Home Blog Page 205

ชุมชนศรีบัวบานและชุมชนใกล้เคียง ยื่นหนังสือร้องทุกข์ตรวจสอบ กรณีคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะลำพูน​

17/05/2022

วันนี้ 17 พฤษภาคม เวลา 09.30 น. ตัวแทนชุมชนศรีบัวบานและชุมชนใกล้เคียง จำนวน 80 – 100 คน ยื่นหนังสือร้องทุกข์ร้องเรียนต่อผู้ว่า ณ ศูนย์ราชการจังหวัดลำพูน ให้ตรวจสอบ กรณีคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะจังหวัดลำพูน ​ ผ่านศูนย์ดำรงธรรม ​ โดยมีนายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน และนายชาตรี กิตติธนดิตถ์ ปลัดจังหวัดลำพูน เป็นผู้รับมอบหนังสือฉบับดังกล่าว โดยมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนเข้าร่วมชี้แจงรับหนังสือกับประชาชน ซึ่งถูกมองว่าเป็นต้นเรื่องของกรณีโรงไฟฟ้าดังกล่าว​

ด้านชุมชนศรีบัวบานและชุมชนใกล้เคียงให้ความเห็นว่าเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าชาวบ้านไม่รู้เลยว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้า รวมถึงไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้คนในจังหวัดรับทราบ กรณีที่ไปศึกษาดูงานที่จังหวัดระยองเมื่อวันที่ 10 – 13 พฤษภาคมที่ผ่านมาแต่ไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ ว่าบริษัทไหนเป็นเจ้าภาพ หรือกระทั่งการทำ MOU อื่นใดที่ไม่ทำแบบเปิดเผย ต้องมีเวทีสาธารณะที่ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมานั่งคุยกัน เพื่อหาทางออกร่วมในเรื่องนี้​

โดยที่ผ่านมานั้นเพจลำพูนปลดแอกได้รายงานว่ามีการข่มขู่แกนนำที่อำเภอแม่ทา จนถึงใช้ตำรวจคุกคามแกนนำที่ศรีบัวบานที่ออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะ และคิดว่ากระบวนการยื่นหนังสือร้องทุกข์ร้องเรียนต่อผู้ว่า ณ ศูนย์ราชการจังหวัดลำพูน ให้ตรวจสอบ กรณีคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะจังหวัดลำพูน ​ ผ่านศูนย์ดำรงธรรม ในวันนี้คงจะทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น​

ภาพ: ลำพูนปลดแอก​

#คัดค้านโรงไฟฟ้าขยะจังหวัดลำพูน​
#lanner

5 พรรคการเมืองนำเสนอนโยบาย “การกระจายอำนาจและท่าทีต่อการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด”​

16/05/2022

วันนี้ 15 พฤษภาคม 2565 ​ ภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เจียงใหม่ ได้จัดเวทีพรรคการเมืองนำเสนอนโยบาย“การกระจายอำนาจและท่าทีต่อการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด” ณ ลานอเนกประสงค์​ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ​ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพรรคการเมือง 5 พรรคได้แก่ 1. พรรคประชาธิปัตย์ 2. พรรครวมใจรักชาติ 3.พรรคเศรษฐกิจไทย 4.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน และ5. พรรคก้าวไกล ร่วมนำเสนอนโยบาย ทั้งนี้ มีพรรคไทยสร้างไทยร่วมสังเกตการณ์​

พรรคประชาธิปัตย์มองจากอดีตที่ผ่านมา ในช่วงที่ ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคมีนโยบายที่โดดเด่น เช่นนโยบายในการผลักดันการกระจายอำนาจ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผลักดันในมีสภาตำบล และยังมีการผลักดันอย่างต่อเนื่อง เชียงใหม่มีศักยภาพในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีความพร้อม จึงเหมาะสมที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ​

เช่นเดียวกันกับพรรครวมใจรักชาติให้ความเห็นว่า เห็นด้วยกับการให้มีเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ และจะสนับสนุนเต็มที่ วัฒนธรรมเชียงใหม่มีความเฉพาะ มีภาษาเขียน ภาษาพูดของตัวเอง น่าจะไปไกล ไม่ใช่แค่เมืองที่กำลังพัฒนา ควรมีผู้ว่าฯ ที่มาจากคนในพื้นที่ และพรรคพรรคครูไทยเพื่อประชาชนมีวาระการกระจายอำนาจเป็นหลัก และอยากเห็นการนำร่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่จะเป็นต้นแบบ อยากเห็นพรรคการเมืองทุกพรรคร่วมมือกันทำ ไปในแนวทางเดียวกัน พื้นที่จะต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียวให้ได้ จะปฏิวัติการศึกษา หลักสูตร ครู และระบบบริหาร ต้องกระจายมาถึงโรงเรียน การศึกษา เศรษฐกิจ และการเมือง​

ส่วนพรรคเศรษฐกิจไทย เสนอให้มีการยุบส่วนภูมิภาค ควรจะมีแค่ราชการส่วนกลางและท้องถิ่นเท่านั้น ท้องถิ่นต้องมีการยุบรวม ปรับปรุงให้มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกันกับพรรคก้าวไกล กล่าวว่าเรื่องกระจายอำนาจเป็นนโยบายเรือธงของพรรค ในชื่อว่า “ยุตินโยบายรวมศูนย์” คืนอำนาจที่พวกเราเคยมี พรรคมี 5 เสาหลักที่เป็นการกระจายอำนาจที่ควรจะเป็น คือ 1) ต้องยกเลิกระบบราชการส่วนภูมิภาคทั้งหมด ให้เหลือเพียงรัฐบาลส่วนกลางและรัฐบาลท้องถิ่นเท่านั้น 2) งาน ต้องไปพร้อมกัน ท้องถิ่นมีอำนาจจัดการบริการสาธารณะทั้งหมด 3) เงิน ท้องถิ่นได้เพียง 35% แต่เป็นเงินฝากไว้ ต้องผลักดันสัดส่วนรายได้ อย่างน้อย 50% ต้องเข้าท้องถิ่น และท้องถิ่นต้องสามารถหารายได้เพิ่มเองได้ด้วย 4) การจัดโครงสร้างท้องถิ่น ต้องสามารถจัดการเองได้ และ 5) การตรวจสอบการมีส่วนร่วม ต้องยิ่งมีการมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยประชาชนในพื้นที่ สร้างเงื่อนไขให้ท้องถิ่นต้องเปิดเผยข้อมูล โปร่งใสได้ และประชาชนสามารถเข้าร่วมจัดการงบประมาณ เช่น ข้อบัญญัติท้องถิ่นได้ ต้องผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าในแต่ละจังหวัด ต้องผลักเชิงโครงสร้างให้เป็นทั้งระบบ อีกทั้งยังเสนอให้ทำประชามติด้วย ​

หลังจากนั้น ธเนศวร์ เจริญเมือง ตัวแทนภาคีเครือข่ายเลือกตั้งผู้ว่าฯ เจียงใหม่ได้สรุปความเห็นจากทางพรรคการเมืองทั้ง 5 พรรคเอาไว้ว่า “วันนี้เราได้ความรู้ ความคิด ของแต่ละพรรค เราได้รู้เรื่องการเมืองประเทศไทย มันขาดการพัฒนาอย่างต่อเรื่อง ยกตัวอย่าง 8 ปีที่ผ่านมา เราเพิ่งมีการเลือกตั้ง มาไม่มีกี่วันมานี้ บัดนี้ประชาชนไทยตื่นตัวขึ้นมาแล้ว แต่ยังไม่พอ ยังต้องการเวลา บ่มเพาะ แลกเปลี่ยนกันต่อ ​

ทำไมเราจึงมีพรรคการเมืองจำนวนมาก? เนื่องจากระบบเราเป็นแบบนี้ เราอยู่ในกรอบหนึ่งซึ่งเขาเป็นคนกำหนดมา เรากลับเล็กลง ๆ แล้วมีอำนาจต่อรองน้อยลง ๆ การเลือกตั้งจะต้องมีครบทุก 4 ปี เราจะผ่านการพูดคุย แลกเปลี่ยนแบบนี้ต่อไปอย่างไร การพูดคุยทางการเมืองจะต้องมีเรียนรู้ทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง มีการพูดคุย พบปะกันเสมอ ข้าราชการท้องถิ่นจะทำยังไง ก็ให้เป็นเรื่องของประชามติหรือการพูดคุยกัน”​

ทางไพรัช ใหม่ชมพู คณะทำงานรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ มองว่าวันนี้ถือเป็นทิศทางที่ดี เพราะว่าการเชิญพรรคการเมืองมาให้เสนอนโยบายเฉพาะในเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เราไม่เคยจัดเลยสักครั้ง และมองว่าการรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ จะสำเร็จได้ต้องมีปัจจัย 2 อย่างคือ พรรคการเมืองเห็นด้วย และพี่น้องประชาชนเห็นด้วย โดยทั้ง 2 ปัจจัยหลักนี้จะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ​

แม้ก่อนหน้านี้ เราได้มีการพยายามขับเคลื่อนพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครต่อสภา แต่ก็หยุดชะงักไปเนื่องจากมีการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ตอนนี้เราจึงเริ่มขับเคลื่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ คู่ขนานไปกับกรุงเทพฯ หลังจากนั้นเราจะสรุปบทเรียนและวางแผนระยะยาวต่อไป รวมถึงจะลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน​

โดยจังหวะในการขยับต่อจากนี้นั้นทางภาคีจะจัดกิจกรรมคู่ขนานกับการไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพ โดยกิจกรรมภายในงานจะมีกิจกรรมหย่อนบัตรเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เสมือนจริง (และเลือกตั้งผ่านระบบออนไลน์) คู่ขนานไปกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ นอกจากนี้จะมีการเดินขบวน ออกแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์, การแสดงทัศนะต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ จากผู้แทนทุกกลุ่มอาชีพ และนิทรรศการปัญหาในเชียงใหม่ที่แก้ไม่ได้ เป็นต้น โดยจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม ณ ลานอเนกประสงค์ประตูท่าแพ เวลา 16.00 -19.00 น. ​




#lanner #กระทรวงมหาดไทย #ผู้ว่าราชการจังหวัด #เลือกตั้งผู้ว่า #ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร #รณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าเชียงใหม่ #ผู้ว่าเชียงใหม่ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ

“เวลาเราเสพสื่อ แม้กระทั่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรา สำนักข่าวต่าง ๆ จะมีมุมมองที่มาจากคนอื่น

16/05/2022

“เวลาเราเสพสื่อ แม้กระทั่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรา สำนักข่าวต่าง ๆ จะมีมุมมองที่มาจากคนอื่น เป็นการพูดถึงคนข้างในโดยคนข้างนอก ความเข้าใจมันจึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะเหมือนกัน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่อยู่ในชุมชนเขาจะพูดเรื่องนี้หรือเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร หากเราไม่พูดจากมุมมองที่เขายืนอยู่ ​

มันเป็นปัญหาตั้งแต่รากของการศึกษาประวัติศาสตร์ด้วย คือประวัติศาสตร์เราทุกอย่างมันถูกทำให้เป็นภาพใหญ่ สังคมเป็นภาพใหญ่ แล้วชุมชนไปไหน ภูมิภาคไปไหน ชุมชนจึงถูกดึงเข้ามาเป็นตรงกลาง หลายคนก็บอกว่าทั้งเรื่องการจัดสรรงบประมาณ ทั้งเรื่องความรู้ มันอยู่ตรงกลางหมดเลย เราจะเข้าใจส่วนอื่น ๆ ได้อย่างไรถ้าเราไม่สามารถอธิบายส่วนต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้ ​

ฉะนั้นสื่อกระแสรองมีความสำคัญ โดยเฉพาะการอธิบายผู้ที่ถูกกดขี่อยู่ข้างล่าง เราเป็นสื่อย่อย เราจึงจะเห็นส่วนเล็ก ๆ แบบนี้ที่มันเคลื่อนที่แล้วนำเสนอสิ่งที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด คนจะได้เข้าใจสิ่งที่มันเคลื่อนอยู่ มีพลวัต ไม่ได้ตายตัว รวมถึงสื่อต้องต่อกับคนให้ติด ไม่จำเป็นต้องเป็นงานวิชาการแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เราอาจทำเป็นบทความสั้น ๆ ก็ได้ เสนอให้คนเข้าใจเรื่องนี้ง่าย ๆ จากสิ่งที่เราเห็น​”

— สัพพัญญู วงศ์ชัย​
นักวิชาการอิสระ​

ความเห็นจากการพูดคุยระหว่างกองบรรณาธิการ Lanner กับนักคิด นักวิชาการและศิลปินภาคเหนือ เมื่อเดือนเมษายน 2565 ​

ภาพ: วรรณา แต้มทอง​

#lanner

“ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน มีชีวิตความเป็นอยู่ ภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งมักจะไม่ถูกสะท้อนในสื่อกระแสหลัก

15/05/2022

“ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน มีชีวิตความเป็นอยู่ ภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งมักจะไม่ถูกสะท้อนในสื่อกระแสหลัก สื่อใหญ่มักจะเป็นเรื่องราวของส่วนกลาง ฉะนั้นมันจึงมีความจำเป็นมานานแล้วที่ควรจะมีสื่อที่เป็นของประชาชนภาคเหนือ ที่จะทำให้ชีวิต น้ำเสียง และอำนาจของคนเหล่านี้ ได้ถูกพูดถึง เป็นที่รับรู้ ของคนในภาคเหนือ​

ในปัจจุบันมีสื่อที่ทำเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นประชาธิปไตยมากมาย แต่ไม่มีสื่อหลักที่คนต่างจังหวัดสามารถเข้าถึงจริง มันเป็นเรื่องที่สื่อกระแสหลักป้อนให้ฝ่ายเดียว ​

ถ้าหากเราสามารถสร้างเนื้อหาที่มีความสำคัญ ทำให้สื่อหลักต้องพึ่งเรา ถ้าไปถึงจุดนั้นได้ เราก็จะสามารถกุมกระแสข่าวในต่างจังหวัดให้มีความสำคัญได้ เราต้องเป็นคนที่ต้อง Set Trend ด้วย ไม่ใช่เป็นไปตาม Trend ต้องจุดประเด็นขึ้นมา​”

— ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ​
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่​

ความเห็นจากการพูดคุยระหว่างกองบรรณาธิการ Lanner กับนักคิด นักวิชาการและศิลปินภาคเหนือ เมื่อเดือนเมษายน 2565 ​

ภาพ: วรรณา แต้มทอง​

#lanner

“เรื่องเกี่ยวกับภาคเหนือมันควรจะเป็นเรื่องที่ impact เป็นการทำให้สังคมเปลี่ยน ไม่ใช่ใคร ๆ ก็มองว่าล้านนาเป็นเมืองต๊ะต่อนยอน

14/05/2022

แต่ว่าเราทำให้ล้านนาเป็นพื้นที่ที่สามารถสื่อออกมาเพื่อส่งกระแสทั้งการเมืองหรือเรื่องอื่น ๆ ที่หลากหลาย สามารถเป็นกระบอกเสียงให้สังคมได้”​

— อารยา ฟ้ารุ่งสาง​
นักวิจัยอิสระ​

ความเห็นจากการพูดคุยระหว่างกองบรรณาธิการ Lanner กับนักคิด นักวิชาการและศิลปินภาคเหนือ เมื่อเดือนเมษายน 2565 ​

ภาพ: วรรณา แต้มทอง​

ยืนหยุดทรราชll สัปดาห์ที่ 3​

14/05/2022

วันนี้ 14 พฤษภาคม 2565 เวลา 17.00-18.12 น. กลุ่มพลเมืองเสมอกัน We, The People ได้จัดกิจกรรม #ยืนหยุดทรราชll บริเวณ ท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ โดยการยืนหยุดทรราชในครั้งนี้เป็นการยืนในสัปดาห์ที่ 3​

จุดประสงค์หลักของการยืนหยุดทรราชในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากที่รัฐได้มีการคุมขังประชาชนในระหว่างการสอบสวนและไม่มีสิทธิในการประกันตัว เพื่อเรียกร้องในเรื่องของสิทธิประกันตัวที่เป็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองตามหลักสิทธิมนุษยชน​

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่าตอนนี้ มีผู้ต้องขังทางการเมือง ทั้งหมด 11 คน คือ​

1. เวหา แสนชนชนะศึก ถูกคุมขังระหว่างการสอบสวน ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 2565 ในคดีมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญาและพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าแชร์และโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กจำนวน 2 โพสต์ โดยหนึ่งในนั้นเป็นการแชร์จากเพจเฟซบุ๊ก “เยาวชนปลดแอก”​

2-3. คทาธรและคงเพชร สมาชิกกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถูกคุมขังระหว่างการสอบสวน ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2565 โดยทั้งสองโดนตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ขณะที่กำลังเดินทางจากย่านดินแดงไปยังแยกราชประสงค์ เพื่อร่วมงานรำลึก 12 ปี การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง 10 เมษา 53 #ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม​

4. ปฏิมา อายุ 20 ปี ถูกคุมขังระหว่างการสอบสวน ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2565 หลังจากเดินทางไปเป็นพยานในเหตุปาระเบิดปิงปองใส่สนามหญ้าด้านหน้ากรมทหารราบที่ 1 หลังจากการชุมนุมรำลึกเมษาเลือด #ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2565​

5. “เพชร” พรพจน์ แจ้งกระจ่าง ถูกคุมขังระหว่างการสอบสวน ตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. 2565 หลังจากเข้ามอบตัวที่ สภ.เมืองพิษณุโลก เมื่อวันที่ 11 เม.ย. กรณีที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่มีกลุ่มบุคคลปาระเบิดปิงปองใส่สนามหญ้าด้านหน้ากรมทหารราบที่ 1 หลังจากการชุมนุมรำลึกเมษาเลือด #ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2565​

6.เอกชัย หงส์กังวาน ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลฎีกา ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 2565 หลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในคดี โพสต์เล่าเรื่องเพศในเรือนจำ ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(4) ให้จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ต่อมาวันที่ 22 เม.ย. 2565 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเอกชัย​

7.“ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักศึกษาอายุ 20 ปี ถูกคุมขังจากกรณีการถูกเพิกถอนประกันตัวในชั้นสอบสวน เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2565 ในคดีมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา จากกรณีที่ถูกกล่าวหาจากการไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จบริเวณตรงข้ามองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินและโพสต์และแชร์ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565​

8. สมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดเสื้อแดง ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลอุทธรณ์ ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. 2565 หลังศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาในคดี โพสต์ข้อความ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจ” และข้อความกล่าวถึงการทำตัวใกล้ชิดประชาชนและการแจกลายเซ็น ข้อหามาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (3) ให้จำคุก 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา​

9. “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักศึกษาอายุ 23 ปี จาก #กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ถูกจับตามหมายจับและคุมขังระหว่างการสอบสวน ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 2565 เนื่องจากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว จากเหตุปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 ข้อหามาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต​

10-11. ใบปอ และ เนติพร กลุ่มทะลุงวัง ถูกคุมขังจากกรณีการถูกเพิกถอนประกันตัวในชั้นสอบสวน ในคดีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จที่บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 ข้อหาตามมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา โดยทั้งคู่ถูกถอนประกันในวันที่ 3 พ.ค. 2565 จากเหตุทำโพลอีกครั้งเรื่อง“คุณยินดีที่จะยกบ้านของคุณให้กับราชวงศ์หรือไม่” เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2565​

กิจกรรม #ยืนหยุดทรราชll จะจัดอย่างต่อเนื่องในทุกๆ วันเสาร์ เวลา 17.00-18.12 น. ที่ท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ อย่างต่อเนื่องจนกว่าประชาชนที่ถูกคุมขังจะได้รับการปล่อยตัว​



ภาพ: วรรณา แต้มทอง​

ข้อมูลผู้ต้องขังทางการเมือง: https://web.facebook.com/lawyercenter2014/photos/5010944042288743​

#หยุดละเมิดสิทธิประกันตัว​
#ยกเลิก112

“ปริญญาศักดินา”

13/05/2022

“ทั้งเท็นและนักศึกษาที่ทำกิจกรรมทั้งหมดอยู่ภายใต้บรรยากาศของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ค่อนข้างจะปิดกั้นทางความคิด และไม่เปิดกว้างในด้านเสรีภาพในการแสดงออก ในความคิดเห็นผมคิดว่าการพูดถึงเรื่อง “ปริญญาศักดินา” ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นการพูดถึงใคร แต่เป็นการสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคม การเรียนการสอน ​

และการที่คนคนหนึ่งจะจบไป เขาต้องอยู่ภายใต้ความคาดหวังของผู้คนว่าต้องมีใครมาให้ปริญญา ตัวบั้นปลายของการศึกษาเองถึงไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับความสามารถของนักศึกษา แต่เป็นตัวการันตีความเหลื่อมล้ำและความต่ำสูงของสังคม เพราะฉะนั้นสิ่งที่นักศึกษาพยายามจะวิพากษ์วิจารณ์จึงเน้นไปที่โครงสร้างที่แฝงอยู่ในสังคมนี้มากกว่า ​

ผู้คนที่อยู่ในโครงสร้างประเภทนี้เองก็เขาเคยชิน เฉื่อยชา และเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างเหล่านี้มาตลอด จึงไม่แปลกใจที่เขาจะรู้สึกเจ็บปวดหรือเป็นเดือดเป็นร้อนแทน ​
จริงๆ แล้วสิ่งที่นักศึกษาวิพากษ์วิจารณ์คือเจตจำนงเสรีในการที่จะบอกว่า สิ่งที่เรียกว่าการศึกษาไม่ควรจำกัดอยู่แค่ schooling หรือการเรียนในโรงเรียน แต่ต้องรวมถึง education หรือการศึกษาที่อยู่รายล้อมชีวิตของพวกเรา ทุกอย่างๆ สามารถที่จะเป็นการศึกษาได้ นี่คือการเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้พิสูจน์ตัวเอง ​

สอง ในเชิงคดีความเรื่องนี้จบไปแล้ว ตำรวจได้ทำการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว และผมเป็นพยานให้นักศึกษาได้ เพราะว่าในวันที่เขาเปรียบเทียบปรับผมอยู่ในสถานีตำรวจด้วย ตำรวจเองเขาก็อยากที่จะให้เรื่องจบอย่างรวดเร็วและเป็นการไกล่เกลี่ยเจรจากัน ในวันนั้นผมจำได้ว่าตำรวจเองก็พยายามมีเหตุมีผลค่อนข้างมากและทำหน้าที่จบอย่างรวดเร็ว​

สาม ผมคิดว่าวุฒิภาวะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในตอนนี้ค่อนข้างตกต่ำมาก เขาไม่มีความเป็นผู้ใหญ่ที่ดีพอ เราเห็นภาพชีวิตของนักศึกษาที่มีความคิดก้าวหน้า รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดก้าวหน้า แต่ขณะเดียวกันโครงสร้างของมหาวิทยาลัยกลับเป็นโครงสร้างที่ล้าหลัง พร้อมฉุดเขาให้ถอยหลังตลอดเวลา มหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นสถานบันทางสังคมกลายเป็นสถานบันที่ฉุดรั้งผู้คนให้เสื่อมทรามลงเรื่อยๆ สปิริตของนักศึกษาที่ออกไปพูดเรื่องปริญญาศักดินาจึงกลายเป็นหัวใจสำคัญที่บอกว่ามหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยน​

การกระทำของนักศึกษาในวันนั้นกรณีปริญญาศักดินา และการกระทำของนักศึกษาอีกหลาย ๆ คนคือการกอบกู้ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้สมสถานะสถาบันการศึกษาที่เปิดควรเปิดกว้างทางความคิดและมีเสรีภาพในการแสดงออก​

สุดท้าย โดยส่วนตัวผมผิดหวังเล็กน้อยที่คณะวิจิตรศิลป์กลายเป็นห้องสอบสวน และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กลายเป็นเพียงแค่เบี้ยและหมากให้รัฐเผด็จการพยายามที่จะสั่งการลงมาตลอดเวลา ศักดิ์ศรีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และเกียรติภูมิทางวิชาการลดน้อยถอยลงไปทุกที นักศึกษาในวันนี้ต่างหากที่เขามากอบกู้ชื่อเสียงให้”​

ความเห็นของศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ ต่อกรณีทางผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ตั้งกรรมการสอบวินัยนักศึกษาเท็น ยศสุนทร หลังทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ “ปริญญาศักดินา” ​

ภาพ: วรรณา แต้มทอง​

#lanner

“สื่อท้องถิ่นที่ผลิตข่าวด้วยตนเองแล้วไม่เป็นกระบอกเสียงหรือ Press Release ของภาครัฐยังขาดแคลน สื่อที่มีอยู่และได้รับความนิยมกลับเป็นสื่อเชิงพาณิชย์ มันขาดสื่อที่พูดถึงประเด็นปัญหา เรื่องที่คนในท้องถิ่นควรจะมาสนใจ

13/05/2022

สื่ออาจมองว่าประเด็นเหล่านั้นจะทำให้ความนิยมของเพจลดลง ก็เลยเลือกไม่เล่น ทั้งที่มันเป็นประเด็นที่ควรมีคนสะท้อนออกมา ก็อาจเป็นโอกาสของ LANNER ที่จะเข้ามาเติมเต็มตรงนี้เพื่อสร้างข้อถกเถียงในสังคม ทำให้คนมาสนใจประเด็นปัญหาของตัวเองมากยิ่งขึ้น ​

มันมีปัญหาที่แตกต่างกันไป ภาคเหนือมันใหญ่มาก แต่ละปัญหามันไม่มีคนพูดแทน ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือเรื่อง PM 2.5 เราก็โฟกัสแต่เมืองใหญ่ ๆ มันไม่เห็นจังหวัดเล็ก ๆ ที่เป็นชายขอบ เช่น แม่ฮ่องสอนที่ติดกับพม่า น่านที่ติดกับลาว มันมากกว่าเชียงใหม่ เราต้องการคนที่ส่งเสียงสะท้อนแทนพื้นที่ที่ไกลออกไปจากความเป็นเมือง LANNER สามารถเข้ามาพูดแทนได้ ทำให้ประเด็นปัญหาพวกนี้ถูกหยิบยกขึ้นมา”​

— ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่​

ความเห็นจากการพูดคุยระหว่างกองบรรณาธิการ Lanner กับนักคิด นักวิชาการและศิลปินภาคเหนือ เมื่อเดือนเมษายน 2565 ​

ภาพ: วรรณา แต้มทอง​

บันทึกจากไร่หมุนเวียน: คำถามจากกะเหรี่ยงแม่ส้าน ถึงอนาคต “ไร่ หมุนเวียน” ​

13/05/2022

ชุมชนบ้านแม่ส้าน ตั้งอยู่ในพื้นที่ตําบลบ้านดง อําเภอแม่เมาะ จังหวัดลําปาง ชุมชนเป็นคนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยง บ้านแม่ส้านมีเนื้อที่ทั้งหมดที่ดูแลรักษา 18,102 ไร่ ชุมชนอยู่ห่างจากตัวอําเภอแม่เมาะ 80 กิโลเมตร ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทําไร่หมุนเวียน ทําสวนกาแฟ และมะแข่วนที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของชุมชน​

ชวนซึมซับ #บันทึกจากไร่หมุนเวียน ในมุมมองของพชร คำชำนาญ ที่ได้เดินทางไปพักผ่อนช่วงพักร้อน เพื่อมองดูวิถีชีวิตของคนกะเหรี่ยงที่ไม่รู้ว่าไร่หมุนเวียนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในวันข้างหน้า​

สายวันอาทิตย์ ณ ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้าน

นับเป็นวันที่ 5 แล้ว ตั้งแต่ผมตัดสินใจพาตัวเองออกมาจากชุมชนบ้านกลาง มุ่งตรงสู่ชุมชนบ้านแม่ส้าน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง อันเป็นชุมชนของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งมาอย่างยาวนาน

มื้อเช้าเรียบง่ายของผมประกอบด้วยแกงเนื้อวัวและปลากระป๋อง ทานกับข้าวสวยร้อนๆ ผลผลิตจาก “ฆึ” หรือ “ไร่หมุนเวียน” ของชาวกะเหรี่ยง ฝากท้องไว้ที่บ้านของ “น้องแบงค์” ที่ได้กรุณาให้ผมได้หลับนอนที่บ้านเมื่อคืนนี้

ผมทานอาหารได้มากกว่าปรกติ อาหารถูกปากเป็นพิเศษ ประกอบกับเมื่อคืนแทบไม่มีอะไรตกถึงท้อง ไม่ใช่เพราะพี่น้องดูแลผมไม่ดี แต่เพราะผมดื่มหนักเกินไปหน่อย

ผมนั่งอยู่ที่หน้าบ้านของ “อ้ายนนท์” ณัฐนนท์ ลาภมา ชาวบ้านที่ผมสนิทด้วยที่สุด เราได้พบกันในหลายเวทีเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ อันที่จริงตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปีที่ผมทำงานกับพี่น้องในภาคเหนือ ยังไม่เคยได้มาเยือนชุมชนแห่งนี้แม้เพียงสักครั้ง แต่ได้ยินชื่อมาอย่างยาวนาน ด้วยจุดเด่นที่สามารถเป็นพื้นที่ต้นแบบในการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน

สลัดหัวมึงตึง ทานยาแก้เมาหนึ่งเม็ด อัดเอ็ม 150 หนึ่งขวด สะพายย่ามกะเหรี่ยงสีแดงใบโปรดที่บรรจุด้วยห่อข้าว บุหรี่ เพาเวอร์แบงค์ กระโดดขึ้นมอเตอร์ไซค์ของอ้ายนนท์

วันนี้เราจะไป “หยอดข้าว” ในไร่หมุนเวียนกัน!

ใช้เวลาไม่นาน เราเดินทางกันด้วยมอเตอร์ไซค์ไปที่ไร่หมุนเวียนแปลงเป้าหมาย ไร่หมุนเวียนแปลงนี้อยู่ติดถนน สัญจรง่าย เพียงประมาณ 5 นาทีเราก็เดินทางมาถึงกันแล้ว

วันนี้อยู่บนไร่หมุนเวียนของ “อ้ายบอย” ชาญชัย ลาภมา ขนาดไร่หมุนเวียนประมาณ 3 ไร่กว่า โอบล้อมไปด้วยพื้นที่ “ไร่เหล่า” หรือไร่พักฟื้น และผืนป่าเขียวขจีสุดลูกหูลูกตา

สภาพหญ้าและวัชพืชอื่นๆ เริ่มขึ้นให้เห็นชัดเจน ภายหลังฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องทั้งเดือน ชาวบ้านน่าจะต้องลงแรง “เอาหญ้า” กันอย่างหนักหลังข้าวเริ่มงอก อีกหนึ่งผลพวงจากมาตรการห้ามเผาที่บีบให้ชาวบ้านต้องชิงเผาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งถือว่าเร็วเกินไปมาก เมื่อต้องปล่อยพื้นที่ทิ้งไว้นานเกินไปสภาพก็จะเป็นเช่นนี้

บรรพบุรุษของชาวกะเหรี่ยงออกแบบปฏิทินไร่หมุนเวียนมาอย่างดี แท้ที่จริงชาวบ้านควรจะได้เผาไร่ตามวิถีดั้งเดิม คือเดือนมีนาคม และหยอดข้าวช่วงปลายเดือนเมษายน หญ้าก็จะไม่มาก ขี้เถ้าที่เป็นปุ๋ยธาตุตามธรรมชาติก็จะยังอยู่ครบ

ชีวิตที่ออกแบบเองไม่ได้จากมาตรการของรัฐเช่นนี้ ไม่ต่างอะไรกับการอยู่ใต้อาณานิคมของกรมอุทยานฯ

ในเบื้องต้น ผู้ชายจะหาไม้ไผ่ขนาดเหมาะมือ ตัดให้ยาวประมาณ 2.5 เมตร สำหรับเป็นด้ามเสียม เสียมที่ใช้ขุดนี้จะขุดหน้าดินเพียงเล็กน้อยสำหรับเป็นหลุมให้หยอดเมล็ดพันธุ์ได้ โดยที่ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะเป็นคนหยอด

กะจากสายตา วันนี้เรามีแรงงานชาวบ้านมาช่วยกันประมาณ 30 คน เป็นระบบที่เรียกว่าการ “เอามื้อ” ไม่ต้องจ้างแรงงานกันด้วยเงิน แต่เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน บ้านไหนมาเอามื้อ หากบ้านนั้นมีกำหนดการหยอดข้าว เจ้าของไร่อย่างอ้ายบอยและครอบครัวก็ต้องไปเอามื้อ หรือ “ใช้แรง” กลับ

เสียมพร้อม เมล็ดพันธุ์พร้อม แรงพร้อม ที่สำคัญใจพร้อม เริ่มหยอดข้าวได้

เมล็ดพันธุ์ถูกผสมลงกระสอบ ตั้งแต่ข้าว งาขาว งาดำ และดอกหงอนไก่

ดอกหงอนไก่ หรือ พอวอ คือดอกไม้อันเป็นสัญลักษณ์ของไร่หมุนเวียน มีทั้งสีเหลือง สีแดง สีส้ม หรือสีม่วง ดอกหงอนไก่นี้เสมือนเป็นขวัญของไร่หมุนเวียน โดยชาวกะเหรี่ยงที่นี่จะเชื่อกันว่า หากปีไหนที่ดอกหงอนไก่ออกดี ข้าวจะงามตามไปด้วย

“เมล็ดพันธุ์ต้องเก็บปีต่อปี ถ้าเก็บไว้นานเกินไปข้าวมันจะแข็งตัว แล้วไม่ค่อยงอก”

อ้ายนนท์เล่าให้ฟัง แล้วเพิ่มเติมข้อมูลว่า พื้นที่ 1 ไร่ ใช้ข้าว 1 ถัง เชื้อข้าว 1 ถัง หากได้ผลผลิตดี จะกลายเป็นเมล็ดข้าวอีก 40-50 ถัง ซึ่งนั่นหมายความว่าในพื้นที่ขนาด 3 ไร่ของอ้ายบอยนี้ ขีดสุดของผลผลิตจะอยู่ที่ข้าว 150 ถัง ซึ่งเพียงพอต่อการบริโภครวมถึงแบ่งปันให้คนอื่นด้วย

“เช่นไร่ของน้องเบล (ชาวบ้านคนหนึ่ง) ปีที่แล้วได้ข้าวเป็นร้อยกระสอบ กินไม่หมด ก็ต้องเอาไปแบ่งให้ญาติๆ กิน คือเขาไม่ต้องทำไร่ปีนี้ยังได้เลย” อ้ายนนท์กล่าว

นี่คือระบบการผลิตอาหารที่มั่นคงที่สุด ไม่ใช่ทุกครัวเรือนที่จะมีที่นา พวกเขาอาศัยไร่กมุนเวียนนี้เองในการหล่อเลี้ยงชีวิต หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ

ทันใดนั้นถ้อยคำของ “พะตี่จอขละ ต้นน้ำเพชร” ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ก็ลอยเข้ามาในหัว

“ถ้ามีข้าวกิน ไม่ต้องเป็นห่วงอะไรสักอย่าง” 

เมล็ดพันธุ์เมล็ดแล้วเมล็ดเล่าถูกหยอดลงสู่หลุมรอวันเติบโต คงจริงอย่างที่พะตี่จอขละว่า ชาวบ้านที่นี่ไม่ต้องห่วงอะไรซักอย่างเพราะมีข้าว ต่างจากบางกลอยสิ้นเชิง

แต่ว่าพะตี่จะได้กลับไปปลูกไร่ข้าวอีกไหม ยังเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ 

เสียงเพรียกถึงอนาคต ความมั่นคงของชีวิตในกำมืออุทยานฯ

นับแต่ปี 2534 ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีแผนประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไททับพื้นที่ชุมชน อาจนับเป็นวันแรกแห่งฝันร้ายของชุมชน และไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงก็ตกเป็นเป้าหมายหลักในการทวงคืน

“ถ้าอุทยานฯ ประกาศแล้ว การทำไร่หมุนเวียนจะมีปัญหา เจ้าหน้าที่อุทยานฯ จะมารุกล้ำเรา วันนั้นอุทยานฯ ก็จะมาขอพื้นที่ไร่หมุนเวียนคืน นี่ขนาดไม่ได้ประกาศอุทยานฯ นะ ยังเตรียมการ ถ้าประกาศแล้วจะขนาดไหน ผมคิดว่าปัญหาในการทำไร่หมุนเวียนคงมีจริงๆ” นัฐวุฒิ กาหลง หรือ “อ้ายก๋อ” ชาวบ้านแม่ส้านกล่าว

อ้ายก๋อยังกล่าวต่อว่า ทุกวันนี้อุทยานฯ เขาขอคืน ถ้าประกาศอุทยานฯ แล้ว คงกลายเป็นดำเนินคดี ชาวบ้านจะเดือดร้อนไม่มีที่ดินทำกิน 

ผมถามอ้ายก๋อต่อ ว่าหากอุทยานฯ ยื่นข้อเสนอให้จำกัดรอบหมุนเวียน ปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือทำนาแทนจะได้ไหม

“บางคนเขาไม่มีพื้นที่ราบ เขาจะทำนาได้อย่างไร ชาวบ้าน 30-40 เปอร์เซ็นต์เขาไม่มีที่ราบ เขาทำนาไม่ได้หรอก เขาต้องทำไร่หมุนเวียน”

อ้ายก๋อเสริมว่า ในไร่หมุนเวียนมีผักหลายอย่าง มีพริก ถั่ว แตง ถ้าไปทำนา ผักพวกนี้ปลูกไม่ได้ อนาคตเราก็ต้องใช้เงินซื้อพริก มะเขือ ผัก ไร่หมุนเวียนเราไม่ได้มีแค่ข้าว เรามีหลายอย่าง เรามีทุกอย่างเพื่อให้คุ้มกับการถางไร่หนึ่งครั้ง

“ถ้ามาจำกัดรอบหมุนเวียน พืชผักก็ไม่สวยงาม หญ้าเยอะ นี่เราไม่ใช้สารเคมีเลยนะ เราเอาหญ้าด้วยมือ ใช้เกลือบ้าง ซึ่งเราก็มีการลงทุน แต่เทียบไม่ได้กับการต้องใช้สารเคมี ดินจะเสีย ข้าวไม่งาม เป็นอันตรายด้วย” อ้ายก๋ออธิบาย 

ไร่เหล่ายังคงเจริญเติบโต ดูดซับคาร์บอนจากการเผาไร่ปัจจุบัน อีกไม่นานไม้คงใหญ่จนกลายเป็นพื้นที่ป่า พร้อมให้อุทยานฯ กล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่

ถูกต้องดังที่พะตี่จอขละว่าส่วนหนึ่ง มีข้าวไม่ต้องกังวลอะไร แต่ชาวบ้านแม่ส้านได้ตอบออกมาแล้วว่าความกังวลยังคงมี

นั่นคือแนวทางการจัดการป่าอุทยานไทย ที่ยังไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชน

การต่อสู้จึงยังดำรง การเรียกร้องจึงยังมีอยู่ โดยมีปากท้องและอนาคตของลูกหลานเป็นเดิมพัน 


หลังถวายหัวข้าวเสร็จ พวกเรารับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน กับข้าววันนี้ประกอบด้วยแกงฟักใส่ไก่และต้มปลาทู

ทานข้าวเสร็จ พักผ่อนสักครู่ พวกเราก็พากันไปหยอดข้าวต่อ จนเวลาบ่ยโมงงานลุล่วงจึงเดินทางกลับบ้าน 

สายลมพัดเอื่อย ฝนตั้งเค้าอีกครั้ง เป็นสัญญาณว่าเมล็ดพันธุ์ที่เพิ่งหยอดไปสักครู่จะงอกงาม ชาวบ้านจะยังคงมีข้าวกิน

และเป็นสัญญาณว่า “กะเหรี่ยง” จะยังคงดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ในผืนป่า ดูแล รักษา ควบคู่กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

หากวันข้างหน้าและปีต่อๆ ไป เราไม่อาจรู้… 



เรื่องและภาพ: พชร คำชำนาญ​
#บันทึกจากไร่หมุนเวียน