ตอบบางคำถามที่น่าสนใจ
ก่อนที่เราจะเดินหน้า มีคำถามบางข้อจากคนสงสัย เช่น หนึ่ง เหตุใดผู้นำการรื้อฟื้นเวียงเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2339 (ครบรอบวาระ 500 ปีสร้างเมืองเชียงใหม่พญามังรายในปี พ.ศ. 1839) และการนำขบวนกอบกู้ล้านนาโดยเฉพาะเชียงใหม่จากพม่า การระดมสะสมกำลังเตรียมการรื้อฟื้นเมืองเชียงใหม่ซึ่งใช้เวลาราว 20 ปี (พ.ศ. 2319-2339) เวียงป่าซาง ก่อนการกลับรื้อฟื้นเวียงเชียงใหม่ในปี 2339 จึงเป็นฝีมือการนำของพญากาวิละ ซึ่งเป็นคนลำปาง แต่เหตุใดจึงไม่มีผู้นำคนเชียงใหม่มาดำเนินการนี้
คำตอบคือ มีผู้นำชาวเชียงใหม่คือ พญาจ่าบ้าน (ต่อมาได้รับตำแหน่งเป็นพระญาวชิรปราการเอกสารระบุว่า ทั้งวชิรปราการและกาวิละร่วมมือกันสู้กับพม่าแล้วไปขอกำลังเจ้าตากมาร่วมสู้ด้วย ครั้นขับไล่พม่าออกไปได้ พระเจ้าตากสินได้แต่งตั้งทั้ง 2 คนนี้เป็นพญากาวิละ และพญาวชิรปราการ ตามลำดับแล้วให้ช่วยกันบริหารและบูรณะเวียงเชียงใหม่ที่ทรุดโทรมอย่างหนักและประชากรถูกกวาดต้อนไปพม่า หรือหลบหนีสงครามไปเมืองอื่น ๆ จนแทบกลายเป็นเมืองร้าง
เจ้าตากกลับไปสถาปนาธุนบุรีเป็นนครหลวงแทนอยุธยาที่เสียหายหนักมาก ทิ้งทหารส่วนหนึ่งช่วยราชการที่เชียงใหม่ ปรากฏว่าทหารหลายคนที่จากบ้านมาไกลได้ฉุดหญิงสาวท้องถิ่นไปหลาย ๆ ครั้ง ผู้คนและครอบครัวเดือดร้อน จนในที่สุดผู้นำล้านนาทั้ง 2 ก็จับกุมทหารพลัดบ้านเหล่านั้นและลงโทษขั้นเฉียบขาด ความทราบถึงกรุงธนบุรี ทราบว่าคนสนิทหลายคนถูกผู้นำที่เชียงใหม่ลงโทษขั้นรุนแรง ก็มีคำสั่งให้ผู้นำทั้ง 2 ลงไปรายงานตัว ผู้นำทั้ง 2 ไม่ไปแม้จะถูกเรียกหลายครั้ง จนในที่สุดก็เดินทางไป ทำให้พระเจ้ากรุงธนบุรีกริ้วมาก จึงสั่งให้ลงโทษด้วยการตัดขอบใบหูตรงของผู้นำล้านนาทั้ง 2 คนในฐานไม่รับฟังคำสั่ง เรียกแล้วทำเป็นไม่ได้ยิน จากนั้นก็ให้กักขังไว้
เอกสารระบุว่าพระญาวชิรปราการเสียชีวิตในคุก ต่อมา พญากาวิละทำหนังสือขอรับผิดและขอแก้ตัวด้วยการอาสานำกองทัพขึ้นเหนือเพื่อไปกวาดต้อนคนไท/ไตในแถบเชียงตุงและสิบสองปันนาลงมาเสริมกำลังของล้านนา เพราะจำนวนไพร่พลในตอนนั้นมีไม่มากนัก และกองทัพจากสยามก็ไปร่วมภารกิจนั้นด้วย ส่งผลให้มีการกวาดต้อนพี่น้องไท/ไต ลงมาหลายครั้ง ดังที่เอกสารระบุว่านั่นคือ “ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ส่งผลให้ล้านนาเป็นดินแดนพหุวัฒนธรรมอย่างมากในเวลาต่อ ๆ มา
อนึ่ง ไม่พบเอกสารใดระบุสาเหตุการตายในคุกของพญาจ่าบ้าน ผู้นำเชียงใหม่คนนี้แข็งกร้าวมาก หรือมีปัญหาสุขภาพจึงจบชีวิตลง หรือมีทีท่าไม่ยอมรับคำสั่งจากระดับใดของสยามยุคนั้น หรือส่งแววจะก่อกบฏ ฯลฯ แต่ที่ชัดเจนคือ พระญากาวิละขอแก้ตัวสร้างผลงานอีกทั้งมีพี่น้องชายรวมกันถึง 7 คน หญิง 3 คนที่เรียกกันต่อมา “เจ้าเจ็ดตน” หรือ “เชื้อเจ็ดตน” ที่ลูกหลานได้เป็นผู้นำของเมืองอื่นๆในล้านนาและใช้ชื่อสกุลนี้ ก็ยิ่งส่งผลให้สกุลผู้นำจากลำปางชุดนี้มีบทบาทสำคัญออกไปอีกนับศตวรรษในล้านนา โดยเฉพาะในเขตเมืองเชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง
ภาพรวมของบทบาทของประเทศล่าอาณานิคมในภูมิภาครอบ ๆ สยาม-ล้านนา
ก่อนที่เราจะขยับเข้าไปถึงสยามและล้านนา เราควรมองภาพของประเทศล่าอาณานิคมที่สำคัญในภูมิภาคนี้พอสังเขปิ กล่าวในภาพรวม ประเทศในยุโรปตะวันตกซึ่งอยู่ในเขตหนาวมีทรัพยากรที่จำกัดในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ ด้วยเหตุนี้ เราจะพบว่าประเทศเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส ดัช เยอรมนี สเปน และโปรตุเกส ล้วนมองหาแหล่งวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติต่างๆที่พวกเขาขาดแคลนและอยากได้ เช่น ชา ฝิ่น กาแฟ ผ้าชนิดต่าง ๆ เกลือ สมุนไพรสารพัดชนิดเพื่อใช้ในการปรุงเป็นยารักษาโรค ส่งเสริมสุขภาพของร่างกายและอารมณ์ความรู้สึกแต่ละด้าน รวมทั้งการนำมาประกอบอาหาร อันมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตในเขตหนาว
บันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล (Marco Polo, 1254-1324 พ.ศ. 1797-1867) พ่อค้าและนักเดินทางชาวเวนิส ที่เล่าเรื่องการเดินทางยุโรปใต้ผ่านเอเชียกลางขึ้นไปถึงจีน ในระหว่างปี ค.ศ. 1271-1295, พ.ศ. 1814-1838) กระทั่งบรรยายถึงเปอร์เซีย, อินเดีย และญี่ปุ่น และทั้งหมดที่มาร์โค โปโลกล่าวถึงล้วนอุดมสมบูรณ์ด้วยสินค้าและทรัพยากรต่าง ๆ ที่ชาวยุโรปตะวันตกโหยหาทั้งสิ้น และนี่คือปัจจัยที่เร่งเร้าให้ชาวยุโรปบุกออกไปแสวงหาสินทรัพย์เหล่านี้ และแน่นอน การได้ครอบครองสิ่งเหล่านั้นเพื่อชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ต่อ ๆ ไปภายหน้า
ในที่นี่ จะขอพูดถึงบทบาทเฉพาะอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกาที่เข้ามามีในภูมิภาครอบๆสยามในห้วง 200 ปีก่อนที่จะถึงปี พ.ศ. 2442 ซึ่งรวมสยามกับล้านนาเข้าด้วยกัน
กรณีอังกฤษ ในช่วงปี ค.ศ. 1800-1899 (พ.ศ. 2342-2442) ก็คือคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็คือกลางสมัยรัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2325-2352) จนถึงตอนกลางสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411-2453) นี่ก็คือจุดสูงสุดของการแสวงหาอาณานิคมออกไปทั่วทุกทวีป
ค.ศ. 1837-1901 (พ.ศ. 2380-2443) พระราชินีวิคตอเรียครองราชย์ ของอังกฤษ นานถึง 64 ปี อนึ่ง ระบอบการปกครองของอังกฤษในระหว่างนั้น เป็นระบอบประชาธิปไตย ที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
ค.ศ. 1639 (พ.ศ. 2204) อังกฤษเข้ายึดครองเมืองท่าสำคัญตอนใต้ของอินเดีย คือ เชนใน (มัทราส) เป็นจุดแรก ค.ศ. 2204 (พ.ศ. 1661) อังกฤษเข้ายึดเมืองท่าสำคัญจุดที่ 2 คือมุมไบ (บอมเบย์) ฝั่งตะวันตก และเมืองท่าสำคัญจุดที่ 3 คือ กลกะตา (กัลกัตตา) ที่ฝั่งตะวันออกในปี ค.ศ. 2222 (พ.ศ. 1677)
ภายใต้การนำของบริษัทที่ชื่อ อีสต์ อินเดีย (East India Company -EIC ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1600 – 1874) บริษัทเอกชนของอังกฤษที่มีทหารของตนเอง จำนวนถึง 2.6 แสนคน มีขนาดใหญ่กว่ากองทัพของอังกฤษ ถึง 2 เท่า นี่คือบริษัทที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลอังกฤษ ดำเนินนโยบายหลายอย่างร่วมกัน แต่นโยบายล่าอาณานิคมของอังกฤษ ใช้บริษัทนี้นำปฏิบัติการสำคัญทั้งหมด
ในปี ค.ศ. 1757 (พ.ศ. 2300) หรือ 10 ปีก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 อังกฤษได้ควบคุมดินแดนรอบอ่าวเบงกอลซึ่งเป็นด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียแถบกัลกัตตาได้หมดแล้ว เท่ากับว่าอังกฤษใกล้ที่จะเข้าไปยึดกุมการนำทั่วทั้งอนุทวีปอินเดีย และแล้วในปี พ.ศ. 2401 การบริหารทั่วอนุทวีปอินเดียก็อยู่ในมือของอังกฤษ.