Lanner เปิดพื้นที่ในการขยายพื้นที่สื่อสาร โดยความคิดเห็นไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ สามารถส่งมาได้ที่ lanner.editor@gmail.com
เรื่อง: นาวินธิติ จารุประทัย
“นักโทษชั้น 14” คือประเด็นยอดฮิตตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถูกพูดถึงในเชิงประชดประชันกันอย่างกว้างขวางในประเทศไทย ชนิดที่ว่า พูดถึงชั้น 14 แล้ว ก็นึกถึงเรื่องอื่นไม่ได้ไปสักพัก ประเด็นดังกล่าวถูกถกเถียงไปทั่ว ล่าสุดได้มีการนำไปอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรไทยในญัตติการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ของนายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งได้อภิปรายถึงประเด็นดังกล่าวเพื่อตั้งแง่ต่อการเลือกปฏิบัติในกระบวนการดูแลรักษาผู้ต้องขังจากอาการป่วย และกระบวนการพิจารณาอนุญาตพักโทษตามเงื่อนไขของกรมราชทัณฑ์ โดยมีผู้ให้คำตอบต่อประเด็นดังกล่าวคือพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม [1] แม้คำอภิปรายของส.ส. ที่เต็มไปด้วยรายละเอียด และคำตอบของรัฐมนตรีที่ให้แก่สภาผู้แทนราษฎรนั้นอาจดูเป็นการถามตอบทั่วไปเกี่ยวกับสภาวะทางสุขภาพของผู้ต้องขังคนหนึ่งที่ถูกสังคมสงสัยว่าได้รับสิทธิพิเศษ แต่ทว่า เนื้อหาที่ปรากฏต่อสาธารณะเกี่ยวกับข้อมูลทางสุขภาพและข้อมูลอื่น ๆ ของผู้ต้องขังคนดังกล่าว อาจแฝงไปด้วยหลากหลายสิ่งที่ถูกละเลยออกจากความสนใจของผู้คน และยากต่อการท้าทายในฐานะ “วาทกรรมการแพทย์” ซึ่งจะถูกอภิปรายในบทความนี้
เนื้อหาคำอภิปรายของวาโย
3 เมษายน 2024 วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายกลางที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงข้อสงสัยในการเลือกปฏิบัติในกระบวนการดูแลรักษาผู้ต้องขังจากอาการป่วย และกระบวนการพิจารณาอนุญาตพักโทษตามเงื่อนไขของกรมราชทัณฑ์ โดยได้อภิปรายถึงกระบวนการที่เกิดการบังคับใช้กับผู้ต้องขังรายหนึ่ง อย่างไม่ได้มีการระบุชื่อ แต่เป็นที่ทราบกันดีโดยสาธารณะว่าวาโยกำลังหมายถึง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้เดินทางกลับมายังประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2023 ก่อนถูกควบคุมตัวไปรับฟังคำตัดสินของศาล และพาตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ท่ามกลางคำครหาถึงการมี “ดีลลับ” เพื่อแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือทางกระบวนการยุติธรรมสำหรับหลายคดีกับผลประโยชน์ทางการเมือง หลังสถานการณ์ฝุ่นตลบที่ตามมาจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดของประเทศไทย โดยเมื่อทักษิณได้เข้ารับโทษที่เรือนจำช่วงเย็นวันเดียวกัน ทักษิณก็ได้รับการส่งตัวไปรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลตำรวจอย่างรวดเร็วเมื่อเวลาเกือบเที่ยงคืน พร้อมเสียงวิจารณ์คับคั่งจากสาธารณะถึงการได้รับสิทธิพิเศษจากการดูแลดังกล่าว [2] [3]
วาโยอภิปรายบนสมมติฐานที่ว่า “ทักษิณป่วยจริง และบุคลากรการแพทย์ในกระบวนการก็ปฏิบัติงานตามมาตรฐาน” โดยเริ่มต้นที่การอธิบายถึงกระบวนการดูแลรักษาและส่งต่อผู้ต้องขังไปยังสถานพยาบาลอื่นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กระบวนการดังกล่าวเริ่มต้นที่การรับทราบอาการป่วยของผู้ต้องขังโดยผู้คุม ซึ่งจะต้องรายงานไปยังผู้บัญชาการเรือนจำให้รับทราบเพื่อส่งตัวผู้ต้องขังให้สถานพยาบาลในเรือนจำรักษาต่อไป และเมื่อสถานพยาบาลในเรือนจำไม่มีแพทย์เฉพาะทาง หรือเครื่องมือที่มีศักยภาพพอสำหรับการรักษา หรือรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์ผู้ดูแลสามารถรายงานผู้บัญชาการเรือนจำอีกครั้งเพื่อแจ้งผู้คุมให้นำตัวผู้ป่วยไปรักษาที่สถานพยาบาลภายนอกเรือนจำที่มีศักภาพในการรักษามากกว่า โดยจะต้องเริ่มจากการพิจารณารักษาในสถานพยาบาลภายนอกเรือนจำในฐานะผู้ป่วยนอกก่อน แต่หากแพทย์ผู้รักษาในสถานพยาบาลแห่งนั้นพิจารณาแล้วเห็นถึงความจำเป็นในการเข้ารักษาตัวภายในสถานพยาบาลที่ตนสังกัด จะต้องให้ความเห็นไปยังผู้คุมเพื่อรายงานให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิจารณาอนุญาตต่อไป
หลังจากนั้นว่าโยได้ทำการวินิจฉัยแยกโรค (Differential diagnosis) ออกเป็น 6 โรคในระบบหัวใจและหลอดเลือดที่อาจมีภาวะฉุกเฉินบางประการได้ โดยพิจารณาจากประวัติของทักษิณที่ถูกเผยแพร่บางส่วน (ผู้ป่วยชาย อายุ 74 ปี มีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีอาการแน่นหน้าอก 1 ชั่วโมงก่อนมาโรงพยาบาล ตรวจพบความดันโลหิตสูงและความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดต่ำ โดยไม่มีค่าแน่ชัดที่ถูกเผยแพร่แก่สาธารณะ) ก่อนกล่าวถึงการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมที่จำเป็น เพื่อตั้งสมมติฐานถึงศักยภาพของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ที่เป็นสถานพยาบาลขนาด 500 เตียง (ทั่วประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 14 -15 แห่ง) ซึ่งถูกจัดเป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิตามสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อันมีหน้าที่รับดูแลผู้ป่วยจากสถานพยาบาลปฐมภูมิ โรงพยาบาลดังกล่าวมีแผนกที่ดูแลผู้ป่วยเกือบครบทุกแผนก ตั้งแต่ สูตินรีเวชกรรม ศัลยกรรม อายุรกรรม ออโธปิดิกส์ ทางเดินปัสสาวะ หูคอจมูก จิตเวช ฯลฯ โดยวาโยประเมินว่าศักยภาพของโรงพยาบาลดังกล่าวนั้นน่าจะสามารถทำการตรวจวินิจฉัยที่จำเป็นสำหรับทักษิณได้เกือบครบครันจนถึงครบครัน ตั้งแต่การตรวจพื้นฐานที่แม้แต่โรงพยาบาลชุมชนก็น่าจะสามารถทำได้ อย่าง การเอกซเรย์ทรวงอก วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการพื้นฐานอื่น ๆ ตลอดจนการตรวจที่ซับซ้อนขึ้นอย่าง CT scan (เนื่องจากราชทัณฑ์เคยแถลงถึงการตรวจดังกล่าวแก่ผู้ต้องขังอีกราย) หรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการขั้นสูงอื่น ๆ แต่การส่งตัวทักษิณจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไปรักษายังโรงพยาบาลตำรวจที่มีศักยภาพสูงกว่ากลับเกิดขึ้นภายในเวลา 20 นาที จึงเป็นที่น่าสงสัยถึงเงื่อนไขฉุกเฉินทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นกับทักษิณ และปัญหาที่เกิดกับศักยภาพของโรงพยาบาลราชทัณฑ์อันส่งผลให้จำเป็นต้องส่งตัวผู้ป่วยครั้งนี้อย่างรวดเร็ว เช่น อาจเกิดความเสียหายของเครื่องมือที่จำเป็น
นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายถึงรายละเอียดการผ่าตัดครั้งที่ 2 ของทักษิณเพื่อรักษาโรคเส้นเอ็นเปื่อยยุ่ยฉีกขาด และโรคกระดูกคอเสื่อมเบียดทับเส้นประสาท ในวันที่ 23 ตุลาคม 2023 ที่น่าจะทำให้จำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างมากเพียง 2 สัปดาห์ หากไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่หากมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ทักษิณน่าจะต้องพักรักษาตัวเป็นเวลานานกว่าที่ปรากฎต่อหน้าสื่อ (ทักษิณออกจากโรงพยาบาลเมื่อถูกจำคุกครบ 6 เดือน ซึ่งครบเกณฑ์อนุญาตพักโทษพอดี) ต่อมาวาโยได้อภิปรายตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการผ่าตัดดังกล่าว โดยชี้ว่า ในทุกการผ่าตัดของแพทย์จะต้องเกิดจากการมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ข้อบ่งชี้สมบูรณ์ (หากมี หมายถึงจำเป็นต้องผ่าตัด มิเช่นนั้นจะเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือภาวะรุนแรง) และข้อบ่งชี้ทางเลือก (หากมี แล้วผู้ป่วยเลือกไม่ผ่าตัดก็ไม่เป็นอันตรายร้ายแรง) ซึ่งนำมาสู่ความคลุมเคลือของมาตรฐานในการอนุญาตให้ผู้ต้องขังได้รับการผ่าตัดในกรณีต่าง ๆ และยังมีจุดสังเกตเกี่ยวกับศักยภาพของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ซึ่งมีแพทย์เฉพาะทางสาขาออโธปิดิกส์ แต่กลับเกิดการผ่าตัดดังกล่าวที่โรงพยาบาลตำรวจ (กรณีนี้ วาโยชี้ว่าอาจเกิดจากการไม่มีแพทย์อนุสาขาที่จำเป็นแก่การผ่าตัดครั้งดังกล่าว) ตลอดจนความน่าสงสัยเกี่ยวกับการจัดห้องควบคุมพิเศษให้ทักษิณตลอด 180 วัน ซึ่งทักษิณได้เข้าพักเพียงคนเดียวอย่างไม่ทราบจุดประสงค์ทางการแพทย์ (โดยปกติห้องควบคุมพิเศษจะถูกจัดให้ผู้ป่วยที่ต้องแยกกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคที่ติดมาด้วย หรือจัดให้ผู้ป่วยที่ต้องระวังการติดเชื้อเป็นพิเศษจากสภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง)
วาโยได้ต่อยอดข้อสังเกตถึงกระบวนการอนุญาตให้ทักษิณพักโทษอันเกี่ยวเนื่องกับข้อเท็จจริงทางการแพทย์ ตามพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 [4] รวมถึงกฎกระทรวงและประกาศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ระบุหลักเกณฑ์ในการพักโทษให้แก่ผู้ต้องขังเป็นกรณีพิเศษ โดยในกรณีเจ็บป่วย ผู้ต้องขังต้องเป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด ต้องได้รับการดูแลใกล้ชิดต่อเนื่อง หากถูกขังต่อจะเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต และจะต้องให้แพทย์ 2 คนเป็นผู้รับรอง ประกอบกับการมีข้อบ่งชี้อย่างใดอย่างหนึ่งในเงื่อนไขต่อไปนี้ ได้แก่ วิกฤติเสี่ยงต่อชีวิต ติดเตียง ฟอกไต/ล้างไตต่อเนื่อง มะเร็งระยะสุดท้าย โรคเอดส์อาการรุนแรง หรือสมองเสื่อมรุนแรง และหลักเกณฑ์ในกรณีผู้ต้องขังเป็นผู้สูงอายุ คือผู้ต้องขังจะต้องมีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป ประกอบกับไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้หรือช่วยได้น้อย (อ้างอิงจากผลการประเมินจากแบบประเมินคัดกรองปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุ ระยะยาวในชุมชน กรมอนามัย [5] ที่มีค่าคะแนน ADL score ไม่เกิน 11 คะแนน) ซึ่งรัฐมนตรีเคยให้ข้อมูลดังกล่าวแก่สมาชิกสภา ฯ ว่าทักษิณมีคะแนน ADL score เพียง 9 คะแนน อันส่งผลให้เป็นที่น่าสงสัยอย่างยิ่ง เนื่องจากเมื่อลองพิจารณาผู้ที่มี ADL score 9 คะแนน จะพบว่าอย่างน้อยทักษิณน่าจะอยู่ในสภาพที่ต้องมีผู้ช่วยเมื่อทานอาหาร ลุกจากเตียง เข้าห้องน้ำ ใส่เสื้อผ้า ขึ้นลงบันได อาบน้ำ รวมถึงกลั้นอุจจาระและปัสสาวะไม่ได้บางครั้ง ตลอดจนต้องใช้รถเข็นเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นภาวะที่ส่งผลให้มีความจำกัดในการร่วมกิจกรรมทางสังคม เสี่ยงต่ออันตราย สภาพดังกล่าวแตกต่างไปไกลจากสภาพของทักษิณที่ปรากฏต่อสาธารณะทั้งในวันที่ออกจากโรงพยาบาลตำรวจพร้อมเครื่องมือพยุงที่ติดตั้งบริเวณคอและไหล่ [6] (ติดตั้งอย่างไม่สมบูรณ์ และยังเกินระยะเวลาที่สมควรติดตั้ง) และช่วงเวลาพบปะผู้คนมากมายที่จังหวัดเชียงใหม่ในเวลาถัดมา [7]
ใจความของเนื้อหาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้แผนภาพสรุป Timeline ในการดูแลรักษาทักษิณที่วาโยได้นำเสนอ โดยเริ่มตั้งแต่การผ่าตัดของทักษิณในวันที่ถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลตำรวจ (หลังเที่ยงคืน เช้าวันที่ 23 สิงหาคม 2023) ก่อนมีการแถลงถึงสถานการณ์เมื่อพักรักษาตัวครบ 30 วัน และ 60 วัน (ซึ่งเกิดความขัดแย้งของข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ โดยกรมราชทัณฑ์ระบุว่าแพทย์ผู้รักษาเห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องรักษาตัวที่รพ.ตำรวจ แต่รองนายแพทย์ใหญ่ประจำรพ.ตำรวจ กลับให้สัมภาษณ์ว่าแพทย์ในสังกัดไม่ได้ลงความเห็นให้อยู่รักษาต่อ) และข้อสันนิษฐานว่ามีเหตุการณ์สำคัญบางอย่าง อันนำมาสู่การผ่าตัดครั้งที่ 2 ตามด้วยการแถลงเกี่ยวกับการรักษาตัวอย่างเกินจากกำหนด 120 วัน การแถลงรักษาตัวครบ 180 วัน จนถึงการออกจากโรงพยาบาลตำรวจเพื่อพักโทษ (18 กุมภาพันธ์ 2024) ระหว่างอภิปราย วาโยได้มีการเปรียบเทียบมาตรฐานของการส่งตัวรักษาผู้ป่วยของทักษิณกับผู้ต้องขังชื่อย่อ “อ.” (หลายคนเชื่อว่าหมายถึงเอกชัย หงส์กังวาล นักเคลื่อนไหวทางการเมือง) [8] ที่มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ตับเอกเสบ พบฝีที่ตับ และติดเชื้อในกระแสเลือด แต่กลับได้รักษาที่รพ.ราชวิถีเป็นเวลาเพียง 10 วัน (ซึ่งดูสอดคล้องกับตัวโรค) โดยตลอดการอภิปราย วาโยได้กล่าวดักทางเอาไว้ว่าตนได้เลือกใช้เฉพาะข้อมูลที่ปรากฏแก่สาธารณะมาประกอบการวิเคราะห์ทางการแพทย์เพื่ออภิปรายเท่านั้น เพราะเข้าใจดีถึงความสำคัญของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 [9] ที่ระบุว่าการเปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วยจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยที่ถูกอภิปราย ล้วนกลับถูกเผยแพร่โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบเสียอย่างนั้น ดังนั้น แท้จริงหากมีความผิดตามกฎหมายและหลักจรรยาบรรณ ความผิดก็ได้เกิดขึ้นโดยหน่วยงานภายใต้การดูแลของรมต.กระทรวงยุติธรรมแล้ว
เนื้อหาทั้งหมดที่วาโยได้อภิปราย ถูกกลั่นออกมาเป็นคำถาม 12 ข้อ แก่ทวี สอดส่อง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่มีส่วนรับผิดชอบในหลายกระบวนการ โดยใจความของคำถามนั้น เป็นไปอย่างเกี่ยวข้องตั้งแต่ประเด็นศักยภาพของโรงพยาบาลในเรือนจำในการรักษาภาวะฉุกเฉินทางหลอดเลือดหัวใจหรือสมอง มาตรฐานในการส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อภายในเวลา 20 นาที รายละเอียดเกี่ยวกับการผ่าตัดครั้งที่ 1 ระยะเวลาที่โรงพยาบาลตำรวจรักษาทักษิณให้พ้นจากภาวะฉุกเฉินจากอาการเจ็บหน้าอก ข้อบ่งชี้ในการนอนโรงพยาบาลตำรวจที่ถูกขยายไปเรื่อย ๆ ในแต่ละครั้งจนครบ 180 วัน สิทธิของผู้ต้องขังที่ป่วยในการขอผ่าตัดแบบทางเลือก จุดประสงค์ทางการแพทย์ที่แท้จริงของห้องควบคุมพิเศษที่ทักษิณได้พักอาศัย ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลตำรวจซึ่งขัดแย้งกับรายงานของกรมราชทัณฑ์ การตรวจสอบมาตรฐานการทำงานของแพทย์และพยาบาลวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม มาตรฐานของเกณฑ์การพิจารณาพักโทษ การตรวจสอบคะแนนความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองของทักษิณ (ADL Score = 9 คะแนน) ว่าตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ [10]
คำตอบของ รมต.ยุติธรรม
ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ตอบคำอภิปรายของวาโย พร้อมคำถามในประเด็น “นักโทษชั้น 14” ของสมาชิกสภา ฯ คนอื่น ๆ โดยเริ่มจากการอ้างถึงพ.ร.บ.กรมราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ตามความใน มาตรา 55 วรรค 3 เกี่ยวกับความแตกต่างของการออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำกับการพ้นจากความควบคุมระหว่างการรับโทษ [11] เพื่อสนับสนุนข้อเท็จจริงที่ว่า การพักรักษาตัวที่ชั้น 14 ของอาคารในรพ.ตำรวจนั้นไม่ใช่การพ้นออกจากการถูกจำคุกตามโทษ 1 ปีที่ทักษิณได้รับแต่อย่างใด โดยได้เสริมรายละเอียดในเชิงปฏิบัติตามกฏกระทรวง เรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 [12] โดยระบุว่า โดยทั่วไปเมื่อส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาที่สถานพยาบาลนอกเรือนจำนั้น ผู้ต้องขังจะถูกพิจารณาให้พักรักษาตัวในห้องพักทั่วไป เว้นแต่มีสถานที่ควบคุมพิเศษ ซึ่งทักษิณเป็นผู้ต้องขังที่เข้าข่ายตามเกณฑ์นี้ ทวีได้ย้ำความตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 53 [13] ที่ว่ารัฐจะต้องดูแล ปฏิบัติตาม และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ตนจึงมีอำนาจเพียงรักษาการณ์ตามกฎหมายที่ได้รับการตราขึ้นเท่านั้น และแม้แต่ในเชิงอำนาจในทางสั่งการเกี่ยวกับบุคคลากร ตนก็ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งของข้าราชการ ตั้งแต่ระดับปลัดและรองปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ รวมถึงผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ฯ
ทวีระบุถึงความเห็นส่วนตัวของตนเองต่อกรณีของทักษิณ ว่าตนเคารพการกระทำของอดีตนายกคนดังกล่าว โดยเห็นว่าทักษิณมี “Spirit” ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในช่วงวาระของรัฐบาลที่ยึดอำนาจของทักษิณไป และการเข้าเรือนจำก่อนย้ายไปรักษาตัวที่รพ.ตำรวจของทักษิณ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงวาระของรัฐบาลปัจจุบัน (ซึ่งได้เริ่มแถลงนโยบายแก่สภา ฯ ในวันที่ 21 กันยายน 2023) ทวีเน้นย้ำถึงความไม่เป็นปฏิปักษ์ของการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนอกเรือนจำต่อกระบวนการยุติธรรม เหตุเพราะเกณฑ์การรักษา และการพักโทษล้วนเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นคำครหาเรื่อง “คุกทิพย์” จึงไม่เป็นธรรม “โดยเฉพาะเมื่อผู้กล่าวหาไม่ได้เป็นผู้เขียนกฎหมาย”
รมต.ยุติธรรมกล่าวแก่สภาว่า… ตามกฎหมาย เมื่อผู้ต้องขังเจ็บป่วย จะต้องมีการส่งแพทย์รักษาโดยเร็ว ไม่ใช่โดยช้า นอกจากนี้ มาตรา 55 พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 [14] ก็ไม่ได้ระบุเอาไว้ว่าให้นำตัวผู้ป่วยกลับมารักษาที่เรือนจำ สิ่งนี้เป็นดุลพินิจของแพทย์ โดยระบุว่า เมื่อหมอมีความเห็นว่าผู้ต้องขังต้องได้รับการรักษา ข้าราชการกรมราชทัณฑ์ ตั้งแต่ระดับอธิบดี จนถึงระดับปฏิบัติการล้วนไม่มีใครขัดแพทย์ เมื่อแพทย์ไม่ส่งผู้ต้องขังกลับจากการรักษา ย่อมไม่มีใครไปรับกลับ พร้อมย้ำถึงการเสียเสรีภาพของทักษิณจากการถูกคุมขัง โดยอ้างถึงกฎหมายราชทัณฑ์ที่ระบุจุดประสงค์เกี่ยวกับการคุมขังเอาไว้ ว่าเป็นไปเพื่อไม่ให้หลบหนี และไม่ไปก่อเหตุร้าย ดังนั้นกลุ่มที่ดึงเรื่องการรักษาตัวในโรงพยาบาลให้กลายเป็นเรื่องเลวร้ายหรือขัดหลักนิติธรรมจึงไม่เป็นธรรม สิ่งที่เลวร้ายคือการฉีกรัฐธรรมนูญ และการทำรัฐประหาร และได้ย้ำอีกครั้งว่าตนเองไม่ได้เป็นผู้ร่างกฎหมายหรือกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
ในการทำงานต่อกรณีของทักษิณ ทวีเผยว่าทักษิณมีใบรับรองแพทย์พร้อมประวัติการรักษาจากแพทย์ผู้รักษาในประเทศสิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระบุว่าทักษิณมีโรคประจำตัวหลายโรค หลังจากทักษิณเข้าสู่เรือนจำ ทักษิณก็เริ่มมีอาการต่าง ๆ จึงเกิดกระบวนการดังที่ถูกอภิปราย โดย ณ เวลานั้น โรงพยาบาลราชทัณฑ์อาจมีแพทย์เพียง 1 คนที่ประจำอยู่ (เข้าเวรในช่วงเวลา 4 ทุ่ม) พร้อมเสริมว่ารพ.ราชทัณฑ์ไม่ได้มีศักยภาพมากขนาดที่คาดหวัง อาจขาดเครื่องมือบางอย่าง และแพทย์หลายคนตามรายชื่อของโรงพยาบาลก็กำลังอยู่ระหว่างเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง กระบวนการส่งตัวภายใน 20 นาทีนั้นเป็นดุลพินิจของแพทย์ รมต. ยุติธรรมระบุว่าตนไม่มีอำนาจหน้าที่ไปวินิจฉัยแพทย์ ผู้ที่จะต้องทำคือ “แพทยสภา” โดยตนเชื่อว่าแพทย์นั้นไม่ใช่เพียงอาชีพที่หาผลกำไร แต่เป็นวิชาชีพที่ตนเชื่อว่าจะต้องมีศีลธรรมจรรยาประกอบเสมอ ทวีพยายามอธิบายถึงกระบวนการที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ทักษิณอยู่รพ.ตำรวจครบ 120 วัน (ซึ่งจะต้องรายงานแก่รมต.ยุติธรรม) อันส่งผลให้เกิดการแถลงล่าช้า โดยระบุว่าอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้รับใบรับรองแพทย์จากแพทย์รพ.ตำรวจ 2 คน ก่อนมีการยืนยันกันไปมาเกือบ 1 เดือน และมีการขอความเห็นจากแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์หลายคน ก่อนส่งเรื่องให้ตน ทวีได้มอบหมายให้ที่ปรึกษาตรวจสอบซ้ำ โดยระบุว่าตนได้อ่านใบรับรองแพทย์ทุกใบ และได้ย้ำตามกฎหมายอีกครั้งว่าข้อมูลผู้ป่วยจะต้องเป็นความลับ หากจะเปิดเผย ทักษิณต้องเป็นผู้ยินยอม แต่ทว่ากรณีนี้ ทักษิณไม่ยินยอม
เกี่ยวกับการพักโทษ ทวีได้อ้างมาตรา 52(7) พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 [15] ซึ่งระบุว่าการพักโทษนั้นจะถูกพิจารณาโดยอนุกรรมการพิจารณา ฯ กรณีนี้มีทั้งหมด 15 คน โดยมีตัวแทนจากหลายฝ่าย เช่น อัยการสูงสุด กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งตนไม่สามารถบังคับได้ นอกจากนี้ตนยังไม่ใช่อนุกรรมการอีกด้วย ทวีกล่าวกว่าตนมีข้อมูลจากอนุกรรมการที่เป็นผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าทักษิณเข้าเกณฑ์ผู้สูงอายุ มีโทษไม่มากนัก คะแนนการช่วยเหลือตัวเองเข้าหลักเกณฑ์ (ADL score 9 คะแนน) มีโรคประจำตัวหลายโรค จึงไม่เห็นต่างในกรณีให้พักโทษ ผู้แทนจากอัยการสูงสุดเห็นดังนี้ก็ไม่ขัดข้อง โดยสรุปคืออดีตนายกถูกขังในเรือนจำตามความหมายของกฎหมาย เมื่ออยู่ครบ 6 เดือนตามเกณฑ์ อนุกรรมการจึงเห็นด้วยให้พักโทษได้ ทวีแจ้งว่าหากต้องการเห็นรายละเอียดที่มากกว่าเดิม สามารถติดต่อมาขอที่ตนได้ แต่ต้องเป็นข้อมูลที่เกิดจากการสรุปของตน โดยได้ย้ำอีกครั้งถึงการเป็นความลับของข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วย ซึ่งแม้แต่พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร [16] ก็มิอาจล่วง และได้ยืนยันว่าตนพร้อมเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ หากเกิดการเรียกสอบของปปช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ในอนาคต ทวีทิ้งท้ายว่าในช่วงที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีตนก็สงสัยกรณีของทักษิณเช่นกัน แต่เมื่อเข้าถึงข้อมูล ก็เห็นว่า “ทั้งหมดเป็นความเห็นของแพทย์”
ร่องรอยการทำงานอย่างเข้มข้นของกระบวนการเบื้องหลังวาทกรรมการแพทย์บนคำอภิปรายของวาโย และคำตอบของทวี
มองอย่างผิวเผิน การอภิปรายของวาโยครั้งนี้อาจดูเหมือนเพียงการถกเถียงและตั้งแง่เกี่ยวกับความจริงของข้อมูลทางการแพทย์จากความเจ็บป่วยของนักโทษคนหนึ่งอันเป็นที่น่าเคลือบแคลงใจในหมู่ประชาชนถึงการได้รับอภิสิทธิ์จากผู้มีอำนาจ ซึ่งไม่ได้รับคำตอบเกี่ยวกับรายละเอียดใด ๆ ที่ชัดเจนจากรัฐมนตรี แต่ข้อสังเกตสำคัญเกี่ยวกับเนื้อหาการอภิปรายและตอบคำถามครั้งนี้คือ.. มีบางสิ่ง มากมายเกี่ยวกับความเจ็บป่วยและการพึ่งพาการแพทย์ของทักษิณที่ถูกอภิปราย ตั้งแง่ หรือตอบคำถามได้อย่างจำกัด ตั้งแต่เนื้อหาในใบรับรองแพทย์และประวัติการรักษาจากต่างประเทศ สภาวะฉุกเฉินก่อนส่งตัวไปรพ.ตำรวจ บันทึกและคำสั่งการรักษาในรพ.ตำรวจ รายละเอียดประกอบการตัดสินใจอนุญาตพักโทษ มาตรฐานการทำงานของแพทย์ ศักยภาพของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ รวมถึงดุลพินิจของแพทย์ในการประเมินและตัดสินใจทุกขั้นตอน เช่น ประเมินเพื่อส่งตัวรักษา ประเมินความจำเป็นในการผ่าตัด ประเมินศักยภาพของโรงพยาบาล ประเมินส่งตัวกลับเรือนจำ ประเมินความจำเป็นในการพักที่ห้องควบคุมพิเศษ ประเมินความสามารถในการช่วยเหลือตัวเอง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเข้าถึงได้ยาก และถูกสงวนสำหรับคนบางกลุ่มอย่างดูสมเหตุสมผลเป็นปกติเสียจนไม่ง่ายต่อการก้าวล่วงและตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความสงสัยอันอลหม่านของผู้คน ยากที่จะปฏิเสธว่าความจำเป็นในการรักษาตัวที่รพ.ตำรวจและเกณฑ์อนุญาตพักโทษของทักษิณนั้นถูกให้เหตุผลและนำเสนอแก่สาธารณะด้วยคำอธิบายทางการแพทย์มากมายเสมอมา
ความรู้การแพทย์นั้นทรงอิทธิพลอย่างสูงต่อทุกอณูในสังคม ในฐานะสิ่งที่จะเข้ามาปลดปล่อยผู้คนออกจากความเจ็บป่วย และมอบคุณภาพชีวิตที่ดีแก่พวกเขา อย่างน้อย ๆ ผู้คนก็นึกถึงโรงพยาบาลเป็นอย่างแรกเมื่อเจ็บป่วย พยายามทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หรือควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไปเพื่อสุขภาพที่ดี ซึ่งอาจสรุปได้ว่า ข้อเท็จจริงทางการแพทย์นั้นกลายเป็นอีกหนึ่งความจริงที่ได้รับการยึดมั่นและความเชื่อถือของยุคสมัยปัจจุบัน แต่ทว่าความจริงทางการแพทย์ที่ถูกเชื่อถือในสังคมนั้น ก็อาจไม่ได้ปรากฏขึ้นมาอย่างทันทีทันใด ต่อเนื่อง หรือเป็นอิสระอย่างที่เห็น เมื่อเราพิจารณาการแพทย์ในฐานะ “วาทกรรม(Discourse)” (ผู้เขียนขอเรียกว่าวาทกรรมการแพทย์) ตามแนวคิดของมิเชล ฟูโกต์ (Michael Foucault) ที่ได้ตั้งสมมติฐานต่อวาทกรรมไว้ว่า.. ในสังคมต่าง ๆ การผลิตวาทกรรมจะถูก “ควบคุม/คัดเลือก/จัดวาง/เผยแพร่” ซ้ำไปมา ผ่าน “กระบวนการบางอย่าง” เพื่อให้ผู้ควบคุมวาทกรรมสามารถขจัดอันตรายต่าง ๆ ตลอดจนสามารถควบคุมเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด หรือความเป็นรูปธรรมอันรุนแรงและน่าเกรงกลัว [17] อันนำไปสู่การหลุดออกจากการควบคุมวาทกรรมให้เป็นไปตามเจตจำนงแห่งความจริงของผู้ที่สามารถครองวาทกรรม เงื่อนไขเหล่านี้ หมายถึงการที่ความจริงทางการแพทย์นั้น “ไม่ใช่ความจริงที่เป็นอิสระ” และกำลังรับใช้ผู้คนบางกลุ่มที่สามารถเข้าครอบครองวาทกรรมได้
ในบทความนี้ ผู้เขียนขออภิปรายเชิงสำรวจถึงร่องรอยการทำงานอย่างเข้มข้นของกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งทำงานอยู่เบื้องหลังวาทกรรมการแพทย์ที่ปรากฏในคำอภิปรายถึง “นักโทษชั้น 14” ของส.ส.วาโย และคำตอบต่อกรณีดังกล่าวโดยรัฐมนตรีทวี ตามข้อเสนอถึงระเบียบของวาทกรรมโดยฟูโกต์ โดยแบ่งออกเป็น 3 กระบวนการ ดังนี้
1) กระบวนการควบคุมวาทกรรมภายนอก (กระบวนการกีดกัน – เป็นการสร้างวาทกรรมผ่านการควบคุม และการคัดเลือก) มีหน้าที่ในการขจัดยับยั้งความอันตรายของวาทกรรมและควบคุมอำนาจที่ใช้วาทกรรม ประกอบไปด้วย
การห้าม
การแพทย์นั้นถูกควบคุมโดยการห้ามทำบางสิ่งบางอย่างด้วยสารพัดกลไก เช่น กฎหมายหรือพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ [18] ข้อบังคับแพทยสภา [19] ตลอดจนข้อกำหนดหลักจรรยาบรรณทางการแพทย์สากล[20] ที่ดำรงอยู่ประหนึ่งศีลธรรมของแพทย์ทั่วโลก
กระบวนการดังกล่าวทำงานอย่างเข้มข้นในการอภิปรายที่วาโยและทวีได้อ้างถึง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 [21] ในฐานะความชอบธรรมในการห้ามไม่ให้ผู้ใดเผยแพร่ข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ป่วย เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากตัวผู้ป่วย สำหรับประเทศไทย การรักษาความลับของผู้ป่วยนั้นยังได้ถูกกำหนดในข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2565 [22] ในฐานะจริยธรรมวิชาชีพแพทย์ กล่าวคือ หากมีผู้เกี่ยวข้องนำข้อมูลสุขภาพและการรักษาทักษิณออกมาเผยแพร่ย่อมถูกกระบวนทางกฎหมายจัดการ และยังถูกตราหน้าเป็นพวกไร้จริยธรรมการแพทย์อีกด้วย เงื่อนไขนี้จะคอยรักษาความสมเหตุสมผลในการปกปิดข้อมูลการแพทย์ของทักษิณให้ไม่สามารถถูกท้าทายต่อไป ดังที่ปรากฏว่าไม่มีสมาชิกสภา ฯ คนใดท้าทายเงื่อนไขนี้ต่อเลย นอกจากนี้ ทั้งวาโยและทวียังได้อ้างอิงกฎหมาย กฎกระทรวง และประกาศอีกหลายฉบับที่กำหนดหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ (เช่น ความพิการ สภาวะร้ายแรงทางการแพทย์ คะแนนความสามารถในการช่วยเหลือตัวเอง ฯลฯ) ในการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาในสถานพยาบาลนอกเรือนจำและการพิจารณาการพักโทษ อันหมายถึงการขีดเส้นแบ่งให้เกิดสิ่งที่ถูกห้ามไม่ให้กระทำทางการแพทย์ในกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย
ทั้งนี้ สิ่งที่เราจำเป็นต้องตระหนักคือ ไม่ใช่ “ใครก็ได้” ที่จะสามารถห้ามอะไรก็ได้ ในสถานการณ์ใดก็ได้ และแม้แต่กลไกผดุงความยุติธรรมผ่านข้อห้ามต่าง ๆ ก็ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ทุกคนสามารถมีอำนาจร่วมกำหนดหรือบังคับใช้มันได้ ดังที่ปรากฏในคำอภิปรายของวาโย ถึงการที่ข้อห้ามในการเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยตามกฎหมายนั้นไม่ได้ทำงาน ในกรณีที่กรมราชทัณฑ์เป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดครั้งที่ 2 ของทักษิณเสียเอง ตลอดจนวาทะอันแดกดันของทวี ที่ระบุเกี่ยวกับคำครหาเรื่อง “คุกทิพย์” ว่าไม่เป็นธรรม “โดยเฉพาะเมื่อผู้กล่าวหาไม่ได้เป็นผู้เขียนกฎหมาย” และการยืนยันของทวี ถึงการที่ตนเอง (ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม) ไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยมาตรฐานการดำเนินงานทางการแพทย์ของแพทย์ในกระบวนการที่เกี่ยวกับ “นักโทษชั้น 14” โดยระบุว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ “แพทยสภา” ฉะนั้น สำหรับประชาชนทั่วไปแบบเรา ๆ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง
การแบ่งแยกและการปฏิเสธ
โดยพื้นฐาน ความรู้การแพทย์นั้นดำรงอยู่บนการแบ่งแยกสภาวะต่าง ๆ ของผู้คนออกจากัน เช่น “ความปกติ-ความป่วยไข้” “ความมีเหตุผล-ความบ้า” “ความมีสุขภาพที่ดี-ความมีสุขภาพที่ไม่ดี” กระบวนการนี้คือที่มาแห่งเงื่อนไขในการวินิจฉัยและกำหนดแนวทางการรักษาโดยแพทย์ ว่าใครสุขภาพดี ใครป่วย ใครควรทานยา ใครควรพักผ่อน ดังคำอธิบายเกี่ยวกับความเจ็บป่วย (การไม่อยู่ในสภาวะปกติทางกาย เจ็บหน้าอก ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดต่ำ ประกอบกับมีโรคประจำตัว กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง ปอดอักเสบ กระดูกสันหลังเสื่อม) ของทักษิณที่ถูกนำเสนอแก่สาธารณะในฐานะความจำเป็นอันชอบธรรมสำหรับการพักรักษาตัวในรพ.ตำรวจ เพื่อรักษาด้วยวิธีการทางการแพทย์ต่าง ๆ (เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดที่ถูกเผยแพร่ออกมา) และการได้รับอนุญาตให้พักโทษ โดยอ้างตามเกณฑ์การประเมินทางการแพทย์ที่ถูกระบุเอาไว้ผ่านกฎหมาย กฎกระทรวง และประกาศที่เกี่ยวข้อง (เช่น การเป็นโรคร้ายแรงที่รักษาให้หายขาดไม่ได้ ความเป็นผู้สูงอายุ ความไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้)
การอยู่ตรงข้ามกันระหว่างสิ่งที่จริงกับเท็จ
ด้วยเจตจำนงแห่งความจริงที่อยู่เบื้องหลังวาทกรรมการแพทย์ ความรู้การแพทย์จึงทำให้เกิดเงื่อนไขในการแบ่งแยกความรู้อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสภาวะทางกายและจิตใจออกไปในฐานะความเท็จ ไม่สามารถเป็นความจริงได้ กระบวนการนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่มุ่งให้สังคมเลือกยึดถือวาทกรรมการแพทย์ในฐานะความจริงเกี่ยวกับสภาวะทางกายและจิตใจเพียงหนึ่งเดียวที่เราควรให้คุณค่า ดังนั้น เหตุผลที่ใช้เป็นความจำเป็นในการพักรักษาตัวในรพ.ตำรวจ และการได้รับอนุญาตให้พักโทษของทักษิณจึงต้องถูกนำเสนอแก่สาธารณะ ในฐานะความเจ็บป่วยทางการแพทย์ที่ถูกยอมรับในสิ่งที่ “จริง” และ “ถูกต้อง” ในสังคม (แม้จะดูผิดวิสัยก็ตาม) ไมใช่เหตุผลอื่น ๆ เช่น การอนุญาตให้พักโทษเพราะทักษิณดวงตกและเสี่ยงเจอผีในคุก ที่ถูกยอมรับในฐานะ “ความเชื่อ”
2) กระบวนการควบคุมวาทกรรมภายนอก ทำหน้าที่ในการคัดเลือกสิ่งที่จริง เพื่อกำหนดให้อยู่ในขอบเขต และควบคุมการเผยแพร่วาทกรรมให้อยู่ในวงที่สามารถควบคุมได้ เพื่อจำกัดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดจากวาทกรรม ประกอบไปด้วย
การอรรถาธิบาย
อาจเรียกอย่างง่ายว่าการให้คำอธิบายแก่ตัวบทแรก หน้าที่ของกระบวนการนี้คือการกล่าวซ้ำในสิ่งเดิมที่เคยถูกพูดไปแล้วอย่างไม่รู้จบ รวมถึงการกล่าวในสิ่งที่ยังไม่ถูกพูดด้วยการให้คำอธิบายเพิ่มเติมจากความรู้ในตัวบทเดิม เพื่อให้วาทกรรมคงอยู่ในสังคมต่อไปได้ ดังตัวอย่างกรณีการป่วยของทักษิณในช่วงถูกจำคุก คือความพยายามในการให้คำอธิบายทางการแพทย์เกี่ยวกับความเจ็บป่วย การวินิจฉัย แผนการรักษา ห้องที่ใช้พักรักษาตัว ตลอดจนภาพการปรากฏตัวของทักษิณในแต่ละครั้ง (เช่น ภาพนอนบนเตียงขนผู้ป่วย การใส่อุปกรณ์พยุงไหล่และคอ อันเต็มไปด้วยสัญญะที่อธิบายอาการป่วย) ซึ่งถูกเปิดเผยออกมาในช่องทางสาธารณะต่าง ๆ เป็นครั้งคราว จนวาโยสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาเรียบเรียงสรุปออกมาเป็น Timeline ได้
แม้ว่าคำอธิบายเหล่านั้นอาจดูไม่สมเหตุสมผลในทางการแพทย์ที่ทำให้ผู้คนปักใจเชื่อมากนัก จนบางคนมองว่าเป็นการ “ป่วยทิพย์” แต่
เราต้องยอมรับว่าหากทักษิณป่วยทิพย์จริง การต้องพยายามให้คำอธิบายต่อโรคและความเจ็บป่วยของเขาให้สมเหตุสมผลแก่การนำทักษิณไปรักษาตัวที่ห้องพักพิเศษในโรงพยาบาลตำรวจตลอด 180 วัน และการอนุญาตพักโทษ ด้วยวิธีการต่าง ๆ ต่อสาธารณะนั้นไม่ใช่สิ่งที่ทำได้โดยง่าย แม้จะกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญตามวาทกรรมการแพทย์ก็ตาม ดังที่วาโยสามารถตั้งข้อสังเกตที่ดูเหมือนจุดโหว่ได้มากมาย สิ่งสำคัญที่เราจำต้องพิจารณาคือ “ถ้าเขาจำเป็นต้องโกหกโดยรู้ว่าไม่สามารถทำได้โดยแนบเนียน และไม่ดูผิดวิสัย ทำไมถึงยังจำเป็นต้องมีการเผยแพร่คำอธิบายเกี่ยวกับการรักษาเป็นระยะ ?” ความลักลั่นนี้ อาจเป็นผลพวงจากความขัดแย้งภายในกระบวนการเบื้องหลังวาทกรรมอันไม่ต่อเนื่อง ที่พยายามกำหนดข้อห้าม ขั้นตอน เกณฑ์ ตลอดจนบทบาทของบุคคลต่าง ๆ อย่างชัดเจน ในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการป่วยของทักษิณ ส่งผลให้ต้องใช้ความพยายาม อำนาจ และความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก หากผู้ครองวาทกรรมต้องการควบคุมวาทกรรมให้ยังมีความสมเหตุสมผลและได้รับความเชื่อถือในสังคม ประกอบกับแรงกดดันจากการตรวจสอบของประชาชนและสื่อ ที่มีอิทธิพลให้ผู้เกี่ยวข้องจำต้องให้อรรถาธิบายบางประการเพื่อความเชื่อถือต่อความเจ็บป่วยของทักษิณตามครรลองที่การแพทย์ควรเป็นในฐานะความจริงต่อไป อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงหรือเข้าใจอรรถาธิบายเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้คนทั่วไปในสังคม ดังที่เรามักมีความรู้สึกต่อกรณีของทักษิณในฐานะความเจ็บป่วยอันซับซ้อน แม้จะจะดูน่าสงสัย แต่ก็มีคนไม่มากนักที่สามารถตั้งคำถามต่อมันได้อย่างกระจ่าง
การกำหนดผู้ประพันธ์
ผู้ประพันธ์คือผู้ที่ถูกให้อำนาจและกำหนดให้ได้รับความยอมรับในการเป็นผู้กระทำการตามพิธีกรรมของวาทกรรมกระบวนการนี้จึงเป็นกระบวนการคัดเลือกอย่างหนึ่ง ผู้ประพันธ์วาทกรรมการแพทย์ที่สำคัญย่อมไม่พ้นไปจาก “แพทย์” และ “บุคลากรการแพทย์” ในกรณีคำอภิปรายถึง “นักโทษชั้น 14” กระบวนการดังกล่าวนั้นทำงานอย่างเข้มข้น ตั้งแต่คำอภิปรายของวาโย ที่จำต้องเน้นย้ำว่าตนนั้นอภิปรายบนสมมติฐานว่า “แพทย์ในกระบวนการได้ปฏิบัติวิชาชีพตามมาตรฐาน” ก่อนสาธยายถึงกระบวนการปกติในการส่งตัวรักษานอกเรือนจำและพิจารณาพักโทษแก่ผู้ต้องขัง ซึ่งให้ความชอบธรรมต่อดุลพินิจของแพทย์และบุคลากรการแพทย์บางส่วนที่เข้าไปเกี่ยวข้องตลอดกระบวนการ ตั้งแต่ การพิจารณาประวัติการรักษาที่ถูกระบุในใบรับรองแพทย์จากต่างประเทศ การพิจารณาความฉุกเฉินของภาวะที่เกิดกับทักษิณ การพิจารณาศักยภาพในการรักษาของรพ.ราชทัณฑ์ การพิจารณาส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาที่รพ.ตำรวจภายในเวลา 20 นาที การพิจารณาความจำเป็นและระยะเวลาในการพักรักษาตัวในรพ.ตำรวจเป็นระยะ การพิจารณาให้ทางเลือกในการผ่าตัด การพิจารณาเปิดห้องควบคุมพิเศษให้แก่ทักษิณ การพิจารณาความเข้าเกณฑ์สำหรับอนุญาตพักโทษ โดยประกอบกับการพิจารณาถึงความรุนแรงของอาการหรือโรคประจำตัว และการประเมินคะแนนความสามารถในการช่วยเหลือตัวเอง
ทั้งนี้ หากวาโยไม่แสดงสมมติฐานถึงการปฏิบัติงานอย่างมีมาตรฐานของแพทย์ในกระบวนการดังกล่าว อาจถูกกระบวนการของแพทยสภาตีความให้ผิดจริยธรรมตามข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2565 ข้อ 24 และ 25 ที่ระบุให้แพทย์พึงยกย่อง ให้เกียรติ เคารพในศักดิ์ศรีของแพทย์คนอื่น และต้องไม่กระทำการในลักษณะให้ร้าย ทับถม ดูถูก เหยียดหยาม กลั่นแกล้ง ล่วงเกิน หรือกระทำการอื่นใดในทำนองเดียวกัน ต่อแพทย์คนอื่น [23] ดังนั้น นอกจากถูกกำหนดให้เป็นผู้ประพันธ์ตามพิธีกรรมของวาทกรรมการแพทย์ แพทย์ในฐานะผู้ประพันธ์ย่อมถูกควบคุมโดยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อบังคับของสภาวิชาชีพ ตลอดจนจรรยาบรรณอื่น โดยจะต้องดำเนินการไปตามเกมของวาทกรรมอย่างได้รับความเชื่อถือโดยสมบูรณ์
การให้คุณค่าแก่ดุลพินิจของแพทย์ในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับ “นักโทษชั้น 14” ในฐานะความจริงที่ได้รับความเชื่อถือ ถูกยืนยันโดยรมต.ยุติธรรมเอง ผ่านการระบุถึงสภาวะของ “ความเป็นไปไม่ได้” ที่ข้าราชการภายใต้สังกัดของตนทุกระดับจะดำเนินการขัดกับดุลยพินิจของแพทย์ ทั้งในเชิงการพักรักษาตัวนอกเรือนจำ และการรับผู้ต้องขังกลับมารักษาในเรือนจำ เงื่อนไขนี้ถูกอภิปรายสนับสนุนโดยการระบุถึงทั้งกรณีดุลยพินิจของแพทย์รพ.ราชทัณฑ์ที่พิจารณาส่งตัวทักษิณไปยังรพ.ตำรวจภายในเวลาเพียง 20 นาที รวมถึงอิทธิพลของความเห็นทางการแพทย์ของอนุกรรมการพิจารณาการพักโทษผู้เป็นตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข (ซึ่งทวีระบุว่าตนไม่สามารถเข้าไปบังคับได้) ที่ส่งผลให้อนุกรรมการคนอื่น ๆ เห็นพ้องกันในการอนุญาตให้ทักษิณได้รับการพักโทษ
ทวีทิ้งท้ายไว้ว่าตนเองก็เคยสงสัยกรณี “นักโทษชั้น 14” ในช่วงแรกที่เข้ารับตำแหน่งรมต.ยุติธรรมเช่นกัน แต่เมื่อเข้าถึงข้อมูล จึงมองว่า “ทั้งหมดเป็นความเห็นของแพทย์” สังเกตได้ว่าความรู้ทางการแพทย์นั้นจะถูกเชื่อในฐานะความจริง และความสมเหตุสมผลอย่างง่ายดาย เมื่อถูกกล่าวโดยผู้ประพันธ์บางกลุ่มที่ถูกกำหนดโดยผู้ครองวาทกรรม ทั้งที่ผู้คนไม่อาจตรวจสอบจนเข้าใจอย่างกระจ่างได้เลย ว่าการดำเนินวาทกรรมของผู้ประพันธ์ (แพทย์ หรือบุคลากรการแพทย์) เหล่านี้มีข้อจำกัดและผิดพลาดได้เสมอ นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยความเห็นตามอัตวิสัย สิ่งนี้อาจอธิบายถึงขอบเขตที่ทำให้ไม่มีสมาชิกสภา ฯ ผู้ที่สามารถท้าทายให้เกิดการตรวจสอบหรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับดุลพินิจของแพทย์ในกระบวนการที่เกี่ยวกับนักโทษชั้น 14 ต่อไปได้ และแม้จะมีการตั้งคำถามต่อมาตรฐานการดำเนินงานของแพทย์ในกรณีดังกล่าว มาตรฐานการทำงานย่อมถูกนำเสนอได้อย่างกว้าง เนื่องจากการตรวจสอบมาตรฐานการทำงานในเชิงรายละเอียดย่อมหมายถึงการลุกล้ำถึงข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ป่วยที่กำลังถูกปิดกั้นจากการตรวจสอบด้วยจริยธรรมในการรักษาความลับผู้ป่วย
โครงสร้างความเป็นวิชา
การแพทย์สมัยใหม่เป็นสาขาวิชาที่มีข้อเสนอ ตลอดจนวิธีการศึกษาที่ช่วงชิงความจริงเป็นของตนเอง ภายใต้ระเบียบของโครงสร้างวิชา (Discipline) ความเป็นโครงสร้างวิชานี้ จึงนับเป็นการควบคุมให้วาทกรรมดำเนินภายใต้กฎเกณฑ์ทางสาขาวิชาต่อไปเรื่อย ๆ อันเป็นการขจัดยับยั้งไม่ให้วาทกรรมถูกหันเหออกจากกฎเกณฑ์ทางโครงสร้างวิชา กระบวนการนี้ เกี่ยวเนื่องกับการที่ “หมอ”วาโย ในฐานะผู้อภิปราย จำต้องอภิปรายต่อกรณีนักโทษชั้น 14 ด้วยความรู้ความเข้าใจจากการศึกษาวิชาแพทย์ในโรงเรียนแพทย์และชีวิตการทำงานของตนเอง เหตุเพราะข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏต่อสาธารณะในกรณีดังกล่าวล้วนมุ่งไปในทางวิชาการแพทย์ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าใจ และตั้งคำถามตามหลักวิชาดังกล่าวได้
3) การกำหนดเงื่อนไขของเกมวาทกรรม กระบวนการนี้คือทำงานลงไปยังปัจเจกบุคคลในตำแหน่งแห่งที่ภายในวาทกรรมต่าง ๆ และกีดกันไม่ให้ “ใครก็ได้” หรือ “คนทั่วไป” สามารถเข้าถึงเงื่อนไขของเกมวาทกรรม ประกอบไปด้วย
พิธีกรรม
พิธีกรรมคือแบบแผนที่กำหนดบทบาท คุณสมบัติ พฤติกรรม และสถานการณ์ของวาทกรรมให้อยู่ในรูปแบบเดิม เช่นเดียวกับวาทกรรมการแพทย์สมัยใหม่ที่ถูกเผยแพร่ผ่านพิธีกรรมเฉพาะ ดังตัวอย่างในกระบวนการส่งตัวทักษิณไปรักษาที่รพ.ตำรวจ และการพิจารณาอนุญาตพักโทษ ที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ แนววิธีปฏิบัติ วิธีการประเมิน วิธีการพิจารณาอย่างละเอียด แน่นอนว่ากระบวนการเหล่านี้ทำงานอยู่ท่ามกลางพิธีกรรมการแพทย์ในภาพใหญ่ เช่น ในโรงพยาบาลจะมีแบบแผนในการทำงาน (Protocol) อย่างเคร่งครัด แพทย์จะทำหน้าที่ตรวจวินิจฉัย ออกคำสั่งการรักษา รวมถึงพิจารณาการส่งคนไข้ไปรักษาในสถานพยาบาลอื่น ด้วยความรู้ เทคนิค และเครื่องมือ ระหว่างแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายตามกำหนด และปฏิบัติงานด้วยเครื่องมือมาตรฐาน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่กำหนด ส่วนพยาบาลจะเป็นผู้ดูแลคนไข้ตามที่แพทย์สั่ง ในขณะที่ประชาชนผู้ถูกถือเป็น “ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการ” ย่อมถูกกีดกันออกไปจากการเข้าถึงทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ความสมเหตุสมผลอย่างปกติ
พิธีกรรมอันเป็นรูปธรรมเหล่านี้ นอกจากจะรักษามาตรฐานของวาทกรรมให้มีประสิทธิภาพอย่างคงเส้นคงวาแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้ครองวาทกรรมเข้ามาควบคุม/คัดเลือก/เผยแพร่/จัดวางวาทกรรมอย่างที่คนนอกไม่อาจกระทำหรือสังเกตเห็นได้ง่าย ดังที่ทักษิณตกเป็นผู้ต้องสงสัยถึงการได้รับอภิสิทธิ์ในการรักษาตัวที่รพ.ตำรวจ 180 วันอย่างผิดวิสัย จากการถูกตั้งแง่ว่ามี “ดีลลับ” กับผู้มีอำนาจ ผู้คนในสังคมต่างทำได้เพียงรู้สึก “เอ๊ะ” และจินตนาการไปต่าง ๆ นานา ถึงวิธีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมที่ผู้มีอำนาจครอบครองวาทกรรมกำลังใช้ผ่านขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อช่วยทักษิณ แต่ไม่มีอำนาจใด ๆ ในการตรวจสอบกระบวนการที่ดำเนินไปภายใต้พิธีกรรมที่ถูกครอง
การสงวนวาทกรรม
เป็นกระบวนการสร้างวาทกรรมในพื้นที่จำกัด เช่น สภาวะที่ข้อมูลสุขภาพของทักษิณ ทั้งใบรับรองแพทย์และประวัติจากแพทย์ต่างชาติ ตลอดจนข้อมูลที่เกิดขึ้นระหว่างการรักษาที่รพ.ตำรวจดำเนินไปภายใต้ข้อจำกัดในการเข้าถึงและความสามารถเข้าใจข้อมูลเหล่านั้นอย่างกระจ่าง กล่าวคือไม่ใช่ “ใครก็ได้” ที่สามารถเข้าถึง เข้าใจ และได้รับการยอมรับให้ถ่ายทอดข้อมูลเหล่านั้น หากไม่ใช่แพทย์หรือบุคคลที่อยู่ในกระบวนการเกี่ยวกับนักโทษชั้น 14
การสงวนนี้ยังได้ดำเนินผ่านการกำหนดเครื่องมือที่ถูกกำหนดให้ใช้ประเมินสภาพของผู้ป่วยเพื่อพิจารณาอนุญาตพักโทษ อย่างการประเมินความสามารถในการช่วยเหลือตัวเอง ด้วยแบบประเมินคัดกรองปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุ ที่ถูกเผยแพร่โดยกรมอนามัย [24] อีกด้วย เงื่อนไขนี้ช่วยให้ผู้ครองวาทกรรมสามารถกำหนดรายละเอียดในการประเมินผู้ต้องขังเพื่อพิจารณาอนุญาตพักโทษ การสงวนพื้นที่ของเกมวาทกรรมเหล่านี้สามารถช่วยให้ผู้ครองวาทกรรมพ้นจากภัยอันตรายบนความแพร่หลายของวาทกรรม ที่อาจนำมาสู่ความไม่สามารถควบคุมได้ ตลอดจนปกป้องพื้นที่ของวาทกรรมในการถูกตรวจสอบโดยสาธารณะ
หลักคำสอน
สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกับโครงสร้างวิชา แต่เป็นสิ่งที่ทำให้องค์ประธานผู้พูดตกอยู่ภายใต้อำนาจของวาทกรรม กล่าวคือผู้คนที่อยู่ในความจริงของวาทกรรมการแพทย์ จะถ่ายทอดคำสอนที่มุ่งยึดถือคุณค่าของการยอมรับว่าวาทกรรมการแพทย์นั้นเป็นความจริงที่ถูกต้อง และยอมรับต่อระเบียบบางอย่างร่วมกัน ดังตัวอย่างของสภาวะที่ทวีระบุถึงความเชื่อมั่นในความมีศีลธรรมจรรยาของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ รวมถึงความยอมจำนนของข้าราชการในกระทรวงยุติธรรม ที่ทวีได้ยืนยันว่าไม่มีทางขัดดุลยพินิจของแพทย์ ตลอดจนการที่ผู้คนในสังคมมักไม่ท้าทายและตั้งแง่ต่อกฎหมาย กฎกระทรวง และประกาศที่ให้อำนาจและเชื่อถือดุลพินิจของแพทย์ในกระบวนการต่าง ๆ โดยถือว่าเป็นความจริงที่ตนไม่อาจก้าวล่วง
การยึดครองทางสังคมของวาทกรรม
วาทกรรมนั้นจะถูกควบคุมและคัดเลือกด้วยกระบวนการทางการเมืองผ่านระบบต่าง ๆ ในสังคม เช่น ศาสนา กฎหมาย รวมถึงการศึกษา ซึ่งคอยวางอุดมการณ์ ระเบียบ หรือศีลธรรมบางแบบให้ผู้คนนึกคิดและปฏิบัติตาม ข้อถกเถียงทางกฎหมาย ศีลธรรมจรรยา ค่านิยม รวมถึงความรู้ที่เกิดขึ้นในบทอภิปรายภายและการตอบคำถามในสภา ฯ ครั้งนี้ ย่อมล้วนได้รับอิทธิพลจากการหล่อหลอมโดยผู้ครองวาทกรรมผ่านสถาบันต่าง ๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อย่างน้อยที่สุด การเติบโตของวาโยและทวี รวมถึงผู้คนในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนคนทั่วไปในในสังคมไทยผ่านการเลี้ยงดูของครอบครัว ระบบการศึกษา ค่านิยม ประเพณี ศีลธรรมจรรยา ภายใต้กฎหมาย และการปกครองแบบหนึ่ง ๆ ย่อมส่งผลต่อความคิด ความเชื่อ คุณค่า และอัตลักษณ์ของแต่ละคน กระบวนการนี้จึงมุ่งทำงานอย่างกว้างขวาง เพื่อตรึงให้ทุกอย่างเป็นไปตามประสงค์ของผู้ครองวาทกรรม
บทสรุป
กระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ร่วมสร้างและสถาปนาวาทกรรมการแพทย์ในฐานะความจริงขึ้นมาอย่างซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ประหนึ่งว่าไม่ต้องการให้ผู้คนสามารถตระหนักถึงได้ ดังที่ข้อถกเถียงระหว่างการอภิปรายในสภา ฯ ครั้งนี้ ได้ดำรงอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กระบวนการเบื้องหลังวาทกรรมอนุญาตให้ทำสิ่งต่าง ๆ อย่างจำกัด กล่าวคือ ทุกคำถามและข้อสงสัยของวาโยและประชาชนที่คาบเกี่ยวกับวาทกรรมการแพทย์จะเป็นไปภายใต้การควบคุม/คัดเลือก/จัดวาง/เผยแพร่ตามประสงค์ของผู้ครองวาทกรรม แม้ทั้งหมดนี้จะเกิดท่ามกลางความสงสัยของผู้คนต่อความจริงที่ว่าทักษิณป่วยจนจำเป็นต้องรักษาที่รพ.ตำรวจ และได้รับการพักโทษตามมาตรฐานเยี่ยงผู้ต้องขังอื่น
ผู้คนในสังคมจะยังคงไม่อาจมองเห็นความจริงแท้เบื้องหลังกรณีนักโทษชั้น 14 หรือตอบได้อย่างกระจ่างว่าทักษิณป่วยฉุกเฉินจริงหรือไม่ ? ป่วยเป็นอะไร ? ได้รับการรักษาอย่างไร ? ถูกวินิจฉัยและประเมินตามมาตรฐานหรือไม่ ? มี “ดีลลับ” กับชนชั้นนำเพื่อช่วยเหลือทางคดีแลกกับผลประโยชน์ทางการเมืองจริงหรือไม่ ? และถ้ามีดีลจริง ทักษิณมีดีลกับใคร ? อยู่ท่ามกลางความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบใด ? และที่สำคัญ.. จะต้องดีลกับใครบ้าง เพื่อให้ตนเองไม่ต้องนอนคุกสักคืนเดียว (ในนามของความเจ็บป่วยทางการแพทย์) ?
เงื่อนไขเหล่านี้ ที่ดำรงอยู่อย่างแนบอิงกับวาทกรรมการแพทย์ และวาทกรรมมากมายในสังคมจะดำเนินไปบน “เจตจำนงแห่งความจริง” ของผู้ที่สามารถครองวาทกรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการ “ควบคุม/คัดเลือก/จัดวาง/เผยแพร่” วาทกรรมด้วยกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้วาทกรรมดำรงอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ ในรูปแบบที่ผู้ครองวาทกรรมต้องการ ท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจของสถาบันต่าง ๆ ที่ชี้นำหรือปกครองสังคมผ่านวาทกรรมต่าง ๆ ที่หมุนเวียนในสังคม
การอภิปรายถึงกระบวนการเบื้องหลังวาทกรรมการแพทย์ที่อาจกำลังเอื้อประโยชน์ต่อคนบางกลุ่ม เป็นไปเพื่อมุ่งเผยให้เห็นถึงความไม่เป็นอิสระของความจริงทางการแพทย์ ที่จะไม่ถูกท้าทาย หรือถูกท้าทายได้ยากต่อไป ซึ่งหมายถึงสภาวะที่วาทกรรมการแพทย์สามารถถูกครอบครองได้ ผ่านการเข้าถึงอำนาจในการควบคุมสถาบันต่าง ๆ ที่ทำงานอย่างส่งเสริมกันบนกระบวนการเบื้องหลังวาทกรรมการแพทย์ ข้อเสนอที่สำคัญคือ… มีคนไม่มากที่มีศักยภาพพอเข้าครอบครองวาทกรรม ซึ่งหมายถึงไม่ใช่ “ใครก็ได้” ในสังคมนี้ที่สามารถกระทำการดังกล่าว บนการปฏิบัติตัวของกระบวนการยุติธรรมต่ออดีตนายกคนดังกล่าวซึ่งวาทกรรมการแพทย์ได้เข้ามามีบทบาท ประเด็นอีกนับไม่ถ้วนจะไม่อาจถูกท้าทายโดยผู้แทนของประชาชน หรือสาธารณชนที่ไม่สามารถเข้าครอบครองและจัดการกระบวนการเบื้องหลังวาทกรรมได้ และท้ายที่สุด เรื่องราวของ “นักโทษชั้น 14” ก็จะดำรงอยู่ท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัยของผู้คนต่อไปอีกนานเท่านาน
อ้างอิง
- เปื่อยยุ่ย วาโย อัศวรุ่งเรือง ก้าวไกล #ก้าวต่อไป (คลิปคำอภิปรายของส.ส. วาโย อัศวรุ่วเรือง และการตอบคำถามของ รมต.ทวี สอดส่อง วันที่ 3 เมษายน 2024) https://www.youtube.com/watch?v=0C-42tSS5fA&t=1307s
- ‘จตุพร’ กังขาผู้ตรวจฯไปชั้น 14 จริงหรือ เตือนนักโทษผิดดีล สิ่งวิบัติรอคิวทยอยเล่นงาน | ไทยโพสต์ 19 มกราคม 2024 https://www.thaipost.net/all-news/520247/
- “ทักษิณ” กลับบ้าน ดีลลับชั้น 14 ? | เปิดโต๊ะข่าว PPTV 14 ก.พ. 2024 https://www.youtube.com/watch?v=ww-YMiKQ8Pk
- พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/021/1.PDF
- หน้าที่ 36 -37 คู่มือการคัดกรองและประเมินสุขภาพผู้สูงอายุพ.ศ.2564 โดยคณะกรรมการพัฒนาเครื่องมือคัดกรองและประเมินสุขภาพผู้สูงอายุ กระทรวงสาธารณสุข http://www.tako.moph.go.th/takmoph2016/file_download/file_20210129131952.pdf
- BREAKING: ทักษิณ ออกจาก รพ.ตำรวจ มุ่งหน้ากลับบ้านจันทร์ส่องหล้า โดย THE STANDARD TEAM | 18 กุมภาพันธ์ 2024 https://thestandard.co/thaksin-shinawatra-released-18022024-5/
- ทักษิณหวนคืนเชียงใหม่ “บ้านเกิด-เรือนตาย-อดีตเมืองหลวงเพื่อไทย” BBC News ไทย https://www.bbc.com/thai/articles/c0v3ljwv105o
- หมอเก่งวาโย อภิปรายเรื่องคุณเอกชัยหรือใครนะ!!?? | Daily Topics 4 เมษายน 2024 https://www.youtube.com/watch?v=m6xfth1UbD4
- มาตรา 7 พ.ร.บ.สุขภาพแห่ชาติ พ.ศ.2550 หน้าที่ 4 https://www.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Information_Center/Attach/25621124013609AM_17.pdf
- หมอเก่งก้าวไกล วินิจฉัยโรคทักษิณ ตั้ง 12 คำถามรอบสุดท้าย ขอ รมว.ยุติธรรมตอบให้ชัดโดย THE STANDARD TEAM | 04 เมษายน 2024 https://thestandard.co/keng-wayo-mfp-thaksin/
- มาตรา 55 วรรค 3 พ.ร.บ.กรมราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ราชกิจจานุเบกษาหน้าที่ 18 เล่ม 134 ตอนที่ 21 https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/021/1.PDF
- กฏกระทรวงยุติธรรม เรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 หน้าที่ 45 – 48 https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/viewer.php
- มาตรา 53 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 Constitution of the Kingdom of Thailand B.E. 2560 (2017) หน้าที่ 48 http://elibrary.constitutionalcourt.or.th/research/download.php?ID=241
- มาตรา 55 พ.ร.บ.กรมราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ราชกิจจานุเบกษาหน้าที่ 18 เล่ม 134 ตอนที่ 21 https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/021/1.PDF
- มาตรา 52 (7) พ.ร.บ.กรมราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 หน้าที่ 16 ราชกิจจานุเบกษาหน้า 18 เล่ม 134 ตอนที่ 21https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/021/1.PDF
- มาตรา 15(5) และมาตรา 25 วรรค 2 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 https://www.nat.go.th/%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94/ArticleId/1
- ฐานิดา บุญวรรโณ, ‘บทนำ’, ใน ระเบียบของวาทกรรม, โดย มิเชล ฟูโกต์, แปลโดย ฐานิดา บุญวรรโณ (กรุงเทพฯ: อิลลูมิเนชันส์ เอดิชันส์, 2565), 24.
- พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 https://www.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Information_Center/Attach/25621124013609AM_17.pdf
- ข้อบังคับแพทยสภา https://www.tmc.or.th/service_law02.php
- Medical Ethics https://www.themedicportal.com/application-guide/medical-school-interview/medical-ethics/
- พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 https://www.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Information_Center/Attach/25621124013609AM_17.pdf
- ข้อ 17 ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2565 หน้าที่ 10 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนพิเศษ 272 ง https://tmc.or.th/pdf/tmc-04-09122565.pdf
- ข้อ 24 – 25 ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2565 หน้าที่ 10 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนพิเศษ 272 ง https://tmc.or.th/pdf/tmc-04-09122565.pdf
- หน้าที่ 36 -37 คู่มือการคัดกรองและประเมินสุขภาพผู้สูงอายุพ.ศ.2564 โดยคณะกรรมการพัฒนาเครื่องมือคัดกรองและประเมินสุขภาพผู้สูงอายุกระทรวงสาธารณสุข http://www.tako.moph.go.th/takmoph2016/file_download/file_20210129131952.pdf
- วาโย, อ. (2024, เมษายน 3). เปื่อยยุ่ย วาโย อัศวรุ่งเรือง ก้าวไกล #ก้าวต่อไป [วิดีโอ]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=0C-42tSS5fA&t=1307s
- จตุพร. (2024, มกราคม 19). ‘จตุพร’ กังขาผู้ตรวจฯไปชั้น 14 จริงหรือ เตือนนักโทษผิดดีล สิ่งวิบัติรอคิวทยอยเล่นงาน. ไทยโพสต์. https://www.thaipost.net/all-news/520247/
- PPTV. (2024, กุมภาพันธ์ 14). ทักษิณ กลับบ้าน ดีลลับชั้น 14 ? [วิดีโอ]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=ww-YMiKQ8Pk
- ราชกิจจานุเบกษา. (2560). พระราชบัญญัติราชทัณฑ์. https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/021/1.PDF
- กระทรวงสาธารณสุข. (2564). คู่มือการคัดกรองและประเมินสุขภาพผู้สูงอายุ. http://www.tako.moph.go.th/takmoph2016/file_download/file_20210129131952.pdf
- THE STANDARD TEAM. (2024, กุมภาพันธ์ 18). BREAKING: ทักษิณ ออกจาก รพ.ตำรวจ มุ่งหน้ากลับบ้านจันทร์ส่องหล้า. https://thestandard.co/thaksin-shinawatra-released-18022024-5/
- BBC News ไทย. (ไม่ระบุ). ทักษิณหวนคืนเชียงใหม่ “บ้านเกิด-เรือนตาย-อดีตเมืองหลวงเพื่อไทย”. https://www.bbc.com/thai/articles/c0v3ljwv105o
- Daily Topics. (2024, เมษายน 4). หมอเก่งวาโย อภิปรายเรื่องคุณเอกชัยหรือใครนะ!!?? [วิดีโอ]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=m6xfth1UbD4
- กรมสุขภาพจิต. (2550). มาตรา 7 พ.ร.บ.สุขภาพแห่ชาติ. https://www.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Information_Center/Attach/25621124013609AM_17.pdf
- THE STANDARD TEAM. (2024, เมษายน 4). หมอเก่งก้าวไกล วินิจฉัยโรคทักษิณ ตั้ง 12 คำถามรอบสุดท้าย ขอ รมว.ยุติธรรมตอบให้ชัด. https://thestandard.co/keng-wayo-mfp-thaksin/
- ราชกิจจานุเบกษา. (2560). มาตรา 55 วรรค 3 พ.ร.บ.กรมราชทัณฑ์. https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/021/1.PDF
- กระทรวงยุติธรรม. (2563). กฏกระทรวง เรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำ (หมวดที่ 45 – 48). https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/viewer.php
- ศาลรัฐธรรมนูญ. (2560). มาตรา 53 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (หน้าที่ 48). http://elibrary.constitutionalcourt.or.th/research/download.php?ID=241
- ราชกิจจานุเบกษา. (2560). มาตรา 55 พ.ร.บ.กรมราชทัณฑ์. https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/021/1.PDF
- ราชกิจจานุเบกษา. (2560). มาตรา 52 (7) พ.ร.บ.กรมราชทัณฑ์ (หน้าที่ 16). https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/021/1.PDF
- พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ. (2540). มาตรา 15(5) และมาตรา 25วรรค 2. https://www.nat.go.th/%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94/ArticleId/1
- บุญวรรโณ, ฐานิดา. (2565). บทนำ. ใน ฟูโกต์, มิเชล. ระเบียบของวาทกรรม (หน้าที่ 24). กรุงเทพฯ: อิลลูมิเนชันส์ เอดิชันส์.
- ราชกิจจานุเบกษา. (2550). พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ. https://www.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Information_Center/Attach/25621124013609AM_17.pdf
- ข้อบังคับแพทยสภา. (ไม่ระบุ). https://www.tmc.or.th/service_law02.php
- Unknown. (2024). Medical Ethics. Retrieved from https://www.themedicportal.com/application-guide/medical-school-interview/medical-ethics/
- ราชกิจจานุเบกษา. (2550). พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ. https://www.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Information_Center/Attach/25621124013609AM_17.pdf
- ข้อบังคับแพทยสภา. (2565). ข้อ 17. ราชกิจจานุเบกษา, 139(272), 10. https://tmc.or.th/pdf/tmc-04-09122565.pdf
- ข้อบังคับแพทยสภา. (2565). ข้อ 24 – 25. ราชกิจจานุเบกษา, 139(272), 10. https://tmc.or.th/pdf/tmc-04-09122565.pdf
- คณะกรรมการพัฒนาเครื่องมือคัดกรองและประเมินสุขภาพผู้สูงอายุกระทรวงสาธารณสุข. (2564). คู่มือการคัดกรองและประเมินสุขภาพผู้สูงอายุ (หน้าที่ 36 -37). http://www.tako.moph.go.th/takmoph2016/file_download/file_20210129131952.pdf