“เอาะ มึ โอะเก” เป็นภาษาปกาเกอะญอที่มีความหมายว่า มาร่วมมื้ออาหารอย่างเอร็ดอร่อยด้วยกัน เป็นเหมือนการเชื้อเชิญที่แสนสามัญ นอกจากความหมายดังกล่าวแล้ว ยังเป็นชื่อของกิจกรรม ‘Equal space : เอาะ มึ โอะเก’ ที่จัดโดย เครือข่ายเยาวชนชาติพันธุ์ภาคเหนือ (คชน.) ร่วมกับ SYSI สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม ที่อยาก ‘ร่วมมื้อ’ ชวนเพื่อนเยาวชนชาติพันธุ์กลุ่มต่าง ๆ ให้มาพูดคุย ให้เห็นเพื่อน ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างกัน เข้าใจตัวตน คุณค่าและวัฒนธรรม ผ่านมื้ออาหารบนความแตกต่างหลากหลายที่ไม่เดียวดาย ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา ณ เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ที่กำลังก่อร่างสร้างใหม่ให้กลายเป็น ‘พื้นที่กลาง’ ที่จะเปิดพื้นที่ให้เยาวชนชาติพันธุ์สามารถเข้ามาใช้ในการทำกิจกรรมได้ในอนาคต

(ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี)

เหนก-สุขศรี ชิติพัทธ์ ตัวแทนจากเครือข่ายเยาวชนชาติพันธุ์ภาคเหนือ มองเห็นข้อจำกัดที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่ม จึงเล็งเห็นโอกาสที่จะได้ทำงานขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กับกลุ่มเยาวชนชาติพันธุ์ จึงได้ก่อตั้ง “เครือข่ายเยาวชนชาติพันธุ์ภาคเหนือ (คชน.)” ขึ้น เพื่อเป็นเครือข่ายที่จะเชื่อมโยงกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่าง ๆ ในภาคเหนือให้ได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงร่วมกันทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ โดยที่เป้าหมายแรก คือการพัฒนาพื้นที่ของ เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) ที่ถูกใช้เป็นพื้นที่พบปะหลัก ๆ ในปัจจุบัน ให้กลายเป็นพื้นที่ส่วนรวม สำหรับเปิดโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่าง ๆ เข้ามารังสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ และร่วมกันดูแลพื้นที่ส่วนดังกล่าวเพื่อในอนาคต พื้นที่ส่วนรวมนี้จะกลายเป็นพื้นที่ที่สามารถดูแลตัวเองได้ในที่สุด

“หลายคนเราเคยไปค่ายจากดอยสู่เลเมื่อปีที่แล้ว นั่งรถไฟจากเชียงใหม่ ไปเรียนรู้ระบบนิเวศที่ชลบุรี ไปเจอเพื่อน ๆ เยาวชนที่ระยอง ขากลับเราก็คุยกันต่อว่าเราน่าจะพัฒนากันเป็นเครือข่ายเยาวชนชาติพันธุ์ มีดอยสู่เลแล้ว ก็ทำดอยสู่ดอยไปเจอกันเองบ้าง หากิจกรรมทำกันต่อ และที่สำคัญคือทุกคนโหยหาพื้นที่ตรงกลาง ที่จะให้มาเจอกัน เพราะกลุ่มชาติพันธุ์มันจะมีปัญหาอย่างหนึ่ง คือระยะทาง ข้อจำกัดทางการสื่อสาร เวลาจะมาเจอกันมันก็ยาก มันเลยเป็นความคาดหวังว่ากลุ่มเยาวชนชาติพันธุ์จะสามารถรวมกลุ่มกันได้จริง ๆ ไม่ใช่แค่เจอกันครั้งนี้จบแล้วก็จบไป ครั้งนี้เราเจอกันโดยการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอาหาร ครั้งหน้าก็อาจจะไปทำอย่างอื่นต่อก็ได้”

เหนก-สุขศรี ชิติพัทธ์ (ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี)

กิจกรรมดังกล่าวเป็นการรวมตัวกันของผู้คนหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง, ไทใหญ่, ปกาเกอะญอ เพื่อน ๆ ชาวเมียนมา รวมไปถึงกลุ่มเยาวชนอย่าง Shan Youth และเพื่อน ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงที่สนใจมาร่วมด้วยเช่นเดียวกัน

แน่นอนบนความหลากหลายนี้ การพูดคุยเพื่อรู้จักกันให้มาก เกี่ยวก้อยกันให้ได้ดีที่สุดคงจะเป็นบทสนทนา ‘Speed Dating’ จึงเป็นกิจกรรมสุดน่ารักที่ถูกเลือกมาใช้ ในการเจอกันครั้งแรกของหลายคน เริ่มจากการแนะนำตัวเอง เป็นใครมากจากไหน ชาติพันธุ์อะไร อาหารที่อยากแนะนำให้เพื่อนได้รู้จัก ก่อนที่จะชวนกันไปลงมือตระเตรียมการประกอบอาหารชาติพันธุ์ สร้างสรรค์อาหารมื้อพิเศษในครั้งนี้

(ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี)

ข้าวเบอะจากเพื่อนปกาเกอะญอที่ถ่ายทอดเรื่องราวการทำไร่หมุนเวียนและการนำวัตถุดิบในพื้นที่มาหุงพร้อมกับข้าวเข้าด้วยกัน ต้มไก่สมุนไพรสูตรลับของคนม้งที่เป็นการนำสมุนไพรหลากหลายชนิดนำมาต้มรวมกับไก่ในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร  ยำใบชาของเพื่อนไทใหญ่ที่นำมาปรับรสชาติให้ทุกคนไม่ว่าชนชาติใดก็สามารถเข้าถึงเมนูนี้ได้อย่างง่าย ๆ รวมไปถึงเต้าฮู้ทอดใส่ไส้จากเพื่อน ๆ เมียนมา ที่ได้นำมาแลกเปลี่ยนกันและกัน ทั้งวัตถุดิบ กรรมวิธี รวมไปถึงกลิ่นและรสชาติ สิ่งเหล่านี้ได้หลอมรวมให้ทุกคนให้ได้รู้จักกัน และถ่ายทอดให้เห็นถึงวิถีชีวิตของแต่ละชาติพันธุ์ ราวกับว่าอาหารเป็นดั่งเครื่องมือในการพูดคุยแลกเปลี่ยน เหมือนความสามัญธรรมดาที่ผูกมัดหัวใจทุกคนได้อย่างไม่ยากนัก พร้อม ๆ กับช่วงเวลาบรรเลง “เตหน่า” เครื่องดนตรีวิถีปกาเกอะญอ ที่เพิ่มพูนความหมายของเอาะ มึ โอะเก ให้อิ่มเอมใจ

ฟิลลิป-ธดาพงศ์ เสนาะพรไพร เยาวชนปกาเกอะญอ (ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี)

ฟิลลิป-ธดาพงศ์ เสนาะพรไพร เยาวชนปกาเกอะญอ หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้เล่าถึงที่มาของตนในการขับเคลื่อนงานเยาวชนชาติพันธุ์ว่าตนมีความสนใจในเรื่องราวเหล่านี้ เพราะตนก็เป็นคนชาติพันธุ์ที่เห็นถึงโอกาสที่ไม่เท่ากับคนในพื้นที่เมือง รวมไปถึงการลิดรอนสิทธิในการจะมีชีวิตบนวิถีทางของคนชาติพันธุ์ที่มักจะถูกสกัดกั้นอยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้ฟิลลิปยังให้ความสำคัญกับการมี ‘พื้นที่กลาง’ ในการที่เยาวชนชาติพันธุ์สามารถมาเจอกัน มาพูดคุยแลกเปลี่ยน หรือทำกิจกรรมทางสังคมได้ เพราะเชื่อว่านี่คือวิถีทางที่มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ในอนาคต และเห้นว่าที่ตรงนี้ เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) มีศักยภาพที่จะเป็นพื้นที่กลางได้

ธดาพงศ์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นมาจากการต่อรองของกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่าง ๆ เมื่อราว 30 ปีก่อน ที่ร่วมกันต่อรองเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานให้มีเท่า ๆ กันกับคนในเมือง หลังมีการขับไล่กลุ่มชาติพันธุ์ออกจากป่าในช่วงเวลานั้น ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ก็ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 3 ทศวรรษแล้วก็ตาม

ผลจากหลายปัจจัยที่เชื่อมโยงชาวชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มเข้าด้วยกัน ผนวกกับความผูกพันที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในค่ายเยาวชนจากดอยสู่เล กลายเป็นจุดเชื่อมต่อชาวชาติพันธุ์ให้เข้ามาทำกิจกรรมขับเคลื่อนไปพร้อมกันในพื้นที่ของเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) ธดาพงศ์ มองว่าพื้นที่ทุกพื้นที่ล้วนมีพัฒนาการ มันเป็นจังหวะอันดี ถ้ามีพื้นที่ที่เป็นกระบอกเสียงในการต่อรอง สู่พื้นที่ที่จะรวบรวมเอกลักษณ์และศักยภาพของคนชาติพันธุ์เอาไว้ และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มได้เข้ามาทำความเข้าใจซึ่งกันและกันในการพัฒนาพื้นที่

“เป้าหมายสูงสุดมันต้องไปให้ถึงการสร้างสภาเยาวชนชาติพันธุ์ภาคเหนือ เพื่อเป็นกระบอกเสียงสำคัญที่จะมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน”

ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี

ทั้งนี้ สุขศรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าตอนนี้กำลังระดมความคิดในการพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งต้องอาศัยแรงและเวลา รวมไปถึงทุนสนับสนุนอีกมาก โดยยังได้ทิ้งท้ายไว้ว่าถ้ามีความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่นี้สามารถติดตามต่อได้ที่เฟซบุ๊กเพจ เครือข่ายเยาวชนชาติพันธุ์ภาคเหนือ (คชน.)

หวังว่าครั้งหน้าเราจะได้ “เอาะ มึ โอะเก” กันบนพื้นที่กลางที่เต็มไปด้วยความคิดความฝันที่ก่อให้เกิดรูปธรรมของเยาวชนชาติพันธุ์ไปด้วยกัน

ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี