Home Blog Page 2

“เขาลบตัวตนชนเผ่าพื้นเมืองในไทยออกไป” ฟังเสียงเยาวชนชาติพันธุ์ หลังมติสภาฯ ปัดตกคำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ ใน ร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ 

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา สภาฯ ได้ลงมติ 252 เสียง ต่อ 153 เสียง ‘ปัดตก’ คำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ ในมาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ หรือ พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ อันเป็นข้อเสนอของ กมธ.เสียงข้างน้อย ที่ให้ระบุในมาตรา 3 ว่า ‘กลุ่มชาติพันธุ์ หมายรวมถึงชนเผ่าพื้นเมืองฯ’ โดย สส.บางส่วนให้เหตุผลว่าจะกระทบต่อความมั่นคงของชาติ จนอาจนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนได้ในอนาคต 

จากกรณีดังกล่าว Lanner ได้พูดคุยกับ สุพรรณษา จันทร์ไทย ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง ตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองไททรงดำ ที่เผยว่า เธอรู้สึกผิดหวังกับมติสภาฯ ที่ปัดตกคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองในร่าง พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ฯ และมองว่าการกระทำนี้เหมือนเป็นการพยายามลบตัวตนของชนเผ่าพื้นเมืองที่มีในไทยออกไป 

สุพรรณษา จันทร์ไทย

“เรามองว่า คำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ เป็นคำที่ระบุตัวตนได้ชัดเจนที่สุดว่าเราคือใคร การที่เขาปัดตกคำนี้ออกไป มันกลายเป็นว่าพวกเขากำลังลบตัวตนของคนที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยออกไปด้วย ทั้งที่เราก็พยายามที่จะรณรงค์ให้เห็นมาโดยตลอดว่าประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมืองอยู่หลากหลายกลุ่ม”

สุพรรณษาเล่าอีกว่าเธอคาดหวังใน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ฉบับนี้คือการที่กลุ่มชาติพันธุ์ที่รวมไปถึงชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ถูกยอมรับ และมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริงตามชื่อของตัว พ.ร.บ. เพื่อให้พวกเขาได้มีสิทธิเท่ากันกับประชาชนทั่วไป และไม่ต้องถูกกีดกันหรือกดดันให้ต้องออกห่างจากวิถีชีวิตในแบบของพวกเขาเอง 

“สิ่งที่เราคาดหวังตั้งแต่เริ่มร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ คือ เราหวังให้ทุกคนยอมรับกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้มันได้ถูกปัดตกไปแล้ว แต่หลังจากนี้ ถ้า พ.ร.บ. ตัวนี้มันได้เกิดขึ้นจริงๆ เราอยากให้สามารถช่วยคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจริงๆ ตามชื่อของมัน ให้คนข้างนอกเกิดการยอมรับจริงๆ และทำให้กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองได้มีสิทธิเท่าเทียมกับทุกคน โดยไม่เป็นการกดทับหรือบีบบังคับให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องออกห่างจากวิถีชีวิตของตนเอง”

แม้คำว่าชนเผ่าพื้นเมืองจะถูกปัดตกจากมติของสภาฯ ไปแล้ว แต่สุพรรณษา ก็ยังบอกว่าเธอและเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองจะยังคงรณรงค์ให้ใช้คำว่าชนเผ่าพื้นเมืองในการระบุตัวตนต่อไป เพื่อให้เห็นว่าชนเผ่าพื้นเมืองเองก็มีตัวตน เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย

“สุดท้ายแล้ว การที่ตัว พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะไม่มีคำว่าชนเผ่าพื้นเมือง แต่ตัวเราเองรวมถึงเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองทุกคนก็จะยังพยายามรณรงค์ให้ใช้คำว่าชนเผ่าพื้นเมืองภายในกลุ่มของเราเอง และพยายามจะสื่อสารอย่างต่อเนื่องว่าพวกเรายังเป็นกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ในประเทศไทย ที่มีเอกลักษณ์ มีวิถีชีวิตที่ค่อนข้างชัดเจน เด่นชัด เรายังจะทำต่อเนื่อง ทำต่อไป”

‘กมธ.ทหาร’ เคาะแก้พิพาทที่ทหารทับชุมชน จ.ลำปาง ยึดแผนที่ร่วมกรมป่าไม้ปี 62 หวังเพิกถอนที่ทหาร 4.7 พันไร่

ภาพ: มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ประธานคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยชลธี เชื้อน้อย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต 3, นายอำเภอแม่เมาะ, ผู้บังคับกองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 3, ผู้แทนสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 ลำปาง, นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง, ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง และประชาชนในพื้นที่ ต.บ้านดง ได้ลงพื้นที่และประชุมเพื่อศึกษาข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ระหว่างราษฎรกับค่ายฝึกรบพิเศษที่ 3 ณ บ้านจำปุย ม.4 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากเนื่องด้วยราษฎรในบ้านท่าสี ม.3 และบ้านจำปุย บ้านปงผักหละ บ้านห้วยตาด ม.4 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ภายหลังได้มีหน่วยงานราชการ ได้แก่ กองทัพบก กระทรวงกลาโหม ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ใช้พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่เมาะ ในท้องที่ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เนื้อที่ 45,156 ไร่ 1 งาน ตั้งแต่ปี 2516 เพื่อกระทำการสร้างค่ายพักและฝึกต่อสู้ปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ โดยมีค่ายฝึกรบพิเศษที่ 3 ประตูผา เป็นผู้ดูแลพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาราษฎรได้รับผลกระทบจากการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของกองทัพบก กระทรวงกลาโหม ทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชน ส่งผลให้เกิดข้อพิพาทระหว่างราษฎรและทหาร สร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรที่ใช้พื้นที่ดังกล่าว

ภาพ: มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

พชร คำชำนาญ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ให้ข้อมูลว่า ชุมชนได้รับผลกระทบจากการทับซ้อนแนวเขตดังกล่าวอย่างน้อย 3 กรณี ได้แก่

1. เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาตรวจยึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้านห้วยตาด ราว 59 แปลง เนื้อที่ราว 359 ไร่ ซึ่งกระทบชาวบ้านอย่างน้อย 40 ครอบครัว โดยการตรวจยึดเจ้าหน้าที่ทหารอ้างว่าชาวบ้านได้บุกรุกพื้นที่หลังปี 2545 ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิ.ย. 2541 โดยขณะนี้ชาวบ้านที่ถูกตรวจยึดพื้นที่ แม้จะสามารถทำกินได้ในปีที่ผ่านมา แต่ไม่มีหลักประกันว่าในฤดูกาลเพาะปลูกปีนี้จะสามารถทำกินได้ และชาวบ้านเกรงจะจะถูกดำเนินคดี

2. ชาวบ้านไม่สามารถเข้าสู่โครงการจัดที่ทำกินตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้ ซึ่งเป็นการจัดที่ดินตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พ.ย. 2561 โดยกรมป่าไม้ต้องจัดที่ทำกินให้ชุมชนตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แต่ปัจจุบันชุมชนไม่สามารถเข้าสู่เงื่อนไขการจัดที่ดินดังกล่าวได้ เนื่องจากกองทัพบก กระทรวงกลาโหม ยังไม่ส่งมอบที่ดินคืนกรมป่าไม้ ทำให้ขณะนี้ชาวบ้านต้องอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินอย่างผิดกฎหมายและไม่มีแนวนโยบายของรัฐบาลรองรับ

3. การมีที่ดินทำกินและพื้นที่บางส่วนของป่าชุมชนทับซ้อนกับที่ดินของกองทัพบก สร้างความหวาดระแวงในการใช้ชีวิตตามวิถีของชุมชน อาทิ การเก็บหาของป่าและใช้ประโยชน์จากป่าที่ชุมชนดูแลรักษา นอกจากนั้นการที่แนวเขตทับซ้อนไม่ชัดเจน อาจมีการลาดตระเวนในพื้นที่และการซ้อมรบซึ่งสร้างความหวาดกลัวต่อชุมชนด้วยเช่นกัน

“ชาวบ้านมีประวัติศาสตร์การก่อตั้งชุมชนอยู่มาก่อนเขตป่าสงวนแห่งชาติ และแน่นอนว่าอยู่มาก่อนที่ดินทหาร แต่ขณะนี้ชาวบ้านไม่อาจวางใจได้ว่าจะยังสามารถทำกินได้หรือไม่ในฤดูกาลเพาะปลูกปีนี้ซึ่งกำลังจะมาถึงอีกไม่กี่วันข้างหน้า แม้จะมีคนบุกรุกจริงบ้าง แต่ไม่ควรเหมารวมว่าชาวบ้านทั้งหมดรุกที่ทหารแล้วให้ชาวบ้านเซ็นยินยอมว่าบุกรุก รวมถึงพื้นที่ทหารที่ยังทับซ้อนกับที่ทำกินของชาวบ้านอยู่จนชาวบ้านไร้สิทธิในที่ดิน ก็ต้องตั้งคำถามถึงทั้งกระทรวงกลาโหมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย ว่าหากไม่ดำเนินการแก้ปัญหาแล้วชาวบ้านเสียสิทธิ์ จะรับผิดชอบอย่างไร” พชร คำชำนาญ กล่าว

ขณะที่การประชุมที่จัดโดยคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง ได้มีชาวบ้านจากทั้งบ้านท่าสี ม.3 และบ้านจำปุย ปงผักหละ ห้วยตาด ม.4 ประมาณ 200 คน ติดตามถ่ายทอดสดการประชุมอยู่ด้านนอกอาคาร และมีตัวแทนเข้าเจรจาในห้องประชุม ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้านบ้านท่าสี ม.3, ผู้ใหญ่บ้านบ้านท่าสี ปงผักหละ ห้วยตาด ม.4 รวมถึงแนวร่วม ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้านบ้านกลาง ม.5 และ ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่ส้าน ม.6 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง รวมถึงตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) 

ภาพ: มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

โดยข้อเรียกร้องหลักคือให้ทหารกันพื้นที่ทำกินของชาวบ้านออกจากพื้นที่ทหารขอใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้ โดยการเดินสำรวจแนวเขตเดิมอย่างมีส่วนร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ทหาร ป่าไม้ และประชาชนในพื้นที่ คืนสิทธิ์ในที่ดินทำกินให้ชาวบ้านในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามโครงการจัดที่ดินชุมชนของรัฐบาล รวมถึงแนวทางข้อเรียกร้องในด้านการปฏิรูปที่ดินของภาคประชาชน ยุติกระบวนการตรวจยึดพื้นที่และการดำเนินคดีชาวบ้านที่อยู่อาศัยและทำกินมาก่อน ซึ่งได้รับการผ่อนผันตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 รวมถึงการดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ที่จะสร้างผลกระทบกับประชาชนให้ชะลอไว้ก่อนจนกว่ากระบวนการเดินสำรวจแนวเขตจะแล้วเสร็จ และระหว่างกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ ตรวจสอบข้อเท็จจริง และการแก้ไขปัญหา ให้ชาวบ้านสามารถทำกินในที่ดินของตนเองได้โดยไม่ถูกคุกคาม ตรวจยึด และดำเนินคดี

‘วิโรจน์’ เคาะ 4 แนวแก้พิพาททหาร-ประชาชน ด้านชาวบ้านยังไม่วางใจเหตุแผนที่อาจตกหล่น

หลังการลงพื้นที่และการรับฟังข้อเสนอในที่ประชุม วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ประธานคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการ แต่ต้องเข้าใจประชาชนเหมือนกัน ซึ่งเชื่อว่ามีผู้บุกรุกอยู่บ้าง แต่ไม่ควรเหมารวมที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ทางท่าน ผบ.ค่ายได้ชี้แจงและให้การบ้านใน กมธ. ไว้แล้วว่าการดำเนินการนี้เป็นการป้องปรามเท่านั้น ไม่มีเจตนาที่จะดำเนินการตามกฎหมายใดๆ 

ภาพ: มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

“ส่วนกรณีแผนที่ควรใช้แนวการสำรวจของกรมป่าไม้เมื่อปี 2562 ในการคลี่คลายปัญหา เราเห็นตรงกันว่าตอนปี 2545 จนถึงตอนนี้ชุมชนขยายไปพอสมควร ฉะนั้นข้อพิพาทจะยังคงอยู่แน่ แต่มีการสำรวจที่ประชาชนยอมรับได้ในปี 2562 ถ้าเราเริ่มสำรวจใหม่เลยอาจใช้เวลามาก เราใช้แผนที่ปี 2562 เลยดีไหม เราจะได้เดินเรื่องเลย” วิโรจน์กล่าว

หลังจากนั้นประธาน กมธ.ทหาร ได้สรุปแนวทางแก้ไขปัญหา โดยคณะกรรมาธิการทหารจะทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 4 ประเด็น ได้แก่

1. คณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร จะทำหนังสือถึงกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอข้อมูลแผนที่การสำรวจที่ดินทำกินของราษฎรและพื้นที่แนวเขตทับซ้อนที่ดินทหารประมาณ 4,700 ไร่ เพื่อใช้สอบทานกับชุมชนให้สิ้นข้อสงสัย หากยังมีที่ดินแปลงใดตกหล่นให้ทำการสำรวจเพิ่มเติม

2. ในระหว่างการดำเนินการสอบทานข้อมูล ให้กองทัพบกผ่อนปรนให้ชาวบ้านยังสามารถทำกินได้ตามแนวเขตเดิมในฤดูกาลเพาะปลูก ซึ่งจะมีการแผ้วถางและเพาะปลูกตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค. 2568 ซึ่งย้ำว่าต้องไม่มีการบุกรุกที่ดินรุกล้ำออกไปนอกแนวเขต

3. เนื่องจาก พ.ต.พิภพ วงค์ษา ผบ.ร้อย ฝรพ.3 ซึ่งมีท่าทีการทำงานอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกับชาวบ้าน กำลังจะเกษียณอายุราชการ หาก ผบ. ท่านใหม่มาปฏิบัติราชการแทน ให้ยึดแนวทางการทำงานแบบเดิมกับประชาชนในพื้นที่

4. แจ้งให้ทราบเบื้องต้นว่าหากสอบทานข้อมูลแผนที่จนแล้วเสร็จ มีข้อยุติร่วมกันแล้ว จะทำหนังสือถึงผู้บัญชาการกองทัพบก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีกครั้ง เพื่อเสนอให้กันพื้นที่ทหารออกจากพื้นที่ชุมชนต่อไป

หลังจากนั้นชาวบ้านได้สอบถามว่าจะสามารถดำเนินการทางธุรการเรื่องหนังสือฉบับนี้ได้เร็วสุดเมื่อไร วิโรจน์ย้ำว่าจะดำเนินการโดยการนำเข้าวาระการประชุมเร่งด่วนของ กมธ. ทหารในวันพฤหัสบดี ที่ 9 ม.ค. 2568 เพื่อให้ทันฤดูกาลเพาะปลูก แต่หากล่าช้ากว่านั้นก็จะไม่ให้เกิน 2-3 วัน ซึ่งถือว่าเป็นที่น่าพอใจสำหรับชาวบ้าน 

ด้าน สมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้านบางกลาง ม.5 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า สถานการณ์คลี่คลายลงมาก เนื่องจากมีเวทีให้ได้พูดคุยและทำความเข้าใจกันโดยมี กมธ. ทหาร เป็นตัวกลาง แต่ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ โดยเฉพาะเรื่องความชัดเจนแนวเขตทหารที่จะนำไปสู่การกันพื้นที่อาจไม่ง่ายขนาดนั้น 

ภาพ: มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

“ผมมั่นใจว่าการสำรวจแนวเขตเมื่อปี 2562 ของกรมป่าไม้นั้นต้องมีการตกหล่นแน่นอน เพราะชาวบ้านยังไม่เคยเห็นการคืนข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ แม้ป่าไม้จะอ้างว่าได้เดินสำรวจร่วมกันกับผู้นำชุมชนแล้ว แต่ถ้าไม่มีการคืนข้อมูลให้ชุมชนได้ตรวจสอบร่วมกันจะต้องมีแปลงตกหล่น การต่อสู้ครั้งนี้จึงเป็นการต่อสู้ระยะยาวที่ประชาชนยังต้องเดินหน้าต่อควบคู่ไปด้วย ปล่อยให้เป็นแค่หน้าที่ของ กมธ.ทหารและหน่วยงานรัฐอย่างเดียวไม่ได้” สมชาติย้ำ

มัดรวม 30 ข้อควรรู้ อบจ. ทำอะไรได้บ้าง

ปี 2568 นี้ ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งสำคัญ โดยในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 จะมีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) พร้อมกับสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งผู้บริหารและฝ่ายนิติบัญญัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยจะมีการเลือกตั้งนายก อบจ. ใน 47 จังหวัด และ ส.อบจ. ใน 76 จังหวัด 

ในโอกาสนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ประชาชนควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท อำนาจหน้าที่ และความสำคัญขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกผู้บริหารและผู้แทนที่จะมาทำหน้าที่พัฒนาท้องถิ่น Lanner ได้รวบรวมข้อมูลพื้นฐานทั้งหมด 30 ข้อ ที่ประชาชนควรรู้เกี่ยวกับ อบจ. ในรูปแบบคำถาม-คำตอบที่เข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ใช้สิทธิอย่างมีความรู้ความเข้าใจ และสามารถติดตามตรวจสอบการทำงานของผู้ที่จะเข้ามาบริหาร อบจ. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

Q1: อบจ. คืออะไร?

A1: องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีจังหวัดละหนึ่งแห่ง (ยกเว้นกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาซึ่งเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ) มีเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทั้งจังหวัด

Q2: อบจ. มีโครงสร้างการบริหารอย่างไร?

A2: อบจ. มีโครงสร้างประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก

1. สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฝ่ายนิติบัญญัติ)

2. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฝ่ายบริหาร)

Q3: อบจ. มีอำนาจหน้าที่พื้นฐานอะไรบ้าง?

A3: อำนาจหน้าที่พื้นฐานของ อบจ. ประกอบด้วย

– ตราข้อบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย

– จัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

– ประสานการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด

– สนับสนุนสภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น

– คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

Q4: อบจ. มีอำนาจหน้าที่ด้านการศึกษาอย่างไร?

A4: อบจ. มีอำนาจในการจัดการศึกษา รวมถึง

– จัดการศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบ

– สนับสนุนการศึกษาให้แก่สถานศึกษาในพื้นที่

– ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อการศึกษา

Q5: อบจ. มีอำนาจหน้าที่ด้านสาธารณสุขอย่างไร?

A5: อบจ. มีอำนาจในด้านสาธารณสุข ดังนี้

– จัดให้มีโรงพยาบาลจังหวัด

– จัดการรักษาพยาบาล

– การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ

– ส่งเสริมการสาธารณสุขในพื้นที่

Q6: อบจ. มีอำนาจหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร?

A6: อบจ. มีอำนาจด้านสิ่งแวดล้อม ดังนี้

– จัดตั้งและดูแลระบบบำบัดน้ำเสียรวม

– การกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลรวม

– การจัดการสิ่งแวดล้อมและมลพิษต่างๆ

– คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ

Q7: อบจ. มีอำนาจหน้าที่ด้านการคมนาคมอย่างไร?

A7: อบจ. มีอำนาจด้านการคมนาคม ดังนี้

– จัดการและดูแลสถานีขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำ

– สร้างและบำรุงรักษาทางบกและทางน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

– การขนส่งมวลชนและการวิศวกรรมจราจร

Q8: อบจ. มีอำนาจหน้าที่ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมอย่างไร?

A8: อบจ. มีอำนาจด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ดังนี้

– ส่งเสริมการท่องเที่ยว

– ส่งเสริมการกีฬา

– อนุรักษ์จารีตประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น

– จัดให้มีพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ

Q9: อบจ. มีอำนาจหน้าที่ด้านเศรษฐกิจอย่างไร?

A9: อบจ. มีอำนาจด้านเศรษฐกิจ ดังนี้

– การพาณิชย์และการส่งเสริมการลงทุน

– จัดตั้งและดูแลตลาดกลาง

– การทำกิจการพาณิชย์ทั้งดำเนินการเองหรือร่วมกับบุคคลอื่น

Q10. อบจ. มีอำนาจหน้าที่ด้านการรักษาความปลอดภัยอย่างไร?

A10: อบจ. มีอำนาจด้านความปลอดภัย ดังนี้

– การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

– จัดให้มีระบบรักษาความสงบเรียบร้อยในจังหวัด

– ประสานงานด้านความปลอดภัยกับหน่วยงานอื่น

Q11: อบจ. มีอำนาจในการออกข้อบัญญัติอย่างไร?

A11: อบจ. สามารถตราข้อบัญญัติได้ในกรณีต่อไปนี้

– เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามหน้าที่ของ อบจ.

– เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้ อบจ. ตราข้อบัญญัติ

– การดำเนินการพาณิชย์ของ อบจ.

Q12: ใครมีสิทธิเสนอร่างข้อบัญญัติ อบจ.?

A12: ผู้มีสิทธิเสนอร่างข้อบัญญัติ ได้แก่

– นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

– สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

– ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขต อบจ.

Q13. อบจ. มีอำนาจในการจัดเก็บรายได้อย่างไร?

A13: อบจ. มีอำนาจจัดเก็บรายได้จาก

– การจัดเก็บภาษี เช่น น้ำมัน ยาสูบ รถยนต์

– ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และใบอนุญาต

– รายได้จากทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่าบริการ ดอกเบี้ย

– รายได้จากเบ็ดเตล็ด

– รายได้จากทุน เช่น การขายทอดตลาด

Q14: อบจ. สามารถกู้เงินได้หรือไม่?

A14: อบจ. สามารถกู้เงินได้ในรูปแบบ

– พันธบัตรหรือเงินกู้ตามที่มีกฎหมายบัญญัติ

– เงินกู้จากกระทรวง ทบวง กรม องค์การ หรือนิติบุคคลต่างๆ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี

Q15. อบจ. มีอำนาจในการให้บริการแก่เอกชนอย่างไร?

A15: อบจ. สามารถให้บริการแก่เอกชนได้โดย

– ให้บริการแก่เอกชน ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ

– เรียกเก็บค่าบริการได้โดยตราเป็นข้อบัญญัติ

– มอบให้เอกชนดำเนินกิจการแทนได้โดยความเห็นชอบของสภาและผู้ว่าราชการจังหวัด

Q16: อบจ. มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาสังคมอย่างไร?

A16: อบจ. มีอำนาจในการพัฒนาสังคม ดังนี้

– การสังคมสงเคราะห์

– การพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส

– ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น

– ส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน

Q17. อบจ. สามารถทำกิจการนอกเขตได้หรือไม่?

A17: อบจ. สามารถจัดทำกิจการนอกเขตได้ เมื่อ

– ได้รับความยินยอมจากราชการส่วนท้องถิ่นอื่นที่เกี่ยวข้อง

– เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

Q18: อบจ. มีอำนาจในการทำธุรกิจได้หรือไม่?

A18: อบจ. สามารถดำเนินกิจการที่มีลักษณะเป็นการพาณิชย์ได้ โดย

– ต้องตราเป็นข้อบัญญัติ

– ต้องเป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

– ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น

Q19: ใครเป็นผู้กำกับดูแล อบจ.?

A19: อบจ. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ

– รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ระดับกระทรวง)

– ผู้ว่าราชการจังหวัด (ระดับจังหวัด)

Q20: อบจ. มีข้อจำกัดในการออกข้อบัญญัติอย่างไร?

A20: ข้อจำกัดในการออกข้อบัญญัติของ อบจ. มีดังนี้

– ต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย

– การกำหนดโทษต้องไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท

– ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา อบจ. และผู้ว่าราชการจังหวัด

Q21: อบจ. สามารถเก็บภาษีอะไรได้บ้าง?

A21: อบจ. สามารถจัดเก็บภาษีได้หลายประเภท ได้แก่

– ภาษีบำรุง อบจ. จากน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล

– ภาษีบำรุง อบจ. จากยาสูบ

– ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บเพิ่มตามประมวลรัษฎากร

– ค่าธรรมเนียมบำรุง อบจ. จากผู้พักในโรงแรม

Q22: อบจ. มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างไร?

A22: อบจ. มีอำนาจในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนี้

– ส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพ

– ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น

– จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

– เปิดเผยข้อมูลและการดำเนินงานให้ประชาชนตรวจสอบได้

Q23: อบจ. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการด้านตลาดอย่างไร?

A23: อบจ. มีอำนาจในการจัดการด้านตลาด ดังนี้

– จัดตั้งและดูแลตลาดกลาง

– กำกับดูแลการประกอบการค้าในตลาด

– จัดระเบียบการค้าและการจราจรบริเวณตลาด

– ดูแลด้านสุขอนามัยและความสะอาดของตลาด

Q24. อบจ. มีอำนาจหน้าที่ในการประสานงานกับหน่วยงานอื่นอย่างไร?

A24: อบจ. มีอำนาจในการประสานงาน ดังนี้

– ประสานการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด

– ประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น

– สนับสนุนหรือช่วยเหลือส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น

– ประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นเพื่อไม่ให้งานซ้ำซ้อน

Q25: อบจ. มีข้อจำกัดในการใช้จ่ายงบประมาณอย่างไร?

A25: อบจ. มีข้อจำกัดในการใช้จ่ายงบประมาณ ดังนี้

– ต้องจัดทำข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี

– ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา อบจ.

– ต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย

– ต้องมีการตรวจสอบการใช้จ่ายตามระบบการตรวจเงินแผ่นดิน

Q26: อบจ. สามารถออกข้อบัญญัติชั่วคราวได้หรือไม่?

A26: อบจ. สามารถออกข้อบัญญัติชั่วคราวได้ โดย

– ต้องเป็นกรณีฉุกเฉินที่ไม่สามารถเรียกประชุมสภาได้ทันท่วงที

– ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสามัญประจำสภา อบจ.

– ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของสภา อบจ. ในการประชุมคราวต่อไป

– หากสภาไม่อนุมัติ ข้อบัญญัติชั่วคราวนั้นเป็นอันตกไป

Q27: อบจ. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการด้านสาธารณูปโภคอย่างไร?

A27: อบจ. มีอำนาจในการจัดการสาธารณูปโภค ดังนี้

– จัดให้มีและบำรุงรักษาทางบกและทางน้ำ

– จัดระบบบำบัดน้ำเสียรวม

– จัดการขนส่งมวลชน

– พัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เชื่อมต่อระหว่างท้องถิ่น

Q28: อบจ. มีอำนาจในการจัดการรายได้อื่นๆ อย่างไร?

A28: อบจ. สามารถมีรายได้จากแหล่งอื่นๆ ได้แก่

– รายได้จากทรัพย์สินของ อบจ.

– รายได้จากสาธารณูปโภคของ อบจ.

– เงินและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้

– เงินอุดหนุนจากรัฐบาล

Q29: อบจ. มีข้อจำกัดในการดำเนินกิจการพาณิชย์อย่างไร?

A29: ข้อจำกัดในการดำเนินกิจการพาณิชย์ของ อบจ. มีดังนี้

– ต้องตราเป็นข้อบัญญัติ

– ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา อบจ.

– ต้องเป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

– ต้องไม่กระทบต่อการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน

Q30: หากรัฐมนตรีเห็นว่า อบจ. ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ จะดำเนินการอย่างไร?

A30: ในกรณีที่ อบจ. ละเลยการปฏิบัติหน้าที่

– ผู้ว่าราชการจังหวัดจะดำเนินการสอบสวนได้

– ผู้ว่าราชการจังหวัดจะตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. หรือ สตง. ดำเนินการสอบสวน

– ถ้าหากผลการสอบสวนปรากฏว่า นายก อบจ. มีพฤติการณ์เช่นนั้นจริงให้ผู้ว่าฯ เสนอให้รัฐมนตรีสั่งให้นายก อบจ. พันจากตำแหน่ง

เริ่มแล้ว! ภาคประชาชนจับตาเลือกตั้งท้องถิ่น

โดยการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมาถึงในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ ได้มีภาคประชาชนหลายส่วนได้เริ่มทำการเดินหน้ารณรงค์เกี่ยวกับการเลือกตั้งเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) พร้อมกับสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ไม่ว่าจะเป็นการ เปิดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อบจ. รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ทราบถึงข้อมูลในการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้

Wevis กลุ่มเทคโนโลยีภาคประชาชนได้เปิดตัวแคมเปญ ‘Local Election ประชาธิปไตยใกล้มือ Road to เลือกตั้ง อบจ. 2568’ ที่เป็นการรวบรวมข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง อบจ. เพื่อให้ประชาชนได้ทำความเข้าใจถึงความสำคัญและส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชน รวมไปถึงการเตรียมพร้อมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ทำความเข้าใจในระบบเลือกตั้ง สามารถติดตามได้ที่ https://wevis.info/ 

นอกจากนี้ Your Priorities ได้เปิดตัวเว็บไซต์ CEO บ้านฉัน ที่เป็นข้อมูลพื้นฐานของ นายก อบจ. แต่ละจังหวัด ที่เผยถึง ผลการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด ,งบประมาณของแต่ละจังหวัด รวมไปถึงสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นในแต่ละจังหวัด

โดยตั้งแต่วันนี้จนถึงวันเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) พร้อมกับสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 Lanner จะติดตามความเคลื่อนไหว ชำแหละข้อมูล และวิเคราะห์สถานการณ์ในพื้นที่ที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งหมด 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่ถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่ใกล้ชิดกับชีวิตประชาชนเป็นอย่างยิ่ง อย่าลืมร่วมกันติดตามไปพร้อมกันกับพวกเรา

ล้านนา World: ความหวังของคนท้องถิ่นในแม่ฮ่องสอน

เรื่อง: ภู เชียงดาว 

Summary

  • ผลสำรวจของเอแบคโพลล์ปี พ.ศ.2556 ชี้ว่าจังหวัดที่มีความสุขที่สุดในประเทศไทยคือ “แม่ฮ่องสอน” เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ยังอุดมสมบูรณ์ วิถีชีวิตของชาวบ้านที่เรียบง่าย และความปลอดภัยในทรัพย์สิน โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นอีกหนึ่งจังหวัดทางภาคเหนือที่มีความโดดเด่น ทั้งเรื่องสภาพภูมิประเทศ ความหลากหลายด้านวัฒนธรรม รวมถึงประชากรที่มาจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนอุดมไปด้วยเสน่ห์ที่ใครๆ ก็อยากเดินทางไปสัมผัส
  • ช่วงปี 2546-2565 เป็นต้นมา จังหวัดแม่ฮ่องสอน ติดอยู่อันดับ 5 จังหวัดแรกที่สัดส่วนคนจนมากที่สุดติดต่อกันเป็นเวลาเนิ่นนานถึง 19 ปีเต็มๆ! ยิ่งไปกว่านั้น “จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ยังเคยติดอันดับ 1 ของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดยาวนานถึง 9 ปีติดต่อกัน ระหว่างปี 2549-2557 โดยในปี 2550 เคยมีสัดส่วนคนจนมากที่สุดถึง 74.40% และในปี 2551-2553 หรือ 3 ปีต่อมาก็ยังคงมีสัดส่วนคนจนที่แทบไม่ต่างกันที่ 70.39% อีกด้วย 
  • “เราในฐานะคนแม่ฮ่องสอนคนหนึ่งที่มีความรักและผูกพันกับบ้านเกิด ก็อยากให้ทุกคนในบ้านเมืองนี้มีความสุข อยากให้ชาวบ้านมีรายได้ สามารถดูแลตัวเองได้  อยากให้การพัฒนาของแม่ฮ่องสอนเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ไม่อยากให้มันกระจุกที่ใดที่หนึ่ง มีการเฉลี่ยรายได้ให้ทั่วถึงทุกๆ คน รวมถึงเป็นจังหวัดที่มีการรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้ดี ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่และยั่งยืนตลอดไป”

‘แม่ฮ่องสอน’ เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ผมหลงรักและมักเดินทางไปเยือนอยู่บ่อยครั้ง      เมื่อพูดถึงแม่ฮ่องสอน หลายคนจะนึกถึงสิ่งใดมาก่อนเป็นลำดับแรก เมืองสามหมอก เมืองแห่งชาติพันธุ์ เมืองชายแดน เมืองแห่งประวัติศาสตร์ เมืองแห่งความสุข แน่นอนเหล่านี้ ล้วนเป็นเสน่ห์ของแม่ฮ่องสอน ที่หลายคนชอบไปเยือนกันบ่อยๆ เนื่องจากในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละอำเภอนั้น มีจุดเด่น มีความหลากหลาย ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป

การท่องเที่ยว เป็นจุดแข็ง จุดขาย และแหล่งรายได้หลักของแม่ฮ่องสอน ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว: Center of Tourism Research and Development สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้เห็นว่าครึ่งปีแรกของปี 2567 แม่ฮ่องสอนมีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด ประมาณ 3,113.50 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยประมาณ 2,211.37 ล้านบาท และรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประมาณ 904.15 ล้านบาท 

‘การค้าและการท่องเที่ยวชายแดน’ เสน่ห์อีกด้านของแม่ฮ่องสอน 

แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมา การค้าส่วนใหญ่ดำเนินผ่านด่านศุลกากรแม่ฮ่องสอน และด่านแม่สะเรียง สำนักงานพาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้สรุปภาพรวมการค้าชายแดนว่า ในปี 2566 การค้าชายแดนมีมูลค่ารวมประมาณ 622.38 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออก 320.92 ล้านบาท และการนำเข้า 301.46 ล้านบาท โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ คือ น้ำมันเชื้อเพลิง, เบียร์, รถแทรกเตอร์, รถยนต์ใช้แล้ว, และสินค้าอุปโภคบริโภค ในขณะสินค้านำเข้าสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นแร่ดีบุก และสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและสินค้าปศุสัตว์ ทำให้เห็นว่า ‘การค้าชายแดน’ เป็นอีกแหล่งรายได้ที่สำคัญของแม่ฮ่องสอน 

แม่ค้ารับซื้อ เส่เนส่า หรือบ่าตื๋นยาง บริเวณท่าเรือแม่สามแลบ (ที่มาภาพ องอาจ เดชา)

เช่นเดียวกับ ‘การท่องเที่ยวชายแดน’ ที่สำคัญต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ของแม่ฮ่องสอนไม่แพ้กัน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางผ่านจุดผ่านแดนถาวร เช่น ด่านบ้านน้ำเพียงดิน (ติดกับชายแดนเมียนมา) เน้นการเดินทางแบบไป-กลับและค้าขายชายแดน​ ทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกจากการท่องเที่ยวชายแดน ได้แก่ การกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านการค้าชายแดนและการจ้างงานในภาคบริการ เช่น ร้านค้า โรงแรม และการขนส่ง

แม้ว่าการท่องเที่ยวจะสร้างมูลค่ามหาศาลให้จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนแม่ฮ่องสอนทุกคนจะมีรายได้เยอะตามไปด้วย เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจ และรายได้ส่วนใหญ่ของจังหวัด ยังคงเข้าทำนอง “รวยกระจุก จนกระจาย” อยู่เหมือนเดิม ทำให้เรามองเห็นเส้นแบ่งของความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างชัดเจน

ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีสัดส่วนคนจนสูงถึง 24.64% ระหว่างปี 2546-2565 เป็นต้นมา โดยแม่ฮ่องสอนถูกจัดอยู่ใน 5 อันดับแรก ของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุด ติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 19 ปีเต็ม 

ยิ่งไปกว่านั้น แม่ฮ่องสอน ยังเคยถูกจัดอยู่ในอันดับ 1 ของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดนานถึง 9 ปีติดต่อกัน เมื่อช่วงปี 2549-2557 โดยในปี 2550 มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดถึง 74.40% และในปี 2551-2553 ก็ยังคงมีสัดส่วนคนจนอยู่ที่ 70.39% เรียกได้ว่าเป็นสัดส่วนที่แทบไม่แตกต่างกันเลย

สร้อยแก้ว คำมาลา นักเขียนและคนทำสื่อ คนแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน 

สร้อยแก้ว คำมาลา นักเขียนและคนทำสื่อ เธอเป็นคนแม่ฮ่องสอน เกิดและเติบโตที่อำเภอแม่สะเรียง เล่าให้ผมฟังอย่างว่า พอได้กลับมาทำข่าวในพื้นที่แม่ฮ่องสอน ก็เห็นถึงปัญหาที่ใหญ่ที่สุด คือการที่แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่ติดอันดับยากจนในระดับต้นๆ ของประเทศมาเป็นสิบๆ ปีเลย และยังคงติด Top 10 ของจังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศมาโดยตลอด 

“มันเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเกิดเมืองนอนของเรา ทำไมมันถึงจนซ้ำซาก  มันดิ้นกันไม่หลุดแล้วหรือ ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ ปัญหาหนี้สินครัวเรือนพุ่ง ทำให้แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศ  เมื่อเทียบสัดส่วนประชากรนะ จนหลายคนอาจจะตกใจว่า ทำไมเมืองเล็กๆ แบบนี้ถึงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง”

สร้อยแก้ว บอกอีกว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด และสิ่งที่ตามมาจากปัญหานี้ คือการที่ ‘คนจน’ ถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ทำให้คนแม่ฮ่องสอนที่ต่อให้จะรักบ้านเกิดแค่ไหน ก็ไม่อยากอยู่ที่นี่ เพราะต้องการหาลู่ทางให้หลุดพ้นจากความจน ด้วยการออกไปอยู่พื้นที่อื่น ที่มีโอกาสมากกว่านี้

“แต่เราก็คิดว่าต้องทํายังไง ให้บ้านเมืองที่มีทั้งทรัพยากรธรรมชาติแล้วก็ทรัพยากรด้านวัฒนธรรมที่ดีมากขนาดนี้ มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ มันมีโอกาสที่จะทําได้นะ เพียงแต่ยังไม่มีใครขับเคลื่อนขนาดนั้น ตอนนี้เราก็เริ่มเห็นบ้างแล้วว่ามีใครพยายามขับเคลื่อนอยู่  เราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมตรงนี้ เพราะเราทําสื่ออยู่ ก็เลย ได้ลงไปคลุกคลีในพื้นที่มากขึ้น”

‘ปาย’ เมืองสวรรค์ของนักท่องเที่ยว สร้างรายได้มหาศาล

ชัยวิชช์ สัมมาชีววัฒน์ อุปนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวของอำเภอปายตั้งแต่ปี 2565-2566 ถือว่าคึกคักมาก มีนักท่องเที่ยวโซนยุโรปและสหรัฐอเมริกาเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่มาด้วยรถโดยสารประจำทาง เส้นทางปาย-เชียงใหม่ (ไป-กลับ) วันละไม่ต่ำกว่า 30 เที่ยว รวมถึงการเช่ารถทั้งมอเตอร์ไซค์และรถตู้ 

ภาพถนนคนเดินปาย (ที่มาภาพ ถนนคนเดินปาย)

ปัจจุบันอำเภอปายมีสถานพักแรมราว 250 แห่ง จำนวนห้องพัก 3,500 ห้อง มียอดจองต่อเนื่องเฉลี่ย 80-90% มีร้านอาหารไม่ต่ำกว่า 37 แห่ง ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้ามีรายได้เพิ่มขึ้น โดยในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 1.5 ล้านคน เฉลี่ยเป็นวันละประมาณ 4,100 คน ทำให้ปายมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 4,200 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยเป็นวันละประมาณ 11.5 ล้านบาท  

ในมุมมองของคนทั่วไปนั้นมักจะมองว่า ปาย เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก สร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้ สร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับจังหวัดและประเทศ แต่ในมุมมองของคนท้องถิ่น นั้นต้องแลกกับการสูญเสียบางอย่างไปอย่างเลี่ยงไม่ได้

“เมืองปายตอนนี้เปลี่ยนไปมาก ปกติคนปายพอทำสวนทำนากันมาเหนื่อยๆ  ต้องการพักผ่อน เขาก็เข้านอนกันแต่หัวค่ำแล้ว  แต่ตอนนี้มันนอนไม่ได้ เสียงมันดัง อึกทึก นักท่องเที่ยวเขาร้องรำทำเพลงกันจนดึกดื่น”

พ่อครูใจ อินยา อดีตครูประชาบาล และยังเป็นประธานสภาวัฒนธรรม กรรมการสภาวัฒนธรรมแม่ฮี้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน คนปายดั้งเดิมในพื้นที่เล่าว่า การใช้ชีวิตของคนปายในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีตเยอะมาก จากเมืองที่สงบกลับกลายเป็นเมืองที่ถูกรบกวนจากการเข้ามาของแหล่งท่องเที่ยว จนคนในพื้นที่ก็ทยอยกันย้ายออกไปอยู่ที่อื่นแทน

“เมื่อฝรั่ง นักท่องเที่ยว นักลงทุนมาเห็นทำเลดี เขามาขอซื้อ ขอเช่า ให้ราคาดี จนตอนนี้คนปาย ต้องยอมขายที่ดินให้นายทุน คนเก่าแกต้องอพยพย้ายออกไปอยู่ข้างนอก บวกกับคนที่เขาทนเสียงดังไม่ไหว ก็พากันอพยพย้ายไปอยู่ตามเชิงเขาแทน” 

พ่อครูใจ ยังบอกอีกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับปายในตอนนี้ คือ การที่เด็กและเยาวชนในเมืองปายสามารถเข้าถึงสิ่งเย้ายวนได้ง่ายมากขึ้น เพราะการเข้ามาอย่างรวดเร็วของความเจริญ และสื่อต่างๆ ที่อาจจะไม่ได้ผ่านการกรองมากนัก ทำให้เด็กบางคนที่ยังไม่สามารถแยกแยะได้ อาจหลงไปกับสิ่งเย้ายวนเหล่านั้นได้ง่ายมากขึ้น

“ความเจริญเข้ามา ความเสื่อมก็ตาม ชาวบ้านปรับตัวกันไม่ทัน สู้กับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่างพ่อครูตอนนี้ก็แก่แล้ว จะให้คนแก่ไปเรียกร้องต่อสู้อะไรก็ไม่ได้มาก เมืองปายกับการท่องเที่ยว มันต้องค่อยเป็นค่อยไป และต้องมานั่งพูดคุยวางแผนในการจัดการกันอย่างจริงๆ จังๆ”

ด้าน สมชาย บุษกร อิหม่ามมัสยิดอัล-อิสรออฺ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้นำทางศาสนาและประวัติศาสตร์ชุมชนมุสลิมในเมืองปาย ก็เห็นตรงกันว่าผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในปาย ส่วนใหญ่ตกอยู่กับคนนอกที่เข้ามาตักตวงหาประโยชน์จากปายมากกว่าคนท้องถิ่น เพราะฉะนั้นต้องประสานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาระดมความคิด เพื่อแก้ไขปัญหาก่อน แล้วค่อยพัฒนาต่อไป 

“ทุกวันนี้คนเข้ามาขุดทอง คิดแค่เรื่องเงิน คนหลงใหลไปกับระบบทุนนิยม ขายที่ดินทำกิน แล้วสุดท้ายทำได้อย่างเดียวคือเป็นลูกจ้าง ที่นี่ค่าแรงสูง แต่ค่าครองชีพก็สูงตามไปด้วย นี่ไม่ใช่วิถีชีวิตจริงๆ ของชาวบ้าน นานๆไป ปายเสื่อมโทรมไม่ดูแลรักษาทรัพยากร เพราะทุกคนต่างหาประโยชน์อย่างไร้ขอบเขต นักลงทุนเงินหนาก็จะย้ายไปลงทุนที่อื่น ท้องถิ่นก็ไม่เหลืออะไร” 

นั่นเป็นเสียงสะท้อนจากคนเมืองปาย ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิม ที่บอกเล่าความรู้สึกให้รับรู้ว่า ปายกำลังเปลี่ยนไปอย่างเร็วและแรง ในห้วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

คนท้องถิ่น เรียนรู้ปรับตัว มีส่วนร่วม เน้นรากเหง้า ต้นทุนวัฒนธรรม 

เมื่อชีวิตยังมีความหวัง คนแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นส่วนใหญ่ ก็พยายามเรียนรู้และปรับตัว เพื่อค้นหาทางรอด และทางออกของปัญหาให้กับตัวเอง ด้วยการหันกลับมามองหารากเหง้า และนำเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นเดิมที่มีอยู่ มาพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ให้กับชุมชนของตนเอง

ครอบครัวของ แม่สว่าง- ศศิเขมณัฐ กันญณัฏฐิ์ เจ้าของร้าน ‘แม่สว่างขนมเป็งม้ง ขนมส่วยทมิน ขนมอาละหว่า อำเภอแม่สะเรียง’ ได้สืบทอดขนมพื้นบ้าน ‘เป็งม้ง ส่วยทมิน อาละหว่า’ ว่ากันว่า ขนมทั้งสามอย่างนี้มีต้นกำเนิดจากประเทศพม่า ต่อมามีการปรับปรุงสูตรเดิมจนทำให้ขนมมีลักษณะเฉพาะท้องถิ่น และแตกต่างจากขนมประเทศต้นทาง ที่สำคัญคือ ขนมทั้งสามอย่างนี้ ไม่ใช่ขนมที่หากินได้ง่ายๆ เพราะมีเอกลักษณ์เฉพาะในวิธีการทำ และมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ทำเป็น ดังนั้น ถ้าอยากกินขนมสามอย่างนี้ ก็ต้องมาที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนเท่านั้น

ทุกวัน นอกจากแม่สว่างจะขายขนมเป็งม้ง ส่วยทมิน อาละหว่า อยู่หน้าร้านแล้ว แม่สว่างยังรับออเดอร์จากหน่วยงานของภาครัฐ ไม่ว่าโรงเรียน เทศบาล ที่ว่าการอำเภอ เพื่อจะนำไปเป็นอาหารว่างสำหรับการประชุมหรือหากมีแขกบ้านเมืองมาเยือน หรือบางครั้งก็มีออเดอร์มาจากเชียงใหม่กันด้วย หากใครมีโอกาสเดินทางไปเยือนอำเภอแม่สะเรียง สามารถแวะไปอุดหนุนลิ้มลองขนม เป็งม้ง ส่วยทมิน อาละหว่ากันได้เลย ร้านตั้งอยู่ตรงสี่แยกเทศบาลเมืองแม่สะเรียง หรือติดตามได้ที่เพจ แม่สว่างขนมเป็งม้ง ขนมส่วยทมิน ขนมอาละหว่า

ล่องเรือสาละวิน ชมทะเลหมอกสองแผ่นดินที่กลอเซโล มิติใหม่ท่องเที่ยวชายแดน สร้างเศรษฐกิจชุมชนให้ยั่งยืน

พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน (ที่มา องอาจ เดชา)

พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เล่าว่า หลายปีที่ผ่านมา รัฐได้ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และการท่องเที่ยวชายแดน เพราะมองว่าเป็นจุดเด่น และจุดแข็งของท้องถิ่น ไม่ว่าจะในเรื่องของการล่องเรือชมความสวยงามของแม่น้ำสาละวินที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทั้งสองฟากฝั่งของแม่น้ำไปจนถึงการค้าชายแดนที่แม่สามแลบ 

แม่น้ำสาละวิน (ที่มาภาพ องอาจ เดชา)

“‘แม่น้ำสาละวิน’ เป็นเหมือนตัวเชื่อมให้เกิดเศรษฐกิจฐานรากของคนสองฝั่งชายแดน เพราะผู้คนที่นี่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งสาละวิน เขาก็จะมีเอกลักษณ์ของความเป็นอยู่ ก็จะเป็นจุดเด่นที่นำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และดึงดูดความสนใจของคนที่อยากมาเที่ยวชมบรรยากาศความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติกันมากขึ้น”

นอกจากนั้น แม่สามแลบ ยังเป็น ‘จุดผ่อนปรนการค้าชายแดน’ ด้วย ถ้าพูดถึงการเดินทางสัญจรจากในตัวเมืองมาถึงจุดท่าเรือแม่สามแลบ ถือว่าเป็นจุดที่ใกล้ที่สุดในของพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน การเดินทางก็สะดวก ปลอดภัย จึงทําให้การท่องเที่ยวในแถบนี้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

“กลอเซโล ถือว่าเป็นจุดชมวิวทะเลหมอกที่งดงามแห่งใหม่ของอำเภอสบเมย ที่ในแต่ละปี มีนักท่องเที่ยวเดินมาพักกางเต็นท์ ชมความงามของทะเลหมอกเป็นจำนวนมาก ก็เกิดการให้บริการเช่ากางเต็นท์ จำหน่ายของที่ระลึก การรับจ้างขนส่งนักท่องเที่ยว จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน และชุมชนท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่ง”

‘กลอเซโล’ คืออีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของแม่ฮ่องสอน ที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติพากันไปเยือนไม่ขาดสาย โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว และพงษ์พิพัฒน์ ก็มองว่า มิติท่องเที่ยวชายแดนนี้จะช่วยหนุนเสริมในเรื่องการสร้างเศรษฐกิจชุมชนได้ เพราะทุกๆ ปี จะมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวที่นี่เยอะมาก ส่วนใหญ่จะอยากมาสัมผัสพื้นที่ใหม่ๆ ที่มีความอุดมเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ 

ห้วยปูแกง ท่องเที่ยวชายแดน ชาติพันธุ์กะยัน  เน้นวิถีชุมชน ประเพณี วัฒนธรรมและโฮมสเตย์

บ้านห้วยปูแกง (ที่มาภาพ สร้อยแก้ว คำมาลา)

บ้านห้วยปูแกง หมู่บ้านชาวกะยันหรือที่หลายคนเรียกกันในชื่อ กะเหรี่ยงคอยาว เป็นชุมชนที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ เป็นส่วนหนึ่งการท่องเที่ยวชายแดน ที่เน้นวิถีชุมชน ประเพณี และวัฒนธรรมชองชาติพันธุ์กะยัน

สร้อยแก้ว คำมาลา เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ชาวกะยันพัฒนาชุมชนจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เธอเล่าว่า ความน่าสนใจของชุมชนนี้ คือกะเหรี่ยงคอยาว ที่กลายเป็นภาพจำของพื้นที่แห่งนี้ จนคนเข้าใจไปว่าพี่น้องชาติพันธุ์กลุ่มนี้ มีรากเหง้าดั้งเดิมอยู่ที่นี่  แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตามประวัติศาสตร์  พี่น้องชาวกะยัน มีรากเหง้าอยู่ที่รัฐกะเรนนีของเมียนมา แต่อพยพมาอยู่แม่ฮ่องสอน เพราะปัญหาจากสงครามการเมือง

“พวกเราทุกคนล้วนแต่มีบรรพบุรุษที่ย้ายถิ่นฐานมาตลอดอยู่แล้ว พี่น้องห้วยปูแกงส่วนใหญ่ยังไม่มีบัตรประชาชน ที่ทํากินก็มีไม่เยอะ  แล้วพื้นฐานก็ยากจน เลยต้องอาศัยรายได้จากการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว  ซึ่งมันก็ไม่พอ  จนมาเจอโครงการแผนสื่อศิลปะวัฒนธรรมของ สสส. เขาก็มาร่วมสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม ให้ชาวบ้านที่นี่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว  ก็คือทำควบคู่กันไปทั้งการท่องเที่ยวชุมชนด้วย  แล้วก็สร้างรายได้จากสินค้าผลิตภัณฑ์ของเขาไปด้วย”

สร้อยแก้ว เล่าอีกว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะจดจำชาวกะยันว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีผู้หญิงสวมห่วงทองเหลืองใส่คอยาวๆ  โดยที่ไม่ค่อยรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีหรือวัฒนธรรมของเขามากนัก เพราะจริงๆ แล้วชาวกระยันมีวัฒนธรรมด้านดนตรีที่ไพเราะมาก นอกจากนั้นยังมีอาหารที่เป็นเอกลักษณ์อย่าง น้ำพริกกะยัน ที่ใครได้ทานแล้วก็มักจะติดใจ

สร้อยแก้ว ย้ำว่า แม่ฮ่องสอนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงมาก  แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ก็จะมีเอกลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรม การแต่งกาย และอุปนิสัยที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกันไป แต่สิ่งสําคัญที่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์เหมือนกันหมดเลยก็คือ ทุกคนค่อนข้างจิตใจดี  มีอัธยาศัยไมตรีดี คนแม่ฮ่องสอนค่อนข้างยิ้มแย้มแล้วก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ 

“เราก็อยากเชิญชวนทุกคนมาเที่ยวแม่ฮ่องสอนกันเยอะๆ เพราะว่าแม่ฮ่องสอนนั้นน่าเที่ยวทุกฤดูเลย อยากให้ทุกคนได้ลองเที่ยวชมชุมชนต่างๆ ในแต่ละอำเภอของแม่ฮ่องสอน เพราะมันสามารถช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชนได้ด้วย”

สินค้าผลิตภัณฑ์ ของฝากจากชาวกะยัน (ที่มาภาพ สร้อยแก้ว คำมาลา)

ทางออกของท้องถิ่น ถึงความหวังของคนแม่ฮ่องสอน

ที่มาภาพ เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน

ด้าน ชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็ได้เน้นการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาอย่างต่อเนื่อง  และยังได้แสดงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีแนวทางสำคัญด้านการพัฒนาคนและสังคม โดยจะเน้นยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล เช่น โครงการ “ถนนดิจิทัล” ที่ช่วยให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการศึกษาออนไลน์ จัดตั้งเวทีสานฝันเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาทักษะ

ในด้านการสร้างรายได้และพัฒนาทางเศรษฐกิจ ก็จะสนับสนุนอาชีพและการสร้างรายได้ในชุมชน เช่น การเกษตรเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวชุมชน และงานหัตถกรรมท้องถิ่น จัดตั้งโครงการ “โคบาลคืนถิ่น” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมไปถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยเน้นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น ปาย ปางอุ๋ง และแม่สะเรียง เป็นต้น

ในเรื่องการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ เพื่อวางแผนแก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นระบบ โดยใช้ฐานข้อมูล “TPMAP” (Thai People Map and Analytics Platform) เพื่อติดตามและวางแผนแก้ปัญหาความยากจนอย่างแม่นยำ

ที่มาภาพ เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน

รวมไปถึงส่งเสริมความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำ บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม รวมไปถึงการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้รับการสนับสนุนจากนโยบายระดับชาติ เช่น การเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการพื้นฐาน และเน้นการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจ สนับสนุนการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ด้วยแนวทางเหล่านี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เน้นย้ำว่า มีเป้าหมายในการลดอัตราความยากจนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว

ซึ่งเราก็หวังว่า ในอนาคตของแม่ฮ่องสอน จะเป็นไปเหมือนที่คนคาดหวัง 

เหมือนกับ สร้อยแก้ว คำมาลา ที่บอกย้ำเอาไว้อย่างหนักแน่นและจริงจัง…

เราในฐานะคนแม่ฮ่องสอนคนหนึ่งที่มีความรักและผูกพันกับบ้านเกิด ก็อยากให้ทุกคนในบ้านเมืองนี้มีความสุข อยากให้ชาวบ้านมีรายได้ สามารถดูแลตัวเองได้  อยากให้การพัฒนาของแม่ฮ่องสอนเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ไม่อยากให้มันกระจุกที่ใดที่หนึ่ง มีการเฉลี่ยรายได้ให้ทั่วถึงทุกๆ คน รวมถึงเป็นจังหวัดที่มีการรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้ดี ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่และยั่งยืนตลอดไป”

 ที่มาภาพ เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน

ละลานล้านนา: ย้อนรอยงานฤดูหนาวและสุนทรียภาพแห่งความรื่นเริงยามค่ำคืนในหน้าหนาวของชาวเชียงใหม่

เรื่อง: ปวีณา หมู่อุบล

เพียงวูบหนึ่งของลมหนาวช่วงเดือนธันวา งานกิจกรรมหรืออีเว้นท์ต่างๆ ก็บานสะพรั่งไปทั่วเชียงใหม่ ชนิดที่ไม่ว่าจะหันไปทางใดก็สามารถพบเจองานกิจกรรมรื่นเริง ทั้งในตอนกลางวันและยามค่ำคืน โดยแต่ละงานก็จะมีรูปแบบและเนื้อหาแตกต่างกันออกไป แต่งานที่ดูเหมือนจะเป็นที่นิยมมากทั้งในหมู่ชาวเชียงใหม่และผู้มาเยือนก็จะคงเป็นงานคราฟท์

‘งานคราฟท์’ ในที่นี้หมายถึงงานแสดงผลงาน (สินค้า) ศิลปะที่ได้ผ่านการออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน โดยมักมีแรงบันดาลใจหรือเรื่องราวเป็นฉากหลังการออกแบบ ซึ่งงานคราฟท์นี้อาจจะมีรูปแบบเป็นเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ ไอเทมกระจุกกระจิกต่างๆ ตลอดไปจนถึงอาหาร กาแฟ หรือเครื่องดื่มบางประเภท เช่น เบียร์ และโคล่า

ปัจจุบันงานคราฟท์ในหน้าหนาวกลายเป็นภาพจำอย่างหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ และอาจถึงขั้นกลายเป็น a must สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะต้องมาเยือนเชียงใหม่ในช่วงหน้าหนาว โดยเฉพาะในบริบทที่ความคราฟท์ได้ขยับขยายออกไปอย่างกว้างขวางมีการก่อตั้งพื้นที่ทางกายภาพแบบคราฟท์ๆ ตามย่านต่างๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ ทั้งพื้นที่ถาวรและแบบชั่วคราว หากแต่พื้นที่ที่นิยมกันมาก เห็นจะเป็นพื้นที่งานคราฟท์แบบชั่วคราวในลักษณะอย่างตลาดนัด งานมหกรรม หรืองานเทศกาล ที่จัดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ

แต่รู้หรือไม่ว่างานรื่นเริงหรือเทศกาลในหน้าหนาวที่มีบุคลิกภาพแบบคราฟท์ๆ จนได้ชื่อว่าเป็นสุนทรียภาพของเชียงใหม่อย่างเช่นในปัจจุบันนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากงานรื่นเริงหนึ่งที่ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะกว่า 90 ปี อย่าง ‘งานฤดูหนาว’ นั่นเอง

งานฤดูหนาวเชียงใหม่: งานคราฟท์ที่มาก่อนกาล

งานฤดูหนาวเป็นงานรื่นเริงประจำปีของเชียงใหม่ มักจัดขึ้นในช่วงระหว่างปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่เชียงใหม่มีอากาศเย็น โดยกิจกรรมหลักในงานฤดูหนาว ได้แก่ การออกร้านแสดงผลงานและปศุสัตว์ของหน่วยงานราชการและเอกชน การออกร้านขายอาหารและครื่องดื่มของบรรดาพ่อค้าแม่ขาย การแสดงมหรสพและดนตรี การละเล่นต่างๆ  เช่น ปาลูกโป่ง บ้านผีสิง รถไต่ถัง ชิงช้า และม้าหมุน และกิจกรรมสำคัญที่เป็นเอกลักษ์ของงานคือ การประกวดนางสาวเชียงใหม่

งานฤดูหนาวจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อราวปี 2473 – 2477 และยังคงมีจัดอยู่จนกระทั่งในปัจจุบัน เพียงแต่ความนิยมอาจลดลงจากที่เคย เพราะปัจจุบันมีงานรื่นเริงอื่นๆ ที่ดึงดูดใจผู้คนได้มากกว่า โดยเฉพาะงานรื่นเริงแบบคราฟท์ๆ แต่ถึงอย่างนั้น หากลองพิจารณารูปแบบกิจกรรมของงานฤดูหนาวดู จะเห็นได้ว่างานฤดูหนาวโดยตัวของมันเองก็มีลักษณะแบบคราฟท์ๆ ผสมอยู่ โดยเฉพาะในส่วนการจัดแสดงพืชผลการเกษตร ปศุสัตว์ และงานศิลปหัตถกรรม ซึ่งหากใครเคยไปงานฤดูหนาว ก็จะเห็นว่าทั้งหน่วยงานราชการและเอกชนต่างคัดสรรเอามาแต่ผลงานที่ผ่านการผลิตอย่างพิถีพิถัน ประณีต และสร้างสรรค์ มาจัดแสดงประชันกันอย่างไม่มีใครยอมใคร ดังนั้นจึงไม่ผิดนักถ้าจะถือว่า งานฤดูหนาว คือ งานคราฟท์ที่มาก่อนกาล

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะกลายเป็นงานรื่นเริงประจำปีที่จัดขึ้นในช่วงหน้าหนาว บริเวณด้านหลังศาลากลางจังหวัดอย่างทุกวันนี้ งานฤดูหนาวได้มีประวัติศาสตร์แล้วเรื่องราวในตัวของมันเอง ด้วยเพราะได้เดินทางผ่านความเปลี่ยนแปลงต่างๆ นานัปประการในช่วงระยะเวลากว่า 90 ปี โดยที่ความเปลี่ยนแปลงสำคัญประการหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 

งานแสดงพืชผล: ต้นเก๊าความรื่นเริงในงานฤดูหนาวของชาวเชียงใหม่

จากการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับงานรื่นเริงในหน้าหนาวของชาวเชียงใหม่ พบว่าเมื่อราวปี 2473 มีงานรื่นเริงหนึ่งที่มักจัดขึ้นในช่วงหน้าหนาว คือ ‘งานแสดงพืชผล’ ซึ่งเป็นงานประกวดผลผลิตต่าง ๆ ของครูและนักเรียนจากโรงเรียนฝึกหัดครูช้างเผือก (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่) โดยกิจกรรมหลักในงานคือ การแสดงผลงานของครูและนักเรียนจากโรงเรียนดังกล่าว

ภายหลังงานแสดงพืชผลขยายใหญ่ขึ้น เนื่องจากมีการเชิญชวนชาวไร่ ชาวนาจากอำเภอต่างๆ ให้นำพืชผักผลไม้และปศุสัตว์มาเข้าร่วมประกวด พร้อมกันนั้นยังได้มีชุดการแสดงของนักเรียนหญิงจากโรงเรียนต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ เช่น โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย โรงเรียนดาราวิทยาลัย และโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ มาร่วมด้วย

กระทั่งในปี 2474 พระยาอนุบาลพายัพกิจ (ปุ่น อาสนจินดา) ปลัดมณฑลพายัพ ได้ปรับให้งานแสดงพืชผลกลายเป็นงานรื่นเริงประจำปีของชาวเชียงใหม่ โดยกำหนดให้จัดงานขึ้นในช่วงหน้าหนาวตามเดิมแต่เปลี่ยนชื่องานใหม่ โดยให้ชื่อว่า ‘งานฤดูหนาว’

พระยาอนุบาลพายัพกิจ (ปุ่น อาสนจินดา) ปลัดมณฑลพายัพช่วงก่อน 2475

งานฤดูหนาวในระยะแรกมีกิจกรรมหลักๆ ได้แก่ การออกร้านของหน่วยงานรัฐและเอกชน การแสดงผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ การประกวดศิลปหัตกรรมของนักเรียน ในบางปีก็จะมีการแสดงมหรสพ เช่น การแสดงละครญี่ปุ่น และการละเล่นต่างๆ อาทิ รถไต่ถัง  การฉายภาพยนตร์ และการชกมวย 

ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้งานฤดูหนาวเป็นที่นิยมมาก คือ บัตรผ่านประตู ในยุคนั้นงานฤดูหนาวจะขายบัตรเข้างาน ซึ่งในบัตรจะมีหมายเลขกำกับเพื่อใช้ในการออกรางวัล ดังนั้นจึงมีผู้สนใจซื้อบัตรเข้างานฤดูหนาวเป็นจำนวนมาก แม้แต่กรรมการผู้จัดงานที่สามารถเข้าได้ฟรีต่างก็พากันซื้อบัตรผ่านเพื่อร่วมลุ้นของรางวัลด้วย ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าในปี 2480 มีการจำหน่ายบัตรผ่านประตูเข้างานฤดูหนาวใบละ 10 สตางค์ และด้วยความนิยมทำให้สามารถขายบัตรได้เป็นเงินจำนวนกว่า 80,000 บาท[1] 

ภาพหอแสดงสินค้าในงานฤดูหนาว ปี 2480 ที่มา บุญเสริม สาตราภัย
การออกร้านของโรงงานสุรา ในงานฤดูหนาว ปี 2480 ที่มา บุญเสริม สาตราภัย
การออกร้านของบริษัทรถยนต์ ในงานฤดูหนาว ปี 2480 ที่มา บุญเสริม สาตราภัย

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2477 เป็นต้นมา งานฤดูหนาวได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมอีกครั้ง โดยได้เพิ่มงานกิจกรรมสำคัญที่ทุกคนต่างเฝ้ารอและถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของงานฤดูหนาวมาจนปัจจุบัน นั่นคือ การประกวดสาวงามประจำร้านค้า ที่ต่อมารู้จักกันในนาม ‘การประกวดนางสาวเชียงใหม่’ 

และกิจกรรมการประกวดสาวงามนี้เองที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่างานฤดูหนาวของเชียงใหม่สัมพันธ์กับบริบททางการเมืองและสังคมช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยเฉพาะการที่รัฐบาลคณะราษฎรได้มีจัดให้งานรื่นเริงเพื่อการประชาสัมพันธ์และสื่อสารความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบการปกครองใหม่ขึ้น ในชื่อว่า ‘งานฉลองรัฐธรรมนูญ’ และการจัดให้มีการประกวดสาวงามในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2477 โดยใช้การประกวดชื่อว่า ‘นางสาวสยาม’ 

งานฉลองรัฐธรรมนูญและนางสาวสยาม กับ งานฤดูหนาวและนางสาวเชียงใหม่ 

งานฉลองรัฐธรรมนูญ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 10 ธันวาคม 2475 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ นับเป็นงานรื่นเริงขนาดใหญ่ของราษฎรที่จัดต่อเนื่องกันเป็นเวลานานหลายปี กระทั่งลดบทบาทอย่างมากในช่วงทศวรรษปี 2490 เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงความหมายของงานให้กลับไปสัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์ ดังจะเห็นได้จากชื่องานฉลองรัฐธรรมนูญในปี 2490 ที่มีชื่อว่า ‘โครงการงานสมโภชน์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและฉลองรัฐธรรมนูญ 2490’ และหลังจากนั้นเพียง 3 ปี ก็ไม่มีงานฉลองรัฐธรรมนูญในกรุงเทพฯ อีกต่อไป

 ภาพบรรยากาศงานรัฐธรรมนูญครั้งแรก 10 ธันวาคม 2475 ที่มา มูลนิธิพระยาพหลพลพยุหเสนา และท่านผู้หญิงบุญหลง
ภาพทางเข้าลานพระราชวังดุสิตในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2483 ที่มา เฟซบุ๊ก ภาพถ่าย “ศรีจามร”

งานฉลองรัฐธรรมนูญถือเป็นงานรื่นเริงแบบใหม่ในยุคนั้น และได้มีอิทธิพลต่อการจัดงานรื่นเริงตามจังหวัดต่าง ๆ ในแง่ของรูปแบบกิจกรรมภายในงาน โดยเฉพาะภายหลังจากที่รัฐบาลคณะราษฎรได้สร้างรัฐธรรมนูญฉบับจำลองขึ้น แล้วจัดส่งไปประจำไว้ตามแต่ละจังหวัด จำนวน 69 จังหวัด ตามที่ ‘จำรัส มหาวงศ์นันทน์’ ผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน เสนอว่าเพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความมั่นคงอยู่ได้ รัฐบาลควรให้ผู้แทนราษฎรแต่ละคนอัญเชิญรัฐธรรมนูญไปสู่จังหวัดของตนเอง 

การส่งรัฐธรรมนูญฉบับจำลองไปให้แต่ละจังหวัด นำมาซึ่งงานฉลองรัฐธรรมนูญขึ้นในพื้นที่นอกกรุงเทพฯ โดยเป็นการจัดงานที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับงานฉลองรัฐธรรมนูญในกรุงเทพฯ แต่ได้ประยุกต์เข้ากับความเป็นท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ เช่น ในพื้นที่ภาคอีสานใช้กิจกรรมประกวดกลอนลำด้วยภาษาถิ่นในการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการ หรือในภาคใต้ใช้การแสดงละครมโนราห์ในการนำเสนอเนื้อหาดังกล่าว 

ในกรณีของเชียงใหม่ พบว่าไม่ค่อยปรากฎข้อมูลเกี่ยวกับการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญมากนัก หากแต่มีข้อมูลปรากฏว่าในช่วงปี 2477 ได้มีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมบางอย่างในงานฤดูหนาวให้สอดคล้องกับงานฉลองรัฐธรรมนูญในกรุงเทพฯ คือ มีการเปลี่ยนชื่อการประกวดสาวงามภายในงานฤดูหนาว จากเดิมคือ ‘สาวงามประจำร้าน’ เป็น ‘นางสาวเชียงใหม่’

การประกวดสาวงามในรื่นเริงช่วงฤดูหนาวของเชียงใหม่สามารถย้อนไปได้ไกลถึงช่วงปี 2473 ซึ่งในยุคนั้นเป็นการประกวดสาวงามประจำร้าน อันหมายถึงร้านขายสินค้าต่าง ๆ ภายในงาน ขณะที่การประกวดนางสาวเชียงใหม่มีขึ้นครั้งแรกในงานฤดูหนาว ปี 2477 เป็นการประกวดเพียงวันเดียว และผู้ชนะการประกวดในปีแรกๆ จะได้รับรางวัลเป็นเงินสด สายสะพายประจำตำแหน่ง ขันน้ำ และพานรอง ต่อมาในปี 2477 การประกวดดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อจาก ‘สาวงามประจำร้าน’ เป็น ‘นางสาวเชียงใหม่’ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการประกวดนางสาวสยามในการงานฉลองรัฐธรรมนูญที่กรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏเหตุผลที่แน่ชัดว่าเหตุใดจึงการเปลี่ยนชื่อการประกวดดังกล่าว หากแต่ก็สะท้อนได้ว่าเป็นอิทธิพลมาจากการประกวดนางสาวสยามในงานฉลองรัฐธรรมนูญนั่นเอง

การประกวดนางสาวเชียงใหม่ภายในงานฤดูหนาว ปี 2508  จากภาพนำโดย อาภัสรา หงสกุล นางสาวไทยปี 2508  และขบวนผู้ชนะการประกวดนางสาวเชียงใหม่ตามลำดับ  ที่มา บุญเสริม สาตราภัย
อาภัสรา หงสกุล นางสาวไทยปี 2508 สวมสายสะพายให้แก่สาวงามผู้ชนะการประกวด ในงานฤดูหนาว ปี 2508 ที่มา: บุญเสริม สาตราภัย

ปัจจุบันงานฤดูหนาวเชียงใหม่ลดความนิยมลงไปมากด้วยเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เนื่องจากมีงานรื่นเริงอื่นๆ ปรากฏขึ้นเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเวทีประกวดนางงามก็คลายมนต์เสน่ห์ลงไป แต่ถึงอย่างนั้นก็เชื่อว่างานงานคราฟท์ที่มาก่อนกาลนี้ ยังจะคงเป็นหนึ่งในตัวเลือกของใครอีกหลายคนที่ต้องการสัมผัสบรรยากาศงานรื่นเริงยามค่ำคืนท่ามกลางอากาศหนาวช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นมกราคมของเชียงใหม่

อ้างอิง

[1] วีระยุทธ ไตรสูงเนิน. งานฤดูหนาวเชียงใหม่ ดอกไม้ ลมหนาว สาวงาม. กรมศิลปากร. ออนไลน์. เข้าถึงได้ที่ https://www.finearts.go.th/chiangmaiarchives/view/ 

เกษราภรณ์ กุณรักษ์. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับจำลอง. กรมศิลปากร. ออนไลน์. เข้าถึงได้ที่  https://www.finearts.go.th/chiangmaiarchives/view/30194 

ศรัญญู เทพสงเคราะห์. งานรื่นเริงของพลเมืองในระบอบใหม่ เพื่อชาติและรัฐธรรมนูญ. สถาบันปรีดี พนมยงค์. ออนไลน. เข้าถึงได้ที่ https://pridi.or.th/th/content/2022/07/1164 

The Capital of Craft เสน่ห์ Art and Craft เมืองเชียงใหม่. Qoqoon. ออนไลน์. เข้าถึงได้ที่ https://qoqoon.media/art-lifestyle/the-capital-of-craft/  

‘ห้วยซ้อวิทยาคมฯ’ ห้องเรียน 2 ระบบ แก้เด็กหลุดจากระบบด้วยการศึกษาที่ยืดหยุ่น

เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว

ภาพ: ห้องเรียนข้ามขอบ

โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก โรงเรียนประจำตำบล ตั้งอยู่ในอำเภอเชียงของ ห่างจากอำเภอเมืองเชียงราย 90 กิโลเมตร มีนักเรียนทั้งหมด 674 คน ที่มีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรมและความสนใจ แต่ปัญหาทางเศรษฐกิจก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ในพื้นที่ซึ่งส่งผลกระทบกับนักเรียนด้วยเช่นกัน ความยากจนเรื้อรังของนักเรียนหลายครอบครัวต้องช่วยครอบครัวหารายได้มาจุนเจือ ทั้งการรับจ้างในภาคการเกษตร รวมถึงการรับจ้างทั่วไป

เงื่อนไขนี้เอง ทำให้นักเรียนหลายคนไม่สามารถเข้าเรียนในรูปแบบปกติได้ แต่ความสำคัญของการศึกษาที่ทำหน้าที่ขยับคุณภาพชีวิตที่ดียังคงจำเป็น โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ จึงพัฒนาหลักสูตร ‘ห้องเรียน 2 ระบบ’ เมื่อปี 2564 ซึ่งมีที่มาที่ไปจากการสังเกตของ ‘หทัยชนก ถาแหล่ง’ ครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์ ในเวลานั้น เธอเป็นที่ปรึกษานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เห็นว่านักเรียนในชั้นคนหนึ่งขาดเรียนบ่อย เมื่อสืบสาวจึงพบว่าที่หายไปคือต้องไปหารายได้มาจุนเจือครอบครัว

“เขาต้องไปช่วยพ่อกรีดยางตอนกลางคืน พอตอนเช้าก็ไม่สามารถเรียนได้”

หทัยชนก ถาแหล่ง ครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์ ภาพ: ห้องเรียนข้ามขอบ

เหตุนี้เอง จึงได้มีนัดพูดคุยกับผู้ปกครองและตัวของนักเรียน เพื่อหาทางออกร่วมกันจนเกิดเป็นไอเดียให้นักเรียนคนดังกล่าวอัดคลิปวิดีโอในแต่ละวัน/แต่ละช่วง ที่ทำงาน เพื่อนำไปถอดบทเรียนด้วยวิธีการเล่ากระบวนการทำงานว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างในช่วงท้ายของเทอม เพื่อเทียบประสบการณ์ และตัดเกรดให้เด็กคนดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำห้องเรียน 2 ระบบ

ห้องเรียน 2 ระบบ คือ ห้องเรียนระบบที่ 1 คือ การเรียนการสอนตามปกติ ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ ส่วนห้องเรียนระบบที่ 2 ที่โรงเรียนกำลังพัฒนาหลักสูตรอยู่นั้นเป็นการเรียนการสอนแบบเน้นกิจกรรม หาความรู้นอกห้องเรียน ไม่ต้องเข้าเรียนทุกวัน และนักเรียนที่อยู่ในหลักสูตรนี้สามารถทำงานไปด้วยระหว่างเรียน โดยสามารถนำการทำงานไปเทียบกับประสบการณ์และตัดเกรด ซึ่งใน 1 ภาคเรียนก็จะมีการประเมินผลโดยครูที่ปรึกษาในช่วง ต้นเทอม กลางเทอม และท้ายเทอม

ภาพ: ห้องเรียนข้ามขอบ

ซึ่งพอเริ่มทดลองจากนักเรียนหนึ่งคน ภายหลังกลับพบว่านักเรียนหลายคนที่เริ่มหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งมีเหตุผลคล้ายคลึงกัน และยังค้นพบว่านอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ นักเรียนหลายคนก็มองว่าการเรียนระบบปกติไม่ตอบโจทย์ ทำให้ขาดแรงจูงใจ ส่งผลให้ไม่สามารถจดจ่อกับการเรียน จนต้องออกจากการเรียน

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ได้นำข้อมูลนักเรียนรายบุคคลในช่วงอายุ 3-18 ปี ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในปีการศึกษา 2566 จำนวน 12,200,105 คน มาวิเคราะห์กับข้อมูลรายบุคคลซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่รวบรวมจากหน่วยงานผู้จัดการศึกษาทุกสังกัด รวม 21 สังกัด จำนวน 11,174,591 คน พบว่ามีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3 – 18 ปี ที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1,025,514 คน หรือร้อยละ 8.41 ในจำนวนนี้อยู่ในช่วงวัยการศึกษาภาคบังคับจำนวนทั้งสิ้น 394,039 คน และมีเด็กและเยาวชนเลข 0 หรือ ไม่มีสถานะทางทะเบียน จำนวน 94,244 คน โดยในจังหวัดเชียงรายมีเด็กหลุดออกนอกระบบถึง 24,081 คน มากเป็นอันดับ 9 ของประเทศ

ด้วยปัญหาและปัจจัยอันหลากหลายและสลับซับซ้อนที่ทำให้เด็กหลุดออกนอกระบบจำนวนมากเช่นนี้ โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ จึงเริ่มพัฒนาหลักสูตรการเรียน 2 ระบบ ให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น มีการแต่งตั้งครูที่ปรึกษาในการติดตามการเรียน มีการออกแบบห้องเรียนออนไลน์ รวมไปถึงการออกแบบแบบการประเมินผลเป็น 3 ครั้ง แบ่งเป็นในช่วงต้นเทอมจะเป็นการชี้แจงแนวทางการประเมินผล ในช่วงกลางเทอมจะเป็นการติดตามภาระงานและชี้แจงงานที่จะต้องส่งในช่วงปลายภาคเรียน และในช่วงปลายภาคเรียนก็เป็นการนัดหมายเพื่อประเมินผลการเรียนรู้นอกห้องเรียน

ซิน สิทธา สุริยะคำ ภาพ: ห้องเรียนข้ามขอบ นักเรียนชั้นปีที่ 5 โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ ในระบบที่ 2 ภาพ: ห้องเรียนข้ามขอบ

“สามารถแบ่งเวลา ในการทำงานและการเรียนได้” เสียงของ ซิน สิทธา สุริยะคำ นักเรียนชั้นปีที่ 5 โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ ในห้องเรียน ระบบที่ 2  เขาเคยเรียนอยู่ในระบบ 1 ก่อนจะออกจากการเรียนเพื่อไปทำงานตอนอายุ 15 ปี และกลับมาเรียนอีกครั้งตอนอายุ 18 ในระบบ 2

ปัจจุบันห้องเรียน 2 ระบบ ยังอยู่ในขั้นตอนของการทดลองพัฒนาและปรับปรุงอีกมากเพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการของเด็กรวมไปถึงมาตรฐานของการศึกษา ด้วยเหตุนี้เอง ทางโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ จึงได้มีการทำงานร่วมกันกับโครงการห้องเรียนข้ามขอบ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เข้ามาทำงานในการพัฒนาศักยภาพของครูในห้องเรียน 2 ระบบ รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาอีกหนึ่งข้อท้าทายคือนักเรียนหลายคนมีปัญหาในการอ่านและการเขียนที่เป็นข้อจำกัดในการเรียนรูh ซึ่งปัจจุบันโครงการยังคงอยู่ขั้นตอนของการดำเนินโครงการ

นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการทดลองการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่นในการพยายามที่จะแก้ไขปัญหาของเด็กที่หลุดออกนอกระบบภายใต้ข้อจำกัดที่มีเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นการตอกย้ำว่าห้องเรียนรูปแบบเดียวที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอาจจะไม่ตอบโจทย์กับปัญหาที่หลากหลายของเด็ก เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้และหาประสบการณ์ที่กว้างมากกว่าแค่ในห้องเรียน

ภาพ: ห้องเรียนข้ามขอบ

ชายแดนโฟกัส – สรุปสถานการณ์ทางสังคมรอบชายแดน ธันวาคม 2567

เมียนมา

เมียนมาและไทยเตรียมเจรจาเกี่ยวกับฐานทัพกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ที่มีข้อพิพาทตามแนวชายแดน

ที่มาภาพ : RAF

ตามรายงานจากสื่อ RFA ระบุว่า กองทัพและรัฐบาลเมียนมาเตรียมเจรจากับรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการตั้งฐานทัพกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) หรือ กองทัพว้าแดง ที่ตั้งอยู่ตามแนวชายแดนระหว่างเมียนมาและไทย ซึ่งไทยอ้างว่า 9 ฐานทัพของกลุ่มนี้ตั้งอยู่ในอาณาเขตของไทยและต้องการให้ยกเลิกการตั้งฐานดังกล่าว

กลุ่ม UWSA ซึ่งมีอำนาจควบคุมพื้นที่กึ่งปกครองตนเองในรัฐฉาน รวมถึงพื้นที่ชายแดนกับไทย ได้ปฏิเสธคำขาดของไทยให้ถอนตัวจากฐานทัพในวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเรื่องนี้ควรจะได้รับการเจรจาระดับรัฐบาลและยืนยันว่า กองทัพไทยไม่ใช่ศัตรูของพวกเขา

การเผชิญหน้าครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงระหว่าง UWSA ที่มีอำนาจมากที่สุดในเมียนมาและกองทัพไทย โดยเฉพาะในประเด็นการเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด ซึ่งกองทัพสหรัฐว้าถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในธุรกิจยาเสพติดทั้งฝิ่นและเฮโรอีน รวมถึงการผลิตยาเมทแอมเฟตามีนจำนวนมากในช่วงหลังๆ

กลุ่ม UWSA มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนและได้ทำข้อตกลงหยุดยิงกับกองทัพเมียนมาในปี 1989 แลกกับการได้รับการปกครองพื้นที่ตนเองที่อยู่ใกล้กับชายแดนจีนและไทย แต่ยังไม่เคยเข้าร่วมในการต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาหลังการรัฐประหารในปี 2021 การเจรจาระหว่างฝ่ายเมียนมาและไทยจะมุ่งเน้นไปที่ปัญหาชายแดนและการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดข้ามชายแดน โดยยังไม่มีการประกาศวันที่แน่ชัดสำหรับการเจรจานี้

ที่มา : RFA,17/12/2024

ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเรียกร้องสันติภาพ หลังจากกองทัพเผชิญความล้มเหลว

ตามรายงานจากสื่อ RFA ระบุว่า พลเอกมิน ออง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารของเมียนมา ได้เรียกร้องให้กลุ่มกบฏที่ต่อสู้เพื่อยุติการปกครองของทหารเจรจาสันติภาพ โดยอ้างว่ารัฐบาลของเขากำลังเสริมสร้างประชาธิปไตยและพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจาทางการเมือง ไม่ใช่การใช้ความรุนแรง ในการกล่าวในงานเลี้ยงคริสต์มาสที่โบสถ์เซนต์แมรีในย่างกุ้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เขากล่าวว่า รัฐบาลจะกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยที่ถูกต้องและแก้ไขปัญหาผ่านการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ท่ามกลางคำเรียกร้องนี้ ทหารเมียนมากลับเผชิญกับความล้มเหลวในหลายพื้นที่ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กองทัพรัฐอาระกัน (AA) ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏชนกลุ่มน้อยในรัฐยะไข่ สามารถยึดสำนักงานใหญ่ของทหารได้ โดยปัจจุบันกลุ่ม AA ควบคุมพื้นที่ 80% ของรัฐยะไข่ ทำให้กองทัพถูกกดดันและควบคุมในพื้นที่เล็กๆ เท่านั้น รวมถึงเขตเศรษฐกิจเจาะพยูที่จีนให้ความสำคัญ

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ต่อต้านทหารที่รวมถึงกองกำลังป้องกันประชาชน (PDF) และรัฐบาลพลเรือนแห่งชาติ (NUG) ได้ปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาลทหารในการเจรจาสันติภาพ โดยระบุว่าไม่สามารถเชื่อถือทหารเมียนมาที่ปราบปรามความเห็นต่างมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ

ขณะเดียวกัน กลุ่มโรฮิงญาได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กลุ่ม AA เคารพสิทธิของพวกเขาและประชาชนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ โดยยืนยันว่าทหารเมียนมาคือศัตรูร่วมของพวกเขา แต่ได้กล่าวหากลุ่ม AA ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการเผาทำลายและการฆาตกรรม กลุ่ม AA ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ผู้สืบสวนสิทธิมนุษยชนระบุว่ามีการละเมิดจริง โดยเฉพาะการเกณฑ์ทหารโรฮิงญาเข้าร่วมในการต่อสู้กับกลุ่ม AA 

กลุ่มโรฮิงญาเรียกร้องให้เปิดช่องทางช่วยเหลือฉุกเฉินจากบังกลาเทศเพื่อป้องกันภัยจากภาวะอดอยาก ซึ่งมีผู้ประสบภัยในรัฐยะไข่มากถึง 2 ล้านคนตามรายงานของสหประชาชาติ

ที่มา : RFA,23/12/2024

รัฐบาลไทยประกาศเตือนการระบาดของอหิวาตกโรคที่ชายแดนไทย-เมียนมาในจังหวัดตาก

ตามรายงานจาก Mizzima เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2024 รัฐบาลไทยได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับการระบาดของโรคอหิวาตกโรคบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาในจังหวัดตาก โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) ในจังหวัดตากเพื่อติดตามและป้องกันการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรค ซึ่งกำลังแพร่ระบาดในเมืองชเว โก๊กโก่  ในเมียนมาติดชายแดน

ดร.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จังหวัดตากโดยเฉพาะอำเภอแม่สอดและอำเภอแม่ระมาด เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากตั้งอยู่ตรงข้ามกับเมืองชเว โก๊กโก่  ที่มีจำนวนผู้ป่วยโรคอหิวาตกโรคประมาณ 200 คนและมีผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยพบผู้ติดเชื้ออหิวาตกโรคในอำเภอแม่สอด 2 ราย ทั้งสองรายได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแม่สอด

ทางการไทยได้ออกมาตรการติดตามคุณภาพน้ำดื่ม ให้คำแนะนำเกี่ยวกับสุขอนามัย และตรวจสอบร้านอาหารและแผงขายอาหารเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันทหารไทยได้เพิ่มการลาดตระเวนตามแนวชายแดนเพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย พร้อมทั้งส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับเจ้าหน้าที่เมียนมาที่เมืองชเว โก๊กโก่ เพื่อสนับสนุนการควบคุมโรค

ที่มา: Mizzima, 25/12/2024

ลาว

ที่มาภาพ : RFA

สามปีผ่านไป ครอบครัวที่ถูกโยกย้ายจากโครงการรถไฟลาว-จีน ยังคงรอการชดเชย 371 ครอบครัวปฏิเสธข้อเสนอที่ไม่เพียงพอจากรัฐบาลลาว

เมื่อต้นเดือนธันวาคม RFA LAO รายงานว่า ครอบครัว 371 ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟลาว-จีน ซึ่งเสร็จสมบูรณ์ไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ยังไม่ได้รับการชดเชยเต็มจำนวน หลังจากปฏิเสธข้อเสนอที่พวกเขามองว่าไม่เพียงพอจากรัฐบาลลาว

ครอบครัวเหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองเวียงจันทน์ และถูกบังคับให้ย้ายออกจากที่ดินของตนเนื่องจากโครงการรถไฟลาว-จีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Belt and Road Initiative ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ที่มุ่งเชื่อมโยงจีนกับประเทศเพื่อนบ้าน

คำพัน พมมะทัด ประธานสำนักงานตรวจสอบของรัฐลาว ได้ยืนยันว่า ครอบครัว 371 ครอบครัวยังไม่ได้รับการชดเชย โดยในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลาวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เขากล่าวว่ารัฐบาลได้ชำระเงิน 83 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับ 6,504 ครอบครัวจากทั้งหมด 6,875 ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้แล้ว

สาเหตุที่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขคือการที่รัฐบาลและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องราคาต่อหน่วยสำหรับบ้าน ที่ดิน และต้นไม้ที่สูญเสียไปจากโครงการนี้ บางครอบครัวยังไม่ยอมรับราคาที่รัฐบาลเสนอ โดยในปีที่แล้ว มีรายงานว่า รัฐบาลได้เสนอราคาชดเชยที่ 80,000 กีบ (ประมาณ 4.10 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเมตร แต่ชาวบ้านต้องการ 150,000 กีบ (ประมาณ 7.70 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเมตร

โครงการรถไฟสายนี้ซึ่งมีมูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เชื่อมโยงประเทศจีนกับลาว โดยรถไฟเริ่มเปิดใช้งานในเดือนธันวาคม 2021 และมีการคาดการณ์ว่าจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว การขนส่งสินค้า และการค้าการเกษตรในลาว

แม้จะมีประโยชน์ในแง่ของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่โครงการนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักในเรื่องของการบังคับให้ชาวบ้านย้ายออกจากที่ดินของตน โดยหลายครอบครัวยังคงเผชิญกับการชดเชยที่ล่าช้า หรือไม่ได้รับเงินตามที่ควรจะได้

 ที่มา: RFA, 8/12/2024

สาวลาววัย 19 ปี ถูกบังคับทำงานในศูนย์หลอกลวงออนไลน์ที่เมียนมา ตอนนี้อยู่ที่สถานพักฟื้นเหยื่อการค้ามนุษย์ในไทย เธอถูกบังคับทำงานที่ศูนย์หลอกลวงออนไลน์ของจีนในเมียนมาเป็นเวลา 2 ปี

ตามรายงานจาก RFA ลาว วันที่ 20 ธันวาคม 2024 ระบุว่า หญิงสาวลาววัย 19 ปี ที่ถูกบังคับให้ทำงานในศูนย์หลอกลวงออนไลน์ที่ดำเนินการโดยจีนในเมียนมาเป็นเวลาสองปี ได้รับการช่วยเหลือและนำตัวไปยังศูนย์ฟื้นฟูผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2024 หลังจากที่เธอหลบหนีจากศูนย์หลอกลวงและข้ามพรมแดนไปยังสถานีตำรวจในอำเภอแม่สอดของไทย

ก่อนหน้านี้หญิงสาวคนดังกล่าวได้ส่งข้อความถึงสำนักข่าว RFA บอกว่าเธอได้หลบหนีออกจากศูนย์หลอกลวงแล้ว และเดินทางถึงสถานีตำรวจในไทย อย่างไรก็ตาม ตำรวจไทยไม่ได้พบหลักฐานการขอความช่วยเหลือจากเธอที่สถานีตำรวจแม่สอด แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ศูนย์ฟื้นฟูในจังหวัดพิษณุโลกยืนยันว่าเธอได้รับการส่งตัวมายังศูนย์ฟื้นฟูในวันที่ 13 ธันวาคม

เจ้าหน้าที่ศูนย์ฟื้นฟูกล่าวว่า หลังจากที่เธอมาถึงศูนย์แล้ว เธอจะได้รับการบำบัดทั้งด้านร่างกายและจิตใจตามขั้นตอนที่กำหนด โดยไทยมีข้อตกลงร่วมกับประเทศลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม ในการให้การช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ก่อนที่จะส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทาง

หญิงสาวกล่าวในสัมภาษณ์ว่า เธอได้บอกแม่ของเธอเกี่ยวกับการหลบหนีเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม และได้ออกจากเมียนมาช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์ฟื้นฟูกล่าวว่า ขณะนี้กำลังสัมภาษณ์เธอเพื่อจัดทำรายงานที่จะส่งให้กับรัฐบาลไทยและลาว ก่อนที่จะมีการตรวจสอบความปลอดภัยของเธอเมื่อกลับไปยังประเทศลาว

ที่มา: RFA, 20/12/2024

เจ้าหน้าที่ในจังหวัดจำปาศักดิ์บังคับเก็บค่าธรรมเนียมการอยู่อาศัยจากแรงงานข้ามชาติ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ

ตามรายงานจาก RFA LAO รายงานว่า เจ้าหน้าที่ในจังหวัดจำปาศักดิ์ ทางตอนใต้ของลาวได้บังคับให้แรงงานข้ามชาติจากพื้นที่อื่นๆ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการอยู่อาศัย โดยมีจำนวนเงินสูงถึง 55,000 กีบ (ประมาณ 2.50 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูงในประเทศที่กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 1.6 ล้านกีบ (ประมาณ 73 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน

ชาวบ้านที่อพยพจากจังหวัดอื่นๆ บอกว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกำหนดค่าธรรมเนียมนี้โดยไม่มีการชี้แจงเหตุผลที่ชัดเจนและพวกเขามองว่าเป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากประชาชน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องการเสริมรายได้จากเงินเดือนที่ต่ำ เจ้าหน้าที่จากจังหวัดจำปาศักดิ์ยอมรับว่าเงินเดือนของเจ้าหน้าที่รัฐเริ่มต้นที่ 1.85 ล้านกีบ (ประมาณ 84.50 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งสูงกว่าเงินเดือนขั้นต่ำเล็กน้อย จึงทำให้บางคนพยายามหาแหล่งรายได้เสริมจากการเก็บค่าธรรมเนียมนี้

กฎหมายระบุว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสามารถเก็บค่าธรรมเนียมได้เพียง 40,000 กีบ (ประมาณ 1.80 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน และสามารถเก็บได้ไม่เกิน 3 เดือนติดต่อกัน ซึ่งยังคงต้องออกเอกสารเพื่อยืนยันการอาศัยชั่วคราว แต่มีการรายงานว่าบางเจ้าหน้าที่ได้เก็บค่าธรรมเนียมสูงกว่าที่กฎหมายอนุญาต และกำลังได้รับการตรวจสอบจากตำรวจท้องถิ่น

ในอดีตเคยมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในบางพื้นที่พยายามเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ย้ายถิ่นในเขตเวียงจันทน์ โดยเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลกลางได้สั่งให้ยุติการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวทันทีหลังจากมีการร้องเรียนจากประชาชน

ที่มา : RFA 18/12/2024

บริษัทในลาวประสบปัญหาจ่ายค่าจ้างตามกฎหมายใหม่

The Laotian Times รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ในลาวจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่หลายบริษัทยังคงจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยผู้ประกอบการบางรายอ้างว่า ค่าจ้างควรสะท้อนทักษะของพนักงาน และหลายคนยังขาดคุณสมบัติที่สามารถรองรับการจ่ายค่าจ้างที่สูงขึ้น

กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจาก 1.6 ล้านกีบ (ประมาณ 75 ดอลลาร์สหรัฐ) เป็น 2.5 ล้านกีบ (ประมาณ 114 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน เพื่อช่วยให้พนักงานรับมือกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นและอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ หากพนักงานไม่มีวุฒิการศึกษา นายจ้างต้องจ่ายค่าครองชีพเพิ่มเติมอีก 900,000 กีบ (ประมาณ 41 ดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อให้รวมเป็นค่าจ้างตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม หลายโรงงานและธุรกิจในภาคเอกชนยังคงปฏิเสธที่จะปรับเพิ่มค่าแรงตามที่กำหนดไว้

นางใบคำ ขัตติยะ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ได้ยอมรับถึงความยากลำบากในการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของพนักงานและมาตรฐานการทำงาน โดยกล่าวว่าค่าจ้างที่ต่ำกำลังผลักดันให้คนงานจำนวนมากออกไปหางานที่มีค่าจ้างดีกว่าในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศไทย รัฐมนตรีได้เรียกร้องให้ธุรกิจต่างๆ ปฏิบัติตามกฎหมายค่าจ้างใหม่และเสนอสวัสดิการที่ดีกว่า เพื่อดึงดูดและรักษาพนักงานไว้ แต่ภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นยังคงเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับรัฐบาล

ที่มา : The Laotian Times, 25/12/2024

Lanner Joy: ปลุกคอมมูนิตี้กาแฟให้แพร่เติบโตกว่าที่เป็น

เรื่องและภาพ: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

จังหวัดแพร่ เป็นจังหวัดเล็กๆ เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นในภาคเหนือ แต่ในจังหวัดเล็กๆ นี้ กลับมีร้านกาแฟแทรกซึมอยู่ทุกๆ 100 เมตร บนถนนในเขตเมือง ทั้งสายหลักและสายรอง ข้อมูลจาก สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กล่าวมานี้ ทำให้เห็นว่าธุรกิจกาแฟในจังหวัดแพร่ ไม่ว่าจะในแง่ของ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้กาแฟในจังหวัดแพร่ เติบโตได้ขนาดนี้?

กาแฟเป็นสินค้าที่มีความต้องการบริโภคสูงขึ้นทุกปี มีมูลค่าตลาดที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลสำรวจโดย Euromonitor International พบว่า ในช่วงปี 2564 – 2566 มูลค่าตลาดกาแฟไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย ร้อยละ 8.55 ต่อปี ซึ่งมีมูลค่าตลาดในปี 2566 สูงถึง 34,470.3 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.34 ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างผลักดันการปลูกกาแฟในไทย 

จังหวัดแพร่มีพื้นที่ปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า 1,720 ไร่ คิดเป็น 61% และสายพันธุ์อาราบิก้า 1,105 ไร่ คิดเป็น 39% ความน่าสนใจคือ จังหวัดแพร่เป็นแหล่งปลูกกาแฟ ‘อาราบะซอลต์’ หรือ ‘กาแฟภูเขาไฟ’ ซึ่งเป็นกาแฟที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดแพร่ได้อย่างมาก โดยส่วนใหญ่จะรู้จักในชื่อ ‘กาแฟเด่นชัย’ แต่นอกจากกาแฟเด่นชัยแล้วก็ยังมีกาแฟแพร่ที่โดดเด่นอีกมากมาย เช่น กาแฟแม่ลัว กาแฟบ้านนาตอง 

ร้านกาแฟถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต ที่มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดแพร่ เนื่องจากร้านกาแฟเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการพักผ่อนหรือนัดพบปะพูดคุยกัน คนรุ่นใหม่เลยมักจะเที่ยวคาเฟ่กันเยอะขึ้น ร้านกาแฟหลายแห่งในจังหวัดแพร่ก็มีจุดขายที่แตกต่างกันออกไป และส่วนใหญ่ก็มักนำเข้ากาแฟจากดอยต่างๆ ที่มีชื่อเสียงในเมืองไทย และจากต่างประเทศในปริมาณที่มาก 

คุณภาพของกาแฟ คุณภาพของคน(แพร่)รุ่นใหม่

วิทยา ไพศาลศักดิ์ หรือ ‘ลุงโม่ง’ ผู้พัฒนาสายพันธุ์กาแฟไทย และเจ้าของร้านกาแฟ Balance cup Espresso & Slow bar ในจังหวัดแพร่  เรื่องการบริโภคกาแฟของคนแพร่ คำบอกเล่าของลุงโม่งทำให้เรารู้ว่าจังหวัดแพร่มีการเติบโตของอุตสาหกรรมกาแฟมากขึ้น เห็นได้จากจำนวนร้านกาแฟที่เพิ่มขึ้น และคนดื่มกาแฟส่วนใหญ่มักจะเลือกกาแฟที่คุณภาพ และรสชาติที่ดี แตกต่างจากเมื่อก่อนที่มีแบบไหนก็ดื่มแค่แบบนั้น

“เดี๋ยวนี้คนดื่มกาแฟเขารู้หมดว่ารสชาติกาแฟแบบไหนเป็นยังไง เขาก็จะเลือกกินร้านดีๆ เมล็ดดีๆ คนทำกาแฟก็ต้องเรียนรู้เรื่องกาแฟให้เยอะขึ้น เพื่อให้ทำกาแฟออกมาได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าเพราะคนดื่มเขาพัฒนาความรู้เรื่องการดื่มเรื่อยๆ”

คุณภาพของกาแฟ เป็นปัจจัยที่สำคัญอันดับต้นๆ ในการเลือกดื่มกาแฟของคนรุ่นใหม่ และกาแฟไทยในหลายที่โดยเฉพาะจังหวัดน่าน ก็เป็นกาแฟที่ได้รับการันตีว่ามีคุณภาพดี จากการได้รับรางวัลในการประกวดของหลายๆ รายการ อย่างล่าสุดในการประกวดสุดยอดกาแฟไทย ‘Thai Specialty Coffee Awards 2024’ โดย SCATH (Specialty Coffee Association of Thailand) ก็จะเห็นได้เลยว่ามีกาแฟที่ปลูกในจังหวัดน่านที่ได้รับรางวัลในอันดับ Top 3 แทบทุกประเภทของการประกวด

แล้วกาแฟของจังหวัดแพร่ ถือว่าตอบโจทย์สำหรับผู้บริโภคยุคใหม่แล้วหรือยัง?

“กาแฟแพร่ถือว่าอยู่ในมาตรฐานที่ดีมากเลยนะ เราเคยส่งเมล็ดกาแฟที่ปลูกในแพร่ไปประเมินโดย CQI (Coffee Quality Institute) และพบว่าได้คะแนนจากการประเมินสูงถึง 80 คะแนน  แต่เพราะยังไม่มีเกษตรกรที่เขาอยากพัฒนาคุณภาพกาแฟแพร่อย่างจริงจังเลยทำให้กาแฟที่มีคุณภาพพวกนี้มันมีน้อย เราเลยต้องนำเข้ากาแฟจากที่อื่นมาเสริม”

ลุงโม่งเล่าต่ออีกว่า การปลูกกาแฟให้ได้ผลผลิตที่คุณภาพดีมีเงื่อนไขค่อนข้างเยอะ เพราะเกษตรกรต้องควบคุมปัจจัยในพื้นที่ปลูก ทั้งอุณหภูมิ ความชื้น และความสูงจากระดับน้ำทะเลที่ต้องเหมาะสมพอดี 

ลุงโม่งเล่าว่าความท้าทายของการปลูกกาแฟในจังหวัดแพร่ อย่างแรกคือเรื่องของพื้นที่ปลูก โดยจังหวัดแพร่มีพื้นที่ปลูกกาแฟเพียง 2,600 กว่าไร่เท่านั้น (ข้อมูลจาก สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ วันที่ 19 กันยายน 2566) ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยถ้าเทียบกับพื้นที่เกษตรทั้งหมดในจังหวัด เมื่อพื้นที่ปลูกมีน้อยก็ทำให้ผลผลิตที่ได้ในแต่ละปีมีน้อยตามไปด้วย นอกจากนั้นปัญหาของการที่เกษตรกรขาดความรู้ในเรื่องการดูแลต้นกาแฟแต่ละสายพันธุ์และการเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟที่ถูกต้อง ทำให้จังหวัดแพร่ผลิตกาแฟที่มีคุณภาพได้น้อยมาก ร้านกาแฟในแพร่ส่วนใหญ่เลยเลือกใช้เมล็ดคุณภาพดีจากที่อื่นแทน

Specialty แบบแพร่ๆ

เมล็ดกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) เป็นเมล็ดกาแฟที่ผ่านกระบวนการคัด คั่ว บด กลั่น ชง จนได้กาแฟที่มีรสชาติดี มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และผ่านรับการรับรองคุณภาพจากนักชิมที่มีความเชี่ยวชาญ ด้วยคุณภาพที่ถูกคัดมาเป็นพิเศษนี้ ทำให้กาแฟ Specialty กลายเป็นจุดขายของร้านกาแฟหลายๆ ร้าน 

“กาแฟแต่ละตัวเขาก็จะมีรสชาติต่างกัน พอดื่มจากแก้วที่มีรูปทรงต่างกันรสชาติก็จะต่างกันไปด้วย สิ่งนี้มันคือความสนุกของการกินกาแฟ Specialty

รามอส-ชยากร วันทนียวงค์ เจ้าของร้าน  AM23 ร้านกาแฟ  Specialty ในจังหวัดแพร่ เล่าว่า เขาได้นำเข้าเมล็ดกาแฟ Specialty จากทั้งในและต่างประเทศ มาวางขายหลากหลายชนิด เพราะอยากให้ลูกค้าได้ลองชิมกาแฟหลายๆ แบบ โดยเขามองว่า เอกลักษณ์ที่แตกต่างกันของเมล็ดกาแฟพิเศษเหล่านี้ เป็นเหมือนสีสันที่ช่วยทำให้การดื่มกาแฟนั้นมีมิติมากขึ้น

“คนที่มาเพื่อดื่มกาแฟดำของร้านเราโดยเฉพาะเลยก็เยอะ ยิ่งช่วงหน้าหนาวกาแฟร้านเราจะขายดีมาก เพราะเวลาคนไปเที่ยวน่านหรือที่อื่น เขาก็จะแวะดื่มกาแฟกัน ด้วยคาแรคเตอร์ร้านเราคือ Specialty Coffee คนที่อยากกินกาแฟนอก หรือกาแฟ Specialty เขาก็จะมาลองกัน”

รามอสเล่าว่า ในช่วงหน้าหนาวที่ร้านของเขาจะคึกคักมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นฤดูการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวบางส่วนที่ตั้งใจไปเที่ยวจังหวัดน่านหรือจังหวัดใกล้เคียง ก็เลือกที่จะแวะดื่มกาแฟที่ร้าน เพราะมีกาแฟ Specialty ที่หลากหลายให้ได้มาเลือกลอง ถือเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้คอกาแฟในจังหวัดแพร่ที่ต้องการดื่มกาแฟคุณภาพ

ให้กาแฟเดินไปหาเมือง

เมื่อเป็นเมืองมีคนรักกาแฟกระจายอยู่เยอะมาก สิ่งที่ตามมาคือการเกิดคอมมูนิตี้คนรักกาแฟ ที่รวบรวมคอกาแฟมาทำกิจกรรมด้วยกัน

ภาพจาก Sunday Morning Cars & Coffee Phrae Thailand

“เราเคยทำ Coffee & Co คือการรวมกลุ่มร้านกาแฟที่เป็นเพื่อนกันมาเปิดร้านเล็กๆ ด้วยกันแล้วย้ายพื้นที่ขายไปเรื่อยๆ มันเริ่มมาจากการที่เรามีเครื่องมือ มีเมล็ดกาแฟ แล้วเราก็อยากเที่ยวด้วย แล้วคนเข้าร่วมเขาก็มากันเยอะมาก ผลตอบรับก็ดีมากเลย”

อาร์ต-ศักดิ์นรินทร์ ภู่จันทร์ เจ้าของร้าน Inwardly Cafe & Coffee Roaster จังหวัดแพร่ เล่าว่า เมื่อปีที่ผ่านมาเขาและเพื่อนๆ คนทำกาแฟได้รวมกลุ่มคนรักกาแฟมาทำกิจกรรม Coffee & Co ที่เป็นการเปิดร้านกาแฟเล็กๆ และย้ายพื้นที่ไปรอบตัวเมืองแพร่ เพื่อให้คนรักกาแฟได้มามีส่วนร่วมในการพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องกาแฟ และมาลองชิมกาแฟไปด้วยกัน โดยผลตอบรับของกิจกรรมนี้สำหรับอาร์ตแล้วเขามองว่ามีผลตอบรับค่อนข้างดี เพราะมีผู้ร่วมกิจกรรมเยอะขึ้นในทุกครั้งที่เขาจัด เขาเล่าอีกว่าหากมีโอกาสก็อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีกเยอะๆ 

“ร้านกาแฟที่แพร่มันก็ไปได้เรื่อยๆ เพราะว่าแพร่ไม่ค่อยมีที่เที่ยว คนก็จะเที่ยวคาเฟ่กัน ผมมองว่าธุรกิจนี้มันโตขึ้นได้อีก เพราะจำนวนผู้บริโภคตอนนี้มันเยอะกว่าจำนวนร้าน”

อาร์ตเล่ามุมมองเกี่ยวกับธุรกิจกาแฟในจังหวัดแพร่ว่ายังมีโอกาสเติบโตไปได้อีกเพราะว่าจำนวนผู้บริโภคกาแฟในแพร่ยังมีอยู่เยอะ และคาเฟ่ก็ยังเป็นอีกธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินให้กับจังหวัดแพร่อยู่พอสมควร

ทั้งที่มีศักยภาพขนาดนี้แล้วทำไมคนทำกาแฟถึงไม่รวมตัวกัน?

จากที่คุยกับผู้ประกอบการร้านกาแฟในจังหวัดแพร่ทั้งสามคน ทำให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้วจังหวัดแพร่เป็นเมืองที่มีศักยภาพเรื่องกาแฟค่อนข้างสูง มีทั้งผู้พัฒนาสายพันธุ์กาแฟไทยที่ปลุกปั้นกาแฟน่านสู่เวทีระดับโลกหลายรายการ มีร้านกาแฟที่นำเข้ากาแฟพิเศษจากหลายพื้นที่ และยังมีคอมมูนิตี้นักดื่มที่หลากหลาย แล้วทำไมเราถึงยังไม่ค่อยเห็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนทำกาแฟในจังหวัดแพร่เลย ทั้งที่ในจังหวัดอื่นในพื้นที่ใกล้เคียงกันนี้ ก็มีงานกาแฟให้เราได้เห็นกันเยอะพอสมควร อย่างจังหวัดลำปาง ก็มีงาน Lampang Coffee Fest ที่จัดโดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง หรือที่อุตรดิตถ์ ก็ยังมีงาน  Uttaradit Coffee Craft แล้วทำไมแพร่ถึงยังไม่มีงานกาแฟเป็นของตัวเองบ้าง

“คนแพร่ค่อนข้างมีความเป็นปัจเจกสูง เราเคยชวนคนที่ปลูกกาแฟมาพัฒนาคุณภาพกาแฟด้วยกันแต่ก็ยังไม่ค่อยมีคนมาร่วมเท่าไหร่ แต่เราเชื่อว่าแพร่มีศักยภาพมากพอที่จะทำให้กาแฟมันไปต่อได้นะ อยู่ที่ว่าจะมีคนมาทำอย่างจริงจังไหม” 

ลุงโม่งมองว่ากาแฟแพร่มีศักยภาพมากพอที่จะพัฒนาต่อไปได้ ถ้าคนปลูกกาแฟตั้งใจร่วมมือกันพัฒนาการปลูกกาแฟในแพร่อย่างจริงจัง

“มันเคยมีคนทำนะ ทำด้วยกันอยู่สองสามร้าน งานมันก็จะเล็กๆ จนดูเป็นงานเฉพาะกลุ่ม แต่ถ้าหลายๆ ร้านร่วมจัดด้วยกัน ไปดึงเอาคอนเนคชันหลายๆ กลุ่ม มาทำด้วยกันมันก็อาจจะดี เพราะว่าแพร่งานกาแฟมันยังไม่ได้มีจริงจังมากขนาดนั้น”

รามอสเล่าว่าเคยมีการรวมตัวกันบ้างแล้วแต่ยังเป็นการรวมตัวกันแค่ในกลุ่มเล็กๆ โดยเขามองว่า ถ้าหลายๆ ร้านมีการร่วมมือกันอย่างจริงจัง ภาพที่เมืองแพร่มีงานกาแฟเหมือนที่จังหวัดอื่นๆ อาจเกิดขึ้นได้

“เพราะว่ามันยังไม่มีใครที่มาทำเป็นแกนหลัก แต่ละคนเขาก็จะมีงานหลักของตัวเอง อย่างผมก็เปิดร้าน พอทำเองมันก็เสียรายได้เยอะเพราะผมก็ต้องปิดร้านครึ่งวันเลย แต่ผมมองว่ามันมีโอกาสเกิดขึ้นได้นะ ถ้ามันมีคนเริ่มทำจริงๆ เราก็พร้อมเข้าร่วม” 

สำหรับอาร์ตแล้วแกนหลักในการรวมกลุ่มถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะสามารถทำให้คนทำกาแฟในแพร่เกิดการรวมตัวกันได้จริง และหากมีผู้เริ่ม เขาก็พร้อมที่จะเป็นผู้เข้าร่วมสร้างเมืองแพร่ให้เป็นเมืองกาแฟไปด้วยกัน

มาถึงตรงนี้ก็ทำให้เราเห็นแล้วว่า คนทำกาแฟในจังหวัดแพร่มีศักยภาพ มีความพร้อม และความต้องการที่จะพัฒนากาแฟแพร่ให้เติบโตได้มากขึ้น ขาดเพียงแค่ ‘การรวมกลุ่ม’ เพื่อสานพลังให้คอมมูนิตี้กาแฟแพร่มีความเข้มแข็งมากขึ้น 

ถึงเวลาแล้วที่เราจะลุกขึ้นมาผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มกันอย่างจริงจัง

คุณก็เป็นได้นะ! ‘ผู้เริ่มต้นปลุกแพร่ให้เป็นเมืองกาแฟ’ 

‘เครือข่ายนิรโทษกรรม’ ให้กำลังใจ ‘อานนท์ นำภา’ ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ชี้ ม.112 ขัดเสรีภาพ

24 ธันวาคม 2567 เวลา 09:00 น. ณ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ได้เดินทางมาให้กำลังใจอานนท์ นำภา สืบเนื่องจากศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีของ อานนท์ นำภา ผู้ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือเอกก๊าบ ๆ” ที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมาในประเด็นงบประมาณของสถาบันกษัตริย์และการเปลี่ยนแปลงการจัดการทรัพย์สินของกษัตริย์ โดยตำรวจเห็นว่า มีเนื้อหาเข้าข่ายดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

ภาพ: lawyersforlawyers.org

บรรยากาศห้องบริเวณหน้าห้องพิจารณาคดีมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสิบนายคอยควบคุมบริเวณศาลและได้ตั้งรั้วเหล็กหน้าห้องพิจารณาและไม่ให้ประชาชนผู้มารับฟังคดีเข้าในห้องพิจารณาคดีแต่มีการจัดให้รับฟังถ่ายทอดสดการสืบพยานผ่านวิดิโอคอลเฟอเรนซ์ในห้องสมุดประจำศาลจังหวัดเชียงใหม่แทน

ขณะที่ ประชาชนผู้มาร่วมให้กำลังใจรายหนึ่งกล่าวว่า การที่ประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็นทางเมืองตามสิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกดำเนินคดีทางการเมืองสะท้อนให้เห็นปัญหาของกฎหมายมาตรา 112 ที่ตีความอย่างกว้างขวาง ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัดและถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นเสรีภาพในการความเห็นของประชาชนและส่งผลกระทบต่อเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เราจึงออกมาร่วมกันให้กำลังใจอานนท์ในวันนี้

ในการสืบพยานในวันนี้ ข้อมูลศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ศาลสืบพยานโจทก์ได้อีก 2 ปาก และให้ตัดพยานโจทก์ 1 ปาก ที่ไม่สามารถมาศาลได้ ก่อนเริ่มสืบพยานจำเลย โดยอานนท์อ้างตัวขึ้นเบิกความเป็นพยานจนเสร็จสิ้น ให้เลื่อนสืบพยานจำเลยอีก 2 ปาก ไปในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ที่ 25 ธันวาคม 2567

นอกจากนี้เครือข่าย We, The People ได้นัดรวมตัวกันทำกิจกรรมพิเศษยืนหยุดทรราชXนิรโทษกรรมประชาชน เพื่อให้กำลังใจผู้ต้องหาคดีทางการเมืองที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำและไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว ในวันนี้ ณ ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เวลา 17:00 น.เป็นต้นไป

เปิดอัพเดทค่าแรงขั้นต่ำ 17 จังหวัดภาคเหนือจังหวัด (2568) ‘อำเภอเมืองเชียงใหม่’ สูงสุด 380 บาท น่าน-พะเยา-แพร่ รั้งท้าย 345 บาท ไม่มีจังหวัดไหนในภาคเหนือแตะ 400 บาท

คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2568 โดยอัตราสูงสุดของประเทศอยู่ที่ 400 บาท และต่ำสุด 337 บาท เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป แม้รัฐบาลจะตั้งเป้าค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ภาคเหนือยังไม่มีจังหวัดใดที่ได้ค่าแรงถึงระดับนี้

วานนี้ (23 ธันวาคม 2567) คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 มีมติการประชุมครั้งที่ 11/2567 เมื่อ 23 ธันวาคม 2567 กำหนดให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่เพิ่มขึ้นระหว่าง 7-55 บาท (เฉลี่ย 2.9%) แบ่งเป็น 17 อัตรา ซึ่งเป็นการพิจารณาจากโครงสร้างเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด

บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ และประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวว่า การปรับค่าแรงครั้งนี้มุ่งให้แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานสามารถดำรงชีพได้อย่างเหมาะสมตามมาตรฐานค่าครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น ซึ่งการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้จะส่งผลส่งผลกระทบเชิงบวกกับแรงงานกว่า 3,760,679 คนทั่วประเทศ

สำหรับปี 2568 คณะกรรมการค่าจ้างได้ปรับแนวทางการพิจารณาอัตราค่าแรงขั้นต่ำ โดยกระจายอำนาจให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในระดับจังหวัด ทั้งหมด 77 คณะ เพื่อนำข้อเสนอจากแต่ละพื้นที่มาประกอบการตัดสินใจอย่างเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 มาตรา 87 แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มที่ 1 ด้านความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง
  • กลุ่มที่ 2 ด้านความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง
  • กลุ่มที่ 3 ด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

โดยพิจารณาจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อให้ลูกจ้างมีค่าจ้างเพียงพอต่อการดำรงชีวิต และพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค รวมทั้งรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้าง/ลูกจ้าง สามารถประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งกระทรวงแรงงานจะนำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลจะตั้งเป้าปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ยังไม่มีจังหวัดใดได้รับอัตราค่าแรงดังกล่าว ทั้งนี้ ค่าแรงขั้นต่ำในภาคเหนือถูกกำหนดให้แบ่งออกเป็น 7 ระดับ โดยพิจารณาจากค่าครองชีพ และโครงสร้างทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ ดังนี้

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 17 จังหวัดภาคเหนือจังหวัด ปี 2568
จังหวัดค่าจ้างขั้นต่ำปี (บาทต่อวัน)
เชียงใหม่ (เฉพาะอำเภอเมือง)380
เชียงใหม่ (ยกเว้นอำเภอเมือง)357
เชียงราย352
ตาก352
พิษณุโลก352
นครสวรรค์350
ลำพูน350
เพชรบูรณ์349
กำแพงเพชร347
พิจิตร347
แม่ฮ่องสอน347
ลำปาง347
สุโขทัย347
อุตรดิตถ์347
อุทัยธานี347
น่าน345
พะเยา345
แพร่345

ค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท โจทย์ใหญ่ที่ต้องมองไกลกว่าแค่ตัวเลข

วรวิทย์ เจริญเลิศ คณาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดมุมมองถึงประเด็นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท กับ Lanner ไว้ว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เป็นก้าวที่ควรผลักดัน แต่ต้องไม่ลืมมองลึกไปถึงปัญหาโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ วรวิทย์ เผยว่าไทยนั้นเติบโตจากการใช้แรงงานราคาถูก แต่กลับเผชิญหน้ากับการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งหากจะแก้ปัญทั้งหมด ต้องมองไปที่โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่ไม่สามารถยกระดับขึ้นได้ ซึ่งในปัจจุบันไทยไม่สามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการส่งออกที่เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เลย เนื่องจากการส่งออกในตลาดโลกนั้นซบเซาผลจากภาวะสงครามที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งเป็นข้อจำกัด

ส่งผลต่อผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปรับตัวได้จากภาวะดังกล่าว วรวิทย์ เผยว่าผู้ประกอบการยังใช้วิธีเก่าคือต้องการกำหนดให้ค่าแรงถูก และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่เป็นฐานอุตสาหกรรมไม่ใช้เทคโนโลยีในการผลิต ซึ่งหากไทยจะเดินหน้าในการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจต้องมีการฝึกทักษะใหม่ หากมาดูที่ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท วรวิทย์ เผยว่าไม่ถึงกับสูงมากหากเทียบกับภาวะเงินเฟ้อที่เป็นอยู่ รวมไปถึงหนี้ครัวเรือนที่มากในปัจจุบัน 

วรวิทย์ ยังมองไปเรื่องของการศึกษาที่เป็นการเพิ่มทักษะให้กับแรงงานให้สัมพันธ์กับค่าแรงที่สูงตาม ซึ่งต้องใช้การ Training และ Re-Training ที่การอบรมต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการถ่ายทอดความรู้ ในหลายประเทศใช้วิธีการให้นายจ้างและตัวแทนของลูกจ้างเป็นคณะกรรมการในการปรับทักษะภายในโรงงาน แต่หากมาย้อนมองดูในไทย การอบรมดังกล่าวอยู่ภายใต้การดำเนินงานของราชการทำให้ไม่ตอบโจทย์

วรวิทย์ ยังเสริมไปที่ระบบการศึกษาที่อาศัยแต่ความจำในเนื้อหาการเรียนการสอน แต่กลับขาดการวิเคราะห์และสังเคราะห์ ซึ่งเป็นการผลิตบัณฑิตที่เน้นแต่ปริมาตรและเป็นธุรกิจมากกว่าส่งเสริมการเรียนรู้ และขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยไม่เติบโตนั้นเป็นผลมาจากระบอบอำนาจนิยม เป็นการเมืองของชนชั้นนำ ที่เป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ อำนาจที่ทับซ้อนกันที่ยังเป็นปัญหาอยู่

วรวิทย์ เผยว่าการที่ไทยต้องการแรงงานราคาถูกแต่กลับขาดแคลนแรงงานจึงมีการเปิดพรมแดนให้แรงงานข้ามชาติเข้ามา ซึ่งประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ถึงแม้แรงงานข้ามชาติอาจจะได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว แต่ก็เป็นส่วนน้อย เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ครอบคลุม รวมไปถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาตินั้นไม่มีอำนาจต่อรอง รวมไปถึงไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้

การจะแก้ปัญหาได้ในปัจจุบันต้องมองการบริโภคและผลิตภายในให้มากขึ้น ซึ่งต้องแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมไปถึงการกระจายรายได้ และอำนาจในการใช้จ่าย ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง หากมามองที่รัฐบาลในปัจจุบันก็คล้ายกับว่าจะมีแนวความคิดดังกล่าว อย่างนโยบายเงินดิจิตอล แต่ก็ทำได้แค่แจกแต่ยังไม่เห็นในมุมของการกระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัวจากเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันของรัฐบาล วรวิทย์ มองว่าเป็นการมองแค่เป้าหมายแต่ไม่มองกระบวนการที่จะนำไปสู่การสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแรง ซึ่งต้องมีการปฏิรูปทางการเมือง