ภาพ: พื้นที่ไร่นาของเกษตรผู้ปลูกข้าว นายไพฑูรย์ ทำนาแพง

“แต่ก่อนถ้าเป็นจังหวัดชายแดนจะเป็นจังหวัดที่ไม่เจริญใช่ไหม แต่ทุกวันนี้การพัฒนามันไปมุ่งอยู่ที่ชายแดนหมดเลย ทั้งสนามบิน รถไฟ สะพาน จุดผ่านแดน แต่กาฬสินธุ์นี่แทบจะเป็นสะดืออีสาน มีทรัพยากรมากมาย กลับไม่ได้รับโอกาสจากรัฐในการพัฒนาเลย”

อนุชา สิงหดี ประธานเครือข่ายคนรุ่นใหม่พัฒนากาฬสินธุ์เปิดบทสนทนาด้วยน้ำเสียงตัดพ้อ บอกเล่าถึงความรู้สึกที่ไม่ว่าเวลาจะล่วงเลยผ่านไปนานกว่าทศวรรษแล้ว แต่ ณ พื้นที่ที่เป็นบ้านเกิดของเขาแห่งนี้   ก็ยังไม่ได้ถูกพัฒนาไปตามกาลเวลาที่ผ่านไปเลย

‘กาฬสินธุ์’ มาจากคำว่า กาฬ ที่แปลว่า ดำ และ สินธุ์ ที่แปลว่า น้ำ กาฬสินธุ์เลยมีความหมายว่า ‘เมืองน้ำดำ’ ซึ่งมีพื้นที่ดินดำน้ำชุ่ม อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งน้ำที่สำคัญต่อการอุปโภคและใช้ในการทำเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำลำปาว แม่น้ำลำพะยังจากเทือกเขาภูพาน และแม่น้ำชีที่ไหลผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์บางส่วน  รวมทั้งยังมีพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสมต่อการทำการเกษตรมากมาย ตามข้อมูลในแผนพัฒนาจังหวัดกาฬสินธุ์ ระบุว่าในปี 2562 จังหวัดกาฬสินธุ์มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจมากที่สุด ซึ่งมาจากภาคการเกษตร มูลค่ารวมกว่า 23% หรือ 13,552 ล้านบาท มีพื้นที่สำหรับทำการเกษตรเป็น 65% ของพื้นที่ท้ังหมด และมีเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรท้ังสิ้น 88% ของครัวเรือนทั้งจังหวัด โดยมี “ข้าว” เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะ ‘ข้าวเหนียวเขาวง’ ซึ่งมีคุณภาพดีจนได้รับการระบุให้เป็นสิ่งบ่งชี้เฉพาะถิ่น GI (Geographical Indication) ทำให้รายได้หลักของจังหวัดมาจากการพึ่งพาภาคการเกษตร 

จากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัดที่ขึ้นอยู่กับการผลิตภาคการเกษตรแล้ว จังหวัดกาฬสินธุ์ก็ไม่ควรจะมีเกษตรกรที่รายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนเลย แต่ตามรายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปีพ.ศ. 2564 จังหวัดกาฬสินธุ์กลับกลายเป็นจังหวัดที่ติด 1 ใน 10 อันดับของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุด และมีความถี่ในการติดอันดับปัญหาความยากจนเรื้อรังติดต่อกันเป็นระยะเวลากว่า 17 ปี นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2547

ตาราง : รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2564

ระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษที่จังหวัดเล็ก ๆ แทบจะตั้งอยู่ใจกลางภาคอีสานแห่งนี้ติดอยู่กับความยากจนเรื้อรัง แม้ว่าจะเป็นจังหวัดที่มีความมั่งคั่งทางทรัพยากรและศักยภาพของผู้คนที่พร้อมจะพัฒนาเพียงใดก็ตาม แต่สาเหตุของความยากจนเรื้อรังที่มาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขมูลค่าของการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับจังหวัด สัดส่วนรายได้ต่อหัวของประชากรที่ยังต่ำ รวมถึงสินค้าและบริการในพื้นที่ยังไม่ได้มีความหลากหลายมากพอนั้น ยังคงเป็นอุปสรรคฉุดรั้งการก้าวข้ามความยากจนของจังหวัด ซ้ำร้ายเมืองดินดำน้ำชุ่มแห่งนี้ ยังไม่เคยมีแม้แต่โอกาสที่จะได้รับการพัฒนาเลย

อนุชา สิงหดี ประธานเครือข่ายคนรุ่นใหม่พัฒนากาฬสินธุ์

“กาฬสินธุ์เราจนโอกาส โอกาสที่จะได้รับการอำนวย หรือได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ  ถ้าโอกาสมา ความยากจนก็อาจจะลดลง” 

อนุชา สิงหดี ประธานเครือข่ายคนรุ่นใหม่พัฒนากาฬสินธุ์ ตั้งข้อสังเกตถึงอีกหนึ่งสาเหตุความยากจนเรื้อรังของจังหวัดกาฬสินธุ์นั้นมาจากการขาดโอกาสในการรับการพัฒนาทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจขนาดใหญ่จากภาครัฐ  ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2555 เกิดการรวมตัวของคนรักบ้านเกิดที่อยากจะผลักดัน อยากจะแก้ปัญหาความยากจน และลดการเลื่อมล้ำผ่านช่องทางออนไลน์ จนเกิดเป็นเครือข่ายคนรุ่นใหม่พัฒนากาฬสินธุ์ขึ้น การผลักดันตรงนี้เกิดจากการเล็งเห็นคุณค่าและศักยภาพของจังหวัดที่พร้อมจะพัฒนาในทุก ๆ มิติ ทั้งด้านการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว รวมถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ เพื่อเรียกร้องและขับเคลื่อนให้มีการพัฒนาเกิดขึ้นในพื้นที่

ในปีเดียวกันนี้ ความหวังที่จะได้รับการพัฒนาของจังหวัดกาฬสินธุ์ปรากฎขึ้นในแผนพัฒนาโครงข่ายเชื่อมต่อภูมิภาค ซึ่งเป็นโปรเจกต์ขนาดใหญ่ของรัฐ มีแผนดำเนินโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟขึ้นหลายสายทั่วประเทศ หนึ่งในนั้นคือเส้นทางรถไฟทางคู่สายอีสาน มีระยะเวลาดำเนินการในปี 2555-2562 ซึ่งในแผนการศึกษาโครงการดังกล่าวแสดงเส้นทางรถไฟที่ตัดผ่านพื้นที่ในภาคอีสานถึง 4 เส้นทาง

ภาพ: โครงการภายใต้แผนงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ, กระทรวงการคลัง

แต่ความหวังที่ปรากฎขึ้นนั้นก็ค่อยๆริบหรี่ลง เมื่อเส้นทางรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนม (เส้นสีแดง) เลือกตัดผ่านเส้นทางเฉพาะพื้นที่ในกลุ่มจังหวัด ‘ร้อยแก่นสารสินธุ์’ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด และมหาสารคามเท่านั้น มีเพียงกาฬสินธุ์จังหวัดเดียวที่ถูกผลักให้ตกขบวนรถไฟไปอย่างน่าเสียดาย เครือข่ายคนรุ่นใหม่พัฒนากาฬสินธุ์ในขณะนั้น จึงมีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้แก้ไขเส้นทางรถไฟให้ตัดผ่านพื้นที่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ด้วยอย่างน้อย 1 สถานี เพื่อให้จังหวัดกาฬสินธุ์ได้รับการแชร์ประโยชน์ ลดความเหลื่อมล้ำและเป็นการพัฒนาร่วมกันในทุก ๆ มิติของกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์จากรถไฟสายอีสานซึ่งเป็นเมกะโปรเจกต์ของประเทศ แต่ทว่าน่าเสียดายที่การดิ้นรนเรียกร้องของคนทั้งจังหวัดในครั้งนั้น ไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเลย ทำให้กาฬสินธุ์ยังคงเป็นเพียงเมืองผ่านที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แม้แต่ทางรถไฟก็ยังไม่ตัดผ่าน

ในปี พ.ศ. 2559  ความหวังที่จะได้รับการพัฒนาส่องสว่างขึ้นที่แดนดินถิ่นไดโนเสาร์แห่งนี้อีกครั้ง  หลังจากคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจได้เสนอโครงการ “นำร่องเมืองข้าว: จังหวัดกาฬสินธุ์ Rice city pilot kalasin province” ต่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่เพื่อนำร่องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของข้าวไทย ซึ่งสืบเนื่องมาจากรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยที่ระบุไว้ถึงความสัมพันธ์กันของเกษตรกรและความยากจนที่เกี่ยวข้องกับขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดน้อยถอยลงของประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก การแก้ปัญหาข้าวของประเทศจึงเกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการแก้ปัญหาของเกษตรกรซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสภาพยากจน ทำให้กาฬสินธุ์ที่มีจุดเด่นในเรื่องผลผลิตข้าวและยังติด 1 ใน 10 อันดับเมืองยากจนเรื้อรัง จึงเหมาะสมต่อการถูกเสนอให้เป็นเมืองนำร่องเมืองข้าวเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตข้าวและความยากจนของเกษตรกร

ภาพ: รายงาน “นำร่องเมืองข้าว : จังหวัดกาฬสินธ์ุ Rice City Pilot Project : Kalasin Province”

โดยโครงการดังกล่าวมีแผนพลักดันการใช้กลไกขับเคลื่อนด้วยเขตเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนการผลิตข้าวคุณภาพเชิงอุตสาหกรรม การเพิ่มมูลค่าข้าวด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Thailand 4.0) การผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อเป็นมาตรการจูงใจให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ (Rice S-Curve Industries Special Economic Zone) สนับสนุนการเข้าถึงโอกาสของเกษตรกรชาวนาและประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งจะทำให้แก้ปัญหาความไม่แน่นอนด้านราคา หรือถูกกดราคารับซื้อ ซึ่งมีระยะเวลาในการร่างแผนและดำเนินงานตั้งแต่ ปี พ.ศ 2559 – 2561 

ไทม์ไลน์การร่างแผนและแผนดำเนินโครงการนำร่องเมืองข้าวจังหวัดกาฬสินธุ์

  • พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2559 – การประชุมคณะอนุกรรมาธิการ
  • ประชุมอนุมัติหัวข้อที่จะศึกษา ฯ
  • ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 
  • ประชุมกับกรอ. จังหวัดกาฬสินธุ์
  • มิถุนายน ปี พ.ศ. 2559 – ประชุมพิจารณาแนวทางการศึกษา
  • กรกฎาคม ปี พ.ศ. 2559 – คณะอนุกรรมาธิการขับเคลือนการปฏิรูปเศรษฐกิจด้านการเกษตร ในคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ “นำร่องเมืองข้าว : จังหวัดกาฬสินธุ์ Rice City Pilot Project : Kalasin Province” 
  • ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ หน่วยงานรัฐ และเอกชน
  • ลงพื้นที่ดูงานโครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์
  • ลงพื้นที่ดูงานพื้นที่เพาะปลูกข้าว บ้านเลิงทุ่ม ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์
  • จังหวัดเสนอให้ ต.โคกดอนหัน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เป็น “พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษข้าวครบวงจร” 
  • ศึกษาดูงานบริษัท อีสเทิร์น ไรซ์มิลล์ จำกัด จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นอุตสาหกรรมนำร่อง “ESAN RICE CITY” โดยใช้จังหวัดกาฬสินธุ์เป็น“HUB”ของภาคอีสานเชื่อมโยงวัตถุดิบคุณภาพ ซึ่งมีปริมาณวัตถุดิบทั้งปี
  • สิงหาคม ปี พ.ศ. 2559 – นำเสนอ (ร่าง) รายงานการศึกษาต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ
  • ธันวาคม ปี พ.ศ. 2559 – เสนอรายงานการศึกษาต่อคณะกรรมาธิการฯ
  • กุมภาพันธ์ – เมษายน พ.ศ. 2560 – ดำเนินโครงการระยะที่1 กำหนดจังหวัดเป้าหมายนำร่อง
  • จังหวัดกาฬสินธุ์ถูกเสนอให้เป็นจังหวัดนำร่อง โดยมีเหตุผลประกอบด้านศักยภาพและความพร้อมของจังหวัดในการขับเคลื่อนโครงการ โครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ของจังหวัดที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือล้อมรอบด้วยจังหวัดต่างๆซึ่งมีศักยภาพ เช่น ขอนแก่น อุดรธานี สกลนคร ทำให้การติดต่อเชิงธุรกิจมีความสะดวก ด้านพลังงานสำหรับอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีภาคเอกชนลงทุนด้านพลังงาน เช่น บริษัท มิตรผลไบโอเพาเวอร์ ฯลฯ มีแหล่งนำ้และระบบชลประทานจากเขื่อนลำปาว ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชี 
  • พฤษภาคม – ตุลาคม พ.ศ. 2560 – ดำเนินโครงการระยะที่ 2 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัด
  • กำหนดให้มีการผลักดันสู่นโยบายระดับจังหวัดเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม โดยมีคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนโครงการ ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กระทรวงพาณิชย์ ด้านงานวิชาการให้มหาวิทยาลัยในจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นหน่วยงานศึกษาด้านความเป็นไปได้ กำหนดพื้นที่เป้าหมายในการให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแปรรูปข้าวครบวงจร ในเบื้องต้นพื้นที่เหมาะสมอยู่ที่ ตำบลโคกดอนหัน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ พื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ราชพัสดุที่ทางจังหวัดเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะบริหารจัดการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ 
  • พฤศจิกายน 2560 – เมษายน พ.ศ. 2561 – ดำเนินโครงการระยะที่ 3 สนับสนุนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ
  • รัฐบาลควรมีมติคณะรัฐมนตรีสนับสนุนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้เกิดการลงทุน อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับข้าวเชื่อมโยงในการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าข้าว การสนับสนุนมาตรการทางการคลังผ่านทาง BOI การสนับสนุนมาตรการทางภาษีให้เทียบเท่ากิจการซึ่งเข้าไปลงทุนในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ทั้งด้านการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานซึ่งอยู่ในพื้นที่และมาตรการส่งเสริมการลงทุน

แผนพัฒนาโครงการดังกล่าวเป็นเหมือนความหวังระลอกสอง ที่กลายเป็นเพียงตัวอักษรในกระดาษเท่านั้น  เพราะการดำเนินการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษข้าวครบวงจรในตำบลโคกดอนหัน อ.ยางตลาด นั้นไม่ได้มีการดำเนินการและผลักดันให้เกิดโครงการขนาดใหญ่ระดับเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นจริงในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรชาวนาในพื้นที่ที่มีความคาดหวังว่าโครงการนำร่องเมืองข้าวนี้จะเข้ามายกระดับการผลิตข้าวและคุณภาพชีวิตของชาวนาในพื้นที่ให้หลุดพ้นจากเส้นความยากจนนั้นหลุดลอยไป

“มีนา 6-7 ไร่ ขายข้าวได้ 7,000 บาท ตกไร่ละพัน ไม่เหลือกำไรอะไรหรอก…ในอนาคตมันจะไม่ได้ขายแค่ข้าว แต่อาจจะต้องขายนาไปด้วย ทำเองไม่ไหว สิ้นปีมีแต่หนี้”

นายไพฑูรย์ ทำนาแพง ชาวนาผู้ปลูกข้าวใน อ.เมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ เล่าให้ฟังถึงปัญหาและความยากลำบากจากสถานการณ์ราคาข้าวที่ตกต่ำในปัจจุบันว่ามีต้นทุนที่สูงขึ้น ตลาดรับซื้อทางเลือก เช่น ตลาดเกษตรปลอดภัยยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมถึงความช่วยเหลือจากรัฐที่มีความล่าช้า สวนทางกับเป้าหมายของแผนพัฒนาเมืองนำร่องข้าวที่ระบุว่าจะช่วยแก้ปัญหาข้าวและความยากจนของเกษตรกรทำให้กาฬสินธุ์เหมือนถูกกรีดซ้ำรอยแผลเดิมจากการโครงการรถไฟทางคู่สายอีสานที่ทอดทิ้งเมืองน้ำดำแห่งนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“เวลาพิจารณางบประมาณระดับประเทศจะมีการทำการแข่งขันของแผนโครงการกัน เพื่อดึงงบประมาณไปที่จังหวัดของตัวเองให้ได้มากที่สุด คนที่มีข้อมูลที่พร้อม มีศักยภาพ และมีความเป็นไปได้ในการทำ ก็จะได้งบประมาณไป…ทำให้โครงการข้าวของจังหวัดกาฬสินธุ์เลยถูกยกระดับให้เป็นของกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์แทน ” ดร.พิมพ์ลิขิตกล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลิขิต แก้วหาหนาม อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลิขิต แก้วหาหนาม อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ หนึ่งในคณะทำงานวิจัยเพื่อพลักดันการแก้ไขปัญหาความยากจนเรื้อรังในจังหวัด อธิบายถึงการพิจารณาและแข่งขันในการนำเสนอโครงการเพื่อดึงงบประมาณในการพัฒนา โดยชี้ว่าเมื่อเกิดปัญหาในประเด็นเดียวกันขึ้นและโครงการในแต่ละจังหวัดก็ถูกเสนอขึ้นมาในลักษณะแบบเดียวกัน ทำให้ปัญหาข้าวกลายเป็นปัญหาที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาพร้อมกันในหลายจังหวัด ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้จากการเคลื่อนงานในระดับจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งนั้น สุดท้ายจึงถูกกำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดที่ต้องร่วมกันแก้ไข นอกจากนี้ ดร.พิมพ์ลิขิต ยังกล่าวถึงความไปได้ในส่วนของการขับเคลื่อนงานในระดับจังหวัด ประเด็นเรื่องข้าวนี้ก็ถูกปรับให้อยู่ในรูปแบบโครงการย่อยต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ข้าวของทางจังหวัดด้วย เช่น งบประมาณเพื่องานวิจัยต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าว การพัฒนาแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ การสนับสนุนตลาดเกษตรสีเขียว การทำเกษตรปลอดภัย เป็นต้น เพียงแต่โครงการย่อยเหล่านี้อาจจะไม่ได้ถูกดำเนินการในชื่อของโครงการนำร่องเมืองข้าวเดิม

ดร.พิมพ์ลิขิต มองว่าแม้จะมีการสนับสนุนการพัฒนาภาคการเกษตรในแผนงานพัฒนาทั้งในระดับกลุ่มจังหวัดและภายในจังหวัดเอง แต่นั่นก็ไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมการพัฒนาขนาดใหญ่ต่อจังหวัดกาฬสินธุ์ให้สามารถหลุดพ้นจากความยากจนเรื้อรังได้ ทำให้ทั้งหน่วยงานรัฐระดับจังหวัดและหน่วยงานทางวิชาการจึงพยายามอย่างมากที่จะหาทางแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้มาโดยตลอด จนเกิดเป็น ‘โครงการกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ หรือ ‘KALASIN Happiness Model’ ซึ่งเป็นโครงการเพื่อพลักดันและขับเคลื่อนการแก้ไขความยากจนในจังหวัดกาฬสินธุ์ ดร.พิมพ์ลิขิต เล่าถึงโครงการดังกล่าวว่าความพยายามที่เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นในปีพ.ศ 2558 โดยบรรจุประเด็นปัญหาความยากจนให้เป็นยุทธศาสตร์และนโยบายของจังหวัด ผ่านการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ในการออกแบบกลไกแก้ไขความยากจนเชิงพื้นที่ โดยใช้กลไกการแก้ไขความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ซึ่งมีฐานข้อมูลที่ตรงเป้าในการตัดสินใจ

“กลไกแก้ไขความยากจนเชิงพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ เป็นการเก็บเอาครัวเรือนยากจนทั้งในระบบและนอกระบบฐานข้อมูล เข้ามาอยู่ในฐานระบบข้อมูลให้ได้มากที่สุด เพื่อให้การวิเคราะห์ ตรวจสอบ และช่วยเหลือสามารถทำได้อย่างตรงเป้า ทำให้ครัวเรือนยากจนสามารถเข้าถึงการพัฒนาศักยภาพในการสร้างอาชีพ และเกิดการกระจายของทรัพยากรที่มาตามแผนงานโครงการได้อย่างแม่นยำ” ดร.พิมพ์ลิขิตกล่าว

อาจารย์ พิมพ์ลิขิต อธิบายทิ้งท้ายถึงรูปแบบการทำงานของกลไกแก้ไขความยากจน  ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินมาแล้วเป็นระยะเวลา 3 ปี และจะดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงปี 2570 แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่สามารถผลักดันให้จังหวัดหลุดพ้นจาก 10 อันดับความยากจนได้ไป เนื่องจากการแก้ไขปัญหาความยากจนนั้นไม่ใช้เรื่องง่าย และมีช่องว่างของการดำเนินการเกิดขึ้นมากมาย ทั้งปัญหางบประมาณจังหวัด การจัดหาอาชีพและพื้นที่ทำกินแก่ครัวเรือนยากจน ปริมาณผลผลิตจากครัวเรือนยากจนที่ยังผลิตได้น้อย การเข้าถึงตลาดรับซื้อ รวมถึงกำไรค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอจะจัดสรรแก่เกษตรกรที่เป็นแบบรวมกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่เกิดขึ้นนี้ทำให้จังหวัดตั้งเป้าหมายที่จะต้องบรรลุให้ได้ และหวังว่าในอีก 4 ปีข้างหน้าผลจากความพยายามนี้จะออกดอกออกผลความสำเร็จให้เห็น คือกาฬสินธุ์จะเป็นจังหวัดที่หลุดพ้นจาก 10 อันดับความยากจนเรื้อรัง  

แม้จะล่วงเลยมาเกือบ 2 ทศวรรษที่เมืองน้ำดำถูกทิ้งร้างไว้ข้างหลัง แต่แสงแห่งความหวังไม่เคยมอดดับไปจากที่แห่งนี้  สุดท้ายนี้ กาฬสินธุ์ยังคงต้องการและรอโอกาสในการพัฒนาที่ยังมาไม่ถึง

ภาพ: พื้นที่ไร่นาของเกษตรผู้ปลูกข้าว นายไพฑูรย์ ทำนาแพง

อ้างอิง


บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)