่’ นับตั้งแต่ที่สยามได้เข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของโลกยุคอาณานิคมในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยการรับเอาวัฒนธรรม ความรู้ และอัตลักษณ์บางประการของชาวตะวันตกมาปรับใช้ ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ ที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศเข้ากับระบบทุนนิยมโลก ซึ่งได้รับจากการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงช่วงปลายรัชกาลที่ 4 และการเปลี่ยนแปลงในมิติด้านสังคมวัฒนธรรมในช่วงรัชกาลที่ 5 

กระแสพัดพาสังคมไทยให้กลายเป็นตะวันตก หรือ “Westernization” เกิดขึ้นจากการพยายามเข้ามาติดต่อสัมพันธ์กับสยามของชาติมหาอำนาจในทวีปยุโรป หลายประเทศ ในหลากหลายมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม แต่นั่นไม่ใช่กับ สหรัฐอเมริกา ที่มุ่งเน้นด้าน ‘ภารกิจทางด้านศาสนา’ เป็นสำคัญ

ภาพจาก บุญเสริม สาตราภัย

คณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน ได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาผ่านการก่อตั้ง ‘มิชชั่นสยาม’ ในไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2390  มีการขยายงานไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยเน้นพันธกิจหลัก 3 ประการ คือ การประกาศศาสนา การแพทย์ และการศึกษา ทำให้มิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียนที่เข้ามาในประเทศไทย เข้ามาพร้อมกับโลกทัศน์ซึ่งเกิดจากวัฒนธรรมและศาสนาของตนเอง ภายใต้หลักการที่ว่า แนวคิดและอุดมการณ์ที่เป็นหัวใจของคริสต์ศาสนาได้พัฒนามาจากรากฐานของความเป็นสมัยใหม่ 

ดังนั้น ‘ความเป็นมิชชันนารีอเมริกัน’ จึงหมายถึง การเป็นคนของพระเจ้าควบคู่ไปกับการเป็นผู้แทนของความทันสมัยแบบอเมริกัน ที่นำความทันสมัยไปเผยแพร่เพื่อสร้างคนที่อ่านออกเขียนได้ ขจัดความโง่เขลางมงายออกไป แล้วสร้างความรู้ และความจริงของคริสต์ศาสนาขึ้นมาแทน

เพื่อให้ภารกิจประสบผลอย่างทั่วถึง คณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียนเลยได้ขยายการเผยแพร่ศาสนาออกมานอกกรุงเทพฯ ในปีพ.ศ. 2404 ด้วยการตั้งสถานีมิชชัน (station) ที่เพชรบุรี โดยมิชชันนารีชุดแรกที่ปฏิบัติพันธกิจที่สถานีมิชชันนี้คือ ครอบครัวของศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี และครอบครัวของศาสนาจารย์ซามูเอล แมคฟาร์แลนด์  

การปฏิบัติงานที่เพชรบุรี และการทำงานกับเชลยศึกชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นทาสหลวงที่เพชรบุรี ทำให้ดาเนียล แมคกิลวารี ได้เห็นว่า ชาวลาวที่เพชรบุรีเป็นเชื้อสายเดียวกันกับชาวลาวเหนือในล้านนา ที่แม้ว่าล้านนาจะเป็นเมืองประเทศราชของสยาม แต่ก็ยังมีวิถีการดำรงชีวิตในแบบของตัวเอง มีวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา มีสิทธิในการปกครองตนเอง และแข็งขืนต่อการครอบงำของวัฒนธรรมสยาม อีกทั้งยังเห็นอีกว่า ชาวลาวนั้นมีความเชื่อเรื่องผีหรืออำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีความสอดคล้องกับความเชื่อของคริสต์ศาสนา ที่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้าอันเป็นสิ่งสูงสุด มากกว่าพุทธศาสนาที่ชาวสยามส่วนใหญ่นับถือ 

ด้วยเหตุนี้ ดาเนียล แมคกิลวารี จึงมีความตั้งใจที่จะขึ้นไปเผยแพร่คริสต์ศาสนา ในถิ่นกำเนิดของชาวลาว หากแต่ลาวในที่นี้ไม่ได้หมายถึงลาวล้านช้างที่อยู่เฉียงเหนือไปในทิศอีสาน แต่เป็นลาวล้านนาที่อยู่เฉียงออกไปในทิศพายัพนั่นเอง

แมคกิลวารี กับการย่างเท้าก้าวเข้ามาของศาสนาคริสต์ในล้านนาเชียงใหม่

ดาเนียล แมคกิลวารี และภรรยา โซเฟีย แมคกิลวารี (โซเฟีย รอยส์ บรัดเลย์) จากซ้ายไปขวา (ภาพจาก A half century among the Siamese and the Lao : an autobiography)

“ดาเนียล แมคกิลวารี” หรือ “พ่อครูหลวง” เป็นมิชชันนารีเพรสไบทีเรียนชาวอเมริกัน ที่มีชื่อเสียงในฐานะผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ในพระนครเชียงใหม่ เขาได้สมรสกับ โซเฟีย แมคกิลวารี (โซเฟีย รอยส์ บรัดเลย์) ผู้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการศึกษาของสตรีในล้านนา ที่เป็นลูกสาวของหมอบรัดเลย์ผู้เป็นบิดาแห่งการพิมพ์และการแพทย์แผนใหม่ ผู้นำวัคซีนรักษาไข้ทรพิษฝีดาษมาเผยแพร่ให้แก่ชาวสยาม สามีภรรยาแมคกิลวารี ถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขยายนิกายโปรเตสแตนต์สู่ดินแดนล้านนา ซึ่งมีสถานะเป็นหัวเมืองของอาณาจักรสยาม แต่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของเชื้อพระวงศ์ทางเหนือ ซึ่งมีอำนาจสิทธิขาดภายในอาณาจักรของตนเอง 

ในช่วงปีพ.ศ. 2406 ดาเนียล แมคกิลวารี และโจนาธัน วิลสัน ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสยามให้สามารถเดินทางขึ้นไปสำรวจพื้นที่เชียงใหม่เพื่อทำการประกาศพระกิตติคุณ ทว่าการเดินทางมาเยือนเชียงใหม่ในครั้งแรกของพวกเขา กลับไม่ได้พบเจอกับ “พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงค์” เนื่องจากพระองค์ได้ทรงเสด็จลงไปยังกรุงเทพฯ เพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการแก่ราชสำนักสยาม แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังได้รับการต้อนรับจาก “เจ้าอุบลวรรณา” พระธิดาองค์เล็กของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงค์ ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับครอบครัวบรัดเลย์และแมคกิลวารี มาตั้งแต่ที่เคยเสด็จลงไปยังกรุงเทพฯ เป็นอย่างดี โดยในระหว่างที่เขาอยู่ที่นครเชียงใหม่ ก็ได้รับความสนใจจากเพื่อนชาวต่างชาติที่แวะเวียนมาเยี่ยมเขายังที่พำนักอยู่บ่อยๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้ดาเนียล แมคกิลวารี และคณะนั้นเชื่อว่าการเผยแพร่ศาสนาในหัวเมืองล้านนาจะสามารถเกิดขึ้น และเป็นไปได้โดยสะดวกอย่างแน่นอน

ต่อมาในปีพ.ศ. 2410 ดาเนียล แมคกิลวารี พร้อมด้วยภรรยา ได้เดินทางขึ้นมาที่เมืองเชียงใหม่ โดยพักอาศัยในศาลาพักชั่วคราวที่ “ศาลาย่าแสงคำมา” บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ซึ่งอยู่ใกล้กับเส้นทางคมนาคมที่ชาวเมืองส่วนใหญ่ใช้เดินทาง  ทำให้ชาวเชียงใหม่ได้เห็นความเป็นอยู่ของมิชชันนารี และได้สัมผัสกับความเป็นโลกตะวันตก ทั้งด้านความเป็นอยู่ ข้าวของเครื่องใช้ อุปกรณ์สำหรับสอนความรู้สมัยใหม่ ไปจนถึงยารักษาโรคของตะวันตก

ภาพคริสตจักรเพรสไบทีเรียนที่หนึ่งในเชียงใหม่ (ภาพจาก ศูนย์มรดกเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่ – Chiang Mai City Heritage Centre)

การเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในล้านนาของดาเนียล แมคกิลวารี ทำให้มิชชันนารีอเมริกัน ถือเป็นชาวตะวันตกกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่อาศัยในล้านนา ซึ่งมิชชันนารีเหล่านี้ ล้วนมีสถานะเป็นคนในบังคับชาติมหาอำนาจตะวันตก ทำให้พวกเขามีฐานะแตกต่างจากประชาชนทั่วไป เนื่องจากได้รับความคุ้มครองโดยสนธิสัญญาในข้อที่ว่าด้วยสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไม่ต้องขึ้นศาลไทย ทำให้ไม่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของข้าราชการไทย อีกทั้งการมีความรู้ ความสามารถ และการครอบครองเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็เป็นอีกสิ่งทำให้เหล่ามิชชันนารีได้รับการยอมรับทั้งจากเจ้านาย และข้าราชการไทยในล้านนา

การมีบทบาทและอำนาจของมิชชันนารีในล้านนา

แม้ว่าวัตถุประสงค์หลักของมิชชันนารีคือการเผยแพร่ศาสนา แต่ในขณะเดียวกัน มิชชันนารีก็ได้เข้ามาแทรกแซงการบริหารราชการภายในของเหล่าบรรดาเจ้านาย เพราะต้องการช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปกครองของเจ้านาย จนเรียกได้ว่า “มิชชันนารีมีความใกล้ชิดกับชาวบ้านและเข้าถึงจิตใจชาวบ้านมากกว่าข้าราชการ” เพราะเมื่อชาวบ้าน โดยเฉพาะคนที่เป็นคริสเตียนเจอเรื่องเดือดร้อนหรือถูกเอาเปรียบจากเจ้านาย ก็มักจะหันไปขอความช่วยเหลือจากมิชชันนารี เพราะมิชชันนารีนั้นถือเป็นที่เกรงใจของเจ้านาย และข้าราชการสยาม 

มิชชันนารีสามารถช่วยได้ตั้งแต่ปัญหาเล็กๆ อย่างการที่บริวารของเจ้าหลวง ลวนลามผู้หญิง หรือปัญหาที่ชาวบ้านลงไปอาบน้ำที่ท่าน้ำปิง ไปจนถึงปัญหาใหญ่  เช่น “กรณีเจ้าหอหน้าขัดขวางการแต่งงานของหนุ่มสาวคริสเตียน” ในปีพ.ศ. 2421 ที่เป็นความขัดแย้งทางขนบประเพณีระหว่างมิชชันนารีกับผู้มีอำนาจปกครองในเมืองเชียงใหม่ โดยเจ้ามูลนายได้อ้างประเพณีความเชื่อเรื่องผีท้องถิ่น และไม่ยอมให้มีการจัดงานแต่งงานจนกว่าจะมีการเสียผี แต่ฝ่ายมิชชันนารีก็ไม่ยอมเพราะถือว่าเป็นพิธีทางคริสต์ศาสนา 

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มิชชันนารีได้เขียนหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอให้มีเสรีภาพทางศาสนา และก็ได้รับพระบรมราชานุญาต จนต่อมาในปีพ.ศ. 2421 รัฐบาลสยามก็ได้ประกาศ “พระบรมราชโองการเสรีภาพทางศาสนา” (Edict of Toleration) ที่เป็นการอนุญาตให้ชาวเมืองเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง มีเสรีภาพในการนับถือศาสนานับแต่นั้นมา ทำให้เห็นว่าในบางกรณีมิชชันนารีเองก็ได้แสวงหาผลประโยชน์จากความขัดแย้งระหว่างข้าราชการสยามกับเจ้านายสยาม ผ่านการเล่นเกมการเมืองโดยใช้ความเป็นคนต่างชาติที่มีอิทธิพลของมิชชันนารีมาข่มขู่หรือลดอำนาจของเจ้านาย จนสร้างผลกระทบให้กับอำนาจการปกครองของเจ้านายอย่างเห็นได้ชัด

ภาพวันก่อตั้งคริสตจักรเกาะกลาง ปัจจุบัน คือ คริสตจักรสันติธรรม (ภาพจาก ศูนย์มรดกเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่ – Chiang Mai City Heritage Centre)

มิชชันนารียังได้มีส่วนในการสร้างชนชั้นกลางในสังคมแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน ด้วยการให้การศึกษา และการอบรมแบบสมัยใหม่ ทำให้คนเหล่านี้เปลี่ยนอาชีพจากชาวนาหรือแรงงานมาเป็นพนักงานบริษัท ครู หมอ และพยาบาล นอกจากนั้น มิชชันนารีก็ยังมีความสัมพันธ์อันดีกับข้าราชการสยาม และคอยให้การสนับสนุนนโยบายปฏิรูปการปกครองของสยาม ด้วยการช่วยควบคุมให้ชาวบ้านที่เป็นคริสเตียนปฏิบัติตามนโยบายเป็นอย่างดี  ยกตัวอย่างเช่น การที่ข้าหลวงได้มาขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการประกาศใช้ระบบภาษีค่าแรงแทนเกณฑ์ และขอให้มิชชันนารีได้อธิบายให้ชาวคริสเตียนทราบและนำเงินมาเสียภาษี เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้านอื่นๆ ตามบันทึกของศาสนาจารย์ ฮิวจ์ เทย์เลอร์ มิชชันนารีอเมริกันในจังหวัดลำปาง 

อย่างไรก็ตาม การที่ชาวพื้นเมืองนั้นเปลี่ยนศาสนาไปเป็นคริสเตียน ก็จำเป็นที่จะต้องละทิ้งความเชื่อ และจารีตปฏิบัติของสังคมล้านนาไปด้วย ด้วยเหตุนี้ทำให้พวกเขาถูกมองว่าต่อต้านขัดขืนระบบอำนาจของพระเจ้ากาวิโลรส จนนำไปสู่การประหารชีวิตชาวคริสเตียน 2 คน ในเดือนกันยายน ปีพ.ศ. 2412 ที่แม้ว่ามิชชันนารีจะอ้างการคุ้มครองชาวอเมริกันและคนในบังคับ ตามสนธิสัญญาแฮริสที่ได้ทำกับสยามไว้เมื่อ พ.ศ. 2399 ก็ไม่เป็นผล 

ต่อมาในเดือนมิถุนายน ปีพ.ศ. 2413 เมื่อเจ้ากาวิโลรสถึงแก่พิราลัย และเจ้าอุปราชอินทวิชยานนท์ขึ้นครองบัลลังก์เจ้าหลวงเชียงใหม่ สถานการณ์ดังกล่าวก็ได้ผ่อนคลายลง เพราะพระองค์มีความเป็นมิตรกับมิชชันนารีอเมริกัน พันธกิจของมิชชันนารีในล้านนาจึงได้เริ่มต้นอีกครั้ง และมีคนพื้นเมืองหันมารับเชื่อคริสต์ศาสนาเพิ่มขึ้น

บทสรุป

ภาพนายแพทย์ เอ็ดวิน ซี. คอร์ท หรือที่ชาวบ้านเรียกขานว่า ‘หมอคอร์ท’ มิชชันนารีที่กำลังทำงานพันธกิจการบำบัดรักษาผู้ป่วย (ภาพจาก ศูนย์มรดกเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่ – Chiang Mai City Heritage Centre)

มิชชันนารี มีบทบาทและความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัยแบบชาติตะวันตก โดยที่การเข้ามาของมิชชันนารีโปรเตสแตนต์ในสยามส่วนใหญ่มักจะเป็นมิชชันนารีที่เดินทางมาจากอเมริกา ซึ่งกิจกรรมของพวกเขามักจะเป็นสิ่งที่แยกออกจากจุดประสงค์ทางการเมืองและการค้าของชาติ 

ในภายหลังเมื่อการเผยแพร่ศาสนาไม่สามารถใช้การสนับสนุนจากอำนาจทางการเมืองได้เหมือนในอดีต อีกทั้งการไปเผยแพร่ศาสนาในพื้นที่ที่มีคนนับถือศาสนาพุทธอยู่ก่อนแล้วมักจะเป็นไปได้ยาก เพราะพวกเขาอาจไม่เห็นถึงความสำคัญของคริสต์ศาสนา วิธีการที่เหล่ามิชชันนารีใช้ในการเผยแพร่ศาสนา จึงต้องถูกปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากันกับวิถีชีวิตของผู้คนมากขึ้น โดยหันมาใช้วัฒนธรรม และอารยะธรรมตะวันตก เป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่ศาสนาแทน  ไม่ว่าจะเป็นการสอนวิชาความรู้สมัยใหม่ การสร้างโรงเรียน โรงพิมพ์ หรือโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการทำภารกิจในลักษณะที่เอาการบริการสังคม มาช่วยในการชักนำผู้คนให้มาเรียนรู้ และรับเชื่อในศาสนาคริสต์  

ด้วยเหตุนี้ การรับรู้ที่ชาวสยามมีต่อมิชชันนารี จึงถูกจดจำเป็นภาพลักษณ์ที่ถือว่าเป็น “หมอ” อันเนื่องมาจากความพยายามเผยแพร่ศาสนา โดยใช้ผลผลิตที่มากับวิทยาการตะวันตก อย่างยารักษาโรค ควบคู่ไปกับการสอนหนังสือ และแจกใบปลิวคำสอนทางศาสนา มิชชันนารีโปรเตสแตนต์ จึงเป็นทั้งหมอรักษาโรค และหมอศาสนาในเวลาเดียวกัน สิ่งเหล่านี้มีบทบาสำคัญอย่างมากในการพัฒนาสังคมของสยามในเวลานั้นให้เข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น

ภาพเด็กน้อยในบริเวณโรงเรียนชั่วคราวที่สอนหนังสือเหล่าโดยมิชชันนารี (ภาพจาก ศูนย์มรดกเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่ – Chiang Mai City Heritage Centre)

นอกจากภารกิจในด้านสาธารณสุขแล้ว การบริการสังคมในด้านการศึกษาก็เป็นอีกภารกิจที่มิชชันนารีให้ความสำคัญ เนื่องจากพื้นฐานทางความคิดของศาสนาคริสต์โดยเฉพาะนิกายโปรเตสแตนต์ ถือว่าการจะเข้าถึงความจริงสูงสุดทางศาสนาคือการอ่าน และศึกษาพระคัมภีร์ไบเบิลโดยตรง นั่นหมายถึงว่า การที่คริสต์ชนจะสามารถรู้จักกับพระเจ้าได้นั้น จะต้องรู้หนังสือ และคนที่เปลี่ยนศาสนาแต่ไม่ได้อ่านพระคัมภีร์ ก็เท่ากับว่ายังไม่ได้มีความเชื่ออย่างแท้จริง นั่นทำให้พื้นที่ที่คนทั่วไปไม่รู้หนังสือถือเป็นอุปสรรคต่อการรับเชื่อในศาสนาคริสต์เป็นอย่างมาก จึงนำไปสู่การพยายามเพิ่มขีดความสามารถให้กับคนในท้องถิ่น ด้วยการใช้การศึกษาเป็นสถาบันในการอบรม และฝึกฝนคนในท้องถิ่นให้อ่านออกเขียนได้ เพื่อเป็นการเตรียมศักยภาพของคนในท้องถิ่นให้พร้อมต่อการถ่ายทอดหรือเผยแพร่ความเชื่อ  และคำสอนของศาสนาคริสต์ต่อไป 

โยชิมิ โฮริอุจิ…ห้องสมุดรังไหม: ผู้จุดประกายรักการอ่าน ให้เด็กๆ ในชนบท 

เรื่องและภาพ: องอาจ เดชา

เมื่อปี 2564  สำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานว่า คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยเพียง 8 เล่มต่อปี จากนั้นในปี 2567 ผลสำรวจโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ร่วมกับคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า คนไทยมีพฤติกรรมการอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละ 113 นาที หรือเกือบ 2 ชั่วโมงต่อวัน แม้ว่าสถิติการอ่านหนังสือของคนไทยในแต่ละปีจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่สำหรับผู้คนในพื้นที่ห่างไกลหรือในกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ หนังสือและการอ่านก็ยังคงเป็นเรื่องไกลตัวที่ยากต่อการเข้าถึง

เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงการอ่านได้มากขึ้น ‘โยชิมิ โฮริอุจิ’ หญิงสาวชาวญี่ปุ่นพิการทางสายตา ผู้ให้ความสำคัญกับการอ่าน เลยตัดสินใจมาสร้าง ‘ห้องสมุดรังไหม’ ที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ จัดทำกิจกรรมคาราวานหนอนหนังสือเพื่อส่งเสริมการรักการอ่านให้กับคนเมืองพร้าว และอำเภอใกล้เคียงมาอย่างต่อเนื่อง นานกว่าสิบปี

โยชิมิ โฮริอุจิ (Yoshimi Horiuchi) ผู้ก่อตั้งห้องสมุดรังไหม และมูลนิธิหนอนหนังสือ

โยชิมิ โฮริอุจิ (Yoshimi Horiuchi) เกิดที่เมืองโคจิ บนเกาะชิโกกุ ซึ่งอยู่ทางใต้ของญี่ปุ่น เธอมีความบกพร่องทางสายตาตั้งแต่กำเนิด แต่เพราะครอบครัวให้ความสำคัญกับการเรียน อีกทั้งสมาชิกในบ้านยังมีนิเวศน์การอ่านที่ดี สิ่งเหล่านี้เลยหล่อหลอมให้เธอหลงใหลในการเรียนและการอ่าน จนทำให้เธอกลายเป็นหนอนหนังสือตัวยงในที่สุด

“เราชอบหนังสือตั้งแต่จำความได้ แม่ ตา และอา จะอ่านนิทานวรรณกรรมเยาวชนให้เราฟัง ก็เลยชอบหนังสือตั้งแต่ตอนนั้นเลย ด้วยความที่เราตาบอดก็จะมีข้อจำกัดเรื่องการทำงานที่มากกว่าคนทั่วไป พ่อแม่ก็เลยมักจะบอกว่าการเรียนเป็นสิ่งสำคัญ และสนับสนุนเรื่องนี้มาตลอด เริ่มต้นด้วยการที่พ่อแม่กับญาติที่บ้าน เขาอ่านหนังสือให้ฟังตั้งแต่อายุได้ 2-3 ขวบ ถึงแม้ว่าพ่อแม่ไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่ว่าเขาก็อ่านหนังสือให้ฟัง เราก็เลยชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็กเลยค่ะ” 

โยชิมิ เล่าว่า การได้อ่านวรรณกรรมตั้งแต่เด็กทำให้เธอมีความสุขไปกับการได้ใช้ จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ พอได้มาเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศไทย ก็รู้สึกชอบ และอยากทำอะไรที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยบ้าง 

“เราชอบอ่านหนังสือมากๆ แล้วก็แปลกใจว่า ทำไมประเทศไทยคนถึงอ่านหนังสือกันน้อยมาก ห้องสมุดก็ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ มันมีน้อยมาก เวลาจะอ่านหนังสือก็ต้องเดินทางไปไกลๆ ก็เลยอยากจัดตั้งห้องสมุดเคลื่อนที่สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ รวมไปถึงพี่น้องคนพิการที่อยู่ในเขตชนบทของประเทศไทย”

คนไทยอย่างน้อย 1.1 ล้านคนเป็นผู้พิการ และร้อยละ 77 ของพวกเขาอาศัยอยู่ในชนบทของประเทศไทย เมื่ออุปสรรคใหญ่ของการเข้าถึงการอ่านคือความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา   โยชิมิเลยตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะช่วยส่งเสริมการอ่านให้ทุกคนได้มีโอกาสในการอ่านที่เท่าเทียมกัน จึงเป็นการจุดประเด็นในการทำห้องสมุดเคลื่อนที่ขึ้นมา     

“เราอยากทํางานด้านสังคม เพราะว่าเราเป็นคนพิการ และมักมีคนคอยเข้ามาช่วยเหลือเราตลอด เราเป็นฝ่ายรับความช่วยเหลือเป็นหลัก พอโตขึ้น เราก็อยากจะช่วยเหลือคนอื่นบ้าง พอกลับมาเมืองไทยเราเลยอยากสร้างห้องสมุดในเมืองไทย เพราะคนไทยไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ แต่เราชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ก็เลยอยากเป็นส่วนผลักดันให้คนชอบอ่านหนังสือเหมือนกัน เลยตัดสินใจทำห้องสมุดขึ้นมา”

โยชิมิ บอกว่า เธอได้เริ่มทำกิจกรรมห้องสมุดเคลื่อนที่ในกรุงเทพฯ เป็นแห่งแรก เพราะก่อนหน้านั้นเธอเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีสังคมอยู่ที่นั่น ต่อมาเธอรู้สึกว่าอยากทํางานที่ต่างจังหวัดมากกว่า เพราะมองว่าคนกรุงเทพฯ ก็มีโอกาสมากกว่าที่อื่นอยู่แล้ว เลยตัดสินใจมาทำห้องสมุดรังไหมที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่แทน

“เรามีโอกาสได้รู้จักกับอาจารย์คนหนึ่งที่ทํามูลนิธิอุ่นใจ อยู่ที่อําเภอพร้าว ท่านทํางานด้านพัฒนาสังคม และชุมชน แกก็เลยแนะนํามาว่าเมืองพร้าวน่าอยู่นะ คนที่เข้าไม่ถึงหนังสือก็เยอะ แล้วก็มีพี่น้องชาติพันธุ์ มีผู้พิการที่ไม่ค่อยได้เข้าถึงหนังสือก็เยอะ เลยตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่อำเภอพร้าว จากสมาคมคาราวานหนอนหนังสือ (ARC) ก็กลายเป็นมูลนิธิหนอนหนังสือ ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา”

โยชิมิเล่าว่า การทำห้องสมุดในยุคนี้จะต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและวิถีชุมชน เลยเน้นการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเสริมสร้างจินตนาการ และส่งเสริมการอ่านให้ผู้คนในเมืองพร้าว รวมทั้งอำเภอใกล้เคียงอย่าง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย 

สมถวิล บุญเติง บรรณารักษ์ห้องสมุดรังไหม เล่าว่า นอกจากจะเปิดให้บริการภายในห้องสมุดรังไหมแล้ว ยังมีกิจกรรมนำหนังสือใส่ถุงผ้าไปเยี่ยมเยือนให้กับผู้พิการ และคนชราที่ไม่สามารถออกจากบ้านได้ โดยในแต่ละเดือนจะมีการนำหนังสือจำนวน 5 เล่มใส่ถุงผ้าไปเยี่ยมพวกเขาคนละหนึ่งถุงต่อเดือน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำต่อเนื่องมานานหลายปี

“กิจกรรมนี้ ได้ผลตอบรับจากสมาชิกที่ไปเยี่ยมค่อนข้างดีมาก อย่างผู้พิการที่นั่งวีลแชร์ก็สามารถหยิบหนังสือมาเปิดอ่านได้ทุกเวลาที่สะดวก คนป่วยก็ได้อ่านหนังสือสุขภาพที่ช่วยส่งเสริมการดูแลตัวเองที่บ้านได้ ทำให้คนชราได้ใช้เวลาว่างไปกับการอ่านได้คลายเหงา และยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็กๆ ด้วยหนังสือภาพและหนังสือสัมผัสต่างๆ ได้เป็นอย่างดี”

นอกจากการพาหนังสือไปให้ผู้พิการและคนชราแล้ว การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านในกลุ่มเด็กๆ ก็เป็นอีกกิจกรรมที่ห้องสมุดรังไหมให้ความสำคัญเช่นกัน แพรพรรณ ตันติ๊บ ผู้ประสานงานกิจกรรมคาราวานหนอนหนังสือ  มูลนิธิหนอนหนังสือ เล่าให้ฟังว่า ได้ส่งเสริมการอ่านผ่านการทำ ‘คาราวานหนอนหนังสือ’ หรือห้องสมุดเคลื่อนที่ที่คัดสรรหนังสือที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัยไปใส่ไว้บนรถ และขับไปจอดตามจุดต่างๆ ในอำเภอพร้าว โดยแบ่งเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 4 ศูนย์ และโรงเรียนอีก 3 โรงเรียน โดยในหนึ่งเดือนจะนำรถห้องสมุดเคลื่อนที่ไปหาเด็กๆ 1-2 ครั้ง 

“หลักๆ คือไปอ่านหนังสือนิทานให้เด็กๆ ฟัง ให้เด็กๆ ได้เลือกอ่านหนังสือที่มีในรถ บางครั้งจะมีกิจกรรมเสริมที่สอดคล้องกับเนื้อหานิทานที่นำไปเล่า จะเป็นการประดิษฐ์บ้าง วาดรูประบายสีบ้าง ตามโอกาส เวลาที่ใช้ในการทำกิจกรรมประมาณ 1 ชั่วโมง – 1 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งการจัดกิจกรรมนี้ได้ผลตอบรับค่อนข้างดี เด็กๆ ตื่นเต้นที่จะได้ขึ้นรถหนังสือเพื่อไปเลือกหนังสือ แล้วก็ตั้งใจฟังนิทานที่อ่านให้ฟัง” 

พิชชาพา เดชา ผู้ประสานงาน มูลนิธิหนอนหนังสือ ที่เพิ่งทำโครงการฅนเผ่าเล่านิทาน บอกว่า ‘ฅนเผ่าเล่านิทาน’ เป็นโครงการที่ร่วมมือกันระหว่างมูลนิธิหนอนหนังสือกับเมจิก liberry ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่นำหนังสือนิทานของไทยมาเล่าเป็นภาษาชาติพันธุ์ต่างๆ โดยเจ้าของภาษานั้น เช่นภาษาปกากะญอ ภาษาไทใหญ่ ภาษาอาข่า ภาษาคำเมือง เป็นต้น แล้วทำคลิปวีดีโอเผยแพร่ในช่อง YouTube

“เราคัดเลือกหนังสือนิทานที่คิดว่าน่าสนใจจากหลายสำนักพิมพ์ ซึ่งแต่ละสำนักพิมพ์ก็ยินดีให้เรานำนิทานมาใช้ได้ คลิปจะมีทั้งหมด 12 เรื่องค่ะ ตอนนี้ยังเผยแพร่อยู่ในช่อง YouTube ชื่อว่า ฅนเผ่าเล่านิทาน ยังสามารถเข้าไปติดตามรับชมได้นะคะ”

พิชชาพา บอกอีกว่า มูลนิธิหนอนหนังสือ ยังได้ทำกิจกรรม ‘โครงการเล่มเดียวในโลก’ เป็นการเข้าไปทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้เด็กในโรงเรียน และส่งเสริมการใช้ภาษาท้องถิ่นของตนเอง โดยมีโรงเรียนที่ร่วมโครงการในอำเภอพร้าว 2 โรงเรียน คือโรงเรียนแม่ปาคีกับโรงเรียนบ้านโป่ง และในอำเภอเชียงดาวอีก 2 โรงเรียน คือโรงเรียนวัดจอมคีรีและโรงเรียนบ้านแม่ป๋าม

“กิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่ แนะนำหนังสือนิทาน เล่านิทาน ให้เด็กๆ ได้ฝึกแต่งนิทาน วาดภาพประกอบ จนกระทั่งเย็บเล่มด้วยตนเอง โดยเราจะทำ workshop มีวิทยากรมาให้ความรู้กับเด็กๆ ในแต่ละขั้นตอนด้วย ซึ่งโครงการนี้เราทำ 3 ไตรมาส ตอนนี้อยู่ไตรมาสที่ 3 แล้วเป็นขั้นตอนการวาดภาพประกอบและเย็บเล่มซึ่งเราก็ลุ้นมากว่าผลงานของเด็กๆ จะออกมาเป็นแบบไหน แต่เท่าที่สังเกตเราได้เห็นพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์โลกจินตนาการของเด็กๆ ที่ถูกเปิดออกผ่านเนื้อเรื่องนิทาน และตัวละครที่วาดออกมา เท่านี้เราก็รู้สึกตื่นเต้นแล้วก็ดีใจมากแล้วค่ะ”

นอกจากนั้น มูลนิธิหนอนหนังสือ ยังได้สร้างศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกล ได้แก่ศูนย์การเรียนรู้บ้านอมยิ้ม สำหรับเด็กชาติพันธุ์ลีซู  ที่บ้านแม่แวนน้อย อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์การเรียนรู้บ้านพระอาทิตย์ สำหรับเด็กอาข่าและลีซู ที่บ้านอาข่าสิบหลัง ตำบลสันสลี อำเภอเวียงป่าเป้า  จังหวัดเชียงราย  

วันเด็กแห่งชาติ ปี 2568 นี้ มูลนิธิหนอนหนังสือ ก็ได้นำรถห้องสมุดเคลื่อนที่ ไปจอดบริการเด็กๆ ได้ใช้บริการ และร่วมทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ที่เทศบาลตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่กันอีกด้วย 

แน่นอนว่าทุกกิจกรรมที่ทางมูลนิธิหนอนหนังสือกำลังทำอยู่นี้ ก็เพื่อจะช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ส่งเสริมให้เด็กๆ เยาวชน ในพื้นที่ห่างไกล กลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์  รวมไปถึงกลุ่มผู้พิการ และคนชราที่ไม่สามารถออกจากบ้านได้ สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ และการอ่าน ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เหมือนกับที่ โยชิมิ โฮรุจิ ได้บอกย้ำกับเราเอาไว้ว่า การอ่านหนังสือนั้นเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนแปลงความคิดจิตใจ เปลี่ยนแปลงสังคมและเปลี่ยนโลกได้ 

และหากท่านใดสนใจร่วมสนับสนุนหรือสมทบทุนเพื่อกิจกรรมส่งเสริมรักการอ่าน ของห้องสมุดรังไหม สามารถติดต่อได้ที่เพจ Rang Mai Library (ห้องสมุดรังไหม) หรือติดต่อโดยตรงที่ คุณโยชิมิ โฮริอุจิ หมายเลขโทรศัพท์  083-5427283

นับถอยหลังเลือกตั้งอบจ. 68 ย้อนรอยการเมืองท้องถิ่น 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 2547-2563

เรื่อง: ปิยชัย นาคอ่อน

การเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะถึงในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 นี้เป็นการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) จำนวน 47 จังหวัด และ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) จำนวน 76 จังหวัด ด้วยบางส่วนจัดการเลือกตั้งไปแล้ว 29 จังหวัด ทำให้การเลือกตั้งรอบนี้ไม่ครบทั่วทั้งประเทศ นอกจากนี้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งที่สองหลังจากจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นแรกในปี 2563 ภายหลังการเลือกตั้งท้องถิ่นถูกแช่แข็งไปในปี พ.ศ. 2557 ในช่วงของ คสช. 

หากพูดถึงสถานการณ์การเมืองท้องถิ่นในภาคเหนือตอนบนเป็นพื้นที่ที่น่าจับตามองเนื่องจากกลุ่มบ้านใหญ่ที่ครองฐานเสียงอยู่และการเข้ามามีบทบาทของกลุ่มคณะก้าวหน้า ต้องกล่าวย้อนกลับไปในช่วงปี พ.ศ. 2547 ซึ่งจัดให้มีการเลือกตั้งนายก อบจ. โดยตรงเป็นครั้งแรก จากศึกษาของ อโณทัย วัฒนาพร อดีตอาจารย์ประจำสำนักวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งศึกษาเรื่องการแข่งขันทางการเมืองขององค์การบริหารส่วนจังหวัดใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เสนอว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ. ของแต่ละจังหวัดมักจำกัดอยู่ในแวดวงของชนชั้นนำในพื้นที่นั้นๆ และผู้สมัครมักเป็นผู้สมัครคนเดิมหรือเป็นผู้สมัครกลุ่มเดิมซึ่งต่างกับผู้สมัคร ส.อบจ. ที่เป็นกลุ่มคนชนชั้นกลางแต่เข้าถึงมวลชนได้มาก อโณทัยได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การแข่งขันในระดับ ส.อบจ. นั้นมีการผูกขาดที่น้อยกว่าในกรณีของนายก อบจ. แต่การเปลี่ยนแปลงผู้สมัครนั้นก็เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนตัวผู้ใต้อุปถัมภ์คนใหม่จากคนเก่านั่นเอง นอกจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวการเข้ามาของพรรคการเมืองเริ่มมีนัยยะสำคัญในการขับเคลื่อนการเลือกตั้งท้องถิ่น กล่าวคือพรรคการเมืองมีส่วนทำให้คะแนนนิยมในตัวผู้สมัครนั้นเพิ่มขึ้น แต่ยังมีบางสนามเช่นในจังหวัดลำพูนที่พรรคไม่สามารถมีอิทธิพลในการเลือกตั้งท้องถิ่นได้

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2564 งานศึกษาของ ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องการแข่งขันทางการเมืองขององค์การบริหารส่วนจังหวัดใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนในรอบทศวรรษ (พ.ศ. 2554-2563)  ได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยของการเมืองท้องถิ่นภาคเหนือไว้ว่า การเมืองในกลุ่มจังหวัดล้านนาถูกเปลี่ยนไปเป็นลักษณะพรรคเดียวเด่นอย่างเห็นได้ชัดหลังจากที่นายทักษิณ ชินวัตร ได้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย (หรือพรรคในเครือเดียวกัน) นายก อบจ. ต่างมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรค แต่หลังเกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 ก็เกิดการชะงักและแช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่น เนื่องจากรัฐบาล คสช. พยายามดึงอำนาจกลับไปที่ส่วนกลาง เช่น การให้ปลัดปฏิบัติหน้าที่แทนนายก อบจ. ในกรณีที่ครบวาระ แต่ทำเช่นนี้อยู่ได้ไม่นานก็เหลือเพียงแค่การงดไม่ให้มีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น จนกระทั้งปลายปี 2563 รัฐบาลมีท่าทีผ่อนคลายลงจึงกำหนดให้มีการเลือกตั้ง อบจ. พร้อมกันทั่วประเทศ 76 จังหวัด ในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม โดยต่อจากนี้จะเป็นการหยิบเอางานศึกษาของ ณัฐกร มาแสดงให้เห็นถึงบริบทความเคลื่อนไหวของการเมืองท้องถิ่นภาคเหนือใน 8 จังหวัด

จังหวัดเชียงราย  

การเมืองของจังหวัดเชียงรายนั้นมีลักษณะเป็นสองขั้วจากคนในนามสกุลจงสุทธานามณีซึ่งเป็นการเมืองท้องถิ่น และคนในนามสกุลติยะไพรัชซึ่งเป็นการเมืองระดับชาติ แม้พรรคไทยรักไทยจะได้ที่นั่ง สส.ยกจังหวัด แต่กลับพ่ายแพ้ให้กับการเลือกตั้ง อบจ. ซึ่งเป็นไปได้ว่าชาวเชียงรายแยกแยะระหว่างการเมืองระหว่างประเทศและการเมืองท้องถิ่นออกจากกัน ในปี 2555 การเมืองท้องถิ่นเริ่มเป็นขั้วเดียวกันทั้งภาคเหนือจากที่นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ภรรยาของนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตประธานรัฐสภา และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และ สส. จังหวัดเชียงราย ขึ้นมาเป็นผู้บริหาร อบจ. เชียงราย แต่เป็นอยู่ได้เพียงแค่ 2 ปี ก็ต้องพ้นตำแหน่งจากคดีเก่าสืบเนื่องในสมัยเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งแรก ปี 2547 ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งซ่อม ชัยชนะก็ยังตกเป็นของตระกูลติยะไพรัช ต่อมาได้ถูก กกต. ตัดสินให้มีการเลือกตั้งใหม่ ด้วยเหตุที่มีการให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ตำแหน่งเป็นคุณหรือโทษให้แก่ผู้สมัคร 

สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ภาพ: สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช

แต่ในช่วงนั้น คสช. ประกาศไม่ให้มีการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น จึงทำให้ อบจ. ของเชียงราย ปราศจากนายก อบจ. จนการเลือกตั้งปี 2563 นายกอบจ. คนใหม่คือนางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์บุตรสาวของนายสมบูรณ์ วันไชยธนวงศ์ อดีต ส.ส. เชียงรายหลายสมัย ในขณะที่การเลือกตั้ง ส.อบจ. พบว่าการผูกขาดค่อนข้างน้อยและมีตัวเลขที่สูงกว่าจังหวัดอื่นๆ

จังหวัดพะเยา

ตำแหน่งนายก อบจ. ของพะเยานั้นเป็นของนาย ไพรัตน์ ตันบรรจง มาหลายสมัย ด้วยความที่เป็นตระกูลการเมืองที่สำคัญในจังหวัดพะเยามาอย่างยาวนาน จนในปี 2554 นายวรวิทย์ บุรณศิริ น้องชายของนายวิทยา บุรณศิริ ส.ส. อยุธยาและรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นมาเป็นนายก อบจ. แทน และในช่วงปี 2562 การเปลี่ยนแปลงขั้วทางการเมืองก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ พรรคพลังประชารัฐที่นำโดย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ชนะเลือกตั้ง ส.ส. ถึง 2 ใน 3 ของจังหวัดพะเยา ร้อยเอกธรรมนัส จึงได้ส่ง นายอัครา พรหมเผ่า ลงสมัครนายก อบจ. พะเยาในนามกลุ่มฮักพะเยา และชนะคู่แข่งขาดลอย พะเยาจึงเป็น 1 ใน 2 จังหวัดที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัครของตนลงตามที่ได้กล่าวถึงในบทความ ในขณะที่ ส.อบจ. พะเยามีความเปลี่ยนแปลงน้อยเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น

อัครา พรหมเผ่า ภาพ: อัครา พรหมเผ่า

โดยปัจจุบันการเลือกตั้งท้องถิ่นล่าสุดของจังหวัดพะเยาได้มีการจัดการเลือกตั้งไปแล้วเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2567 โดยมีผู้ลงสมัคร 2 รายคือ นายชัยประพันธ์ สิงห์ชัย ตัวแทนคณะก้าวหน้าและนายธวัช สุทธวงค์ จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งนายธวัชเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้   

จังหวัดลำปาง

ลำปางเป็นจังหวัดที่พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งติดต่อกันหลายสมัย แต่ไม่ได้เป็นพรรคไทยรักไทยเดียวทั้งหมด จากการที่มีบ้านเล็กสองหลัง คือ “สายเหนือ” พื้นที่กลุ่มบ้านสวน และ “สายใต้” พื้นที่กลุ่มดอยเงิน การเลือกตั้ง อบจ. จึงเป็นการแข่งขันของสองบ้านนี้เป็นหลัก ซึ่งกลุ่มของนายไพโรจน์สนับสนุนกลุ่มแม่วังของนางสุนี สมมี ให้ได้เป็นนายก อบจ. อย่างต่อเนื่องถึง 3 ครั้ง ส่วนของ ส.อบจ.นั้นพบว่ามีการผูกขาดมากที่สุด แม้จะเป็น ส.อบจ. หน้าใหม่ ก็ยังเป็นคนในสายสัมพันธ์เดิม

จังหวัดน่าน

นายนรินทร์ เหล่าอารยะ เป็นผู้ครองตำแหน่งนายก อบจ. มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นเวลากว่า 20 ปี และเป็นนายก อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้งคนแรก ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด (พ.ศ. 2563) นายนรินทร์ ตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง จึงเป็นโอกาสของนายนพรัตน์ ถาวงศ์ ให้สามารถขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน ขณะที่ ส.อบจ. นั้นมีความเปลี่ยนแปลงในระดับที่สูงถึงร้อยละ 70 และเป็นจังหวัดที่มี ส.อบจ. เป็นกลุ่มคนข้ามเพศจังหวัดแรก ๆ คือ นายเกริกก้อง สวนยศ นายกสมาคมสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทยได้รับเลือกตั้ง

จังหวัดแพร่ 

จังหวัดแพร่ประกอบด้วยหลายขั้วทางการเมือง แต่ยังคงมีบ้านใหญ่อยู่ 3 บ้านที่โดดเด่น คือ ตระกูลศุภศิริ ตระกูลวงศ์วรรณ และตระกูลเอื้ออภิญญกุล โดยตระกูลวงศ์วรรณกับตระกูลเอื้ออภิญญกุลอยู่ปีกเดียวกับพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ตระกูลศุภศิริอยู่ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์และได้ถูกลดบทบาทลงจากกรณีลอบสังหาร นายแพทย์ชาญชัย ศิลปอวยชัย กลายเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างสองตระกูลที่มาจากปีกพรรคเพื่อไทย ซึ่งในปี 2563 นายอนุวัธ วงศ์วรรณ ได้รับเลือกเป็นนายก อบจ. ถึง 3 สมัย สำหรับสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้นมีแนวโน้มที่ ส.อบจ. คนเก่าจะกลับเข้ามาดำรงค์ตำแหน่งอีกสมัยน้อยลงเรื่อย ๆ เหตุมาจาก ส.อบจ. คนเก่ามีอายุมากขึ้นหรือไม่ลงสมัครเลือกตั้งอีก

อนุวัธ วงศ์วรรณ ภาพ: อบจ.แพร่

จังหวัดลำพูน

ลำพูนเป็นจังหวัดเดียวที่มีการเปลี่ยนตัวนายก อบจ. ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง และมีภาพของความเป็นตัวแทนพรรคการเมืองยังไม่ชัดเจนนัก จนกระทั่งการเลือกตั้งในปี 2563 พรรคเพื่อไทยได้ส่งนายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ ที่เป็นอดีตรัฐมนตรี และอดีต ส.ส. ลำพูน มาลงสมัครในนามพรรค การที่ลำพูนมีประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากคิดเป็นร้อยละ 77.86 เป็นลำดับสองของประเทศ ซึ่งเป็นผลให้การผูกขาดตำแหน่งลดน้อยลง

จังหวัดเชียงใหม่

อบจ.เชียงใหม่มีการแข่งขันที่สูงเนื่องจากผู้รับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีตำแหน่งสำคัญมาก่อน นอกจากนี้ปัจจัยทางพรรคการเมืองยังคงมีผลต่อการเลือกตั้งอย่างมีนัยยะ เช่นกรณีของนายธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ อดีต ส.ส. เชียงใหม่ 4 สมัย ได้เป็นนายก อบจ. สมัยแรก โดยสังกัดพรรคไทยรักไทย ต่อมาตัดสินใจแยกตัวออกมาลงสมัครในนามกลุ่มฅนเจียงใหม่ แต่พ่ายแพ้ให้กับนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ในการเลือกตั้ง นายก อบจ. ปี 2551 แสดงให้เห็นว่าการเมืองเชียงใหม่เป็นแบบขั้วเดียวภายใต้พรรคเพื่อไทย (ไทยรักไทย) ไม่ได้ยึดติดกับตัวบุคคล และ ส.อบจ. เองก็มีการผลัดเปลี่ยนการเข้าสู่อำนาจในระดับปานกลาง

จังหวัดแม่ฮ่องสอน

แม่ฮ่องสอนเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความเปลี่ยนแปลงในด้านบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายก อบจ. โดยนายอัครเดช วันไชยธนวงศ์ ที่ดำรงตำแหน่ง นายก อบจ.แม่ฮ่องสอนมาแล้วกว่า 3 สมัย แม้ว่าแต่ละครั้งจะมีผู้สมัครหลายรายแข่งกันก็ตามแต่ข้อสังเกตคือ ผู้ที่สมัครลงเลือกตั้งมักไม่ได้มีพื้นเพเป็นคนแม่ฮ่องสอน ต่างกับสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลสูงเป็นอันดับต้นๆ ของภาค ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการแบ่งเขตการเลือกตั้งใหม่

ภาพรวมการเมืองท้องถิ่นภาคเหนือสู่การเลือกตั้งปี 2568

จากงานศึกษาของ ณัฐกร แสดงให้เห็นถึงประเด็นที่น่าสนใจคือ การแข่งขันของนายก อบจ. 8 จังหวัดภาคเหนือแทบจะถูกผูกขาดโดยพรรคเพื่อไทย (พรรคไทยรักไทยเดิม) ในหลายจังหวัดและเป็นเครือข่ายมายาวนานหลายสิบปี โดยไม่มีพรรคอื่นเข้ามาเป็นคู่แข่งเท่าใดนัก บางจังหวัดแม้จะเป็นเครือข่ายพรรคเพื่อไทยเหมือนกันแต่ก็ยังมีการแข่งขันระหว่างบ้านใหญ่เพื่อชิงอำนาจทางการเมืองให้เห็น เช่น ในจังหวัดแพร่ที่ตระกูลเอื้ออภิญญกุลจะเป็นการเมืองในระดับชาติ และการเมืองท้องถิ่นจะเป็นของตระกูลวงศ์วรรณ ในขณะที่การเลือกตั้ง ส.อบจ. จะเป็นกลุ่มที่มีพลวัตมากกว่า ในบางจังหวัดอย่างจังหวัดน่านและจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีอัตราการเปลี่ยนตัวบุคคลสูงนั้น เกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการวางมือของผู้ลงสมัครคนเก่าหรือการเปลี่ยนเอาคนในเครือข่ายขึ้นมาแทนที่สมาชิกคนเดิม

ภาพ: พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ว่าที่ผู้สมัครนายกอบจ.เชียงใหม่

การศึกษานี้ทำให้เห็นแนวทางในการเมืองท้องถิ่นปี 2568 ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด การเดินสายของนายทักษิณ ชินวัตร ในจังหวัดต่างๆ ก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ก็แสดงให้เห็นถึงการดึงเอาบุคคลสำคัญเข้ามาช่วยดึงฐานเสียงมวลชนเดิม เมื่อมองถึงสถานการณ์การเลือกตั้งในจังหวัดต่างๆ เริ่มจากจังหวัดเชียงราย นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ผู้สมัครในนามพรรคเพื่อไทยกลับมาลงแข่งกับ นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ อดีตนายก อบจ. ในสมัยที่ผ่านมา โดยนายทักษิณ เข้ามาช่วยเหลือในการหาเสียงเป็นจังหวัดแรกๆ อีกด้วย ขณะเดียวกัน นางอธิตาธรที่แม้จะลงสมัครในนามอิสระ ก็ถูกจับตามองว่ามีเครือข่ายสีน้ำเงินคอยหนุนหลังอยู่ และยังคงเป็นการแข่งขันกันของบ้านใหญ่เช่นเดิม

ถัดมาในจังหวัดลำปาง นางตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร อดีตนายก อบจ. ลำปางได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งก่อนหมดวาระเพียง 2 วันคือวันที่ 17 ธันวาคม 2567 แต่ไม่ได้มีผลกระทบกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ โดยนางตวงรัตน์จะลงสมัครนายก อบจ. ในนามพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ยังมีผู้ลงสมัครอีก 3 คนคือ นายดาชัย เอกปฐพี นายอธิวัฒน์ ศรีไชยยานุพันธ์ และนางสาวปกิตตา ตั้งชนินทร์ ในขณะที่น่านมีผู้ลงสมัครทั้งสิ้น 4 ราย คือ นายนพรัตน์ ถาวงศ์ ในนามพรรคเพื่อไทย พ.ท. อธิวัฒน์ เตชะบุญ, นายสันติภาพ อินทรพัฒน์ ที่ทั้งสองลงสมัครในนามอิสระ และนายเสนอ เวชสัมพันธ์

จังหวัดแพร่นำโดยนายอนุวัธ วงศ์วรรณ อดีตนายก อบจ.และทีมงานพรรคเพื่อไทย นายวรายุส กาศสนุก คณะทำงานชั่วคราวจากพรรคประชนชนและผู้สมัครอิสระ อบจ.ลำพูน มีนายวีระเดช ภู่พิสิฐ ทายาทอดีตนายก อบจ.ลำพูน นายประเสริฐ ภู่พิสิฐ ในนามพรรคประชาชน กับนายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ นายก อบจ.ลำพูนคนปัจจุบัน จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายอัครเดช วันไชยธนวงศ์ อดีตนายก อบจ. ลงสมัครในนามอิสระ นายดนุภัทร์ เชียงชุม อดีตประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ลือว่าสังกัดพรรคประชาชน 

และจังหวัดสุดท้ายคือจังหวัดเชียงใหม่ที่นายก อบจ. คนปัจจุบันคือนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร ซึ่งลาออกก่อนครบวาระ เช่น เดียวกันกับนางตวงรัตน์ อดีตนายก อบจ. ลำปาง ที่มีการคาดการว่าการลาออกของนายพิชัยจะเปิดพื้นที่การแข่งขันระดับท้องถิ่น และนายพิชัยเองก็ลงสมัครนายก อบจ. ด้วยเช่นกัน โดยพรรคประชาชนได้ส่งนายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ลงสมัครเป็นคู่แข่ง

ประเด็นที่น่าจับตามองในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ การที่พรรคประชาชน (หรือพรรคก้าวไกลเดิม) ขึ้นมาเป็นคู่แข่งทางการเมืองใหม่ในพื้นที่ภาคเหนือจากการชนะการเลือกตั้ง สส. ในปี 2566 ที่ชนะการเลือกตั้งไปทั้งหมด 7 เขต จาก 10 เขต ถึงแม้จังหวัดเชียงใหม่จะขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของตระกูลชินวัตรก็ตาม การเดินสายทั้งของนายทักษิณ ชินวัตรและนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในเวลาไล่เลี่ยกันถือเป็นการเดินเกมเพื่อชิงฐานเสียงที่ตนมีภายในจังหวัด ซึ่งทั้งสองพรรคมีฐานเสียงที่แตกต่างกัน ระดับฐานมวลชนที่แตกต่างกัน พรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทนของฐานเสียงบ้านใหญ่และกลุ่มคนเสื้อแดง ในขณะที่พรรคประชาชนจะเป็นตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นใหม่เสียมากกว่า

ซึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้จะเป็นการเมืองที่ผูกขาดโดยพรรคเพื่อไทยหรือจะถูกแทนที่ด้วยพรรคประชาชน ถือเป็นเรื่องที่น่าติดตามกันต่อไป

ที่มา

ภาพฝันที่ถูกล้อม อนาคตข้อท้าทายกระจายอำนาจในภาคเหนือ

เกือบ 2 ปีล่วงผ่าน การอ่าน “ประกาศคณะราษฎร” ในกิจกรรม “แห่ไม้ก้ำประชาธิปไตยปักหมุดกระจายอำนาจ” โดย “คณะก่อการล้านนาใหม่” เมื่อ 24 มิถุนายน 2566 เป็นเหตุให้ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการอ่านคำประกาศดังกล่าว

กิจกรรมแห่ไม้ก้ำฯ เริ่มต้นที่หน้าอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะเคลื่อนขบวนบรรทุกไม้ค้ำสะหรีซึ่งเป็นประเพณีล้านนาเดิมที่ผู้คนเอาไม้ง่ามไปค้ำที่ต้นโพธิ์ในวัดเพื่อสื่อถึงการค้ำจุนพุทธศาสนา แต่ในครั้งนี้การแห่ไม้ก้ำได้ถูกนำมาสื่อถึงการค้ำจุนประชาธิปไตย ขบวนบรรทุกไม้คำสะหรีและสัญลักษณ์หมุดราษฎร ปี 2563 บนรถกระบะกว่า 10 คัน สลับกับเสียงปราศรัยมีเนื้อหากล่าวถึงความสำคัญของวันอภิวัฒน์สยาม เมื่อปี 2475 และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจจากรัฐส่วนกลาง เพื่อการกำหนดชีวิตด้วยตัวเองไม่ต้องรอคอยอำนาจจากรัฐส่วนกลางหรือกรุงเทพฯ จากนั้นผู้ร่วมกิจกรรมได้เคลื่อนขบวนนำไม้ค้ำพร้อมป้ายข้อความติดตั้งบริเวณกลางลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ มีการตีกลองสะบัดชัย อ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ก่อนตัวแทนอ่านประกาศข้อเรียกร้องของคณะก่อการล้านนาใหม่ 3 เรื่อง ได้แก่ 1) การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 2) กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อให้เป็นจังหวัดจัดการตนเอง 3) ผลักดันรัฐสวัสดิการ 

ย้อนไปหนึ่งวันก่อนหน้า (23 มิ.ย.66) มีการจัดกิจกรรม “เสวนา-รัฐธรรมนูญ-กระจายอำนาจ” ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ซึ่งมีนักวิชาการ ภาคประชาสังคม กลุ่มการเมือง ตัวแทนจากหน่วยงานราชการ รวมไปถึงประชาชนทั้งเห็นพ้องและเห็นต่างเข้าร่วมเวที ซึ่งเดิมทีนั้นมีกำหนดการจัดที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เนื่องด้วยงานดังกล่าวมีการคัดค้านและการแสดงความกังวลจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมว่ากิจกรรมเวทีดังกล่าวอาจนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนและสร้างความขัดแย้งต่อสังคม คณบดีนิติศาสตร์ มช. จึงเสนอให้เปลี่ยนสถานที่จัดดังกล่าว แต่ทว่าหลังจากมีการย้ายสถานที่จัดกิจกรรมแล้วนั้น ได้มีเครือข่ายคนไทยรักชาติรักสถาบัน (ภาคเหนือ) รวมตัวตั้งขบวนแสดงออกเชิงสัญลักษณ์คัดค้านกิจกรรมของคณะก่อการล้านนาใหม่ และจับตากิจกรรมที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น

ท้ายที่สุด เหตุการณ์ในครั้งนั้นจบลงด้วยการฟ้องคดี 3 นักศึกษา 1 นักกิจกรรม ตามมาในเดือนพฤศจิกายน 2566 รวม 4 คน ได้แก่ วัชรภัทร ธรรมจักร, ธีราภรณ์ พุดทะสี, เบญจภัทร ธงนันตา และชาติชาย ธรรมโม โดยเจ้าหน้าที่ทหารของมณฑลทหารบกที่ 33 ฟ้องข้อกล่าวหาจากกรณีทำกิจกรรมอ่านคำประกาศคณะราษฏร ฉบับที่ 1 ที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2566 ซึ่งจัดขึ้นโดย “คณะก่อการล้านนาใหม่” รวม 6 ข้อกล่าวหา ได้แก่ 

  1. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่นฯ” หรือร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด มิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
  2. ข้อหาร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3)
  3. ข้อหาร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุม แต่ไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบมาตรา 28
  4. ข้อหาตั้งวางสิ่งของกีดขวางทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385
  5. ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4 ประกอบมาตรา 9 วรรค 1
  6. ข้อหาตั้งวางหรือกองวัตถุใดๆ เพื่อการชุมนุมสาธารณะ อันเป็นทางสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ 

‘วัชรภัทร ธรรมจักร’ ตัวแทนอ่านคำประกาศ เล่าย้อนว่าตั้งแต่เขาทำกิจกรรมนักศึกษาพบว่ามีการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 24 มิถุนาเกือบทุกปี และในแต่ละปีก็มักมีคนอ่านประกาศคณะราษฎรมาตลอดแต่ไม่เคยมีใครถูกดำเนินคดีมาก่อน 

“เราแจ้งชุมนุมเรียบร้อยแล้วครับ ผมต้องย้ำว่าทำเป็นประจำทุกปี ปีก่อนผมก็ไป ปีนั้นก็ท่องบทนี้เหมือนกันแต่ไม่มีการดำเนินคดีแต่ปีนี้มี”

วัชรภัทร ธรรมจักร

เวลาผ่านไปเกือบสองปีแต่ทว่าคดีนี้ยังคงไม่สิ้นสุด หลังจากรับทราบข้อกล่าวหาและให้การปฏิเสธแล้ว ผู้ถูกกล่าวหายังต้องไปยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษร โดยพวกเขายืนยันว่าประกาศทั้งสองฉบับไม่ได้เข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 116 เนื่องจากเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งประกาศคณะราษฎรก็เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่มีการเผยแพร่โดยทั่วไปและไม่ได้ถูกห้ามเผยแพร่ 

อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังอยู่ในชั้นของพนักงานสอบสวนและตำรวจยังเรียกกลุ่มผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ไปสอบสวนเพิ่มเติมอีกในช่วงปลายเดือนเมษายน 2567 และได้มีการจัดให้เจ้าหน้าที่เข้ามาสอบสวนทั้ง 4 คน เพิ่มเติมที่คณะนิติศาสตร์ ในเดือนกรกฎาคม 2567 อีกครั้ง 

“มันเสียเวลาชีวิตมากถ้าสมมติประกอบอาชีพก็เสียรายได้ ถ้าเรียนอยู่ก็ไม่ได้ไปเรียนต้องไปตามหมาย ถ้าไม่ไปตามหมายก็โดนจับ มันยังมีมิติของสภาพจิตใจอีก ช่วงที่มันพีคมากก็ถึงขั้นต้องต้องคุยกับนักจิตฯ รวมไปถึงมันเป็นปัญหาเรื่องครอบครัวซึ่งเขาไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เรากำลังสื่อสารแต่เพราะไม่อยากให้มีคดีก็คือเป็นห่วง ซึ่งผมเคยถึงขั้นไม่คุยกับแม่เลยเป็นปี เวลาโดนคดีเราไม่ได้เครียดคนเดียวที่เครียดมากกว่าอาจจะเป็นพ่อหรือแม่หรือผู้ปกครอง มันเหมือน SLAAP เป็นการฟ้องปิดปากไม่ให้เขาทำแบบนี้อีกถ้ายังกระเหี้ยนกระหือรือกับรัฐอยู่ก็จะโดนแบบนี้ แล้วมึงโดนไม่เท่าไรพ่อแม่มึงล่ะอาชีพมึงล่ะอนาคตมึงล่ะ มันเป็นฟังก์ชันเป็นโซลูชั่นในการดำเนินการกับคนที่เห็นต่างกับรัฐ ถ้าใครจิตไม่แข็งหรือว่าต่อให้จิตแข็งก็จะรู้สึกเหนื่อย ไหนต้องไปรายงานตัวกับตำรวจไหนจะสอบเพิ่มเติมอีก ไหนจะต้องไปนัดอัยการ ไหนจะขึ้นศาล คือมันเสียเวลาไปหมดครับ ผมคิดว่าไม่ควรฟ้อง ม. 116 ด้วย พวกเราเพียงแค่เรียกร้องแก้รัฐธรรมนูญ มันรุนแรงเกินไปและคิดว่าไม่เข้าองค์ประกอบความผิดเลยด้วย” วัชรภัทร กล่าว

ปัจจุบันก้าวเข้าสู่ปี 2568 แล้ว แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ากระบวนการยุติธรรมในครั้งจะสิ้นสุดลงอย่างไร

การปรากฏตัวของคณะก่อการล้านนาใหม่

“คณะก่อการล้านนาใหม่” ก่อตั้งขึ้นปี 2564 ประกอบไปด้วยสมาชิกหลากหลายในภาคเหนือตอนบน ทั้งนักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ นักกิจกรรมที่คว่ำหวอดในวงการเคลื่อนไหวต่อสู้ปกป้องทรัพยากร เกษตรกร นักวิชาการ สื่อมวลชน ภาคประชาสังคม และกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง ผู้ซึ่งเผชิญกับความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นรากฐานของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตน ทรัพยากรเหล่านี้ถูกควบคุมโดยกลุ่มชนชั้นนำและกีดกันประชาชนในท้องถิ่นในการเลือกพัฒนาชุมชนของตัวเอง สถานการณ์ดังกล่าวผลักดันให้ประชาชนในพื้นที่ลุกขึ้นรวมตัวเพื่อทวงคืนสิทธิและเรียกร้องการออกแบบการจัดการชีวิตของตนเอง 

ก่อนหน้านี้พบว่ามีผู้คนหลายกลุ่มแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางและมีการเรียกร้องให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้คลื่นกระจายอำนาจละลอกใหม่ที่เรียกตัวเองว่าคณะก่อการล้านนาใหม่ พวกเขาจึงพยายามรวบรวมคนหลากหลายวัยและรวมเอาชนพื้นเมืองที่ดำรงชีพในป่าผู้ซึ่งถูกทำให้เสียงแผ่วเบาโดยเฉพาะเมื่อถูกเบียดขับให้ห่างไกลจากศูนย์กลาง การปรากฏตัวของพวกเขาก็เพื่อส่งเสียงว่าการรวมอำนาจตัดสินใจทางนโยบายหรือการออกกฎหมายจากชนชั้นนำได้ลิดรอนสิทธิตามรัฐธรรมนูญของพวกเขา ท้องถิ่นหลายแห่งโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถใช้ทรัพยากรในพื้นที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ และในบางกรณีเกิดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาท้องถิ่นระหว่างชนบทและเมืองใหญ่ การกระจายอำนาจของพวกเขาจึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการบริหารจัดการเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับสิทธิและความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรของทุกคนด้วย

กิจกรรมเสวนา “รื้อประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์จากชาวเขาสู่ชนเผ่าพื้นเมือง” เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองสากล 9 ส.ค. 2566

ภาคเหนือปมขัดแย้งใต้เงารัฐรวมศูนย์

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างนโยบายของรัฐกับสิทธิชุมชนและวิถีชีวิตของชาวบ้านคือนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐไทยที่มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ โดยเฉพาะในภาคเหนือ นโยบายนี้เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังในช่วงปี พ.ศ. 2557 ภายใต้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเป้าหมายของนโยบายคือเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศให้บรรลุเป้าหมาย 40% ของพื้นที่ทั้งประเทศ ตลอด 8 ปีของนโยบายฯ มีคดีความที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกป่าไม่ต่ำกว่า 46,000 คดี 

“แสงเดือน ตินยอด” หญิงวัย 55 ปี ชาวบ้านแม่กวัก อำเภองาว จังหวัดลำปาง เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าที่มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ กรณีนี้เจ้าหน้าที่รัฐในสังกัดกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ จับกุมดำเนินคดีตัดฟันพืชผลและชาวบ้านต้องถูกให้ออกจากพื้นที่ทำกินเดิม เพื่อเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่า 40% ตามนโยบาย

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อพื้นที่ที่เธออาศัยและทำกินมานานราว 10 ไร่ กลับถูกประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ต่อมากรมป่าไม้อนุญาตให้ชาวบ้านเข้าทำประโยชน์และอยู่อาศัยในพื้นที่ โดยออกใบอนุญาตทำกิน (สทก.1) และส่งเสริมให้ปลูกยางพารา ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมีคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 หรือ “นโยบายทวงคืนผืนป่า” เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทและป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง สั่งให้แสงเดือนตัดฟันต้นยางพารา 2 ครั้ง ในปี 2556 และ 2558 แสงเดือนถูกดำเนินคดีในปี 2561 ข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยเจตนา ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าแสงเดือนทำกินในพื้นที่มาก่อนการประกาศเป็นป่าสงวน และเธอปฏิบัติตามนโยบาย “โฉนดชุมชน” 

แต่เรื่องราวยังไม่จบลงโดยง่าย หน่วยงานรัฐกลับยื่นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาสั่งจำคุกแสงเดือน 1 ปี ไม่รอลงอาญา พร้อมจ่ายค่าเสียหาย 4 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2561 รวมทั้งให้แสงเดือนออกจากพื้นที่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง กระทั่งจะมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 28 ก.ย. 2566 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ รอลงอาญา 2 ปี 

ที่มาภาพ: วิศรุต ศรีจันทร์

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ลำปางระบุว่าเหตุการณ์นี้เป็นภาพสะท้อนนโยบายใหญ่ที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่า ตั้งแต่แผนแม่บทป่าไม้ฯ ที่กำหนดว่าประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่า 40% ของประเทศ รวมถึงนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีความพยายามในการส่งเสริมปลูกป่าเพื่อค้าคาร์บอนเครดิต นโยบาย “Net Zero” หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ที่จะสัมพันธ์โดยตรงต่อ “การแย่งยึดที่ดินชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่เขตป่า” และจะส่งผลต่อการยึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้านด้วยมาตรการทางกฎหมายป่าไม้ โดยมีทั้งพื้นที่ที่ถูกดำเนินคดีและกำลังเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี ซึ่งจะเป็นเป้าหมายหลักในการนำมาดำเนินโครงการปลูกป่า 

แม้ว่าพื้นที่ภาคเหนือจะมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่การจัดการทรัพยากรเหล่านี้กลับเต็มไปด้วยปัญหา หลายครั้งการจัดสรรทรัพยากรถูกกำหนดจากส่วนกลางโดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการหรือความเห็นของคนในพื้นที่อย่างเพียงพอ กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สูงมักได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการป่าไม้และที่ดิน ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความเชื่อของพวกเขา รัฐใช้อำนาจผ่านกฎหมายเพื่อกดทับชนเผ่าพื้นเมือง เช่น การขับไล่ออกจากพื้นที่บรรพบุรุษ การประกาศพื้นที่อุทยานที่ทับซ้อนกับที่ทำกินดั้งเดิม หรือแม้กระทั่งการห้ามเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก เจ้าหน้าที่มักกล่าวหาว่าชนเผ่าพื้นเมืองบุกรุกป่า ทั้งที่พื้นที่เหล่านั้นเป็นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยที่พวกเขาสืบทอดมาอย่างยาวนาน การจัดสรรทรัพยากรในลักษณะนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขา แต่ยังสร้างความขัดแย้งระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับภาครัฐ สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงการใช้อำนาจรัฐที่กำหนดชะตาชีวิตของผู้คนที่ดำรงชีวิตพึ่งพิงป่าอย่างลึกซึ้ง คนเหล่านี้ไม่ได้สูญเสียเพียงทรัพย์สิน แต่ยังเผยให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน นั่นคืออคติและความเข้าใจผิดต่อวิถีชีวิตที่ผูกพันกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและธรรมชาติ 

จากใต้จรดเหนือบรรยากาศไม่เอื้อกระจายอำนาจ 

จากภาคใต้สู่ภาคเหนือกิจกรรมรณรงค์กระจายอำนาจในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกัน กลายเป็นเรื่องถูกจับตา ส่งต่อ และขยายความบนโลกออนไลน์ รวมทั้งมีการเคลื่อนไหวตรวจสอบของหน่วยงานความมั่นคง

นับตั้งแต่กิจกรรมประชามติจำลองเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 กลุ่มนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีการรวมตัวกันในชื่อ “ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ” (Pelajar Bangsa) ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีวาระสำคัญคือการเปิดตัวกลุ่มองค์กรนักศึกษาและมีการปาฐกถาประเด็นสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง (Self Determination) กิจกรรมเสวนามีการเชิญตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วม พร้อมจัดกิจกรรมประชามติจำลองเพื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองปาตานี โดยเปิดให้ผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นระหว่างลงทะเบียน พวกเขาเห็นว่าการทำประชามติจำลองเป็นการแสดงออกถึงสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเอง หรือ Rights to self-determination (RSD) ผ่านประชามติซึ่งเป็นสิทธิของประชาชน กิจกรรมดังกล่าวกลายเป็นที่จับตาและถูกส่งต่อ รวมถึงขยายความในโลกออนไลน์ จนหน่วยงานความมั่นคงเริ่มมีการตรวจสอบความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด

สำหรับเนื้อหาบนบัตรแสดงความคิดเห็นในประชามติจำลอง มีคำถามระบุว่า “คุณเห็นด้วยกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย”

ตัวแทนนักศึกษาที่จัดงานชี้แจงว่าจุดประสงค์ของกิจกรรมนี้คือการเปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตของพื้นที่ชายแดนใต้ไม่ใช่การสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน บัตรสอบถามประชามติเป็นการจำลองสอบถามความเห็นสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเอง และยอมรับว่าการใช้คำว่า “เอกราช” หรือ “แบ่งแยกดินแดน” อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและถูกนำไปตีความได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประเด็นชายแดนใต้มองว่ากิจกรรมนี้เป็นเวทีวิชาการเนื่องจากองค์ประกอบของผู้เข้าร่วมและเนื้อหาการพูดคุยเน้นไปที่การถกเถียงเชิงวิชาการเป็นหลัก

ที่มาภาพ: ประชาไท

กรณีคณะก่อการล้านนาใหม่ มีเครือข่ายคนไทยรักชาติรักสถาบัน (ภาคเหนือ) รวมตัวกันแสดงออกคัดค้านการจัดงานเสวนาวาระรัฐธรรมนูญ-กระจายอำนาจ ซึ่งมีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้าเป็นผู้ปาฐกถาภาพรวมการกระจายอำนาจ เครือข่ายคนไทยรักชาติฯ ให้เหตุผลว่าไม่เห็นด้วยกับการจัดเสวนาดังกล่าวเพราะเชื่อว่าเสวนาวิชาการครั้งนี้มีการเชิญวิทยากรเฉพาะกลุ่มที่มีแนวคิดไม่หลากหลาย จึงเป็นห่วงว่าอาจเป็นการยุยงปลุกปั่นและแฝงแนวคิดบางอย่างที่ชักนำทำให้ประชาชนและประเทศชาติเกิดความแตกแยก ผู้เข้าร่วมขบวนมีการชูป้ายในทำนองคัดค้านการแบ่งแยกดินแดน นอกจากนั้นสมาชิกเครือข่ายฯ ประกาศว่าจะเดินทางไปร่วมทุกๆ กิจกรรมของคณะก่อการฯ เพื่อปกป้องสถาบันอีกด้วยเนื่องจากเป็นห่วงเรื่องการสร้างความแตกแยกในสังคม การแบ่งแยกดินแดน รวมถึงขบวนการล้างสมองเยาวชน ซึ่งเดิมทีการเสวนาดังกล่าวนี้มีกำหนดจัดขึ้นที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านั้นเครือข่ายคนไทยรักชาติรักสถาบันได้ยื่นหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยคัดค้านการจัดกิจกรรมดังกล่าวในพื้นที่มหาวิทยาลัย เนื่องจากเชื่อว่ามีลักษณะเข้าข่ายการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกและแอบแฝงแนวคิดการแบ่งแยกการปกครองโดยมีบางพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง จนกระทั่งผู้จัดงานมีการย้ายสถานที่เป็นโรงแรมไอบิส

หลังจากนั้น ผู้จัดการสุดสัปดาห์มีการรายงานข่าวในวันที่ 1 กรกฎาคา 2567 โดยพาดหัวข่าวว่า “หอมกลิ่นแยกดินแดน! จาก “ปาตานี” ถึง “ล้านนา” ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม!?” มีเนื้อหาย้ำว่า “สปป.ล้านนา” เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องการแบ่งแยกดินแดนล้านนาออกจากประเทศไทย 

ด้าน “วัชรภัทร” ผู้เข้าร่วมกิจกรรมของคณะก่อการล้านนาใหม่ชี้แจงว่าภาคประชาชนมีการรณรงค์เรื่องกระจายอำนาจในภาคเหนือมาอย่างยาวนานเพื่อแก้ไขปัญหาท้องถิ่นและไม่ได้เป็นพวกเดียวกับพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง 

“ผมมองว่าเรามีประเด็นร่วมกันมากกว่า ทุกคนมีความคิดเห็นร่วมกันในประเด็นปัญหานี้จึงมาร่วมกัน วันนั้นผมยืนยันได้ว่าเราเชิญทางภาครัฐแล้วก็คนที่ทั้งเห็นตรงและไม่เห็นตรงมาร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนกันด้วย แต่ประเด็นปัญหาเขาไม่มาอย่างนั้นเลย ก็เลยทําให้กลุ่มการเมืองอีกฝั่งหนึ่งเขาคิดว่ากีดกันฝั่งเขาหรือเปล่า จนมันไปถูกนําเสนอผ่านสื่อต่างๆ มันก็เลยทําให้คนอ่านข่าวเข้าใจว่าเชิญแต่นักวิชาการฝั่งตัวเอง”

“ใครเห็นตรง เห็นไม่ตรงหรือไม่เห็นร่วมสามารถมาร่วมแลกเปลี่ยนกันได้ เพราะมันจะมีช่วงฟรีเวทีเพื่อมาถกกัน ซึ่งแม้แต่คนที่เห็นด้วยกันเห็นร่วมกันว่าจะต้องมีการกระจายอํานาจก็ถกกันนะ คือเราเหมือนได้มาเปิดมิติใหม่เรื่องโครงสร้างอํานาจแบบราชการไทย เราจะเห็นปัญหาที่มันยุ่งเหยิงกันมากเลย อย่างเช่นถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อก็ไม่รู้ว่าหน่วยงานไหนต้องเป็นคนรับผิดชอบ โยนให้กันไปมาจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังบางครั้งไม่มีอำนาจสั่งการ ผมคิดว่าทุกคนพยายามอยากให้มาร่วมเพราะเราจะได้เห็นเลยว่า มิติมุมมองการกระจายอํานาจของเราหรือการคงอยู่ของอีกฝ่ายหนึ่งเนี่ยมันจะเป็นไปในรูปแบบไหน ต่างคนต่างเหตุผลกันไปอย่างไร แล้วสุดท้ายแล้วมันจะไปในทิศทางไหนดี ก็ยังอยากให้เกิดการแลกเปลี่ยนนะครับ”

“อีกอย่างในงานมีการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กด้วย ตั้งแต่เสวนารวมไปถึงการแห่ขบวนซึ่งมันก็ค่อนข้างชัดว่าเราก็สื่อสารกับสาธารณะด้วย ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ต้องปกปิดหรือปิดบัง”

ที่มาภาพ: ผู้จัดการออนไลน์

เหตุการณ์ในครั้งนั้นจบลงด้วยการฟ้องคดีโดยอดีตผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 มอบอำนาจให้นายทหารไปฟ้องที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ ในส่วนของวัชรภัทรถูกระบุว่าเขาเป็นผู้อ่านคำประกาศของคณะราษฎร เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งผู้กล่าวหาอ้างว่าการนำประกาศฉบับดังกล่าวมาอ่านอีกครั้งในปี 2566 ทำให้เข้าใจได้ว่าผู้ต้องหากับพวกมีแนวคิดเชิญชวนบุคคลที่ได้รับฟังเกิดความกระด้างกระเดื่อง ไม่เคารพกฎหมายหรืออาจล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

อย่างไรก็ดี ในห้วงยามที่มีการรณรงค์เรียกร้องกระจายอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐมีการบังคับใช้กฎหมายในการดำเนินคดีความ ใช้กฎหมายเพื่อขัดขวางปิดกั้นและควบคุมกิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีกับใครก็ตามที่วิพากษ์วิจารณ์องค์กรหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ควบคู่ไปกับการใช้กฎหมายอาญามาตรา 116 ในการดำเนินคดีผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล นอกจากนั้นสื่อออนไลนที่เผยแพร่เนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลต่างต้องเผชิญกับการถูกปิดกั้น ถูกดำเนินคดี แม้กระทั่งข้อเสนอเรื่องกระจายอำนาจที่มุ่งหวังสร้างสังคมที่เท่าเทียม ก็ถูกต่อต้าน ขัดขวาง รวมไปถึงประชาชนที่แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์มักถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลอีกด้วย 

เกือบ 2 ปีแล้ว ที่วัชรภัทรและสมาชิกคณะก่อการล้านนาใหม่ต้องเผชิญกับบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการพูดประเด็นกระจายอำนาจซ้ำยังต้องใช้เวลาไปกับการต่อสู้คดี แต่วัชรภัทรยังคงยืนยันเคลื่อนไหวเรียกร้องกระจายอำนาจ หนึ่งในแนวทางที่เขาเชื่อว่าจะเป็นทางออกของสังคมที่เขาฝันถึง

“มันเป็นสิ่งที่เราต้องจ่ายทั้งที่ไม่ควรต้องจ่ายในสังคมประชาธิปไตย เราถูกกล่าวหาร้ายแรงนะเรื่องแบ่งแยกดินแดน ผมคิดว่าตัวผมเองก็ยังจะทําต่อครับ ต่อให้ผมไม่ทําต่อผมว่าก็มีคนทําต่อเพราะว่ามันยังเป็นปัญหาที่ไม่ได้ถูกแก้ไข ผมมองว่าสิ่งที่เราทําเราต้องยันในหลักการว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิด ในที่นี้ไม่ได้ผิดทั้งกฎหมายและไม่ได้ผิดทั้งมิติเชิงสังคม ถ้ามีคนมองแบบเราแบบมิติที่เราคิดเยอะมากขึ้นเท่าไรในสังคมปัญหาเหล่านั้นน่าจะถูกได้รับการแก้ไขมากขึ้นเท่านั้น ผมเชื่อลึกๆ ว่ามันจะมีการเปลี่ยนแปลง”